หอเย็นสีเทา

หอเย็นสีเทา

โดย : หมอกมุงเมือง

Loading

บรรณาภิรมย์ โดย หมอกมุงเมือง คอลัมน์ที่อ่านเอาขอมอบความรื่นรมย์ให้กับผู้อ่านด้วยภาพปกสวยๆ และเนื้อเรื่องในแบบต่างๆ ของนักเขียนชั้นครูที่เคยผ่านมือ ผ่านตาและผ่านใจ เพื่อให้ทุกคนได้ร่วมรำลึกถึงผลงานของนักเขียนแต่ละท่านให้พอหายคิดถึงแม้เวลาจะผ่านไปแล้วเนิ่นนาน ภาพและตัวอักษรจะปรากฏให้เห็นอีกครั้งในยุคของการอ่านออนไลน์

 

ผมไม่แน่ใจว่านิยายเรื่องนี้จะถือว่าเป็นนวนิยายกอธิคแบบไทยๆ เรื่องแรกในบรรณพิภพเลยหรือเปล่า เพราะเมื่อย้อนดูจากปี พ.ศ. ที่พิมพ์จำหน่ายรวมถึงประวัติของผู้ประพันธ์แล้ว ก็ยังไม่พบว่ามีนิยายไทยเรื่องใดที่ย้อนไปก่อนหน้านี้จะเขียนขึ้นในสไตล์ดังกล่าวอีกด้วย ถ้าเพื่อนนักอ่านมีข้อมูลเพิ่มเติมก็เขียนแนะนำ พูดคุยกันมาได้เลยนะครับ

หอเย็นสีเทา ปี พ.ศ.2495

หอเย็นสีเทา จัดเป็นนวนิยายขนาดสั้น แต่รายละเอียดมากพอสมควร เล่าเรื่องของสารี อารยางค์กูร พยาบาลสาว ที่ได้รับการติดต่อไปดูแล ‘ท่านหอเย็น’ หรือคุณหญิงแพรวพรรณ ที่เป็นหญิงชราเศรษฐินี ซึ่งสร้างคฤหาสน์หลังใหญ่ นามว่าหอเย็น อยู่ในเขตอ่าวแม่รำพึง เมืองระยอง
+++++++++++++++++++++
สำหรับที่มาของหอเย็นนั้น น.ประภาสถิต เขียนไว้ผ่านบทสนทนาของสารี และคุณบุญพร้อม คุณอาของสารี ว่า

“คุณหญิงหอเย็น? บ้าด้วยหรือคะ ชื่อแปลก”

“เปล่า ที่จริงไม่บ้า แต่ก็เกือบไป เป็นคนพิกลอยู่ ชื่อ ‘หอเย็น’ เป็นสมญาที่เขาตั้งให้แก เพราะแกไปคลั่งสร้างบ้านใหญ่โตอยู่ที่อ่าวแม่รำพึง พอแกมีไร่และที่แถบชายทะเลนั่นหลายร้อยไร่ ก่อตึกเล็กๆ เป็นหอสูงไว้คอยรับเสด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ห้าหรือหก อาก็ลืมแล้ว เมื่อเสด็จประพาสชายทะเลตะวันออก พระเจ้าอยู่หัวไม่ประทับ ท่านคงจะกลัวหักโค่นลงมากระมัง?”

ทั้งผู้เล่าและผู้ฟังหัวเราะพร้อมกัน “เพราะมันสูงน่ากลัว ไม่ได้สัดส่วนกว้างยาว เลยตรัสล้อเรียกแกว่า ‘พระยาหอเย็น’ ดีแต่ไม่เรียกพระยาหอคอย แล้วทรงเรียกที่ของแกว่า บ้านหอเย็นใครๆ ก็เลยเรียกตาม”

แต่ภารกิจสำคัญของสารี นอกเหนือจากการไปเป็นพยาบาลคอยดูแลท่านหอเย็นแล้ว ยังได้รับมอบหมายให้เข้าไปสืบหาเพชรสีชมพู ที่สูญหายไปอย่างลึกลับในบ้านหอเย็นนั้นอีกด้วย!

และเมื่อหญิงสาวไปถึงหอเย็นนั่นเอง จึงได้รู้จักคุณหมอขุนทอง หมอหนุ่มใหญ่ ผู้ดูแลท่านหอเย็น และสมาชิกคนอื่นในบ้าน ซึ่งประกอบด้วยบุหงา บุตรีของต้นเรือนท่านหอเย็นที่ท่านอุปการะไว้ในบ้าน ภิญโญ หญิงสาววัยรุ่นซึ่งมีท่าทางชอบพอกับคุณหมอขุนทองอย่างออกหน้าออกตา และสุรินทร์ หนุ่มรูปร่างผอมสูง ท่าทางประหม่าไม่ค่อยพูด แต่ดูเหมือนจะมีความลับบางอย่างเก็บซ่อนเอาไว้ในใจ
++++++++++++++++++++++
เหตุการณ์ต่างๆ ดำเนินไปตามขนบของนวนิยายลึกลับ ที่ทำให้ผู้อ่านเกิดความสงสัย ว่าเป็นสิ่งเหนือธรรมชาติ หรือว่าเป็นการกระทำของคนที่อยู่เบื้องหลัง และเป็นใคร?

การตามหาเพชรสีชมพูในคฤหาสน์หอเย็นสีเทาทะมึน ดูเหมือนจะอยู่ในเงื้อมเงาของปมปริศนาที่ส่งผ่านเข้ามาเป็นระลอก แต่ละคนล้วนมีพฤติการณ์ที่ไม่น่าไว้วางใจ สุดท้าย ใครกันเล่าคือคนที่หวังดีต่อหล่อนจริงๆ?

พล็อตเรื่องในทำนองนี้ สำหรับในยุคปัจจุบันอาจจะไม่ใช่เรื่องแปลกแต่อย่างใด แต่สำหรับเมื่อห้า-หกสิบปีที่ผ่านมา นับว่าเป็นเรื่องแนวใหม่ในวงวรรณกรรมไทยอยู่ไม่น้อย หอเย็นสีเทา จึงเป็นเสมือนต้นธารของงานวรรณกรรมลึกลับแบบไทยๆ มาสู่ในยุคสมัยปัจจุบัน
++++++++++++++++++++++++
เรื่อง หอเย็นสีเทา นี้ ฉบับพิมพ์ครั้งแรกและครั้งที่สอง อาจจะหาได้ยาก แต่เคยถูกนำมาพิมพ์ครั้งต่อมา ฉบับปกอ่อนโดยสำนักพิมพ์ดอกหญ้า ซึ่งผมเคยเห็นวางจำหน่ายแถวร้านหนังสือในจตุจักรหรือในเพจที่ขายหนังสือนิยายเก่าอยู่บ้างเหมือนกันครับ ซึ่งคิดว่านักอ่านน่าจะหานิยายเรื่องนี้มาอ่านได้ไม่ยากนัก

สำหรับประวัติของ น.ประภาสถิต ไม่ค่อยมีรายละเอียดเท่าใดนัก เมื่ออ่านจากประวัติของ ร.จันทพิมพะ ซึ่งเป็นนักเขียนหญิงในยุคกึ่งพุทธกาลเช่นกัน พบว่าท่านเป็นนักหนังสือพิมพ์ในกลุ่ประชามิตรของศรีบูรพา ในช่วงก่อนที่ คุณ ร.จันทพิมพะ เข้ามาทำงาน

น.ประภาสถิต (นงเยาว์)

มีผู้กล่าวว่า…

น. ประภาสถิต เป็นผู้หนึ่งที่ได้พรสวรรค์มาให้เป็น “คนเขียนหนังสือเป็น” เธอจึงได้จับงานประพันธ์มาตั้งแต่ พ.ศ. 2468 ในฐานะประพันธ์เรื่องนวนิยาย ผู้ประสบความสำเร็จในทางนี้อย่างงดงาม ต่อมาได้ไต่ขึ้นมาเป็นนักหนังสือพิมพ์อีกด้วย และแล้วด้วยการเป็นนักประพันธ์และหนังสือพิมพ์นี่เอง เธอได้เดินทางไปสู่นครปักกิ่ง นครหลวงแห่งอาณาจักรจีนคอมมิวนิสต์เพื่อเข้าประชุมสตรีเอเชีย และความผันผวนทางการเมืองของไทยทำให้ไม่สามารถกลับปิตุภูมิโดยปลอดภัยได้

และจากหนังสือ “เพื่อนพ้องแห่งวันวาร เรื่องสั้น สุภาพบุรุษ” ซึ่งเป็นวรรณมาลัย ของนักเขียน นักประพันธ์ นักหนังสือพิมพ์คณะสุภาพบุรุษในช่วงปี พ.ศ. 2472-2473 ซึ่ง คุณสุชาติ สวัสดิ์ศรี เป็นบรรณาธิการ และคุณศรีดาวเรืองเป็นผู้ชำระต้นฉบับ รวมถึงหนังสือ เล่าเรื่องนักเขียนดังในอดีต ของ คุณ ส.พลายน้อย ทำให้ได้ทราบประวัติเพิ่มเติมของท่านมากยิ่งขึ้น

เรื่อง : หอเย็นสีเทา

ผู้เขียน : น.ประภาสถิต

สำนักพิมพ์ : โอเดียนสโตร์

ปีที่พิมพ์ : 2507

เล่มเดียวจบ

น.ประภาสถิต เป็นนามปากกา ของ นงเยาว์ ประภาสถิต ท่านเกิดวันที่ 2 เมษายน 2452 ที่บ้านถนนเยาวราช กรุงเทพฯ เป็นบุตรคนที่สามของพระภักดีภูวดล (ใหญ่ ประภาสถิต) และนางภักดีภูวดล (พลบ ประภาสถิต) สมรสกับ คุณมนูญ วัฒนโกเมร เมื่อ พ.ศ. 2485 มีบุตรด้วยกัน 3 คน

ท่านเป็นหนึ่งในนักเขียนสตรียุคบุกเบิกของไทย เริ่มใช้นามปากกานี้ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2467 นักประพันธ์สตรีในรุ่นเดียวกัน คือ ก.สุรางคนางค์ กุหลาบขาว และดอกไม้สด

ก่อนหน้านี้ ท่านได้ใช้นามปากกา น.ย.ประภาสถิต และ นงเยาว์ ประภาสถิต อีกด้วยเรื่องยาวเรื่องแรกของท่าน คือ คู่ชีวิต ลงพิมพ์ในหนังสือ เสนาศึกษาและแผ่วิทยาศาสตร์ และก่อนหน้า ท่านได้แปลเรื่องของ เซอร์อาเธอร์ โคแนน ดอยล์ ลงพิมพ์ในหนังสือดังกล่าว ในชื่อว่า ความลึกลับของหอคลูมเบอร์

ใน ปี พ.ศ. 2481 ท่านได้ย้ายไปประจำกองบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ ประชามิตร และ ประชามิตร-สุภาพบุรุษ ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง คราวนี้ ได้เขียนเรื่องในนามปากกาใหม่อีกนามหนึ่งคือ รสสุคนธ์

ผลงานของท่าน ได้แก่ ชีวิตหญิง (2471) มาลินี (2481) ทรามสวาท (2483) เมียลับ (2484) วันตรุส (2486) เก้ากับใหม่ (2487) ลำพูน (2489) หอเย็นสีเทา (2495) เป็นต้น

น.ประภาสถิต ถึงแก่กรรมที่โรงพยาบาลชลประทาน ปากเกร็ด เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2512 สิริอายุได้ 60 ปี

 

ปัจฉิมลิขิต: สำหรับ ภาพของ น.ประภาสถิต นี้ ผมอ้างอิงจากหนังสือ เล่าเรื่องนักเขียนดังในอดีต ของ ส.พลายน้อย สำหรับภาพปกฉบับพิมพ์ พ.ศ.2495 ซึ่งน่าจะเป็นฉบับพิมพ์ครั้งแรกนั้น ได้รับความอนุเคราะห์ไฟล์ภาพจาก คุณหมอภาคภูมิ จุลภูมิพินิจ ซึ่งต้องขอขอบคุณมา ณ ที่นี้ด้วยครับ

Don`t copy text!