โนรี

โนรี

โดย : หมอกมุงเมือง

Loading

บรรณาภิรมย์ โดย หมอกมุงเมือง คอลัมน์ที่อ่านเอาขอมอบความรื่นรมย์ให้กับผู้อ่านด้วยภาพปกสวยๆ และเนื้อเรื่องในแบบต่างๆ ของนักเขียนชั้นครูที่เคยผ่านมือ ผ่านตาและผ่านใจ เพื่อให้ทุกคนได้ร่วมรำลึกถึงผลงานของนักเขียนแต่ละท่านให้พอหายคิดถึงแม้เวลาจะผ่านไปแล้วเนิ่นนาน ภาพและตัวอักษรจะปรากฏให้เห็นอีกครั้งในยุคของการอ่านออนไลน์

****************************

สนับสนุนอ่านเอาด้วยการสั่งซื้อหนังสือ “ในสวนอักษร” คลิกที่นี่

 ศักดิ์เกษม หุตาคม หรือ ‘อิงอร’ คือนักเขียนรุ่นครูผู้มีผลงานนิยายรักหวานซึ้ง เลื่องชื่อ อย่าง ช้องนาง นิทรา-สายัณห์ ธนูทอง ดรรชนีนาง จนได้รับสมญาว่า ‘นักประพันธ์ผู้ใช้ปากกาจุ่มน้ำผึ้งเขียนหนังสือ’ ด้วยสำนวนโวหารที่หวานล้ำด้วยกลิ่นอายของความรักในแทบทุกตัวอักษร แม้แต่ผลงานการประพันธ์เพลงอันเป็นอมตะอย่างที่หลายคนรู้จักกันดี อย่างเพลง เดือนต่ำดาวตก หรือเพลง หนาวตัก เป็นต้น

ดูซิดู ใครสอน ให้นอนหนุนตัก

ซุกซนนัก ไม่กลัว น้องจะหมองศรี

หนาวตัก หนักจิต ดรรชนี

หากนาวี อรุโณทัย ไม่กลับคืน…

(เนื้อเพลง หนาวตัก ของ อิงอร)

ท่านเกิดที่บ้านบ่อพลับ ตำบลเกาะยอ อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2461 เมื่อเรียนจบมัธยมแปดแล้ว จึงเดินทางมาศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง (ชื่อในเวลานั้น)

สำหรับที่มาของนามปากกา ‘อิงอร’ จากข้อมูลในบทความของ คุณเริงไชย พุทธาโร ในนิตยสาร ถนนหนังสือ ได้เขียนว่า

“ศักดิ์เกษม หุตาคม กล่าวถึงความหมายแห่งนามปากกาตนว่า อิงผู้หญิง พจนานุกรมแปลว่าดีใจ รู้สึกรากศัพท์จะมาจากเขมร ไปพลิกดูทีหลัง แต่ตั้งขึ้นมาเองเพราะรู้สึกว่ามันหวาน เหมาะสำหรับชื่อนางเอกในนวนิยายเรื่องนั้น”

ผลงานเรื่องสั้นเรื่องแรก คือ สิ่งที่เหลือ ได้รับการตีพิมพ์ใน ประชามิตร-สุภาพบุรุษ และต่อมา เรื่องสั้นเรื่องที่สอง เธอสิ้น ฉันสูญทุกๆ สิ่ง สัญญาจ๋า ผลงานเรื่องที่สองก็ตีพิมพ์ในฉบับวันที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2486 จนมาถึง ผลงานที่เลื่องชื่อ ซึ่งตีพิมพ์เป็นลำดับที่สาม นิทรา-สายัณห์ โดยได้แรงบันดาลใจ จาก วัทเธอริง ไฮต์ส์ (Wuthering Heights) ของ เอมิลี บรองเต้ และจากนั้น นามของอิงอร ก็ก้าวเข้าสู่ทำเนียบนักเขียนแห่งบรรณพิภพอย่างเต็มตัว

ผลงานส่วนใหญ่ของท่านมักจะเป็นนิยายขนาดสั้น และมีเพียงเรื่องเดียว ซึ่งเป็นผลงานนวนิยายขนาดยาว ได้เขียนลงตีพิมพ์ในนิตยสาร บางกอก ตามคำเชิญชวนของ ‘อรชร’ หรือ ศรี ชัยพฤกษ์ ซึ่งเป็นบรรณาธิการนิตยสารในเวลานั้น

และ โนรี ก็คือผลงานนิยายเรื่องนั้นนั่นเอง!

อิงอรได้ออกตัวในท้ายเล่มว่า ท่านได้แรงบันดาลใจจากการไปสถานสงเคราะห์เด็กบ้านราชวิถี ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นเด็กกำพร้า พ่อแม่ตาย ไม่มีผู้เลี้ยงดู และอีกส่วนหนึ่งคือ เด็กที่ถูกพ่อแม่ทอดทิ้ง พ่อแม่เด็กประเภทนี้บางรายฐานะอาจไม่ได้ยากจน แต่ทอดทิ้งให้เด็กกำพร้าเพราะปัญหาอื่น

และนี่เองที่ทำให้ผู้เขียนได้วาดมโนภาพขึ้นทีละน้อยจนแจ่มชัดเป็นตัวโนรี แต่ในเวลานั้นก็ยังตรองพล็อตทั้งหมดไม่ตก นอกจากมีเพียงเค้าโครงที่วาดเอาไว้ ตราบจน คุณศรี ชัยพฤกษ์ มาขอให้เขียนนิยายลงใน บางกอก และรับอาสาเป็นพี่เลี้ยงให้ผู้เขียน ซึ่งไม่เคยเขียนเรื่องยาวได้สำเร็จ อิงอร จึงจับตัว ‘โนรี’ ในความคิดที่เก็บไว้หลายปีมาเขียนอีกครั้ง และด้วยเหตุผลที่คุณศรี ชัยพฤกษ์ ทั้งยกยอและแหย่ โดยไม่อาจปฏิเสธว่า

“คุณเป็นนักประพันธ์มีชื่อ คนรู้จักทั่วเมือง ทำอะไรได้สารพัด เขียนเรื่องสั้น เขียนละคร เขียนหนัง เขียนเพลง เขียนกลอน ตอบปัญหาชีวิต เขียนคอลัมน์ ทำอะไรก็ได้ เขียนนวนิยายเรื่องยาวแท้ๆ สักเรื่อง ไม่ได้ ก็อย่าให้คนเขาเรียกว่านักประพันธ์ต่อไปอีกเลย คุณอิงอร”

นั่นเอง จึงเป็นที่มาของนวนิยายขนาดยาวเรื่องแรก และอาจจะเป็นเรื่องเดียวของอิงอร นักประพันธ์เจ้าของฉายาปากกาจุ่มน้ำผึ้งผู้นี้ครับ

โนรี เด็กสาวกำพร้าที่ถูกเลี้ยงมาในสถานสงเคราะห์แห่งหนึ่ง เมื่อเติบโตขึ้น ด้วยความสวยโสภา ทำให้เธอมีโอกาสได้พบกับ นายบรรเจิด ปัทมาภรณ์ นักธุรกิจใหญ่ มหาเศรษฐีเพลย์บอย ที่ปรารถนาจะครอบครองตัวเธอ ทั้งส่งเข้าประกวดนางงามจนได้รางวัล แต่โนรีก็ขอร้องเขา เพราะหล่อนต้องการจะเรียนต่อ จนนายบรรเจิดส่งเสียให้ เธอได้ไปศึกษาวิชาการที่ต่างประเทศจนจบกลับมา…

แต่เด็กสาวผู้เป็นไม่ต่างกับนกน้อยในกรงทอง ก็รู้ว่าเธอเองไม่อาจจะเป็นนางบำเรอให้กับ บรรเจิดได้ทันที เมื่อเห็นประกาศรับสมัครคนงานในไร่รวงผึ้งที่ปากช่องของ นกุล สุรมิตร เธอจึงตัดสินใจเขียนจดหมายไปสมัครทั้งที่ไม่ได้เรียนจบทางด้านการเกษตร และไม่ได้เป็นผู้ชายตามความต้องการของนกุลเลยแม้แต่น้อย

นกุล หนุ่มใหญ่วัยสี่สิบผู้ที่ผ่านประสบการณ์ชีวิตมาอย่างโชกโชน เขาตัดสินใจลาออกจากงานกงสุลของกระทรวงการต่างประเทศ และภายหลังจากเลิกรากับปาหนัน ภรรยาสาวที่อาศัยอยู่ปีนัง โดยมีเท็ดดี หรือกรวิก เด็กชายผู้เป็นทายาทเพียงคนเดียวอาศัยอยู่กับปาหนันที่ปีนัง

นกุลเลือกมาใช้ชีวิตอย่างสมถะภายในไร่แห่งนี้

เขาประหลาดใจไม่น้อย เมื่อเห็นจดหมายของหญิงสาวเขียนมาสมัครงาน และเมื่อมีโอกาสได้พบกัน ความประทับใจและความสงสารที่มีต่อโนรี ทำให้เขารับหล่อนมาอยู่ที่ไร่รวงผึ้ง แม้จะไม่ใช่ตำแหน่งคนงานอย่างที่คิดไว้แต่แรก ระหว่างการเดินทางพาสาวน้อยโนรี มายังไร่รวงผึ้งนั่นเอง เขาจึงรู้ความจริงว่า หล่อนหนีการไล่ล่าจากไอ้มิ่ง สมุนของเสี่ยบรรเจิดที่ตามมาเพื่อพาหล่อนกลับไป แต่ด้วยความเป็นสุภาพบุรุษ นกุลช่วยเหลือจนสามารถพาโนรีหลบสมุนของเสี่ยบรรเจิดจนมาถึงไร่รวงผึ้งได้สำเร็จ

ชีวิตในไร่รวงผึ้ง โนรีได้รู้จักสมาชิกคนอื่นๆ ภายในไร่ที่เปี่ยมด้วยไมตรีจิต โดยเฉพาะป้าเพิ่ม หญิงชราที่เป็นแม่บ้านที่ให้ความเอ็นดูไม่ต่างโนรีเป็นลูกหลานคนหนึ่ง หญิงสาวยิ่งรู้สึกรักและผูกพันกับที่นี่ ตราบจนกระทั่งไอ้มิ่งสืบรู้ว่าโนรีมาอาศัยอยู่ที่นี มันจึงตามมาราวีอีกครั้ง แต่คราวนี้ มันได้รับการสั่งสอนจากนกุล จนต้องล่าถอยไป

นกุลเริ่มมีความรู้สึกผูกพัน เป็นห่วงเป็นใยโนรี เช่นเดียวกับที่เด็กสาวมีความรู้สึกดีๆ ต่อเขา ในระหว่างที่ดอกรักกำลังเริ่มผลิบาน กรวิก หรือเท็ดดี้ก็ปรากฏตัวขึ้น เด็กชายตัวน้อยหนีออกจากบ้านที่ปีนังเพื่อมาตามหาบิดา เขาอยู่กับมารดาหรือปาหนันด้วยความว้าเหว่ ปาหนันเองก็กำลังคบหากับวิโรจน์ชายหนุ่มคนใหม่ แทบไม่มีเวลาจะให้ความรักและความอบอุ่นกับเขา เมื่อมาพบกับโนรีซึ่งให้ความรักความเอ็นดู กรวิกจึงติดใจโนรี และมีความสุขกับการใช้ชีวิตในไร่รวงผึ้งแห่งนี้

ปาหนันกำลังตัดสินใจว่าหล่อนจะแต่งงานใหม่กับวิโรจน์หรือจะกลับมาคืนดีกับนกุลดี ในเมื่อพี่แดงหรือสาคร ภรรยาของ พลโทกรรณ สุรมิตร พี่ชายนกุลเอง ก็สนับสนุนให้หล่อนกลับมาอยู่ร่วมกันกับนกุลอีกครั้ง ปาหนันจึงเดินทางจากปีนังมายังไร่รวงผึ้ง เพื่อตามหาเท็ดดี้ และปรับความเข้าใจกับนกุล

โนรีมองเห็นภาพของสามคนพ่อแม่ลูกอยู่ร่วมกัน เด็กสาวแม้จะรักนกุลมากสักเพียงใด แต่เธอก็ไม่อยากจะให้เท็ดดี้ต้องกำพร้าพ่อหรือแม่ไปเหมือนเช่นที่เธอเองก็เคยประสบมาแล้ว ความรักที่โนรีมีให้กับนกุลจึงเป็นความรักที่เสียสละ และยอมเจ็บปวดเพียงคนเดียว โดยไม่ต้องการให้คนอื่นต้องมาร่วมรับรู้ในความเจ็บปวดนั้น เด็กสาวตัดสินใจหนีออกจากไร่รวงผึ้งอันแสนอบอุ่นมา ด้วยหัวใจที่แหลกสลาย

หล่อนพบกับแม่ชีภัทรา ระหว่างการเดินทางร่อนเร่อย่างไร้จุดหมาย แม่ชีชวนให้เธอมาพำนักที่อาศรมและโนรีก็คิดว่าเธออาจจะบวชตลอดชีวิต หากแต่แม่ชี ซึ่งผ่านโลกมามากและเข้าใจ ได้ขอร้องให้เธอลองใช้ชีวิตปฏิบัติธรรมที่นี่ดูก่อน และภายหลัง เมื่อโนรีเริ่มเข้าใจมากขึ้น หญิงสาวจึงตัดสินใจออกเผชิญโลกภายนอกอีกครั้งด้วยหัวใจที่เข้มแข็งขึ้น

หล่อนไปยังสำนักจัดหางาน และได้มีโอกาสพบกับ คุณหญิงมานะศรี มานะเสวี ซึ่งกำลังจะหาเลขานุการของเธอพอดี น่าประหลาดที่ใบหน้าของโนรีกับคุณหญิงมานะศรีมีส่วนคล้ายคลึงกันมาก คุณหญิงให้ความเอ็นดูเธอ และพาออกงานสังคมต่างๆ ทำให้โนรีได้มาเป็นดาวเด่นในแวดวงสังคม โดยเฉพาะการแสดงละครการกุศลเรื่อง โรมิโอกับจูเลียต ที่เธอต้องรับบทจูเลียตคู่กับ หมออรรถ คุณหมอแสนดีที่มีท่าทีชอบพอเธออย่างเห็นได้ชัด

แต่โนรีก็ให้ความสนิทสนมกับนายแพทย์หนุ่มเพียงแค่พี่ชายที่แสนดี ในระหว่างช่วงเวลานั้นเอง ที่เธอมีโอกาสได้พากลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติไปล่องเรือในแม่น้ำเจ้าพระยา และเกิดอุบัติเหตุ เรือของนายอรชุน เจ้าของโรงงานเบียร์มาชนจนเรือล่ม โนรีได้ช่วยชีวิตของเขาเอาไว้ ทำให้อรชุนประทับใจในตัวเธอยิ่งนัก

 

ตาของเขาบอกว่า

ภายนอกห้องแสงแดดกำลังสาดส่องแจ่มจ้าทั่วไปในท้องฟ้าอันสดใส มันเป็นเวลากลางวันอย่างไม่มีปัญหา แต่ภายในห้องทำไมมันจึงเป็นกลางคืน มีเดือนเพ็ญดวงหนึ่งฉายแสงนวลใย เย็นตาเย็นใจสุดที่จะหาเดือนดวงไหนมาเปรียบปาน

 เดือนดวงนี้มีดาวนิลฝังอยู่สองดวง ส่งแสงกะพริบระยิบระยับภายใต้ขอบโค้งคันธนูสีดำ มีกลีบกาบบัวอันละเอียดสองกลีบประกบกันเป็นปาก และปากรูปกาบบัวประกบคู่นั้นมองดูเหมือนจะเผยอแย้มพอเห็นฟันสีขาวงามเหมือนมุก ซึ่งเรียงรายอยู่ภายในนิดๆ

ยิ่งพิศก็ยิ่งเพลิน…

รูป อิงอร ฝีมือเตรียม ชาชุมพร

คุณหญิงมานะศรีต้องการความแน่ใจบางอย่าง เธอเดินทางกลับไปยังสถานสงเคราะห์เด็กแห่งหนึ่ง แล้วสอบถามเกี่ยวกับที่มาและชาติกำเนิดของโนรีจึงได้ทราบความจริงที่ชัดเจน เด็กสาวคนนั้นก็คือลูกสาวของเธอเอง!

ในอดีต เธอเคยพลาดพลั้งกับชายหนุ่มคู่รักคนหนึ่งจนตั้งครรภ์ และด้วยความเยาว์เดียงสา ทำให้เธอต้องแอบไปคลอดลูกที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่ง โดยทิ้งเด็กคนนั้นเอาไว้ที่โรงพยาบาล แม้ในภายหลังจะสำนึกผิดและตามหา แต่ก็ไม่มีโอกาสที่จะได้พานพบ จนได้มาเจอกับโนรีในอีกสิบแปดปีต่อมาโดยไม่คาดฝัน และชีวิตของเธอกับชายคนนั้นก็แยกไปคนละทางแล้ว

ชายผู้นั้นที่เป็นบิดาของโนรีก็คือ นายบรรเจิด ปัทมาภรณ์ ที่เคยรับอุปการะโนรีมาก่อนนั่นเอง!

ความโทมนัสและสติที่หลุดลอย ทำให้เธอเกิดอุบัติเหตุขับรถชน และต้องเข้าโรงพยาบาล ระหว่างที่ทุกคนมาเยี่ยมนั่นเอง พลโทกรรณ ซึ่งเป็นสหายของคุณหญิงก็มาเยี่ยมด้วย เขาพานกุล ซึ่งเดินทางมากรุงเทพฯ ให้มาเป็นเพื่อนโดยบังเอิญ บัดนี้นกุลกับกับปาหนันได้แยกทางกันแล้ว เขารู้ตัวเองว่าไม่อาจจะย้อนกลับไปใช้ชีวิตกับหล่อนได้ ปาหนันรักกับวิโรจน์มาก่อน ในขณะที่เท็ดดี้เอง ก็ตัดสินใจอยู่เมืองไทยกับเขา บัดนี้นกุลเหลือเพียงแต่ร่างกาย แต่หัวใจหลุดหายไปพร้อมกับการจากไปของโนรี นกน้อยแสนโสภาของเขาตั้งแต่บัดนั้นแล้ว

โดยไม่คาดฝัน เมื่อเขาได้พบกับโนรี ในขณะที่โนรี ก็ได้รับรู้ความจริงอันเจ็บปวดทั้งพ่อและแม่ที่แท้จริงของตัวเอง แต่ด้วยจิตใจที่บริสุทธิ์ หล่อนให้อภัยต่อความผิดพลาดที่เคยเกิดขึ้นทั้งหมด

นกุล คิดว่าเขาจะไม่ยอมพรากจากโนรี ไปอีกแล้ว ในเมื่อทั้งเขาและเธอต่างมีหัวใจที่ตรงกัน เขาให้พลโทกรรณ พี่ชาย มาสู่ขอเธอต่อคุณหญิงมานะศรี และพาโนรียอดรักให้กลับคืนสู่ไร่รวงผึ้งอันแสนอบอุ่นและอ่อนหวานนั้นอีกครั้ง

เขากอดประทับ รับขวัญภรรยาอย่างสุดแสนเสน่หา

“อย่าหนีพี่ไปอีกนะ”

กลิ่นน้ำหวานในรวงผึ้งบนยอดไม้ ยิ่งหอมอบอวลรัญจวนใจ หอมหวานยิ่งกว่าดอกไม้ป่าใดๆ กลิ่นน้ำผึ้งที่อบอาบด้วยแสงจันทร์ และพรมด้วยน้ำค้างบริสุทธิ์กลางหาว ในฤดูหนาว

น้ำผึ้งจากพระจันทร์!

 

ตอนท้ายเรื่อง อิงอรได้บอกกับผู้อ่านว่า นิยายเรื่องนี้จบได้อย่างลำบากเหลือเกินที่จะทำให้จบอย่างแนบเนียน นุ่มนวล ไม่กระทบกระเทือนความรู้สึกผู้เขียนและผู้อ่าน เมื่อลูกรู้ว่าผู้ที่ตัวเองหนีให้พ้นจากพันธะผูกมัดนั้นคือผู้ให้กำเนิด

ผู้เขียนเอง จบ โนรี ลงอย่างไม่สู้จะดีนัก เมื่อลงในนิตยสารรายสัปดาห์ บางกอก เนื่องจากผู้เขียนมีธุระต้องเดินทางก่อนจะเขียนตอนจบที่เหลืออีกสองตอน จึงใช้เวลาเพียงสามชั่วโมงรวบรัดลงอย่างจำใจจบ

ซึ่งก็ได้ผล ผู้อ่านซึ่งไม่มีสัญญาณเตือนล่วงหน้าให้รู้ตัว สะดุ้งเหมือนนั่งรถที่วิ่งเร็ว แล้วถูกห้ามล้อ บ่นกันพึมพำไปว่าทำไมจบอย่างนั้น?

ดังนั้น เมื่อเก็บ โนรี ไว้กว่าสองปี ในตอนรวมเล่มครั้งนี้ จึงเปลี่ยนรายละเอียดตอนท้าย โดยไม่ยอมให้บรรเจิดได้พบกับโนรี แต่เปลี่ยนวิธีการจบใหม่ โดยให้คุณหญิงมานะศรีและโนรีรับรู้ความจริงแต่เก็บความลับนั้นเอาไว้ โดยไม่ให้นายบรรเจิดได้ล่วงรู้ เป็นการจบใหม่ ห้ามล้อ ลดความเร็วลง ก่อนรถจะหยุดกึก

และท้ายที่สุดนี้ อิงอรได้ขออุทิศสาระของ โนรี ให้แก่เด็กกำพร้าผู้ถูกทอดทิ้งทุกแห่งหนและทุกคน

ใบปิดภาพยนตร์ โนรี

เรื่อง : โนรี

ผู้ขียน : อิงอร

สำนักพิมพ์ : แพร่พิทยา

ปีที่พิมพ์ : 2509

เล่มเดียวจบ

สำหรับนวนิยายเรื่องนี้ได้นำไปสร้างเป็นภาพยนตร์ในปี พ.ศ. 2510 นำแสดงโดยคู่ขวัญแห่งยุค มิตร ชัยบัญชา และ เพชรา เชาวราษฏร์ ร่วมด้วย อดุลย์ ดุลยรัตน์, ชนะ ศรีอุบล และบุศรา นฤมิตร กำกับการแสดงโดย ‘พันคำ’ ซึ่งโปสเตอร์ภาพยนตร์เรื่องนี้ อ้างอิงมาจากเว็บไซต์ ‘ไทยบันเทิง’ ครับ

ป.ล. สำหรับรูปประกอบของ ‘อิงอร’ นั้น ได้มาจากบทความในนิตยสาร ถนนหนังสือ ปีที่ 4 ฉบับที่ 7 มกราคม 2530 ครับ

และนอกจากนี้ ในตอนท้ายเล่มของ โนรี ผมพบว่ามีโฆษณาผลงานของอิงอรที่จะออกตามมากับสำนักพิมพ์แพร่พิทยา คือ รวมนิยายรักของอิงอรจำนวนสามเล่ม และนวนิยายที่ชื่อ สองแผ่นดิน โดยกล่าวโฆษณาไว้แต่เพียงว่าเป็นนิยายรัก ความสัมพันธ์ระหว่าง ไทย-พม่า ซึ่ง ผมยังไม่เคยเห็นนวนิยายเรื่องนี้เลยครับ ถ้าหากผู้อ่านท่านใดพอทราบรายละเอียดหรือข้อมูลเพิ่มเติม ก็จะเป็นพระคุณอย่างยิ่ง

Don`t copy text!