ในวารวัน

ในวารวัน

โดย : หมอกมุงเมือง

Loading

บรรณาภิรมย์ โดย หมอกมุงเมือง คอลัมน์ที่อ่านเอาขอมอบความรื่นรมย์ให้กับผู้อ่านด้วยภาพปกสวยๆ และเนื้อเรื่องในแบบต่างๆ ของนักเขียนชั้นครูที่เคยผ่านมือ ผ่านตาและผ่านใจ เพื่อให้ทุกคนได้ร่วมรำลึกถึงผลงานของนักเขียนแต่ละท่านให้พอหายคิดถึงแม้เวลาจะผ่านไปแล้วเนิ่นนาน ภาพและตัวอักษรจะปรากฏให้เห็นอีกครั้งในยุคของการอ่านออนไลน์

**************************** 

ในโอกาสที่ได้เขียนบรรณาภิรมย์ ดำเนินมาถึงเรื่องลำดับที่ 100 ในครั้งนี้ ผมขอนำเสนอนวนิยายประวัติศาสตร์ท้องถิ่นของตัวเอง มานำเสนอด้วยความภาคภูมิใจนั่นก็คือ ‘ในวารวัน’

ในวารวัน เป็นนวนิยายพีเรียดในพื้นถิ่นภาคตะวันออก ของ ปิยะพร ศักดิ์เกษม นักเขียนรุ่นครูผู้มีสำนวนการเขียนเป็นเอกลักษณ์ มีความละเมียดละไมในการใช้ภาษาอันสวยงาม สร้างความประทับใจแก่ผู้อ่านมาแล้วตั้งแต่เมื่อครั้งนิยายเรื่องนี้ลงเป็นตอนในนิตยสาร สกุลไทย และมีการนำมารวมเล่มอีกหลายต่อหลายครั้ง เรื่องราวในชีวิตของแม่วันกับพ่อเทิด ที่มีความรักและผูกพันกันตั้งแต่เยาว์วัย ฝ่าฟันอุปสรรคต่างๆ ในชีวิตด้วยคุณธรรมความดีงาม จนสามารถสร้างครอบครัวเป็นปึกแผ่น และต่อเนื่องเป็นเรื่องราวชีวิตของลูกหลานแม่วันในเรื่องราวต่อมา ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง ตะวันเบิกฟ้า ขอบฟ้าราตรี จนมาถึง ดั่งลมหวน

การได้อ่าน ในวารวัน ครั้งนี้ ทำให้รู้สึกเหมือนได้เดินทางย้อนกาลเวลา ได้จินตนาการไปกับเรื่องราวและฉากต่างๆ ของตัวละคร เพราะผมเองก็เป็นชาวชลบุรีมาแต่กำเนิด สถานที่ต่างๆ ที่ระบุถึงในเรื่องนี้ ทำให้อดนึกภาพต่างๆ เทียบกับในปัจจุบันไม่ได้ เมื่อหยิบ ในวารวัน ขึ้นมาอ่านอีกครั้ง จึงได้เสาะหาเอกสารและรูปภาพต่างๆ มาประกอบไว้ด้วย โดยเฉพาะจากวารสาร ‘สามมุข’ ของยุวพุทธิกสมาคมชลบุรี ที่ผูกพันมาตั้งแต่ยังเยาว์วัย การเขียนบรรณาภิรมย์ในครั้งนี้จึงเสมือนหนึ่ง การตามรอยของแม่วัน ในเรื่องไปพร้อมๆกัน

หนึ่งชีวิตคนเราก็ไม่ต่างจากหนึ่งวารวัน หากการเริ่มชีวิตอย่างไร จบชีวิตแบบไหน ไม่สำคัญเท่ากับวิธีการใช้ชีวิตในวารวันหนึ่งนั้น เพราะไม่มีใครเลือกเกิดได้ เท่าๆ กับที่ไม่มีใครเลือกได้ว่าชีวิตของตนจะจบลงที่ตรงไหนและอย่างไร หากเส้นทางระหว่างจุดเริ่มต้นกับจุดจบต่างหากที่ทุกคนมีสิทธิ์เลือก มีสิทธิ์สร้าง

เฉกเช่นเดียวกับชีวิตของแม่วัน ตัวละครเอกในนิยายเรื่องนี้!

เรื่องราวใน ในวารวัน แบ่งเป็นสี่ช่วงเวลา เริ่มจาก ‘แรกอรุณ’ อันเป็นช่วงแรกของชีวิต ณ ปี พ.ศ. 2445 ในรัชสมัยของสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

เรื่องราวบอกเล่าชีวิตของเด็กหญิงวัน หนูน้อยผมจุกที่โลกของเธอมีเพียงแต่ย่าวง เพราะบิดาและมารดาเสียชีวิตไปตั้งแต่ยังแบเบาะ ย่าวงเองก็ต้องอยู่อย่างยากลำบาก เพราะนางมาเป็นภรรยาของนายเพิ่มเศรษฐี ที่มีนางพริ้งเป็นลูกติดมาจากภรรยาคนก่อน ภายหลังจากเสียสามีไป และสูญเสียทั้งลูกชายลูกสะใภ้ ความเศร้าโศกเข้าเกาะกินใจ จนไม่ทันระแวงว่านางพริ้งจะยึดเอาทุกสิ่งทุกอย่างไปหมด ด้วยความโลภและความอิจฉาริษยา

นางพริ้งมีลูกสามคน ซึ่งนิสัยก็แตกต่างกันไป นายพร้อมคนโต เป็นอันธพาลเกกมะเหรกเกเร ส่วนแม่พิศ ลูกสาวคนรอง ก็มีนิสัยขี้อิจฉาเหมือนแม่และหาเรื่องกลั่นแกล้งเด็กหญิงวัน ที่อยู่รุ่นราวคราวเดียวกันอย่างสนุกสนาน มีเพียงพัน น้องชายคนเล็ก ที่นิสัยเที่ยงตรง แตกต่างจากพี่น้องคนอื่น

แล้วชีวิตของเด็กหญิงก็เปลี่ยนแปลงไป เมื่อติตดามย่าวงและครูเนื่องไปช่วยงานที่บ้านของนายอากรซ้ง หรือหลวงประสิทธิ์จีนเจริญ และคุณทิพ ผู้เป็นภรรยา ที่นั่นเอง เธอได้พบกับ คุณเทิด ลูกชายคนโตของคุณทิพ โดยไม่คาดคิดว่าชีวิตของตนจะต้องผูกพันกับเขาไปจนตลอดชีวิต

เมื่อเงยหน้าขึ้นอีกครั้ง แม่วันจึงได้เห็นหนุ่มน้อยคนหนึ่ง นั่งอยู่บนเก้าอี้ริมหน้าต่าง แสงจากภายนอกทำให้เธอมองใบหน้านั้นไม่ชัดเจนนัก เห็นแต่ดวงตาเป็นประกายคมกล้า…

แม่ทิพมีศักดิ์เป็นหลานของคุณอุ่นซึ่งเป็นภรรยาแรกของนายอากรซ้ง ก่อนที่คุณอุ่นจะเสียชีวิตไปในภายหลัง และนอกจากนี้ท่านยังมีแม่ชั้น ซึ่งเป็นภรรยาอีกคนหนึ่ง โดยมีลูกชายคนโตชื่อทอง ที่อยู่ในวัยไล่เลี่ยกับพ่อเทิด แต่แม่ชั้นเป็นคนมักใหญ่ใฝ่สูง ติดการพนัน รวมถึงมีความโลภในทรัพย์สมบัติ คุณอุ่นซึ่งมองการณ์ไกลจึงหาทางป้องกันไว้ โดยขอร้องให้สามีของเธอยกย่องคุณทิพเป็นเอกภรรยาแต่เพียงผู้เดียว ก่อนที่เธอจะเสียชีวิตลง และทำให้นางชั้นเกลียดชังคุณทิพ ซึ่งเป็นเสมือนหนามยอกอกที่ขัดขวางการขึ้นเป็นภรรยาเอกของหลวงประสิทธิ์จีนเจริญอย่างเธอ จนต้องหาทางกำจัดอย่างโหดเหี้ยม ซ้ำลูกๆ ของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นนายทอง เพชร หรือลูกสาวอย่างนิล และจินดา ต่างก็ไม่เป็นโล้เป็นพายและยังติดฝิ่นงอมแงมอีกด้วย

 

คุณทิพมีลูกชายสองคน คือเทิด และทูน ซึ่งคุณทูนนั้นอยู่ในวัยไล่เลี่ยกันกับแม่วัน จึงเป็นเสมือนเพื่อนเล่นกัน ภายหลังพ่อทูนได้ไปเรียนต่อที่กรุงเทพฯ ขณะที่พี่เทิดเป็นเสมือนพี่ชายที่เด็กหญิงนับถือศรัทธา เหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นระหว่างเด็กตัวน้อยอย่างเธอกับพี่เทิด ก่อให้เกิดความผูกพันเอ็นดูในความเฉลียวฉลาด ช่างซักถามโดยไม่รู้ตัว และยิ่งภายหลังเมื่อย่าวงอันเป็นหลักยึดเหนี่ยวเดียวในชีวิตได้เสียชีวิตลง เช่นเดียวกับแม่ทิพของเขาที่เสียชีวิตอย่างเป็นปริศนา ด้วยน้ำมือของนางชั้นที่แอบใช้มนต์ดำของหมอขมุ ทำให้ต่างต้องเผชิญกับปัญหาที่ไม่แตกต่างกันเลย ยิ่งภายหลังนางใช้เสน่ห์ยาแฝดเข้าครอบงำคุณหลวงประสิทธิ์ฯ จนกระทั่งท่านเองกลายเป็นคนอยู่ใต้อาณัติของนางชั้นอย่างเบ็ดเสร็จจนยกย่องนางขึ้นเป็นภรรยาแทนคุณทิพ ซึ่งเป็นสิ่งที่สร้างความแค้นให้กับพ่อเทิดที่จำต้องเห็นเหตุการณ์ทุกอย่างที่เกิดขึ้นกับบิดาของตน

หากเด็กหญิงอย่างแม่วันกลับสามารถเอาชนะด้วยความอดทนอดกลั้น และสติปัญญาของเธอ และนั่นเองที่ทำให้เทิดเกิดความประทับใจขึ้นมาโดยไม่รู้ตัว

แม่วันยึดถือคำสอนของย่าวง เป็นเสมือนหลักธรรมที่ใช้ชี้นำชีวิตของตนเองมาโดยตลอด ไม่ว่าจะต้องเผชิญกับปัญหาที่แผ้วผ่านเข้ามาไม่ต่างกับมรสุมของท้องทะเล

“ขอให้จดจำทุกคำที่ย่าสอนสั่ง เพียรรักษาศีล ปฏิบัติธรรม อย่ายอมแพ้ต่อความยากลำบาก เข้มแข็งอดทน เอาชนะอุปสรรคและศัตรูให้ได้ด้วยความดี ความขยันหมั่นเพียร จำเอาไว้ว่าไม่มีเส้นทางไหนที่ไร้ขวากหนาม”

ตราบจนวันเวลาผ่านไป และเมื่อมีโอกาสได้พบกันอีกครั้ง หลังจากที่เทิดลาสิกขาบทจากวัดเขาบางทราย และออกมาทำช่วยกิจการทำประมงโดยที่แม่วันเอง บัดนี้ก็เติบโตเป็นสาวน้อยที่กล้าหาญ มีน้ำใจไมตรี หญิงสาวได้ช่วยเหลือ แม้แต่พ่อเพชรน้องชายต่างแม่ของเทิดที่ไปก่อเรื่องจนถูกทำร้ายปางตาย และสามารถหลบหนีการตามล่าของฝ่ายตรงข้ามไปได้อย่างหวุดหวิด ด้วยไหวพริบสติปัญญาของเธอเอง

และสิ่งนั้นเองที่ทำให้เทิดรู้ว่าหัวใจของเขาได้มอบให้แก่สาวน้อยคนนี้แล้ว โดยไม่อาจเปลี่ยนแปรไปที่ใดได้อีกต่อไป

“ชื่นใจ” อีกฝ่ายลากเสียงยาว คราวนี้วิธีการพูดและกระแสเสียงของเขาเริ่มสะดุดใจแม่วัน จู่ๆ เด็กสาวจึงร้อนวูบและหนาววาบไปทั้งตัว ยิ่งสายตาที่จ้องมอง… ไม่ใช่โลมเลียม… หากเป็นประกายของความปรารถนา… ราวกับเขากำลังระงับไม่ให้ตนเองตรงเข้ามากลืนกินเธอไว้ในอก

ในอกในใจสั่นไหว แม่วันทำปากทำลิ้นของตนเองหายไป เมื่อเขาถาม

“ดอกจำปีนี้ดกจริง ขอพี่ไปดมเล่นสักดอกได้ไหม”

คนถามยิ้มขัน เมื่อเห็นสาวน้อยนั่งนิ่งหน้าตื่น หน้าแดงก่ำไปจนจดเชิงผม…

เมื่ออีกฝ่ายสิ้นถ้อยคำจะเอื้อนเอ่ย พ่อเทิดก็เป็นฝ่ายใช้แขนดึงเรือลำน้อยให้เทียบชิดตัวเรือนด้านหลัง ชะโงกตัวเก็บจำปีดอกหนึ่งขึ้นมาจูบแผ่วเบา เมื่อบอก

“หอมจริง… ดอกจำปีของแม่วันดอกนี้ คงทำให้พี่ไม่ได้กลิ่นหอมของดอกไม้ดอกไหนอีกแล้ว!”

ในท่ามกลางความรักของสองหนุ่มสาวที่เริ่มผลิบาน หากแต่มีอุปสรรคจากบุคคลที่รายล้อมรอบด้าน ไม่ว่าจะเป็นนางพิศ ลูกสาวแม่พริ้ง ที่เติบโตเป็นสาวสวยมากจริต และหล่อนเองก็หมายปองพี่เทิดจนเกิดมีเรื่องตบตีกับแม่ดารา หญิงสาวอีกคนหนึ่งในงานบุญที่วัดเขาบางทราย และแม่วันนี่เองที่เข้าไปช่วยไกล่เกลี่ย จนภายหลังก็สนิทสนมคบหาเป็นมิตรกับแม่ดารา ที่ต่อมาได้ไปแต่งงานกับนายทองอยู่ซึ่งช่างทองอีกคนหนึ่ง ในขณะที่แม่พิศเอง ภายหลังได้รู้ความจริงว่าพี่เทิดที่ตัวเองหมายปองนั้นมีความรักกับแม่วัน ความอิจฉาริษยาทำให้หญิงสาววางแผนกับนางพริ้ง ให้พ่อพร้อมและสมุน บุกเข้าไปที่เรือนของแม่วัน เพื่อข่มเหงและสร้างราคีคาวให้แก่เธอ แต่เดชะบุญที่แม่วันสามารถหนีรอดออกไปได้

เรื่อง : ในวารวัน

ผู้เขียน : ปิยะพร ศักดิ์เกษม

สำนักพิมพ์ : อรุณ

ปีที่พิมพ์ : 2548

เล่มเดียวจบ

ในที่สุดทั้งคู่ก็สามารถฝ่าฟันเรื่องเลวร้ายต่างๆ จนได้แต่งงานมีชีวิตร่วมกันด้วยความสุขและสมหวังในรัก ในขณะผู้ที่มุ่งร้ายต่างก็ได้รับผลกรรมตอบสนองต่อตนเองเช่นเดียวกัน ซึ่งทั้งหมดเป็นเหตุการณ์ในส่วนของภาคที่สอง คือ ‘กลางตะวัน’ ก่อนที่เรื่องราวจะดำเนินไปยังช่วง ‘สู่สนธยา’ อันเป็นชีวิตของแม่วัน ภายหลังจากการแต่งงาน การสร้างฐานะครอบครัวของตนเองและพ่อเทิด พร้อมกับมีลูกๆ ที่น่ารักถึงสี่คนในเวลาต่อมา และนอกจากนี้คือการตามหาความลับความหลังของชาติกำเนิดจากฝ่ายมารดาของตนเอง ที่อยู่ยังเมืองพนัสนิคม จนค้นพบความจริงในที่สุด และดำเนินไปสู่ช่วงสุดท้าย ในภาค ‘เริ่มราตรี’ อันเป็นปัจฉิมบท ของเรื่องราวอันอิ่มเอมและประทับใจเรื่องนี้

ท่ามกลางแสงสลัวของเวลาเริ่มราตรี แม่วันมุ่งหน้าเดินกลับบ้าน… บ้านหลังใหญ่อันอบอุ่นด้วยผู้คน มั่งคั่งด้วยทรัพย์สิน มีลูกๆ ที่เป็นความหวังของวันข้างหน้าอยู่รอบกาย มีความทรงจำถึงความสุขที่ผ่านเลยเต็มเปี่ยมอยู่ในหัวใจ

และผู้เขียนได้ปิดท้ายด้วยบทกลอนของเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี อันเป็นบทสรุปของสัจธรรมชีวิตที่งดงามในตอนท้ายของ ในวารวัน ว่า

“อนิจจาเมฆคล้ำดำแท้แท้                   อุตส่าห์แรขอบน้ำเงินเพลิดเพลินได้

อันคนเราถึงเศร้าโศกเพียงไร                 ก็เบาใจเมื่อเขารู้เท่าทุกข์”

และนั่นคือแสงสว่าง คือความงดงามในความมืดของรัตติกาลแห่งชีวิต!

เรื่องราวของ ในวารวัน นอกจากจะเป็นชีวิตของตัวละครที่ดำเนินไปโดยแทรกทั้งข้อมูลทางวัฒนธรรมท้องถิ่น การกินอยู่ เกร็ดนิทานคติชน หรือชีวิตของชาวชุมชน อย่างการถีบกระดานหาหอย ยังรวมไปถึงเรื่องราวที่เกี่ยวเนื่องทางประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับชลบุรี  ทำให้มีโอกาสได้เสาะหาภาพเก่าในอดีต ซึ่งได้มาจากวารสาร สามมุข ของยุวพุทธิกสมาคมชลบุรี ซึ่งขอนำมาประกอบกับเรื่องราวในบรรณาภิรมย์ครั้งนี้ด้วย

สำหรับภาพแรกคือชุมชนชาวบางปลาสร้อยในอดีต ชื่อเมืองบางปลาสร้อยนี้ ในปัจจุบันได้กลายเป็นตำบลหนึ่งในเขตอำเภอเมือง จังหวัดชลบุรี ไปแล้ว

ส่วนภาพที่สอง เป็นชุมชนชาวประมงในยุค พ.ศ. 2485 สมัยผมเด็กๆ เคยไปหาเพื่อนที่บ้านเป็นชาวประมง บางทราย พื้นสะพานสูงและทอดยาวลงไปในทะเล มีเลี้ยงหอยแมลงภู่ ไว้ตลอดทางเดินเลยครับ

สำหรับภาพที่สามคือวัดบางทราย อันเป็นสถานที่ซึ่งพ่อเทิดบวช และต่อมาเกิดเหตุการณ์ขึ้นระหว่างแม่พิศกับแม่ดารา ในงานนมัสการรอยพระบาท บนวัดเขาบางทราย ภาพนี้ถ่ายไว้เมื่อปี พ.ศ. 2487

ภาพที่สี่ เป็นภาพของสะพานเทียบเรือกลไฟ และเรือกลไฟที่ใช้ขึ้นล่องสัญจร ระหว่างพระนครกับ เมืองบางปลาสร้อยในยุคนั้น ที่มีกล่าวถึงในท้องเรื่อง ตั้งแต่ตอนที่แม่วันในวัยเยาว์ขึ้นเรือของพ่อเทิด เพราะหวังจะไปหาเต่าทองคำที่สะดือทะเล และภายหลังพ่อเทิดก็ส่งข่าวผ่านเรือโดยสารกลไฟ เพื่อฝากแจ้งข่าวกลับมาให้ย่าวงได้ทราบว่าหลานสาวติดเรือมาด้วย

สำหรับภาพที่ห้าและหก ก็คือ โรงพยาบาลสมเด็จพระบรมราชเทวี ณ ศรีราช ในอดีต รวมถึงเกาะลอยในอดีตของอำเภอศรีราชาครับ

 

ชลบุรี นับเป็นเมืองที่มีประวัติศาสตร์ท้องถิ่นอันยาวนาน และมีหลักฐานปรากฏในบันทึกทางประวัติศาสตร์หลายเล่ม จากข้อมูลในหนังสือ ‘เรื่องเมืองชล’ ของ คุณอธึก สวัสดีมงคล อดีตนายกยุวพุทธิกสมาคมชลบุรี ได้ค้นคว้า และเขียนเป็นบทความสั้นๆ ไว้ในหนังสือ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเสด็จประพาสชลบุรี ของในหลวง รัชกาลที่ 5 และรัชกาลที่ 5 ในพระราชนิพนธ์จดหมายเหตุ ฉบับวันที่ 9 มกราคม 2419 จบลงด้วยประโยคที่ว่า

“ที่อ่างศิลาเป็นที่สนุกแลเป็นที่สบายมาก เราอยากจะใคร่อยู่นานๆ แต่ไม่ใคร่จะมีเวลา จะไปอยู่พ้น 10 วันเลย”

และสำหรับ ในปี พ.ศ. 2451 ซึ่งเป็นครั้งสุดท้ายในการเสด็จประพาสชลบุรีของพระบาทสมเด็จพระปิยมหาราชเจ้า พระองค์เสด็จประพาสตลาดชลบุรีโดยบังเอิญ เดิมทรงตั้งพระทัยจะเสด็จประพาสอ่างศิลา และปรากฏว่าคลื่นลมแรง จึงเปลี่ยนพระทัยเสด็จประพาสตลาดชลบุรี เส้นทางพระราชดำเนิน จากสะพานศาลเจ้า (ท่าเรือพลี) ถึงศาลากลางจังหวัด ได้เสด็จโดยพระบาท มีประชาราษฎร์เฝ้ารับเสด็จฯ อย่างเนืองแน่น และยังได้ทรงรับสั่งให้ช่างจีน ที่เฝ้ารับเสด็จฯ อยู่ร้านในตลาดชลบุรี ได้ถ่ายภาพหมู่เอาไว้ ภาพนั้น มีหลวงอำนาจจีนนิกร ชาวจังหวัดชลบุรี ถ่ายร่วมอยู่ด้วย มีจดหมายเหตุปรากฏเป็นหลักฐาน

ในวารวัน จึงเป็นนวนิยายอิงประวัติศาสตร์ท้องถิ่นชลบุรี ที่นอกจากจะบอกเล่าเรื่องราวชีวิตของตัวละครเอกตามขนบของนวนิยายทั่วไปที่น่าประทับใจแล้ว ยังได้สะท้อนภาพชีวิตของผู้คน เรื่องราวในประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจ ในอีกแง่มุมหนึ่งอีกด้วย

Don`t copy text!