ไสยดำ

ไสยดำ

โดย : หมอกมุงเมือง

บรรณาภิรมย์ โดย หมอกมุงเมือง คอลัมน์ที่อ่านเอาขอมอบความรื่นรมย์ให้กับผู้อ่านด้วยภาพปกสวยๆ และเนื้อเรื่องในแบบต่างๆ ของนักเขียนชั้นครูที่เคยผ่านมือ ผ่านตาและผ่านใจ เพื่อให้ทุกคนได้ร่วมรำลึกถึงผลงานของนักเขียนแต่ละท่านให้พอหายคิดถึงแม้เวลาจะผ่านไปแล้วเนิ่นนาน ภาพและตัวอักษรจะปรากฏให้เห็นอีกครั้งในยุคของการอ่านออนไลน์

โสภี พรรณราย เป็นนักเขียนนวนิยายรุ่นครูผู้มีผลงานตีพิมพ์มากมายหลายเรื่อง และนำไปสร้างเป็นละครยอดนิยมทางโทรทัศน์เป็นจำนวนมาก ผลงานนวนิยายส่วนใหญ่ของท่านมีหลากหลาย ทั้งแนวโรแมนติก ดรามา อย่างเรื่อง ขิงก็ราข่าก็แรง สามีชั่วคืน กรงเพชร ร้ายเดียงสา หรือ ไฟลวง แนวคอเมดี อย่าง ลูกตาลลอยแก้ว แนวแอ็กชัน อย่าง ลูกสาวเจ้าพ่อ รวมถึงแนวแฟนตาซี อย่างนิยายชุด สาวน้อยในตะเกียงแก้ว

นอกจากนี้ ท่านยังมีนามปากกา ‘สรัสวดี’ ซึ่งงานเขียนส่วนหนึ่งในนามปากกานี้จะเป็นงานเขียนแนวลึกลับ สยองขวัญ แต่ภายหลังเมื่อนำมารวมเล่ม ก็ได้เปลี่ยนไปใช้เป็นนามปากกา โสภี พรรณราย เหมือนกับผลงานทุกเรื่อง และสำหรับในปัจจุบัน ก็มีแต่เพียงนามปากกา โสภี พรรณราย เพียงนามปากกาเดียว ที่ใช้อยู่เท่านั้นครับ

สำหรับผลงานของท่านเรื่องแรกๆ ในสไตล์ลึกลับนี้ก็ คือ สาปคฤหาสน์ สาปสยอง วังวารี มายาสีเลือด เพชรกินรี ภูตาลัย หรือ สุสาน เป็นต้น

นับว่าเป็นโชคดีที่ผมมีโอกาสได้สอบถามพี่นก หรือ โสภี พรรณราย เรื่องการเขียนในแนวลึกลับ ซึ่งเป็นอีกแนวที่สนุกสนานชวนติดตาม ไม่แพ้แนวโรแมนติกดรามาเลยทีเดียว โดยเฉพาะในตอนที่เขียนบรรณภิรมย์ ตอน ไสยดำ นี้ พี่นกได้กรุณาให้ข้อมูลไว้อย่างน่าสนใจว่า

“ในชีวิตเขียนนิยายมาสี่สิบกว่าปี เขียนแนวลึกลับราว 10 เรื่อง ตอนเขียนลึกลับคิดตลอดว่าเขียนง่ายเพราะจินตนาการได้ไม่สิ้นสุด แต่จริงๆ แล้วเขียนยาก ต้องหาวิธีมาดำเนินเรื่องให้น่าตื่นเต้นและน่าติดตามทั้งเรื่อง ปกติจะวางแผนย่อๆ ไว้ แล้วค่อยๆ คิดระหว่างบททุกบท ต้องมีอะไรเกิดขึ้น เช่นเรื่อง ไสยดำ แรกเริ่มเห็นตุ๊กตานานานาชาติ เกิดความคิดแวบ ประสานักเขียนที่ต้องคิดเกือบตลอดเวลา ว่าถ้าตุ๊กตาเคยเป็นคนมาก่อนล่ะ แล้วถูกย่อส่วนล่ะ จากนั้นจึงเริ่มแผนผังวางตัวละคร เอามาผูกเรื่องเกี่ยวกับพวกไสยศาสตร์ เห็นคำว่า ไสยดำ กับ ไสยขาว รวมกับการสืบทอดทายาทวิชาไสยดำ เห็นภาพนางเอกกับตุ๊กตาเรียงราย จึงผูกเรื่องกลายเป็น ไสยดำ ค่ะ”

เรื่องลึกลับแต่ละเรื่องจะมีแรงบันดาลใจแตกต่างกัน ขึ้นอยู่ว่าจะเน้นเรื่องอะไร ยกตัวอย่างอีกเรื่อง สาปสยอง เรื่องนี้จะเน้นเกี่ยวกับคำสาปแช่ง สำหรับผลงานในแนวนี้ พี่นกเล่าว่า ท่านเขียนไว้ไม่กี่เรื่อง ล้วนแต่เป็นเรื่องที่ชอบมากทุกเรื่อง โดยเฉพาะเรื่อง ‘สุสาน’ ซึ่งตอนพิมพ์ครั้งหลัง บรรณาธิการสำนักพิมพ์ได้ขอให้เปลี่ยนชื่อเป็น สุสานกลางทราย ซึ่งเมื่ออ่านจากพลอตเรื่องที่เป็นแนวภพชาติ ย้อนอดีตในยุคไอยคุปต์ ตราบมาจนถึงปัจจุบัน น่าจะเป็นนิยายลึกลับที่น่าอ่านไม่น้อยเลยทีเดียว

“สำหรับนามปากกา ‘สรัสวดี’ นั้นไม่ใช่เขียนแนวลึกลับ แต่เขียนทุกแนว เป็นนามปากกาเพิ่มที่นิตยสารต้องการให้เพิ่มเรื่องในเล่มเดียวให้เขียนหลายเรื่อง จึงแยกนามปากกา แต่สุดท้ายใช้สรัสวดีไม่กี่เรื่อง เวลาร่วมเล่มปกแข็งก็กลับมาใช้ โสภี พรรณราย ตามสำนักพิมพ์ขอร้อง เพราะนามปากกาใหม่จะขายไม่ได้ จึงไม่ใช้อีก และใช้แค่นามปากกาเดียว พี่จำไม่ได้ด้วยว่าใช้ สรัสวดี เรื่องไหนเรื่องแรก รู้แต่ใช้น้อยเรื่องและเลิกใช้ถาวรเลยค่ะ”

+++++++++++++++++++

ไสยดำ เป็นนวนิยายลึกลับ สยองขวัญ เรื่องราวกล่าวถึง คุณย่าเวธกา มโนทัย หญิงชราผู้มีมนต์ไสยดำอันลึกลับสืบทอดมาตั้งแต่บรรพบุรุษ และเธอเองเมื่อย่างเข้าสู่วัยสนธยา ก็ต้องการจะหาผู้สืบทอดทายาทไสยดำนี้ต่อไป น่าเสียดายที่เจตน์ บุตรชายเพียงคนเดียวของเธอ กลับเสียชีวิตลงเสียก่อน และเขาเองก็เปลี่ยนใจที่จะยอมรับไสยดำนั้น เพราะดวงรัตน์ ภรรยาของเขาที่ไม่เห็นด้วยกับศาสตร์มืดเหล่านี้

ดวงรัตน์เองมีลูกสาวคือปาลิตา เด็กสาวที่ถือกำเนิดขึ้นพร้อมปานรูปซาตาน อันเป็นสัญลักษณ์ของผู้สืบทอดไสยดำ แต่หญิงสาวไม่ต้องการให้บุตรีของตัวเองต้องเผชิญชะตากรรมเหมือนพ่อที่ล่วงลับ เธอจึงขอให้เรไร น้องสาว พาปาลิตาหนีออกไปจากคฤหาสน์มโนทัยตั้งแต่ยังเป็นทารก เพื่อให้ปาลิตารอดพ้นจากอำนาจมนต์มืดแห่งนี้

ผลลัพธ์จากการกระทำครั้งนี้ทำให้ดวงรัตน์ถูกอำนาจมนตราแห่งไสยดำของคุณเวธกา ทำให้หล่อนกลายสภาพเป็นตุ๊กตาที่มีชีวิต!

+++++++++++++++++++++

เวลาผ่านไปยี่สิบสองปี เมื่อปาลิตาเติบโตเป็นเด็กสาวแสนสวยและรับรู้แต่เพียงว่าเธอมีมารดาคือคุณเรไร คำสาปและพลังอำนาจชั่วร้ายของคุณเวธกาก็มาเยือนครอบครัวของหญิงสาว มันเริ่มต้นด้วยเสียงเพรียกในความฝัน เรียกร้องให้เธอกลับมายังคฤหาสน์มโนทัย

ปาลิตามีเพื่อนรักสองคน คือวิสุนี และจิตรวี สองสาวชักชวนปาลิตาไปเที่ยวพิพิธภัณฑ์ตุ๊กตาที่จัดแสดงขึ้นในสถานที่แห่งใหม่ มันมีชื่อว่า ‘ตึกมโนทัย’ ที่นั่นเองปาลิตาได้พบตุ๊กตาประหลาด มันสามารถพูดคุยกับเธอได้ราวกับเป็นมนุษย์ ตุ๊กตาตัวนั้น บอกให้เธอหนีไปจากที่นี่ให้ไกลที่สุด ก่อนทุกอย่างจะสายเกินไป…

ปาลิตาได้รู้จักกับคุณวรการ และอนล ลูกชายของเธอ คุณวรการเป็นญาติกับคุณเวธกา ซึ่งกำลังตามหาตัวปาลิตาอยู่พอดี โดยใช้พลังมนต์ดำค้นหาตัวหญิงสาว และชักนำให้เดินทางมาที่นี่ เพื่อทำพิธีสืบทอดทายาทไสยดำคนต่อไปในอีกเก้าเดือนข้างหน้า

อนลเป็นชายหนุ่มหน้าตาดี แต่ต้องตกอยู่ในบังคับของมารดาและคุณเวธกา ผู้มีพระคุณ ชุบเลี้ยงเขามา ชายหนุ่มใช้รูปร่างหน้าตาอันเป็นเสน่ห์ของตัวเอง หลอกล่อให้จิตรวี และวิสุนีหลงใหล จิตรวีถูกจับได้และรู้ความลับทั้งหมด เลยถูกนำไปสร้างเป็นตุ๊กตาตัวใหม่ ส่วนวิสุนีนั้นหลงใหลชายหนุ่มเป็นอย่างมาก โดยไม่รู้เลยว่าเธอเองถูกใช้เป็นเครื่องมือสำหรับโยงมาสู่ตัวของปาลิตาเป็นเป้าหมาย

จิตรวีมีลูกพี่ลูกน้องชื่อชาคร ซึ่งชายหนุ่มเองสนใจทางจิตศาสตร์และอำนาจจิตอยู่ไม่น้อย ชาครมีอาจารย์ที่ทำวิจัยร่วมกันต่างประเทศคือดอกเตอร์เฟรเซอร์ ที่มาเยือนเมืองไทยพอดี ทั้งคู่สนใจการหายตัวของจิตรวี เมื่อรู้ว่าครั้งล่าสุดเธอหายไประหว่างการมาเยือนพิพิธภัณฑ์บ้านมโนทัยของคุณย่าเวธกานั่นเอง ดอกเตอร์เฟรเซอร์พยายามใช้พลังจิตผ่านลูกแก้ว มองหาตัวจิตรวี แต่ค้นพบว่ามีพลังบางอย่างซ่อนเร้นอำพรางไว้ภายใต้คฤหาสน์แห่งนี้จนเขามองไม่เห็นเธอ

++++++++++++++++++++

ปาลิตาถูกสะกดจิตให้มาทำพิธีอาบเลือด เตรียมพร้อมสำหรับการรับเป็นทายาทไสยดำ โดยที่อนลเป็นคนสะกดหญิงสาวผ่านพิธีกรรมนี้โดยไม่รู้ตัว และเพิ่มพูนพลังอำนาจจิตให้กับเธอเอง แม้ว่าคุณเรไรจะพยายามขัดขวางแต่ก็ไม่สำเร็จ

อนลที่เคยมีจิตใจแข็งแกร่ง อำมหิต เหมือนกับคุณวรการ มารดาเลี้ยงที่ชุบเลี้ยงเขามาตั้งแต่เด็ก เขาเริ่มรับรู้ความอ่อนหวานของปาลิตา ในขณะที่คุณเวธกาก็พยายามเคี่ยวเข็ญให้เขาจัดการกับเธอ เพื่อให้เป็นทายาทไสยดำโดยสมบูรณ์ เขารู้ว่านั่นจะทำให้เด็กสาวอ่อนโยน น่ารัก กลายเป็นสตรีอีกคนที่เหี้ยมโหด อำมหิต เมื่อพลังไสยดำเข้าครอบงำ ความรู้สึกทั้งสองอย่างต่อสู้กันเองในใจ จนเขาไม่อาจตัดสินใจได้

วิสุนีรู้ว่าอนลรักปาลิตา ทำให้หญิงสาวแค้นใจเพื่อนสาวที่ทรยศหักหลังเธอ วิสุนีตัดสินใจเข้าพบคุณย่าเวธกา เพื่อขอช่วยเหลือหลอกปาลิตามาที่คฤหาสน์มโนทัยเอง เธอคิดว่านั่นเป็นวิธีเดียวที่จะกำจัดปาลิตาไปให้พ้นจากอนลได้

เมื่อปาลิตา กลายเป็นไสยดำเต็มตัว!!

++++++++++++++++++++++++

คุณเรไรใช้พลังอำนาจแห่งไสยขาวของเธอ เข้าช่วยเหลือปาลิตา แต่ไม่สำเร็จจนต้องเดินทางเข้ามาที่คฤหาสน์มโนทัยอีกครั้ง คราวนี้เธอได้พบกับคุณดวงรัตน์พี่สาว หรือแม่แท้ๆ ของปาลิตา ที่ถูกสร้างให้กลายเป็นตุ๊กตาที่มีชีวิต และถูกขังเอาไว้ ทั้งคู่มีโอกาสพบกัน และร่วมมือกัน เพื่อช่วยกำจัดคุณเวธกา ก่อนที่พิธีกรรมสุดท้ายจะเริ่มต้นขึ้น…

และแน่นอนว่าท้ายที่สุด อนลก็เปลี่ยนใจ เขายินดีช่วยเหลือหญิงสาวที่เขารัก มากกว่าจะทนเห็นเธอกลายเป็นอมนุษย์ ที่ถูกอำนาจไสยดำเข้าครอบงำจนไม่เหลือตัวตนอีกต่อไป เหมือนกับคุณเวธกา…

+++++++++++++++

ในที่สุดตึกมโนทัยก็ถูกทำลายลง พร้อมกับอำนาจมนต์ดำที่เสื่อมสลายลง ด้วยการแลกชีวิตของดอกเตอร์เฟรเซอร์ รวมถึงคุณย่าเวธกา และคุณวรการ

อนลบาดเจ็บสาหัส และเมื่อเขาฟื้นขึ้นมาอีกครั้ง ก็พบว่าปาลิตากำลังรอคอยเขาอยู่ด้วยความรักความห่วงใย… เป็นเพราะความรักที่เธอมีให้แก่เขาและความรักของเขาต่อเธอนั่นเอง คือสิ่งที่ทำให้ทั้งคู่เอาชนะพลังอันชั่วร้ายของไสยดำนั้นได้สำเร็จในที่สุด…

ไสยดำ จัดเป็นนวนิยายที่มีพลอตเรื่องสนุกสนานลึกลับและหักมุมนิดหน่อย เหมาะสำหรับนักอ่านที่ชื่นชอบงานเขียนสไตล์นี้ครับ

เรื่อง : ไสยดำ

ผู้เขียน : โสภี พรรณราย

สำนักพิมพ์ : รวมสาส์น

ปีที่พิมพ์ : 2513

สองเล่มจบ

โสภี พรรณราย เป็นนามปากกาของ คุณสุรภี โพธิสมภรณ์ (นก) นักเขียนนวนิยายไทย มีผลงานที่ถูกนำไปสร้างเป็นละครโทรทัศน์หลายต่อหลายเรื่อง ท่านเป็นชาวกรุงเทพมหานคร จบการศึกษาบัญชีจากโรงเรียนพณิชยการพระนคร และด้านการบริหารทั่วไป จากมหาวิทยาลัยรามคำแหง ผลงานประพันธ์เรื่องแรกคือเรื่อง แฝดสาวเจ้าเสน่ห์

จากข้อมูลในเพจ MGR Online ที่สัมภาษณ์ผู้เขียนไว้ เมื่อเดือนมิถุนายน 2552 ให้รายละเอียดว่า

โสภี พรรณราย เล่าย้อนเรื่องราวสมัยที่เธออายุ 20 ปีให้ฟังว่า

“ตอนนั้นเพิ่งจบจากพณิชยการพระนครใหม่ๆ ยังว่างงานอยู่ ก่อนหน้านี้เราชอบอ่านหนังสือดรุณี บังเอิญว่าตอนนั้นเค้าประกาศรับนักเขียนใหม่ ดรุณีเป็นหนังสืออีกเล่มหนึ่งที่สร้างนักเขียนให้กับวงการนี้หลายคน เราเองก็เป็นหนึ่งในนั้น เราก็ลองเขียนต้นฉบับเรื่อง ‘แฝดสาวเจ้าเสน่ห์’ ส่งไป พอส่งไปปุ๊บ ทาง บก. ก็โทร.กลับมาว่าใช้ได้”

นับเริ่มแต่นั้นมา บรรณพิภพก็มีนวนิยายของเธอโลดแล่นอยู่ด้วย เริ่มแรก เธอทำงานประจำควบคู่ไปกับการเขียนหนังสือ ต่อมาเมื่อหนังสือ ดรุณี ปิดตัวเองลง เธอได้รับคำแนะนำจากผู้ใหญ่ท่านหนึ่งจากสำนักพิมพ์รวมสาส์น ให้ไปเขียนนวนิยายตีพิมพ์เป็นตอนๆ ในนิตยสาร ภาพยนตร์บันเทิง เรื่องแรกที่ตีพิมพ์คือ ปิ่นมุก ต่อมาเธอตัดสินใจลาออกจากงานประจำ เพื่อเขียนหนังสืออย่างเดียว

นวนิยายหลายเรื่องของเธอได้รับการเช่าซื้อลิขสิทธิ์จากช่อง 7 สีไปเป็นละครโทรทัศน์ เช่น ลูกตาลลอยแก้ว, ลูกไม้ไกลต้น, เจ้าสัวน้อย, ร้ายเดียงสา, ดั่งสวรรค์สาป, ขิงก็รา ข่าก็แรง, คุณหนูเทวดา, แจ๋วใจร้ายกับคุณชายเทวดา ฯลฯ ส่วนที่เคยเป็นละครทางช่อง 3 เช่น กิเลสมาร, กากเพชร, ลูกไม้เปลี่ยนสี เป็นต้น

นวนิยายที่เคยไปจัดสร้างเป็นภาพยนตร์ มีเพียงเรื่องเดียวคือ ‘ลูกสาวเจ้าพ่อ’ นวนิยายบู๊เรื่องนี้ เธอเขียนไว้ตั้งแต่สมัยที่อายุเพียง 20 เศษๆ เท่านั้น

ในบรรดานวนิยายกว่า 100 เรื่อง ส่วนตัวของเธอชอบเรื่อง กิเลสมาร มากที่สุด เนื่องจากมีเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับกิเลสตัณหาของมนุษย์ ซึ่งใกล้เคียงกับชีวิตจริงของผู้คนในชีวิตประจำวัน

และสำหรับในปัจจุบัน ผลงานเรื่องล่าสุดของท่าน ก็คือผลงานนวนิยายเรื่อง ‘ซ่อนรัก’ ที่ได้นำลงให้นักอ่านติดตามเป็นตอนๆ ในเว็บไซต์อ่านเอาครับ

 

Don`t copy text!