สุริยาผยอง (ออกญาเสนาภิมุข)

สุริยาผยอง (ออกญาเสนาภิมุข)

โดย : หมอกมุงเมือง

Loading

บรรณาภิรมย์ โดย หมอกมุงเมือง คอลัมน์ที่อ่านเอาขอมอบความรื่นรมย์ให้กับผู้อ่านด้วยภาพปกสวยๆ และเนื้อเรื่องในแบบต่างๆ ของนักเขียนชั้นครูที่เคยผ่านมือ ผ่านตาและผ่านใจ เพื่อให้ทุกคนได้ร่วมรำลึกถึงผลงานของนักเขียนแต่ละท่านให้พอหายคิดถึงแม้เวลาจะผ่านไปแล้วเนิ่นนาน ภาพและตัวอักษรจะปรากฏให้เห็นอีกครั้งในยุคของการอ่านออนไลน์

เรื่องราวใน สุริยาผยอง นับเป็นเหตุการณ์ต่อเนื่องจากนวนิยายอิงประวัติศาสตร์ อาทิตย์สะบัดแสง โดยเริ่มต้นขึ้น เมื่อภายหลังจากออกหลวงมงคล ได้เสียชีวิตลงจากฝีมือของยามาดาหรือ ออกญาเสนาภิมุข และทำให้ออกญาเสนาภิมุขในเวลานั้น อันเปรียบเสมือนดวงอาทิตย์ ที่ฉายแสงแรงกล้าแผดเผาเหนือราชธานีแห่งกรุงศรีอยุธยาอย่างเรืองอำนาจและหยิ่งผยอง โดยไม่มีผู้ใดอาจหาญ มาต่อกรได้

บัดนี้ เมื่อมีการผลัดแผ่นดิน ออกญากลาโหม ได้ตั้งตนเป็นผู้สำเร็จราชการกรุงศรีอยุธยา และส่งออกญาเสนาภิมุข ให้มาปกครองเมืองนครศรีธรรมราช แทน เจ้าเมืองคนเดิม แม้จะเป็นการ ส่งอีกฝ่าย ให้มาอยู่ห่างไกลสายตา และจากอำนาจกรุงศรีอยุธยาอันเป็นศูนย์กลางราชอาณาจักร แต่ในขณะเดียวกัน ก็ทำให้ ออกญาเสนาภิมุข ยิ่งเหิมเกริมและหยิ่งผยอง ต้องการสร้างฐานอำนาจบารมีในเมืองแห่งนี้ รวมถึงแผนการลับๆที่จะแยก นครศรีธรรมราช ออกเป็นอาณาจักรอิสระของตน จากกรุงศรีอยุธยา

++++++++++++++++++++++++

การมาครองเมืองนครศรีธรรมราชในครั้งนี้ จึงมีการปราบปรามพวกเห็นต่าง และใช้กำลังในการฉุดคร่า หญิงสาวที่หน้าตาสะสวย ให้มาเป็นเครื่องบำเรอกามารมณ์ ของ ยามาดา กลายเป็นการความเดือดร้อนและหวาดกลัวแก่ประชาชนชาวนครศรีธรรมราชไปทั่วทุกหย่อมหญ้า จนถึงกับมีเพลงกล่อมเด็ก ที่กล่าวกันไว้ว่า

“ไอ้ลูกเหอ ลูกไก่หางหลุ้น

ข้าหลวงญี่ปุ่น ซันชิจับเด็ก

จับพวกสาว… สาว… บ่าว…บ่าว ไว้ทำมหาดเล็ก

ซันชิ จับเด็ก จับสิ้นทั้งเมือง เหอ…

แสดงว่า ออกญาเสนาภิมุข คงจะชอบให้คนมาเที่ยวจับเด็กสาวๆ ไปทำลาย และพฤติการณ์เช่นนี้ ได้สร้างความหวาด ไม่เฉพาะพ่อแม่หรือเด็กสาวเท่านั้น พวกเด็กก็ยังหวาดกลัว ชาวเมืองนครฯ จึงร้อยเรียงเป็นกลอนกล่อมลูก”

เรื่องราวใน สุริยาผยอง จึงเริ่มต้นขึ้น เมื่อตรัย เดินทางตามรอย ออกญาเสนาภิมุข มายังเมืองแห่งนี้ด้วยความแค้น!

++++++++++++++++++++++++++++

ชีวิตของเขาและสามขวัญ ภายหลังการสูญสิ้นสมาชิกในครอบครัวอย่างออกหลวงมงคลไป สามขวัญก็ได้ล้มเจ็บลง และเสียชีวิตในเวลาต่อมา เหลือเพียงตรัย ที่ยังมีไฟแห่งความแค้นต่อ ออกญาเสนาภิมุข และเขาก็ต้องการตามล่าอีกฝ่ายพร้อมกับสมุนของพวกมัน เพื่อทำลายให้สิ้นซาก

บัดนี้ เมื่อตรัยรับรู้ว่า ออกญาเสนาภิมุข เดินทางมารับตำแหน่งเจ้าเมืองนครศรีธรรมราช การเดินทางด้วยภารกิจครั้งสำคัญจึงเริ่มต้นขึ้น

คชา สหายเพียงผู้เดียว แนะนำให้เขาเดินทางมาพบกับ จวง ซึ่งเป็นญาติของตน ที่อาศัยอยู่เมืองนคร ระหว่างทางนั้นเอง เขาได้พบเหตุการณ์ไม่คาดคิด เมื่อเผชิญหน้ากับเจ้าเมืองนคร คนเก่า ที่กำลังเดินทางมาตาม ปาลาวี บุตรสาวคนโต ของท่าน ที่ตัดสินใจ จะหนีไปใช้ชีวิตร่วมกับ ออกขุนศรีไวยาวุธ ปลัดเมืองนครศรีธรรมราช ที่เป็นชาวญี่ปุ่น และเป็นเสมือนมือขวาของ ออกญาเสนาภิมุข!

+++++++++++++++++++++

ปาลาวี ยอมถูกตัดสายสัมพันธ์พ่อลูก เดินทางไปยังจวนพักของ ออกขุนศรีไวยาวุธ พร้อมกับทรง ข้าทาสคนสนิท และปล่อยให้ เจ้าเมืองถูกกลุ่มนินจา สมุนของยามาดา รุมทำร้าย แต่ ตรัยก็เข้ามาช่วยไว้ได้ทัน ทำให้อดีตเจ้าเมือง ประทับใจ ในตัวชายหนุ่มและรำลึกในบุญคุณครั้งนี้ ตรัย เดินทางมาถึงบ้านจวง และรับรู้ว่า จวงถูกทหารนินจา ของยามาดา กำจัดไปแล้ว เพราะทำตัวกระด้างกระเดื่องต่อการปกครอง เหลือเพียงสุรสา หญิงสาวคนรักของ จวง ที่อาสา ให้ที่พักกับเขา เมื่อรู้ว่าเขาเดินทางมาจากกรุงศรีอยุธยา

ที่บ้านของ สุรสา นอกจากมารดาผู้ชราแล้วยังมี สายจัน น้องสาววัยแรกแย้มที่แก่นแก้ว และมีท่าทีถูกใจ ต่อชายหนุ่มอย่างเห็นได้ชัด หากตรัย ซึ่งบัดนี้เป็นพ่อม่าย ก็ให้ความเอ็นดูต่อสายจันไม่ต่างกับน้องสาวคนหนึ่ง โดยไม่รู้ว่า สุรสา เอง ก็แอบประทับใจในบุคลิก สมชายชาตรี ที่แกร่งกล้าของเขาด้วยเช่นกัน

+++++++++++++++++++

การมาถึงของตรัย และดาบศิลาเทพศิลาที่สามารถต้านทาน ดาบซามูไรอันแข็งแกร่งได้ สร้างความสงสัยให้ออกญาเสนาภิมุขเป็นอย่างยิ่ง บัดนี้ ยามาดา ในวัยกลางคน มีลูกชายวัยรุ่นหนุ่มนาม โออิมะ ผู้ซึ่งมีนิสัยใจคอโหดเหี้ยมไม่ต่างกับผู้เป็นบิดา และยังมีสมุนมือขวาและซ้ายคือ ชิกาว่า และโยชิตะ คอยเก็บกวาดเสี้ยนหนามที่มาขวางทางอย่างอำมหิต คนทั้งคู่ถูกส่งไปสืบหาตัวตรัย และพยายามกำจัดชายหนุ่ม

แต่แล้ว ก็มี “เหิน” บุรุษปริศนา ที่มีความสามารถในการกำบังกาย มาช่วยเหลือเอาไว้ รวมถึง ปินตา น้องสาววัยรุ่นของเหิน ที่มีฝีมือในการต่อสู้ไม่ต่างกับชายอกสามศอก

ตรัย ได้ทราบในภายหลังว่า เหินก็คือคนของ พระยานครเก่า ที่พยายามซ่องสุมผู้คน ที่มีความคับแค้นใจ ต่อพฤติกรรมของ ยามาดา เช่นเดียวกัน และหาทางโค่นล้มอำนาจของอีกฝ่าย พระยานคร เมื่อรู้ว่าตรัย มีวัตถุประสงค์เดียวกัน จึงชวนให้ชายหนุ่มร่วมงานสำคัญในครั้งนี้ด้วยกัน และความลับสำคัญก็เปิดเผยขึ้น

ปาลาวี ธิดาคนโตของเจ้าเมืองนคร ที่ถูกชาวเมืองตราหน้า ว่าเป็นหญิงทรยศ หันไปเลือกข้างอยู่กินกับ ออกขุนศรีไวยาวุธ ปลัดเมืองชาวญี่ปุ่นผู้เรืองอำนาจของออกญาเสนาภิมุข หากแท้จริงแล้ว หล่อนคือ ใส้ศึก ที่อยู่ในเดิมพันเกมนี้!

ปาลาวี สืบรู้ว่า ยามาดา วางแผนปกครองนครศรีฯ อย่างเบ็ดเสร็จ ไม่ขึ้นต่อกรุงศรีอยุธยา โดยการสร้างแผนที่ยุทธศาสตร์ของเมืองนครขึ้นมา และแบ่งส่วนหนึ่งไว้ที่ ออกขุนศรี หญิงสาวพยายามสืบหาแผนที่ฉบับนี้ ให้พบ ก่อนที่ทุกอย่างจะสายเกินไป แม้ว่าจะต้องแลกด้วยชีวิตของตัวเองก็ตาม!

เรื่อง : สุริยาผยอง (ออกญาเสนาภิมุข)

ผู้เขียน : ธิตินัดดา

สำนักพิมพ์ : วังอักษร

ปีที่พิมพ์ : 2534

สองเล่มจบ

ในขณะที่สายจันเอง ก็พยายามทำทุกวิถีทาง เพื่อให้ ตรัย เป็นของตัวเอง แม้ว่าจะต้องแย่งมาจาก สุรสา พี่สาว ที่แอบรักตรัยอยู่ก็ตาม เด็กสาว ใช้เสน่ห์เล่กล จากมนต์ดำของอาจารย์ช่วย ผู้ทรงเวทย์ และร่วมมือกับ ออกญาเสนาภิมุข ทรยศต่อทุกคน เพื่อหวังครอบครองความรัก แต่แล้ว ท้ายที่สุด สายจัน ก็ต้องตกเป็นของออกญาเสนาภิมุข แต่นั่นก็ทำให้เด็กสาวที่มีแต่ความทะเยอทะยาน พยายามที่จะไต่เต้าตัวเอง ให้ขึ้นมาเป็นที่ยอมรับ แม้ว่าจะถูกตราหน้า ว่าขายชาติ ก็ตาม!

เรื่องราว ใน สุริยาผยอง อันเป็นภาคต่อของ อาทิตย์สะบัดแสง มีความเข้มข้น และบทบาทของตัวละคร ต่างๆ มากมาย เนื้อเรื่องมีทั้งการวางกลศึก แผนการลอบสังหาร การใช้ไสยศาสตร์ในการต่อสู้ ความแค้น ความรักระหว่างหนุ่มสาว ความรักชาติบ้านเมือง และการเสียสละชีวิตเพื่ออุดมการณ์ของตน โดยมีฉากหลังคือประวัติศาสตร์ไทยในยุคหนึ่ง ที่กล่าวกันไว้ว่า หากครั้งนั้นวางกลศึกพลาดไปเพียงนิดเดียว ประวัติศาสตร์ในยุคนั้น อาจเปลี่ยนโฉมหน้าการเมืองการปกครองกันเลยทีเดียว

แม้ว่าในท้ายที่สุดแล้ว ออกญาเสนาภิมุข จะถูกกำจัดลง ด้วยแผนการของ ออกญากลาโหม ภายหลังจากได้บาดเจ็บจากการสู้รบกับหัวเมืองปัตตานีกลับมา แต่ โออิมะ บุตรชาย ผู้ขึ้นเป็นออกขุนเสนาภิมุข ก็ยังสำแดงอำนาจบาตรใหญ่ จนถูกกำจัดไปในที่สุดเช่นเดียวกัน

สำหรับ ตรัย อันเป็นพระเอกของเรื่อง ที่สร้างขึ้นจากจินตนาการของ ธิตินัดดา และตัวละครแวดล้อมอื่นๆ ในท้ายที่สุด ภายหลังจากการสิ้นสุดชีวิตของ ออกญาเสนาภิมุข เขาและเหิน สหายร่วมเป็นร่วมตาย รวมถึง ปินดา สาวน้อย ที่มีใจให้กับเขา ได้เดินทางกลับยังบ้านเกิดเมืองนอน ที่ปราสาทนครหลวง ริมแม่น้ำป่าสัก เมื่อ ดวงตะวันอันแรงร้อนก่อนหน้า ได้ถึงวาระแห่งอังดงคตลง

และกรุงศรีอยุธยา ก็มีพระเจ้าปราสาททอง ขึ้นปกครอง ผลัดเปลี่ยนยุคสมัย ในอีกวาระหนึ่ง…

++++++++++++++++++++++

เมื่อได้อ่าน นวนิยาย ชุดนี้จบลง นอกเหนือจากความสนุกสนานของเรื่องราว ที่ผู้เขียนผูกขึ้นโดยตัวละครสมมติที่โยงกับเรื่องราวในประวัติศาสตร์ และความรู้จากประวัติศาสตร์ส่วนหนึ่ง ที่นำมาประกอบในนิยาย ทำให้อดนึกนิยาย ที่อาศัยเหตุการณ์ในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน อย่าง “เจ้าไล” ของ คึกเดช กันตามระ และ “ออกญา” ของ กรกุณารี ที่เขียนถึงภาพของ ยามาดา ในวัยเยาว์ ตั้งแต่อาศัยอยู่ที่ญี่ปุ่น ก่อนจะเดินทางมายังแดนสยาม และแผ่ขยายอำนาจจนก้าวขึ้นมาเป็นออกญาเสนาภิมุข ในหน้าประวัติศาสตร์ไทย นั่นเอง

 

Don`t copy text!