คุณไม่ต้องยั่วหรอก ผมรักคุณแล้ว

คุณไม่ต้องยั่วหรอก ผมรักคุณแล้ว

โดย : หมอกมุงเมือง

Loading

บรรณาภิรมย์ โดย หมอกมุงเมือง คอลัมน์ที่อ่านเอาขอมอบความรื่นรมย์ให้กับผู้อ่านด้วยภาพปกสวยๆ และเนื้อเรื่องในแบบต่างๆ ของนักเขียนชั้นครูที่เคยผ่านมือ ผ่านตาและผ่านใจ เพื่อให้ทุกคนได้ร่วมรำลึกถึงผลงานของนักเขียนแต่ละท่านให้พอหายคิดถึงแม้เวลาจะผ่านไปแล้วเนิ่นนาน ภาพและตัวอักษรจะปรากฏให้เห็นอีกครั้งในยุคของการอ่านออนไลน์

 

เห็นชื่อนวนิยายเรื่องนี้เป็นครั้งแรก ยอมรับว่าตั้งชื่อเรื่องได้สะดุดตาสะดุดใจเป็นอย่างมาก ยิ่งเมื่อเห็นนามปากกานี้แล้ว ผมไม่เคยได้ยินชื่อของผู้เขียนมาก่อนเลย ตราบจนกระทั่งได้มีโอกาสอ่าน ‘ลายสลักอักษรา’ อันเป็นบันทึกประวัติศาสตร์ในวงการวรรณกรรมไทย ของ กฤษณา อโศกสิน ซึ่งในบทที่ 24 ท่านได้เขียนไว้ถึงนวนิยายเรื่องนี้ เมื่อครั้งนำลงในนิตยสาร สตรีสาร โดยมี ‘คุณย่า บ.ก.’ นิลวรรณ ปิ่นทอง ในขณะนั้น ไว้ได้อย่างน่าสนใจยิ่ง

… พ.ศ. 2516 มีงานเขียนสุภาพสตรีท่านหนึ่ง นามปากกา “พรนิภา” เขียนเรื่องชื่อ “คุณไม่ต้องยั่วหรอก ผมรักคุณแล้ว”เป็นนวนิยายขนาดสั้นที่ท่านอาจารย์ตัดสินใจนำเสนอ โดยระบุว่า ท่วงทำนองการเขียนของพรนิภาอ่อนไหวอย่างดอกหญ้าพลิ้วโอนในกระแสลม แต่ในความบอบบางนั้นมีความเป็นตนเองมั่นคงและมีแนวคิดเฉพาะตัวด้วย ซึ่งเป็นคุณสมบัติของงานประพันธ์

หากเมื่อนำลงไปได้สองเดือน ก็มีผู้อ่านติมาว่า “คุณไม่ต้องยั่วหรอก… พยายาม หาข้อดีเป็นพิเศษ ยังไม่พบ”

ท่านอาจารย์จึงตอบผู้อ่านที่ติมาครั้งแรกว่า “… บ.ก. อ่านตรวจต้นฉบับเรื่องนี้หลายพัก ก่อนจะตัดสินใจนำเสนอ เพราะมองข้าม ‘สำนวนเฉพาะตัว’ ของผู้ประพันธ์ไปพบ ‘แง่คิด’ ที่เข้าทีในเนื้อหาของเรื่อง จึงให้ ‘โอกาส’ แพร่สู่ผู้อ่าน การที่ท่านผู้อ่านยังไม่พบสิ่งที่ควรพบ ก็คงจะเนื่องด้วยท่วงทำนองบรรยากาศไม่ดึงดูดความสนใจอย่างเพียงพอ ผู้อ่านจึงไม่มองไปถึงเนื้อหา บ.ก. จะขอยกไว้พูดอีกครั้งเมื่อเรื่องจบแล้ว ซึ่งในชั้นนี้ขอเรียนถึงเจตนาไว้ก่อนว่า บ.ก. มักให้โอกาสแก่ผู้ประพันธ์เรื่อง เท่าที่สามารถทำได้อย่างน้อยก็สักครั้ง เพื่อบทประพันธ์จะได้ทดสอบกับมติของผู้อ่าน ซึ่งเปรียบได้กับแท่งหินสำหรับฝนพิสูจน์เนื้อทองคำวรรณกรรม”

สำหรับนวนิยายรักชื่อแปลกเรื่องนี้ เป็นเรื่องราวของชีวิตสาวยุคจรวด (ในสมัยนั้น) ที่มีชื่อว่านิด หรือขนิษฐา เธอเป็นลูกสาวคนสุดท้องของคุณนายนวล โดยลูกๆ คนอื่นๆ ต่างเติบโต มีหน้าที่การงานและแยกย้ายกันไปใช้ชีวิตที่อื่นกันหมดแล้ว

ขนิษฐาเรียนจบจากเมืองนอก และด้วยเป็นสาวหัวสมัยใหม่ รวมกับการเลี้ยงดูอย่างตามใจจากมารดา เพราะเป็นลูกคนเล็ก จึงมีบุคลิกท่าทีเฉพาะตัว ขัดหูขัดตา ผู้เป็นมารดา ไม่น้อย โดยเฉพาะการคบเพื่อนสาวนักเที่ยว ชอบดื่มเหล้าออกงานสมาคม จนกลับบ้านดึกๆ ดื่นๆ ก็ตาม

แต่แล้วความคิดของเธอก็เริ่มเปลี่ยนไป เมื่อมารดาพาไปเยี่ยมบ้านของพี่สาวคนหนึ่งที่ทำสวนส้มอยู่ย่านฝั่งธน และได้พบกับหลานสาววัยแรกรุ่นชื่อแจ๋ว หรือชลินทร์ ซึ่งเป็นเด็กสาวบุคลิกเรียบร้อยอ่อนหวาน แตกต่างจากสาวเปรี้ยวอย่างเธอโดยสิ้นเชิง

คุณนายนวลเอ็นดูชลินทร์มาก เมื่อเห็นว่าเป็นช่วงปิดเทอมพอดี จึงชวนชลินทร์ให้มาอยู่ที่บ้านในกรุงเทพฯ ด้วยกัน

ขนิษฐานั้นก้าวหน้าไกลกว่าชลินทร์ด้วยวัยและประสบการณ์ที่มากกว่า แต่หลานสาวก็ก้าวตามหลังมาในแนวคิดทำนองเดียวกัน

คนหนึ่งมีความเปรียวบังความละมุนละไมที่แท้จริง ส่วนอีกคนหวานๆ อ่อนๆ ปิดบังดวงจิตของสาวยุคใหม่ ที่ปรารถนาจะใคร่ทราบทุกสิ่ง เรียนรู้ทั้งเรื่องดีและเลว เพื่อใฝ่หาทางดำเนินชีวิตที่ถูกต้อง

เพราะโลกนี้สำหรับหล่อนในวันเวลาข้างหน้า ไม่ใช่โลกสำหรับผู้หญิงที่อ่อนแออีกต่อไป ผู้หญิงที่มีจิตใจของผู้หญิง แต่มีความสามารถเยี่ยงชายนั่นแหละจึงจะเอาตัวรอดจึงจะพ้นภัย จึงจะได้ดี

สองน้าหลานจึงได้มาอาศัยอยู่ร่วมห้องพักเดียวกัน ชลินทร์ชื่นชมในบุคลิกนิสัยรักอิสระของน้าสาว ขณะที่ขนิษฐาเองก็อดรู้สึกอิจฉาหลานสาวคนสวยที่มีความอ่อนโยนน่ารักไม่ได้ ชลินทร์เปลี่ยนไปเป็นสาวสังคมเมื่อมาอาศัยอยู่ที่กรุงเทพฯ ยิ่งทำให้ขนิษฐาอดเป็นห่วงเธอไม่ได้ และเมื่อหลานสาวคนสวย ตามเธอไปเที่ยวกับกลุ่มก๊วนเพื่อนๆ ด้วยกัน ในครั้งหนึ่ง งานเต้นรำนี้เอง ที่ทำให้เธอได้รู้จักกับ ‘นายทึ่ม’ ชายหนุ่มคนหนึ่ง ที่เธอแอบตั้งฉายาให้เขาตามบุคลิกขรึมๆ นิ่งๆ เหมือนขี้อายของเขา และได้เข้ามาร่วมเต้นรำด้วย

 

นายทึ่ม หรือธรา ทำงานสัมปทานเหมืองแร่อยู่ในป่าจังหวัดกาญจนบุรี เขาประทับใจความสวยสะพรั่งของขนิษฐา ยิ่งเมื่อเธอแต่งกายหยาดเยิ้มราวกับนางฟ้า และพลัดเข้ามาเต้นรำในอ้อมแขนของเขา จนเผลอหลุดปากอุทานออกมาจากความคิดส่วนลึกของหัวใจว่า…

คุณไม่ต้องยั่วหรอก ผมรักคุณแล้ว!

ขนิษฐาหน้าแดง ร้อนผ่าวไปถึงใบหู ถึงจะเป็นผู้หญิงกล้าและแก่น แต่หล่อนก็ถือการกระทำนี้เป็นเรื่องหยาม… ธราไม่กล้าปล่อยหล่อน เกรงเรื่องขายหน้ากลางฟลอร์นั้นคือ ถ้าหล่อนจะตบเขา ถ้าหล่อนฮึดฮัดขึ้นมากลางฟลอร์ หรือสลัดจากอ้อมแขนเขากลับไปนั่ง คงไม่รู้ว่าจะวางหน้าไว้แห่งใด ด้วยความคิดเกรงไปดังนี้ เขาจึงจับตัวหล่อนแน่น บีบมือหล่อนแน่นเพื่อกันไม่ให้ชักออกและดวงตาจ้องเขม็งดูหล่อน…

ขนิษฐาไม่เคยเจอชายหนุ่มแบบนี้มาก่อนในชีวิต ส่วนหนึ่งนอกจากความรู้สึกเกลียดขี้หน้าเขาแล้ว แต่ทำไมหัวใจหล่อนถึงหวั่นไหวไปกับคำพูดนั้นด้วยเล่า?

และเมื่อหล่อนกับสมาชิกในครอบครัวเดินทางไปเที่ยวหัวหิน ก็ยังไปเจอกับธราเข้าอีก หากคราวนี้ท่าทางของเขาดูเหมือนจะสนิทสนมกับชลินทร์เสียมากกว่า ความสนิทสนมของคนทั้งคู่ ยิ่งทำให้ขนิษฐารู้สึกหงุดหงิด เสียใจขึ้นมาอย่างไม่มีเหตุผล โดยหารู้ไม่ว่าความจริงแล้วนายทึ่มหรือธราเองก็ชอบเธออยู่เช่นกัน แต่เขาทั้งเจียมตัวว่ายากจน และขี้อายเกินไป เกินกว่าที่จะยอมรับสารภาพรักกับหญิงสาวคนเก่ง อย่างเธอ ขณะที่ขนิษฐาเองก็เริ่มเปลี่ยนจากนิสัยฟุ้งเฟ้อ เที่ยวกลางคืน มาทำงานอย่างเต็มตัว งานครูโรงเรียนที่เธอรับผิดชอบทำให้มีความเป็นผู้ใหญ่มากขึ้น แตกต่างจากขนิษฐาในวันก่อน จนกระทั่งเมื่อเธอได้พบกับธรา และครั้งนี้เขากล้าที่จะสารภาพความรู้สึกที่แท้จริงต่อเธอ และขอเธอแต่งงานด้วย

เรื่อง : คุณไม่ต้องยั่วหรอก ผมรักคุณแล้ว

ผู้เขียน : พรนิภา

สำนักพิมพ์ : ศิลปาบรรณาคาร

ปีที่พิมพ์ : 2517

เล่มเดียวจบ

นวนิยายขนาด 16 ตอน สองร้อยกว่าหน้าเล่มนี้ เรียกว่ากว่าที่ทุกอย่างจะลงเอย บรรดาเพื่อนๆ รวมถึงชลินทร์ที่เอาใจช่วยน้าสาว รวมถึงคุณผู้อ่าน ก็ต้องลุ้นกันจนเหนื่อยไม่น้อยเลยทีเดียว

ผมขอจบบันทึกการอ่าน นิยายเรื่องนี้ ด้วยบทสรุป จาก ‘ลายสลักอักษรา’ ที่กล่าวถึงคุณย่า บ.ก. ตอบคำถามสุดท้ายของผู้อ่านที่เขียนเข้ามาถามเกี่ยวกับเรื่องนี้ ไว้ว่า

 

ในที่สุด เมื่อเรื่อง ‘คุณไม่ต้องยั่วหรอก ผมรักคุณแล้ว’ จบลงใน ต้น พ.ศ. 2517 ท่านอาจารย์จึงเขียนลงถ้อยแถลง

บ.ก. ยังค้างตอบท่านผู้อ่านที่ถามว่า ทำไมจึงเสนอนวนิยายของพรนิภา ขอสนทนาไว้เสียคราวนี้ว่า ในการเลือกเรื่องนำเสนอ บ.ก. ใช้หลักพิจารณาต่อไปนี้คือ

  1. เนื้อเรื่องที่ผูกขึ้นจากแนวคิดหรือความประทับใจของผู้แต่ง เป็นที่น่าสนใจเพียงใด
  2. กลวิธีการดำเนินเรื่องให้มีจังหวะท่วงทำนองเร้าความใคร่รู้ชวนติดตาม
  3. ถ้อยคำสำนวนเรียบเรียงบทบรรยาย บทสนทนาตามท้องเรื่อง
  4. ลักษณะของภูมิภาพ ฉากหลังตามสถานการณ์ของเรื่อง
  5. แนวคิดเฉพาะตัวหรือปรัชญาที่ผู้เขียนแสดงไว้ มีความ ‘ใหม่’ ไม่ลอกเลียนซ้ำซ้อนหรือจำเจ เมื่อสรุปรวมแล้วได้คะแนนผ่าน ก็นำลง

เรื่องของพรนิภามีความคิดเฉพาะตัวอ่านได้จากบทบาทของขนิษฐา ‘สาวนำสมัย’ ลูกผู้มีอันจะกินโดยไม่ต้องทำมาหากิน และชลินทร์ สาวแรกรุ่นผู้ชอบเจริญรอยตามขนิษฐา และเป็นกระจกเงาให้ขนิษฐาส่องพบตนเองและสาระของชีวิต เป็นเรื่องสมจริงอย่างเรียบๆ ง่ายๆ ไม่ลึกซึ้ง แต่ชวนสนใจ เหมือนน้ำหอมกลิ่นอ่อนๆ หรือไม้ที่กลีบและสีบอบบางเย็นตา สร้างบุคลิกคนในเรื่องพอสมตัวอย่างไม่เสแสร้ง

บ.ก. คือผู้ทำหน้าที่วิจารณ์วรรณกรรมในขณะตรวจเรื่องที่ให้โอกาสแก่งานบางรายนั้น ด้วยเชื่อว่าเป็นการช่วยโบกพัดกระพือ ‘ไฟ’ ของคนหนังสือ

 

นี่คือท่านอาจารย์

คุณย่า บ.ก. คุณนิลวรรณ ปิ่นทอง อดีตบรรณาธิการนิตยสาร สตรีสาร ผู้เป็นที่เคารพรักของนักเขียนหลายท่าน

 

Don`t copy text!