ดุจดวงตะวัน

ดุจดวงตะวัน

โดย : หมอกมุงเมือง

Loading

บรรณาภิรมย์ โดย หมอกมุงเมือง คอลัมน์ที่อ่านเอาขอมอบความรื่นรมย์ให้กับผู้อ่านด้วยภาพปกสวยๆ และเนื้อเรื่องในแบบต่างๆ ของนักเขียนชั้นครูที่เคยผ่านมือ ผ่านตาและผ่านใจ เพื่อให้ทุกคนได้ร่วมรำลึกถึงผลงานของนักเขียนแต่ละท่านให้พอหายคิดถึงแม้เวลาจะผ่านไปแล้วเนิ่นนาน ภาพและตัวอักษรจะปรากฏให้เห็นอีกครั้งในยุคของการอ่านออนไลน์

****************************  

 

เห็นนามปากกา ‘ศศิรุจี’ ซึ่งปรากฏผลงานนวนิยายที่เคยพิมพ์เป็นเล่มคือเรื่อง ดุจดวงตะวัน เพียงเรื่องเดียว หากแต่ความจริงแล้ว ศศิรุจีก็คือเจ้าของผลงานนวนิยายชื่อดังหลายเรื่อง ที่ภายหลังท่านได้เปลี่ยนมาใช้นามปากกา ‘จินตกัญญา’ ได้แก่เรื่อง ฝนปลายฟ้า ที่เคยนำไปสร้างเป็นละครโทรทัศน์ช่องสามมาแล้ว หรือ ร้อยดวงลวงเล่ห์ ในเงาพรหม สวรรค์แสนกล หรือ สองปรารถนา เป็นต้น

ศศิรุจี หรือ จินตกัญญา คือนามปากกา ของ คุณจินตนา อิศรางกูร ณ อยุธยา ท่านเกิดเมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2490  จบการศึกษาจากโรงเรียนมาแตร์เดอีวิทยาลัย โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา และสอบเข้าเป็นนิสิตคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ แต่เข้าศึกษาได้เพียงหนึ่งปี ก็ต้องย้ายตามบิดา มารดาบุญธรรมคือ หม่อมเจ้าวงษ์มหิป และหม่อมละไม ชยางกูร (คุณอา) ไปยังประเทศฟิลิปปินส์ และได้ศึกษาต่อในระดับอนุปริญญาที่นั่น

โดยเหตุที่บิดามีหนังสือสะสมไว้มากมาย ท่านจึงได้รับการถ่ายทอดให้รักการขีดเขียนมาตั้งแต่เล็ก เคยมีผลงานลงในนิตยสารต่างๆ อาทิ ดรุณี สตรีสาร แม่ศรีเรือน ฟ้าเมืองไทย สกุลไทย หญิงไทย เป็นต้น และเคยทำงานในตำแหน่งเลขานุการให้กับบริษัทต่างประเทศหลายแห่ง ก่อนที่จะกลับมาทำงานที่ตนรักอีกครั้ง ก็คืองานเขียนหนังสือนั่นเอง

สำหรับ ดุจดวงตะวัน นับเป็นผลงานนวนิยายเรื่องแรกในชีวิตของท่าน และใช้ในนามปากกาศศิรุจี ซึ่งภายหลังเมื่อมีการรวมเล่มใหม่อีกครั้ง จึงได้เปลี่ยนนามปากกามาเป็นจินตกัญญา เหมือนกับผลงานเรื่องอื่นๆ นั่นเองครับ

ดุจดวงตะวัน บอกเล่าเรื่องราวชีวิตแต่วัยเยาว์ของ เด็กหญิงศุภรัศมี พิริยโยธา ธิดาเพียงคนเดียวของ คุณพระพิริยโยธา และหลานสุดที่รักของท่านผู้หญิงสุรสีห์เดชไกร ชีวิตของเด็กหญิงที่ถูกเลี้ยงดูมาอย่างหัวแก้วหัวแหวน แต่ก็ไม่ได้ทำให้ศุภรัศมีกลายเป็นเด็กเอาแต่ใจตัวเองแต่อย่างใด ตรงกันข้าม กลับเป็นเด็กสนใจใฝ่เรียนและนิสัยอ่อนโยนเรียบร้อย จนเป็นที่รักใคร่ของเพื่อนๆ

ครอบครัวของเธอและครอบครัวพระยาอนุรักษ์ไอสูรย์ที่สนิทสนมกัน ได้ซื้อที่ดินริมคลองแสนแสบของิ นายบุญช่วย พลอยสามสี ซึ่งกำลังร้อนเงินอย่างหนัก เพื่อสร้างเป็นคฤหาสน์หลังงาม คุณพระอนุรักษ์ฯ มีบุตรชายเพียงคนเดียว ที่เรียกว่า ‘นายน้อย’ หรือคุณภากรซึ่งเป็นนักเรียนมหาดเล็กหลวง แต่ท่าทางเคร่งขรึมเย็นชา จนทำให้ศุภรัศมีไม่รู้สึกสนิทสนมด้วย ในช่วงเวลานั้นเองที่เกิดเหตุการณ์สงครามโลกครั้งที่สอง ซึ่งครอบครัวคุณพระก็หาทางขยับขยายไปพำนักชานเมือง และสร้างหลุมหลบภัย

เดือนตุลาคมปีนั้นน้ำท่วมหนัก ศุภรัศมีตื่นตากับภาพผู้คนที่พายเรือไปทำมาหากินแทนนั่งรถ รถคันยาวใหญ่ของคุณพระพิริยโยธาจอดหลบน้ำอยู่บนแท่นอิฐ แต่ไม่วายแช่น้ำอยู่เกือบครึ่งล้อ เด็กหญิงหยุดเรียนไปพักใหญ่ และจากนั้น เมื่อกรุงเทพฯ ถูกโจมตีทางอากาศเป็นครั้งแรก

เสียงเครื่องบินหึ่งๆ อยู่เหนือท้องฟ้าอันนวลสว่างด้วยแสงจันทร์ เสียงลูกระเบิดแหวกอากาศดังหวีดหวิว และเสียงระเบิดสะท้านสะเทือนดังสนั่นข่มขวัญให้ผู้คนขวัญหนีดีฝ่อ ตัวสั่นด้วยความตระหนก วิ่งหนีคนละทิศละทางอย่างขาดสติ เป็นภาวะฉุกเฉินที่ทุกคนต้องคิดถึงชีวิตตนเองก่อนอื่น

และนายบุญช่วยเองภายหลังได้ถูกระเบิดจนเสียชีวิต ด้วยความสงสาร คุณพระพิริยะจึงรับบานชื่น ลูกสาวของนายบุญช่วย ที่อยู่ในวัยไล่เลี่ยกับศุภรัศมี มาอุปการะ

นายบุญช่วยมีภรรยาคือสำเนียง และต่างก็มีลูกติดมาของแต่ละฝ่าย ลูกสาวนายบุญช่วยชื่อบานชื่น ส่วนนางสำเนียงก็มีลูกชายคนหนึ่ง แต่ต่อมาหลังนายบุญช่วยเสียชีวิตไป สองแม่ลูกก็หายไปจากแถบนั้น

ศุภรัศมีย้ายมาเรียนโรงเรียนคอนแวนต์ที่หัวหิน ที่นั่นเด็กสาวได้มีโอกาสรู้จักกับเพื่อนใหม่ๆ หลายคน ทั้งอัมพิกา ที่สนิทสนมกันมาก หรือชุติมา หรือจุ๋ม หลานสาวคุณอนงค์ ที่เป็นญาติกับตระกูลของคุณพระอนุรักษ์ไอศูรย์ ซึ่งแอบซ่อนความริษยาต่อเธอเอาไว้

และที่นั่นเองเธอได้มีโอกาสรู้จักกับเด็กหนุ่มชาวประมงที่ต้องออกหาปลาหมึกมาส่งให้กับโรงครัวของทางคอนแวนต์ เด็กหนุ่มหน้าคมคายที่จิตใจกล้าหาญและเปี่ยมด้วยน้ำใจไมตรี ที่ชื่อสานุ

สานุก็คือลูกชายนางสำเนียง ภรรยาของบุญช่วยที่เสียชีวิตไปนั่นเอง ด้วยความที่สุขภาพไม่ดี นางจึงมาอาศัยอยู่กับพี่ชายที่หัวหินแห่งนี้ และบุตรชายที่กตัญญูก็ตามมาด้วย เขาพยายามทำงานทุกอย่างเพื่อหาเงินมาช่วยเหลือมารดาที่เจ็บป่วยและเรียนหนังสือไปด้วย

สานุรู้จักศุภรัศมีเป็นอย่างดี และเจียมตัวว่าเขาเป็นเพียงลูกหญิงชรายากจนคนหนึ่ง ในขณะที่ศุภรัศมีกลับให้ความสนิทสนมอย่างเป็นกันเองกับเขา โดยไม่เคยดูถูก แตกต่างจากชุติมา ที่เย่อหยิ่งและดูถูกเขาตั้งแต่แรก

ความรู้สึกผูกพันนี้ เกิดขึ้นในใจเด็กหนุ่มตั้งแต่บัดนั้น ศุภรัศมีซึ่งมีความหมายว่าดวงตะวัน เธอจึงเปรียบประดุจดังตะวันอันฉายแสงอบอุ่นแก่หัวใจของ นายสานุ พลอยสามสี ผู้นี้ยิ่งนัก!

แต่แล้ว ด้วยความเจียมตัวเจียมใจ ทำให้เขาต้องหักใจ และอำลาจากเธอไปในเวลาต่อมา…

 

วันเวลาผ่านไป เมื่อ ศุภรัศมี พิริยโยธา ได้เติบโตขึ้นเป็นสาวน้อยผู้แสนโสภา และผ่านช่วงเวลาของสงครามโลกที่ยุติลง เธอเดินทางกลับมากรุงเทพฯ อีกครั้ง พร้อมกับข่าวการกลับมา ของ ภากร อนุรักษ์ไอศูรย์ ศุภรัศมีมีโอกาสได้พบภากรโดยบังเอิญ และเกิดความเข้าใจผิดขึ้น เมื่อเธอเห็นเขาครั้งแรกและนึกว่าเขาคือพี่สานุของเธอ!

บุรุษทั้งสอง มีเค้าหน้าทุกอย่างแทบจะเหมือนกัน!

ภากรเป็นชายหนุ่มรูปงาม และเย่อหยิ่งทะนงตน สำหรับมารดาแล้ว เธอเลี้ยงเขาอย่างตามใจมาโดยตลอด  และยิ่งทำให้เขาเกิดความทะนงตนว่าเป็นหนึ่งเสมอ เมื่อได้มาพบกับศุภรัศมี ในภายหลัง เขาก็ชอบพออัธยาศัยและรูปร่างหน้าตาของเธอ ยิ่งเมื่อบิดามารดาทาบทามเธอกับท่านผู้หญิงสุรสีห์เดชไกร เขาจึงไม่ปฏิเสธ ในขณะที่ศุภรัศมีเองก็อยากจะประวิงเวลาไปก่อน ตอนนี้เธอสอบเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยได้แล้ว และอยากจะเรียนจนจบปริญญาตรีเสียก่อน

โดยไม่คาดฝันว่า ที่นั่นเอง เธอจะได้พบอาจารย์หนุ่มรูปงามที่เพิ่งมาสอนยังคณะรัฐศาสตร์ ที่ตนเองเข้าศึกษาอยู่พอดี…

อาจารย์สานุ!!

ความรู้สึกดีๆ ที่เคยมีให้กันได้เริ่มต้นขึ้นอีกครั้ง แม้ว่าสานุจะพยายามแสดงท่าทางสุภาพห่างเหินกับเธอ ก็ตามที ในขณะเดียวกันศุภรัศมีก็ยิ่งสงสัยในหน้าตาของชายหนุ่มทั้งสองคนที่ช่างเหมือนกันราวกับฝาแฝด มันจะต้องมีความลับบางอย่างที่เธอยังไม่อาจล่วงรู้เกี่ยวกับคนทั้งสอง

คุณอนงค์ น้องสาวคุณหญิงอนุรักษ์ไอศูรย์เองก็ได้เห็นหน้าสานุ และพยายามสอบถามความจริงที่ตนเองเคยสงสัย แต่สานุก็ปิดปากเงียบ เธอนำเรื่องนี้ไปบอกคุณหญิงผู้เป็นมารดาของภากร และล่วงรู้ถึงหูของสามีเธอ เจ้าคุณอนุรักษ์ฯ จึงขอให้ศุภรัศมีพาท่านไปพบกับสานุ และมารดาของเขา แต่ในเวลานั้นศุภรัศมีไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์สนทนาของบุคคลทั้งสอง และคุณหญิงกับคุณอนงค์ก็เดินทางมาตามท่านเจ้าคุณเสียก่อน จึงไม่ล่วงรู้ความจริงบางอย่าง…

ศุภรัศมี จำเป็นต้องหมั้นหมายกับ ภากร ตามความเห็นชอบของผู้ใหญ่ ในเวลานั้น สานุเองก็พยายามหักใจ เขาตัดสินใจไปเรียนต่อที่เมืองนอก ซึ่งทำให้ ศุภรัศมีกลับสานุห่างเหินจากกัน ด้วยความเข้าใจผิด

บานชื่น ซึ่งเติบโตมาพร้อมกับศุภรัศมี เป็นหญิงสาวที่แข็งกระด้าง เพราะตนเองคิดว่าพี่ชายกับมารดาไม่เคยรัก แต่ส่งมาอยู่กับครอบครัวคนอื่น บานชื่นเติบโตมาพร้อมกับปมในใจ และเมื่อได้พบกับประเวศน์ เพื่อนของสานุ ที่เข้ามาจีบเธอ ท้ายสุดบานชื่นก็หนีตามประเวศน์ไป แม้ว่าสานุจะพยายามตักเตือน แต่ก็ไม่เป็นผล จนท้ายที่สุดบานชื่นก็ตั้งครรภ์ แม้ว่าต่อมา เมื่อสานุกลับมาจากเมืองนอกแล้ว ทั้งคู่จะมีโอกาสได้ปรับความเข้าใจกันอีกครั้ง

 

สานุพาผู้หญิงฝรั่งชื่อแนนซี่ และพาเด็กคนหนึ่งกลับมาด้วย ในช่วงเวลานั้นเองที่ศุภรัศมี มีโอกาสเห็นภาพบาดตานั้นเข้าพอดี หญิงสาวรู้สึกผิดหวังต่อชายที่ตนเองรักยิ่งนัก และเมื่อคุณย่าเธอขอร้องให้แต่งงานกับภากร ศุภรัศมีจึงยอมตกลงแต่โดยดี

แต่แล้ว ความจริงก็เปิดเผยขึ้น เมื่อแนนนี่มาแสดงตัวที่บ้านอนุรักษ์ไอศูรย์ ว่าเธอกับภากร มีความสัมพันธ์กันตั้งแต่เขาไปเรียนเมืองนอก และเธอก็มีลูกกับเขา!

ความเห็นแก่ตัว ทำให้ภากรไม่ยอมรับ เขาโทษว่าเป็นเพราะสานุที่ชักชวนแนนนี่กลับมาเมืองไทย เพื่อมาทำลายงานแต่งงานของเขา ภากรบุกไปที่บ้านสานุและมีเรื่องชกต่อยกันขึ้น นางสำเนียงออกมาห้ามภากร และถูกทำร้าย จนสานุทนไม่ได้อีกต่อไป

“ภากร นายกำลังจะฆ่าแม่บังเกิดเกล้าของนายเองนะ!”

ดวงตาเคียดแค้นชิงชังของภากร อนุรักษ์ไอศูรย์ เบิกกว้างขึ้นท่าทีราวไม่เชื่อหากยังชะงักหยุดคิด

“ได้ยินไหม แม่คนเดียวในโลกที่ทำให้นายโตขึ้นมา ตะบันหน้าใครๆ อย่างนี้”

ความจริงที่รับรู้นั่นเอง ทำให้ภากรที่หยิ่งทะนงในชาติภูมิของตน ถึงกับช็อกไปชั่วขณะ และความจริงก็เปิดเผยว่าเขากับสานุคือพี่น้องกัน เป็นสายเลือดของอนุรักษ์ไอศูรย์ที่เกิดจากนางสำเนียงหญิงชาวบ้านธรรมดาเพียงคนหนึ่ง

และคุณหญิงอนุรักษ์ไอศูรย์นั้นแท้จริงก็เป็นเพียงแม่เลี้ยง ที่เลี้ยงดูเขามาเท่านั้น…

ความขลาดกลัวต่อความจริง ทำให้เขาและคุณหญิงอนุรักษ์ปกปิดความลับนี้เอาไว้ แม้จนกระทั่งถึงวันแต่งงาน แต่แล้วแนนนี่ก็นำลูกมาปรากฏตัวขึ้น ทำให้ศุภรัศมีได้เห็นอีกด้านหนึ่งของภากร และมารดาของเขาที่ปกปิดความจริงเอาไว้ แม้ว่าหลายคนจะพยายามให้งานแต่งงานเกิดขึ้นและผ่านไปเสียก่อน แต่ท่านผู้หญิงย่าของศุภรัศมีก็เสียใจกับสิ่งที่เกิดขึ้นกับหลานรักและมีสาเหตุมาจากตัวท่านเองที่ขอร้องศุภรัศมีให้เข้าพิธีแต่งงานนี้ ทำให้อาการเจ็บป่วยยิ่งทรุดลงและเสียชีวิตในเวลานั้นพอดี งานแต่งงานนั้นจึงต้องล้มเลิกลง…

เรื่อง : ดุจดวงตะวัน

ผู้เขียน : ศศิรุจี

สำนักพิมพ์ : คลังวิทยา

ปีที่พิมพ์ : 2515

สองเล่มจบ

ภายหลังงานศพนั้นเอง ทำให้ภากรสำนึกผิด เขากลับไปคืนดีกับแนนนี่ ในขณะที่พระยาอนุรักษ์ไอศูรย์เองก็มาปรับความเข้าใจกับสานุ ทำให้พ่อกับลูกที่มากทิฐิ ได้เข้าใจความรักของกันและกันในที่สุด

ท่ามกลางความยินดีปิติของศุภรัศมี…

และแล้ว สองหนุ่มสาวที่ผูกพันกันมาเนิ่นนาน ผ่านช่วงเวลาแห่งการพิสูจน์ใจ ก็ได้เดินทางมาถึงจุดแห่งความเข้าใจในรักนั้น

 

ในแสงสีแสดแดงขณะดวงตะวันจะจมลงทะเล รัศมีสีสดใสทอลอดปุยเมฆสีชมพูเต็มขอบฟ้า เมื่อมีเงาของชายหญิงทั้งสองเคียงชิดกัน วันนั้น ศุภรัศมีอาจจะกระซิบบอกสานุที่หูอย่างแสนค่อยว่า ศุภรัศมีก็มีหัวใจและจิตใจแก่สานุทั้งหมดคนเดียวเช่นกัน

ดุจดวงตะวัน เป็นนวนิยายโรแมนติกพีเรียดที่สะท้อนภาพเมืองไทยยุคอดีต และยังผสมผสานไปด้วยเหตุการณ์ต่างๆ ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สองเป็นฉากหลัง เป็นนิยายที่อ่านได้อย่างเพลิดเพลินและทำให้เห็นภาพตามไปกับผู้เขียน ที่มีสำนวนภาษาอันละเมียดละไม ชวนติดตามอย่างยิ่ง จนแทบไม่น่าเชื่อว่าจะเป็นผลงานเรื่องแรกในชีวิตของท่านเลยทีเดียว

หมายเหตุ นวนิยายของจินตกัญญา ในภายหลังได้นำมารวมเล่มกับสำนักพิมพ์ดอกหญ้า และต่อมาก็เป็นสำนักพิมพ์เพื่อนดี ซึ่งเพื่อนนักอ่านสามารถติดตามหาอ่านได้ครับ

Don`t copy text!