รักที่ต้องมนตรา

รักที่ต้องมนตรา

โดย : หมอกมุงเมือง

Loading

บรรณาภิรมย์ โดย หมอกมุงเมือง คอลัมน์ที่อ่านเอาขอมอบความรื่นรมย์ให้กับผู้อ่านด้วยภาพปกสวยๆ และเนื้อเรื่องในแบบต่างๆ ของนักเขียนชั้นครูที่เคยผ่านมือ ผ่านตาและผ่านใจ เพื่อให้ทุกคนได้ร่วมรำลึกถึงผลงานของนักเขียนแต่ละท่านให้พอหายคิดถึงแม้เวลาจะผ่านไปแล้วเนิ่นนาน ภาพและตัวอักษรจะปรากฏให้เห็นอีกครั้งในยุคของการอ่านออนไลน์

**************************** 

สนับสนุนอ่านเอาด้วยการสั่งซื้อหนังสือ “ในสวนอักษร” คลิกที่นี่

ถ้าให้ผมเลือกผลงานในนามปากกา ‘ทมยันตี’ มาสักสามเรื่องสำหรับแนะนำเพื่อนนักอ่าน หนึ่งในจำนวนนั้น จะต้องเป็น รักที่ต้องมนตรา นวนิยายที่ดำเนินเรื่องตามขนบของตำนานท้องถิ่น ที่แม้คนอ่านจะล่วงรู้รายละเอียดแล้ว แต่ด้วยสำนวนภาษาอันละเมียดละไม นำพาผู้อ่านให้ดำดิ่งไปกับโศกนาฏกรรมของความรัก ผ่านมุมมองของตัวละครเอก ได้อย่างงดงาม

นี่คือนิยายปกสวยอีกเล่มหนึ่งที่ได้รับการพิมพ์ครั้งแล้วครั้งเล่านับตั้งแต่ฉบับพิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2511 ตราบจนถึงปัจจุบัน แสดงให้เห็นถึงความเป็นอมตะของงานวรรณกรรมที่โดดเด่น ในด้านสำนวนภาษาเป็นอย่างยิ่งเลยทีเดียว

จากนิทานวรรณคดีท้องถิ่นที่เป็นที่รู้จักกันดีอย่าง ‘พระลอ’ ทมยันตีได้นำมาเขียนและตีความใหม่ ผ่านความคิดและเหตุผลของตัวละคร ‘แพงทอง’ หรือพระแพงไว้อย่างน่าสนใจ

ความรักที่มีต่อองค์ลอดิลกราช ที่ใครๆ ต่างตราหน้าว่าเป็นรักที่แย่งชิงมาจากพระนางลักษณวดี รักที่ไม่ได้มาจากหัวใจรักอันบริสุทธิ์อย่างแท้จริง หากแฝงเร้นด้วยเล่ห์กลแห่งมนตราสลาเหินของปู่เจ้าสมิงพราย บัดนี้ แพงทองจะเป็นผู้ขอแย้งในข้อกล่าวหาทั้งหมดนี้ด้วยตนเอง!

“ข้าฯ ชื่อแพงทอง และสตรีผู้มีใบหน้าละม้ายคล้ายคลึงกับข้าฯ ที่ยืนอยู่ตรงช่องพระแกลโน้น เพื่อนแก้ว! ขณะนี้บันทึกตอนสุดท้ายของข้าฯ กำลังจะยุติลง แสงชวาลาริบหรี่และกระดาษสาที่ม้วนอยู่ข้างๆ ข้าฯ ก็วางอยู่เป็นกองโต ปากไก่ในมือของข้าฯสั่นสะท้านเพราะอ่อนเปลี้ยเต็มทน จนข้าฯ ต้องวางไว้ชั่วคราว เอนหลังพิงเขนย ทอดสายตาไปสู่ท้องฟ้าเบื้องนอก ซึ่งในอีกไม่ช้า ก็คงจะไม่มีวันได้ชม…

นี่คือเหตุการณ์แห่งฉากกาลอวสานที่ไปอยู่ในบทเริ่มต้นของนิยายเรื่องนี้ ชะตากรรม ความรักที่ต้องมนตราตามคำครหามาช้านาน และเหตุผลที่บอกถึงเล่ห์เพทุบาย ที่ต้องช่วงชิง เจ้าชายลอดิลกราชแห่งแมนสรวงมาจากพระชายาลักษณวดี ด้วยอิทธิฤทธิ์มนตราแห่งองค์ปู่เจ้าสมิงพราย ทั้งสององค์ขัตติยะนารี เพื่อนแก้วและแพงทอง ได้ปรากฏในนวนิยายขนาดเล่มเดียวจบเรื่องนี้แล้วอย่างสมบูรณ์และสะเทือนใจในโศกนาฏกรรมแห่งรัก

รอยรูปอินทร์หยาดฟ้า  มาอ่าองค์ในหล้า
แหล่งให้คนชม แลฤา
เดือนจรัสโพยมแจ่มฟ้า  ผิบ่ได้เห็นหน้า
ลอราชไซร้ ดูเดือน ดุจแล

ถ้า… ราชันย์แห่งแมนสรวงจะไม่คิดการยุทธโยธา เข้าประหัตประหารกับเวียงสรอง จนทำให้ ‘สมเด็จปู่’ พระเจ้าพิมพิสาคร ต้องถึงแก่สวรรคตในสนามรบ และพระองค์เองก็ต้องสิ้นพระชนม์ลงด้วยพิษบาดแผลในเวลาต่อมา

ถ้าหากว่า… องค์เจ้าย่า จะไม่คิดผูกพระทัยพยาบาท ต่อแมนสรวง…

สมเด็จย่าคว้าต้นพระพาหาเพื่อนแก้วกับข้าฯ บีบไว้แน่น แววพระเนตรเป็นประกายจัดอย่างน่ากลัว

“ดูทางช่องพระแกลนั่นเพื่อนแก้ว แพงทอง ดูไว้ให้ดี… จำจารึกไว้ในหัวใจให้มั่น! จำถึงความพินาศของนครสรองไว้ให้ดี วันหนึ่ง นครแมนสรวงจะต้องใช้หนี้การกระทำครั้งนี้ ด้วยเลือด ด้วยชีวิต!

… อา ท้าวแมนสรวง พระนางนาฎบุญเหลือ… สักวันหนึ่ง ข้าจะให้บทเรียนแก่เจ้าด้วยน้ำตาเช่นกัน… เจ้าจะได้รู้จักความเจ็บปวดจากการที่ต้องเสียคนที่รักสุดชีวิตไป… เจ้าจะได้รู้เหมือนข้า… เหมือนข้า!

และแผนการแห่งการแก้แค้นนั้นก็ถูกวางเอาไว้แล้ว โดยมีสองพระองค์ เพื่อนแก้ว กับแพงทองเป็นเดิมพัน

“เธอรู้ไหมแพงทอง ว่าสมเด็จย่าทรงอัญเชิญปู่จ้าวมาด้วยเรื่องอะไร?”
“จะด้วยเรื่องอะไร ก็… ทรงไต่ถามพยากรณ์อนาคต ช่วยทรงปัดเป่าพระเคราะห์…”
“ไม่ใช่หรอกแพงทอง ทรงอัญเชิญให้ปู่เจ้ามาทำเสน่ห์น่ะ”
“ไม่จริงเพคะ ใครจะกล้าทำกฤตยาคมในอาณาเขตพระราชฐาน…”
“แต่สมเด็จย่าทรงกล้า! และกล้าพอที่จะให้ปู่จ้าวสมิงพรายเสกขี้ผึ้งสีปากนางนักขับสองคนนั่น เมื่อส่งไปขับซอถึงแคว้นแมนสรวง!”

… “ข้าฯ ครางเบาๆ ฉวยพระกรเพื่อนแก้วมาจับไว้แน่นราวกับจะยึดไว้เป็นเครื่องป้องกันตัว แต่ปรากฏว่าพระหัตถ์นั้นเย็นชืดเช่นเดียวกัน ลมเย็นเยือกกรรโชกเข้ามา ในกระแสลมนั้น เหมือนข้าฯ จะได้ยินเสียงหัวเราะเบาๆ ระคนกับเสียงห้าวประหลาด
กงล้อแห่งกรรมเริ่มหมุนแล้ว!!

และแล้ว เมื่อกลุ่มนักขับเพลงซอ เดินทางมาถึงนครแมนสรวง กฤตยามนตร์นั้นก็พลันสำแดงพลานุภาพ จนลอดิลกราชมิอาจต้าน…

เรียมผจงสารอ่านอ้าง    อันผจง กล่าวนา
ถนัดดั่งเรียมเห็นองค์      อะเคื้อ
สองศรีสมบูรณ์บง        กชมาศ กูเฮย
นอนแนบสองข้างเนื้อ     แนบเนื้อชมเชย

ด้วยมนตรานุภาพจากองค์ปู่จ้าว ลอดิลกราชจึงเสด็จจากแมนสรวงสู่เมืองสรอง แม้ว่าเพื่อนแก้วและแพงทองจะพยายามขัดขวางการกระทำของเจ้าย่า หากก็มิเป็นผล สองราชนารีจึงตั้งใจจะไปดักพบองค์เจ้าชายแห่งแมนสรวงก่อนเสด็จเข้าถึงเขตนครา ทว่ามิทันการณ์เสียแล้ว

ซ้ำเมื่อสองนางต่างได้ยลโฉมองค์ท้าวเธอ พระทัยของเพื่อนแก้ว และแพงทองนั่นต่างหากที่ตกอยู่ในห้วงแห่งมนตราไปเสียเอง

สองเห็นโฉมเจ้าแผ่น      ภูวดล
งามเงื่อนทินกรกล        ท่วนฟ้า
ลืมอายอ่อนลืมตน        ตาต่อ พระนา
พิศบ่พลังโอ้อ้า             เทพไส้ตาไฉน

หัวใจข้าฯ กระซิบบอกตัวเองว่า นั่นแล้วคือท้าวเธอ! พักตร์นั้นงามดุจศศิในคืนเพ็ญ แต่ดวงเนตรสิดุจทินกรที่แผดกล้า เพราะทำให้ข้าฯ วูบวาบ ร้อนไปทั้งกาย…

ความรักที่ต้องมนตรานั้นเอง นำพาทั้งสามชีวิต มาสู่ปลายทางแห่งชะตากรรมอันโศกสลดยิ่งนัก บทบันทึกสุดท้ายของเจ้าหญิงแพงทอง ได้ทรงเขียนจารจรดไว้ด้วยหยดเลือดและน้ำตาว่า…

“รักของข้าฯ ถูกมนตราชักนำมาให้พบกันและผูกพันกันไว้ด้วยชีวิต บัดนี้… ข้าฯ กำลังจะลาจากไป แม้ทางแห่งมรณะจะเยือกเย็น ข้าฯ ก็หาหวั่นไม่ เพราะ… ในหนทางแห่งข้าฯ มีท้าวเธอดุจดวงประทีปส่องสว่างให้ความอบอุ่นทางใจมิรู้สร่างซา… บันทึกฉบับนี้ข้าฯ ขออุทิศให้แก่ผู้ที่รู้จักและรู้คุณค่าของความรัก ผิไผผู้ใดอ่านขอให้รู้จักรักมั่นรักยืนอย่ารู้โรยรา อย่าหม่นอย่าไหม้เหมือนเราสองพี่น้องนี้เลย…

…อายุเยาวเรศรุ่นเจริญศรี พระเพื่อนพี่พระแพงน้อง สองสมร… หากใครได้ยินเสียงขับซอนี้ขอให้รู้เถิดว่า ข้าฯ เพื่อนแก้ว แพงทอง สองพี่น้องแห่งนครสรอง ขอลา… ฝากไว้แต่มนตราแห่งเสียงเพลง ให้จับจิตจับใจทุกผู้ทุกนาม เพื่อเป็นพยานแห่งความรักที่ต้องมนตราของข้าฯ ชั่วนิรันดร…

แม้ว่านิยายเรื่องนี้จะดำเนินเรื่องตามนิทานวรรณคดีไทย ลิลิตพระลอ ซึ่งหลายคนรู้เรื่องราวเป็นอันดีอยู่แล้ว แต่ด้วยสำนวนภาษาอันไพเราะของผู้ประพันธ์ ทำให้ภาพองค์ท้าวลอดิลกราช พระเพื่อนแก้ว และพระแพงทอง ปรากฏชัดเจนในรูปของจินตนิยายอันงดงาม แนวคิดในเรื่องธรรมะ ข้อคิดต่างๆ ก็แสดงผ่านตัวละครให้ผู้อ่านได้ซึมซับประทับใจไปพร้อมกัน

เวรนั้นมิใช่จำเพาะแต่ที่เราก่อขึ้นในชาตินี้หรือไม่เพียงเท่านั้นหรอก กฎแห่งกรรมเปรียบประดุจกระแสน้ำที่ไหลเป็นวงคว้างดุจลูกโซ่ เกิดขึ้น… หายไป… วงแล้ววงเล่า กระแสน้ำวนอันนี้หายไป แต่ไปก่อให้เกิดวงใหม่ จะมากน้อยเท่าใดก็กระแสน้ำเดียวกัน… มนุษย์อุบัติขึ้นด้วยกรรม และกรรมก็เป็นเครื่องหล่อเลี้ยงมนุษย์ให้คงอยู่ กรรมของพ่อ แม่ และเรา ย่อมอุบัติเกี่ยวเนื่องกัน ดุจวงของลูกโซ่ที่ร้อยต่อๆ กันมาบรรจบวงใหม่ ห่วงแห่งกรรมกล้าแข็งหนาแน่นยิ่งกว่าเหล็กกล้าใดๆ ทั้งสิ้น ใครล่ะจะตัดห่วงนั้นได้! มีสิ่งเดียวที่แน่นเหนียวกว่าเพชร ทรงความคมยิ่งกว่าสิ่งใดๆ ในโลก สิ่งเดียวนั้นแหละจึงจะตัดกฎแห่งกรรมได้…

“อะไรเจ้าคะ?”

“กฎแห่งธรรมะ ความรู้แจ้งเห็นจริงในกรรมน่ะสิพระเจ้าข้า ผู้ใดยอมรับรู้ในกฎนั้น ย่อมเห็นแจ้ง กรรมจึงจะสิ้นสุดลง!”

เรื่อง : รักที่ต้องมนตรา

ผู้เขียน : ทมยันตี

สำนักพิมพ์ : บำรุงสาส์น

ปีที่พิมพ์ : 2511

เล่มเดียวจบ

นวนิยายเรื่องนี้ดำเนินเรื่องผ่านกระแสความคิดและเหตุผลของเจ้าหญิง ‘แพงทอง’ ในมุมแห่งรักที่ต้องมนตรา ในขณะเดียวกันกับนวนิยาย ‘คู่แฝด’ อีกเรื่องหนึ่ง ที่ดำเนินเรื่องโดยใช้ธีมของวรรณคดี ‘ลิลิตพระลอ’ เช่นกัน แต่เสนอผ่านมุมมองความคิดของตัวละครอีกฝ่ายหนึ่ง… ฝ่ายที่ถูกแย่งชิงความรักไป ก็คือเจ้าหญิงลักษณวดี พระชายาผู้น่าสงสารขององค์ลอดิลกราชนั่นเอง

นั่นคือนวนิยาย ‘รักที่ถูกเมิน’ ของ นิตยา นาฎยสุนทร ซึ่งน่าจะเรียกได้ว่าเป็นนิยายคู่แฝดที่ต่างมุมมองของสองนักเขียนรุ่นครู และเป็นนวนิยายที่น่าสนใจไม่น้อยเช่นกัน

ปัจฉิมลิขิต เรื่อง รักที่ต้องมนตรา นี้ ผมเขียนไว้ในบล็อกแก๊งสามปอยหลวง เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2556 แต่นำมาเรียบเรียงใหม่อีกครั้ง สำหรับเขียนลงในบรรณาภิรมย์ครับ

Don`t copy text!