พยอมไพร

พยอมไพร

โดย : หมอกมุงเมือง

Loading

บรรณาภิรมย์ โดย หมอกมุงเมือง คอลัมน์ที่อ่านเอาขอมอบความรื่นรมย์ให้กับผู้อ่านด้วยภาพปกสวยๆ และเนื้อเรื่องในแบบต่างๆ ของนักเขียนชั้นครูที่เคยผ่านมือ ผ่านตาและผ่านใจ เพื่อให้ทุกคนได้ร่วมรำลึกถึงผลงานของนักเขียนแต่ละท่านให้พอหายคิดถึงแม้เวลาจะผ่านไปแล้วเนิ่นนาน ภาพและตัวอักษรจะปรากฏให้เห็นอีกครั้งในยุคของการอ่านออนไลน์

มาลัย ชูพินิจ นักเขียนนามอุโฆษ ฉายา ‘ราชาเรื่องสั้น’ หรือ ‘โมปัสซังต์ของเมืองไทย’ ผู้มีนามปากกาหลากหลายไม่ต่ำกว่ายี่สิบชื่อ จากหนังสือ สุภาพบุรุษนักประพันธ์ ของ ประกาศ วัชราภรณ์ ได้ให้ข้อมูลว่า นามปากกาของท่านได้แก่ ม.ชูพินิจ แม่อนงค์ เรียมเอง น้อย อินทนนท์ อินทนนท์น้อย นายดอกไม้ เรไร นายฉันทนา ลดารักษ์ สมิงกะหร่อง บัตตลิ่งกรอบ อาลาดิน อุมา ผุสดี แตน และหนอนหนังสือ เป็นต้น

ท่านเกิดที่จังหวัดกำแพงเพชร เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2449  บิดาเป็นพ่อค้าไม้สัก เริ่มเรียนหนังสือชั้นต้นที่กำแพงเพชร และมาศึกษาต่อที่เทพศิรินทร์ บพิตรพิมุข และสวนกุหลาบ จากนั้นจึงไปศึกษาต่อวิชาครูที่โรงเรียนวัดบวรนิเวศ ต่อมาด้วยความสนใจในงานประพันธ์ จึงก้าวเข้าสู่งานหนังสือพิมพ์ ‘ไทยใต้’ และเริ่มเขียนเรื่องสั้นลงใน เสนาศึกษาฯ ศัพท์ไทย และ ไทยเขษม ตั้งแต่ พ.ศ. 2467 คาดว่างานเขียนของท่านทั้งหมด ไม่ต่ำกว่า 2,500 เรื่อง และตีพิมพ์เป็นเล่มประมาณ 50 เรื่อง

+++++++++++++++++++++++

ผลงานอันโดดเด่นซึ่งหลายท่านต่างรู้จักผลงานของท่านเป็นอย่างดี ไม่ว่าจะเป็นนิยายผจญภัย อย่าง ล่องไพร ในนิยายชีวิตเข้มข้นอย่าง ทุ่งมหาราช แผ่นดินของเรา หรือ ชั่วฟ้าดินสลาย และสำหรับ พยอมไพร เรื่องนี้ ก็เป็นนิยายขนาดสั้นอีกเรื่องหนึ่ง ที่ ยศ วัชรเสถียร นักเขียนและสหายสนิทอีกท่านหนึ่งของ ‘แม่อนงค์’ ได้เขียนไว้ในคำนำของนิยายเรื่องนี้ เมื่อ 15 มีนาคม 2512 ความตอนหนึ่งว่า

พยอมไพร เล่มนี้ เป็นนวนิยายชนิดสั้นที่ดีที่สุดเรื่องหนึ่งของเขา ซึ่งเขาเขียนขึ้นหลังจากประสบผลสำเร็จอย่างงดงามยิ่งจากเรื่อง “เกิดเป็นหญิง” และ “ธาตุรัก” ซึ่งตีพิมพ์ในนิตยสาร “สุภาพบุรุษ” ระหว่าง พ.ศ. 2470-2473 พยอมไพร ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสาร ประชาชาติ รายสัปดาห์ ในสมัยนั้น การไปเมืองชล ศรีราชา เมืองชายทะเลตะวันออก จากกรุงเทพฯ ไปได้สะดวกมีทางเดียวคือ เรือเดินทะเล เพราะถนนสุขุมวิทยังไม่มีให้ไปได้โดยรถ ถ้าจะไปทางบก ก็ต้องเดินบุกป่าฝ่าดงกันไป ฉะนั้น การอ่านเรื่องนี้ของเขา ท่านผู้อ่านจึงต้องนึกว่าอยู่ในสมัยนั้น…

และเรื่องราวของ พยอมไพร ก็เริ่มต้น เมื่อพระมนูเวทย์วิมลสิษฐในวัยห้าสิบเศษ และมารศรี ผู้เป็นภรรยา ร่วมกันเดินทางไปยังศรีราชา เพื่อฉลองครอบวันวันวิวาห์ ที่ทั้งคู่ครองคู่กัน ผ่านระยะเวลามาถึงยี่สิบห้าปี และศรีราชาแห่งนั้น เป็นสถานที่ซึ่งเธอและท่านได้พบรักกันเป็นครั้งแรก

ระหว่างการขับรถเดินทางไปยังศรีราชานั้นเอง ที่ทั้งคู่ได้จอดรถข้างทาง อันเป็นท้องทุ่งอันร่มรื่นแห่งหนึ่ง ภูมิประเทศอันสวยงาม ทำให้มารศรีอยากจะแวะพักรับประทานอาหารที่นั่น แต่แล้ว ที่นั่นเองทั้งคู่ก็พบกับสถานที่แห่งหนึ่งเป็นเนินดินระหว่างทางสามแพร่ง ซึ่งแสดงถึงหลุมฝังศพของใครคนหนึ่ง

ณ ที่นี่ ด้วยแสงแดดซึ่งร้อนผ่าวอยู่บนดวงหน้า เสียงนกเขาที่คูจากยอดไผ่มากระทบหู และกลิ่นนางแย้มหอมกรุ่นจากฟากท้องทุ่งโพ้นมากระทบฆานประสาทอยู่มิวาย ณ ที่นี้ ในท่ามกลางดงต้อยติ่งและเบญจมาศ ท่ามกลางพุ่มคัดเค้าที่ชูดอกออกช่อขาวสลอน ภายใต้กลุ่มเมฆซึ่งลอยเกลื่อนเคลื่อนตามกระแสลมไปเหนือยอดเขาสูงและสงบเงียบเหมือนเคลิ้มฝัน

และบัดนี้เอง ที่พระมนูเวทย์วิมลสิษฐจดจำสถานที่แห่งนี้ขึ้นมาได้ในทันที ท่านเคยมาที่นี่แล้วเมื่อยี่สิบห้าปีที่ผ่านมา และตอนนั้น ท่านก็เป็นเพียง นายสุนทร วรนิติ เด็กหนุ่มจากพระนคร ที่เดินทางท่องเที่ยวพร้อมสหายหนุ่มวัยเดียวกัน โดยสารเรือมาขึ้นฝั่งที่บางปะกงแล้วเดินทางลัดเลาะมาจนถึงชลบุรีเพื่อต่อไปยังอ่างศิลา และศรีราชา หากระหว่างทางนั้นเองที่เขาประสบเหตุ บาดเจ็บที่เท้าขึ้นเสียก่อน

 

ณ กลางไร่แห่งนั้นเอง เมื่อสุนทรได้พบกับ…

หญิงสาวสาวผู้หนึ่งเดินลงมาจากป่ากล้วยบนเนินสูง ภาพของหล่อนปะทะกับสีครามเข้มบนท้องฟ้า กระเดียดกระจาดไว้ในอ้อมแขนข้างหนึ่ง แลเห็นท้องฟ้าได้อย่างสบายตามช่องแขนนั้น สายลมแรงซึ่งพัดผ้าซิ่นเก่าๆ ของหล่อนไปปะทะกับแข้งขานั้น กระพือยอดผักในกระจาดพะเยิบพะยาบไปมา เสื้อสีขาวที่หล่อมสวมทั้งเก่าและขาด

แต่นัยน์ตาอันเชื่อมนั้นสิ ที่มีเสน่ห์แรงดูดดื่มสะดุดตาเตือนใจอย่างลึกซึ้ง ทั้งอ่อนโยนและเชื่อมซึม ประหนึ่งพึ่งได้เผยอเปลือกตาขึ้นเป็นครั้งแรกในวันนั้น…

เรื่อง : พยอมไพร

ผู้เขียน : แม่อนงค์

สำนักพิมพ์ : แพร่พิทยา

ปีที่พิมพ์ : 2512

เล่มเดียวจบ

เด็กหญิงวัยแรกสาวสิบหกปี ที่เข้ามาช่วยเหลือชื่อพยอม และเธอได้พาเขาไปรักษาพยาบาลที่บ้านซึ่งอาศัยอยู่กับป้าแย้ม หญิงสูงวัย และยังมีเจ้าแจ่ม เด็กชายวัยรุ่นหนุ่มที่เป็นลูกพี่ลูกน้องกับพยอม อยู่รวมกันอีกด้วย

ที่บ้านไร่ชายป่าแห่งนั้นเอง ภายหลังจากเยียวยาอาการบาดเจ็บจนหายสนิท ในห้วงเวลานั้นนั้นก็ทำให้สุนทรได้รู้จักต้นพยอม และคุ้นเคยกับสาวน้อยแสนบริสุทธิ์ทั้งกายและใจ ที่เขาได้เผลอไผล ประทับรอยจูบไว้ให้กับเธอ ด้วยอารมณ์อันเพริดไปแห่งวัยหนุ่ม และความลุ่มหลง ในขณะที่พยอมเอง ก็หลงรักเขาจับหัวใจ แม้ว่าจะถูกไอ้แจ่มคอยขัดขวางด้วยความเกลียดชังก็ตามที

ทั้งคู่นัดแนะกันมาพลอดรักที่ต้นพะยอมในยามราตรี ในโลกที่เหมือนกับมีกันอยู่เพียงสองคน

ในที่สุด เมื่อความรักสุกงอม เขาจึงตัดสินใจว่าจะพาเธอหนีไปใช้ชีวิตอยู่ร่วมกัน สุนทร เดินทางจากเกวียนมาซื้อเสื้อผ้าให้กับพยอม เพื่อพาเธอหนีไปในคืนวันนั้น ด้วยความมาดหมายในหัวใจของทั้งสอง

ในอุปาทานนั้น เขาหลับตาเห็นเด็กหญิงผู้ไร้เดียงสา น่ารักน่าเอ็นดูซึ่งกำลังจะมอบชีวิตจิตใจให้เดินร่วมทางเดียวกับเขา ลอบหนีออกจากบ้านไร่ในกลางคืนที่ดึกสงัด ตัดทางบ่ายหน้าตรงไปยังอ่างศิลาด้วยความหวังว่าจะขออาศัยเรือหาปลาต่อไปยังเมืองชลฯ แขนข้างหนึ่งของเขาโอบอยู่รอบสะเอวหล่อน อีกข้างหอบหิ้วห่อเครื่องแต่งกายชุดใหม่ จนกระทั่งถึงป่ารกชายทะเล ณ เวลาใกล้รุ่งสว่าง พยอมจะได้ผลัดเครื่องแต่งกายชุดเก่าทิ้งเสีย ณ ที่นั้นจะได้โดยสารเรือลำแรกที่สุดตรงไปยังกรุงเทพฯ และจัดแจงแต่งงานเป็นสามีภรรยากันให้ถูกต้องตามประพณี…

+++++++++++++++++++++

แต่แล้ว เมื่อเขาเดินทางมาถึงศรีราชา…  สุนทร วรนิติ ก็ได้พบกับสหายเก่าจากสวนกุหลาบ เปรม นนทวิทย์ และน้องๆ ของสหายหนุ่ม ซึ่งรวมไปถึงสตรีแสนโสภาที่ชื่อว่ามารศรี!

และเหตุการณ์ไม่คาดฝันในเวลาต่อมา ก็นำพาให้เขาจำต้องติดตามร่วมไปกับเปรมและน้องๆ ของชายหนุ่ม จนทำให้เกิดความใกล้ชิดสนิทสนมกับมารศรีมากขึ้น จนทำให้เขาลืมสิ่งที่คิดว่าจะทำเอาไว้ตั้งแต่แรกจนหมดสิ้น

และในเวลานั้นเอง ที่สุนทรก็เกิดความคิดที่ขัดแย้งกันขึ้นมาอย่างรุนแรง จนต้องตั้งคำถามขึ้นมากับตัวเอง

“ฉันรักหล่อน แต่ทว่า… ฉันรักหล่อนจริงๆ หรือนี่ หรือเพียงว่าฉันต้องการหล่อน เพราะหล่อนสวยและรักฉันเท่านั้น? นี่ฉันจะทำอย่างไรเล่า?”  

ดวงดาราบนอากาศส่งแสงยิบๆ ฝ่ายสุนทรก็ทอดสายตาเหม่อมองออกไปยังทะเล สีดำซึ่งอยู่ตรงหน้าเขาราวกับถูกมนต์สะกด…

++++++++++++++++++++++

ฤๅว่ามันเป็นเพียงแค่มนต์เสน่ห์แห่งฤดูร้อน ในท่ามกลางแสงจันทร์และกลิ่นพยอมไพร!

ความรู้สึกว่าเขากำลังจะพาเด็กหญิงไร้เดียงสา อายุไม่ครบสิบแปดปีผู้นี้ไปเป็นยอดชู้คู่ชีวิต ทำให้เขารู้สึกว่ากำลังจะทำสิ่งที่ร้ายกาจเหลือทน และถ้าเขากลับไปหาหล่อนตามสัญญา จะยิ่งร้ายกาจกว่านั้นอีกร้อยเท่าพันทวี!

อันความเสน่หานั้น เมื่อท่านยังหนุ่มอยู่ และพยายามต่อสู้กับมันด้วยกำลังใจอันกล้าแข็งจริงๆ แล้ว ไม่ช้าอำนาจของการทรมานก็จะเสื่อมคลายลงเอง เพราะฉะนั้น ด้วยประการฉะนี้ ที่สุด สุนทรการหลับไป พร้อมด้วยหัวคิดว่า “การจูบเพียงสองสามครั้ง มันจะเป็นอะไรไปหนักหนา ชั่วเวลาไม่ถึงเดือน หล่อนก็คงจะลืมไปเอง”

 แต่เขาคิดผิด!

จากนั้นอีกไม่นาน เมื่อเขาเดินทางกลับกรุงเทพฯ และปล่อยทุกอย่างเกี่ยวกับ ‘พยอม’ ให้เลือนรางไปกับอดีต โดยมีอนาคตใหม่ที่เริ่มต้นกับมารศรี หญิงสาวที่พร้อมพรั่งในทุกประการ

+++++++++++++++++++++++

บัดนี้ กว่ายี่สิบปี เขาได้กลับมายืนยังสถานที่แห่งนี้อีกครั้งและคลื่นแห่งอดีต ได้ย้อนทวนกลับมาปลุกเร้าความทรงจำที่เคยเก็บงำเอาไว้ให้หวนตลบขึ้นมา

เปล่าเลย คุณพระมนูไม่ได้พบกับพยอม นอกจากชายชราชาวบ้านผู้หนึ่งที่บอกกับท่านว่า บริเวณนี้คือหลุมศพผีอนาถา…

“ที่จริงเรื่องนี้ก็เกิดมานานแล้วขอรับ หล่อนอยู่ใกล้กับที่นี่ ในไร่เดียวกับที่ผมทำงานอยู่ เจ้าของชื่อแม่แย้ม

หล่อนเป็นเด็กสาวสวยแล้วก็ดี น่าสมเพชขอรับที่ไม่มีใครเขาฝังหล่อนไว้ในเขตวัดหรือที่ๆหล่อนต้องการให้ฝัง ผมจำได้ว่า ตอนเริ่มเกิดเรื่องนั้น เป็นฤดูร้อนเหมือนเดี๋ยวนี้ แล้วก็มีหนุ่มชาวกรุงเทพมาพักอยู่ที่ไร่ แล้วคืนวันหนึ่งชายคนนั้นก็หายไปจากบ้านไร่อย่างเงียบๆ นับจากวันนั้นเป็นต้นมา หล่อนดูเป็นคนใจลอยสติไม่อยู่กับตัว ผ่ายผอมซูบซีด จนผมต้องพูดแก่หล่อนว่า “เป็นอะไรไปหรือพยอม?”

หล่อนร้องไห้ น้ำตาไหลพรากอาบแก้ม

“ฉันเจ็บที่นี่ เจ็บตรงนี้ เหลือเกินลุง แต่อีกไม่ช้าก็หาย แต่ถ้าฉันเป็นอะไรลงแล้ว โปรดอย่าลืมหนาลุง ว่าฉันต้องการให้ฝังฉันไว้ใต้ต้นพยอมที่นี่”

++++++++++++++++++++++++

ชายชราไม่คิดว่านั่นจะเป็นคำพูดสุดท้ายของเด็กหญิง ก่อนที่อีกไม่นานจะพบหล่อนสิ้นใจตายอยู่ในแอ่งน้ำใต้ต้นพยอมแห่งนั้น

และห้วงภวังค์ของคุณพระมนูฯ ก็สลายวับลง เมื่อเสียงร้องเรียกของมารศรีดังมาจากเบื้องหลัง ก่อนที่ท่านและภรรยาคู่ชีวิตจะเดินทางจากที่แห่งนี้ไป

พร้อมอดีตของต้นพยอมป่า ลำคู เสียงนกเขา และพยอม!

นิยายเรื่องนี้อาจจะไม่ใช่นิยายรักขนาดยาวที่มีรายละเอียดโครงเรื่องซับซ้อนและมากปม แต่ในรายละเอียดที่เรียบง่ายของเรื่องราว กลับเป็นการเขียนด้วยสำนวนภาษาที่หน่วงอารมณ์ และทำให้ผู้อ่านได้รับรู้ถึงความขัดแย้งภายในใจของตัวละครในเรื่องนี้ได้เป็นอย่างดี ผนวกกับสำนวนการบรรยายของแม่อนงค์ ที่ทำให้เห็นภาพของฉากและตัวละครได้อย่างแจ่มชัดชวนอ่านเรื่องหนึ่งเลยทีเดียว

Don`t copy text!