รักที่ถูกเมิน

รักที่ถูกเมิน

โดย : หมอกมุงเมือง

Loading

บรรณาภิรมย์ โดย หมอกมุงเมือง คอลัมน์ที่อ่านเอาขอมอบความรื่นรมย์ให้กับผู้อ่านด้วยภาพปกสวยๆ และเนื้อเรื่องในแบบต่างๆ ของนักเขียนชั้นครูที่เคยผ่านมือ ผ่านตาและผ่านใจ เพื่อให้ทุกคนได้ร่วมรำลึกถึงผลงานของนักเขียนแต่ละท่านให้พอหายคิดถึงแม้เวลาจะผ่านไปแล้วเนิ่นนาน ภาพและตัวอักษรจะปรากฏให้เห็นอีกครั้งในยุคของการอ่านออนไลน์

**************************** 

สนับสนุนอ่านเอาด้วยการสั่งซื้อหนังสือ “ในสวนอักษร” คลิกที่นี่

สำหรับผมแล้ว ‘รักที่ถูกเมิน’ คือนวนิยายที่ใช้ธีมหลักของวรรณคดีลิลิตพระลอ อันเป็นเสมือนนิยายคู่แฝดของ ‘รักที่ต้องมนตรา’ บอกเล่ามุมมองความรัก ที่ ‘ถูกเมิน’ ของพระนางลักษณวดี พระชายาผู้อาภัพของเจ้าชายลอดิลกราช ต่างมุมมองต่างแนวคิดจากความคิดของ ‘แพงทอง’ ใน รักที่ต้องมนตรา ผ่านปลายปากกาของนักเขียนรุ่นครู นิตยา นาฎยสุนทร

จากหนังสือประวัตินักประพันธ์ของ ป.วัชราภรณ์ ให้ข้อมูลไว้ว่า นิตยา นาฎยสุนทร หรือ คุณหญิง สุรีพันธุ์ มณีวัต คู่ชีวิตของ คุณวิลาศ มณีวัต นักเขียนและอดีตบรรณาธิการนิตยสาร ชาวกรุง คนแรก ท่านได้เริ่มต้นเขียนหนังสือด้วยใจรักตั้งแต่เรียนวิชาการบัญชี ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และจบเมื่อปี พ.ศ. 2489 ถือการประพันธ์เป็นงานอดิเรกเรื่อยมา เรื่องสั้นที่สร้างชื่อเสียงให้มากคือ ลานตะแบก ลงพิมพ์ในนิตยสาร นิกรวันอาทิตย์ ได้รับเกียรติประดับโบแดงจากกองบรรณาธิการ สำหรับนวนิยายเรื่องแรกคือ ‘เสียงแกรายา’ ตามมาด้วย ‘ชีวิตมิใช่ดอกกุหลาบ’ ซึ่งพิมพ์เป็นเล่มและต่อมาคณะอัศวินการละครได้จัดแสดงละครเวทีเฉลิมไทย ตามมาด้วยผลงาน หัวใจให้เช่า ใน สยามรัฐ และ รักที่ถูกเมิน กระท่อมของแอนน์ และ แก้วตาพี่ ซึ่งเป็นนวนิยายชื่อดัง สร้างเป็นภาพยนตร์และละครโทรทัศน์หลายต่อหลายครั้ง สำหรับรวมเรื่องสั้นของท่าน มีสองเล่มคือ ‘ไฟริษยา’ กับ ‘พระจันทร์เป็นสีเลือด’

นิตยา นาฎยสุนทร ผู้ประพันธ์

สำหรับ ‘รักที่ถูกเมิน’ นี้ จากคำนำของสำนักพิมพ์ ทำให้ทราบว่านิยายเรื่องดังกล่าวเคยเขียนลงเป็นตอนๆ ในนิตยสาร นารีนาถ ตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2498 และน่าจะนำมาพิมพ์รวมเล่มเพียงแค่สองครั้งเท่านั้น ดังปกที่นำมาจัดแสดงประกอบในครั้งนี้ น่าเสียดายที่ผลงานของ นิตยา นาฏยะสุนทร เรื่องนี้ ได้ผ่านกาลเวลามาไม่ต่ำกว่าครึ่งศตวรรษ หากยังไม่ปรากฏว่ามีการนำมาพิมพ์ใหม่อีกเลย

รักที่ถูกเมิน เป็นเรื่องราวอันเริ่มต้นจากห้วงความคิดคำนึงของเจ้าหญิงพระองค์น้อย นามลักษณวดี

แม่เพิ่งออกไปจากห้องข้าเดี๋ยวนี้เอง…
… ออกไปพร้อมกับนำอิสรภาพแห่งวัยสาวของข้าไปทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายบุคคลที่ทั้งพ่อและแม่ต้องเกรงเดชานุภาพของเขา!

เพราะนั่นคือราชสาส์นจากองค์ท้าวแมนสรวง เพื่อทรงขอราชธิดาลักษณวดีเพื่อไปสยุมพรกับองค์เจ้าราชบุตรวัยดรุณพระโอรสลอดิลกราช!

เหตุการณ์ดำเนินไปด้วยมุมมองความคิดของเจ้าหญิงผู้เยาว์พระชันษา เมื่อแรกพานพบเจ้าชายแห่งเมืองแมนสรวงผู้เป็นประดุจ…

“เดือนจรัสโพยมแจ่มฟ้า  ผิบ่ได้เห็นหน้า 

ลอราชไซร้ ดูเดือน ดุจแล”

กวีที่ไหนนะเป็นผู้ผูกคำร้อยกรองเช่นนี้? ไพเราะน่ะไพเราะหรอก แต่ข้าชักจะเชื่อคำของพี่อี่และพี่เอื้อยเสียแล้ว ว่า “เขา” ไม่เหมือนเดือนเพ็ญ
เมื่อข้ามองเดือน ทำไมข้ามองได้อย่างไม่รู้จักเบื่อหน่าย มองอย่างเพื่อนเก่าที่เคยสนิทสนมคุ้นเคยกันมาตั้งแต่ยังเป็นเยาวกุมารี มองอย่างมิตรรักที่ไม่เคยมีความลับจำต้องปกปิดต่อกัน
 แต่เมื่อข้ามองเขา ทำไมไม่เหมือนเดือน ถูกแล้วที่งามอย่างหญิง แต่แทนที่จะเย็นตาเหมือนแสงเดือน กลับคมกล้าเหมือน… เหมือนดวงอาทิตย์ทรงกลด แต่… เอ้อ… ที่พี่เอื้อยว่า เหมือนสายฟ้าฟาดนั้นดูทีจะเหมาะกว่า…”

แล้วเจ้าชายแปลกหน้าพระองค์นั้นก็ได้เข้ามาอยู่ในพระทัยของเจ้าหญิงลักษณวดี พระชายาแห่งแมนสรวงไปในที่สุด

รักที่ถูกเมิน ปกพิมพ์แรก

นวนิยายชีวิตเรื่องนี้คงจะจบลงด้วยความสุขสันต์ สมหวังของสองตัวละครพระเอก นางเอก ผู้มีความเหมาะสมกันอย่างยิ่ง ทว่า…

เมื่อกลุ่มนางผู้ขับซอจากเมืองสรองเดินทางมาถึง พร้อมกับคำกล่าวยอโฉมนางดรุณีผู้เลอโฉม

ทุกเมืองมีลูกท้าว นับมี มากนา
บ่เปรียบสองกษัตรี พี่น้อง
พระแพงแม่มีศรี สวัสดิ์ยิ่ง คณนา
พระเพื่อนโฉมยงหย้อง อยู่เพียงดวงเดือน
โฉมสองเหมือนหยาดฟ้า ลงดิน
งามเงื่อนอัปสรอินทร์ สู่หล้า…

ด้วยมหามนตรากฤตยามนตร์จากปู่เจ้าสมิงพราย ทำให้ลอดิลกราชถึงแก่คลุ้มคลั่ง เพ้อหาสองนางแห่งเมืองสรอง ทั้งที่ในเพลานั้นลักษณวดีทรงตั้งพระครรภ์อ่อนอยู่แล้ว

ความเจ็บช้ำพระทัยของนางผู้ต้องสูญเสียรักให้กับมนตราเจ็บปวดเพียงใด เจ้าหญิงลักษณวดีทรงพยายามหาเหตุผลมาปลุกปลอบพระทัยให้เข้มแข็งเพื่อยืนหยัดให้ได้เพียงลำพัง ในพระทัยนั้นหวังเพียงเพื่อยื้อยุดชายผู้เป็นที่รักเอาไว้อย่างสุดพระทัย
…ด้วยพลังแห่งความรัก!

พลันเมื่อสลาเหินจากฝ่ายตรงข้ามถูกส่งมา และองค์ลอดิลกราชเผลอองค์เสวยมันเข้าไป อิทธิฤทธิ์มนตราก็ยิ่งกำเริบจนในที่สุดก็ ฝ่ายเมืองสรองก็ประสบชัยชนะ!

ลอดิลกราชพร้อมนายแก้วนายขวัญ เสด็จสู่เมืองสรอง พระองค์ต้องสูญเสียปิยสวามีให้กับสองนางแพศยา ผู้แย่งชิงรักไปด้วยอิทธิฤทธิ์มนตรา หาใช่รักที่แท้จริงไม่
หากรักจริงนั้นเล่า กลับกลายเป็นรักที่ถูกเมิน…

ด้วยพระทัยอันเข้มแข็ง ด้วยขัตติยมานะ แม้จะต้องทรงเป็นพระชายาที่ถูกทอดทิ้งให้อยู่เพียงเดียวดาย พระทัยก็ยังสัตย์ซื่อด้วยความห่วงกังวลในพระสวามี และ เมื่อการเผชิญหน้าครั้งสำคัญกับองค์ปู่เจ้าสมิงพราย ที่ต้องการเดินทางมาถึงเมืองแมนสรวง เพื่อเห็นหน้าหญิงสาวผู้อาจหาญต้านทานพลังอำนาจอันยิ่งใหญ่เหนือฟ้าของท่านอย่างมิพรั่นพรึงภยันตรายใดๆ

การเผชิญหน้ากับปู่เจ้าสมิงพรายนั้น แม้อีกฝ่ายซึ่งทรงอิทธิฤทธิ์อาคมจะเอ่ยปากคำสาปแช่งออกมา หากก็เป็นบทพิสูจน์พระทัยอันแกร่งดุจเหล็กเพชรของลักษณวดีโดยแท้…

“ความสวยของเจ้าจะมีประโยชน์อันใด ในเมื่อไม่มีใครเชยชม แต่จะเหี่ยวแห้งโรยราไป ดุจดอกไม้ที่ถูกเด็ดมาทอดทิ้ง ความรักของเจ้าและคู่ครองจะต้องภินทนาการแตกดับ เจ้าจะต้องหม้ายรักแต่วัยอันรุ่นจำเริญตา แม้ว่าเจ้าจะดำรงศักดิ์เป็นมเหสี แต่กิติคุณและนามของเจ้าจะถูกละลืมให้ลับดับสูญอย่างไม่มีใครเหลียวแลนึกถึง ส่วนความรักของหญิงอื่นที่มาแย่งรักของเจ้าไปนั้น จะกลับรุ่งโรจน์ยั่งยืนอยู่ในความทรงจำของคนอยู่หลัง มีผู้ขับซอยอยศ เล่าลือกันจากปากนี้ไปสู่ปากโน้น จากชนรุ่นนี้ไปสู่รุ่นหน้า… ต่อๆ ไป แม้จนสิ้นอายุขัยของเจ้าแล้วนับด้วยศตพรรษ”

“หม้ายรัก?” ข้าทวนคำ

 “พระปู่เจ้า หมายความว่า ข้าเพียงแต่เป็นหม้ายจากความรัก หาได้หม้ายจากท้าวเธอไม่! โอ… จะหาความยินดีใดเกิดแก่ใจข้าในระหว่างนี้ยิ่งกว่าได้ยินรับสั่งเป็นไม่มี… ข้าไม่คิดว่าเป็นคำสาปแช่ง หากเป็นมธุรสวาจาให้พรข้าเสียมากกว่า”

ปู่เจ้าสมิงพรายถึงกับงุนงงไม่เข้าใจในถ้อยของเจ้าหญิงลักษณวดีแม้แต่น้อย ตราบจนนางกราบทูลเฉลยด้วยพระทัยอันบริสุทธิ์นั้นว่า…

“ข้าไม่ใส่ใจว่า เธอจะจากข้าไปใฝ่รักใคร แสวงสุขกับสตรีที่ไหน สิ่งที่ข้าปรารถนาคือขอให้เธอจงมีชนม์อันยั่งยืนนาน เกษมศานติ์ เท่านั้น ฉะนั้นเมื่อพระปู่เจ้ารับสั่งว่า ข้าจะต้องหม้ายรัก ข้าจึงถือว่าทรงเมตตา ตรัสเป็นนิมิตให้ข้ารู้ว่า ชนม์ภัสดาของข้ายังไม่ถึงฆาต ด้วยข้าจะเป็นหม้ายเพียงเพราะไม่มีผู้รัก แต่หาได้หมายความต่อไปว่าจะต้องเป็นหม้ายเพราะลอ สิ้นพระชนม์ชีพไม่”

นี่คือหัวใจรักอันพิสุทธิ์ของพระนางลักษณวดี แม้จะมิมีชื่อปรากฏเล่าขานเลื่องลือเทียบเท่าเพื่อนแก้ว แพงทอง เคียงคู่องค์ลอดิลกราชในตำนานรัก เป็นเพียงหญิงหนึ่งซึ่งปรากฏในฉากแรกแห่งนิทานโศกนาฏกรรม แต่นิตยา นาฏยะสุนทร ก็ได้นำบทบาทของเธอออกมาโลดแล่นอย่างชัดเจน ผ่านความคิด ความจงรักภักดี ที่มีต่อลอดิลกราชไม่แพ้กัน!

แต่แล้ว ความหวังอันเรืองรองของพระนางก็ต้องภินทนาการมิเหลือชิ้นดี หากนั่นก็ทำให้องค์ปู่เจ้าสมิงพรายถึงกับประทับใจในความกล้าหาญเด็ดเดี่ยวและมั่นคงในรักของนางยิ่ง

“ลักษณวดี เรารับว่า เรานึกผิดถนัด เจ้าเป็นผู้หญิงที่ไม่แต่ฉลาดอย่างยอด ยังจงรักภักดีต่อสวามีอย่างยิ่ง จงรักภักดีมากกว่าที่ข้าคิดไว้มากทีเดียว”

“แต่ความจงรักภักดีในบางครั้งก็ช่วยอะไรคนที่เรารักไม่ได้… เราบอกเจ้าแล้วว่า กรรมของเธอสร้างมาเพียงแค่นั้น”

ชะตากรรมนั้นถูกกำหนดมาแล้ว นำไปสู่ปลายทางแห่งโศกนาฏกรรมที่หลายท่านรู้จักเป็นอย่างดีในบทอวสานที่สะเทือนใจ เฉกเช่นเดียวกับ รักที่ต้องมนตรา นั่นเอง

เรื่อง : รักที่ถูกเมิน
ผู้ประพันธ์ : นิตยา นาฏยะสุนทร
สำนักพิมพ์ : รวมสาส์น
ปีที่พิมพ์ : 2512

ฉากสุดท้ายที่สะเทือนใจยิ่ง คือฉากเมืองสรองรับรู้การสิ้นพระชนม์ของลอดิลกราช เป็นคำปลอบประโลมใจให้แก่กันและกันระหว่างพระนางนาฏบุญเหลือกับพระนางลักษณวดี ฝ่ายหนึ่งสูญเสียลูก ในขณะที่อีกฝ่ายก็สูญเสียพระสวามีสุดที่รัก และในท้ายที่สุด พระนางก็ยังเฝ้าหวังรอคอยว่าในกาลเวลาใดข้างหน้า แม้ชื่อของพระนางจะถูกลบเลือนจากไป แต่ความรักที่รอคอยองค์ลอดิลกราช รักที่ปราศจากมนตราเคลือบแฝง จะทำให้พระองค์ได้พานพบกับพระสวามีอีกครั้ง

ที่แม้แต่ความตายก็มิอาจพราก!

การอ่าน รักที่ถูกเมิน และ รักที่ต้องมนตรา จากสองนักประพันธ์ผู้มากฝีมือทั้งสองท่าน นอกจากจะได้อรรถรส แห่งสำนวนภาษาอันละเมียดละไมในสไตล์ของแต่ละท่านแล้ว ยังเห็นถึงมุมมองและเหตุผลของความรักในแต่ละด้านของทั้งฝั่งพระนางลักษณวดี และ พื่อนแก้ว-แพงทองที่มีต่อองค์ลอดิลกราช อันแตกต่างกัน

Don`t copy text!