จอมจักรพรรดิอโศก

จอมจักรพรรดิอโศก

โดย : หมอกมุงเมือง

Loading

บรรณาภิรมย์ โดย หมอกมุงเมือง คอลัมน์ที่อ่านเอาขอมอบความรื่นรมย์ให้กับผู้อ่านด้วยภาพปกสวยๆ และเนื้อเรื่องในแบบต่างๆ ของนักเขียนชั้นครูที่เคยผ่านมือ ผ่านตาและผ่านใจ เพื่อให้ทุกคนได้ร่วมรำลึกถึงผลงานของนักเขียนแต่ละท่านให้พอหายคิดถึงแม้เวลาจะผ่านไปแล้วเนิ่นนาน ภาพและตัวอักษรจะปรากฏให้เห็นอีกครั้งในยุคของการอ่านออนไลน์

****************************

สนับสนุนอ่านเอาด้วยการสั่งซื้อหนังสือ “ในสวนอักษร” คลิกที่นี่

ในจำนวนผลงานการเขียนของ อาจารย์วศิน อินทสระ ผมประทับใจนวนิยายอิงธรรมะเรื่อง ‘จอมจักรพรรดิอโศก’ มากที่สุด นอกเหนือจากการบอกเล่าเรื่องราวผ่านประวัติศาสตร์ของบุคคลสำคัญในช่วงพุทธกาลแล้ว ยังเป็นการเขียนที่สร้างพลอตเรื่องและดำเนินเรื่องราวได้อย่างสนุกสนาน สอดแทรกข้อคิด คติเตือนใจ ด้วยสำนวนภาษาอันสละสลวยงดงาม ชวนให้อ่านอย่างประทับใจตั้งแต่บทแรก ไปจนถึงบทสุดท้าย และจบลงด้วยความอิ่มเอมใจ

เรื่องราวในจอมจักรพรรดิอโศกนี้ วศิน อินทสระ ได้เขียนขึ้น โดยเริ่มย้อนเหตุการณ์ไปตั้งแต่สมัยพุทธกาลก่อนยุคของพระเจ้าอโศกกว่าสองร้อยปี ในบทของ ‘ความเป็นมาแห่งนครปาฏลีบุตร’ ซึ่งเป็นเรื่องราวของพระเจ้าพิมพิสาร และพระเจ้าอชาตศัตรูแห่งกรุงราชคฤห์ แคว้นมคธ เมื่อลูกสังหารพ่อตามคำยุยงของพระเทวทัต แม้ภายหลังจะทรงสำนึกในผิดบาปและย้ายราชธานีจากราชคฤห์ มายังเมืองปาฏลีบุตร

แต่กงกรรมกงเกวียนก็ยังดำเนินต่อเนื่องกันเหมือนไม่รู้จบเมื่ออุทัยภัทรโอรสของพระเจ้าอชาตศัตรูเองก็กระทำปิตุฆาต ต่อมาอุทัยภัทรก็ถูกมหามุนทิกะพระโอรสปลงพระชนม์ และเกิดเหตุการณ์ต่อเนื่องในลักษณะลูกฆ่าพ่อ เป็นวงวัฏจักรนั้น ในภายหลังราชวงศ์แห่งพระเจ้าพิมพิสาร จึงถูกเปลี่ยนไปสู่ราชวงศ์อื่นๆ ตราบจนถึงราชวงศ์ของพระเจ้าจันทรคุปต์แห่งโมริยวงศ และจันทรคุปต์ก็มีพระโอรสคือพระเจ้าพินทุสาร ซึ่งต่อมาได้ครองนครปาฎลีบุตร และโอรสพระองค์หนึ่งก็คือ เจ้าชายอโศกนั่นเอง

เจ้าชายอโศกเป็นโอรสของพระนางวิมังสาเทวี ซึ่งมิใช่มเหสีเอก ซ้ำเมื่อถือกำเนิดขึ้น เจ้าชายก็หาได้มีรูปลักษณ์งดงามเช่นเจ้าชายองค์อื่น หากมีพระทัยกล้าหาญ เด็ดเดี่ยว กล้าแสดงออกและโต้แย้งด้วยเหตุผล ยิ่งทำให้ไม่เป็นที่ชื่นชอบของเจ้าชายพระองค์อื่น รวมถึงพระบิดาเอง ครั้งล่าสุดก็ทรงมีเรื่องกับเจ้าชายสุสิมะ โอรสของพระอัครมเหสี เมื่อมีการประลองกีฬาแข่งขันกันแล้ว เจ้าชายสุสิมะเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ และด้วยความกลัวจะเสียหน้า ทำให้ทรงบริภาษและลำเลิกไปถึงพระนางวิมังสาเทวีพระมารดา ทำให้เกิดเรื่องขึ้น และด้วยความเกรงพระทัยอัครมเหสี พระเจ้าพินทุสารจึงลงโทษอโศกอย่างอยุติธรรม มีเพียงเจ้าหญิงวิเนตาที่เป็นลูกพี่ลูกน้องของอโศกที่เห็นใจ

วิเนตาประทับใจความกล้าหาญของอโศกตั้งแต่แรก เจ้าหญิงน้อยคอยให้กำลังใจเจ้าชายอโศกอยู่เสมอ ด้วยความรักและภักดี ในขณะที่อโศกเองก็ให้เพียงแค่ความเป็นเพื่อน หากเจ้าหญิงก็ยังมีความหวังว่าสักวันหนึ่งอโศกจะหันมารักใคร่ในพระองค์บ้าง แม้ว่าจะมีเจ้าชายสุสิมะที่มีรูปโฉมงดงาม คอยเอาพระทัย แต่วิเนตาก็ไม่ได้ปรารถนา เพราะมองเห็นเนื้อแท้แห่งอุปนิสัยของสองเจ้าชายที่แตกต่างกัน

พระเจ้าพินทุสารส่งตัวเจ้าชายหนุ่มน้อยให้ไปศึกษายังตักกสิลา และเพื่อให้ห่างไกลจากพระองค์เองอีกด้วย ที่นั่นเองอโศกได้ออกเดินทางพร้อ ศิขรินทร์พระสหายคู่พระทัย ไปยังสำนักทิศาปาโมกข์อันห่างไกล และเข้าศึกษาโดยไม่ได้บอกเล่าถึงชาติกำเนิดกษัตริย์ของตน มีเพียงอาจารย์และศิขรินทร์เท่านั้นที่ล่วงรู้ ในเวลานั้นเอง ทั้งคู่มีโอกาสพบธิดาสาวชาวบ้านป่ารูปงามนาม ชโลธรา บุตรีพวารี อโศกก็เกิดเป็นความรักครั้งแรกกับชโลธรา ที่นุ่มนวลอ่อนโยนและมีเสน่ห์น่ารัก

ทั้งสองสัญญากันว่าเมื่ออโศกกลับไปยังนครปาฏลีบุตรแล้ว จะมาสู่ขอเธอเพื่ออภิเษกเป็นราชินี เช่นเดียวกับศิขรินทร์เองที่คบหากับชาลินี สหายของชโลธรา ห้าปีผ่านไป เมื่อเจ้าชายหนุ่มสำเร็จการศึกษา และเดินทางกลับไปถึง ก็เกิดเหตุการณ์สู้รบปราบปรามเมืองที่กบฏต่อปาฎลีบุตร และอโศก ก็ได้แสดงความสามารถที่เหนือยิ่งกว่าเจ้าชายองค์อื่น โดยเฉพาะสุสิมะ ทำให้เจ้าชายถูกใส่ร้ายจากบรรดากลุ่มราชวงศ์ที่เกลียดชัง ว่าต้องการจะชิงราชบังลังก์

พระเจ้าพินทุสารเอง ไม่ต้องการให้อโศกขึ้นครองปาฎลีบุตร เพราะรักเจ้าชายสุสิมะโอรสจากมเหสีเอกมากกว่า จึงมีพระประสงค์ให้อโศกและศิขินทร์ เดินทางไปปกครอง อุชเชนี แห่งแคว้นอวันตีอันไกลโพ้นและกันดาร ไม่ต่างกับการเนรเทศให้ไปไกลพ้นพระเนตรพระกรรณ

หากแต่การเดินทางในครั้งนั้นเอง ทำให้เจ้าชายได้เผชิญกับสิ่งไม่คาดฝันสองข้อ ข้อแรกคือการได้พบกับเวทิสา ธิดา เวทมานกเศรษฐี แห่งเมืองเวทิส และต่างก็ได้พิสูจน์น้ำใจของแต่ละฝ่ายจนกลายเป็นความรัก ความประทับใจ ภายหลังเจ้าชายอโศกได้สถาปนาเวทิสา ขึ้นเป็นอัครมเหสี คู่บารมี และข้อที่สอง ก็ได้ทรงประจักษ์ในหัวใจ ‘กาในร่างหงส์’ ของชโลธรา หญิงสาวทรงหลงรักและให้สัตย์สัญญาแก่กันมาตั้งแต่ยังเป็นมานพหนุ่มน้อยแห่งตักกสิลา ทว่าเมื่อทรงจากเมืองแห่งนั้นไปไม่นาน ชโลธราก็ได้พานพบกานติทัต ชายหนุ่มรูปงามที่เข้ามาคบหา ทำให้นางเคลิบเคลิ้ม ลุ่มหลงไปกับเสน่ห์ของอีกฝ่าย จนลืมสัจจะสัญญาทั้งหมด สร้างความเจ็บช้ำน้ำใจให้กับเจ้าชายอโศกอย่างยิ่ง

ด้วยความแค้น ทำให้เจ้าชายบุกไปยังตักกสิลาอีกครั้งและสังหารกานติทัต จับตัวชโลธรา กลับมากักขังไว้ยังอุชเชนี และให้เธอพำนักยังพระตำหนักแห่งหนึ่ง

ภายในราชสำนักของนครปาฎลีบุตร นอกจากกลุ่มของเจ้าชายสุสิมะแล้ว ยังมีอีกหลายกลุ่มที่แย่งชิงอำนาจกัน รวมถึงกลุ่มเจ้าชายพีรพล ที่ต้องการกำจัดอโศกออกไปจากชีวิต ยิ่งเมื่อเห็นความก้าวหน้า เก่งกล้าอันเป็นกิตติศัพท์ลือเลื่องแล้ว ยิ่งบังเกิดความริษยา จึงส่งนางโสมาวิกา หญิงสาวใจซื่อที่หลงรักเจ้าชายพีรพล ให้ปลอมตัวเป็นกรัณฑิกา สาวบ้านป่าที่ถูกพ่อแม่ทำร้าย และเข้ามาพึ่งใบบุญของเจ้าชายอโศก รวมถึงพยายามหาทางใกล้ชิด เพื่อจะลอบสังหารเจ้าชายหนุ่ม ก่อนที่จะเติบใหญ่มีอำนาจเกรียงไกรกว่าเดิม

แต่เหตุการณ์เหล่านี้ อยู่ในสายตาของศิขินทร์ผู้ซื่อสัตย์ตลอดเวลา ทำให้สามารถจัดการกับโสมาวิกา นางนกต่อของเจ้าชายพีรพลได้สำเร็จ และภายหลังจากนั้น เจ้าชายอโศกก็ทรงปราบดาภิเษกขึ้นเป็นจอมกษัตริย์แห่งปาฎลีบุตร โดยการกำจัดพระญาติวงศ์ทั้งหลายทั้งปวงที่เคยขัดขวางจนหมดสิ้น อำนาจเหล่านั้นทำให้กษัตริย์หนุ่มลำพองพระทัยในความยิ่งใหญ่เก่งกล้า และต้องการจะรวบรวมแว่นแคว้นต่างในชมพูทวีปให้มารวมกันภายใต้เศวตรฉัตรของพระองค์เอง

ความดุร้ายโหดเหี้ยมนั้นเอง ทำให้ทรงได้รับสมญานามว่า จัณฑาโศก หรืออโศกผู้โหดร้าย ทรงแสดงแสนยานุภาพยกกองทัพไปปราบปรามยึดครองแว่นแคว้นต่างๆ ตราบจนกระทั่งมาถึง แคว้นกาลิงคราษฏร์และประสบชัยชนะ หากยามเมื่อทอดพระเนตรไปในท้องทุ่งแห่งยุทธสงคราม มองเห็นเลือดท่วมกีบม้า เสียงร้องครวญครางด้วยความทุกข์เจ็บปวด แลซากศพประหนึ่งทะเลเพลิงสุดสายตา กลับทำให้บังเกิดความโศกสลดขึ้น ภาพเหตุการณ์ในอดีตทั้งหลาย ที่เคยก่อกรรมทั้งแก่ชโลธรา พระประยูรญาติที่ถูกเผาทั้งเป็นในกองเพลิง ปรากฏขึ้น

เมื่อนั้นเองทำให้ทรงตัดสินพระทัยในบัดดล พระองค์ทรงยกพระหัตถ์ทั้งสองประนมเหนือพระเศียร ชูขึ้นสู่ท้องฟ้า ประกาศกลางสมรภูมิแห่งนั้นว่า

“ตั้งแต่นี้ต่อไป เราผู้มีนามว่าอโศก ขอวางธนูและดาบ จะไม่ยอมขึ้นรถและม้าศึกอีกเลย มนุษย์ทั้งหลายต้องตายลงคราวนี้เป็นจำนวนแสน บาดเจ็บอีกจำนวนมาก เราผู้รักชีวิตของตนได้ทำลายชีวิตอื่นมาเหลือคณนาแล้ว”

และนับแต่นั้น ได้ทรงปวารณาตัวเองเป็นพุทธมามกะ เมื่อได้สนทนาธรรมกับพระภิกษุซึ่งสืบทอดพระธรรมคำสอนมาจากพระบรมศาสดาซึ่งถึงปรินิพพานก่อนหน้านั้น ทรงทำนุบำรุงศาสนาจนเจริญรุ่งเรืองในแว่นแคว้นชมพูทวีป เปลี่ยนจากการยาตราทัพมาเป็นธรรมยาตรา และใช้ตราธรรมจักรเป็นตราแผ่นดิน จนได้รับสมญาว่า ธรรมาโศก หรืออโศกผู้ทรงธรรม แม้ว่าในช่วงภายหลังจะมีเหตุการณ์ต่างๆ เกิดขึ้นอีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องพระโอรสกุณาละผู้มีรูปกายและดวงตางดงาม กับพระชายาเจ้าหญิงติษยรักษิตา พระมารดาเลี้ยงที่ลุ่มหลงโอรสต่างมารดา หากเมื่อไม่สมปรารถนา ก็กลายเป็นความพยาบาท และทำร้ายเจ้าชายหนุ่มกับพระชายา จนนัยน์ตาบอด หากท้ายสุดกงแห่งกรรมก็ตามตอบสนองต่อติษยรักษิตาจนสิ้นพระชนม์ในที่สุด หรือเรื่องของเจ้าชายวีตโศกพระอนุชาผู้เคยเห็นผิดเป็นชอบ ต่อมาด้วยกุศโลบายของพระเจ้าอโศก ได้ช่วยทำให้พระอนุชาหันมาสนพระทัยในพุทธศาสนา จนออกผนวชในที่สุด

เรื่อง : จอมจักรพรรดิอโศก

ผู้เขียน : วศิน อินทสระ

สำนักพิมพ์ : บรรณาคาร

ปีที่พิมพ์ : 2526 (พิมพ์ครั้งที่ 3)

สองเล่มจบ

การอ่านธรรมนิยายเรื่องนี้ จะมีข้อคิดคติธรรมแทรกอยู่ประกอบไว้ในแต่ละตอน หากก็ไม่ได้ทำให้สะดุดในการอ่านแต่อย่างใด ตรงกันข้ามกับเสริมให้เกิดอรรถรสในการอ่านมากยิ่งขึ้น หัวข้อคติธรรมในแต่ละช่วง ผู้เขียนได้แทรกไว้อย่างเหมาะสม งดงาม ตั้งแต่บทต้นที่เป็นเรื่องราวความรักของชีวิตหนุ่มสาว อันเป็นช่วงเวลาที่เจ้าชายอโศกเพิ่งเริ่มเข้าสู่วัยแรกดรุณ

มีบ่อยครั้งเหลือเกินในโลกอันยุ่งเหยิงใบนี้ ที่สตรีหยิบยื่นหัวใจอันมีค่ายิ่งของเธอ เพียงเพื่อแลกกับอารมณ์ของชาย โดยที่ไม่รู้ว่านั่นเป็นเพียงอารมณ์ของเขา มิใช่หัวใจหรือความรู้สึกอันแท้จริงอะไรเลย

การเปรียบเทียบความรักของหญิงชาย ที่แตกต่างกันได้อย่างคมคาย เช่น

ความรักของเธอจึงละเมียดละไม อ่อนนุ่มและสูงส่งเหนือกว่าความใคร่เนื้อหนัง ผิดกับความรักของชาย ซึ่งมักจะมีแต่ความเร่าร้อนและปรารถนา เหมือนเด็กที่ต้องการกินข้าวต้มที่ยังร้อนที่เพิ่งยกลงจากเตาใหม่ๆ ไม่ค่อยรู้จักรั้งรอเวลาอันเหมาะสม ผู้ชายจึงมักลิ้นพอง เจ็บปาก เพราะเรื่องทำนองนี้อยู่เนืองๆ

และในที่สุดผู้หญิงก็ต้องยอม เหมือนมารดาผู้มีความกรุณา ไม่อาจทนต่อการรบเร้าเง้างอดของลูกอีกต่อไป

เมื่อเด็กน้อยได้กินข้าวต้มสมอยากแล้ว ก็ทิ้งชามข้าวไว้ให้เป็นภาระของมารดา แล้วออกวิ่งเล่นกับเพื่อนฝูงอย่างสนุกสนานโดยมิต้องคำนึงว่า มารดาจะต้องรับผิดชอบอะไร และเหน็ดเหนื่อยเพียงใด

และเมื่อเรื่องราวเริ่มทวีความเข้มข้นขึ้น นอกเหนือจาก ‘ความรัก’ นำไปสู่ ‘กลศึก’ ที่ใช้เล่ห์กล ในการเอาชนะฝ่ายตรงข้าม

ความสงสารเป็นทัพหน้าของความรักสำหรับชาย พอๆ กับความละอายเป็นเบื้องต้นแห่งความรักของหญิง และความรักที่เริ่มต้นจากความสงสารนั้น ยากนักที่จะสลัดได้ เสมือนความตายซึ่งเริ่มป่วยเพราะความชรา ยากนักที่จะเยียวยาให้กลับฟื้นฟูสู่สภาพเดิม

ตราบจนถึงการบรรลุในสัจธรรมแห่งชีวิต เมื่อพระเจ้าอโศกได้ทรงก้าวขึ้นมาถึงจุดสูงสุด และประจักษ์ชัดใน ความเป็นจริง

“พระผู้มีพระภาคทรงแสดงว่า คนทุกคนถูกชราดึงเข้าไปหาความตายอยู่ทุกๆ วัน ไม่ยั่งยืน โลกคือหมู่สัตว์ไม่มีผู้ต้านทาน ไม่มีผู้เป็นใหญ่ โลกพร่องอยู่เป็นนิตย์ ไม่รู้จักอิ่ม ไม่รู้จักเบื่อจึงต้องเป็นทาสของตัณหา แต่ในที่สุด ทุกคนก็ต้องละทิ้งสิ่งทั้งปวงไป”

เมื่อรากไม้ยังมั่นคง ไม่มีอะไรทำลาย แม้กิ่งและใบจะถูกลิดรอน ต้นไม้นั้นก็สามารถงอกงามขึ้นได้อีกฉันใด ในทำนองเดียวกัน เมื่อบุคคลยังตัณหากุสัยขึ้นไม่ได้ ความทุกข์ก็เกิดขึ้นได้บ่อยๆ ฉันนั้น

และเมื่อมาถึงการปล่อยวางทุกอย่างเพื่อการหลุดพ้น ก็เป็นการนำหัวข้อพระธรรมมาเปรียบเทียบอย่างเห็นภาพชัดเจน

“พระผู้มีพระภาคตรัสว่า พระองค์ทรงแสดงธรรมเหมือนแพเพื่อข้ามฝั่ง เมื่อถึงฝั่งคือพระนิพพานแล้วก็ให้ละธรรมเสีย ทำนองเดียวกับบุคคลอาศัยเรือเพื่อข้ามฝั่ง เมื่อถึงฝั่งแล้วก็ละเรือไว้ที่ฝั่งนั่นเอง ไม่ควรแบกขึ้นไปด้วยให้เหน็ดเหนื่อยเปล่า

อีกอุปมาหนึ่ง เหมือนช่างไม้อาศัยเครื่องมือสร้างบ้านเรือน ปราสาท เมื่อสร้างเสร็จแล้ว เขาก็เก็บเครื่องมือลงหีบ ไม่วางไว้เกะกะที่ เมื่อผู้ใดต้องการใช้ ก็คอยแนะนำเขาว่า เครื่องมือชิ้นนั้น ใช้อย่างนั้น ชิ้นนี้ ใช้อย่างนี้ เป็นต้น”

ตราบจนกระทั่งดำเนินมาถึงวาระสุดท้ายในบั้นปลายแห่งพระชนม์ชีพ เมื่อทรงประนมพระหัตถ์ไว้เหนืออุระ หลับพระเนตรลง ก่อนลมอัสสาสะ ปัสสาสะ ผ่อนเบาลงตามลำดับ

สายใยแห่งกายเนื้อและกายทิพย์อันเนื่องมาเป็นเวลาหกสิบปีเศษได้ขาดสะบั้น ทิ้งกเฬวระไว้เป็นเทวทูตเตือนคนทั้งหลายว่า สิ่งใดสิ่งหนึ่ง เกิดขึ้นแล้วย่อมดับไปเป็นธรรมดา

 ดังพระดำรัสของพระผู้มีพระภาคเจ้า

“ความสุขอันเป็นโลกียะทั้งมวล มีที่สุดเป็นทุกข์” แม้พระราชาผู้ยิ่งพระนามว่า “อโศก” ก็ต้องถึงแล้วซึ่งความโศก

เรื่องราวในธรรมนิยาย จอมจักรพรรดิอโศก เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ผมอ่านด้วยความเพลิดเพลินชื่นบานและได้ความรู้ทางประวัติศาสตร์ไปพร้อมๆ กัน เป็นนิยายที่สามารถนำมาอ่านซ้ำได้หลายครั้งหลายหน และการอ่านเรื่องนี้ ทำให้นึกไปถึงนวนิยาย ‘ศิวาลัย’ ของทมยันตี ที่ได้นำเหตุการณ์ในช่วงการเปลี่ยนผ่านนี้ ดำเนินเรื่องราวผ่านตัวละครพระเจ้าอโศก เจ้าชายสุสิมะ และตัวละครอื่นๆ มาโลดแล่นผ่านโครงเรื่องของนวนิยายแนวภพชาติ ที่สนุกเข้มข้นอีกเรื่องหนึ่งเช่นเดียวกัน

สำหรับผลงานของ อาจารย์วศิน อินทสระ เรื่องนี้ ล่าสุดน่าจะมีพิมพ์ซ้ำโดยสำนักพิมพ์สร้างสรรค์บุ๊คส์ ในรูปแบบปกอ่อนด้วยครับ

Don`t copy text!