อนุทินแห่งความรัก

อนุทินแห่งความรัก

โดย : หมอกมุงเมือง

Loading

บรรณาภิรมย์ โดย หมอกมุงเมือง คอลัมน์ที่อ่านเอาขอมอบความรื่นรมย์ให้กับผู้อ่านด้วยภาพปกสวยๆ และเนื้อเรื่องในแบบต่างๆ ของนักเขียนชั้นครูที่เคยผ่านมือ ผ่านตาและผ่านใจ เพื่อให้ทุกคนได้ร่วมรำลึกถึงผลงานของนักเขียนแต่ละท่านให้พอหายคิดถึงแม้เวลาจะผ่านไปแล้วเนิ่นนาน ภาพและตัวอักษรจะปรากฏให้เห็นอีกครั้งในยุคของการอ่านออนไลน์

เห็นชื่อเรื่อง อนุทินแห่งความรัก ครั้งแรก ผมรู้สึกว่าเป็นชื่อหนังสือนวนิยายที่เรียบง่ายไม่สะดุดตาเลยสักนิดเดียว แต่จากการที่เคยเขียนบันทึกการอ่านเรื่อง ศัตรูคู่สร้าง ผลงานแปลของ คุณ อ.สนิทวงศ์ และเมื่อมีโอกาสได้ค้นจากประวัติของท่านมาประกอบการเขียน ทำให้ทราบด้วยความประหลาดใจยิ่งว่า อนุทินแห่งความรัก น่าจะเป็นนวนิยายขนาดยาวเพียงเรื่องเดียวในชีวิตของท่านที่เขียนขึ้น โดยใช้นามปากกว่า ‘อรนุช’

ยิ่งเมื่อได้อ่านเนื้อหาของนิยายเรื่องนี้แล้ว พบว่านิยายเรื่องนี้มีความต่อเนื่องกับนิยายขนาดสั้น ‘ทางแยกในชีวิต’ ที่ตีพิมพ์ในนิตยสาร รัตนสาร และผมเคยเขียนถึงไปก่อนหน้านี้แล้ว ซึ่งในเวลานั้นท่านได้ใช้นามปากกาว่า อ.สนิทวงศ์ โดยนิยาย ทางแยกในชีวิต ได้รวมอยู่ในหนังสือ ‘ชีวิตที่ลอยไป’ ดังรูปที่นำมาจัดแสดงพร้อมกันนี้ครับ

ปกชีวิตที่ลอยไป

ซึ่งลักษณะการเขียนนิยายทั้งสองเรื่องมีช่วงระยะเวลาที่ห่างกันตามอายุของตัวละคร (ทางแยกในชีวิต ตัวเอกคืออรนุช ณ ปี 2495 มีอายุ สี่สิบเศษ และเล่าย้อนหลังไป 22 ปี ในช่วงตัวเอกอายุเพียงยี่สิบเศษ ในขณะที่ อนุทินแห่งความรัก บอกเล่าเรื่องราวของอรนุชในวัยห้าสิบหกปี ณ ช่วงปี พ.ศ. 2512

รายละเอียดของ อนุทินแห่งความรัก บอกว่า ผู้เขียนนำเหตุการณ์ในชีวิตจริงของชายหญิงคู่หนึ่งที่ท่านสนิทสนมเป็นเพื่อนรักที่เติบโตมาด้วยกัน จนต่างคนต่างแต่งงานแล้วใช้ชีวิตครอบครัว แยกย้ายกันไป จนกระทั่งมีโอกาสพบกันอีกครั้งที่โรงพยาบาล ในขณะที่เธอกำลังป่วยหนักด้วยโรคร้ายและก่อนที่จะจากผู้เขียนไปอย่างไม่มีวันกลับ อรนุชได้มอบจดหมายทั้งหมดพร้อมกับบันทึกส่วนตัวให้กับผู้เขียน รวมถึงได้ขอร้องให้ผู้เขียนได้เขียนเรื่องราวชีวิตของเธอขึ้นมา

เรื่องราวจากชีวิตจริงแสนเศร้านี้จึงเป็นแรงบันดาลใจให้ผู้เขียนเขียนเรื่องนี้ขึ้นเพื่อให้ผู้อ่านได้เข้าใจความรู้สึกถึงความรักอันบริสุทธิ์ของชายหญิงคู่หนึ่งที่มีกำแพงศีลธรรมคั่นเอาไว้ และทั้งคู่ก็ต้องแยกจากกันในที่สุด เหลือเพียงหนังสือเล่มนี้เป็นอนุสรณ์แห่งความรัก

 

ในเรื่องราว อนุทินแห่งความรัก จึงเล่าเรื่องผ่าน อรนุช สุพรรณกานต์ ในวัยห้าสิบหกปี ที่ปัจจุบันเป็นนักแปลวรรณกรรม และทำงานอยู่ที่สำนักงานนิตยสารอนามัยและครอบครัว ชีวิตของเธอผ่านการหย่าร้างจากร้อยตรีชัด (ตัวละครจากเรื่อง ทางแยกในชีวิต) มาแล้ว และจากนั้นก็ได้เลี้ยงลูกๆ ทั้งสี่คน จนต่างคนต่างเจริญเติบโตมีหน้าที่การงานอันสมบูรณ์ อรนุชในวัยใกล้เกษียณ ก็ยังทำงานแปลที่เธอรักอย่างมีความสุข จนกระทั่งได้รับจดหมายฉบับหนึ่ง จดหมายที่เปลี่ยนแปลงชีวิตของเธอไปตลอดกาล

จดหมายจาก วีรชาติ รจนาสุนทร หนุ่มใหญ่วัยสี่สิบเศษ ผู้ทำงานอยู่ยังไร่ปลายเนิน อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ วีรชาติ หรือเลียว บอกว่า เขาเองมีโอกาสได้อ่านนิตยสารที่เธอเขียนบทความเกี่ยวกับการอดยาเสพติด แล้วเกิดความรู้สึกประทับใจ เขาเคยติดเฮโรอีน ดื่มสุราและบุหรี่มาก่อน เพราะความเครียดในชีวิต แต่เมื่ออ่านบทความนี้แล้ว ทำให้เกิดแรงบันดาลใจในการอดอบายมุขเหล่านั้นจนสำเร็จ จึงเขียนจดหมายมาเพื่อบอกเล่าเรื่องราวเหล่านี้

จากจดหมายฉบับแรก และอรนุชได้ตอบกลับไปเพื่อให้กำลังใจอีกฝ่าย เรื่องราวของจดหมายแต่ละฉบับที่เขียนขึ้น ทำให้ผู้อ่านค่อยๆ ซึมซับ รับรู้ชีวิตของคนทั้งสอง ที่ต่างก็ผ่านมรสุมชีวิตมาอย่างหนักหน่วง อรนุชเองเราได้ทราบเรื่องราวของเธอจาก ‘ทางแยกในชีวิต’ ไปแล้ว ส่วน เลียวหรือวีรชาติ เขาคือเด็กยากจนที่ต่อสู้ดิ้นรน ฟันฝ่าอุปสรรคต่างๆ อย่างลูกผู้ชาย ผ่านการมีชีวิตครอบครัว มีภรรยามาแล้วถึงสี่คน และทุกคนที่ผ่านเข้ามา เขายอมรับอย่างเต็มปากกับเธอว่ามันเกิดจากความผิดพลาด และจากกามารมณ์ของตัวเขาเอง หากเลียวก็รับผิดชอบต่อลูกๆ ที่เกิดขึ้นกับภรรยาของเขาทุกคน โดยไม่ได้ทำหน้าที่บกพร่องแต่อย่างใด

 

ชีวิตของเขาระหกระเหิน พเนจรไปยังที่ต่างๆ ตั้งแต่เด็ก ทั้งสูงสุดด้วยเงินทองและความก้าวหน้า และตกต่ำที่สุดเมื่อถูกโกงและทรยศจากเพื่อนร่วมงาน จนกลายเป็นคนอนาถา ด้วยความเครียดเหล่านี้นั่นเอง ทำให้เขากลายเป็นคนติดยาเสพติด ตราบจนเมื่อได้รู้จักอรนุชผ่านทางจดหมาย ความผูกพันของบุคคลทั้งสองก็เริ่มก่อตัวขึ้นจนกลายเป็นความรัก ความรักที่ต่างห่วงใยดูแลซึ่งกันและกัน แม้จะไม่มีโอกาสได้พบหน้ากัน

ตลอดความหนากว่าหนึ่งพันกว่าหน้าของนิยายเรื่องนี้ซึ่งเป็นเนื้อหาจดหมายโต้ตอบกันระหว่างบุคคลสองคนในเรื่องนี้ ผมยอมรับว่าตอนเริ่มอ่านก็อดกังวลไม่ได้ว่าจะอ่านจนจบหรือไม่ เพราะเนื้อเรื่องทั้งหมด เรามองเห็นตอนจบของเรื่องแล้วว่าจะดำเนินไปสู่ผลลัพธ์ของโศกนาฏกรรมสะเทือนใจ ตัวละครสองตัวในเรื่องก็หาใช่พระเอกนางเอกในอุดมคติไม่ ซ้ำต่างก็ยังสูงวัย ผ่านมรสุมชีวิตมาอย่างโชกโชนจนแทบจะถึงบั้นปลายของชีวิต นี่ไม่ใช่นิยายสุขนิยมหรือพาฝันแต่อย่างใดเลยสักนิดเดียว

หากความ ‘เรียล’ หรือความสมจริง ของเรื่องราวนี้ต่างหากที่พาคนอ่านให้ติดตามจดหมายแต่ละฉบับ ที่ตัวละครเขียนถึงกัน อบอวลไปด้วยความรัก ความเข้าใจ และการยอมรับในข้อบกพร่องของกันและกัน รวมถึงเรื่องราวรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ของชีวิตพระเอก นางเอก

“คนเราแม้จะอยู่ห่างไกลกันสุดฟากฟ้า แต่เราก็จะระลึกถึงกันได้ด้วยหัวใจ และไม่มีสิ่งใดจะมาตัดสายสัมพันธ์อันแนบสนิททางจิตใจของเราได้”

และกำลังใจที่ต่างฝ่ายต่างมอบมาให้กันผ่านจดหมาย ก็เป็นเสมือนโอสถทิพย์ที่ช่วยคลายความทุกข์โศกของห้วงเวลาที่ผ่านมาในอดีตให้กับคนทั้งสอง

เดี๋ยวนี้อรทราบดีและเข้าใจแล้วว่าคุณมีความรู้สึกอย่างไรต่ออร ต่อไปนี้อรจะไม่เป็นทุกข์ ไม่ระทมขมขื่นเพราะความไม่สมหวังในชีวิตอีกแล้ว เพราะอรได้อาศัยความรักของเราทั้งสองเป็นพลังแห่งการทำงาน ใช้ความระลึกที่เรามีต่อกันอย่างบริสุทธิ์นั้น เป็นความชื่นชมเพื่อการมีชีวิตอยู่ และอาศัยความศักดิ์สิทธิ์ของดวงวิญญาณรักอันบริสุทธิ์ที่ใสสะอาดเป็นประทีบแห่งชีวิต

อรนุชซึ่งปัจจุบันเป็นนักแปล ได้บอกเล่าถึงผลงานแปลของเธอ ส่วนเลียว พระเอกของเรื่อง ที่ต้องทำงานบนป่าดอย เรื่องราวเกี่ยวกับชีวิตชาวป่า การล่าต่อหลุมมาเป็นอาหาร การทำเมี่ยง เก็บเห็ดข้าวตอก ฯลฯ และการทำไร่หม่อนเลี้ยงไหม จนกระทั่งเขียนหนังสือชื่อ ตำราปลูกหม่อนเลี้ยงไหม ขึ้น และอรนุช ก็ช่วยเหลือจนเขาสามารถพิมพ์ออกมาเป็นเล่ม เพื่อหารายได้มาจุนเจือชีวิตอีกด้วย เลียวจึงใช้นามปากกาสำหรับหนังสือเล่มนี้ว่า ‘อรอุไร’ ในเวลาต่อมา

ปกอนุทินแห่งความรัก

เรื่อง : อนุทินแห่งความรัก

ผู้เขียน : อรนุช

สำนักพิมพ์ : แพร่พิทยา

ปีที่พิมพ์ : 2515

สองเล่มจบ

ความสนุกของการอ่าน อนุทินแห่งความรัก เรื่องนี้ จึงเหมือนกับการได้อ่าน ชีวประวัติและเรื่องราวของผู้เขียน ‘อรนุช’ ในเรื่อง ที่บอกเล่ารายละเอียดต่างๆ ของชิวิตเธอกับเลียว รวมถึงความฝันร่วมกันที่สร้าง ‘สวนอร’ ขึ้นบนดอยแห่งนั้น ชีวิตที่ผ่านประสบการณ์ต่างๆ จนได้มาพานพบกัน และเกิดความรู้สึกผูกพันอันงดงาม

เรื่องราวได้ดำเนินต่อมา ตราบจนกระทั่งอรนุช ล้มเจ็บลงด้วยโรคลิวคีเมีย อันเป็นโรคร้ายแรงในชีวิต และนำไปสู่การพลัดพรากของคนทั้งคู่

นับจากจดหมาย/อนุทินฉบับแรก 22 มิถุนายน 2513 จนถึงฉบับสุดท้าย 30 เมษายน 2514 ได้บันทึกเรื่องราวของความรักอันบริสุทธิ์ และงดงามของคนสองคน ที่แม้ท้ายที่สุดจะมิได้ครองคู่กันสมดังปรารถนา แต่ก็มีความหวังร่วมกันที่จะได้พานพบกันอีกครั้งยัง ‘สวนอร’ อันเป็นเสมือนสุสานวิญญาณรักของอรนุช

วีรชาติสุดที่รัก ฉันได้อ่านจดหมายของเธอทุกฉบับ ซ้ำอีกครั้งหนึ่ง ตั้งแต่ฉบับแรกจนฉบับสุดท้าย ฉันรู้ตัวดีว่าฉันกำลังเดินทางไปสู่หลุมฝังศพ กำลังเดินทางไปสู่ความตาย แต่ฉันไม่กลัวความตาย แม้ว่าฉันตายไปแล้ว ฉันก็จะไม่จากเธอไป วิญญาณของฉันจะไปรอเธอที่สวนอร สวนแห่งความฝันของเรา ณ สถานที่นั้นเราจะได้อยู่ร่วมกันด้วยความผาสุก และจะไม่มีวันพลัดพรากจากกันอีกเลย

วีรชาติ ดวงใจของฉัน ฉันจะรอเธอ ขณะนี้ฉันขอลาก่อน จนกว่าเราจะได้พบกันอีก ณ สวนอร สุสานวิญญาณรักของเรา

อรนุช

สำหรับข้อมูลเกี่ยวกับ อ.สนิทวงศ์ ผมขอเพิ่มเติมอีกสักเล็กน้อย จากหนังสือชมรมนักเขียน ของคุณประกาศ วัชราภรณ์ครับ

ท่านสนใจ เขียนหนังสือมาตั้งแต่เริ่มเรียนที่โรงเรียนวัฒนาวิทยาลัย งานแปลครั้งแรก เริ่มต้นด้วยผลงานเรื่องสั้น Black Pearl หรือ ไข่มุกดำ ซึ่งเป็นนิยายแนวสืบสวน ในปี พ.ศ. 2487 ก่อนจะเริ่มต้นแปลผลงานนวนิยายขนาดยาวเรื่องแรก ที่หลายคนรู้จักกันดีก็คือ สี่ดรุณี ในปี พ.ศ. 2493

อ.สนิทวงศ์ เกิดเมื่อวันที่ 27 สิงหา 2457 นับเนื่องถึงปัจจุบัน พ.ศ. 2566 นับได้ว่า แทบจะเป็นหนึ่งร้อยสิบปีชาตกาล ของท่านเลยทีเดียวครับ 

 

Don`t copy text!