เกียรติศักดิ์ลูกผู้ชาย

เกียรติศักดิ์ลูกผู้ชาย

โดย : หมอกมุงเมือง

Loading

บรรณาภิรมย์ โดย หมอกมุงเมือง คอลัมน์ที่อ่านเอาขอมอบความรื่นรมย์ให้กับผู้อ่านด้วยภาพปกสวยๆ และเนื้อเรื่องในแบบต่างๆ ของนักเขียนชั้นครูที่เคยผ่านมือ ผ่านตาและผ่านใจ เพื่อให้ทุกคนได้ร่วมรำลึกถึงผลงานของนักเขียนแต่ละท่านให้พอหายคิดถึงแม้เวลาจะผ่านไปแล้วเนิ่นนาน ภาพและตัวอักษรจะปรากฏให้เห็นอีกครั้งในยุคของการอ่านออนไลน์

จากหนังสือ เพื่อนพ้องแห่งวันวาร โดย สุชาติ สวัสดิ์ศรี ให้ข้อมูลเกี่ยวกับ ‘ศรีอิศรา’ ไว้ว่า เป็นนามปากกา ของ ม.ล. ฉอ้าน อิศรศักดิ์ (พ.ศ. 2450-2496) ท่านเป็นอดีตประจำกองบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ สยามราษฎร์ และ ศรีกรุง ในฐานะผู้แปลข่าวต่างประเทศ และนอกจากนี้ ท่านยังมีผลงานแปลนวนิยายในนามปากกา ‘ศรีอิศรา’ และ ‘ศรศักดิ์’ ควบคู่กันไปอีกด้วย

ผลงานของ ‘ศรีอิศรา’ มีทั้งงานเขียนและงานแปล เช่น พระนาง ฟลาเวีย เลือดชาวสกอท จลาจลในสกอท ส่วนงานเขียนนิยาย ในรุ่น ‘นิยายสิบสตางค์’ ก็มี อย่าง สามกำพร้า (พ.ศ. 2477) แม่เนื้อทอง เผชิญชาย ยอดบูชา ลดาวัลย์ และ เกียรติศักดิ์ลูกผู้ชาย เรื่องนี้ นอกจากนี้ ยังมีเรื่องสั้นที่ได้รับการกล่าวขาน คือเรื่อง ม้ามังกร เป็นเรื่องว่าด้วยการแข่งม้า กล่าวกันว่า ที่ศรีอิศราเขียนเรื่องในฉากหลังแบบนั้นก็เพราะชีวิตส่วนตัวของเขา ชอบเรื่อง ‘ม้าแข่ง’ อย่างเป็นชีวิตจิตใจ ผลงานนวนิยายเรื่องสุดท้ายของเขา คือเรื่อง ‘กาในฝูงหงส์’ พิมพ์ครั้งแรกใน ปิยะมิตร เมื่อ ปี พ.ศ.2499 มีความหนาถึง 1,055 หน้า ศรีอิศราบุกเบิกงานเขียนเชิงจิตวิทยาไว้จำนวนไม่น้อย เช่น จิตใจในยามคับขัน หลักการค้า ศิลปะการโฆษณา น่าเสียดายที่เขาอายุสั้น เพียง 46 ปี

ศรีอิศรา นักเขียน

สำหรับนวนิยาย เกียรติศักดิ์ลูกผู้ชาย นั้น ก็เป็นนิยายที่มีความหนาไม่น้อยไปกว่า กาในฝูงหงส์ เช่นกัน ที่มาสำหรับงานเขียนเรื่องนี้ ศรีอิศราได้กล่าวไว้ในคำนำของเรื่องอย่างน่าสนใจว่า…

ผู้ที่เป็นต้นเหตุทำให้หนังสือ เกียรติศักดิ์ลูกผู้ชาย เกิดขึ้นได้คือ คุณเภา ประสาทวิทย์ ผู้จัดการปิยะมิตรนั่นเอง เมื่อท่านได้มาเยี่ยมศรีอิศรา และปรารภว่าอยากจะนำเรื่องไปลงปิยะมิตร ในช่วงหลังสงคราม (พ.ศ. 2486) ศรีอิสราไม่ได้เขียนเรื่องอะไรออกมาเลย แต่เพราะถูกจับไปขังไว้ที่สถานีตำรวจ ถึง 77 วัน ระหว่างสงครามมหาเอเชียบูรพา ด้วย “ข้อหาลมๆ แล้งๆ” จึงได้มีโอกาส พิจารณาความเป็นอยู่ของตำรวจ ตลอดถึงชีวิตด้านต่างๆ ที่ท่านได้รับฟัง จากในห้องของผู้ต้องขังนั้นเอง ทำให้ เกิดแรงบันดาลใจเขียนเรื่องราวนี้ขึ้น โดยให้พระเอกของเรื่องเป็นพลตำรวจ เพื่อเป็นบทปลุกใจ ผู้ที่มีชีวิตเป็นพลตำรวจมิให้ไร้ความหวังและมีแต่ความท้อแท้ เหมือนดังที่ผู้เขียนได้เห็นแก่พลตำรวจ เป็นส่วนมากในขณะนั้น…

เรื่องราวของ เกียรติศักดิ์ลูกผู้ชาย เปิดฉากขึ้นในร้านอาหารแห่งหนึ่ง ซึ่งนักข่าวนาม สุเทพ บรรณาคร กำลังสนทนากับ นายพิชิต กลกิจ หัวหน้าค่ายมวย พร้อมกับบรรดานักมวยชื่อดัง เอก กลกิจ อยู่ แต่แล้วเมื่อนักมวยหนุ่มเกิดไปลวนลามพนักงานสาวในร้านด้วยความคะนอง จึงทำให้ชายหนุ่มอีกคนหนึ่งที่นั่งอยู่ยังโต๊ะข้างๆ อดรนทนไม่ได้ และเข้าชกต่อยอีกฝ่ายในทันที แม้ว่าร่างกายของเขาจะไม่แข็งแรง กำยำเท่าอีกฝ่าย แต่หัวใจต่อสู้นั้นเกินร้อย ทำให้สุเทพเกิดความประทับใจ และรู้ว่าชายหนุ่มผู้นั้นมีชื่อว่า ชาย ดำรงศักดิ์ และมีศักดิ์เป็นถึงลูกชายของเจ้าคุณดำรงฯ ที่มีฐานะและชื่อเสียง

การก่อวิวาทแม้จะด้วยเจตนาดี แต่ก็ทำให้ชายต้องไปขึ้นโรงพัก และมีโอกาสรู้จักกับร้อยตำรวจตรีบุญทวี ที่เข้าใจนิสัยใจคอของเขามากขึ้น จนกระทั่งหลวงนฤสาร น้องชายเจ้าคุณดำรงมาช่วยประกันตัวให้ออกมา

 

เจ้าคุณดำรงฯ เป็นเศรษฐีสูงวัยที่มีภรรยามากมาย และมีลูกที่เกิดจากภรรยาใหญ่คือ คุณหญิงพิพิธ รวมถึงลูกคนอื่นๆ แต่ท่านก็มีลูกชายที่เป็นหัวแก้วหัวแหวนเพียงคนเดียวคือ ชาย ดำรงศักดิ์ ที่ยังอาศัยอยู่ร่วมคฤหาสน์เดียวกัน ในขณะที่ลูกคนอื่นๆ ต่างแยกย้ายกันไปมีครอบครัวกันหมดแล้ว

แต่เมื่อเจ้าคุณดำรงฯ นำวณี หญิงสาววัยแรกรุ่นเข้ามาเป็นภรรยา และวณีเองก็พยายามกำจัดทุกคนที่จะแย่งมรดกไปจากหล่อน หญิงสาวจึงแสร้งใส่ความว่าชายขโมยเงินจากหล่อนไป ทำให้เจ้าคุณไม่พอใจ และเข้าใจผิด ยิ่งเมื่อรู้ว่าหลวงนฤสารผู้เป็นน้องชาย ไปประกันตัวชายออกมาจากโรงพัก ทำให้เจ้าคุณฯ ยิ่งเข้าใจตัวลูกชายผิดและต่อว่าอย่างรุนแรง ด้วยศักดิ์ศรีและความหยิ่งทะนง ชายหนุ่มจึงตัดสินใจประชดชีวิต เดินออกจากบ้านไปโดยไม่แยแส แม้แต่เงินที่เจ้าคุณมอบให้สักบาทเดียว

เขาตัดสินใจไปเริ่มต้นชีวิตใหม่อีกครั้ง ด้วยการเดินทางร่วมไปกับกำพล สหายรักที่เมืองจันทบุรี โดยที่มีเพียงนิภาวรรณ ลูกสาวหลวงนฤสารผู้เป็นน้องชายบิดาเขาเท่านั้นที่เป็นสตรีผู้ดี ซึ่งชายไว้วางใจและมอบหัวใจให้กับเธอ จนเขียนจดหมายบอกเล่าเรื่องราวทุกอย่างให้หญิงสาวได้รับรู้มาโดยตลอด

ณ ที่เมืองเล็กๆ ชายฝั่งตะวันออกนั้นเอง เขาได้ไปอยู่คุณคุณตา และน้าชายของกำพล ซึ่งเปิดเป็นบ่อนการพนันไปพร้อมกัน แต่ในที่สุดเมื่อได้ผ่านประสบการณ์และเรียนรู้โลกมาระยะหนึ่ง ชายจึงตัดสินใจที่จะเลือกเส้นทางเดินชีวิตของเขาใหม่อีกครั้ง ด้วยการสมัครเข้าเรียนพลตำรวจ เรื่องราวในครั้งนี้เขาไม่ได้บอกเล่าแก่ผู้ใดทั้งสิ้น จนทำให้ทุกคนรวมถึงนิภาวรรณเข้าใจว่าเขาหายสาบสูญไปแล้ว

ชายเรียนจนจบโรงเรียนพลตำรวจออกมา ก็เข้าทำงานเป็นนายตำรวจ สังกัดเดียวกับที่ ร้อยตำรวจโทบุญทวีประจำการอยู่พอดี ยิ่งทำให้นายร้อยตำรวจผู้นี้พึงพอใจในนิสัยใจคออีกฝ่ายเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว จึงให้เขาเป็นตำรวจคอยติดตามอย่างใกล้ชิด เช่นเดียวกับสารวัตรประจำสถานีตำรวจแห่งนั้น ที่ประทับใจในความกล้าหาญและซื่อสัตย์ของเขา

ชายทราบภายหลังว่าวณีติดต่อกับอันธพาลใหญ่ชื่อวิเชียร ซึ่งเป็นชายชู้ของหล่อน มาเปิดบ่อนหาเงินโดยใช้บ้านบิดาของเขาเป็นแหล่งอบายมุข เขานำกำลังเข้าบุกจับ แต่วิเชียรหนีรอดไปได้ เหตุการณ์ในครั้งนี้ยิ่งทำให้เป็นที่ประทับใจแก่สารวัตร และผู้กองบุญทวีเป็นอย่างยิ่ง รวมถึงดาราเด็กสาวแสนสวย ผู้เป็นหลานของจ่าทองดีที่แอบชอบพอเขาอยู่ด้วย แต่ชายก็วางตัวเป็นเพียงเสมือนพี่ชายของเธอเท่านั้น เพราะหัวใจของเขามีเพียงนิภาวรรณเพียงผู้เดียว

นิภาวรรณสงสัย เมื่อเพื่อนสาวของหล่อนมาบอกว่าพบคนที่หน้าตาคล้ายกับชาย แต่เป็นนายตำรวจ เช่นเดียวกับวิเชียรเอง เมื่อมาหาวณีที่บ้านในจังหวะที่ชายแวะมาเยี่ยมบิดาที่ล้มเจ็บลง เขาคลับคล้ายคลับคลาว่าลูกชายเจ้าคุณดำรงฯ ผู้นี้จะเป็นนายตำรวจที่บุกเข้ามาทลายบ่อนของเขาจนพังพินาศ แต่ก็ยังไม่มีโอกาส

ชายทำหน้าที่นายตำรวจชั้นประทวนด้วยความสามารถ แม้ว่าบางครั้งจะขัดกับ นายตำรวจสัญญาบัตรในสถานีตำรวจที่ใช้อำนาจในทางมิชอบก็ตาม ทำให้เขาได้ทั้งมิตรอย่าง ไอ้หลี่ นักเลงหัวไม้ที่ถูกจับกุมตัวมาทรมานอย่างอยุติธรรม แต่ก็ทำให้ผู้กองเสน่ห์ นายตำรวจกังฉินกับพรรคพวกไม่พอใจไปด้วย

นิภาวรรณได้พบกับชายอีกครั้ง และคราวนี้หญิงสาวจึงได้รู้ความจริงเกี่ยวกับชีวิตของเขา และความรักที่ก่อตัวมาตั้งแต่อดีตกลับยิ่งแน่นแฟ้นมากขึ้น เธอคือแรงบันดาลใจที่ทำให้ผู้ชายอย่างเขามุ่งมั่นที่จะเปลี่ยนแปลงตัวเอง และแสวงหาความก้าวหน้าในชีวิต แต่เส้นทางเบื้องหน้านั้นเล่า ยังหาได้ราบรื่นเสมือนโรยด้วยดอกกุหลาบไม่

เกียรติศักดิ์ลูกผู้ชาย ปกใน

ขณะที่คุณวณีเองก็วางแผนร่วมกับนายวิเชียร เพื่อหาทางกำจัดชายหนุ่มและเจ้าคุณดำรงฯ สามีของเธอเอง เพื่อฮุบมรดกทั้งหมด หญิงร้ายชายโฉดได้ติดต่อนายใบ้ ที่หูหนวกและเป็นใบ้ หากแต่มีรูปร่างหน้าตาเหมือนกับ ชาย ดำรงศักดิ์ มาสวมรอยเป็นตัวของเขา และหลอกพาบิดาของเขาไปยังบ้านพักตากอากาศเพื่อลอบสังหาร

ชายรู้เรื่องทั้งหมด และตามไปเพื่อช่วยเหลือบิดา แต่เขากลับถูกทำร้ายและหายสาบสูญไป ก่อนที่ในเวลาต่อมา จะปรากฏชื่อ ชาย ดำรงศักดิ์ คนใหม่ขึ้น ท่ามกลางความประหลาดใจของทุกคน เมื่อชายได้เปลี่ยนไป เป็นบุคคลไร้ความทรงจำ และจดจำใครไม่ได้ แม้แต่นิภาวรรณ และทุกๆ คน จนทำให้สารวัตรและผู้กองบุญทวีสงสัย แต่ทั้งคู่เองก็มองไม่เห็นความผิดปกตินั้น

ยกเว้นเพียงดารา เด็กสาวที่แอบรักชายมาโดยตลอด หล่อนเคยดูแลชายหนุ่มที่ต่อสู้กับผู้ร้ายจนบาดเจ็บและพบว่าเขามีรอยแผลเป็นที่หลังใบหู ทว่า ชายหนุ่มผู้นี้กลับไม่มีรอยแผลนั้น!

ระหว่างที่วณีและวิเชียร ที่ปลอมตัวเป็นหญิงชรา ดูแล ชาย ดำรงศักดิ์ (กำมะลอ) กำลังดำเนินเรื่องเป็นผู้จัดการมรดกทั้งหมดนี้เอง แผนการกระชากหน้ากากอีกฝ่ายก็เริ่มต้นขึ้น และก่อนที่ ชาย ดำรงศักดิ์ ตัวจริงจะปรากฏตัวขึ้น!

เรื่องราวในนิยาย เกียรติศักดิ์ลูกผู้ชาย เต็มไปด้วยการต่อสู้ หักมุม ในแบบของนิยายบู๊ผสมชีวิต และนอกจากนี้ ในเรื่องความรักของสองหนุ่มสาวเอง ก็ยังมีบททดสอบที่รอคอยการพิสูจน์ ‘เกียรติศักดิ์ลูกผู้ชาย’ ของ ชาย ดำรงศักดิ์ ผู้นี้อยู่อีกด้วย!

เรื่อง : เกียรติศักดิ์ลูกผู้ชาย

ผู้เขียน : ศรีอิศรา

สำนักพิมพ์ : ปิยะมิตร

ปีที่พิมพ์ : 2496

เล่มเดียวจบ

นิยายเรื่องนี้ แม้ว่าจะเป็นงานเขียน ก่อนปี พ.ศ. 2500 แต่เนื้อหารายละเอียด สะท้อนชีวิตพลตำรวจในการปฏิบัติงาน และเรื่องราวการต่อสู้และยืนหยัดในชีวิตของลูกผู้ชายคนหนึ่งได้อย่างเข้มข้น เหมือนได้อ่านประสบการณ์ชีวิตบุคคลคนหนึ่งเลยทีเดียว

ในเวลาเดียวกัน เรื่องราวใน เกียรติศักดิ์ลูกผู้ชาย ยังสะท้อนค่านิยม ความคิด และทัศนคติ ต่างๆ  รวมถึงการสอดแทรกข้อมูลรายละเอียดต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นภาพบ่อนการพนันแบบชาวบ้าน ในยุคนั้น ที่เป็นการเล่นพนันถั่วโป หรือภาพสะท้อนชีวิตคนจันทบุรี อย่างเช่นการใช้ ‘เรือป๊อก’ ของชาวจันทบุรี ในการสัญจรทางน้ำ ซึ่งเป็นเรือขนาดเขื่องที่แล่นด้วยตัวเองไม่ได้ ต้องมีเรือยนต์ลากไปให้อีกทีหนึ่ง หรือแม้แต่การ ‘ฮันนีมูน’ แบบท้องถิ่น ที่เรียกว่า ‘การตกปู’

“ฝรั่งแต่งงานแล้ว ไปฮันนีมูนหรือดื่มน้ำผึ้งพระจันทร์ แต่นั่นยังต้องไปเที่ยวเมืองนั้นเมืองนี้ ต้องพักโรงแรม ซึ่งมีคนอื่นเข้าไปเกี่ยวข้องด้วย ส่วนประเพณีเดิมของชาวจันทบุรี ดีกว่านั้น เขาให้คู่แต่งงานนั้นไปตกปู ก็คืออย่างเดียวกับการไปฮันนีมูนของฝรั่งนั่นแหละ แต่ค่อนข้างพิสดารกว่า ตามที่ผู้ใหญ่เล่าให้ฟังมีว่า เมื่อคู่บ่าวสาวแต่งงานกันแล้ว เขาจัดเรือประทุนที่มิดชิดให้ลำหนึ่ง มีเครื่องครัวและอาหารให้พร้อมสำหรับที่จะไปกินกันได้ตลอดสิบห้าวัน ชาวพื้นบ้านส่วนมากเป็นชาวทะเล เขาจึงจัดเรือให้เช่นนั้น และในเรือลำนั้นจะมีเพียงสองคนผัวเมียเท่านั้นเอง…

มีการ ‘ตกปู’ เพื่อทำอาหารกินเองแต่ลำพังนั้นด้วย จะตกมากกว่าปูคือมีปลามาบ้างก็ตามใจ เป็นอันรวมความว่าสองคนผัวเมียนั้นจะรักจอดยอดใจกันได้ดูดดื่มอย่างที่จะไม่มีใครเกี่ยวข้องตลอดเวลาที่เขากำหนดให้ หมดกำหนดระยะเวลานั้นแล้ว จึงจะกลับไปบ้านภูมิลำเนาเดิมและทำมาหากินต่อไป”

ผลงานของศรีอิสราเรื่องนี้นับเป็นนวนิยายที่มีความน่าสนใจ และน่าอ่านอยู่ไม่น้อยเลยทีเดียว หากก็เป็นที่น่าเสียดายอย่างยิ่งที่ผมเองไม่มีภาพปกของนิยายเรื่องนี้มาประกอบการเขียนบรรณาภิรมย์ เลยไม่ทราบว่าจะเป็นภาพที่สวยงามคลาสสิกสักเพียงใด และเป็นที่น่าเสียดายว่า งานเขียนของศรีอิศราเองก็ไม่มีการตีพิมพ์ออกมาใหม่อีกเลยเป็นเวลาเกือบเจ็ดสิบปี นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2496 ที่สำนักพิมพ์ปิยะมิตรได้จัดพิมพ์ขึ้นมา!

 

Don`t copy text!