ชาวเขื่อน

ชาวเขื่อน

โดย : หมอกมุงเมือง

Loading

บรรณาภิรมย์ โดย หมอกมุงเมือง คอลัมน์ที่อ่านเอาขอมอบความรื่นรมย์ให้กับผู้อ่านด้วยภาพปกสวยๆ และเนื้อเรื่องในแบบต่างๆ ของนักเขียนชั้นครูที่เคยผ่านมือ ผ่านตาและผ่านใจ เพื่อให้ทุกคนได้ร่วมรำลึกถึงผลงานของนักเขียนแต่ละท่านให้พอหายคิดถึงแม้เวลาจะผ่านไปแล้วเนิ่นนาน ภาพและตัวอักษรจะปรากฏให้เห็นอีกครั้งในยุคของการอ่านออนไลน์

 

ถ้าเอ่ยชื่อ ‘มนันยา’ นักอ่านรุ่นปัจจุบันหลายท่านอาจจะคุ้นเคยกับผลงานแปลนิยาย หลากหลายสไตล์ โดยเฉพาะการแปลเรื่องสั้นแนวหักมุมจบ ที่ฮิตจนรวมเล่มเป็นชื่อชุด ต่างๆ จำนวนมากมาย ตีพิมพ์ซ้ำหลายครั้งหลายหน โดยพิมพ์ในรูปพ็อกเก็ตบุ๊กกับสำนักพิมพ์สามสี อย่าง เหตุเกิดกลางแสงเดือน ไม่เชื่อก็อย่าเชื่อ ไม่เด็ดก็ไม่ขาด ไม่ฆ่าก็ไม่ฟัน (fun) ทีใครทีมัน มิดีมิร้าย ฯลฯ

แต่ในขณะเดียวกัน มนันยาเองก็เคยมีผลงานการเขียนเรื่องสั้นในแนวคอเมดี หรือหัสคดีขำขัน ซึ่งเป็นที่นิยมของบรรดานักอ่านในอดีต ไม่ว่าจะเป็นชุด เลขานินทานาย โดยเฉพาะเรื่องสั้นชุด ‘ชาวเขื่อน’ ที่หลายคนต่างติดใจกันมาแล้ว

สำหรับเรื่องสั้น ชาวเขื่อน ชุดนี้ จะประกอบด้วย เรื่องราวสามเล่ม คือ ชาวเขื่อน, เอ แมน คอลต์ เป๋ง และ ลาก่อนกิ่วลม ซึ่งในโอกาสนี้ ผมขอเลือกนำเรื่องสั้นชุด ชาวเขื่อน อันเป็นชุดแรก มานำเสนอกับเพื่อนนักอ่านเพื่อความรื่นรมย์ในวาระนี้ด้วยครับ และหากสนใจก็สามารถติดตามหาเรื่องสั้นทั้งสามชุดได้ ในรูปแบบของอีบุ๊ก หรือรวมเล่มในรูปหนังสือได้เช่นกันครับ

จากโปรยปกหลังของหนังสือเล่มนี้ (ณ ปี พ.ศ. 2523) ได้เขียนแนะนำตัวผู้เขียน โดยแฝงไว้สไตล์สำนวนอารมณ์ขันว่า…

มนันยา เป็นคุณแม่ลูกสองที่ยังสาว อายุแค่ 25 ปีกับเกือบๆ 100 เดือนเท่านั้น ขณะนี้เธอเป็นเจ้าหน้าที่วิเทศสัมพันธ์ ทำงานเกี่ยวกับฝรั่งมังค่าอยู่ที่กรมน้ำสามเสน แล้วก็เขียนกับแปลหนังสือเป็นงานอดิเรก

มนันยาเคยรับราชการอยู่ภาคเหนือหลายปี เรื่องชุดชาวเขื่อนทั้งสามเล่มนี้ ได้เขียนขึ้นขณะเธอพำนักอยู่เขื่อนกิ่วลม จังหวัดลำปาง ซึ่งสามีของเธอเคยควบคุมการก่อสร้าง ที่ในป่าไกลปืนเที่ยงนั้น ‘มนันยา’ ได้พบชีวิตในแง่มุมแปลกๆ ของคนงาน ชาวบ้าน ตลอดจนถึงพวกช่างที่ทำงานอยู่ในเขื่อน มนันยาได้นำชีวิตของคนเหล่านั้น มาเล่าสู่กันฟัง ด้วยอารมณขันอันแหวกแนว สำนวนเพรียวลมของเธอและสไตล์การเขียนที่ฉับไวปราดเปรียว…

ดังนั้น เพียงแค่เริ่มต้นเปิดไปหน้าแรก ก่อนเข้าสู่เนื้อเรื่องคุณมนันยา ก็ทำให้เราอมยิ้มแล้ว ด้วยประโยคที่ว่า…

“แด่ คุณสุขสม ธนะภูมิ หลายๆ เรื่องในชุดชาวเขื่อน มาจากเกร็ดที่เขาเล่าให้ข้าพเจ้าฟัง แต่พอเขียนเสร็จแล้ว เขากลับไม่ยอมอ่าน… ให้ตายเถอะ!”

และเรื่องราวในชุดแรกของหนังสือ ชาวเขื่อน ก็เริ่มต้นขึ้น ผ่านการบอกเล่าของ ‘ผม’ ซึ่งก็คือ ยอดชาย นายประกอบ หรือ เป๋ง เปล่งดี ลูกชายพ่อปิน หลานปู่เปล่ง ที่เรียนจบด้านการก่อสร้างมา และก็ให้บังเอิญที่ ‘นาย’ ซึ่งเป็นเพื่อนกับพ่อ เป็นฝ่ายชักชวนให้ ‘ผม’ มาทำงานที่กรมชลประทานแห่งนี้นั่นเอง

 

และเมื่อนั้น วีรกรรมของ ‘ผม’ จึงเริ่มต้นขึ้น เมื่อถูกส่งตัวให้มาเป็นนายช่างประจำอยู่ที่เขื่อนกิ่วลม จังหวัดลำปาง แห่งนี้

+++++++++++++++++++++++

เรื่องราวใน ชาวเขื่อน จะมีตัวละครต่างๆ ผ่านเข้ามา โดยมีบทบาทสั้นๆ ในแต่ละตอน พฤติการณ์และเรื่องราวที่ทั้งขบขัน บันเทิง แต่ในขณะเดียวกันก็สะท้อนชีวิตจริงของคนทำงาน ณ ที่แห่งนั้น ไปพร้อมๆ กัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องราวของนายใหญ่ หรือ ชคส. (นายช่างชั้นหัวหน้าโครงการก่อสร้าง) ที่ผมเข้าไปเป็นผู้ช่วย ชคส. หนุ่มใหญ่วัยสี่สิบที่รักษาความโสดอย่างเหนียวแน่น ในขณะที่ลูกน้องตัวแสบทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นธนา บันเทิง ทวี วิบูลย์ หรือพยอม รวมทั้งผมเอง ก็สร้างวีรกรรมเด็ดๆ เอาไว้ในเรื่องราวเหล่านี้มากมาย

อย่างเรื่องของพยอม ที่มาเป็นคนขับรถให้ผู้จัดการบริษัท ทั้งที่รูปร่างหน้าตาดี พ่อรวยแล้วยังพูดฝรั่งได้คล่อง จนสาวๆ แอบเหล่ให้หลายคน แต่พยอมก็ไม่ยอมปลงใจให้กับใครสักคน ด้วยนิสัยขี้อาย เจียมเนื้อเจียมตัว ไม่ค่อยแสดงความรู้สึกออกมา และยัง ‘ยอม’ เป็นลูกไล่ให้กับทุกคน แต่ในที่สุด พยอมก็ตกหลุมรักครูทิพย์ ครูสาวในโรงเรียนแถวนั้น จนแต่งงานกัน

การแต่งงานที่ทำให้ชีวิตของพยอมต้องยอมเปลี่ยนไปตามความต้องการของภรรยา ที่ไม่ชอบให้สามียอมเป็นลูกไล่ของเพื่อนๆ ไม่ว่าจะเปลี่ยนชื่อใหม่เป็นชนะ หรือให้ลาออกจากงานไปเรียนต่อ ทั้งที่จริงๆ แล้วเขาเองก็ไม่เคยรู้สึกว่าเป็นปมด้อยใดๆ เลย แต่ท้ายที่สุด พยอมก็หวนกลับมาเป็นคนขับรถต๊อกต๋อยให้กับที่เดิมอีกครั้ง

“อ้าว ไอ้ยอม ไปยังไงมายังไงกันล่ะ”

“ผมจะมาสมัครงานครับ นายอยากได้คนขับรถมั่งไหมครับ”

“อยากซิ แต่มึงไปเรียนต่อจนจบช่างกลแล้วไม่ใช่หรือวะ จะกลับมาขับรถทำไม”

“ไม่ล่ะครับ ผมชอบขับรถมากกว่า ถึงได้เงินน้อยกว่า ก็ช่างมัน ความสุขคือความพอใจครับนาย”

“แล้วเมียมึงล่ะ ไม่พามาด้วยกันหรือ”

“เลิกกันแล้วครับ เรามีทัศนคติไม่ตรงกันครับ เดี๋ยวนี้ผมก็ไม่ชื่อชนะชะแนะ กลับมาพยอมอย่างเก่า มาขับรถอย่างเก่า ผมมารู้ตัวว่าผมจะเป็นอะไรอื่นไม่ได้ นอกจากไอ้ยอมอย่างนี้แหละนาย…”

+++++++++++++++++++++++++

นอกจากนี้ ภายใน ‘ชาวเขื่อน’ ยังมีเรื่องราวชีวิตที่โลดโผนของจอมขี้ขโมยตั้งแต่วัยเด็กตัวกะเปี๊ยกอย่าง ‘ไอ้แมว’ ที่ถึงจะขโมยทุกอย่างที่ขวางหน้า แต่ก็มีกฎประจำใจของมันเองคือ ไม่ขโมยของหลวง!

เรื่องลูกคุณพระ ที่เป็นเรื่องราวของไอ้หนุ่มจอมกะล่อน ‘เจ้าก๋องพอย’ หรือชัย ที่เป็นนักการภารโรงของสำนักงาน และไปหลอกสาวในเมืองว่าเป็นถึงลูกคุณพระ จนสาวเจ้าเชื่อใจ ยอมรับรัก แม้ว่าจะถูก ‘ผม’ จับได้ มันก็ยังมีเหตุผลของมันว่า…

“ผมป่าวโกหก” เจ้าก๋องพลอยโวยวาย

“พ่อผมเป็นพระจริงๆ นะนาย สาบาน”

“ไอ้เวร ยังจะปากแข็ง ไอ้กะล่อน ไหนบอกข้ามาซิว่า พระอะไรของเอ็ง ไอ้ก๋องพอย”

“พระภิกษุครับ แฮ่ะ แฮ่ะ”

เรื่อง : ชาวเขื่อน

ผู้เขียน : มนันยา

สำนักพิมพ์ : ศิลปาบรรณาคาร

ปีที่พิมพ์ : 2523

เล่มเดียวจบ

นอกจากนี้ ยังมีเรื่องราวของไอ้ไข่ ไอ้หนุ่มขี้เมา ที่เมาได้ที่ จะลุกขึ้นมาร้องเพลง ‘วิ่งเปลือย’ เพลงพื้นเมืองน่ารักๆ

“เมื่อมาเฮามาคนเดียว แอ๋วเตียวขึ้นเหนือล่องใต้ อกเอ๋ยยังมาง่อมเหมือนใจ เหมือนเฮาอยู่ในป่าเปลี่ยวเดียวดาย

ขึ้นกองล่องกอง แบกสากมองคนเดียว ตัวน้องก็และเหลียว ตัวพี่แก้เตียว ขึ้นลองกอง”

 ถ้าหากว่า… ไอ้ไข่มันจะไม่เผลอตัว ไป ‘แก้เตียว’ เสียก่อน เอาตอนกำลังเมาได้ที่ และบังเอิญเมื่อสาวคนรักดันแวะมาหาที่วงเหล้าพอดี!

 เรื่องราวใน ชาวเขื่อน ยังมีชีวิตที่หลากหลายของสมาชิกชมรมชายโฉดหรือชายโสด อีกหลากหลายคน ที่จะนำพาผู้อ่านให้รื่นรมย์และอมยิ้มไปกับวีรกรรมของพวกเขาอย่างแน่นอนเลยทีเดียว

 

สำหรับในตอนท้ายของเล่มชาวเขื่อน มีบทสัมภาษณ์คุณมนันยา จากคอลัมน์ลลนานัดพบ ในนิตยสาร ลลนา อยู่ด้วย ซึ่งผมขอนำมาลงเพียงบางส่วนดังนี้ครับ

ทราบว่าเขียนเรื่องมานานมากแล้วใช่ไหมคะ

“ตั้งแต่อายุสิบสี่แน่ะ เริ่มแรกเป็นนิทานเด็กๆ นะคะ ลงในดรุณสาร สตรีสารภาคเด็กในสมัยก่อน แล้วมาเขียนเป็นนิยาย เป็นเรื่องสั้นจริงๆ ก็อายุสัก 16 ได้ อยู่มอหก”

เขียนขณะที่ยังเขียนหนังสือโรงเรียนอะไร

“อยู่ราชินีค่ะ ราชินีเฉยๆ ไม่มีล่าง มีแต่ราชินีเฉยๆ กับราชินีบน อยู่โรงเรียนประถมที่ดรุโณฯ แล้วก็ไปเข้ามอหนึ่งที่ราชินี จบมอหกแล้วก็ไปเข้าเตรียม”

ใช้ชื่อมนันยา หรือเปล่าคะ ตอนนั้น

“ไม่ค่ะ นามปากกา วรยา คือมีเพื่อนรักคนหนึ่งชื่อ วรเทวี ณ ลำพู เป็นลูกเจ้า เรารักกันมากตอนอยู่ราชินี ก็เอาชื่อเขาครึ่งหนึ่ง ชื่อตัวเองครึ่งหนึ่ง รู้สึกมันเชยๆ เหมือนกัน เรื่องแรกที่เขียนก็จำได้ว่าเป็นเรื่องเจ้าเมืองเหนือ”

แล้วมาเริ่มใช้มนันยา เมื่อไหร่ล่ะคะ

“เมื่อเขียนเรื่องชาวเขื่อน… ไม่ค่ะ คือว่าเมื่ออยู่ปีสี่ จุฬาฯ นี่นะคะ ข้างๆ บ้านเขาเป็นเจ้าของบริษัทนิวซิตี้ เขาก็มาชวนให้ไปทำหนังสือโฆษณาให้เขา วันเสาร์ก็ไปทำทั้งวัน แล้วก็ใช้ชื่อ มนันยา วิทยานนท์ ทำไปทำมาก็เลยติด เขียนให้เขาเรื่อย จนในที่สุด เขาหาคนทำได้ ตอนนี้เลยเขียนให้ 2-3 คอลัมน์ ทีนี้พอแต่งงาน แล้วย้ายไปอยู่ลำปาง มันเหงา ก็เลยเขียนเรื่องชาวเขื่อน ส่งมาให้อาจารย์นิลวรรณ ปิ่นทอง ก็เลยใช้นามปากกามนันยาเฉยๆ เอานามสกุลออก”

มนันยา แปลว่าอะไร

“แปลว่า อยู่ที่หัวใจ เสถียรโกเศศตั้ง แปลว่า อยู่ที่หัวใจ เกลียดก็ได้ รักก็ได้ แต่อยู่นั้นน่ะ ไม่ไปไหน คือถ้าเผื่อให้เขาไปอยู่แล้วนะ จะเกลียดก็ได้ จะรักก็ได้ แต่ไม่ออกนะ (หัวเราะ) อย่าปล่อยให้หลุดเข้าไปเชียว

นี่เสถียรโกเศศท่านไม่ได้แปลให้อย่างนี้นะคะ

“แปลเอง” (หัวเราะ)

อยู่ที่เขื่อนกิ่วลมกี่ปีคะ ถึงได้เริ่มเขียนเรื่องชาวเขื่อน

“อยู่ไม่ถึงปีหรอกค่ะ”

ตัวละครในนั้นมีจริงทั้งหมดไหม

“ไม่หมด แต่ก็เยอะ คือบางเรื่องมันเป็นเรื่องจริง เราก็เอามาต่อเติมนิดๆ หน่อยๆ มาตัดทอน หรือบางทีก็เป็นเรื่องที่เขาเล่ากันมา ได้พบได้เห็นบ้าง ก็เอาไปใส่กับคน เพราะฉะนั้นจะว่าจริงก็ไม่ใช่ จะว่าไม่จริงก็ไม่ใช่ ก็ผสมๆ อยู่ แต่ที่เป็นตัวละครใหญ่ๆ ตัวสำคัญๆ ในเรื่องจะพูดแล้วก็มีตัวจริงเกือบทุกคน”

เป็นเรื่องแรกใช่ไหม ที่เขียนให้ตัวเองเป็นผู้เล่า

“เอ้อ ถามดีนะ (วุ้ย– เขินเชียว ปลื้มจนแทบลืมคำถามแน่ะ) ปกติไม่เคยเขียนเรื่องที่เอาตัวเองเข้าไปในเรื่อง เรื่องนี้เป็นเรื่องแรก เพราะเมื่อก่อนก็เขียนเรื่องอ่านเล่น ก็เป็นแบบเรื่องอ่านเล่นไป เป็นบุรุษที่สาม”

ปกติใช้เวลาช่วงไหนเขียนหนังสือคะ

“ก็พอจะเจียดได้บ้าง (หัวเราะ) แต่ตอนนี้ไม่ค่อยมีเวลาค่ะ เพราะต้องดูแลลูก ไม่มีคนใช้ เมื่อก่อนตอนที่ยังเรียนหนังสืออยู่ สมาธิดีมาก ยังสาวอยู่ ว่างั้นเถอะ เพื่อนคุยกันเต็มอยู่รอบๆ ข้าง ก็คุยกับคนนู้นที คนนี้ที เขียนประโยคสองประโยค แล้วก็คุยใหม่ มันก็เขียนไปได้ ไม่รู้สึกอะไรเลย เดี๋ยวนี้ไม่ได้ ใครวอกแวก เดินวูบอะไรข้างๆ ไม่ได้ ไม่มีสมาธิ ชักแก่แล้ว”

 

(จากส่วนหนึ่งในบทสัมภาษณ์คุณมนันยา ในนิตยสารลลนา)

 

Don`t copy text!