ริมฝั่งแม่ระมิงค์

ริมฝั่งแม่ระมิงค์

โดย : หมอกมุงเมือง

Loading

บรรณาภิรมย์ โดย หมอกมุงเมือง คอลัมน์ที่อ่านเอาขอมอบความรื่นรมย์ให้กับผู้อ่านด้วยภาพปกสวยๆ และเนื้อเรื่องในแบบต่างๆ ของนักเขียนชั้ครูที่เคยผ่านมือ ผ่านตาและผ่านใจ เพื่อให้ทุกคนได้ร่วมรำลึกถึงผลงานของนักเขียนแต่ละท่านให้พอหายคิดถึงแม้เวลาจะผ่านไปแล้วเนิ่นนาน ภาพและตัวอักษรจะปรากฏให้เห็นอีกครั้งในยุคของการอ่านออนไลน์

**************************** 

อำพัน ไชยวรศิลป์ หรือ อ.ไชยวรศิลป์ เกิดเมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2461 เป็นคนเชียงใหม่โดยเชื้อสาย แต่เกิดที่จังหวัดแพร่ เพราะบิดาย้ายมารับราชการที่นั่น ท่านเป็นศิษย์เก่าโรงเรียนดาราวิทยาลัย

อ.ไชยวรศิลป์ เริ่มเขียนหนังสือครั้งแรกเมื่ออายุ 15 ปี ด้วยเรื่องสั้น ‘หนทางรัก’ ลงใน เดลิเมล์วันจันทร์ ยุคปกเหลือง โดยมี ม.ล. ฉอ้าน อิศรศักดิ์ เป็นบรรณาธิการ ต่อมาจึงเริ่มเขียนนวนิยายขนาดยาว ‘ฉันเขียนเรื่องนี้เพื่อเธอ’ และ ‘แม่สายสะอื้น’ ลงใน สยามสมัย สำหรับนวนิยาย ริมฝั่งแม่ระมิงค์ เป็นนิยายที่เขียนมาตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2498 ที่เป็นที่รู้จักกันดีในหมู่นักอ่านยุคนั้น มีการตีพิมพ์หลายครั้ง (ครั้งล่าสุดคือสำนักพิมพ์ปอย ในเครือบ้านมงคล เมื่อ ปี พ.ศ. 2554) และ นำไปสร้างเป็นภาพยนตร์ เมื่อปี พ.ศ. 2515 เป็นนิยายอีกเรื่องที่สะท้อนภาพคนเมืองเหนือและชีวิต ความเป็นอยู่ของชาวล้านนา ด้วยฝีมือการประพันธ์ของนักเขียนสตรีชาวล้านนา เช่นกัน

ริมฝั่งแม่ระมิงค์ บอกเล่าเรื่องราวชีวิตตั้งแต่แรกเริ่มของ นุช นฤนาท สาวน้อยที่พ่อแม่แยกทางกัน นางชอุ่มมารดาของเธอไปแต่งงานมีครอบครัวใหม่ที่กรุงเทพฯ ส่วนบิดาก็กลายเป็นคนพิการอาศัยอยู่กับน้องชายที่ลำปาง เด็กสาวเรียนสำเร็จการศึกษาจากวิทยาลัยพยาบาลเชียงใหม่ พร้อมเพื่อนๆ ที่รักใคร่ในนิสัยใจคอของเธอ แต่ในวันรับปริญญาที่ต้องรับเพียงลำพังนั้นเอง เด็กสาวก็อดสะเทือนใจกับชีวิตของตนจนต้องมาแอบร้องไห้ แต่ดูเหมือนจะมีใครบางคน มองเห็นภาพนั้นพอดี

ชายหนุ่มร่างสูงใบหน้าคมเข้ม เข้ามาถามไถ่ด้วยความเป็นห่วงแม้ว่าจะไม่รู้จักกันมาก่อน แต่ด้วยทิษฐิมานะทำให้เธอตอบปฏิเสธความหวังดีของเขาไป และคิดว่าคงไม่มีโอกาสได้พบกับบุรุษแปลกหน้าผู้นั้นอีก จากนั้นเธอจึงเดินทางกลับมาดูแลนายมนัส บิดาผู้พิการอยู่ที่เมืองลำปาง

นายมนัส มีน้องชายคือมนูญซึ่งอยู่กินกับนางพยอม และมีลูกชายหญิงคือนคร นริศ เยาวภา และเยาวนิจ ซึ่งครอบครัวของมนูญ ก็รับอุปการะดูแลพี่ชาย แม้ว่านางพยอม จะไม่เห็นด้วยสักเท่าใด และยิ่งเมื่อนุชกลับมาอาศัยอยู่ร่วมชายคาบ้าน ทำให้เธอยิ่งตั้งแง่รังเกียจอีกฝ่าย ทั้งที่นุช พยายามช่วยเหลือทุกอย่างภายในครอบครัว เด็กสาวทำงานที่อำนวยการแพทย์ โดยมี นายแพทย์ประวัติ ศุขะวัฒน์ ที่ประทับใจในความตั้งใจทำงานของหญิงสาว หมอประวัติมีเพื่อนสนิท คือ พ่อเลี้ยงบุรินทร์ มหาพรหม

“พ่อเลี้ยงป่าไม้ภาคเหนือที่จบจากโรงเรียนป่าไม้ปิมมานา ประเทศพม่า ที่ยังหนุ่มและโสด เจ้าของฉายาเจ้าพ่อฝายหลวงของชาวบ้านป่าตลอดทางสายฝาง เจ้าของคฤหาสน์เวียงพรหมอันสง่างามเหนือฝั่งแม่น้ำปิง แล้วก็เทพบุตรสังคมเท้าไฟ อันเป็นที่คลั่งไคล้ของเจ้าหล่อนชาวสังคมหลายจังหวัด มันมากเกินไปที่คุณสมบัติเหล่านี้มารวมกันอยู่กับผู้ชายคนหนึ่ง ซึ่งเป็นรูปเป็นพระเอกฮอลีวูดเสียด้วย”

ในขณะที่ นุชก็กำลังเผชิญกับปัญหาชีวิตอย่างหนัก คุณนายพยอมและลูกสาวของเธอ พยายามหาเรื่องระรานจนนุชทนไม่ได้ หญิงสาวจึงตัดสินใจเดินทางไปอยู่กับมารดาที่กรุงเทพฯ แต่แล้ว ด้วยความสวยงามอ่อนหวานของเธอกลับนำเภทภัยมาให้ เมื่อบิดาเลี้ยงเกิดพึงใจจนหาทางลวนลามนุช เธอจึงตัดสินใจเดินทางกลับมายังเชียงใหม่อีกครั้ง ในจังหวะที่หมอประวัติติดต่อมาหาเธอพอดี

พ่อเลี้ยงบุรินทร์ต้องการหาพยาบาลมาช่วยดูแลแม่เฒ่าบัวระมวญพอดี เขาติดต่อผ่านหมอประวัติ และสหายของเขาก็แนะนำนุชให้รู้จัก และเมื่อเผชิญหน้ากันอีกครั้ง หญิงสาวจึงจดจำได้ว่า เขาคือชายหนุ่มผู้อารีคนนั้นนั่นเอง ส่วนบุรินทร์ก็ยังนึกถึงท่าทีเย็นชาเหมือนเย่อหยิ่งของเธอ ที่เขายังจดจำได้ไม่มีวันลืม!

การเดินทางครั้งสำคัญไปยัง คฤหาสน์เวียงพรหม ริมฝั่งแม่ปิง พร้อมกับพ่อเลี้ยงหนุ่มใหญ่ผู้นี้จึงเริ่มต้นขึ้น เธอมีโอกาสได้พบกับนายทหารเสรีไทย ชื่อ สมภพ คงชีพ เมื่อเขารู้ว่าเธอกำลังเดินทางไปเวียงพรหม จึงฝากความรำลึกถึงไปยังสตรีอีกผู้หนึ่ง ที่เคยช่วยชีวิตเขาระหว่างโดดร่มลงมาปฏิบัติภารกิจที่เชียงใหม่

เธอผู้มีชื่อว่า บุศรา มหาพรหม

ที่เวียงพรหมนี้เอง หญิงสาวได้เข้าทำงานดูแลแม่เฒ่าบัวระมวญ สตรชราวัยแปดสิบ ที่ให้ความรักเอ็นดูต่อเธอ และมีโอกาสได้พบกับบุศรา จนล่วงรู้ว่า หญิงสาวผู้เป็นน้องของพ่อเลี้ยงบุรินทร์ หลงรักชอบพอกับสมภพ แต่ด้วยอุปสรรคต่างๆ ทำให้ทั้งคู่ต้องพลัดพรากกันอย่างน่าเวทนา

ในคฤหาสน์ริมน้ำปิงหรือแม่ระมิงค์นี้เอง เธอจึงล่วงรู้ว่าภายใต้บุคลิกเคร่งขรึมของบุรินทร์ มีหญิงสาวผ่านเข้ามาให้เขาเลือกมากหน้าหลายตา รวมทั้ง วราภรณ์ สุพรรณี สาวชาวเวียง ข่ายแก้ว ลูกสาวเพื่อนของแม่เฒ่า และดาววิภา ธิดาของแม่เลี้ยงจันทร์ทิพย์ที่พร้อมจะแต่งงานกับเขา หากแต่บุรินทร์ก็คบหาบรรดาสตรีเหล่านั้นแต่เพียงผิวเผิน เขาเองมีปมในใจในอดีตเกี่ยวกับผู้หญิง ที่ทำให้เหมือนเป็นคนไม่มีหัวใจให้กับใครสักคน ตราบจนกระทั่งได้พบกับนุช

อันใดเล่าที่เป็นเหตุจูงใจให้เขาต้องมาสนใจกับผู้หญิงเล็กๆ คนหนึ่ง ซึ่งในสายตาคนทั่วไปเห็นว่า ไม่มีค่าต่ำต้อยด้วยเกียรติ บุรินทร์สงสัยตัวเองอยู่เหมือนกัน อาจจะเป็นเพราะความไม่เหมือนใครก็เป็นได้ ที่ทำให้เขาต้องสนใจในชีวิตของนางพยาบาลผู้มีวัยอ่อนกว่าเขาตั้งกว่ารอบ และยังอยู่ในตำแหน่งลูกจ้างของเขาอีกด้วย

ผู้หญิงเล็กๆ คนนี้ มีคุณค่าอยู่ในตัวเอง หล่อนไม่ใช่คนอ่อนแอชนิดหวังพึ่งคนอื่น ขาดจริตสาวซึ่งเป็นสิ่งสำคัญสำหรับผู้หญิงทั่วไป มองใครก็มองตรงๆ ด้วยตากลมโต ซึ่งมักจะปรากฏเครื่องหมายคำถามเสียเรื่อย…

แม้ว่าจะเริ่มต้นรู้จักกันผ่านปราการแห่งอคติ แต่เมื่อเวลาผ่านไป เขาได้รู้ความจริงและเนื้อแท้นิสัยใจคอของเธอจนกลายเป็นความสงสาร เห็นใจ ในโชคชะตา และกว่าจะรู้ตัวอีกครั้ง เจ้าพ่อฝายหลวงผู้ยิ่งใหญ่ก็พบว่าตนเองหลงรักสาวน้อยผู้นี้เข้าเสียแล้ว!

เรื่องราวใน ริมฝั่งแม่ระมิงค์ ยังเข้มข้นด้วยเหตุการณ์ต่างๆ ที่ผ่านเข้ามา เพื่อทดสอบความรักของสองหนุ่มสาวว่ามั่นคงต่อกันเพียงใด ทั้งบังอร อดีตภรรยาของ เจ้าพ่อฝายหลวงที่มาแสดงตัวภายหลังการหมั้นหมายของทั้งคู่ จนเกือบทำให้ความสัมพันธ์รักนั้นต้องสะบั้นลง หรือ เหตุการณ์ไฟไหม้จนทำให้บุรินทร์ต้องเปลี่ยนสภาพจากพ่อเลี้ยงผู้ยิ่งใหญ่ กลายเป็นคนยากจนในพริบตา ซ้ำยังเกิดอุบัติเหตุต่อเขาอีก ในห้วงเวลานั้นเอง ได้พิสูจน์ถึงความรักความมั่นคงระหว่างกันได้ชัดเจนที่สุด

 

เรื่อง : ริมฝั่งแม่ระมิงค์

ผู้เขียน : อ. ไชยวรศิลป์

สำนักพิมพ์ : แพร่พิทยา

ปีที่พิมพ์ : 2498

สองเล่มจบ

เรื่องราวใน ริมฝั่งแม่ระมิงค์ ยังบอกเล่าเรื่องราวในประวัติศาสตร์ที่คู่ขนานไปกับช่วงเวลาของเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์เสรีไทย เรื่องราวการเมืองของ จอมพล ป. ในยุคนั้น และรายละเอียดต่างๆ เสมือนเป็นบทบันทึกไปพร้อมๆ กัน

เช่น ฉากที่นางเอกอ่านหนังสือพิมพ์ระหว่างเดินทางมากับรถไฟสายลำปาง-เชียงใหม่

“จอมพล ป. กลับทำเนียบแล้ว ยึดกรมโฆษณาและกองสัญญาณกลับคืน วิทยุทหารเรือถูกทำลายสิ้น ออกประกาศจับผู้ก่อการ 24 มิถุนา…”

นอกจากนี้ ภายในเรื่องราว ริมฝั่งแม่ระมิงค์ ยังสะท้อนความรักของตัวละครแต่ละตัว ที่ต่างมีเหตุผลในความรัก แตกต่างกัน เช่น ความรักของบุษราที่มีต่อเสรีไทยอย่างสมภพ

ไม่เคยมีสักขณะเดียวที่บุศราจะลืมนึกถึงเขา สมภพ คงชีพ บุรุษเคราะห์ร้ายที่หล่อนได้ฝังใจรักมาตั้งแต่เริ่มจะรู้จักรักเป็นครั้งแรก และจนบัดนี้ ยิ่งในวาระที่ชีวิตของเขาเข้าสู่ในที่คับขัน ความรักนั้นก็ยิ่งความเร่าร้อนกระวนกระวายหนักขึ้น แต่มิใช่เร่าร้อนในอันที่จะสมรสหรือสมรัก หากเป็นความเร่าร้อนในอันที่จะปก้องกันให้เขาพ้นจากภยันตราย ทั้งๆ ที่มองเห็นแต่ความมืดมัวข้างหน้า บุศราก็ยังไม่วายที่จะรักและห่วงใยประหนึ่งว่า ความปลอดภัยของเขาก็คือความปลอดภัยของตนเอง

และท้ายสุด แม้ว่าสมภพจะถูกยิงตายระหว่างการหนีข้ามไปยังแผ่นดินอินโดจีน ในความโศกเศร้านั้น บุศราก็ได้รับกำลังใจจากหมอประวัติ นายแพทย์หนุ่มที่แอบหลงรักนุช ภายหลังจากที่เขาเคยอกหักจากรักแรกของผู้หญิงอีกคนหนึ่งมาแล้ว

ผมเคยผ่านการสูญเสียคนรัก เคยผ่านความผิดหวังมาไม่น้อยกว่าสองครั้ง แต่ผมไม่ยอมแพ้ เพราะอะไรหรือคุณบุษรา เพราะผมยังคิดถึงผู้อื่น คิดถึงงานของหน้าที่ ซึ่งจะต้องทำนั่นเอง ในชีวิตของผมไม่เคยได้พบความรักแท้ แม้ว่าผมจะมีความรักชนิดที่ยอมเสียสละแม้ชีวิต แต่เผอิญคนที่ผมรักเขาต้องการสิ่งอื่น ไม่ใช่หัวใจรักและตัวผม จึงต้องเสียเขาไป แต่มาครั้งที่สอง ผมก็ต้องผิดหวังอีก คล้ายกับเราปลูกดอกไม้รดน้ำพรวนดิน ทะนุถนอม พอออกดอกมาให้ชม ก็ยังไม่กล้าเด็ดเพราะเสียดาย แต่แล้วก็มีผู้มายกเอาดอกไม้นั้นไป…

และบุษราก็อดสงสัยไม่ได้ว่า คนที่เสียคนรักไป ทำอย่างไรจึงจะไม่เป็นทุกข์เพราะรักนั้น

ก็คิดเสียว่าเขาไปมีความสุขแล้ว เรารักเขาปรารถนาที่จะให้เขามีความสุข ก็ควรยินดีในความสุขของเขา

“นั่นในกรณีของหมอเองใช่ไหมคะ? แต่ในกรณีของดิฉัน มันช่วยไม่ได้ ดิฉันทำใจให้เชื่อไม่ได้ว่า เขามีความสุข เพราะความตายเป็นสิ่งที่เราไม่เคยลอง และลองไม่ได้”

“ก็ต้องคิดว่าเขาตายจากเราไปแต่ร่างกาย ส่วนความรักของเขายังอยู่กับเราเสมอ อย่างสมภพตายไปเพราะเชื่อมั่นในอุดมการณ์ของเขา ความตายของเขาก็เท่ากับเป็นวีรกรรม การจากระหว่างคนที่รักกันนั้นเป็นการจากแต่ตัว ร่างกายอาจสูญสลายไป แต่คุณความดี ความรักและศรัทธาที่เคยมีต่อกัน หาได้สลายไปด้วยไม่ บุศรา จงภูมิใจเสียเถิดว่าคุณเป็นผู้โชคดีที่สุดแล้ว ที่เกิดมาได้พบรักแท้ซึ่งในปัจจุบันนี้หาได้ยากนัก”

สำหรับความรักของพ่อเลี้ยงบุรินทร์ นั้นเล่า?

แต่คนเรามักจะหนีไม่พ้นธรรมชาติ ซึ่งเรียกกันว่าความรัก และเมื่อได้รักแล้ว ส่วนมากจะหนีจากอำนาจเหตุผลไปสู่ความไร้เหตุผล และการตามใจตนเองความเย้ายวน และสิ่งลวงตาที่สวยงาม ด้วยเหตุนี้ ฉันจึงต้องสูญเสียสิ่งมีค่าซึ่งฉันควรจะได้เป็นเจ้าของอย่างไม่มีวันที่จะได้คืน

และเมื่อเขาได้พบกับนุช หญิงสาวที่เขารู้ว่าได้มอบหัวใจรักให้เจ้าพ่อฝายหลวง ก็ไม่รีรอที่จะขอเธอแต่งงาน และนุชเอง ก็รู้หัวใจของตัวเองดีว่าเธอรู้สึกอย่างไรต่อเขา มาโดยตลอด…

เพราะว่าตรงหน้าเธอในวินาที มีตัวตนแท้ๆ ของบุรินทร์ปรากฏอยู่ เป็นบุรินทร์ที่มีเลือดมีเนื้อ มีความรู้สึกเยี่ยงสามัญชนทั่วไป คำพูดของเขา เสียงของเขา สายตาและกิริยาของเขา ประจักษ์ชัดถึงความพิศวาส ความเมตตาปรานีและความสุจริตจริงใจ ก็ไฉนเล่า เธอจะต้องหวาดวิตกกับเหตุการณ์ที่ยังมาไม่ถึง เขาจะเป็นอะไรไม่สำคัญเสียแล้วในขณะนี้ สำคัญแต่อย่างเดียว คือเขาเป็นที่รักของเธอ และเธอก็รักเขา ไม่ว่าเขาจะเป็นจักรพรรดิหรือยาจก ไม่ว่าจะเป็นยอดชายหรือไอ้มหาโจร เธอพร้อมแล้วที่จะเดินร่วมทางกับเขา ท่ามกลางเสียงหัวเราะเยาะเย้ยหรือเสียงสาปแช่งมุ่งร้ายหมายขวัญของผู้เป็นศัตรู…

ริมฝั่งแม่ระมิงค์ เป็นนวนิยายอีกเรื่องหนึ่ง ที่อ่านแล้วได้รับทั้งความรื่นรมย์จากรสแห่งความรักที่แตกต่างกันของแต่ละตัวละคร สนุกไปกับเรื่องราวอันเข้มข้นของชีวิตตัวละคร แทรกผ่านเรื่องราวประวัติศาสตร์การเมืองในยุคต้นพุทธกาล และผสมผสานด้วยกลิ่นอายของเมืองเหนือ อันเป็นอัตลักษณ์งานเขียนของ อ.ไชยวรศิลป์ อย่างชัดเจน

Don`t copy text!