ไหม

ไหม

โดย : หมอกมุงเมือง

Loading

บรรณาภิรมย์ โดย หมอกมุงเมือง คอลัมน์ที่อ่านเอาขอมอบความรื่นรมย์ให้กับผู้อ่านด้วยภาพปกสวยๆ และเนื้อเรื่องในแบบต่างๆ ของนักเขียนชั้นครูที่เคยผ่านมือ ผ่านตาและผ่านใจ เพื่อให้ทุกคนได้ร่วมรำลึกถึงผลงานของนักเขียนแต่ละท่านให้พอหายคิดถึงแม้เวลาจะผ่านไปแล้วเนิ่นนาน ภาพและตัวอักษรจะปรากฏให้เห็นอีกครั้งในยุคของการอ่านออนไลน์

****************************

สนับสนุนอ่านเอาด้วยการสั่งซื้อหนังสือ “ในสวนอักษร” คลิกที่นี่

น้อย ชลานุเคราะห์ เป็นนักเขียนนวนิยายรุ่นครูในยุคอดีต ซึ่งมีข้อมูลรายละเอียดเกี่ยวกับตัวของท่านน้อยมาก จากหนังสือ เพื่อนพ้องแห่งวันวาร ซึ่งมีรูปประกอบ และข้อมูลเพียงไม่กี่บรรทัด บอกเล่าไว้แต่เพียงว่า

ท่านเกิดเมื่อ ปี พ.ศ. 2457 เป็นนักประพันธ์สตรีในรุ่นรอยต่อแห่งทศวรรษ 2480 และ 2490 ร่วมสมัยเดียวกับ ดอกไม้สด ก.สุรางคนางค์ วรรณสิริ และ กุหลาบขาว ผลงานนวนิยายรุ่นบุกเบิกของเธอ มีจำนวนมาก แต่ทว่านามประพันธ์นี้ ดูเหมือนถูกลืม เมื่อเทียบกับดอกไม้สด ก.สุรางคนางค์ นวนิยายมีชื่อของเธอ ก็เช่น เพียงชีวิตดับ อารมณ์นาง นางครวญ แถบทอง ณ ดงปาริชาต คนละแบบ คู่เสน่หา ฯลฯ รวมเรื่องสั้นหายากของเธอ มีชื่อว่า มาลัยทิพย์ รวมพิมพ์เป็นเล่มครั้งแรก โดยสำนักพิมพ์คลังวิทยา เมื่อ พ.ศ. 2494  นี่คือนักประพันธ์สตรี แนวพาฝัน อีกนามหนึ่งที่ถูกลืมไป เหมือนจงใจ

ในขณะที่ อาจิณ จันทรัมพร ได้เขียนเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับ น้อย ชลานุเคราะห์ (สมร ชลานุเคราะห์) ซึ่งได้รวบรวมจากหนังสือที่ระลึกงานฌาปนกิจศพ เมื่อวันที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2523 ทำให้มีข้อมูลและรายละเอียด เกี่ยวกับนักเขียนนวนิยายท่านนี้มากขึ้น ซึ่งผมขอนำมาประกอบการเขียนรีวิวนี้บางส่วนดังต่อไปนี้ครับ

น้อย ชลานุเคราะห์ เกิดเมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2457 ที่บ้านชลานุเคราะห์ ริมคลองบางกอกใหญ่ เขตธนบุรี โดยเป็นบุตรีของ นาวาเอก พระยาชลธารวินิจฉัย และคุณหญิงเชื้อ มีพี่น้องร่วมบิดามารดาถึงแปดคน พี่ชายคนโตคือ คุณแม่น ชลานุเคราะห์ มีชื่อเสียงด้านวิทยุกระจายเสียงเป็นที่รู้จักกันในยุคสมัยของอดีตเป็นอย่างยิ่ง

ท่านเริ่มการศึกษาที่โรงเรียนซางตาครูสคอนแวนต์ จากนั้นไปศึกษาต่อที่โรงเรียนฝึกหัดครูเพชรบุรี วิทยาครูสวนสุนันทาตามลำดับ ก่อนจะมาสมัครเป็นครูที่โรงเรียนสตรีภาณุทัต แล้วมารับราชการเป็นอาจารย์สอนที่วิทยาลัยนาฎศิลป์ กรมศิลปากร ในช่วงนี้นั่นเอง ที่ท่านได้ทุ่มเทงานประพันธ์อย่างเอาจริงเอาจัง ผลงานได้ตีพิมพ์ในนิตยสารต่างๆ มากมาย

น้อย ชลานุเคราะห์ เป็นผู้มีอารมณ์อันละเมียดละไม อ่อนไหว แต่ก็เป็นคนเจ้าอารมณ์อยู่บ้าง จึงถูกโรคหัวใจคุกคามและถึงแก่กรรมโดยสงบ เมื่อวันที่ 3 เมษายน พ.ศ. 2519 เมื่ออายุได้ 62 ปี

วรรณสิริ นักเขียนสตรีผู้มีผลงานร่วมยุคสมัยกับเธอ ได้เขียนเป็นการไว้อาลัยในหนังสืองานศพ อันประทับใจตอนหนึ่งว่า “ข้าพเจ้ายังไม่เคยลืมความหลังระหว่างคุณน้อยและข้าพเจ้าเลย เราเป็นนักเขียนของหนังสือพิมพ์เดลิเมล์วันจันทร์ สมัยคุณมานิต ศรีสาครเป็นบรรณาธิการ ข้าพเจ้ารู้จักบทประพันธ์ของน้อย ชลานุเคราะห์ ดี แต่ไม่เคยพบตัวเลย จนกระทั่งวันหนึ่ง คุณมานิต พาสุภาพสตรีท่านหนึ่งมาหาข้าพเจ้าถึงบ้าน และแนะนำว่า เธอผู้นั้น คือ “น้อย ชลานุเคราะห์” ข้าพเจ้ารู้สึกว่า คุณน้อยเป็นผู้มีอัธยาศัย ทั้งมีนิสัยและมารยาทงามพร้อม สมเป็นสายโลหิตของท่านผู้มีเกียรติ และเมื่อข้าพเจ้าไปพบเธอที่บ้าน ก็ได้รับการต้อนรับอย่างดี”

ผลงานของท่านจากที่รวบรวมไว้ในหนังสือที่ระลึกงานฌาปนกิจศพ บอกไว้ว่า มีทั้งสิ้น 114 เรื่อง หากก็เป็นที่น่าเสียดาย ที่ในปัจจุบันงานของท่านหาอ่านได้ยากมาก เนื่องจากไม่ได้จัดพิมพ์ขึ้นใหม่ ผลงานเรื่องสั้น “มาลัยทิพย์” ที่จัดพิมพ์ขึ้นโดยสำนักพิมพ์ครั้งวิทยา เมื่อ ปี พ.ศ. 2494 ได้รวมเรื่องสั้น ไว้ทั้งหมด 23 เรื่อง น่าจะนับว่าเป็นหนังสือรวมเรื่องสั้นของ น้อย ชลานุเคราะห์ ที่สมบูรณ์ที่สุด และก็หาอ่านได้ยากที่สุดเล่มหนึ่งเช่นกัน

สำหรับ “ไหม” เรื่องนี้ เป็นนวนิยายขนาดสั้น เนื้อหาเป็นแนวพาฝัน ที่สะท้อนภาพชีวิต เด็กสาวในชนบท นามไหม ซึ่งเป็นเด็กสาวแรกรุ่นหน้าตาสะสวย และเป็นที่หมายปองของ ไอ้เมือง มั่นมิตร ลูกชายกำนัดมิ่ง ที่แอบชอบไหม มาตั้งแต่ยังเป็นเด็กแรกรุ่น

แต่แล้ว ความรักความฝันของไอ้เมือง ก็ถูกทำลายไปอย่างไม่เหลือชิ้นดี เมื่อ ภิญญ โภชน์พงศ์ ปรากฏตัวขึ้น เขามารับราชการยังดินแดนบ้านป่าแห่งนี้ โดยมีญาติเป็นนายอำเภอและคุณนาย ซึ่งเอ็นดูชายหนุ่มจากกรุงเทพฯ และครั้งแรกที่ภิญญ ได้เห็นไหม เขาก็มีความประทับใจ จนเกิดความรัก เช่นเดียวกับหญิงสาว

ด้วยความเห็นชอบของผู้ใหญ่ ทำให้ภิญญ ตัดสินใจแต่งงาน รับไหมเป็นภรรยา ในขณะที่เมืองก็ต้องอกหักด้วยความปวดร้าว และประชดตัวเอง จนกำนันมิ่งผู้บิดา ทนไม่ไหว เมืองแค้น ภิญญ จนอยากจะไปทำร้ายอีกฝ่ายให้เสียชีวิต แต่บิดาก็พยายามเตือนสติ

“พ่อกำลังพูดถึงขุนโจรจริงๆ” เมืองหัวเราะแค่นๆ “ที่ฉันคิดจะฆ่ามันคนนี้ ไม่ใช่ขุนโจรแดนไหนหรอกพ่อ มันอ้ายมหาโจรผู้ดี มันกำลังปล้นอยู่แถวแดนหัวใจอ้ายเมืองนี่แหละพ่อจ๋า มันแสนจะเจ็บปวดละพ่อ” พูดพลางหนุ่มมั่นมิตร ก็ทุบอกตัวเองแรงๆ จนเกิดเสียงดังอย่างไม่กลัวเจ็บ “มันเจ็บหัวใจพ่อ มันปวดแสนทรมาน เกิดมาเป็นอ้ายเมือง เพิ่งเคยรู้จักเจ็บหัวใจเหลือเกิน มันปวดร้าวอย่างที่สุด”

ในที่สุดเมืองก็เข้าใจความรักของพ่อ ที่มีต่อมันเอง จนทำให้มันข่มใจ หักใจจากไหม และหายไปจากหมู่บ้านแห่งนั้น

แต่ในขณะเดียวกัน ที่พระนคร นางพร้อมโภชน์พงศ์ มารดาม่ายของ ภิญญ ก็มีน้องสาวชื่อพริ้ง และลูกสาวพริ้ง ชื่อพรรณแข ที่นางพริ้ง หวังจะให้ลูกสาวตนเอง ได้แต่งงานกับ ภิญญ นางพริ้งเอง มีสามีชื่อเขียน แต่ต่อมาสามีของนางก็เสียชีวิต ทำให้นางพริ้งถือโอกาสมาอาศัยใบบุญของ พร้อม ผู้เป็นพี่สาว

แต่แล้ว เมื่อได้ข่าวว่า ภิญญ แต่งงานกับ ไหม ไปเสียแล้ว นางก็ไม่ละความพยายาม โดยการเข้าทาง พี่สาวตัวเอง คือพร้อม เพื่อให้เป็นเครื่องมือ สำหรับกำจัดไหม ออกไปจากชีวิตของ ภิญญ

นางพร้อมเอง แม้จะไม่ค่อยชอบนิสัยของน้องสาวตัวเอง แต่เมื่อถูกเป่าหู ก็เกิดอคติกับไหม จึงยื่นคำขาดให้ ภิญญ แต่งงานกับ พรรณแข

ภิญญ กลับมายังบ้านป่าแห่งนั้นอีกครั้ง ด้วยหัวใจร้าวราน เขาตั้งใจจะขัดคำสั่งมารดา แม้ว่าไหมจะพยายามทัดทานสักเพียงใดก็ตาม ภิญญ ก็พาไหม ลงไปยังบ้านของเขาที่พระนคร

ไหม อยู่ที่นั่น อย่างหวานอมขมกลืนในขณะที่นางพริ้งพยายามเข้ามาตีสนิทอย่างหวังดี แต่ลับหลังก็ไปใส่ไฟไหมจนยิ่งทำให้นางพร้อมรู้สึกเกลียดชัง แต่สิ่งที่ทำให้ไหมประหลาดใจยิ่งกว่า คือคนสวนคนใหม่ ที่มาอาศัยอยู่ในบ้านนางพร้อม นั่นก็คือ “เมือง มั่นมิตร” นั่นเอง

เมืองยังรักไหม ไม่เปลี่ยนแปลง และความรักของเมือง ไม่ใช่ความรักที่ต้องการครอบครองอีกต่อไป แต่บัดนี้ หนุ่มบ้านป่าอย่างเขาต้องการจะช่วยไหม ให้ได้สมรักสมปรารถนากับ ภิญญ คนสวนหนุ่มที่ปลอมตัวมา รู้ดีว่าปัญหาทั้งหมดมาจาก พรรณแข เขาจึงตัดสินใจบุกเข้าไปหาพรรณแข ในคืนวันหนึ่ง

เมืองตัดสินใจบุกเข้าไปในห้องของพรรณแข ในคืนฝนตก เขาแอบในห้องนอน ในขณะที่หล่อนกำลังทำธุระส่วนตัวอยู่ในห้องน้ำอย่างไม่เฉลียวใจว่า จะมีสิ่งไรบังเกิดขึ้นแก่ชีวิตสาว ยี่สิบกว่าฤดูฝนที่อุตส่าห์ทะนุถนอม รักษานวลสงวนตัวตลอดมา จะต้องถึงอาการสูญเสียไปในชั่วคืนเดียวนั้น ด้วยการกระทำของชายชาตรีอกสามศอก เพียงเพื่อต้องการตอบแทน ความรักในหญิงหนึ่ง โดยใช้ความสาวสวยของพรรณแข เป็นเครื่องสังเวย ความรักแด่หญิงยอดดวงใจของเขา…

จากนั้น เมืองก็ซมซานหนีกลับมาที่บ้านป่าของตัวเอง ท่ามกลางความประหลาดใจของกำนันมิ่งบิดา เขาเอาแต่นั่งซึม ด้วยความรู้สึกผิดในใจ และความรู้สึกหวนหาพรรณแขขึ้นมาอย่างประหลาด ขณะที่พรรณแขเอง เมื่อตกเป็นของเมืองแล้ว หญิงสาวก็ไม่ปรารถนาที่จะแต่งงานกับภิญญอีกต่อไป

ความรักของสองหนุ่มสาวปราศจากอุปสรรคกีดขวาง และทั้งคู่เมื่อรู้ว่า พรรณแข มีความสัมพันธ์กับเมืองและรู้ว่าชายหนุ่มผู้นั้นกำลังป่วยหนัก จึงตัดสินใจพาพรรณแขให้ไปเยี่ยม ที่บ้านป่าของเขา ทำให้หญิงสาวได้มีโอกาสปรับความเข้าใจกับเมือง และลงเอยด้วยกันในที่สุด

นวนิยายขนาดสั้นเรื่องนี้ เมื่ออ่านจนจบลงแล้ว จะพบว่า พล็อตเรื่องอาจจะไม่ทันสมัย หรือแม้แต่แนวคิดในเรื่องความรักและการกระทำของตัวละครที่ค่อนข้างขาดเหตุผลไปบ้าง แต่เมื่อมองจากบริบทของการเขียน ซึ่งเกิดขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2500 หรือนับกว่าหกสิบปี มาแล้ว นวนิยายเรื่องนี้ก็คือ นิยายพาฝัน ในยุคแรกๆ ที่เหมาะแก่การศึกษา และเป็นต้นธารของวรรณกรรม แนวพาฝันในยุคต่อมา

เรื่อง : ไหม

ผู้ขียน : น้อย ชลานุเคราะห์

สำนักพิมพ์ : บรรณาคาร

ปีที่พิมพ์ : 2502

เล่มเดียวจบ

และสำหรับ รูปประกอบทั้งรูปผู้เขียน และลายมือผู้เขียน ที่อยู่ในบทรีวิวนี้ ได้อ้างอิงมาจากหนังสือ “นักเขียนไทยในสวนหนังสือ” ของ คุณอาจิณ จันทรัมพร ครับ

Don`t copy text!