สร้อยสายบัว

สร้อยสายบัว

โดย : หมอกมุงเมือง

Loading

บรรณาภิรมย์ โดย หมอกมุงเมือง คอลัมน์ที่อ่านเอาขอมอบความรื่นรมย์ให้กับผู้อ่านด้วยภาพปกสวยๆ และเนื้อเรื่องในแบบต่างๆ ของนักเขียนชั้นครูที่เคยผ่านมือ ผ่านตาและผ่านใจ เพื่อให้ทุกคนได้ร่วมรำลึกถึงผลงานของนักเขียนแต่ละท่านให้พอหายคิดถึงแม้เวลาจะผ่านไปแล้วเนิ่นนาน ภาพและตัวอักษรจะปรากฏให้เห็นอีกครั้งในยุคของการอ่านออนไลน์

****************************  

แน่งน้อย พงษ์สามารถ หรือ แน่งน้อย ปัญจพรรค์ คู่ชีวิตของศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ อาจินต์ ปัญจพรรค์ ท่านมีผลงานหลากหลาย ทั้งบทความ ตำราวิชาการและนวนิยาย รวมถึง สร้อยสายบัว นวนิยายขนาดสั้นเรื่องนี้อีกด้วย

นวนิยายขนาดสั้นๆ เรื่องนี้ บอกเล่าเรื่องราวชีวิตของทองสุข เริ่มตั้งแต่เธอเป็นเพียงเด็กหญิงตัวน้อยๆ ที่เกิดในครอบครัวชาวนายากจน แม่ต้องพามาฝากเลี้ยงไว้กับตา ที่ชื่อตาคำ ทำงานเป็นลูกจ้างอยู่ในฟาร์มโคนมที่ปากช่อง โคราช เนื่องจากผู้เป็นแม่ต้องดิ้นรนทำมาหากิน เด็กหญิงเองเฝ้าแต่รอคอยแม่จะมารับ แม้ว่าชีวิตในไร่ฟาร์ม จะเต็มไปด้วยความรักความเมตตาของตา และบรรดาสหายของตาอีกหลายคน

ทองสุขเคยอยากเป็นนก

อยากเป็นผีเสื้อ

อยากเป็นอะไรต่ออะไรร้อยสีพันอย่าง

ความใฝ่ฝันของทองสุขไม่เคยเป็นจริง แต่นั่นก็ไม่ทำให้ทองสุขเจ็บปวดอะไรนัก รู้อยู่ว่ามันเป็นเพียงความเพ้อฝันวัยเด็ก

เมื่อโตขึ้น ทองสุขไม่เคยมีความฝันอะไรเลย ด้วยรู้อยู่ว่าตนเองไม่มีสิทธิ์จะใฝ่ฝันอะไรที่จะเป็นจริง

แต่แล้วชีวิตอันรื่นรมย์นั้นก็ต้องพังทลายลง เมื่อตาเสียชีวิตด้วยอุบัติเหตุ เด็กหญิงวัยเพียงห้าขวบต้องพลัดพรากไปอาศัยอยู่กับเจ้านายของตา คือคุณนวลอนงค์ที่กรุงเทพฯ และหวังว่าแม่จะมาเยี่ยมบ้าง แต่ก็ปราศจากวี่แววใดๆ ทั้งสิ้น ทองสุขต้องมาอยู่กับป้าศรี คนรับใช้ของคุณอรอนงค์ และคุณย่าที่จู้จี้ เจ้าระเบียบ และทุกอย่างก็ไม่เป็นอย่างที่คาดหวังไว้เลยแม้แต่น้อย ภายหลัง เมื่อได้เรียนหนังสือทองสุขก็เรียนไม่จบ ด้วยความเหงา ความว้าเหว่ และความเข้าใจผิดของคุณย่าและคุณนวลอนงค์ ทำให้เธอต้องถูกส่งไปอยู่กับคุณหญิง ซึ่งเป็นนักสังคมสงเคราะห์ และคุณผู้ชายของท่าน

แม้จะทำงานกับคุณหญิงอย่างขยันขันแข็งเพียงใดก็ตาม แต่ความสาวความสวยของทองสุขก็สะดุดตา จนทำให้คุณผู้ชายที่มีนิสัยเจ้าชู้อยู่แล้วพยายามเข้าหาเธอ ทองสุข ตัดสินใจหนีออกจากบ้าน แล้วกลับมายังปากช่อง สถานที่ที่เธอคุ้นเคยอีกครั้ง แม้ว่าที่นี่จะไม่มีตาอยู่แล้วก็ตาม แต่อย่างน้อย ก็ยังมีเพื่อนของตาอย่างลุงพุดและป้าย้อยที่ทำไร่ฟาร์มโคนมอยู่ที่นั่น ด้วยความหวังสุดท้าย

แล้วชีวิตที่ไม่เคยรู้ว่าวันพรุ่งนี้จะเป็นอย่างไรของทองสุขก็เปลี่ยนแปลงไปอีกครั้งหนึ่งอย่างไม่คาดฝัน รถยนต์โดยสารสีส้มจากตลาดหมอชิตพาทองสุขบ่ายหน้าสวนทางที่ทองสุขได้เคยมาในรถเก๋งของคุณป้านวลอนงค์เมื่อสิบสองปีก่อนโน้น ภาพในหัวของทองสุขยังสับสน ความคิดวกวนจับต้นชนปลายไม่ถูก

คุณผู้ชาย… เย็นวานซืน เหตุการณ์ที่ไม่คาดฝัน ทำให้ทองสุขต้องตัดสินใจระเห็จมาในรถขณะนี้

 

ที่ศูนย์รับนมวัวปากช่องนั้นเอง ที่ทองสุขได้รู้จักกับเชิด ลูกจ้างหนุ่มของลุงพุด ที่มารอรับเธอที่นั่น ท่าทางมอซอ ผมเผ้าเป็นกระเซิงและหนวดเครารุงรังนั้นทำให้เธอหวั่นใจ จนเมื่อเห็นรถเข้าไร่ของลุงพุดนั่นเอง ที่ทำให้เด็กสาวอย่างเธอเบาใจ และตัดสินใจขึ้นรถมากับเขา

และนั่นคือมิตรภาพครั้งแรกระหว่างเธอกับเชิดได้เริ่มต้นขึ้น ก่อนจะค่อยๆ พัฒนามาเป็นความรัก ความผูกพัน เชิดเองเคยทำงานที่อื่นมาก่อน แต่เมื่อเขามาอยู่ที่นี่ ด้วยความสงบ ของชีวิตที่อยู่กับธรรมชาติ ทำให้เขาทำงานอยู่นานกว่าที่อื่น แม้จะเคยคิดลาออกไปบ้าง แต่เมื่อได้เจอกับทองสุข ที่มีความคิดความฝันไม่ต่างกับเขา ทำให้เขาไม่คิดจะลาออกไปอยู่ที่ไหนอีกต่อไป

ในขณะเดียวกัน ปมปัญหาเรื่องแม่ที่ทองสุขเคยโหยหา และสงสัยว่าทำไมแม่ไม่เคยมาหาตัวเองเลยสักครั้งก็ถูกเฉลยออกมา ที่นี่เองเมื่อเธอพยายามตามหาแม่อีกครั้งและรู้ความจริงว่า คุณนายนวลอนงค์ให้แม่เซ็นสัญญาว่าจะไม่มาพบตัวเธอ เพราะคุณนวลอนงค์ต้องการจะนำเธอมาเลี้ยงดูโดยไม่ให้เกี่ยวข้องกับมารดาให้เป็นที่ยุ่งยากใจในภายหลังอีก และนั่นเป็นสาเหตุที่ทำให้แม่ไม่กล้าไปพบกับลูก ทั้งที่แม่เองก็เคยคิดถึงเธอใจจะขาดเช่นกัน

ชีวิตของทองสุขดำเนินมาจนพบจุดแห่งความสุขที่ตนเองพึงพอใจแล้ว แม้ว่ามันจะมิใช่ความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ใดๆ แต่การที่ได้อยู่กับชายที่เธอรักอย่างเชิด และใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันที่บ้านไร่ แห่งนี้ พร้อมๆ กับสมาชิกที่รักใคร่กันเสมือนญาติพี่น้องอย่างป้าย้อยและลุงพุด

ในวันแต่งงานของเธอ เชิดมอบของขวัญที่เป็นเสมือนความทรงจำในวัยเยาว์ แก่เธอ

“เดี๋ยว”

ชายหนุ่มกางมือออกกั้นขวางประตู แล้วอีกมือหนึ่งของเขา ก็คล้องอะไรบางอย่างฉับเข้าที่คอ ทองสุขก้มลงมองวัตถุที่คอตนเอง

สร้อยสายบัว…

ทองสุขเงยหน้ามองผู้ชายคนที่ทำให้ทองสุขลืมความทุกข์แต่หนหลัง แล้วทองสุขก็รีบก้มหน้า มือคลำบัวสายเส้นเล็กๆ กับดอกสีชมพูที่กำลังแย้มกลีบจนมองเห็นเกสรสีเหลืองๆ ของมันอย่างขวยเขิน

“สินสอด” เชิดกระซิบเบาๆ อยู่ข้างหู ทองสุขยิ้มทั้งๆ ที่ยังก้มหน้า

จริงสินะ สายบัวไม่ตายง่ายๆ ตราบใดที่ยังมีน้ำ มันก็จะแตกดอกออกหน่อชูช่อไสวอยู่กลางน้ำ สืบลูกสืบหลานต่อๆ ไป

และชีวิตของทองสุขกับเชิดก็เดินมาถึงปลายทางแห่งความสุขสมหวัง ด้วยความรักและความใฝ่ฝันของตัวเองแล้วอย่างสมบูรณ์

นวนิยายขนาดสั้นๆ เรื่องนี้ ให้ความรู้สึกเหมือนผู้เขียนได้พาคนอ่านให้ติดตามชีวิตของทองสุขไปพร้อมๆ กับเธอ ได้เห็นการเปลี่ยนแปลง การเผชิญกับอุปสรรคชีวิต และเรื่องราวของความสุข ทุกข์ ที่ผ่านเข้ามาไม่ต่างกับชีวิตมนุษย์ทั่วไป เสน่ห์ของเรื่องอาจจะไม่ใช่พลอตที่หวือหวา เข้มข้น แต่คือความเรียบง่าย ผ่านการบรรยายด้วยสำนวนภาษาที่สะอาด งดงาม และทำให้นึกภาพตามไปด้วยอย่างไม่ยากเลย และนอกจากนี้ ภาพประกอบในเล่มหนังสือที่สวยงาม ตลอดทั้งเรื่อง ก็ช่วยเสริมสร้างอารมณ์และจินตนาการในการอ่านได้เป็นอย่างดี  นับเป็นนวนิยายขนาดสั้นอีกเรื่องที่ให้ความรู้สึกเต็มอิ่ม เมื่ออ่านไปจนถึงบรรทัดสุดท้าย

เรื่อง : สร้อยสายบัว

ผู้เขียน : แน่งน้อย พงษ์สามารถ

สำนักพิมพ์ : หมึกจีน

ปีที่พิมพ์ : 2529

เล่มเดียวจบ

สำหรับประวัติคร่าวๆ ของ คุณแน่งน้อย พงษ์สามารถ ที่ผมสรุปมาจากเว็บไซต์ สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย ครับ

แน่งน้อย ปัญจพรรค์ เป็นคนอรัญประเทศ เรียนจบชั้นประถมที่บ้านเกิด จากนั้นจึงเข้ามาเรียนต่อชั้นมัธยมที่โรงเรียนสตรีวิทยา จบปริญญาตรีพาณิชยศาสตร์บัณฑิตจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อนๆ รู้จักเธอในนาม ‘นางน้อย พงษ์สามารถ’ อดีตสารณียกร สโมสรนิสิตจุฬาฯ และชาววรรณศิลป์จุฬาฯ จะรู้จักเธอในอีกฐานะหนึ่ง นั่นคือ นักเขียนเรื่องสั้นและนักกลอน

เธอเป็นภรรยาของนักเขียนชื่อดัง อาจินต์ ปัญจพรรค์ ที่มาของนามสกุลปัจจุบันของเธอ และเป็นอดีตบรรณาธิการนิตยสารชื่อดัง ‘ผู้หญิงเก่ง’ ซึ่งเป็นนิตยสารเล่มแรกที่ให้ความสำคัญกับมิติด้านคุณค่าและความหมายของผู้หญิง หลังจากจบ M.B.A. จากดีทรอยต์ สหรัฐอเมริกา

แน่งน้อย ปัญจพรรค์ เคยสอนหนังสือที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ระหว่างปี 2518-2519  เคยเป็นผู้อำนวยการศูนย์พัฒนาและฝึกอบรมบริษัทอินเตอร์ไลฟ์ เคยเป็นบรรณาธิการโครงการวารสารบริหารธุรกิจ เคยเขียนตำราและเขียนนวนิยายมาแล้วหลายเล่ม บทบาทของ แน่งน้อย ปัญจพรรค์ ที่เป็นที่รู้จักกันดีคือ การเป็นบรรณาธิการนิตยสารสตรี นอกจาก ผู้หญิงเก่ง แล้วยังมีนิตยสาร เสียงสตรี และ ฟ้านารี โดยได้ให้ความสนใจในเรื่องของสิทธิสตรีไม่น้อยทีเดียว เธอยังเคยเป็นบรรณาธิการบริหาร ฟ้า และมีผลงานเขียนความเรียงเชิงชีวประวัติและสารคดีเชิงค้นคว้าอีกด้วย

ผลงานที่ผ่านมา :
1. ความเรียง ชีวประวัติและผลงานของอาจินต์ ปัญจพรรค์, เครื่องเงินในประเทศไทย
2. นวนิยาย การเดินทางของผู้หญิงชื่อรื่น, กำแพงหมอก, ย้อนรอยเกวียน, สร้อยสายบัว, ผู้หญิงสองคน
3. ตำราวิชาการ จิตวิทยาอุตสาหกรรม

 

Don`t copy text!