บ้านเกิด

บ้านเกิด

โดย : หมอกมุงเมือง

Loading

บรรณาภิรมย์ โดย หมอกมุงเมือง คอลัมน์ที่อ่านเอาขอมอบความรื่นรมย์ให้กับผู้อ่านด้วยภาพปกสวยๆ และเนื้อเรื่องในแบบต่างๆ ของนักเขียนชั้นครูที่เคยผ่านมือ ผ่านตาและผ่านใจ เพื่อให้ทุกคนได้ร่วมรำลึกถึงผลงานของนักเขียนแต่ละท่านให้พอหายคิดถึงแม้เวลาจะผ่านไปแล้วเนิ่นนาน ภาพและตัวอักษรจะปรากฏให้เห็นอีกครั้งในยุคของการอ่านออนไลน์

****************************

 

ผมหยิบ ‘บ้านเกิด’ ของ ‘สีฟ้า’ ขึ้นมาอ่านอีกครั้ง ภายหลังจากมีโอกาสได้อ่าน ‘มหาสมุทรสุดลึกล้นฯ’ ซึ่งเป็นภาคต่อของนวนิยายเรื่องนี้ ที่เขียนภายหลังจาก บ้านเกิด จบลงไป ไม่ต่ำกว่า 50 ปี (ฉบับพิมพ์ครั้งแรก เมื่อดูจากลักษณะปกและรูปเล่มนิยายขนาดเล็ก ผมคิดว่าน่าจะช่วงประมาณ ปี พ.ศ. 2513 ลงไป) ถ้าเพื่อนนักอ่านมีข้อมูลเพิ่มเติม จะเป็นพระคุณอย่างยิ่งเลยครับ

บ้านเกิด เป็นนิยายขนาดสั้น กล่าวถึงชีวิตของสี่พี่น้อง สิทธา สนธยา (ปิย่า) สานนท์ และ สิรินรี น้องสาวคนเล็ก ซึ่งอยู่ในวัยเพียงสิบเจ็ดสิบแปดปี เดินทางกลับมาจากต่างประเทศ ทั้งสี่คน เป็นบุตรของนักการทูต พระสุนทรศิริพจน์ (สุข) กับคุณสำลี ซึ่งถึงแก่กรรมไปแล้ว และบิดาก็ได้แต่งงานใหม่

บ้านเกิด สีฟ้า ฉบับพิมพ์ครั้งแรก

สิทธาในวัยยี่สิบแปดปี เรียนจบปริญญาโทแล้ว แต่เขาตั้งใจจะกลับมาทำการเกษตรบนแผ่นดินบ้านเกิดที่เมืองไทย เพราะบิดามีพี่ชายคือลุงแสง อยู่ที่อำเภอบัวชุม ในขณะที่สานนท์และสนธยา ก็เรียนจบปริญญาเช่นกัน สานนท์เลือกรับราชการอยู่ที่กรุงเทพฯ และน้องเล็กสิรินรีที่ได้รับการเลี้ยงดูอบรมและอยู่ในวัฒนธรรมตะวันตกจนเคยชิน เมื่อกลับมาอยู่เมืองไทย ก็รู้สึกถึงความแตกต่างอย่างเห็นได้ชัด

โดยเฉพาะเมื่อช่วงแรกที่ทั้งหมดต้องมาอยู่อาศัยที่บ้านของป้าเข่ง หรือ คุณยี่เข่ง ซึ่งเป็นพี่สาวแท้ของมารดา และมีนิสัยละเอียดลออ เจ้าระเบียบ เธอมองสิรินรีว่าค่อนข้างเปิ๊ดสะก๊าด เหมือนอยู่ผิดที่ผิดทาง จนหล่อนถูกป้าเข่งตำหนิอยู่เสมอ แต่เมื่อสามพี่น้อง สิทธา สนธยา และสิรินรี เดินทางไปถึงบัวชุม และต้องไปอาศัยอยู่กับลุงแสงพี่ชายของพ่อ ผู้เป็นเกษตรกรและกว้างขวางในแถบนั้น

สนับสนุนอ่านเอาด้วยการสั่งซื้อหนังสือ “ในสวนอักษร” คลิกที่นี่ 

ลุงแสง” ผู้ปรากฏแก่สายตานั้น เป็นบุรุษในวัยเกินหกสิบประมาณสองสามปี รูปร่างสูงใหญ่ลงพุง ผมและหนวดดกบนริมฝีปากของลุงแสงเป็นสีเทาเกือบขาว ตัดกับผิวหน้าดำคล้ำจมูกใหญ่ แต่สันจมูกกลับสูง ดวงตาแดงด้วยฤทธิ์สุรา มักจะมองบุคคลอย่างพินิจพิเคราะห์เสมอ

 

สิรินรีกลับพบว่าตัวเองสนิทสนมกับลุงแสงมากกว่า เมื่อลุงแสงมองว่านิสัยกล้าพูด กล้าซักถามแบบฝรั่งของเธอ กลายเป็นสิ่งที่น่ารักน่าเอ็นดูไปแทน จนถึงกับเรียกหล่อนว่า ‘นังม้าคึก’ เพราะลุงแสงเองเป็นคนดุ จนคนรอบข้างไม่มีใครกล้าพูดคุยเล่นด้วย แม้แต่ไอ้สาย ลูกชายคนโต ที่เป็นนักเลงอันธพาล ก็ยังเกรงกลัวพ่อตัวเอง

ปก บ้านเกิด ของ สนพ เพื่อนดี

กับลุงแสงนั้น สิรินรีเห็นแกเป็นคนน่าทึ่ง จึงชอบไปสนทนากับแกบ่อย ด้วยวาจาตามแบบของเจ้าหล่อน รวดเร็วตรงไปตรงมาด้วยภาษาไทยที่ในบางครั้งลุงแสงฟังไม่รู้เรื่อง เช่นวันหนึ่งสิรินรี ถามว่า

“ลุงมีภรรยาหลายคน คุณลุงแบ่งความรักให้ทั่วถึงกันได้อย่างไร?”

ลุงแสงทำตาปริบๆ ในคำถามของหลานสาว

“แบ่งความรัก? ต้องไปแบ่งมันทำไมกัน?”

“นรีหมายความว่า คุณลุงให้ความรักแก่ภรรยาเท่ากันไหม?”

“อ๋อ ถามว่ารักเมียเท่ากันไหม? ก็เจ้าไม่พูดให้สั้นๆ นี่หว่า รักไม่เท่ากันหรอก แต่ลืมเสียแล้วว่ารักคนไหนมากกว่า”

Oh! God!”

 

ลุงแสงนั้นมีภรรยาหลายคน แต่มีลูกจากเมียหลวงคือไอ้สาย และประสิทธิ์ ซึ่งถูกส่งไปเรียนแพทย์ ที่กรุงเทพฯ ประสิทธิ์เป็นเพื่อนรุ่นเดียวกับสิรินรี และเคยรู้จักกันมาก่อน เมื่อสิรินรีกลับมาที่บัวชุม จึงสนิทสนมกับประสิทธิ์ ซึ่งกำลังจะจบเป็นหมอมาอยู่ที่นี่เป็นอย่างมาก

ที่บัวชุมนี้เอง ทุกคนได้รู้จักกับ ปลัดชำนะ ไชยศาสตร์ ปลัดอำเภอหนุ่มผู้มีอุดมการณ์ และครูบานชื่น ครูสาวซึ่งเป็นที่หมายปองของไอ้สาย แต่มันก็ไม่กล้าฉุดครูสาวเพราะเกรงบารมีของพ่อตัวเอง ที่เป็นคนจริงและไม่ชอบวิธีการป่าเถื่อน ไอ้สายวิตกว่าครูชื่นจะชอบปลัดชำนะ จึงวางท่าเป็นปฏิปักษ์กับปลัดหนุ่มอยู่เป็นประจำ

ชีวิตที่บัวชุมเป็นเสมือนโลกอีกโลกหนึ่งที่แตกต่างจากอเมริกาซึ่งสิทธาเคยอยู่ เขาลงทุนลงแรงใช้พื้นที่อันเป็นมรดกตกทอดจากบรรพบุรุษในการเรียนรู้การเกษตร แม้ว่าจะต้องเผชิญปัญหาต่างๆ มากมาย ก็หาได้ย่อท้อไม่

สิทธาเองเป็นคนมุ่งมั่น เอาจริงเอาจัง และตัดสินใจเด็ดขาด เขาเองเคยมีคนรักชื่อแพตริเซีย จนถึงกับวางแผนจะแต่งงานใช้ชีวิตอยู่ที่อเมริกา แต่ก็ต้องเลิกรากันไป เมื่อมาอยู่ที่บ้วชุม ป้าเข่งก็อยากจะให้เขาเป็นฝั่งเป็นฝา จึงพาจิตรี หญิงสาวที่กรุงเทพฯ มาให้ชายหนุ่มได้รู้จัก และวางแผนเพื่อให้ทั้งคู่คบหาแต่งงานกัน แต่ดูเหมือนว่าจะไม่เป็นผล

สนธยา น้องสาวของเขา รู้ดีว่าครูบานชื่นกำลังมีปัญหาถูกไอ้สายคุกคาม มันพยายามจะให้ลุงแสงไปสู่ขอ แต่ลุงแสงรู้ดีว่าครูบานชื่นไม่ได้รักไอ้สาย เธอจึงเล่าเรื่องนี้ให้พี่ชายฟังและคิดว่าเขากับครูบานชื่นน่าจะเหมาะสมที่จะใช้ชีวิตร่วมกัน และในที่สุดลุงแสงเองซึ่งรับรู้เรื่องนี้ ก็ตัดสินใจ เป็นเถ้าแก่ไปสู่ขอครูบานชื่นให้กับสิทธา ซึ่งหญิงสาวเอง ก็ไม่ได้ปฏิเสธ ทำให้ไอ้สายแค้นใจมาก มันหายตัวไปจากหมู่บ้าน ในจังหวะเดียวกับที่สิทธาได้ทราบข่าวร้ายของครอบครัว

สามน ซึ่งเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย ถูกยิงเสียชีวิต ชายหนุ่มผู้มีอนาคตไกล เกิดรักใคร่ชอบพอกับรจนา โดยที่หญิงสาวผู้นั้น มีความสัมพันธ์ลับๆ อยู่กับนายตำรวจผู้หนึ่งซึ่งมีภรรยาเอกอยู่แล้ว และด้วยความหึงหวง เขาจึงจ้างมือปืนมายิงสานนจนเสียชีวิต ท่ามกลางความเสียใจของทุกคน

สิรินรีเองบัดนี้ก็เติบโตพอที่จะตัดสินใจแต่งงานกับ จอห์น คาสเซิ่ล หนุ่มน้อยวัยเดียวกัน และตั้งใจจะไปชีวิตที่บ้านเกิดเมืองนอนของเขา ท่ามกลางเสียงค้านของป้าเข่ง แต่ในที่สุดการแต่งงานก็ผ่านพ้นไปได้ โดยที่หมอประสิทธิ์ ซึ่งหลงรักสิรินรี มาร่วมแสดงความยินดีกับเธอด้วย ก่อนที่เธอจะบินไปใช้ชีวิตเมืองนอกกับสามี เขาบอกเธอว่า ที่บัวชุมแห่งนี้ ยังเป็นบ้านเกิดที่รอรับเธออยู่เสมอ ไม่เปลี่ยนแปลง

สิทธาเดินทางกลับมาบัวชุมอีกครั้งเพื่อเข้าพิธีแต่งงานกับครูบานชื่น หากคราวนี้เขาถูกลอบยิงบาดเจ็บสาหัส และคนร้ายก็บอกว่าตัวเองตั้งใจมายิงโดยไม่มีเหตุผลใดทั้งสิ้น เรื่องนี้ทำให้ตำรวจและปลัดชำนะยิ่งสงสัย และพุ่งประเด็นไปยังไอ้สายที่หายตัวไป

ปกหนึ่งของ หนังสือนิยาย Kinfolk อันเป็นแรงบันดาลใจของการเขียน นิยาย บ้านเกิด

คืนแต่งงานนั้นเองที่ปลัดวางแผนกับลุงแสง เพื่อดักจับผู้ก่อการร้ายที่จะเข้ามาปั่นป่วนในงานได้สำเร็จ และพบว่า เป็นฝีมือของไอ้สาย ลูกชายคนโตของแกนั่นเอง

สิทธาแต่งงานกับครูบานชื่น ในที่สุดความรักของคนทั้งสอง อาจจะไม่ได้เริ่มต้นจากความหวานชื่นประทับใจ แต่ก็ค่อยๆ ก่อตัวขึ้นจากความสนิทสนม ใกล้ชิด และการใช้เหตุผลในการอยู่ร่วมกัน ในเวลาต่อมา

เช่นเดียวกับสนธยากับปลัดชำนะ ที่ตัดสินใจแต่งงานกันในที่สุด

สิรินรีซึ่งใช้ชีวิตร่วมกับจอห์นมาระยะหนึ่ง ภายหลังเธอรู้ตัวเองว่าไม่อาจจะเข้ากับทางบ้านของอีกฝ่ายได้ ในที่สุด หญิงสาวก็หย่าขาดจากสามีต่างชาติ และเดินทางกลับมายังบัวชุมอีกครั้ง และที่นี่ยังมีหมอประสิทธิ์ที่รอคอยเธออยู่ด้วยความรัก ความห่วงใย เหมือนเดิมไม่เปลี่ยนแปลง

ณ แผ่นดินอันเป็น ‘บ้านเกิด’ ตัวเอง

 

          เสียงใบระกาที่ห้อยตามชายคาโบสถ์ดังกรุ๋งกริ๋ง กังวานท่ามกลางความสงบสงัดวิเวก ต้นข้าวในทุ่งนาเขียวชอุ่มมองดูสุดสายตาในฤดูฝน และเมื่อถึงฤดูเก็บเกี่ยว ก็กลายเป็นสีเหลืองอร่ามราวกับทะเลทอง

          ในบ้านของผู้คนส่วนมากแสดงความพอใจในสันโดษ อาจจะกระตือรือร้นน้อยหน่อย แต่ก็ยิ้มแย้มแจ่มใส และเป็นมิตรง่ายต่อทุกคน

          เหล่านี้คือสภาพของบ้านเกิด… บ้านเกิดซึ่งไม่มีที่ใดจักแม้นเหมือน ถึงจะมีสิ่งใดไม่ถูกใจระคายเคืองภายในบ้าน ถึงจะห่างเหินไปไกล แต่ก็เป็นบ้านของเรา!

ปก บ้านเกิด ฉบับที่นำมารีวิว

เรื่อง : บ้านเกิด

ผู้ขียน : สีฟ้า

สำนักพิมพ์ : บรรณาคาร

ปีที่พิมพ์ : 2518 (พิมพ์ครั้งที่ 2)

เล่มเดียวจบ 

และบทสรุปของ “บ้านเกิด” ก็ดำเนินมาถึง เมื่อชีวิตของบรรดาสมาชิกทั้งสามของตระกูลสุนทรทัศน์ได้จบลงอย่างมีความสุข ก่อนที่ตัวละครเหล่านี้ ทั้งสิทธา สิรินรี สนธยา และปลัดชำนะ จะถูกปลุกให้ลุกขึ้นมาโลดแล่นบนหน้ากระดาษหนังสืออีกครั้ง ให้ผู้อ่านได้หายคิดถึง ในเวลาอีกห้าสิบปีต่อมา…

ณ เวลาที่สิทธา ได้กลายเป็นคุณปู่สิทธา ด้วยวัยแปดสิบห้าปี!

ในนวนิยายการเมืองเรื่องเยี่ยม ‘มหาสมุทรสุดลึกล้นฯ’ นั่นเอง

(ฝากติดตามเรื่องราวของพวกเขาได้ ในบรรณาภิรมย์ ตอนต่อไปด้วยนะครับ)

 

หมายเหตุ : สำหรับ บ้านเกิด เรื่องนี้ ผู้เขียนได้กล่าวไว้ท้ายเล่ม ว่า เขียนขึ้นจากแรงบันดาลใจ จากนวนิยายเรื่อง Kinfolk ของนักเขียนนวนิยายรางวัลโนเบล Pearl S. Buck

 

Don`t copy text!