นางบาป

นางบาป

โดย : หมอกมุงเมือง

Loading

บรรณาภิรมย์ โดย หมอกมุงเมือง คอลัมน์ที่อ่านเอาขอมอบความรื่นรมย์ให้กับผู้อ่านด้วยภาพปกสวยๆ และเนื้อเรื่องในแบบต่างๆ ของนักเขียนชั้นครูที่เคยผ่านมือ ผ่านตาและผ่านใจ เพื่อให้ทุกคนได้ร่วมรำลึกถึงผลงานของนักเขียนแต่ละท่านให้พอหายคิดถึงแม้เวลาจะผ่านไปแล้วเนิ่นนาน ภาพและตัวอักษรจะปรากฏให้เห็นอีกครั้งในยุคของการอ่านออนไลน์

****************************   

ผมรู้จักผลงานของ คุณวิลาส มณีวัต จากงานเขียนสารคดีหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็น ชุดโฉมหน้า อย่าง โฉมหน้านักประพันธ์ โฉมหน้าอังกฤษ หรือ อารมณ์ขันของคึกฤทธิ์ ที่มีสไตล์การเขียนเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวชวนอ่าน หากสำหรับ ผลงานในรูปแบบนวนิยายแล้ว พอทราบมาว่า นวนิยายเรื่องยาวที่ท่านเขียนน่าจะมีเพียง นางบาป เรื่องนี้เป็นเรื่องแรก และภายหลังจากนั้น ก็น่าจะมีไพรัชนิยายอีกเรื่องหนึ่งที่เขียนขึ้นในเวลาต่อมาคือ ความรักไม่มีพรมแดน อีกเรื่องหนึ่ง

สำหรับประวัติของ คุณวิลาศ มณีวัต นั้น ท่านเกิดเมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2467 ที่อำเภอเมือง จังหวัดสุราษฏร์ธานี เป็นบุตรคนโตในจำนวนสี่คนของ นายวัลลภ มณีวัต และท่านได้สมรสกับ คุณหญิงสุรีพันธ์ มณีวัต หรือ นักเขียนนวนิยายชื่อดัง ที่รู้จักกันในนาม นิตยา นาฎยะสุนทร นั่นเอง

หลังจากจบการศึกษาจากคณะบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วิลาศ มณีวัต ได้เข้าทำงานทั้ง ผู้จัดการฝ่ายประชาสัมพันธ์บริษัท เอสโซ่ ประเทศไทย ผู้ประกาศวิทยุ บี.บี.ซี. กรุงลอนดอน ระหว่างปี พ.ศ. 2497-2502 บรรณาธิการคนแรกของนิตยสาร ชาวกรุง และอื่นๆ อีกมากมาย ในด้านงานเขียนนั้น เรื่องสั้นเรื่องแรกได้ลงในหนังสือพิมพ์ นิกรวันอาทิตย์ พ.ศ.2488 ในนามปากกา ‘วิวัต’ นอกจากนี้ ยังมีนามปากกาอื่นที่ใช้เขียนผลงาน ได้แก่ โอฬาร ใช้เขียนวรรณกรรมวิจารณ์ วิไล วัชรวัต เขียนนิยายที่ใช้ฉากต่างแดน นภาพร เขียนข้อเขียนทางปรัชญา และฉางกาย ใช้เขียนงานประเภทบัญชรสั้นๆ ในหนังสือพิมพ์รายวัน

เรื่อง : นางบาป

ผู้เขียน : วิลาศ มณีวัต

สำนักพิมพ์ : สายลม

ปีที่พิมพ์ : 2497

เล่มเดียวจบ

สำหรับ ‘นางบาป’ นิยายขนาดยาวเรื่องนี้ บอกเล่าเรื่องราวของชายหนุ่มรูปงามที่พรั่งพร้อมด้วยฐานะ รูปสมบัติ และชาติตระกูล อย่าง ชัชวาลย์ พรพิสุทธิ์ บุตรชายคนเดียวของหลวงบรรหาร เจ้าของกิจการห้างตะวันออกวิทยุ ในย่านสามยอด

ชัชวาลย์ใช้ชีวิตชายหนุ่มเจ้าสำราญ โดยไม่ต้องรับผิดชอบงานใดๆ ให้ยุ่งยาก ในเมื่อเขามีเลขาคอยทำหน้าที่จัดการทุกอย่างให้เรียบร้อย และนอกจากนี้ ยังมีคนรักสาวสวยที่ชื่อศศิธรอีกด้วย เสียแต่ว่าศศิธรเป็นคนขี้หึงอย่างร้ายกาจ จนทำให้ความสัมพันธ์ที่ควรจะคืบหน้าไปได้มากกว่านี้ต้องหยุดชะงักลง ศศิธรประชดด้วยการหันไปควงเศรษฐีหนุ่มกงทิพย์แทน ส่วนชัชวาลย์เองก็มีโอกาสได้รู้จักกับบุหงา หญิงสาวอีกคนหนึ่งที่มาสมัครงานที่บริษัทโดยบังเอิญ

บุหงาไม่ใช่หญิงสาวที่มีหน้าตาสะสวยสำหรับตำแหน่งงานที่เขาเปิดรับ จนทำให้ชัชวาลย์ เอ่ยปฏิเสธ แต่อะไรบางอย่างในตัวเธอ ทำให้เขาได้พูดคุย และเกิดความรู้สึกพึงพอใจมากขึ้นทุกขณะ ความชอบและรสนิยมในการอ่านหนังสือ บุหงาอ่าน ‘แนวรบด้านตะวันตก เหตุการณ์ไม่เปลี่ยนแปลง’ ทำให้ได้เรียนรู้ชีวิตแปลกๆ ที่น่าสนใจ และต่อมา เมื่อได้อ่าน ‘เมื่อ 25 น.’ ซึ่งเป็นเรื่องการเมืองผสมกับเรื่องราวอันหลากหลาย ในขณะทีชัชวาลย์เอง ก็มีความฝันที่จะได้แต่งหนังสือขึ้นมา จึงทำให้ทั้งคู่เริ่มเกิดความรักความผูกผันกันขึ้น ในขณะที่ศศิธรเองก็ยังรักชัชวาลย์ อยู่ จึงพยายามขัดขวางโดย ไปแสดงตัวกับบุหงา หากเมื่อไม่ได้ผล หล่อนจึงตัดสินใจไปฟ้องกับหลวงบรรหาร บิดาของเขา

หลวงบรรหารในวัยชรา และมีภรรยาใหม่คืออรุณี ซึ่งเป็นแม่เลี้ยงวัยสาว ก็ไม่พอใจ เพราะกลัวว่าบุหงาจะมาปอกลอกบุตรชายของท่าน จึงเรียกชัชวาลมาเตือน และยกตัวอย่างครอบครัวที่แต่งงานกันเพราะอุดมคติ แต่ไม่ได้มองในปัจจัยอื่นเลย

แต่ด้วยนิสัยของชัชวาลย์ ในที่สุดเขาก็ยอมสละทิ้งมรดกทั้งหมด เพื่อมาใช้ชีวิตอยู่กับ บุหงา ที่จังหวัดเล็กๆ แห่งหนึ่งชายทะเล โดยมีสหายที่ติดต่ออยู่ประจำคือดิเรก ซึ่งเป็นเพื่อนนักหนังสือพิมพ์ ที่มีปัญหาครอบครัวกับอุมา ภรรยาของเขา อยู่พอดี

ในเวลานั้นเองที่ชัชวาลย์เริ่มมีความคิดที่จะเขียนนิยาย จากประสบการณ์ชีวิตตนเองเกิดขึ้น เป็นความรักที่หอมหวานระหว่างเขากับบุหงา โดยไม่รู้เลยว่าอนาคตข้างหน้าเขาจะต้องเผชิญกับปัญหาการอยู่ร่วมกัน และปรับตัวเข้าหากันมากเพียงใด

ดิเรก ไปมาหาสู่ที่บ้านของชัชวาลย์บ่อยครั้ง เขาสนิทสนมกับนงลักษณ์ เพื่อนสาวของ บุหงา แม้ว่าตนเองจะมีภรรยาแล้วก็ตาม แต่ความระหองระแหงในครอบครัว ก็ทำให้เขายิ่งรู้สึกเบื่อหน่ายมากยิ่งขึ้น ในขณะที่ชายหนุ่มเองก็เริ่มเกิดความเคลือบแคลงในตัวภรรยา เมื่อมีชายอย่างนายหาญ ช่างตัดผมหนุ่มใหญ่ที่เสน่ห์แรง เข้ามาภายในชีวิต

และนอกจากนี้ ชายหนุ่มยังต้องเผชิญกับปัญหาความเจ็บป่วยของหลวงบรรหารผู้เป็นบิดา ที่เขาล่วงรู้เรื่องราวจากดิเรก หากก็ไม่สามารถจะไปเยี่ยมเยียนดูแลท่านได้เลย เพราะคุณอรุณี มารดาเลี้ยง พยายามขัดขวาง อรุณีสนิทสนมกับศศิธร อดีตคนรักของเขา แต่แรกหล่อนก็สนับสนุนเขากับศศิธรให้เป็นคนรักกัน เพราะหวังว่าสมบัติที่ได้รับมาจะไม่ตกไปไหน แต่เมื่อ ชัชวาลย์หันไปอยู่กินกับบุหงาแทน และศศิธรก็เลือกไปใช้ชีวิตกับกงทิพย์เสียแล้ว ก็ไม่จำเป็นที่หล่อนจะต้องญาติดีกับลูกเลี้ยงหนุ่มอีกต่อไป ซ้ำร้ายหล่อนยังใส่ไฟให้หลวงบรรหารกับชัชวาลย์ผิดใจกันอีก โชคดีที่หลวงบรรหารได้พบกับดิเรกในวันหนึ่ง ทำให้สหายของเขาได้ช่วยแก้ไขปัญหานี้ จนทำให้หลวงบรรหารเข้าใจลูกชายได้ในที่สุด แม้ว่าทั้งคู่จะไม่ได้มีโอกาสพบกันเลย ตราบจนกระทั่งท่านเสียชีวิต…

และพินัยกรรมทั้งหมดก็ยกให้กับอรุณี และชนิดา ซึ่งเป็นน้องสาวของชัชวาลย์ โดยที่เขาไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆ ทั้งสิ้น รวมถึง บริษัทตะวันออกวิทยุ ที่เขาเป็นผู้ดูแลกิจการแทนหลวงบรรหารมาตลอดด้วยเช่นกัน เรื่องนี้เองทำให้ชัชวาลย์เสียใจมาก จนดิเรกมาเล่าเรื่องที่ได้พบกับหลวงบรรหารก่อนเสียชีวิต และท่านดำริจะเปลี่ยนพินัยกรรมเดิม หลังจากเข้าใจในตัวลูกชายอย่างเขาอย่างถ่องแท้ ทำให้ชัชวาลย์เชื่อว่ายังมีพินัยกรรมฉบับสุดท้ายที่ยังไม่ได้เปิดอ่านอยู่

นิยายของเขากำลังดำเนินไปอย่างเข้มข้นและเป็นที่ชื่นชอบของผู้อ่าน และในเวลานั้นเองชัชวาลย์ก็อดไม่ได้ที่จะใส่ความรู้สึกหวั่นระแวงที่มีต่อบุหงา ภรรยาของเขาลงไป เหตุการณ์หลายๆอย่างที่เกิดขึ้นทำให้เขาเชื่อว่าหล่อนแอบเป็นชู้กับนายหาญ และเมื่อบุหงาได้อ่านนิยาย ‘นางบาป’ ของเขา ก็ทำให้หล่อนเสียใจ ที่ ถูกกล่าวหา ผ่านทางตัวหนังสือในนิยายที่เขาเขียนขึ้น หล่อนรู้ว่า ชัชวาลย์ถ่ายทอดประสบการณ์และความรู้สึกทุกอย่างลงในตัวหนังสือเล่มนั้น

เขาคิดว่า ความขมขื่นเจ็บปวดบรรเทาลงแล้ว แต่มันยังฝังลึกอยู่ในอกดังเพลิงสุมขอน เมื่อได้ลม มีเชื้อไฟเก่ามาช่วยกระพือพัด ก็กลับลุกไหม้ขึ้นมาอีก

ความรักเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในน้ำเนื้อของดวงใจ เมื่อรักแล้วก็จะต้องรักอยู่อย่างนั้น ไม่ใช่รักเพราะสวย สิ้นสวยก็จะได้สิ้นรัก รักเพราะเป็นคนดี หมดดีจะได้หมดรัก เขารักบุหงา เพราะเธอเป็นบุหงา จะดีจะชั่วจะหมดงามก็ยังเป็นบุหงาอยู่นั่นเอง

เขามีปากเสียงกับบุหงา จนหล่อนเดินทางกลับไปอยู่บ้านต่างจังหวัด ระหว่างที่เขาวุ่นวายกับการค้นพบพินัยกรรมฉบับนั้นที่กรุงเทพฯ จนนำไปสู่กับการเปิดพินัยกรรมฉบับใหม่ได้สำเร็จ เมื่อกลับมาที่บ้านชายทะเลอีกครั้ง เขาจึงได้พบกับความจริง จากปากของคนรับใช้ภายในบ้าน มันเป็นความเข้าใจผิดที่เกิดขึ้นจากความหวั่นระแวงของเขาเอง ความระแวงอันเป็นเสมือนอุปสรรคที่ทำลายความเชื่อมั่นระหว่างสามีภรรยาจนขาดสะบั้น และชัชวาลย์ก็รู้ว่าเขาจะต้องตามตัวเธอกลับมาอีกครั้ง

วิลาศ มณีวัต

ฉากสุดท้ายของ นางบาป เกิดขึ้นในวันรับปริญญาแพทยศาสตร์ของชนิดา น้องสาวคนเดียวของชัชวาลย์ที่มาร่วมงานกันพร้อมหน้า ทั้งชัชวาลย์กับบุหงาที่กำลังตั้งครรภ์ลูกคนแรกกับเขา ดิเรกซึ่งบัดนี้หย่าขาดกับภรรยาและมาเริ่มต้นชีวิตใหม่กับนงลักษณ์ ในขณะที่ตะวันออกวิทยุก็กลับมาเป็นของเขาตามเดิม และนิยาย นางบาป ของเขาก็กำลังฮิตติดตลาดเป็นที่ชื่นชมของนักอ่าน

ชีวิตของ ชัชวาลย์ พรพิสุทธิ์ ได้ดำเนินไปสู่ความสำเร็จก็จริง แต่ในช่วงเวลาที่ผ่านมาก็ทำให้เขาตระหนักถึงสัจธรรมของชีวิตคู่

“นี่ยายนิ วันนี้เป็นวันสำคัญวันหนึ่งของเรา ต่อไปเราก็จะกลายเป็นคุณหมอรับผิดชอบชีวิตคนไข้ และเป็นผู้ใหญ่รับผิดชอบชีวิตของตัวเอง พี่จะขอเตือนนิไว้ก่อน ไม่งั้นหนูอาจจะลำบากและเกือบจะเสียใจเหมือนพี่”

 แล้วหญิงสาวทั้งสอง ก็ได้ยินเขากล่าวต่อไปด้วยเสียงของบุรุษผู้เรียนชีวิตมามากแล้วว่า

“คนเราทุกคนควรจะจองหองหยิ่งในค่าของตัวเราเอง แต่อย่าให้มันกลายเป็นทิฐิมานะ… โดยเฉพาะทิฐิมานะกับคนที่เราเคารพ และคนที่เรา… รัก!”

นางบาป อาจจะไม่ใช่นิยายรัก หวานชื่น ที่เต็มไปด้วยฉากโรแมนติก เพราะเป็นนิยายที่ผสมผสานแนวคิดต่างของนักเขียนนิยายหลายท่านผนวกกับเรื่องราวปัญหาต่างๆ ของชีวิตคู่ จนสามารถคลี่คลายปมปัญหาด้วยความเข้าใจในที่สุด ลักษณะอย่างหนึ่งที่ผมพบในงานเขียนเรื่องนี้ ก็คือการใช้สำนวนภาษาฝรั่งผสมอยู่ในประโยคสนทนาของตัวละครค่อนข้างมาก เป็นการทับศัพท์ ลงไปโดยตรง ซึ่งนักอ่านปัจจุบันอาจจะไม่คุ้นเคยสักเท่าใดนักครับ

ปัจฉิมลิขิต : สำหรับปก นางบาป นี้ เป็นภาพวาดฝีมือของ อ.พนม ซึ่งได้รับความอนุเคราะห์ไฟล์ภาพจาก คุณหมอภาคภูมิ จุลภูมิพินิจ ผมต้องขอขอบพระคุณ มา ณ ที่นี้ด้วยครับ

Don`t copy text!