เราลิขิต บนหลุมศพวาสิฏฐี

เราลิขิต บนหลุมศพวาสิฏฐี

โดย : หมอกมุงเมือง

Loading

บรรณาภิรมย์ โดย หมอกมุงเมือง คอลัมน์ที่อ่านเอาขอมอบความรื่นรมย์ให้กับผู้อ่านด้วยภาพปกสวยๆ และเนื้อเรื่องในแบบต่างๆ ของนักเขียนชั้นครูที่เคยผ่านมือ ผ่านตาและผ่านใจ เพื่อให้ทุกคนได้ร่วมรำลึกถึงผลงานของนักเขียนแต่ละท่านให้พอหายคิดถึงแม้เวลาจะผ่านไปแล้วเนิ่นนาน ภาพและตัวอักษรจะปรากฏให้เห็นอีกครั้งในยุคของการอ่านออนไลน์

****************************  

หนังสือเล่มนี้โปรยปกว่า ‘เป็นหนังสือดีหนึ่งในร้อยเล่มที่คนไทยควรอ่าน’ แต่สำหรับผมแล้ว ชื่อของเรื่อง รวมถึงชื่อนักเขียน ร.จันทพิมพะ เป็นชื่อที่สะดุดตา สะดุดใจ จนทำให้หยิบหนังสือเล่มนี้ขึ้นมาอ่านเป็นลำดับแรก

ร.จันทพิมพะ

หลายคนอาจจะคิดว่าชื่อเรื่องนี้ยาวต่อเนื่องกันไปเลยว่า เราลิขิตบนหลุมศพวาสิฏฐี แต่ความจริงแล้ว เราลิขิต เป็นภาคแรกของนิยาย และตามมาด้วย บนหลุมศพวาสิฏฐี ซึ่งเป็นภาคจบของเรื่อง โดยที่มีที่มาจากคำนำใน สยามสมัย เมื่อ พ.ศ. 2494 ว่า

เมื่อสามสี่ปีมาแล้ว เพื่อนสองคนเกิดปวดหัวพร้อมกันเลยเผลอไปสัญญากันไว้ว่าจะเขียนเรื่องด้วยข้อเท็จจริงที่เชื่อถือกันอยู่คนละครึ่ง คนแรกจึงเขียน “เราลิขิต” ขึ้นมา และเสนอต่อประชาชนไปแล้วใน ประชามิตรรายสัปดาห์ พ.ศ. 2490 แต่เพราะคนหลังจะเขียนข้อเท็จจริงอีกครั้งหนึ่ง ในนามเรื่อง บนหลุมศพวาสิฏฐี เรื่อง เราลิขิต จึงจบอย่างกระชากและทิ้งปัญหาสำคัญค้างไว้… จนสี่ปีล่วงไป บนหลุมศพวาสิฏฐี ของ “อิงอร” ก็ยังไม่ปรากฏออกมา ในที่สุดเพราะเสียดายข้อเท็จจริงของเรื่อง ผู้เขียน เราลิขิต จึงนำมาเขียนต่อ และใช้ชื่อภาคจบเป็น บนหลุมศพวาสิฏฐี ตามชื่อเรื่องเดิมของ อิงอร นั่นเอง

เรา ดีเราชั่วด้วย                    เราดี ชั่วนอ

ลิขิต โชคชตาชี–                               วิตไว้

เรา และบุรพกรรมมี                          มือร่วม ลิขิตเพื่อน

ลิขิต ชั่วดีใช้                                   โชคนั้นตามสนอง แน่แล

สำหรับฉากแรกของ ‘เราลิขิต’ เริ่มต้นขึ้นที่แหลมเหลือ จังหวัดพะเยา ในช่วงเหตุการณ์สงครามโลก เมื่อชีวิตของชายหนุ่มหญิงสาวสามคนที่ต้องเดินทางมาอาศัยหลบภัยหลังกรุงเทพฯ ถูกบอมบ์อย่างหนัก

วิชัย เชาวรัตน์ ข้าราชการหนุ่ม ลูกชายนางจำรัส ซึ่งเป็นป้าของ จิตรี รัถการ และ กานดา ดิเรกกุล ลูกสาวของนายผดุง พี่เขยของจิตรี ทั้งสามคน ได้มาอยู่ที่นี่เป็นเวลากว่าสองปีเศษ ในเวลานั้นเองที่สร้างความผูกพันให้กับวิชัยและกานดา ที่ต่างสายเลือดกันโดยไม่รู้ตัว กานดาผู้เรียบร้อยและอ่อนโยนดูเหมือนจะตกอยู่ใต้บงการต่างๆ ของวิชัย โดยไม่เคยปริปากอุทธรณ์ใดๆ ในขณะที่จิตรีก็สนิทสนมกับวิชัยเช่นกัน แต่ความรู้สึกของทั้งคู่ก็ไม่ต่างกับเป็นพี่ชายและน้องสาว

ในคืนวันหนึ่งก่อนสิ้นสุดสงครามและวิชัยจะย้ายกลับมากรุงเทพฯ นั่นเอง เมื่อจิตรีออกมาเดินเล่นอยู่ที่ชายหาดแหลมเหลือ และได้พบกับชายปริศนาคนหนึ่ง โดยทั้งคู่ได้ประคารมกัน เขาถามว่าหล่อนสูบบุหรี่หรือไม่ และหญิงสาวก็เอ่ยปฏิเสธเสียงแข็ง ก่อนที่เครื่องบินฝ่ายข้าศึกจะบินโฉบเข้ามาใกล้ จนทำให้เขาได้ใกล้ชิดกับแม่กุหลาบสาวเมืองพะเยาผู้นี้ และจากนั้นหล่อนก็รีบผละไป จิตรีจดจำได้เพียงไฝสีดำที่หางคิ้วขวาของเขา และชายปริศนาเองก็พบหลักฐานบางอย่างตกอยู่ภายหลังจากที่หล่อนจากไปแล้ว

มันคือซองบุหรี่เกล็ดทองหลายซอง ตกอยู่ในบริเวณนั้น

เวลาผ่านไป เมื่อทั้งสามคนกลับมายังกรุงเทพฯ โดยมาอาศัยอยู่บ้านนางจรวย พี่สาวจิตรีที่แต่งกับนายผดุง ยังซอยสามบ้านย่านพญาไท กานดากลับมาเป็นครู ขณะที่จิตรีกลับไปเรียนต่อ แต่ด้วยนิสัยรักอิสระของหล่อนทำให้รีไทร์และไปทำงานที่ธนาคารของหลวงธนกิจ สหายของนายผดุงพี่เขย ตราบจนกระทั่งในวันหนึ่ง เมื่อวิชัยแอบได้ยินความลับบางอย่างระหว่างจิตรีและจรวยโดยบังเอิญ

หล่อนแอบยักยอกเงินในธนาคารไปจำนวนก้อนหนึ่งโดยไม่ยอมบอกเหตุผล และจรวยรู้เรื่องนี้เข้า แม้จะพยายามคาดคั้นเพียงใดจิตรีก็ไม่ยอมปริปาก จนเธอเกิดโทสะและเผยความจริงว่า จิตรีไม่ใช่น้องแท้ๆ ของตน แต่เกิดจากมารดาที่เป็นเมียลับของคุณพ่อเท่านั้น!

จิตรีเสียใจ และกลายเป็นปมติดในใจเธอมาตั้งแต่บัดนั้น

ในเวลาเดียวกับที่เผด็จ น้องชายของผดุง เดินทางกลับมาจากสิงคโปร์ เขาเป็นตัวแทนคลังสินค้าในยุโรปและเดินทางไปหลายประเทศ และเพิ่งกลับมาถึงเมืองไทย พลันเมื่อจิตรีได้พบกับเขา หล่อนก็ตกตะลึง เพราะจดจำรอยไฝเหนือคิ้วขวาของชายปริศนาผู้นั้นได้ หรือว่าเขาคนนั้นก็คืออาเผด็จ?

ดูเหมือนเผด็จจะกำความลับบางอย่างของเธอเอาไว้ และล่วงรู้ถึงเหตุผลที่เธอยักยอกเงินจากธนาคารของหลวงธนกิจ จนต้องลาออกนั้นอีกด้วย เมื่อเขาสังเกตอากัปกิริยาของเธอ ภายหลังจากล่วงรู้ข่าวของ พันตรีตะวัน วงศ์วิโรจน์ เขาคือเจ้าของซองบุหรี่เกล็ดทองที่ทำหล่นเอาไว้ริมกว๊านของแหลมเหลือในคืนวันนั้นเอง

จิตรีมีความสัมพันธ์ลึกซึ้งกับตะวันโดยไม่มีผู้ใดล่วงรู้ ตราบจนเขามีความจำเป็นต้องใช้เงิน และต่อมาหล่อนก็ทราบว่าเขาเดินทางไปศึกษาต่อที่ประเทศอังกฤษ โดยไม่ได้ส่งข่าวคราวใดๆ ให้หล่อนรับรู้เลยสักนิด ทั้งที่ในเวลาก่อนหน้าต่างสัญญาต่อกันไว้ว่าจะแต่งงานใช้ชีวิตร่วมกัน

ในจังหวะที่เผด็จเข้ามานั้นเอง เขายื่นมือเข้ามาเพื่อช่วยเหลือดึงหล่อนให้พ้นจากห้วงแห่งความผิดหวัง เขาชดใช้หนี้สินที่หล่อนติดหนี้กับทางธนาคารจนหมดสิ้น และทำให้จิตรีตัดสินใจที่ใช้ชีวิตร่วมกับเขาในที่สุด

หล่อนจึงจวนเจียนจะดับสูญเสีย เพราะรสแสลงหลายประการซึ่งกลัวอยู่กับรักและชีวิตวันนี้ รสแสลงในรักและชีวิตก็เหมือนรสแสลงซึ่งกลั้วอยู่กับเหล้า บางรสขื่นขมคล้ายยา บ้างก็เป็นมธุรสแก่ลิ้นเหลือเกิน แต่ถึงเหล้าจะอุดมด้วยรสหวานแค่ไหน แสดงแก่บุคคลแค่ไหน เหล้าก็เป็นสิ่งเสพย์ติดและทำให้คนดื่มมึนเมาเท่านั้น

ก็ความรักและชีวิตมิใช่สิ่งซึ่งทำให้บุคคลผู้เกลือกกลั้วกับมันมึนเมาเหมือนกันหรือ? และบุคคลมิได้ลุ่มหลงพะวงชีวิตและความรักอย่างหมกมุ่นเหมือนกันหรือ?

แต่แล้ว… ภายหลังจากใช้ชีวิตคู่ร่วมกับเขาได้เพียงสองเดือน จิตรีก็ได้พบจดหมายฉบับสำคัญที่เผด็จแอบเก็บซ่อนเอาไว้ มันเป็นจดหมายที่ตะวันส่งมาถึงหล่อนในวันแต่งงานพอดี เขาขอให้เธอรอคอยเขาเป็นเวลาสองปี เมื่อกลับมาจากอังกฤษแล้วเขาจะแต่งงานกับเธอ

แต่เมื่อจรวยพี่สาวของเธอได้อ่านมันแล้ว ก็ตัดสินใจส่งต่อให้กับเผด็จ เพราะเธอเองไม่อยากจะให้ความรักความหลังของจิตรีมาทำลายความหวังและชีวิตในปัจจุบัน

หล่อนคิดว่าหล่อนเสียคู่รักคนแรกเพราะความทรยศอย่างเดียว หล่อนก็หาคู่รักและสามีได้ด้วยการขวนขวายของตนเอง หล่อนเสียศักดิ์สกุลตลอดจนเกียรติยศอย่างนั้น หล่อนก็ยังสามารถมีได้อีก ทั้งนี้เพราะหล่อนได้ลิขิตโชคชาตาตนเอง ลงไปบนรอยลิขิตของพหรม ซึ่งเปรอะเปื้อนไปแล้ว

จิตรีคือพรหมผู้ใหญ่ยิ่ง!

ความสามารถและความอดทนทุกอย่างของจิตรี จึงทรงตัวอยู่ได้ด้วยความหยิ่งผยองอย่างเดียว ความเย่อหยิ่งย่อมนำไปสู่ความประมาทและความประมาทคือความตายตามคติของพระบรมศาสดาโดยแท้!

ทั้งคู่มีปากเสียงกันรุนแรง และเผด็จก็ยิ่งทำร้ายหัวใจของเธอมากขึ้นเมื่อเขาบอกเธอว่า เขาเองก็แต่งงานกับหญิงสาวอังกฤษชื่อ เอลิซาเบ็ธ เบิร์น แล้วเช่นกัน และเผด็จก็คือชายปริศนาที่เธอได้พบที่แหลมเหลือ กว๊านพะเยา ในคืนนั้นนั่นเอง

ทุกอย่างผิดไปจากความคาดหวังของจิตรี สิ่งที่คิดว่าได้ลิขิตด้วยตัวเองกลายเป็นชนักที่ยื่นออกมาทำร้ายอย่างบาดเจ็บสาหัส จิตรีรู้สึกถึงความเจ็บปวดที่เกิดขึ้นอีกครั้ง เมื่อรับรู้ว่าตนเองตั้งครรภ์!

และหล่อนก็ตัดสินใจที่จะกินยาเพื่อทำลายทารกในครรภ์ผู้นั้นด้วยมือตัวเอง!

แต่จิตรีรู้ว่า ชีวิตใหม่นั้นเป็นเพียงผลกรรมที่เกิดจากการลิขิตอันโง่เขลาของหล่อนเอง มันจะเป็นพันธะสมรสอย่างไรได้ ในเมื่อมันเกิดมาโดยหล่อนไม่ปรารถนาหรือรู้ตัวแต่สักนิด…

มันเกิดมาจากความใคร่ของชายกับหญิงอย่างเดียว เหตุใดมันจึงจะมีสิทธิผูกพันหล่อนกับเผด็จได้เล่า?

หากก่อนที่หล่อนจะกระทำการบรรลุนั้นเอง เผด็จได้เข้ามาขัดขวางเอาไว้ได้ทันเขาขอให้หล่อนเก็บลูกในครรภ์นั้นเอาไว้ และในช่วงเวลาเดียวกันนั้นก็มีเหตุการณ์สำคัญของบ้านเมืองเกิดขึ้นพอดี เมื่อสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลได้เสด็จสวรรคต!

ปกพิมพ์ครั้งที่ 2

เรื่องราวใน เราลิขิต จบลงเพียงเท่านี้ แต่ในเวลาต่อมา ร.จันทพิมพะ ก็ได้เขียนภาคต่อ อันเป็นภาคจบของเรื่อง มีชื่อว่า ‘บนหลุมศพวาสิฎฐี’

นิยายเรื่องนี้ซึ่งเป็นเรื่องราวต่อเนื่องกัน แต่บทบาทสำคัญของเรื่องจะเป็นชีวิตของ คุณครูกานดา ดิเรกกุล หญิงสาวผู้เรียบร้อยอ่อนหวาน กับ วิชัย เชาวลักษณ์ ที่ไม่เคยเห็นคุณค่าความรักของเธอเลย โดยมีตัวแปรสำคัญปรากฏขึ้น ทั้ง พันตรีตะวัน วงศ์วิโรจน์ อดีตเพื่อนเก่าและอดีตคนรักของจิตรี ที่บัดนี้เดินทางกลับมาจากอังกฤษ และทวงถามความรักที่เคยมีต่อจิตรีอีกครั้ง ขณะที่ มีชายหนุ่มอย่างเด่นแสงเข้ามาพัวพันกับชีวิตของกานดา จนทำให้เธอต้องแปรเปลี่ยนไป

เพราะว่าความรักของวิชัยนั้น

เขารักหล่อนเพียงไร ยิ่งอยากแสดงว่าเขามีอำนาจเหนือกานดาโดยสมบูรณ์แบบเดิม เมื่อมีวี่แววว่าหล่อนเริ่มหลุดลอยไปจากอำนาจรักอันสมบูรณ์บ้างแล้วและหล่อนเป็นตัวเองอีกด้วย วิชัยก็เกิดความมุมานะอันเหี้ยมเกรียมที่จะหักโหมให้ได้ มิฉะนั้นก็รื้อทำลายทุกสิ่งทุกอย่างให้สุดสิ้นกันเสียเลย ไม่มี “เรา” ลิขิตอยู่ในความรักของผู้ชายแบบวิชัย ความรักที่วิชัยต้องการก็คือ ความรักที่ “เขา” ลิขิต คนเดียว!

แต่ความรักสำหรับกานดานั้น

หญิงย่อมเดินไปสู่ปลายทางที่เหมือนหลุมฝังศพอันมืดมัวเหมือนกัน เพระมีความรัก ความผิดหวัง ความพลัดพรากและน้ำตาอันเกิดจากการถูกทรยศเสมอเหมือนวาสิฎฐีของกามนิต ซึ่งเชื่อถือตามกาลสมัยว่า ชีวิตรักของหล่อนเป็นไปตามรอยลิขิตของพรหม ต้องผิดหวังและทนทรมานใช้ชาติเสียชาติหนึ่งอยู่ในความทุกข์เข็ญคนเดียว

เป็นดังนี้ เพราะวิสัยหญิงย่อมปล่อยตัวให้ถูกสิงสู่ด้วยภูตผีแห่งความทรงจำจากอดีต

กานดาผู้ผูกพันกับวิชัยและจิตรีมาตั้งแต่เยาว์วัย วิชัยผู้เคยช่วยเหลือปกป้องเธอ และทำให้เธอยอมทำทุกอย่างเพื่อเขา แม้แต่การพลีร่างกายสนองความต้องการในห้วงเวลาหนึ่ง จนถูกจิตรีตำหนิ แต่กานดาก็มีเหตุผลของเธอเอง

“คนเราอาจจะเสียสละให้แก่กันก็ได้และชดใช้กันได้ แม้ที่สุดจะถูกโกงจนหมดแล้ว เราก็อาจเอาคืนสักวันหนึ่ง แต่ร่างกายเรา ความบริสุทธิ์ของเราและเกียรติยศผู้หญิงของเรา ถ้าลงได้ปล่อยปละไปแล้วก็เหมือนสูญเปล่าไปหมด ไม่มีวันจะได้ทดแทนทั้งสิ้น”

“ถ้าสละให้ชายคนรัก หรือ… หรือผัว ผู้หญิงธรรมดาก็ไม่คิดถึงเรื่องเสียเปล่าหรือการทดแทนทั้งสิ้น

และเมื่อมีวันวิภา สาวน้อยลูกสาวคุณนายประภา เป็นตัวแปรแทรกเข้ามาในชีวิตของทั้งคู่ด้วยการสนับสนุนของผู้ใหญ่จนทั้งคู่แต่งงานกันและกานดาไม่ล่วงรู้ในเรื่องนี้เลยแม้แต่น้อย เวลานั้นวิชัยเองก็กำลังกลัดกลุ้มกับการเข้าไปช่วยเหลือญาติพี่น้อง จนติดค้างหนี้สินเป็นจำนวนมหาศาล กานดาซึ่งเข้าใจว่าตนเองสามารถช่วยเหลือชายที่หล่อนรัก จึงยอมนำที่ดินของเธอมาค้ำประกันให้ หากทำให้วิชัยเข้าใจผิด ว่าหล่อน ต้องการ ‘ซื้อตัว’ ของเขาจากวันวิภา ไม่ต่างกับที่เผด็จ เคยใช้เงินซื้อตัวจิตรีมาแล้ว กลายเป็นเกิดความร้าวฉานขึ้นระหว่างคนทั้งคู่

จิตรีเอง บัดนี้ครรภ์แก่ใกล้จะคลอดลูกทุกขณะ… ลูกที่หล่อนคิดว่าไม่ใช่เกิดจากความรักของตนกับเผด็จ และกว่าที่ทั้งคู่จะปรับความเข้าใจกันได้ เธอก็เกือบจะต้องสูญเสียทารกน้อยนามเด็กหญิงเต็มดวงไปอย่างไม่มีวันกลับ เมื่อกานดาพาเด็กทารกน้อยหนีไปกับตนเอง ในขณะที่ กานดาเจ็บปวดกับความจริงว่า หล่อนเป็นเพียงเมียน้อยของวิชัย…

ทุกคนตามตัวไปจนพบ กานดาล้มเจ็บลงด้วยพิษไข้และอาการปอดบวมขณะที่เด็กปลอดภัย หล่อนเสียชีวิตในเวลาต่อมา โดยที่ไม่มีโอกาสล่วงรู้ถึงความรู้สึกที่แท้จริงของวิชัย

และนำไปสู่โศกนาฏกรรมแห่งความรักของกานดา ผู้เปรียบเสมือนนางวาสิฎฐีตามความคิดของวิชัย วาสิฎฐีที่ตายไปทั้งที่ไม่ได้พบกับกามนิตในโลกอีกเลย!

ปกพิมพ์ 2547

เรื่อง : เราลิขิต บนหลุมศพวาสิฏฐี

ผู้เขียน : ร.จันทพิมพะ

สำนักพิมพ์ : แพร่พิทยา

ปีที่พิมพ์ : 2514

เล่มเดียวจบ

สำหรับประวัติคร่าวๆ ของ ร.จันทพิมพะ จากข้อมูลหลังปก เราลิขิต บนหลุมศพวาสิฏฐีฉบับพิมพ์ 2545 และข้อมูลในวิกิพีเดีย พอสรุปได้ว่า

ร.จันทพิมพะ ชื่อเดิมว่า เริ่ม แล้วเปลี่ยนเป็น รวงทอง ท่านเป็นบุตรีคนที่สองของ อำมาตย์โทพระประจำคติ (บัวรส จันทพิมพะ)กับนางประจำคดี เกิดเมื่อ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2452 ที่จังหวัดขอนแก่น เริ่มเขียนงานบทร้อยกรองและร้อยแก้วมาตั้งแต่สมัยเป็นนักเรียน เรื่องแรกที่เธอเขียนมีชื่อว่า อวสานสวนกุหลาบ ได้ลงพิมพ์ในหนังสือของโรงเรียนที่เธอเป็นครูอยู่ ต่อมาได้ลงพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ ประชามิตร-สุภาพบุรุษ ก่อนจะรวมเล่มในเวลาต่อมา ร.จันทพิมพะ ถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2497 ขณะมีอายุได้ 45 ปี

วิทยากร เชียงกูร ได้เขียนบทความไว้ว่า ร.จันทพิมพะ เป็นนักเขียนหญิงที่มีผลงานเด่นในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่เกือบจะถูกลืมไป อาจจะเป็นเพราะเธอเสียชีวิตไปตั้งแต่ปี 2497 โดยไม่มีทายาทหรือเพื่อนฝูงที่สนใจจะนำงานของเธอมาตีพิมพ์ซ้ำ

ร.จันทพิมพะ และหนังสือ

ถ้าจะกล่าวโดยรวมๆ แล้ว ร.จันทพิมพะ เขียนเรื่องสั้นแบบสมัยใหม่ โดยใช้ท่วงทำนองการเขียนแบบตะวันตกมากกว่าการเล่านิทานที่เล่าเรื่องไปเรื่อยๆ แบบไทย เรื่องของเธอมักจะกระชับ มีฉากมีตัวละคร บรรยากาศ บทสนทนาที่ชัดเจน ขณะเดียวกันก็สะท้อนสภาพสังคมชีวิตและสังคมท้องถิ่น ความคิด บทสนทนาของผู้คนในยุคนั้น (พ.ศ. 2492-2495) ได้อย่างดีคือ เป็นนักเขียนที่มีความคิดอ่าน ช่างสังเกต ไม่ใช่แค่นักเล่านิทาน แสน ธรรมยศ ก็เป็นผู้หนึ่งที่เขียนเรื่องสั้นทำนองคล้ายๆ กันนี้

ตัวละครผู้หญิงของ ร.จันทพิมพะ ออกจะมีลักษณะเสรีนิยมหรืออยากลองของใหม่ อยากเผชิญโลกใหม่ ชีวิตแบบใหม่มากกว่าตัวละครของดอกไม้สด ซึ่งเป็นคนรุ่นใกล้ๆ กัน แต่เอาจริงก็เป็นผู้หญิงที่อยากคิดอย่างเสรี มากกว่าที่จะอยากใช้ชีวิตเสรีจริงๆ หลายเรื่องจึงกลายเป็นเรื่องที่ฝ่ายชายเข้าใจฝ่ายหญิงผิด เช่นเรื่อง ‘ม่านดอกไม้’ ‘ทางสุดท้าย’ โดยเธอมักจะอยู่ข้างฝ่ายหญิงหรือให้ความยุติธรรมกับผู้หญิงอยู่เสมอ ซึ่งต่างจากนักเขียนผู้หญิงหัวเก่าบางคนที่ถูกครอบงำจากกระแสคิดหลักที่ยกย่องผู้ชายมากกว่าผู้หญิง

Don`t copy text!