ดอกแคแดง

ดอกแคแดง

โดย : หมอกมุงเมือง

Loading

บรรณาภิรมย์ โดย หมอกมุงเมือง คอลัมน์ที่อ่านเอาขอมอบความรื่นรมย์ให้กับผู้อ่านด้วยภาพปกสวยๆ และเนื้อเรื่องในแบบต่างๆ ของนักเขียนชั้นครูที่เคยผ่านมือ ผ่านตาและผ่านใจ เพื่อให้ทุกคนได้ร่วมรำลึกถึงผลงานของนักเขียนแต่ละท่านให้พอหายคิดถึงแม้เวลาจะผ่านไปแล้วเนิ่นนาน ภาพและตัวอักษรจะปรากฏให้เห็นอีกครั้งในยุคของการอ่านออนไลน์

 

สำหรับบรรณาภิรมย์เรื่องที่ 130 ในครั้งนี้ ผมขอนำเสนอผลงานของนักเขียนผู้มีฉายาราชาเรื่องสั้น มนัส จรรยงค์

เมื่อเอ่ยนาม มนัส จรรยงค์ หลายคนจะนึกถึงผลงานเรื่องสั้นชิ้นเอก ‘จับตาย’ ของนักเขียนนามอุโฆษ หรืออย่างผลงาน ‘ท่อนแขนนางรำ’ เรื่องสั้นที่สร้างความประทับใจแกมสยองขวัญแก่ผู้อ่านเป็นจำนวนมาก หากในความจริงแล้ว นอกจากผลงานเรื่องสั้นแล้ว ท่านยังมีผลงานในรูปแบบอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นสารคดี หรือนิยายเรื่องยาวอยู่หลายเรื่อง เช่น เลือดอัสดร ประตูทอง หรือสายนที สำหรับ ดอกแคแดง เรื่องนี้ ประกอบด้วยนิยายขนาดสั้นสามเรื่องรวมกัน คือ ดอกแคแดง  พยอมดง และ โศกนาฏกรรมในทุ่งกว้าง

มนัส จรรยงค์

ประวัติของ มนัส จรรยงค์ นั้น ท่านเกิดเมื่อวันที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2450 ที่จังหวัดเพชรบุรี และถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2508 เป็นบุตรคนโตในจำนวนพี่น้องทั้งหมด 10 คน ภายหลังท่านได้ลาออกจากโรงเรียนแล้วไปทำงานตามที่ต่างๆ มากมาย ก่อนจะสมัครเข้าเป็นเสมียนไต่สวนประจำอำเภอที่เพชรบุรี และเป็นครูสอนดนตรีไทย จนมีโอกาสได้เป็นครูสอนดนตรีแก่ลูกสาวเจ้าเมืองเพชรบุรี และเกิดความรักใคร่ชอบพอกัน จนภายหลังก็ได้เป็นคู่ครองกันในที่สุด

สำหรับมูลเหตุของการเข้าสู่วงการหนังสือนั้น จากข้อมูล ประวัตินักเขียนไทยเล่ม 1 บันทึกไว้ว่า สาเหตุสำคัญคือความหึงหวงคนรัก เพราะครูสอนดนตรีไทยของลูกสาวเจ้าเมืองอีกคนหนึ่งเป็นนักเขียน ด้วยความคิดจะแข่งขันเอาชนะ ท่านจึงเกิดแรงผลักดันพยายามเขียนเพื่อเป็นนักเขียนให้ได้ เริ่มต้นด้วย เรื่องสั้น ‘สวรรค์ครึ่งเดือน’ (ภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็น คู่ทุกข์คู่ยาก) ส่งไปลง เดลิเมล์วันจันทร์ เมื่อ ปี พ.ศ. 2473 โดยใช้นามปากกา อ.มนัสวีร์ มีความหมายถึงหญิงคนรักว่า ‘อ้อมผู้กล้าหาญ’

ราชาเรื่องสั้นผู้นี้มีผลงานเรื่องสั้นกว่าหนึ่งพันเรื่อง เรื่องยาวกว่ายี่สิบเรื่อง เป็นงานเขียนที่มีลักษณะเป็นตัวของตัวเอง เขาเขียนเรื่องสั้นประเภทชีวิตรักโศกกระจุ๋มกระจิ๋มตามตลาดหนังสือ ต่อมาก็เขียนเรื่องสั้นทั่วไป และงานประเภทลูกทุ่งที่เขียนได้เด่นพอๆ กับ ‘ไม้ เมืองเดิม’ ความสามารถของเขาอีกอย่างหนึ่งคือ เขียนได้เร็ว และติดต่อกันได้ 3-4 เรื่องโดยไม่หยุด

สำหรับเรื่อง จับตาย นั้น มนัส จรรยงค์ เขียนขึ้นจากประสบการณ์เมื่อครั้งไปทำงาน ณ ทัณฑสถานที่จังหวัดยะลา ตัวละครจึงเป็นบุคคลที่ไม่ค่อยมีคนเขียนถึงมากนักคือนักโทษ เรื่องที่เขียนจึงดูสมจริง จุดเด่นสำคัญที่ผู้เขียนเน้นคือจิตใจของบุคคลที่ดูเผินๆ แล้วหยาบกระด้าง แต่มีความรัก ความซื่อสัตย์ และความเด็ดเดี่ยวกล้าหาญซ่อนอยู่ บุคคลเหล่านี้เมื่อรักใครก็รักอย่างยอมตายทีเดียว

และสำหรับบรรณาภิรมย์เรื่องที่ 130 ในครั้งนี้ ขอนำเสนอผลงาน ‘ดอกแคแดง’ นวนิยายชื่อแปลกเรื่องนี้ก็เช่นเดียวกัน เรื่องราวของสาวน้อยมารินในวัยเพียงสิบแปดปี ที่มีโอกาสได้พบกับ นพดล พันธ์งาม ชายหนุ่มรูปงามที่ขับรถสปอร์ตคันเท่ เขาพบเธอกลางทางและอาสารับไปส่งที่บ้าน จนรู้ภายหลังว่ามารินอยู่ที่จังหวัดเดียวกันเขา และหล่อนก็กำลังจะเดินทางกลับบ้าน

เรื่อง : ดอกแคแดง

ผู้เขียน : มนัส จรรยงค์

สำนักพิมพ์ : ผดุงศึกษา

ปีที่พิมพ์ : 2504

เล่มเดียวจบ

เพียงรอยจูบอันฝังใจในคืนวันนั้น ทำให้มารินถึงกับเพ้อหาชายหนุ่มผู้มากเสน่ห์ แม้ว่าเธอเองจะมีชาญชัยเป็นคู่รักแล้วก็ตาม แต่เมื่อหญิงสาวเดินทางกลับมาถึงบ้านที่ต่างจังหวัดนั้นเอง เธอก็ได้รับข่าวที่ไม่คาดฝันว่าชาญชัยแต่งงานไปหญิงสาวคนอื่นเสียแล้ว

ชายหนุ่มผู้นั้นเพียงแต่จดหมายมาสารภาพกับเธอว่าเขาทำหญิงสาวคนหนึ่งตั้งครรภ์จนต้องรับผิดชอบ มารินเสียใจ และในเวลาเดียวกันนั้นเอง เมื่อมารดาของเธอชักนำสุกรี หนุ่มสูงวัยที่มีข่าวว่าเขาจะได้มรดกจากทางบ้านจำนวนมหาศาล แม้ว่าจะมีอายุแก่กว่าเธอถึงยี่สิบสี่ปีก็ตาม

มารินหักใจ แต่งงานกับชายแก่สุกรี ทั้งที่ตัวเองก็ไม่ได้รัก บัดนี้หัวใจหล่อนกลับโหยหานพดลอยู่ไม่วาย ดังนั้น ในคืนวันส่งตัวเข้าหอ มารินจึงบ่ายเบี่ยงที่จะหลับนอนกับเขา และสุกรีเองก็ตามใจภรรยาของเขาเป็นอย่างดี จนกระทั่งรุ่งอรุณของวันใหม่ เมื่อสาวใช้มาบอกว่ามีแขกต้องการพบกับหล่อน

และเขาคนนั้นก็คือนพดล!

 

และแล้ว ทั้งหล่อนและนพดลก็ถูกความลุ่มหลงเข้าครอบงำ จนให้ถลำตัวเผลอใจมีความสัมพันธ์ต่อกัน ทั้งที่รู้เต็มอกว่านพดลเองก็มีภรรยาคือกาญจนาอยู่แล้ว แต่เขาก็บอกว่า กาญจนาเป็นหญิงสูงวัยที่เขาไม่เคยรักและปรารถนา รวมถึงเขาพยายามขอแยกทางจากหล่อน นั่นยิ่งทำให้ มารินไม่อาจหักห้ามใจได้

ยิ่งเมื่อสุกรีต้องจากบ้าน เดินทางไปทำงานที่กรุงเทพฯ เหมือนยิ่งเปิดโอกาสให้หล่อนและเขาร่วมมือกัน สวมเขาให้อย่างหฤหรรษ์ แม้ว่าจะมีครูประดิษฐ์ที่แอบชอบหล่อนรายงานให้กับสุกรีรับรู้ก็ตาม ดูเหมือนว่าสามีของหล่อนจะทั้งโง่และเซ่อ จนไม่สนใจความเป็นไปของภรรยาเลยแม้แต่น้อย

และท้ายที่สุดหล่อนก็ตั้งครรภ์ ทันทีเมื่อคลอดลูกออกมา มารินก็ต้องประหลาดใจ เมื่อมีตัวแทนทนายเดินทางมาพบหล่อนกับสุกรีที่บ้าน พร้อมกับทรัพย์สินต่างๆ และเอกสารมากมาย

สุกรีได้รับมรดกจากครอบครัวของเขาเรียบร้อย ด้วยเงื่อนไขพินัยกรรมที่หล่อนไม่เคยรู้มาก่อน

เขาต้องมีลูกก่อนจะอายุครบสี่สิบห้าปี จึงจะได้ทรัพย์สมบัติทั้งหมด มิเช่นนั้นทุกอย่างจะตกเป็นของสาธารณะ!

และหล่อนคือเป้าหมายที่จะมีลูกสืบสกุล เพื่อให้เขาได้มรดกส่วนนั้น…

สุกรีไม่หึงหวง ไม่สนใจว่าหล่อนจะคบชู้ หรือไปมีความสัมพันธ์กับใครอีก เขาพร้อมให้หล่อนจากไปอย่างอิสระ เหลือเพียงลูกที่จะเป็นเครื่องมือที่ทำให้เขาบรรลุวัตถุประสงค์นั้น เรียบร้อยแล้ว!

นี่แหละชีวิต เดี๋ยวเป็นเส้นตรง เดี๋ยวขยุกขยิก เดี๋ยวสว่าง เดี๋ยวก็มืดเหมือนนรก เดี๋ยวก็เต็มไปด้วยเงาอันน่ากลัวเหมือนภูตผีปีศาจ เดี๋ยวก็กลับเปลี่ยนเป็นรัศมีรุ้งอันแสนจะงดงาม…

พยอมดง เป็นเรื่องสั้นขนาดยาวอีกเรื่องหนึ่ง ที่รวมอยู่ในหนังสือชุดนี้ บอกเล่าเรื่องราวในดินแดนบ้านป่าเมืองเถื่อน ที่มี กำนันเพชร เพชรภูมิ ชายหนุ่มฉกรรจ์วัยสามสิบห้าปี ขึ้นมาปกครองแทนกำนันนิล กำนัลคนเก่าที่ทุจริตต่อหน้าที่ เพชรเป็นพ่อม่าย มีลูกสาวตัวเล็กชื่อพรทิพย์ เขามีน้องชายต่างมารดาที่ทำงานอยู่กรุงเทพฯ ชื่ออัมพร

และเหตุการณ์หักหลังของบรรดานักเลงและอิทธิพลเถื่อนของกำนัลนิลที่ยังคงอยู่ในดินแดนแห่งนั้น ก็นำพาให้เขาได้ช่วยเหลือมาลี เด็กสาวแสนสวย ที่เคยอยู่ในอุปการะของ นายมูลและภรรยาก่อนที่ทั้งคู่จะเสียชีวิต ความสวยโสภาของเด็กสาวที่เขารับปากนายมูลเอาไว้ว่าจะเลี้ยงดูเหมือนลูกสาว ทำให้เขาต้องพยายามตัดใจจากความรู้สึกพิศวาสต่อสาวน้อยผู้นั้น และป้องกัน ไม่ให้นายแมน น้องชายนายมูล ที่หมายปองเจ้าหล่อนอยู่เข้ามาฉุดคร่าสาวน้อยบ้านป่าผู้นี้

จนท้ายสุดทำให้กำนันเพชรต้องหักใจ ยอมแต่งงานกับพยอม แม่ม่ายสาวในหมู่บ้านแห่งนั้น และเมื่ออัมพรน้องชายของเขาเดินทางกลับมาเยี่ยมบ้าน ก็เกิดมีความสัมพันธ์กับพยอม ภรรยาของเขา ความเจ้าชู้ของอัมพรยังรวมไปถึงการหว่านเสน่ห์ให้กับสาวน้อยมาลีอีกด้วย แต่ดอกไม้ไพรอย่างมาลีก็รู้หัวใจของตัวเองดีว่ามั่นคงอยู่กับผู้อุปการะหนุ่มใหญ่ที่เธอก็เรียกเขาว่าพ่อ นั่นเอง

กว่าที่เรื่องราวความรักของกำนันเพชรกับมาลีจะลงเอยด้วยกัน ก็พาให้ผู้อ่านช่วยกันลุ้นไปกับเรื่องราวต่างๆ ในเรื่องอยู่ไม่น้อยเลยทีเดียว

และเรื่องที่สามในชุด ก็คือ โศกนาฏกรรมในทุ่งกว้าง นิยายขนาดสั้นเรื่องนี้ เขียนขึ้นโดยใช้นามปากกา ‘รุ่ง น้ำเพชร’ ซึ่งเป็นอีกนามปากกาหนึ่งของ มนัส จรรยงค์ เป็นเรื่องราวของครอบครัวหนุ่มใหญ่ร่างกำยำชื่อ นายมูน ลือชา ผู้มีลูกชายวัยรุ่นชื่อแมน และมีภรรยาคนใหม่เป็นสาวสวยมีนามว่าอาภรณ์ โดยที่อาภรณ์เองมีน้องสาวชื่ออาภา เป็นสาวน้อยหน้าตาน่ารักและเป็นที่หมายปองของ แมน ลือชา ลูกชายของมูน

ทั้งสี่ชีวิตอาศัยอยู่ร่วมกันในบ้านชายป่า ใช้ชีวิตโดยการเกษตรเลี้ยงวัว ที่มีเจ้าวัวแดงพยศ ให้มูนต้องคอยปราบอยู่เสมอ ชื่อเสียงความเป็นลูกผู้ชายและความเก่งกล้าในการปราบวัวแดงพยศของเขาด้วยมือเปล่าเป็นที่เลื่องลือ จนทำให้เจ้าเวกย์ นักเลงผู้ยิ่งใหญ่ เกิดความริษยา จนเกิดเรื่องในวงเหล้า และมูนก็ป้องกันตัวเองเมื่อเวกย์คว้าขวานพุ่งตรงเข้ามาจะเข้ามาทำร้ายเขา ในความชุลมุนที่เกิดขึ้นนั้นเอง มูนพยายามป้องกันตัวจนเกิดพลั้งมือเสียบมีดเข้าไปที่อกของเวกย์ จนทำให้มันล้มลงขาดใจตาย โชคดีเมื่อพยานที่รู้เห็นในวงเหล้าให้การตรงกันว่านายเวกย์เป็นคนเริ่มต้นหาเรื่องเขาก่อน ทำให้มูนรอดพ้นคดีมาได้

มูนรักอาภรณ์มาก แม้จะมีเรื่องราวระหองระแหงกันบ้างด้วยความหึงหวง เพราะอาภรณ์ยังเป็นสาววัยรุ่นหน้าตาสะสวยที่มีนายบุญเลอ พ่อค้าในเมืองมาติดพัน เรืองราวทั้งหมดคงไม่เกิดขึ้น เมื่อมูนแอบมาเห็นทั้งคู่ไปคุยกันขณะที่ตัวเองไม่อยู่บ้าน และจังหวะเดียวกับวัวแดงที่เลี้ยงเอาไว้หลุดออกจากคอก มันวิ่งเตลิดออกมาพอดี มูนไม่ได้เข้าไปห้ามอย่างที่ควรจะเป็น หากแต่ปล่อยให้วัวแดงพุ่งเข้าหาสองหนุ่มสาวที่นั่งคุยกันอยู่ และนายบุญเลอก็วิ่งหนีเอาชีวิตรอดไปได้ แต่อาภรณ์ถูกวัวขวิดจนเสียชีวิต

การตายของอาภรณ์ทำให้อาภาคิดว่าเป็นฝีมือของมูน และทำให้ความสัมพันธ์ของอาภากับแมนเริ่มห่างเหินออกไป ขณะที่มูนเองก็รู้สึกถึงมโนธรรมในตัวตนของเขา ย้อนกลับมาทวงถาม ถึงการตายของอาภรณ์ และความจริงที่รับรู้จากปากทุกคนว่าอาภรณ์ซื่อสัตย์กับเขาเพียงคนเดียว หล่อนรักเขาจนยอมทิ้งทุกสิ่งทุกอย่างมาใช้ชีวิตอยู่กับมูน และภาพที่เขาเห็นหล่อนคุยกับ นายบุญเลอ ก็หาใช่การพลอดรักด้วยความเสน่หาใดๆ ไม่

การมาถึงของชายหนุ่มชาวกรุงที่ชื่อชัชวาล เขาเป็นนักถ่ายภาพและมากางเต็นท์ที่ชายป่า บุคลิกหนุ่มชาวเมืองที่มีเสน่ห์กับทุกคน รวมถึงอาภา จนทำให้สนิทสนมกับหญิงสาวเป็นอย่างมาก ชัชวาลย์ชอบมาคุยกับมูน และสอบถามเรื่องราวในอดีตของเขาด้วยความสนใจ บางอย่างในตัวชายหนุ่มผู้นั้นที่เล่าออกมา เขาบอกว่าเขารู้จักกับนายบุญเลอ และปะติดปะต่อเรื่องราวทั้งหมดออกมา มันเป็นภาพที่ยิ่งทำให้มูนมองเห็นความผิดของตัวเอง ที่ปล่อยให้ผู้หญิงที่เขารักต้องเสียชีวิตลงต่อหน้าต่อตา เขายิ่งจมดิ่งลงสู่ความทุกข์ที่กัดกร่อนจิตใจของตัวเอง

ก่อนที่ความจริงจะเปิดเผย ชัชวาลย์เป็นลูกชายของนายเวกย์ที่เขาเคยสังหารมาก่อนนั่นเอง จากเด็กชายกำพร้า กลายมาเป็นเด็กหนุ่มที่เต็มเปี่ยมไปด้วยความแค้น และพยายามเสาะหาหนทางที่จะทำลายนายมูนและครอบครัวของเขาให้พังพินาศ เขาสืบจนรู้เรื่องราวของมูนกับอาภรณ์ และเข้ามาตอกย้ำเรื่องเหล่านี้ และเผยความจริงอันเจ็บปวดให้อีกฝ่ายรับรู้…

วัวแดงตัวนั้นยังคงอยู่ เขายืนสงบนิ่งห่างมันราวสิบสองก้าว ตรงหน้าเจ้าสัตว์ร้ายตัวนั้น เจ้าวัวดุได้ยินเสียงประตูเปิดมันหมุนตัวกลับออกมาจากโรงของมัน และเดินออกมาที่ประตูเล็กในระหว่างโรงที่มันนอนกับคอกชั้นนอก เจ้าสัตว์ป่ายกขาข้างหนึ่งของมันตะกุยโรงด้วยความระมัดระวัง และประจันหน้ากันอย่างกระชั้นชิด หนอกอันสูงของมันโอนเอนไปมาในเวลาที่มันเคลื่อนไหวตัว

ชั่วอึดใจเดียวเท่านั้น เจ้าวัวแดงก็ก้มหัวของมันต่ำลง และสำแดงความโกรธแค้นเกรี้ยวกราดพร้อมๆ กับส่งเสียงร้องดังเหมือนคำรามหลายครั้งติดกัน…

 และกว่าที่แมนและอาภาจะมาถึง การปะทะกันอย่างหนักหน่วงของมนุษย์อย่างมูนกับเจ้าวัวดุร้ายตัวนั้นก็มาถึงอวสาน มูนถูกทำร้ายบาดเจ็บสาหัส และเขาสารภาพความผิดบาปทั้งหมด แก่อาภา เรื่องพี่สาวของหล่อน ในขณะที่อาภาก็ตาสว่างต่อพฤติกรรมของชัชวาลย์ หล่อนรู้แล้วว่า แมนต่างหากที่อยู่เคียงข้างหล่อนด้วยความรักและซื่อสัตย์อย่างแท้จริง หาใช่เป็นเพียงเครื่องมือสำหรับช่วยในการแก้แค้นไม่

มันคือฉากนาฏกรรมที่จบลงด้วยชีวิตของมูน ตอบแทนให้กับทัณฑ์แห่งมโนธรรมที่โบยตีเขามาตลอดชีวิต!

 

ปัจฉิมลิขิต สำหรับหลังปกนวนิยายเรื่องนี้ ภาพวาดประกอบทั้งสามรูปแสดงเรื่องราวในสามเรื่องที่รวมกันอยู่ในหนังสือได้เป็นอย่างดีเลยครับ ภาพแรกที่ใช้โทนสีน้ำเงิน จากเรื่อง ดอกแคแดง ที่เป็นฉากรักของมารินกำลังเริงสวาทกับนพดล ชายชู้ ภาพที่สองคือภาพกำนันเพชร พระเอกของเรื่อง กำลังขี่ม้าอย่างสง่างาม ตามบทบาทใน พยอมดง และ ภาพสุดท้ายจากเรื่อง โศกนาฏกรรมในทุ่งกว้าง คือภาพวาดฉากการต่อสู้ของนายเวกย์นักเลงใหญ่ กับมูน จนเป็นชนวนเหตุอันนำไปสู่โศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้นในอีกหลายปีต่อมา

Don`t copy text!