เทวี นวนาค

เทวี นวนาค

โดย : หมอกมุงเมือง

Loading

บรรณาภิรมย์ โดย หมอกมุงเมือง คอลัมน์ที่อ่านเอาขอมอบความรื่นรมย์ให้กับผู้อ่านด้วยภาพปกสวยๆ และเนื้อเรื่องในแบบต่างๆ ของนักเขียนชั้นครูที่เคยผ่านมือ ผ่านตาและผ่านใจ เพื่อให้ทุกคนได้ร่วมรำลึกถึงผลงานของนักเขียนแต่ละท่านให้พอหายคิดถึงแม้เวลาจะผ่านไปแล้วเนิ่นนาน ภาพและตัวอักษรจะปรากฏให้เห็นอีกครั้งในยุคของการอ่านออนไลน์

**************************** 

สนับสนุนอ่านเอาด้วยการสั่งซื้อหนังสือ “ในสวนอักษร” คลิกที่นี่

‘นวนาค’ เป็นนามปากกา ของ ฉุน ประภาวิวัฒน (ไม่มีการันต์ สะกด) หนึ่งใน 18 ท่าน ของกลุ่มคณะ ‘สุภาพบุรุษ’ ที่ กุหลาบ สายประดิษฐ์ หรือ ศรีบูรพา เป็นทั้งเจ้าของและบรรณาธิการ และเป็นหนึ่งหมุดหมายสำคัญของประวัติศาสตร์แห่งเส้นทางวรรณกรรมไทยในยุคหนึ่งเลยทีเดียว

คณะสุภาพบุรุษที่ก่อเกิดมาพร้อมกับหนังสือ สุภาพบุรุษ รายปักษ์ เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2472 นั้น ประกอบด้วยคนหนุ่มในวัยไล่เลียกัน ที่เห็นว่าอาวุโสมากกว่า กุหลาบ สายประดิษฐ์ ก็มีอยู่บ้าง เช่น ขุนจงจัดนิสัย ชิต บุรทัต สถิต เสมานิล หอม นิลรัตน์ ณ อยุธยา และ อบ ไชยวสุ แต่ทว่าทั้งหมดก็ล้วนเป็น ‘เกลอ’ มีชีวิตผูกพันกันด้วยผลงานทางการประพันธ์

นวนาค

สำหรับประวัติของ คุณฉุน ประภาวิวัฒน นั้นผมได้ข้อมูลจากหนังสือ เพื่อนพ้องแห่งวันวาร ที่ คุณสุชาติ สวัสดิ์ศรี เป็นบรรณาธิการ ได้เขียนเล่าประวัติของท่าน ผ่านบรรณาธิการ โลกหนังสือ ในฉบับระลึกถึงศรีบูรพาและกลุ่มนักประพันธ์คณะสุภาพบุรุษ เมื่อฉบับเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2521 ความว่า

ฉุน ประภาวิวัฒน เกิดเมื่อวันที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2449 ศึกษาจบชั้นมัธยม 8 จากโรงเรียนสวนกุหลาบ และสำเร็จชั้นปริญญาตรีทางบรรณารักษ์จากต่างประเทศ เป็นบรรณารักษ์ผู้ทรงคุณวุฒิคนแรกของประเทศไทย และเป็นบุคคลเดียวที่เรียนปริญญาตรีทางบรรณารักษศาสตร์ หลักสูตรยาวนานถึง 4 ปีเต็ม ณ ประเทศฟิลิปปินส์ และได้ศึกษาต่อ ณ มหาวิทยาลัยมิชิแกน สหรัฐอเมริกา ได้ปริญญาโท M.A. in Library Science เมื่อ พ.ศ. 2486 เป็นมหาบัณฑิตทางบรรณารักษศาสตร์คนไทยคนแรก และมีข้อเขียนอยู่ใน Encyclopedia American, 1984 Annual

ท่านเริ่มงานการประพันธ์มาตั้งแต่ครั้งเรียนอยู่สวนกุหลาบ เรื่องสั้น ธรรมจริยา ในนามปากกา ‘นวนาค’ พิมพ์ครั้งแรกใน สุภาพบุรุษ รายปักษ์ ฉบับสุดท้าย เมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2473 ผลงานการแปล ของท่านมีหลายเรื่อง อาทิ สิทธารถะ เดมิอัน ของ แฮร์มาน์ เฮสเส เหมันตคาม นวนิยายของ ยะสุนาริ คะวาบาตะ เสียงคลื่นที่รื่นรมย์ใจ ของ ยูกิโอะ มิชิมา ท่านเริ่มมีชื่อเสียงครั้งแรกด้วยการเขียนตำนานบุปผชาติลงในหนังสือ สมานมิตรบันเทิง และ เฉลิมวุฒิ ผลงานเรื่องสั้นในหนังสือ ประชาชาติ ในท้ายเล่มของ ‘เทวี’ เรื่องนี้ กล่าวว่า

นวนาคไปอยู่ต่างประเทศเสียตั้งแต่ พ.ศ. 2479 เป็นเวลาติดต่อกันถึง 22 ปี และก่อนไปต่างประเทศ ได้เขียนเรื่องสั้นประทับใจ เป็นการฝากฝีมือไว้ สามเรื่องด้วยกัน คือ มุนียาตรา สายทอง และเทวี

ผมคุ้นเคยผลงานแปลเรื่อง สิทธารถะ ฉบับพิมพ์แรกของสำนักพิมพ์แพร่พิทยา และ มาแต่กระยาหงัน ซึ่งท่านเป็นผู้แปล มาจากเรื่อง Little Lord Fauntleroy / ฟรานเซส ฮอดจ์สัน เบอร์เน็ตต์ ตราบจนได้มีโอกาสอ่านรวมเรื่องสั้นในนามปากกา นวนาค และเคยเขียนถึงเรื่องสั้นบางส่วนของท่านไว้แล้ว ในชุด ‘ดงปาริชาต’ สำหรับในโอกาสนี้จะขอกล่าวถึงเรื่องสั้นอีกชุดหนึ่งคือ เทวี ซึ่งภายหลัง สำนักพิมพ์ของศึกษาภัณฑ์ได้รวมเล่มสมบูรณ์ทั้งสองชุดไว้ด้วยกันในชื่อรวมเรื่องสั้นของนวนาคครับ

สำหรับในคำนำหนังสือเล่มนี้กล่าวว่า เทวี แต่งขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์คำนึงแก่บัณฑิตอักษรศาสตร์รุ่นแรกของจุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย ซึ่งได้รับปริญญาในปี พ.ศ. 2478

เรื่อง : เทวี และเรื่องสั้นอื่นๆ

ผู้เขียน : นวนาค

สำนักพิมพ์ : แพร่พิทยา

ปีที่พิมพ์ : 2505

เล่มเดียวจบ

เรื่อง เทวี บอกเล่าเรื่องราวของนิสิตหนุ่มน้อย เทพ วีรไทย กำลังนั่งทอดอารมณ์อยู่ภายในหอสมุดกลางของจุฬาฯ ในวันพระราชทานปริญญาบัตรที่กำลังจะมาถึง เขามีความสุขและรื่นรมย์ กับสรรพหนังสือรอบกายภายในหอสมุดแห่งนี้ และในห้วงแห่งความคิดถึงบรรดา นักปราชญ์ ราชบัณฑิตต่างๆ นั้นเอง ภายในความเงียบสงัดปราศจากผู้อื่น เนื่องด้วยเป็นวันซ้อมรับปริญญา เขาก็ได้พบกับเทวีโดยไม่คาดฝัน

เทวี นิสิตสาวผู้โสภา ปรากฏตัวขึ้นเงียบๆ และด้วยรสนิยมของหนังสือที่ต้องกัน ทำให้ทั้งคู่มีโอกาสได้สนทนา แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันอย่างเพลิดเพลินทั้ง ด้านวัฒนธรรม ปรัชญาชีวิตจากนักปราชญ์ แนวความคิด ความภาคภูมิใจในมหาวิทยาลัย รวมถึงเป้าหมายในชีวิตของทั้งสองคน และนั่นเอง ทำให้เทพรู้สึกทึ่งในทัศนคติ ความคิดของเทวี ที่แตกต่างจากหญิงสาวคนอื่นที่เขาเคยพานพบ เขาอดนึกไปถึงสตรีในยุคอดีตนางหนึ่งขึ้นมาไม่ได้ เธอผู้มีนามว่า นพมาศ ธิดานางเรวดี กับพราหมณ์โชติรัตน์ แห่งแผ่นดินสมเด็จพระร่วงเจ้า ผู้ไม่เพียงมีแต่ความงามและทรัพย์ แต่ยังสนใจใฝ่รู้ทั้งในคดีโลกและคดีธรรม

ในการสนทนาอันรื่นรมย์ระหว่างสองหนุ่มสาวนั้นเองต้องยุติลง เมื่อได้ยินเสียงเซ็งแซ่ของบรรดาบัณฑิตเดินผ่านเข้ามาในงานทั้งคู่ต่างสัญญาว่าจะมาพบกันอีก ก่อนจะอำลาจากไป

และแล้วหนุ่มน้อย เทพ วีรไทย นิสิตปี 4 คณะอักษรศาสตร์ ก็ตื่นขึ้นมากจาห้วงความฝันอันงดงาม ภายหลังจากที่เขาเหน็ดเหนื่อยจากการช่วยเหลือเตรียมงานรับปริญญาของจุฬาฯ ที่กำลังจะมาถึง หากภาพของเทวีผู้อยู่ในความฝันนี้ ยังตราตรึงในความรู้สึกอย่างมิลืมเลือน เขาเพิ่งพบว่า ตนเองนอนหลับไป พร้อมกับหนังสือนางนพมาศ ที่เปิดค้างอยู่พอดี…

เรื่อง มุนียาตรา เป็นเรื่องราวของการแสวงหาอุดมการณ์ การหลุดพ้นของสองหนุ่มสาว มุนี และ ยาตรา ที่ต่างร่วมเส้นทางกันด้วยมิตรภาพระหว่างชายหญิง โดยปราศจากเรื่องของกามารมณ์เข้ามาเกี่ยวข้อง ทั้งคู่ออกจาริกแสวงหาธรรมในดินแดนกันดาร ณ ที่ต่างๆ

เรื่องสั้นเรื่องนี้ จะเน้นการสนทนาแลกเปลี่ยนทัศนคติระหว่างกัน ของสองหนุ่มสาว ในวัยที่ควรจะแสวงหาความรื่นรมย์แห่งความรัก แต่กลับมองข้ามไปถึงการหลุดพ้นจากความทุกข์ ผ่านแนวคิดของปราชญ์ทั้งโลกตะวันตกและตะวันออกหลายท่าน

เรื่อง อรทัย ในเรื่องนี้ นอกจากจะนำเสนอในรูปแบบเรื่องสั้นแล้ว ภายหลังผู้เขียนยังนำ อรทัย มาเขียนในแบบบทละคร รวมไว้ในเล่มนี้ด้วย สำหรับแนวคิดในการเขียนเรื่องนี้ ผู้เขียนกล่าวในบทนำว่า มาจากความรู้สึกสงสัย ชวนขบและชวนขันว่า หญิงสาวที่ผ่านพิธีแต่งงานแล้ว จะถูกเรียกว่า ‘นาง’ โดยอัตโนมัติทั้งที่อาจจะยังไม่ได้ถูกแตะต้องในความบริสุทธิ์เลยจนนิดเดียว ในขณะที่หญิงอีกหลายคนซึ่งความบริสุทธิ์ไม่มีเหลือในตัวแล้ว โดยไม่เข้าพิธีแต่งงาน ก็ยังคงได้ชื่อว่า ‘นางสาว’ อยู่ ตราบเท่าที่ยังไม่เปิดเผย

อรทัย วรรณาภา เพิ่งเข้าพิธีแต่งงานกับพระมหาศักดิ์มนตรี แต่เพียงชั่วข้ามคืน เหตุการณ์ไม่คาดฝันก็เกิดขึ้น เมื่อพระมหาศักดิ์มนตรีที่มีชื่อว่าเป็นสามีทางนิตินัย ก็ประสบอุบัติเหตุตกม้า จนเสียชีวิต อรทัย คงความเป็นแม่ม่ายเอาไว้ในสายตาของคนทั่วไป ตราบจนเวลาผ่านไปหลายปี และเธอก็ได้พบกับ ธานี วิทยาธร ชายหนุ่มรูปงาม ที่มารักใคร่ชอบพอ แต่ทั้งคุณหญิงมหาสุริยศักดิ์ มารดาและพี่สาวของเขาต่างไม่เห็นด้วย

“พ่อธานี ขอให้ลูกเข้าใจไว้อย่างหนึ่งว่า ลูกจะรักกับอรทัย แม่ไม่ห้าม แต่ในการจะแต่งงานด้วยแล้ว แม่ขอคัดค้านอย่างรุนแรง แม่จะไม่ยอมให้แต่งงานเป็นอันขาด ข้อแรกนั้นก็มิได้เป็นสาวแส้ ซึ่งก็พอจะผ่อนผันได้ แต่ความสำคัญมีอยู่ในเรื่องที่แม่ถือนักถือหนาเลยทีเดียว โบราณเขาว่า ผู้หญิงกินผัว ถือกันว่าเป็นกาลกิณี”

แต่ธานี ซึ่งเรียนจบจากเมืองนอกมา ไม่เห็นด้วย เขาพยายามแย้งมารดาอย่างสุภาพและด้วยเหตุผล

“ในเรื่องของคุณอรทัย ก็ไม่ใช่ความผิดของเธอเลย การที่สามีของเธอต้องประสบมรณกรรมอย่างน่าสังเวช ก็มิได้เพราะการกระทำของเธอ คิดดูให้ดี เธอควรอยู่ในภาวะที่ใครๆ พึงสงสารอย่างยิ่ง เพราะต้องเป็นหม้ายหลังแต่งงานเพียงวันเดียว และยังมิทันเสียความบริสุทธิ์กับสามีเลย แต่คำนำหน้าชื่อว่า ‘นางสาว’ ต้องหลุดออกอย่างน่าสงสาร นับแต่วาระนั้นก็ถูกเรียกว่าเป็น ‘นาง’ ทันที ในขณะที่ผู้หญิงอีกหลายร้อยหลายพันที่ถูกทำลายความบริสุทธิ์มาแล้ว แต่ไม่เคยนั่งในพิธีแต่งงาน ก็ยังถูกเรียกว่านางสาวอยู่ คิดดูให้ดีแล้วก็เป็นสิ่งที่น่าขบขันนะขอรับคุณแม่ ทั้งหมดนี้เป็นความผิดของประเพณีต่างหาก หรือถ้าจะพูดให้ถูกต้องที่สุด ก็เป็นความผิดของผู้บัญญัตินิยมสนับสนุนประเพณีเช่นนี้”

ในที่สุดธานีก็ฝ่าฝืนความประสงค์ของมารดา เขาเชื่อมั่นในความรักที่มีต่ออรทัย และตัดสินใจที่จะร่วมชีวิตกับเธอ ทว่า

อรทัยซึ่งไม่ต้องการให้ธานีที่เธอรักกับมารดาของเขาต้องผิดใจกัน หญิงสาวตัดสินใจหลีกลี้หนีหน้าเขาไปเสียก่อนแล้ว พิทยา เพื่อนสนิทของธานี ที่เห็นใจสหายของเขาและมีโอกาสพูดคุยกับอรทัยเป็นคนสุดท้าย บอกเขาว่า

“โปรดอย่าคิดที่จะติดตามไปเลย เธอให้เหตุผลว่าการทำเช่นนี้มิได้เป็นการตัดน้ำใจไมตรี แต่เพราะเหตุที่มีความรักอยู่หนักหนา จึงหลีกลี้ไปด้วยการเสียสละ เพื่อความสวัสดิภาพและราบรื่นระหว่างคุณแม่และธานี…”

สำหรับเรื่องสุดท้าย ที่ผมจะนำมาเขียนถึง เป็นเรื่องสั้นๆ น่ารัก ที่ชื่อ ‘สายธารบนคานทิพย์’

สายธารบนคานทิพย์ บอกเล่าเรื่องราวผ่าน ‘ข้าพเจ้า’ ซึ่งมีบิดามารดาอาศัยอยู่ด้วยกันจนถึงบั้นปลายชีวิต โดยที่ข้าพเจ้าอาศัยอยู่อีกบ้านหนึ่ง แต่แวะเวียนไปหาท่านทั้งสองอยู่บ่อยครั้ง พ่อและแม่อยู่กันมานาน มีทั้งเอาใจใส่กันบ้าง ทะเลาะกันบ้าง และที่สำคัญ เวลาทะเลาะกัน ต่างก็เป็นคนแก่ที่มีทิษฐิ ไม่มีใครยอมแพ้ใคร

จนกระทั่งวันหนึ่ง เมื่อข้าพเจ้าแวะไปเยี่ยมท่านซึ่งกำลังทะเลาะกันพอดี พบว่าต่างขุดคุ้ยเรื่องสมัยยี่สิบห้าปีที่แล้ว มาเพื่อเอาชนะกันให้ได้ หลังจากเต้นแร้งเต้นกา แสดงความโกรธออกมา แม่ก็เอ่ยปากไล่พ่อ ด้วยอารมณ์โกรธ และพ่อก็ปึงปังออกไป

หากคราวนี้แหละ เมื่อเวลาผ่านไป และฝนก็เริ่มตกลงมา คุณพ่อก็ยังไม่ยอมกลับมาสักที ข้าพเจ้าพยายามไปตามหา ตามที่ต่างๆ เช่นร้านอาหารที่ท่านเคยไปสังสรรค์กับเพื่อน แต่ก็ไม่พบ ยิ่งเมื่อกลับมา ก็เห็น ‘แม่’ คนออกปากไล่ เริ่มมีท่าทีห่วงกังวลมากขึ้น จนเกือบสี่ทุ่ม คุณแม่ก็โศกเศร้า คร่ำครวญหา

แต่แล้วทันใดนั้นเอง ประตูบ้านก็เปิดออก และคุณพ่อก็ยืนอยู่ตรงหน้า พร้อมกับห่อกระดาษเล็กๆ ในมือ ท่านเอ่ยทัก “สวัสดี” อย่างที่ชอบใช้เสมอ

“คุณพ่อไปไหนมาครับ?”

“ฉันไปดูหนังมา ที่โรงเฉลิมไทย หนังสีสดใสและสวยดี แต่มันเคืองตาชอบกล”

 และแล้วทั้งคุณพ่อกับคุณแม่ก็ได้กลับมาคืนดีกันอีกครั้ง พร้อมกับของขวัญปลอบใจของคุณพ่อ ที่รู้ใจคุณแม่เสมอว่าชอบอะไร แม้จะโกรธกันแค่ไหน ก็อดไม่ได้ที่จะซื้อมาฝากทั้งเพื่อง้องอนในแบบของท่าน และทำให้คุณแม่ถึงกับยิ้มได้ทั้งน้ำตา

มันทำให้ข้าพเจ้ารู้ว่า ท่านทั้งสองก็ยังรักกัน และขาดกันไม่ได้อยู่ดี ไม่ว่าจะดูเหมือนทะเลาะกันรุนแรงสักเพียงไหนก็ตาม

งานเขียนของนวนาคส่วนใหญ่จะไม่เน้นพล็อตเรื่องเป็นหลัก แต่จะเป็นงานเขียนที่เน้นกระแสสำนึก ความคิด และทัศนคติของตัวละคร ที่ถกเถียงสนทนาต่อกัน อันเป็นอีกสไตล์หนึ่งที่น่าสนใจไม่น้อยเลยทีเดียว

สำหรับปกด้านล่าง คือรูปกลุ่มคณะนักเขียนสุภาพบุรุษ ซึ่ง คุณฉุน ประภาวิวัฒน คือผู้ที่อยู่ในภาพริมด้านบนหมายเลข 17 ครับ

Don`t copy text!