ความมืดแห่งคูหาทอง

ความมืดแห่งคูหาทอง

โดย : หมอกมุงเมือง

Loading

บรรณาภิรมย์ โดย หมอกมุงเมือง คอลัมน์ที่อ่านเอาขอมอบความรื่นรมย์ให้กับผู้อ่านด้วยภาพปกสวยๆ และเนื้อเรื่องในแบบต่างๆ ของนักเขียนชั้นครูที่เคยผ่านมือ ผ่านตาและผ่านใจ เพื่อให้ทุกคนได้ร่วมรำลึกถึงผลงานของนักเขียนแต่ละท่านให้พอหายคิดถึงแม้เวลาจะผ่านไปแล้วเนิ่นนาน ภาพและตัวอักษรจะปรากฏให้เห็นอีกครั้งในยุคของการอ่านออนไลน์

****************************

สนับสนุนอ่านเอาด้วยการสั่งซื้อหนังสือ “ในสวนอักษร” คลิกที่นี่ 

ตอนที่ผมอ่านนิตยสาร สกุลไทย เมื่อหลายปีก่อน ปรากฏชื่อนวนิยาย ‘เสียงแห่งมัชฌิมยาม’ ในนามปากกา สไบเมือง เป็นครั้งแรก โดยที่ตอนนั้นก็ยังไม่รู้ว่าเป็นนามปากกาของนักเขียนหน้าใหม่หรือไม่ แต่ด้วยสำนวนภาษาอันสละสลวยเปี่ยมด้วยจินตนาการ รวมถึงพลอตเรื่องที่พาเราย้อนอดีตไปในสมัยพุทธกาล ทำให้ติดตามอ่านอย่างเพลิดเพลินและชื่นชอบไปจนจบเรื่อง ในเวลานั้นผมอดนึกไปถึงงานเขียนแนวธรรมนิยายอย่าง จอมจักรพรรดิอโศก หรือ พระอานนท์พุทธอนุชา ของ อาจารย์วศิน อินทสระ หรือ เชิงผาหิมพานต์ กองทัพธรรม ของ อาจารย์สุชีพ ปุญญานุภาพ ไม่ได้

ตราบจนเมื่อ เสียงแห่งมัชฌิมยาม จบลงไปแล้ว ‘สไบเมือง’ ก็ได้จรดปากกาเขียน ‘ความมืดแห่งคูหาทอง’ อันเป็นธรรมนิยายเรื่องถัดมาให้ผมติดตามต่อ ด้วยความรู้สึกอิ่มเอมใจจากการอ่าน และจดจำนามปากกานี้ได้เป็นอย่างดี

ภายหลังจากนั้นหลายปี จึงมีโอกาสทราบว่านามปากกาดังกล่าวก็คืออีกหนึ่งนามปากกา ของ คุณกฤษณา อโศกสิน ศิลปินแห่งชาติ และนักเขียนรุ่นครู ผู้มีผลงานหลากหลายมากมายนั่นเอง

สำหรับนวนิยายขนาดสั้นชุดนี้ ท่านได้เขียนขึ้นโดยอิงจากพระปฐมสมโพธิกถา และสะท้อนถึงกิเลสตัณหาของมนุษย์ในการดำเนินชีวิต โดยใช้ศีลทั้งห้าข้อเป็นโจทย์ในการเขียน บังเกิดเป็นธรรมนิยายห้าเรื่อง คือ เสียงแห่งมัชฌิมยาม ความมืดแห่งคูหาทอง ลายแทงในถ้ำแก้ว มายาในวารี ไพรีในเมรัย และ กาฬปักษี  ซึ่งเรื่องนี้แสดงถึงอุปกิเลส 16 ของมนุษย์ ซึ่งในภายหลัง สำนักพิมพ์เพื่อนดี ได้นำมาจัดพิมพ์ใหม่ครบทั้งหกเรื่อง

ความมืดแห่งคูทอง นวนิยายขนาดสั้นเเรื่องที่สองของชุดนี้ เริ่มต้นด้วยฉากการบรรยาย การเสียชีวิตของเศรษฐีปาระแห่งเมืองสาวัตถี โดยใช้การบรรยายฉากธรรมชาติมาประกอบ ด้วยสำนวนภาษาอันวิจิตรงดงามยิ่ง

ลำดับกาลปัจจุสมัยกำลังเยี่ยมเยือน แผ่สิริรังสีทั่วแผ่นพื้นนภาภาคและพสุธาดลนั้น ลมปราณของเศรษฐีปาระค่อยๆ บางแผ่วลง ดุจใยฝ้ายที่กำลังหลุดจากเครื่องกรอ…

เศรษฐีปาร มีบุตรสองคน คือวิภูษณะ ซึ่งแต่งงานกับนางมาลาตีผู้ละโมบ และมีบุตรด้วยกันถึงสี่คน ในขณะที่กัปปิยะ ลูกชายคนรองที่เป็นคนซื่อและหัวอ่อน มีภรรยาคือนางสาวิกา มีธิดาเพียงคนเดียวคือนางวัลยาโมลี ผู้อยู่ในวัยกำดัดดรุณี

นางวัลยาโมลีได้หมั้นหมายกับอรรถจักร บุตรของหมอยาสัปตะกับนางอโนมา แต่ในเวลานี้อรรถจักรกำลังไปศึกษาต่อทางวิชาแพทย์ ยังนครตักกสิลา แคว้นคันธาระที่อยู่ห่างไกลออกไป เนิ่นนานถึงเจ็ดปีเศษแล้ว

ด้วยทรัพย์สินจำนวนมากมายที่เศรษฐีปาระทิ้งเอาไว้ โดยมิได้แบ่งสันปันส่วนชัดเจน แม้ว่าโดยความจริงควรจะแบ่งกับบุตรทั้งสองคนละครึ่ง แต่นางมาลาตีก็เกิดความโลภและคิดว่า นางมีบุตรถึงสี่คน ขณะที่กัปปิยะมีวัลยาโมลีเพียงคนเดียว ทรัพย์สมบัติควรจะตกเป็นของวิภูษณะมากกว่า

ด้วยเพทุบายอันแฝงเล่ห์ นางจึงขยับขยายทรัพย์สมบัติเหล่านั้น ลงไปเก็บไว้ในอุโมงค์ที่เร่งขุดขึ้น โดยสร้างให้เชื่อมต่อกับปราสาทของนางกับบุตรชายที่สมรู้ร่วมคิดกัน ในขณะที่สร้างเรือนใหม่ให้กับกัปปิยะ เพื่อที่จะกันครอบครัวของน้องสามีมิให้ล่วงรู้ถึงเจตนาชั่วร้ายตนเอง

ซ้ำเมื่อนางเกิดรู้ว่านิษาทบุตรชายคนรองแอบมีใจเสน่หาต่อวัลยาโมลี นางจึงพยายามจะยุยงให้นิษาทใช้เล่ห์กลเพื่อลวงล่อวัลยาโมลีตกเป็นของตัวเอง ก่อนที่อรรถจักรคู่หมั้นนางจะเดินทางกลับมาจากตักกสิลา เพื่อรวบทรัพย์สมบัติทุกส่วนเอาไว้เป็นของตนเอง แต่นิษาทซึ่งเป็นหนุ่มเสเพลก็มัวแต่ลุ่มหลงมัวเมากับนางฟ้อนรำที่มาแสดงในลานหน้าตัวเมืองสาวัตถี จนลืมตัวติดตามหญิงงามผู้นั้นหายไปเสียก่อน สร้างความเจ็บใจให้นางมาลาตีอย่างยิ่ง

เมื่อแผนการแรกไม่สำเร็จ นางจึงเกลี้ยกล่อมให้ วิภูษณะผู้เป็นสามีออกปากชักชวน กัปปิยะน้องชาย ให้นำสินค้าจากสาวัตถีไปขายยังกรุงราชคฤห์ สถานที่ซึ่งพระบรมศาสดาเสด็จประทับอยู่พอดี เพื่อช่วยหารายได้มาจุนเจือครอบครัว แม้ว่าจะต้องเดินทางผ่านเขตแดนอันตรายและกันดารเพียงใด และทั้งครอบครัว และนางอโนมาจะพร่ำเตือนให้ระมัดระวังในอุบายของมาลาตี แต่ก็ไม่เป็นผล กัปปิยะเลือกที่จะเชื่อมั่นศรัทธาในวิภูษณะพี่ชายของตน โดยไม่คิดระแวงต่อนางมาลาตีเลยสักนิดเดียว

“การอยู่ร่วมกับผู้มักคิดมิชอบ นับเป็นความทรมานอันสาหัสยิ่ง ด้วยว่าผู้ประพฤติชอบ ย่อมต้องคอยระวังตน หวาดวิตกอยู่เป็นนิตย์ ดุจนอนคอยโจรมิผิดเพี้ยน แลการต่อสู้เอาชัยจากโจร แม้ชนะก็มีแต่เสี่ยงภัย หากพลาดพลั้งลงอาจถึงแก่ชีวิตได้ ส่วนการยอมแพ้เล่า ก็ใช่วิสัยที่ผู้สุจริตพึงควรยอม”

กัปปิยะจึงตัดสินใจออกเดินทางไปพร้อมกับบริวารคนสนิท ใช้ระยะเวลานับแรมเดือน ตราบขบวนเกวียนสินค้า จนบรรลุถึงกรุงราชคฤห์ในที่สุด ภาพเบญจคีรีนครหรือราชคฤห์ สไบเมือง ได้บรรยายไว้อย่างสวยงามยิ่งนัก

เงาแห่งภูเขาทั้งห้า อันประหนึ่งกำแพงศิลาของราชคฤห์ค่อยๆ เข้มขึ้น สีแดงเรื่อซึ่งปรากฏบนท้องฟ้าเมื่อครู่ก่อนลบเลือนลง เหลือแต่หมู่เมฆสีเงินยวงทอดยาวรับกันเป็นช่วงๆ ดุจปุยฝ้ายอันปลิวฟ่องมาจากแดนไกล แสงไรๆ สาดจับอุทยาอันดาดเขียวด้วยติณชาติเบื้องล่าง และสีเขียวนั้นค่อยๆ ถูกความหม่นมัวของราตรีกาลกรีธาทัพเข้าล้อมไว้

และ ณ ที่นั่นเอง ภายหลังจากค้าขายจนได้เงินตราตามต้องการแล้ว กัปปิยะก็ได้มีโอกาสได้เข้านมัสการสมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้ายังเวฬุวันมหาวิหาร ก่อนจะออกเดินทางกลับ ในระหว่างนั้นเอง เมื่อผ่านพ้นประตูเมืองออกมา ผืนพายุที่เริ่มตั้งเค้าทะมึน แล้วจึงแปรเปลี่ยนเป็นมหาพายุฝนกระหน่ำสาดซัดอย่างหนักหน่วง

ขบวนเกวียนค้าขายของกัปปิยะซึ่งไม่ชำนาญเส้นทางจึงเสียหาย และกัปปิยะก็ล้มเจ็บลง ด้วยพิษไข้ ก่อนจะสิ้นใจลงในที่สุด ทั้งที่ก่อนจะถึงกาละ กัปปิยะห่วงใยทั้งลูกเมียสุดชีวิต

ในเวลาเดียวกันนั้นเองที่นางมาลาตีได้เร่งสร้างอุโมงค์ลับเชื่อมต่อกับเคหาของบุตรได้เสร็จสิ้น และครอบครัวของนางต่างขนถ่ายทรัพย์สินเงินทองลงมาเก็บงำซ่อนไว้จนหมดสิ้น ภายใต้คูหาลับจึงสว่างไสวเรืองรองด้วยทองคำอันเป็นทรัพย์สมบัติที่นางยักย้ายถ่ายเทมาโดยมิชอบ ทุกอย่างคงจะสมความปรารถนา ถ้าหากว่านางสีวิกาไม่มาทวงถามถึงการแบ่งทรัพย์สมบัติในส่วนของกัปปิยะสามีตน นั่นเองที่ทำให้สาวิกาเกิดความเสียดาย จนกลายมาเป็นแผนการโฉดที่ไม่มีผู้ใดคาดคิด

นางวางแผนลวงให้ สีวิกาลงไปยังอุโมงค์ลับด้านล่าง โดยแอบสั่งบุตรชายให้ลั่นดานประตูอีกด้านเอาไว้ จากนั้น เมื่อสีวิกาหลงกล ก้าวล่วงลงไปภายในอุโมงค์คูหาลับนั้น นางก็ปิดประตูอุโมงค์ฝั่งตนเอง แล้วขังนางสีวิกาเอาไว้จนขาดใจตายอยู่ภายในอุโมงค์อย่างอำมหิต

สาวน้อยวัลยาโมลี หาได้ล่วงรู้ว่ามารดาตนหายไปยังหนแห่งใดไม่ ซ้ำผู้เป็นบิดาก็ยังไม่ติดต่อกลับมา และอรรถจักรคู่หมั้นก็ยังไม่เดินทางกลับจากตักกสิลาเสียอีก ด้วยความทุกข์ระทมเหมือนอยู่เพียงลำพัง ทำให้หญิงสาวตรอมใจ จนล้มเจ็บลงและไม่ได้สติ เป็นที่เวทนาสงสารแก่นาง อโนมาและสัปตะอย่างยิ่ง

ในเวลาเดียวกัน อรรถจักรและวัสสานะสหายของเขาได้สำเร็จการศึกษา และเดินทางจากตักกสิลาเพื่อกลับมายังสาวัตถี หากระหว่างทางนั้นเอง อรรถจักรได้ใช้ความเป็นแพทย์ช่วยรักษาอาการเจ็บป่วยของปัจจันต์ พราหมณ์ในเมืองของวัสสานะเอาไว้ และพราหมณ์ผู้นั้นก็ต้องการให้ อรรถจักรอาศัยอยู่ในหมู่บ้านของตนต่อไป ยิ่งเมื่อมาณพหนุ่มได้เห็นนางปวาลีบุตรีผู้งดงามและมากเสน่ห์ยวนใจ จนทำให้เขาเคลิบเคลิ้มลุ่มหลง ลืมเลือนภารกิจที่จะกลับไปหานางวัลยาโมลี เสียจนหมดสิ้น

แต่แล้ว อรรถจักรก็ฝันเห็นวิญญาณของกัปปิยะและสีวิกามาหา ทั้งคู่ขอร้องให้อรรถจักรรีบกลับไปหาวัลยาโมลี ที่บัดนี้กำลังเผชิญความทุกข์กายทุกข์ใจอย่างหนักหน่วงจนล้มเจ็บลง ทำให้ชายหนุ่มเริ่มได้สติและหลุดพ้นจากบ่วงมารยาของสาวน้อยปวาลี เขารีบเดินทางออกจากหมู่บ้านจนกลับมาถึงสาวัตถี ทันเวลาที่จะช่วยเหลือหญิงคนรักเอาไว้ด้วยฝีมือการแพทย์ของตน และยังช่วยปลอบประโลมใจให้คลายความโศกศัลย์ ด้วยความรักที่มีต่อนางเป็นเครื่องเยียวยา

บัดนี้ความมืดบอดในหัวใจของมาลาตี ทำให้นางเริ่มวิตกกังวลเรื่องศพของสีวิกาน้องสะใภ้ ที่จะส่งกลิ่นเหม็นเน่าขึ้นมาให้เป็นที่สงสัยแก่คนภายนอก ซ้ำในเวลานี้ วิภูษณะสามีนางก็มัวแต่ออกไปตามหานิษาท ที่หายตัวไปพร้อมกับนางฟ้อนรำต่างเมืองนั่นเสียอีก

ดังนั้น ในราตรีหนึ่ง ภายหลังจากที่ฝนกระหน่ำราวฟ้ารั่วมาตลอดหลายเพลากาล นางจึงตัดสินใจไขประตูอุโมงค์ลับแล้วก้าวลงไปเพื่อจัดการทำลายศพของสีวิกา มิให้เป็นหลักฐานมัดตัวอีกต่อไป

ทว่า…

แสงสว่างวับแวมทั่วอุโมงค์แคบและกลิ่นดุจซากอสุภฉุนแรงขึ้นเป็นลำดับ เมื่อนางเดินล่วงเข้าสู่ปลายทาง แต่มิจฉาทิษฐิอันครอบงำอยู่หาได้ทำให้มาลาตีเลิกล้มความกระหายจะได้เห็นภริยากัปปิยะไม่ ตราบใดนางยังมิได้ประจักษ์ด้วยสายตาตนเองว่าสีวิกาได้กระทำกาละไปแล้วจริงดังคาด นางจักต้องลังเลใจ แลหาสุขมิได้

และแล้วหญิงใจโฉดก็ได้เห็นร่างของสีวิกาในสภาพศพอันบวมอืด ทันทีเมื่อแสงประทีบส่องกระทบ ด้วยความตื่นตระหนก ทำให้นางหวีดร้องสุดเสียง และเมื่อนั้นเอง อุโมงค์ที่สร้างขึ้นอย่างรีบด่วนเมื่อถูกฝนหนักเจิ่งนองหลายราตรี มิอาจทานแรงเซาะได้ อุโมงค์ลับแห่งนั้นก็ถึงกาลพังทลายลง พร้อมกับน้ำมหาศาลพุ่งเข้ากระทบท่วมทับในอุโมงค์แห่งนั้น แม้แต่บานประตูก็ถูกแรงมหาศาลกระแทกจนปิดกลับเข้าหากัน โดยปราศจากหนทางออก ในเวลานั้นเอง ที่หญิงชั่วร้ายได้สดับเสียง…

“มาลาตีเอย บัดนี้ เจ้าก็ได้เข้ามาติดบ่วงกรรมที่เจ้าทำกับข้าและลูกข้าแล้ว มิมีอันหนีไปไหนได้ ทองมากมายล้อมอยู่รอบกายเจ้า ณ บัดนี้ เอาไปเถิดมาลาตี จงขนทองติดตัวเจ้าไป…”

หญิงผู้กระหายโลภในทรัพย์สมบัติของผู้อื่น พยายามตะเกียกตะกายไขว่คว้า ปากอ้าค้าง

บัดดลนั้น เพดานอุโมงค์มิอาจทนทานน้ำหนักข้างบนได้ ก็พลันพังทลาย ทั้งน้ำและศิลาท่วมทับกายนางมาลาตีที่กำลังหาทางออกอยู่ด้วยทุกขเวทนายิ่งนั้น… ถล่มจมมิดลง!

เรื่อง : ความมืดแห่งคูหาทอง

ผู้ขียน : สไบเมือง

สำนักพิมพ์ : ดอกหญ้า

ปีที่พิมพ์ : 2536

เล่มเดียวจบ

วิภูษณะกลับมาพร้อมนิษาทบุตรชาย และทราบเรื่องราวเลวร้ายที่เกิดขึ้นทั้งหมด ชายผู้ที่เคยตกอยู่ในอำนาจบงการของภรรยา ณ บัดนี้ ได้ตาสว่าง มองเห็นสภาพที่เกิดขึ้น ด้วยความอนาถใจและสำนึกผิด เขาแวะไปเยี่ยมเยียนวัลยาโมลี หลานสาวคนเดียวกับอรรถจักรผู้ที่เป็นคู่หมั้น ทั้งคู่ต่างตั้งใจที่จะใช้ชีวิตอยู่ร่วมกัน และประกอบสัมมาชีพสุจริต อันเป็นประโยชน์แก่มหาชน แลผู้ยากไร้ต่อไป

ขณะนั้นสรรพสัตว์ทั้งหลายต่างก็ปิติโสมนัส เมื่อได้สดับถ้ดยของมนุษย์แม้เพียงหนึ่ง ซึ่งเจริญด้วยจิตอันมุ่งสงเคราะห์ผู้อื่น

ความมืดแห่งคูหาทอง จัดเป็นนวนิยายขนาดสั้นๆ สะท้อนภาพกิเลสตัณหาผ่านพฤติกรรมของมนุษย์ในยุคพุทธกาล ที่เป็นตัวอย่างแสดงให้เห็นถึงผลลัพธ์ของละเมิดในศีลธรรม โดยเฉพาะข้อที่สอง อันนำมาซึ่งความทุกข์ให้บังเกิดขึ้นทั้งต่อตนเองและคนรอบข้าง นับเป็นนวนิยายอีกเรื่องหนึ่งที่ควรค่าแก่การอ่านทั้งในด้านความรื่นรมย์แห่งรสวรรณศิลป์ และข้อคิดคติธรรมจากเรื่องราวในนิยายนี้ครับ

Don`t copy text!