บ้านน้อย

บ้านน้อย

โดย : หมอกมุงเมือง

Loading

บรรณาภิรมย์ โดย หมอกมุงเมือง คอลัมน์ที่อ่านเอาขอมอบความรื่นรมย์ให้กับผู้อ่านด้วยภาพปกสวยๆ และเนื้อเรื่องในแบบต่างๆ ของนักเขียนชั้นครูที่เคยผ่านมือ ผ่านตาและผ่านใจ เพื่อให้ทุกคนได้ร่วมรำลึกถึงผลงานของนักเขียนแต่ละท่านให้พอหายคิดถึงแม้เวลาจะผ่านไปแล้วเนิ่นนาน ภาพและตัวอักษรจะปรากฏให้เห็นอีกครั้งในยุคของการอ่านออนไลน์

****************************

 

ถ้าให้ผมเลือกนวนิยายวรรณกรรมเยาวชนที่อ่านแล้วประทับใจหรือชื่นชอบมากๆ มาสักเรื่องหนึ่งในความทรงจำเมื่อครั้งเยาว์วัย เรื่องแรกที่ได้อ่านและจดจำมาได้ถึงทุกวันนี้ ก็คือนวนิยาย เรื่อง บ้านน้อย ของ ผกาวดี อุตตโมทย์  เรื่องนี้เลยครับ

หลายคนอาจจะคุ้นเคยผลงานของท่านจากวรรณกรรมเยาวชนเรื่อง ครูไหวใจร้าย หรือนวนิยาย ฟ้าเดียวกัน ในนามปากกา ‘วิวัธนี’ ที่ผมเพิ่งเขียนไว้ในบรรณาภิรมย์ครั้งก่อน

แต่สำหรับตัวผมเองแล้ว ‘บ้านน้อย’ จัดได้ว่าเป็นนวนิยายเรื่องแรกที่มีโอกาสได้อ่าน ด้วยอารมณ์ชื่นบาน จนอดอมยิ้มไปกับพฤติกรรมตัวละครเด็ดๆ จากบรรดาน้องๆ ทั้งหก ของ บุษบา บำรุงราช นางเอกของเรื่อง ไม่ได้เลย

นวนิยายเรื่องนี้เคยลงพิมพ์ในนิตยสาร ชัยพฤกษ์ มาก่อน ผู้เขียนได้กล่าวในคำนำของท่านไว้ว่า “ผู้ที่มีพี่น้องหลายคน มีชีวิตอันเอิกเกริกแกมเศร้า สุขแล้วก็ทุกข์ หัวเราะแล้วก็ร้องไห้ แกล้งกันแล้วกลับคืนดี ย่อมพบส่วนหนึ่งในชีวิตของท่านใน ‘บ้านน้อย’ ฉบับที่ท่านถืออยู่ในมือนี้”

สนับสนุนอ่านเอาด้วยการสั่งซื้อหนังสือ “ในสวนอักษร” คลิกที่นี่ 

ปัจจุบันหนังสือเล่มนี้หาอ่านได้ค่อนข้างยากพอสมควร ผมเคยเห็นวางจำหน่ายที่ร้านคลังวิทยาเมื่อหลายปีก่อนอยู่บ้าง ดังนั้นจึงขอถือโอกาสนำ บ้านน้อย หลังนี้ มาถ่ายทอดความรื่นรมย์นั้นอีกครั้ง เพื่อให้มิตรรักนักอ่านได้รู้จักหรือรำลึกไปกับเรื่องราวที่แสนประทับใจไปพร้อมกันครับ

 

“แม่ปูลูกรัก

พ่อฝากจดหมายมากับขุนสารพัดโรค ซึ่งเผอิญเดินทางผ่านมาแถวนี้พอดี เพื่อจะได้บอกแม่ปูว่า พ่อยังไม่กลับบ้านจนกว่าต้นเดือนหน้า พ่อหวังว่าน้องๆ คงจะประพฤติตัวเรียบร้อยกันดี ไม่ทำให้แม่ปูหนักอกหนักใจอะไรนัก…”

 

ยังอ่านไม่ทันจบ บุษบา บำรุงราช สาวน้อยวัยสิบเจ็ดปี ก็ต้องสะดุ้งสุดตัว เมื่อได้ยินทั้งเสียงโครม! และเช้ง! เมื่อบรรดาน้องๆ วัยซนทั้งหกที่เธอต้องรับผิดชอบดูแล ได้ประกอบวีรกรรม ทำจานแตก แล้วยังทะเลาะกันหน้าดำหน้าแดงอย่างไม่มีใครยอมใคร จนเธอต้องลุกมาตัดสินคดีน้อยๆ เหล่านั้นอีกครั้ง

บุษบาเป็นลูกสาวคนโตของหมู่ราม พ่อม่ายที่ภรรยาเสียชีวิตหลังจากคลอดป๋อม น้องชายคนที่เจ็ด แต่ตอนนี้ หมู่รามเดินทางไปกรุงเทพฯ ทำให้บุษบาต้องกระเบียดกระเสียรหารายได้เลี้ยงตัวเองและบรรดาน้องๆ ทั้งหก ที่ประกอบด้วย นายเปี้ยวจอมเฮี้ยว แป้น เด็กหญิงหน้าบึ้งตาขุ่นคู่ปรับเปี้ยว แป้ง เด็กหญิงผอมตัวลีบที่เอาแต่อ่านหนังสือแถมยังอู้งานเป็นที่หนึ่ง แป๊ดเด็กชายตัวน้อยจอมก่อเรื่องไม่เว้นแต่ละวัน ป้อมและป๋อม ในวัยสี่ขวบกับสองขวบตามลำดับที่เอาแต่ร้องกระจองอแงทั้งวัน

โชคดีอยู่บ้างที่คุณนายสมรผู้เป็นเจ้าหนี้เก็บค่าเช่าบ้านของเธอ ยังให้ความเอ็นดู แม้ว่าจะขี้เหนียวไปบ้าง แต่ก็ยังมีเมตตา นำขนมนมเนย มาจุนเจือเด็กๆ อยู่บ่อยๆ รวมถึง จานใส่ขนม ที่เพิ่งหล่นแตกเพล้งไปเมื่อกี้นี้ ก็ของคุณนายด้วยเช่นกัน!

คุณนายสมรมีหลานชายสามคน คนโต อัครา หรือคุณเตี้ย เป็นช่างไฟฟ้า ตัวโตผิวดำ หน้าเข้ม แต่น้ำใจงดงาม คุณเต่อ อารยะ นายทหารที่มีนิสัยเย่อหยิ่ง ชอบดูถูกคนจน และคุณตุ้ย น้องเล็กที่กำลังจะสอบเข้าทหาร มีนิสัยไม่ต่างกับคุณเต่อ พี่ชาย

บุษบามีโอกาสรู้จักอัคราโดยบังเอิญจากอุบัติเหตุที่เธอปั่นจักรยานไปตลาดในวันฝนตกและอัคราขับรถชน เขาแสดงความรับผิดชอบ และเมื่อได้เห็นสภาพบ้านของหญิงสาว ชายหนุ่มก็อดที่จะหาทางช่วยเหลือไม่ได้ เขาสนิทกับเปี้ยว น้องชายจอมเฮี้ยว รวมทั้งเจ้าปุกปุย หมาจอมตะกละของบุษบา ที่แอบมาขอข้าวกินอยู่เป็นประจำ

บุษบาพยายามหารายได้มาจุนเจือครอบครัวระหว่างที่หมู่รามหายไปโดยไม่อาจติดต่อได้ เธอไปสมัครเป็นครูโรงเรียนเอกชนแห่งหนึ่ง โดยที่ครูผาสุกครูใหญ่ รับไว้ด้วยความเวทนา สงสาร แต่กลายเป็นว่า ความสวยน่ารักของบุษบา ทำให้ศิริลักษณ์ ครูคนใหม่ ไม่ชอบหน้า ศิริลักษณ์เป็นลูกสาวท่านข้าหลวงที่ถูกส่งมาอยู่กับคุณนายพร้อม และมาเป็นครูที่นี่ เธอจึงวางตัวเหนือกว่าทุกคน ทั้งที่ความจริงแล้วท่านข้าหลวงฝากมาให้คุณนายพร้อมช่วยดัดนิสัยหยิบโหย่งของหล่อนและฝากมาให้ช่วยงานที่โรงเรียน

ศิริลักษณ์วางแผนกุเรื่องว่าบุษบาขโมยของของตัวเอง ด้วยภาพลักษณ์ว่าบุษบาเป็นคนยากจน ทำให้หลายคนเคลือบแคลงสงสัย มากกว่าจะคิดว่าเป็นอุบายของศิริลักษณ์ที่มีฐานะดีอยู่แล้ว ท้ายสุดบุษบาก็ต้องลาออกจากงานด้วยความเสียใจ แต่อัคราก็พยายามหาทางช่วยเหลือ โดยติดต่อให้เธอมาทำงานกับคุณนายพร้อมแทน

คุณนายพร้อมเป็นเศรษฐินีที่ใจดีมีเมตตา และถูกชะตากับบุษบามาก แต่ในเวลาเดียวกัน ศิริลักษณ์ซึ่งเป็นหลานสาวก็บังเอิญอาศัยอยู่ที่บ้านนี้ด้วย หญิงสาวยิ่งเกลียดชังบุษบามากขึ้น เมื่อเห็นว่าใครต่อใครพากันหลงรักและชื่นชมกันหมด จึงวางแผนเดิมอีกครั้ง บอกกับคุณนายพร้อมว่า เข็มกลัดอัญมณีของตัวเองหายไป

เหตุการณ์เหมือนจะซ้ำรอยเดิม แต่บุษบารู้ทัน คราวนี้หญิงสาวพิสูจน์ตัวเอง จนทำให้คุณนายพร้อมเสียใจ ที่คิดกล่าวหาเธอแต่แรก เพราะหลงเชื่อคำพูดของหลานสาว ส่วนศิริลักษณ์เองก็ติดต่อคุณเต่อ นายทหารที่เธอแอบชอบ ให้มาจับกุมตัวบุษบาไปส่งตำรวจ กลายเป็นว่าตัวเองต้องหน้าแตกซ้ำ คุณเต่อกลับประทับใจในความสวยงามของบุษบาเข้าอีกต่างหาก

ความแค้นใจ ที่ถูกคุณนายพร้อมต่อว่า ทำให้ศิริลักษณ์งอนและหนีกลับไปยังจวนท่านข้าหลวงในตัวจังหวัด คุณเต่อ ประทับใจบุษบา พยายามจะจีบเธอ แต่หญิงสาวรู้เท่าทันนิสัยเขาที่รังเกียจน้องๆ ทั้งหก จึงไม่หลงคารมอีกฝ่ายไปด้วย และยิ่งทำให้มองเห็นนิสัยอันแตกต่างจากคุณอัครา หรือคุณเตี้ย พี่ชายของเขา อย่างชัดเจนขึ้น

หมู่รามเดินทางกลับมาจากกรุงเทพฯ พร้อมขุนสารพัดโรค และที่สำคัญเขาพาภรรยาคนใหม่จากกรุงเทพฯ มาด้วย หล่อนชื่อว่าระตี

 

หญิงวัยกลางคนที่เดินราวกับทหารย่ำเท้าขึ้นมาหาใช่คุณนายสมรไม่ หล่อนเป็นคนผิวดำ แขนขาใหญ่ อ้วนฉุตลอดทั้งตัวและอ้วนเกินขนาดจนไม่น่ามอง ใบหน้าอันกลมแบนไม่มีสันจมูกเลยของหล่อนเต็มไปด้วยเหงื่อเม็ดเป้งๆ และบึ้งตึง ทำให้นึกถึงผีเสื้อสมุทรในมโนภาพยิ่งนัก

 

หมู่รามหลงใหลเมียใหม่มาก จนลงโทษลูกๆ รวมถึงบุษบา ระตีเองก็เกลียดชังเด็กๆ ลิงทโมนพวกนี้เต็มที หล่อนหาเรื่องกลั่นแกล้งบุษบาบ่อยครั้ง แต่สุดท้ายกลายเป็นว่าโดนกลุ่มเด็กทั้งหกรวมหัวกันเล่นงาน แผลงฤทธิ์ใส่ จนไม่กล้าหือหาอีกต่อไป

ระตีแอบติดต่อกับขุนสารพัดโรค เกลี้ยกล่อมหมู่รามให้ขายบุษบา เพื่อให้ไปทำงานกับคุณหลวงชำนาญที่กรุงเทพฯ ทำให้บุษบาเสียใจมาก ในเวลาเดียวกัน อัคราก็ติดต่อให้บุษบาไปทำงานเป็นต้นห้องให้กับคุณนายนงเยาว์ ซึ่งเป็นภรรยาท่านข้าหลวง และเป็นมารดาเลี้ยงของศิริลักษณ์ ซึ่งบุษบาได้พิสูจน์ตัวเอง ทำให้ทั้งสองท่านรักและเอ็นดูหญิงสาวไม่ต่างกับลูกสาวแท้ๆ เห็นจะมีแต่ศิริลักษณ์ ที่ยิ่งมีแต่ความริษยามากขึ้น และพยายามหาเรื่องหล่อนอยู่เป็นประจำ แต่ก็ถูกคุณนงเยาว์มารดาเลี้ยง คอยกันเอาไว้ให้

อัครา ซึ่งบัดนี้เขาหลงรักบุษบาเต็มหัวใจ ได้มาปรึกษากับคุณนงเยาว์ เรื่องหมู่รามจะส่งบุษบาไปอยู่กับหลวงชำนาญสรรพกิจ ด้วยความกังวล คุณนงเยาว์ซึ่งทั้งรักและห่วงบุษบา จึงช่วยกันวางแผน โดยจัดงานวันเกิดของเธอขึ้น และเชิญคุณหลวงชำนาญมาร่วมงานด้วย โดยแกล้งบอกว่าบุษบาคือศิริลักษณ์ ลูกสาวของท่านแทน และศิริลักษณ์ก็คือบุษบา ลูกสาวของหมู่ราม

หลวงชำนาญเห็นบุษบาซึ่งแต่งตัวมีสง่าราศี ก็เข้าใจจริงๆ ว่าเธอคือลูกสาวคุณนงเยาว์และท่านข้าหลวง ส่วนศิริลักษณ์หรือจี๊ดนั้น คุณนงเยาว์ต้องการดัดนิสัยเธอ เพราะรู้ว่าคุณหลวงชำนาญต้องการหาพี่เลี้ยงเด็กที่กรุงเทพฯ เลยบอกหล่อนว่า คุณหลวงจะให้เงินเยอะๆ และเด็กที่ต้องไปดูแลอายุแค่สองขวบ คงจะไม่ต้องทำอะไรมากมาย ด้วยความขี้เกียจและอยากไปเที่ยวกรุงเทพฯ หล่อนเลยรีบตกลง

เรื่องราวทั้งหมดจึงจบลงด้วยดี

 

เรื่อง : บ้านน้อย

ผู้ขียน : ผกาวดี อุตตโมทย์

สำนักพิมพ์ : คลังวิทยา

ปีที่พิมพ์ : 2513

เล่มเดียวจบ

บุษบากลับมาที่กระท่อมน้อยของเธอ และพบว่าบัดนี้พ่ออาศัยอยู่เพียงลำพัง เพราะระตี ภรรยาตัวแสบหนีไปกรุงเทพฯ กับขุนสารพัดโรคแล้ว หล่อนไม่อาจทนกัดก้อนเกลือกินกับหมู่รามได้ และทำให้เขาเองสำนึกผิด มองเห็นความดีของลูกสาว และความรักของลูกๆ ที่มีต่อตนเอง

เขานึกถึงบ้านที่มีแต่ความวุ่นวาย ทั้งทะเลาะเบาะแว้ง คืนดี มีทั้งความรักใคร่กลมเกลียวและสามัคคีกันในยามที่ทุกคนต้องเผชิญปัญหา เสียงร้องหนวกหูที่เคยรำคาญ คือเสียงที่เขาต้องการจะฟังเหมือนเดิม บุษบาดีใจ ที่พ่อกลับมาเป็นพ่อคนเดิม อย่างที่เธอเคยปรารถนานั้นแล้ว

และความรักของเธอ กับนายช่างไฟหนุ่มตัวดำ หากหัวใจเป็นทองคำอย่างอัครา ก็กำลังเริ่มต้นขึ้นอย่างชื่นบาน ด้วยเสียงเชียร์สุดใจ จากบรรดาน้องๆ ลิงทโมนทั้งหกของเธอเช่นกัน!

 

หมายเหตุ : นิยายเรื่องนี้นอกจากเนื้อเรื่องสนุกสนานแล้ว ผมยังชื่นชอบชื่อของตัวละคร น้องๆ ของ บุษบา ลูกหมู่ราม ที่มีชื่อจริง เป็นตัวพระนางในวรรณคดี อีกด้วยครับ ที่มีชื่อเรียงกันดังนี้ครับ…

บุษบา เปี้ยว (ลักษณ์) แป้น (สีดา) แป้ง (สาวิตรี) แป๊ด (ลอ) ป้อม (รจนา) ป๋อม (วิษณุ)

Don`t copy text!