สามรัก

สามรัก

โดย : หมอกมุงเมือง

Loading

บรรณาภิรมย์ โดย หมอกมุงเมือง คอลัมน์ที่อ่านเอาขอมอบความรื่นรมย์ให้กับผู้อ่านด้วยภาพปกสวยๆ และเนื้อเรื่องในแบบต่างๆ ของนักเขียนชั้นครูที่เคยผ่านมือ ผ่านตาและผ่านใจ เพื่อให้ทุกคนได้ร่วมรำลึกถึงผลงานของนักเขียนแต่ละท่านให้พอหายคิดถึงแม้เวลาจะผ่านไปแล้วเนิ่นนาน ภาพและตัวอักษรจะปรากฏให้เห็นอีกครั้งในยุคของการอ่านออนไลน์

**************************** 

 

สำหรับบรรณาภิรมย์เรื่องที่ 106 ในครั้งนี้ ผมขอนำเสนอผลงานของนักเขียนรุ่นครูถึงสามท่าน สามเรื่อง ใน สามรัก!

สามรัก นับเป็น “ชุมทางเรื่องสั้น” ของสามนักเขียนชื่อดังในยุคนั้น อันประกอบด้วยสิงหเทพ, เกรียง ไกรสร และ ช.แสงเพ็ญ สามเรื่องสั้นสุดรักชุดนี้ ประกอบด้วยเรื่อง ลาภลอย ทรชน และ สามสวาท ซึ่งแตกต่างกันทั้งสามรสชาติ สมดังที่เปิดเล่มของ ชุดเรื่องสั้นนี้ที่ว่า

ห้วงเหวลึก อย่านึก ว่าเหวตื้น

ปากเหวตื้น อย่าคะนอง ไปลองผลัก

ตกเหวหิน ปีนป่าย ได้ยากนัก

ตกเหวรัก เสือกสน ไปจนตาย

(ของเก่า)

สิงหเทพ หรือ ธนู ปิยะรัตน์ เป็นทั้งบรรณาธิการ แสนสุข ในอดีต และเป็นนักเขียนเรื่องสั้น โดยเฉพาะการเริ่มต้นเขียนนวนิยายเรื่องยาวเรื่องแรกลงใน แสนสุข และให้ผู้อ่านได้ร่วมสนุกทาย ‘นามปากกา’ ตามที่ ณรงค์ จันทร์เรือง ได้เคยเขียนเล่าไว้ในหนังสือ เย็นน้ำหมึก ว่า

“เทวดิน” คือนวนิยายเรื่องแรก ของนักเขียนเรื่องสั้น ผู้ได้รับการยอมรับนับถือว่ามีฝีมือเข้าขั้นจอมยุทธผู้หนึ่ง คือ “สิงหเทพ” แต่ยังไม่เปิดเผยนามปากกา ให้มีการตัดบัตรทายปัญหาว่าใครเป็นผู้เขียนเรื่อง “เทวดิน” โดยมีรางวัลสำหรับผู้ชนะถึงหนึ่งพันบาท (ในปี พ.ศ. 2504 ณ เวลานั้น) 

สิงหเทพ (ธนู ปิยะรัตน์)

สำหรับสิงหเทพ ได้เปิดตัวเรื่องสั้นในชุดนี้ เป็นลำดับแรก ด้วยเรื่อง ลาภลอย อันเป็นเรื่องราวแนววาบหวามหัวใจ ดำเนินเรื่องผ่านชีวิตของกวาว ชายหนุ่มยากไร้พเนจร ผู้โชคดี เจอเศษเงินหล่น และเมื่อนำไปซื้อหวย ก็ถูกรางวัลขึ้นมาเสียด้วย

เขาจึงตัดสินใจใช้เงินจำนวนนั้นสนองความต้องการทางอารมณ์อย่างสุดเหวี่ยง ในแบบที่เขาไม่เคยเผชิญมาก่อน ไม่ว่าจะเป็นการเที่ยวอาบอบนวดกับหญิงบริการ ที่เติมเต็มความต้องการอย่างเต็มที่ การเที่ยวไนต์คลับอย่างหนุ่มเสเพลผู้มากเงินตราในกระเป๋า ตราบจนกระทั่งเขามาเผชิญหน้ากับหญิงสาวสวยถึงสี่คน ที่สอนบทเรียนชีวิตและบทเรียนพิศวาสอีกบทให้กับเขาอย่างชนิดที่ต้องจดจำไปไม่รู้ลืม!

งานเขียนของสิงหเทพมีความโดดเด่นในการบรรยายความรู้สึกนึกคิดและอารมณ์ของตัวละคร รวมถึงการบรรยายฉากพิศวาสที่นำพาให้ผู้อ่านจินตนาการถึงเรื่องราวในลำดับต่อไป โดยไม่จำเป็นต้องใช้ภาษาที่หยาบโลนแต่อย่างใด หากทุกอย่าง จะอยู่ที่การตีความและจินตนาการของผู้อ่านเองโดยเฉพาะ!

เกรียง ไกรสร หรือ ฝน อยุธยา ซึ่งเป็นนามปากกาของ วรุณ ฉัตรกุล ณ อยุธยา อดีตผู้กำกับภาพยนตร์ดังหลายเรื่อง บรรณาธิการนิตยสาร รวมถึงเป็นนักประพันธ์ผู้มีผลงานมากมาย  และในเรื่องสั้นชุดนี้ ได้ส่งเรื่อง ‘ทรชน’ ตามมาเป็นเรื่องสั้นลำดับที่สอง

เกรียง ไกรสร (วรุณ ฉัตรกุล ณ อยุธยา)

ทรชน ให้รสชาติเข้มข้นแตกต่างในอีกแบบหนึ่ง เปิดฉากของเรื่อง เมื่อเสก สุริยา มาส่ง เรวดี ภรรยาเศรษฐินีของเขาเพื่อขึ้นเครื่องบินเดินทางกลับเชียงใหม่ และหลังจากเห็นหล่อนผ่านเข้าไปในอาคารผู้โดยสารเรียบร้อยแล้ว เขาก็ยิ้มกริ่มกับแผนการโฉดของตัวเอง ที่กำลังจะออกผลลัพธ์ในไม่กี่นาทีข้างหน้า

มันคือแผนการสังหารเมีย!

และหล่อนจะเสียชีวิตบนเครื่องบินลำนั้นในอีกไม่กี่นาทีข้างหน้า…

เสกแต่งงานกับเรวดีมาครบสองปีพอดี ไม่ใช่เพราะความรัก แต่เพราะเขาหวังจะ ‘ดูดเงิน’ จากหล่อนมาใช้สบายๆ อย่างที่เคยทำกับผู้หญิงคนอื่นมาแล้ว แต่เรวดีไม่ง่ายอย่างนั้น หล่อนเป็นนักธุรกิจที่เหนียวหนับเป็นตังเม! วิธีที่ดีที่สุดคือการวางยา เมื่อรู้ว่าหล่อนเป็นโรคนอนไม่หลับ เพราะความเครียด และปรึกษากับนายแพทย์ประคิน แพทย์ประจำตัวของหล่อนมาก่อน

หมอประคินมอบแคปซูลบรรจุยานอนหลับชนิดแรงมาให้เขา พร้อมกับกำชับให้หล่อนกินแค่วันละเม็ด เขาเพียรพยายาม สะสมยาเหล่านั้นเก็บเอาไว้ เพื่อไม่ให้เกิดพิรุธ และจากนั้นจึงวางแผนชวนหล่อนเดินทางจากเชียงใหม่ เพื่อมาเที่ยวบางแสนด้วยกัน ก่อนที่เรวดีจำต้องรีบบินกลับเชียงใหม่ เมื่อมีธุระด่วนเข้ามาพอดี

เขาแสดงบทบาทสามีที่ดี มาส่งหล่อนที่สนามบิน และช่วงเวลารอขึ้นเครื่องนั้นเอง เขาก็ชวนให้หล่อนดื่มเบียร์ด้วยกัน เรวดีไม่ปฏิเสธ ในเวลานั้นเอง ที่หล่อนเผลอตัว เขาก็แอบเทยานอนหลับร้ายแรงที่สะสมเอาไว้ ใส่ลงในแก้วเบียร์ของหล่อน!

และจากนั้น เรวดีก็เดินทางขึ้นเครื่องตามเวลากำหนด เขาคิดว่าไม่ช้าเมื่อยาจำนวนมากออกฤทธิ์ หล่อนจะต้องนอนหลับและไม่ฟื้นอีกต่อไป!

ทุกอย่างจะเป็นเหมือนอุบัติเหตุ และจากนั้น ในฐานะสามี เขาจะได้รับมรดกทรัพย์สินทั้งหมดมาเป็นของตัวเองเพียงผู้เดียว!

แต่… เขาลืมนิสัยบางอย่างของหล่อนไป เมื่อเดินออกมาจากสนามบิน และหยิบถ้วยกระดาษใส่เบียร์ ออกมาสังเกต

เรวดี เมื่อไปกินเลี้ยงที่ไหน หากถูกเสิร์ฟด้วยเครื่องดื่มที่หล่อนไม่พอใจแล้ว จะแอบเทลงในถ้วยของเขาเสมอไป!

และถ้วยเบียร์ที่เขาดื่มจนหมด ก็มีเศษคราบยาติดอยู่จริงๆ!

เสก สุริยา ถึงกับตื่นตระหนก กลายเป็นความวิตกจริตจนสติแตก เขาเผลอวิ่งเตลิดออกไป แล้วรถคันหนึ่งก็พุ่งเข้ามาชนร่างพอดี…

ตำรวจที่สืบคดีการเสียชีวิตของ เสก สุริยา ตามรอยประวัติของเขา จนย้อนกลับไปถึงบังกะโลที่บางแสน และไม่พบหลักฐานใดๆ นอกจาก โทรเลขจากหมอประคิน ที่คงจะเพิ่งส่งมาถึง

ในโทรเลขนั้น บอกแต่เพียงว่า เขาไม่ต้องกังวลว่า เรวดีจะเผลอกินยานอนหลับเกินขนาด เพราะหลังๆ นี้เขาเปลี่ยนใส่น้ำตาลลงในแคปซูลแทนยาให้หล่อนไปแล้ว เมื่อเห็นว่าอาการนอนไม่หลับเริ่มดีขึ้น และถ้าหล่อนจะกินยาเข้าไปสักร้อยเม็ด ก็ไม่มีอันตรายอะไรเกิดขึ้นแน่นอน!

 

เรื่องสุดท้าย เป็นเรื่องสั้นขนาดยาวของ ช.แสงเพ็ญ หรือ ชั้น แสงเพ็ญ นักเขียนรุ่นครูอีกท่านหนึ่ง สำหรับประวัติคร่าวๆ ของท่านนั้น จากหนังสือ ทำเนียบนักประพันธ์ ของ ป.วัชราภรณ์ ได้เขียนไว้ว่า ท่านเคยเป็นครูสอนยูโด อยู่ที่โรงเรียนราชทัณฑ์ เป็นนักเรียนพลศึกษารุ่นเดียวกับ ถนอม อัครเศรณี ต่อมาได้ลาออกมาเป็นบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ สัจจา สยามสมัย เริ่มเขียนนิยายครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2475 อันเป็นปีเปลี่ยนแปลงการปกครอง จากเรื่อง วิญญาณรัก ที่ลงพิมพ์ใน เดลิเมล์วันจันทร์ และเริ่มตั้งต้นใหม่เมื่อ พ.ศ. 2482 ด้วยเรื่องสั้นชื่อ ผู้ชายตัวอย่าง ลงพิมพ์ใน ดาวนคร

ผลงานเรื่องสั้นของทั้งทั้งหมดประมาณ 200 เรื่อง นวนิยายประมาณ 30-40 เรื่อง นอกจากนี้ยังมีบทละครเวที บทโทรทัศน์ และบทภาพยนตร์อีกด้วย

ช. แสงเพ็ญ (ชั้น แสงเพ็ญ)

และสำหรับ สามสวาท นั้น เคยรวมเป็นชุดเรื่องสั้น ของ ช.แสงเพ็ญมาก่อน โดยมี สามสวาท เรื่องนี้ เป็นเรื่องนำเล่ม ป.วัชราภรณ์ ได้เขียนเกี่ยวกับเรื่องสั้นเรื่องนี้ไว้อย่างน่าสนใจว่า

ปัญหาที่น่าคิดของเรื่องชีวิตใน “สามสวาท” ทำให้เราคิดถึง “รักสามเส้า” ในวรรณคดี ขุนช้างขุนแผน และทำให้คิดถึงปัญหาประจำวันซึ่งหลายคนกำลังเผชิญอยู่ในโลกทุกวันนี้…

สามสวาท เป็นเรื่องราวชีวิตของลั่นทม หญิงสาวที่เกิดมาในกรอบกฎของครอบครัวที่อยู่อย่างเคร่งครัด และยึดถือบิดาเป็นต้นแบบ และไม่เคยทำให้ท่านผิดหวัง

ลั่นทมเองมีจักกริชเป็นชายหนุ่มคนรักที่เรียนมหาวิทยาลัยเดียวกันมา และคบหากับเขา โดยคาดหวังถึงการแต่งงานในอนาคต ตราบจนจักกริชเรียนจบและรับราชการอยู่เชียงใหม่ เวลานั้นเอง เมื่อบิดาของเธอขอให้ลั่นทมแต่งงานกับ ดร.จุลพน ชายหนุ่มผู้เป็นทายาทของสหายบิดาที่คุ้นเคยและทำธุรกิจร่วมกันมา

ความกตัญญูนั้นเองทำให้ต้องยอมมาใช้ชีวิตร่วมกับจุลพน โดยไม่รู้จักคุ้นเคยกันมาก่อน และเมื่อทราบภายหลังว่าเขามีนิรมลเป็นหญิงคนรักอยู่แล้ว ทำให้ลั่นทมตัดสินใจหย่าขาด และหลุดจากกรอบชีวิตของตัวเองออกมาเป็นครั้งแรก

 

เธอออกมาทำงานในบริษัทของวิภาค หนุ่มใหญ่ที่มีภรรยาอยู่แล้ว แต่ก็มีปัญหาทะเลาะเบาะแว้งกันอยู่เสมอ ความใกล้ชิดสนิทสนม และความเป็นผู้ใหญ่ที่อบอุ่นของเขานั่นเอง ก็ทำให้ ลั่นทมมีความสัมพันธ์กับเขา และวิภาคเองก็รักลั่นทมมาก เขาพยายามที่จะหาทางหย่าขาดจากภรรยา แต่ก็ช้าเกินไป เมื่อหล่อนมาอาละวาดตบตี จนลั่นทมต้องหนีจากเขาไป

หล่อนตั้งใจว่าจะไปหาเพื่อนสนิทอีกคนหนึ่งที่เป็นอาจารย์อยู่เชียงใหม่ แต่แล้วโชคชะตาก็ทำให้พบกับจักกริชอีกครั้ง และเขาก็ยังรอคอยเธออยู่เสมอ

เธอตัดสินใจเลือกรักแรกในชีวิต และใช้ชีวิตร่วมกับเขาจนมีลูก แต่แล้วเด็กทารกที่เกิดขึ้น ก็มีเค้าหน้าบางส่วนคล้ายกับวิภาค!

ปมความรู้สึกนั้นเองที่ทำให้ลั่นทมทนไม่ได้ จนกลายเป็นเรื่องบาดหมางระหว่างเธอกับจักรกริช และความรู้สึกผิดเหล่านั้นเองที่ทำให้เธอตัดสินใจหนีจากเขากลับมาอยู่บ้านบิดามารดาที่กรุงเทพฯ โดยไม่คาดคิดว่าจะได้พบกับจุลพนอีกครั้ง

ดร. จุลพนพบว่าชีวิตคู่ของเขากับนิรมลไม่ได้ราบรื่นอย่างที่คิด เขาเพิ่งเห็นคุณค่าของ ลั่นทม และรู้ว่าตัวเองรักลั่นทม ในขณะที่นิรมลเองก็ประสบอุบัติเหตุเสียชีวิต ตอนนี้เขากลายเป็นพ่อม่าย และมาหาเธอเพื่อขอกลับมาใช้ชีวิตคู่ดังเดิม

เช่นเดียวกับวิภาคที่หย่าขาดจากภรรยาขี้หึง ที่มาอาละวาดทำร้ายเธอ เขายังรอคอยเธออยู่ด้วยความหวังเดียวในชีวิต เมื่ออายุก็ล่วงผ่านเข้าสู่วัยกลางคนแล้ว ลั่นทมเท่านั้นที่เขาต้องการใช้ชีวิตอยู่ร่วมจนถึงวาระสุดท้าย…

และจักรกริชก็มาตามหาเธอจากเชียงใหม่ ยิ่งเมื่อเธอจากไปยิ่งทำให้เขารู้ว่าเขาต้องการเธอมากสักเพียงใด

ชายทั้งสามกับความรัก ความพิศวาส ที่ลั่นทมต้องเป็นฝ่ายเลือก แล้วเธอจะตัดสินใจเลือกใคร!

ดร. จุลพน หรือคุณวิภาค หรือ คุณจักรกฤช?

…ควรจะอยู่กับคุณจักกฤช เพราะรักกันมาก่อนและเคยมีลูกด้วยกันแล้ว

…ควรจะอยู่กับคุณวิภาค เพราะเขารักจริงจนกระทั่งหย่าขาดจากเมียเก่า

…ควรจะอยู่กับคุณจุลพน เพราะเป็นสามีแรก

แต่ละรายก็ดูมีเหตุผลทั้งนั้น!

ลั่นทม สามสวาท จะเลือกใคร ช.แสงเพ็ญ จบเรื่องนี้ให้ท่านผู้อ่านได้ขบคิดเป็นการบ้าน!

ทั้งสามเรื่อง สามรส และสามสไตล์การเขียน ของนักประพันธ์รุ่นครูทั้งสามท่าน ทำให้การอ่านเรื่องสั้น สามรักในครั้งนี้ เป็นความอิ่มเอมและประทับใจอย่างยิ่งครับ

เรื่อง : สามรัก

ผู้เขียน : สิงหเทพ, เกรียง ไกรสร และ ช.แสงเพ็ญ

สำนักพิมพ์ : วุฒิสาส์น

ปีที่พิมพ์ : 2511

เล่มเดียวจบ

ปัจฉิมลิขิต : สำหรับรูปของสิงหเทพนั้น ผมต้องขอขอบพระคุณ คุณจิตอาภา ดีประวัติ ผู้เป็นทายาทของสิงหเทพ ที่กรุณามอบไฟล์รูปของท่านมาประกอบในการเขียนบทความครั้งนี้ให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้นครับ

รูปของ เกรียง ไกรสร นั้น ผมได้มาจากเวบไซต์ Book Eden ซึ่งจำหน่ายหนังสือที่ระลึกในงานฌาปนกิจ วันที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2527 และรูปของ ช.แสงเพ็ญ ได้มาจากชุดหนังสือของ คุณ ณรงค์ จันทร์เรือง ครับ

Don`t copy text!