อสุรกายกลางเมือง

อสุรกายกลางเมือง

โดย : หมอกมุงเมือง

บรรณาภิรมย์ โดย หมอกมุงเมือง คอลัมน์ที่อ่านเอาขอมอบความรื่นรมย์ให้กับผู้อ่านด้วยภาพปกสวยๆ และเนื้อเรื่องในแบบต่างๆ ของนักเขียนชั้นครูที่เคยผ่านมือ ผ่านตาและผ่านใจ เพื่อให้ทุกคนได้ร่วมรำลึกถึงผลงานของนักเขียนแต่ละท่านให้พอหายคิดถึงแม้เวลาจะผ่านไปแล้วเนิ่นนาน ภาพและตัวอักษรจะปรากฏให้เห็นอีกครั้งในยุคของการอ่านออนไลน์

 

ไท เทพราช คืออีกนามปากกาหนึ่งของ ประสิทธิ์ โรหิตเสถียร นักกลอนอาวุโส ผู้มีผลงานทั้งร้อยแก้ว ร้อยกรอง เป็นจำนวนมาก ผลงานนวนิยายของท่านที่หลายท่านรู้จักกันดี คือ เสาร์ห้า และ นักฆ่าขนตางอน นอกจากนี้ยังมี ขุนกระทิง ที่นำไปสร้างเป็นภาพยนตร์ และละครโทรทัศน์ โดยใช้นามปากกาว่า ‘ดาเรศร์’ อีกด้วย สำหรับข้อมูลประวัติของท่าน ได้เขียนไว้ในหน้าแรกของนวนิยายเรื่องนี้ด้วย ผมเลยขอนำมาลงประกอบไว้เพื่อความสมบูรณ์ของบันทึกเรื่องนี้ด้วยครับ

ประสิทธิ์ โรหิตเสถียร ผู้ประพันธ์

ท่านเกิดเมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2473 ที่ตำบลบ้านเกาะ อำเภอกรุงเก่า จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จบชั้นมัธยมต้น ที่โรงเรียนรพีพัฒน์วิทยาลัย (สมัยสงครามโลกครั้งที่สอง) มัธยมปลายที่อยุธยานุสสรณ์ จากนั้นมาเรียนต่อจนได้ประกาศนียบัตรวิชาการหนังสือพิมพ์ (ภาคค่ำ) ที่จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย วิชาช่างเขียนนักศึกษาผู้ใหญ่วิทยาลัยเพาะช่าง เป็นต้น

ในส่วนประวัติการทำงาน ท่านทำงานอยู่การรถไฟแห่งประเทศไทย 33 ปี เขียนนวนิยาย เป็นงานอดิเรก และคอลัมน์ประจำที่ ‘เสียงเมืองชล’

ประสิทธิ์ โรหิตเสถียร ได้ถึงแก่กรรมจากอาการติดเชื้อในกระแสเลือดและโรคชรา เมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2555

++++++++++++++++++++

สำหรับนวนิยาย อสุรกายกลางเมือง น่าจะเป็นผลงานอีกรูปแบบหนึ่งที่ฉีกไปจากนิยายแนวบู๊ทั้งสามเรื่องที่ผ่านมา

มันไม่ใช่ผี แต่มันไม่มีตัวตน

มันไม่ใช่คน แต่มันก็เหมือนคน

มันไม่ใช่สัตว์ แต่มันแข็งแรงยิ่งกว่าสัตว์

มันไม่มีชีวิต แต่มันฆ่าคนอย่างโหดเหี้ยม สยดสยอง!

(คำโปรยหลังปก ฉบับพิมพ์ครั้งที่สอง)

เรื่องราวใน อสุรกายกลางเมือง บรรยายถึงชีวิตคนกรุงเทพฯ ในกลุ่มของคนหาเช้ากินค่ำ อย่างครอบครัวของหรั่ง แป้น และเจ้าเล็ก ลูกชายตัวน้อย ทั้งสามคนอาศัยอยู่ในบ้านเช่าหลังเล็กๆ ย่านชุมชนแออัดที่มีภูเขากองขยะจำนวนมาก หรั่งเองเป็นชายกลางคน ซึ่งมีหน้าที่เป็นคนทำความสะอาด กวาดถนน อยู่เป็นประจำ จึงเห็นพฤติกรรมของคนมากหน้าหลายตา ที่ต่างทิ้งขยะอย่าง ไม่สนใจถึงผลลัพธ์ที่จะตามมา

เขาเองเป็นเพียงคนเล็กๆ ที่ไม่มีปากเสียงอะไร นอกจากบ่นไปตามประสา และแล้วชีวิตของเขาก็มาถึงจุดเปลี่ยนสำคัญพร้อมกับคนในชุมชน เมื่อพบว่ามีคนเสียชีวิตอยู่ในกองขยะ!

++++++++++++++++++

หรั่งเดินนำหน้าลูกชายไปตามทางซึ่งอ้อมสู่หลังกองขยะ ความอ่อนนุ่มของพื้นที่เหยียบย่ำลงไปนั้น บางแห่งก็ยุบเพราะแรงกดจนเกือบครึ่งหน้าแข้ง ที่เท้าของคนในห้องแอร์เหยียบเพียงก้าวเดียวก็คงล้างกันเจ็ดวันเจ็ดคืน แต่สำหรับพวกเขาแล้ว มันก็คือทางเดินอันสุดแสนธรรมดา มิหนำซ้ำยังเป็นทางเดินไปสู่การทำมาหากินกับกองขยะนั้นด้วย

ตรงนั้นมีคนมามุงดูเป็นกลุ่มใหญ่อยู่ก่อนแล้ว

คนตายเป็นคนแปลกหน้าในชุมชน แต่สภาพร่างกายเหวอะหวะ นัยน์ตาเหลือกค้าง ด้วยความหวาดกลัวสุดขีดก่อนเสียชีวิต โดยมีเลือดไหลเกรอะกรังไปทั้งร่าง สภาพเช่นนั้นเองที่นำพานักข่าวอย่างอนันต์ และนที ให้เข้ามาสืบหาความจริง

สภาพศพที่ไม่เหมือนถูกฆาตกรรมจากมนุษย์ และมีเลือดถูกสูบออกไปราวกับเป็นผีดิบ!

ขณะที่เหตุการณ์แรกยังไม่ชัดเจน ความตายของเหยื่อรายที่สองและสามก็ตามมา เป็นลำดับ โดยที่หรั่งได้มีโอกาสเห็น ‘ฆาตกร’ เป็นครั้งแรก

มันมาจากในภูเขากองขยะนั่นเอง…

อะไรอย่างหนึ่งกำลังโผล่ขึ้นมาทีละน้อยๆ มันเหมือนท่อนอะไรสักอย่าง กลมโตมโหฬารเหยียดนำขึ้นมาก่อน!!

พอดีกับสายฟ้าคะนองวาบเปรี้ยงสนั่น แล้วค่อยแผ่วเสียงครืนคราง มันหยุดความเคลื่อนไหวไประยะหนึ่ง แล้วค่อยๆ โผล่พ้นขึ้นมาอีกดูราวพืชแปลกประหลาดผุดขึ้นรับสายฝน และเติบโตอย่างรวดเร็วที่สุด ท่อนลำขนาดใหญ่นั้นลดงอลง กวาดขยะไปรอบๆ ส่วนกลมเหนือระดับก็ค่อยๆ ผุดขึ้นมา กลมโตขนาดเข่งใบย่อม

ภาพประกอบ อสุรกายกลางเมือง

และคราวนี้ มันปรากฏขึ้นอย่างชัดเจน เป็นร่างอสุรกายขนาดมหึมา ไม่ต่างกับผุดขึ้นมาจากขุมนรก… อสุรกายกลางเมือง!

พวกมันถือกำเนิดขึ้นอย่างพิสดาร และออกอาละวาดทำร้าย สังหารผู้คน โดยที่นทีและ จิตราภรณ์ คนรักของเขา มีโอกาสได้เผชิญหน้ากับมัน จิตราภรณ์เป็นลูกสาวคนสวยของพลตำรวจโทจงพัฒน์ ที่กำลังสงสัยว่าการปรากฏขึ้นของอสุรกายกลางเมืองนี้ มีใครอยู่เบื้องหลังกันแน่?

นอกจากนี้ ยังมีหมอบุญครองที่เข้ามาช่วยทำคดีนี้ และพยายามหาสาเหตุการถือกำเนิดของอสุรกายนี้อีกด้วยก่อนที่ความสูญเสียจะมากขึ้นไปอีก

และก่อนที่จะมีใบปลิวลึกลับที่ส่งโดยบุคคลนิรนาม เพื่อเรียกร้องเงินจำนวนหนึ่งร้อยล้านบาท เป็นการยุติเหตุการณ์สยองขวัญนี้เกิดขึ้น

ภารกิจในการกำจัดอสุรกายกลางเมืองของ นที จิตราภรณ์ รวมถึงหมอบุญครอง จึงเริ่มต้นขึ้น

++++++++++++++++++

นิยายเรื่องนี้เริ่มต้นเหมือนกับเป็นแนวสยองขวัญ ผสมผสานด้วยแนวคิดเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมและสภาพผู้คนในยุคปัจจุบัน ผ่านความคิดคำนึงของตัวละคร ‘หรั่ง’ ในเรื่อง ซึ่งเป็นอีกสไตล์หนึ่งของงานเขียนแบบผสมผสานที่ไม่ค่อยได้พบบ่อยนัก จากนั้นก็สร้างความสงสัย และเรื่องราวทั้งวิทยาศาสตร์และไสยศาสตร์ ที่เหล่าผู้กล้าทั้งหลาย หาหนทางเพื่อเข้ามาปราบอสุรกายกลางเมืองที่เพิ่มจำนวนทวีมากขึ้นเรื่อยๆ ทุกขณะ จนประสบผลสำเร็จในที่สุด และในตอนท้ายของเรื่องที่เป็นฉากงานแต่งงานของพระเอกนางเอก ก็ยังมีการแกล้งเหมือนทิ้งปมไว้ให้คนอ่านอีกนิดหน่อย ซึ่งน่าจะเป็นลูกเล่นขบขันในสไตล์ของผู้เขียน เพื่อไม่ให้เรื่องราวทั้งหมดมีบรรยากาศของความอึมครึม เคร่งเครียด เพียงอย่างเดียว

เรื่อง : อสุรกายกลางเมือง

ผู้เขียน : ไท เทพราช

สำนักพิมพ์ : ดอกหญ้า

ปีที่พิมพ์ : ไม่ปรากฎปีที่พิมพ์

เล่มเดียวจบ

จากข้อสันนิษฐานของผม นวนิยาย อสุรกายกลางเมือง น่าจะเป็นผลงานในนามปากกา ไท เทพราช เพียงนามปากกาเดียวที่พิมพ์เป็นเล่มออกมา เพราะผมเองไม่เคยเห็นนามปากกานี้มาก่อน นอกจากข้อมูลบทความ จากคอลัมน์ ในลิ้นชักความทรงจำ ของ คุณยูร กมลเสรีรัตน์ ที่ท่านได้เล่าว่า ผู้เขียนใช้นามปากกานี้เขียนนวนิยาย เรื่อง กุยเล้ย ลงในนิตยสาร บางกอก แต่ได้เปลี่ยนไปใช้นามปากกา ‘ดาเรศร์’ แทน ดังข้อความตอนหนึ่งว่า

ผลงานเรื่องสุดท้ายของ ดาเรศร์ คือนวนิยายเรื่อง “กุยเล้ย” ที่เขียนไว้จนจบก่อนเสียชีวิต  แต่ใช้นามปากกา “ไท เทพราช”  ธาดา เกิดมงคล บรรณาธิการนิตยสารบางกอก รายสัปดาห์โทรศัพท์ไปขอ  เพื่อตีพิมพ์ในนิตยสารบางกอก ในวาระที่นิตยสารบางกอกขึ้นปีที่ 55

นวนิยายเรื่อง กุยเล้ย ประเดิมตอนแรกในนิตยสาร บางกอก ฉบับวันที่ 25 มิถุนายน  2555 หากบรรณาธิการเปลี่ยนไปใช้นามปากกา ‘ดาเรศร์’ เพราะเป็นนามปากกาที่เปรียบเสมือนแม่เหล็กดึงดูดคนอ่าน ในบทบรรณาธิการได้โฆษณาให้แฟนบางกอกรู้ข่าวในการกลับมาเยือนบ้านหลังเก่าซึ่งนามปากกา ‘ดาเรศร์’ ถือกำเนิดที่สนามบางกอกแห่งนี้  ดังตอนหนึ่ง…

“บางกอกทูอินวัน ฉบับนี้เป็นฉบับขึ้นปีที่ 55 ฉบับที่แล้วเกริ่นนำไว้ว่า ฉบับขึ้นปีที่ 55 นี้ให้คุณคุณผู้อ่านรอลุ้น รออ่าน กุยเล้ย นวนิยายเรื่องใหม่ถอดด้าม จากปลายปากกาของ ดาเรศร์ กันให้สนุกสนาน…”

มีข้อความโปรยนำเรื่องในนวนิยายเรื่อง ‘กุยเล้ย’ ให้ชวนอยากติดตามอ่านว่า…

“แผ่นดินสยามของเรานั้น เป็นแผ่นดินแห่งความร่มเย็นเป็นสุขนัก หลายชาติหลายภาษาที่เข้าพึ่งความร่มเย็น สืบลูกสืบหลายเป็นผืนแผ่นดินทำกิน เขาย่อมสำนึกคุณแผ่นดิน โดยเฉพาะคนที่เคยสวมหมวก…”

ปี 2555 ขณะที่นวนิยายเรื่อง ‘กุยเล้ย’ กำลังตีพิมพ์ได้เพียงไม่กี่ตอน ประสิทธิ์ โรหิตเสถียร มีอาการเหนื่อยหอบและอ่อนแรงมาก ลูกๆ จึงรีบพาส่งโรงพยาบาลรามาธิบดี คณะแพทย์รีบทำการรักษา โดยให้ยาพ่นเพื่อขยายหลอดลม แต่ไม่ได้ผล จึงเปลี่ยนเป็นใส่เครื่องช่วยหายใจ ผลเอกซเรย์ออกมาปรากฏว่าปอดมีฝ้าขาวเต็มทั้งสองข้าง  เกิดจากการสูบบุหรี่จัดมาเป็นเวลานานหลายสิบปี…

การกลับมาของมะเร็งร้ายที่คุกคามอย่างจู่โจมในปี 2555  ชั่วระยะเวลาเพียง 3 วัน-ในที่สุด นักเขียน-กลอนอาวุโสผู้มากความสามารถก็จากไปอย่างสงบ เป็นจากไปเพียงร่าง หากนามปากกา ‘ดาเรศร์’ คู่เคียงกับ ประสิทธิ์  โรหิตเสถียร ยังคงส่งประกายแห่งตัวอักษรอันเรืองรองประดับวงการน้ำหมึกตลอดกาล

สำหรับนิยายเรื่อง กุยเล้ย นี้ ผมไม่เคยได้เห็นนำมาพิมพ์รวมเล่มเลยครับ ซึ่งถ้าหาก เป็นงานเขียนที่เขียนจนจบแล้ว ก็นับว่าเป็นที่น่าเสียดายสำหรับแฟนนักอ่านอย่างยิ่ง ที่จะได้มีโอกาสได้อ่านผลงานเขียนชิ้นสำคัญ อันเป็นผลงานนวนิยายเรื่องสุดท้ายในชีวิตของท่านอีกด้วย

 

Don`t copy text!