แม่พริ้งผู้ใจบุญ

แม่พริ้งผู้ใจบุญ

โดย : หมอกมุงเมือง

Loading

บรรณาภิรมย์ โดย หมอกมุงเมือง คอลัมน์ที่อ่านเอาขอมอบความรื่นรมย์ให้กับผู้อ่านด้วยภาพปกสวยๆ และเนื้อเรื่องในแบบต่างๆ ของนักเขียนชั้นครูที่เคยผ่านมือ ผ่านตาและผ่านใจ เพื่อให้ทุกคนได้ร่วมรำลึกถึงผลงานของนักเขียนแต่ละท่านให้พอหายคิดถึงแม้เวลาจะผ่านไปแล้วเนิ่นนาน ภาพและตัวอักษรจะปรากฏให้เห็นอีกครั้งในยุคของการอ่านออนไลน์

****************************

สนับสนุนอ่านเอาด้วยการสั่งซื้อหนังสือ “ในสวนอักษร” คลิกที่นี่ 

ทวี วรคุณ เกิดเมื่อวันที่ 26 เมษายน 2470 ที่ตำบลคุ้งกร่าง อำเภอบางคล้า จังหวัดฉะเชิงเทรา เป็นบุตรคนเดียวของ นายแม้น และ นางฮง วรคุณ บิดามารดาประกอบอาชีพทำสวนและค้าขาย ผลงานเขียนที่โดดเด่นของท่านคือนวนิยาย แม่พริ้งผู้ใจบุญ วัดดอนบุญ หลวงพ่อทองวัดโบสถ์ ซึ่งนวนิยายเรื่อง หลวงพ่อทองวัดโบสถ์ นี้ ได้รับรางวัลยูเนสโก ประจำปี พ.ศ. 2510 และนอกจากนี้ สารคดี บันทึกของพ่อ ซึ่งเป็นหนังสือที่ได้รับรางวัลชั้นที่ 1 ในการประกวดวรรณกรรมไทยประเภทร้อยแก้ว ของธนาคารกรุงเทพ ประจำปี พ.ศ. 2519 อีกด้วย

งานเขียนแนวนวนิยายอิงธรรมะของ อาจารย์ทวี วรคุณ นับว่ามีความโดดเด่น ทั้งสำนวนภาษาเรียบง่าย รวมถึงการสะท้อนภาพชีวิตชาวบ้านในท้องถิ่นชนบทยุคก่อน และยังสอดแทรกคติธรรมบาปบุญคุณโทษ ผ่านพฤติกรรมหรือคำพูดของตัวละครได้อย่างลงตัว แสดงให้เห็นถึงผลลัพธ์ของการทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว ด้วยการวางโครงเรื่องที่อ่านได้ง่าย สนุก และจบในตอนสั้นๆ โดยไม่ทำให้ผู้อ่านเกิดความรู้สึกว่าเป็นการอ่านตำราหรือหนังสือธรรมะที่เคร่งเครียดน่าเบื่อหน่าย

ผมเคยรีวิว หลวงพ่อทองวัดโบสถ์ นวนิยายซึ่งสะท้อนภาพชีวิตชาวบ้านไทยแถบลุ่มแม่น้ำบางปะกงมาแล้ว สำหรับ แม่พริ้งผู้ใจบุญ เรื่องนี้ก็เช่นเดียวกัน เพียงแต่เรื่องราวเป็นกลุ่มชาวบ้านในชุมชนในแถบลุ่มน้ำท่าจีนที่มีอาชีพทำไร่นา โดยมีตัวละคร แม่พริ้ง และ ท่านสมภาร เป็นศูนย์กลางของเรื่องราวทั้งหมด

นวนิยายเรื่องนี้ แบ่งเป็นตอนๆ โดยแต่ละตอนคือแต่ละเหตุการณ์ที่จบในตัวโดยมี ‘แม่พริ้ง’ เป็นศูนย์กลางของเรื่องราว เปรียบเหมือนกับการร้อยเรียงเรื่องสั้นที่มีตัวละครหลักเกี่ยวเนื่องกัน ทำให้เราเห็นภาพของแม่พริ้งเริ่มตั้งแต่ยังเป็นสาวน้อยอาศัยอยู่กับบิดามารดา ที่มีฐานะ การอบรมเลี้ยงดูให้มีนิสัยใจบุญสุนทาน โดยมีพ่อและแม่เป็นต้นแบบมาตั้งแต่เยาว์วัย และเมื่อเติบโตขึ้นเป็นหญิงสาว แม่พริ้งก็เลือกที่จะใช้ชีวิตโสดไม่มีคู่ครอง หากสามารถครองตนอย่างสง่างาม เป็นที่นับหน้าถือตาของชาวบ้านในละแวกนั้นเป็นอย่างดี ตราบจนถึงบั้นปลายของชีวิต

แม่พริ้งเป็นคนชอบทำบุญและทำทาน เช่นเดียวกับนิสัยคนไทยทั่วไป การไปวัดของแม่พริ้ง ทำให้มีโอกาสได้สนทนาธรรมกับท่านสมภาร และได้เห็นเหตุการณ์ต่างๆ มากมายที่ผ่านเข้ามา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของกำนันหร่ำ ซึ่งภรรยาเสียชีวิต แต่ต้องการจัดงานให้หรูหรา เป็นหน้าตาเป็นตา ทั้งงานบุญและงานมหรสพ ซึ่งท่านสมภารก็ได้ให้ข้อคิดแก่แม่พริ้งว่า

ทวี วรคุณ

“หากจะทำแต่บุญอย่างเดียว ไม่มีการละเล่นให้คนดู คนที่ชอบดูสนุกก็จะถือเป็นเหตุค่อนแคะเอาไว้ ว่าเป็นคนขี้เหนียวคับแคบ ทำศพเมียทั้งที จะไม่มีอะไรให้ชาวบ้านดูบ้างก็ไม่ได้ แต่ถ้าจะเอาเฉพาะสนุกทางโลกอย่างเดียว ไม่สนใจเรื่องทำบุญสุนทาน ก็จะถูกคนเฒ่าคนแก่ค่อนขอดเอาอีก ไม่รู้จักทำบุญทำทานให้สมหน้าสมตา จึงต้องนิมนต์พระมาเป็นอันดับแจงตั้ง 100 องค์ เข้าทำนองว่า โลกก็ไม่ให้ช้ำ ธรรมก็ไม่ให้เสีย”

 

เรื่องของยายถมที่ร่ำรวย มีฐานะ หากแต่เมื่อสามีเสียชีวิตลง นางถมได้แบ่งทรัพย์สมบัติให้ลูกทุกคนอย่างเท่าเทียมและหวังว่าจะใช้ชีวิตในบั้นปลายอย่างมีความสุข แต่แล้ว…

นางถมก็ไม่สามารถไปอาศัยอยู่กับลูกคนไหนได้เลยสักคน ไม่ลูกเขยก็ลูกสะใภ้ล้วนค่อนแคะ บ้างก็พูดว่าได้เงินมรดกน้อยกว่าลูกอีกคน จนท้ายที่สุดหญิงชราที่เคยร่ำรวย ก็ต้องมาขออาศัยที่วัดสร้างกระต๊อบอยู่เพียงลำพัง เพื่อความสบายใจและมีความสุขตามอัตภาพ

 

“แม่พริ้งเดินออกจากกระต๊อบยายถมด้วยดวงจิตหดหู่ เรื่องแรกที่เป็นคติทำให้แม่พริ้งคิดก็คือเรื่องพี่น้อง แม่พริ้งเคยว้าเหว่ว่าตัวเกิดมาเป็นลูกคนเดียว ไม่มีพี่มีน้อง แต่ตอนนี้แม่พริ้งสบายใจ เพราะรู้ความจริงว่าพี่น้องนั้นถ้าอยู่กันตามลำพังก็รักพี่น้องสามัคคีกันดีอยู่ แต่ถ้ามีสามีภรรยาแยกครอบครัวต่างหากไป ความรักก็ย่อมจืดจางลง เพราะหลงคู่ครองของตน จนกระทั่งคิดเอารัดเอาเปรียบแก่งแย่งสมบัติกัน”

 

หรือเรื่องของแม่จวน ลูกสาวผู้ใหญ่โพล้ง ซึ่งมีศักดิ์เป็นญาติกับแม่พริ้งเอง ผู้ใหญ่โพล้งมีลูกสาวคนเดียว จึงรักและหวงลูกสาวมากนัก ไม่ยอมให้แต่งงานอยู่กินกับใคร แต่แล้วก็เกิดเหตุ เมื่อ ทิดน้อย คนงานในบ้าน ลักลอบได้เสียกับนางจวนแล้วชวนกันหนีไป ทำให้ผู้ใหญ่โพล้งอาฆาตพยาบาท จนถึงกับประกาศแจ้งว่าใครสามารถฆ่าทิดน้อยได้ จะช่วยประกันตัวให้และยังมีเงินรางวัลให้อีกด้วย

เวลาผ่านไปนับปี จนคืนหนึ่ง นางจวนและทิดน้อยได้แวะมาหาแม่พริ้งที่ตนนับถือ และขอความช่วยเหลือ พร้อมกับลูกเล็กๆ อีกสองคนที่กำลังอยู่ในวัยน่ารักน่าชัง ในที่สุดด้วยกุศโลบายของแม่พริ้ง ใช้ความน่ารักและบริสุทธิ์ไร้เดียงสาของเด็ก ทำให้หัวใจที่เต็มไปด้วยทิษฐิมานะของ ผู้ใหญ่โพล้งลดลง และพ่ายแพ้ไปในที่สุด

เรื่องสามเณรผลผู้เปรื่องปราด จนได้เป็นถึงนักธรรมโท และเป็นความหวังของทุกคนในหมู่บ้านที่จะบวชเป็นพระต่อไป แต่แล้ววันหนึ่งสามเณรก็ร้อนผ้าเหลือง ด้วยความรักของวัยหนุ่มสาว แม่พริ้งเองก็เสียดายที่สามเณรหนุ่มจะสึก จึงไปปรึกษาท่านสมภาร

 

“ท่านสมภารตอบทำนองสัพยอกว่า ห้ามไว้ไม่ไหวหรอกโยม เขาว่า พระจะสึก ลูกจะออก ขี้จะแตก คนจะตาย สี่อย่างนี้ห้ามไม่ได้ เพราะสุดที่จะห้าม บวชได้ก็สึกได้ อยากบวชก็บวช อยากสึกก็สึก อย่างนี้ก็ดีแล้วไม่ใช่หรือโยม”

 

และแล้ว ในคืนก่อนจะสึกนั่นเองที่หลวงตาได้เรียกสามเณรผลมาคุยด้วย และพาเณรผลไปยังโกดังเก็บศพหลังวัด สามเณรได้เรียนรู้เกี่ยวกับสภาวธรรมที่แท้จริงของมนุษย์ ผ่านการสนทนากับท่านสมภาร และจากนั้นท่านก็ปล่อยให้เณรผลได้คิดตัดสินใจด้วยตัวเอง

นอกจากนี้แล้ว ตัวละครในเรื่อง แม่พริ้งผู้ใจบุญ ยังประกอบด้วยตาหวาดที่หัวกบฏ มีความคิดแหกคอกที่ต้องมา ‘ถก’ ปัญหากับท่านสมภาร จนต้องยอมรับความจริงไปในที่สุด เรื่องของพระยงที่เป็นพระบวชใหม่ แต่มีการศึกษาจากกรุงเทพฯ ทำให้มีความคิดหัวก้าวหน้า จนอยากจะทำการเปลี่ยนแปลงความเป็นไปในวัด ที่ท่านสมภารต้องรับมือกับลูกวัดอย่างพระยง ด้วยสติปัญญา และความเป็นผู้ใหญ่ที่ใช้เหตุผลในการพูดคุย

อีกเรื่องที่ผมชอบมากคือ เรื่องของยายจาดกับทิดมี ที่อยู่กินกันมายี่สิบกว่าปี จนมีลูกห้าคน และมีฐานะขึ้นมา ต่อมาทิดมีก็ไปมีเมียน้อย ทำให้ยายจาดกลุ้มใจ มาปรึกษาหลวงตา เพราะไปรู้มาว่าเมียน้อยแอบทำเสน่ห์ใส่ทิดมีผัวตน เลยอยากจะขอยาเสน่ห์จากหลวงตามาใช้เพื่อแก้คืนเอามั่ง

หลวงตาจึงสอบถามเกี่ยวกับทิดมีและนางจาด

 

“อยากจะถามโยมจาดดูก่อนว่า ปกติน่ะทะเลาะกับพ่อเด็กอยู่เรื่อยๆหรือเปล่า”

“ก็มีบ้างค่ะ อยู่ด้วยกันก็อดไม่ได้”

“แล้วโยมสังเกตดูหรือเปล่าว่าเมื่อทะเลาะกันแล้ว ทิดมีเขามีอะไรผิดแปลกไปบ้าง” ท่านสมภารซัก

“พอมีเรื่องทะเลาะกัน ก็จะต้องออกจากบ้านไปเสียชั่วครั้งชั่วคราว เมื่อกลับมาแล้วก็หมดเรื่อง ไม่เอ่ยถึงเรื่องเก่าๆ ที่ขัดอกขัดใจกัน คนนี้ดีอย่างเรื่องรักลูก” แม่จาดเพิ่มเติม

ท่านสมภารอมยิ้ม แล้วเย้าแม่จาดว่า “โยมเห็นจะชอบบ่นสักหน่อยละนะ” รู้ตัวหรือเปล่า

“จริงเจ้าค่ะ เรื่องนี้อิฉันยอมรับ ไหนจะเรื่องลูก เรื่องผัว เรื่องงานบ้าน การค้าสารพัด ธุระรุมรอบตัว เวลาหัวเสียขึ้นมาก็ต้องบ่นละเจ้าค่ะ มันอดไม่ได้”

ในที่สุด หลวงตาก็มอบน้ำมนต์มาให้ขวดหนึ่ง โดยมีน้ำตาเทียนอยู่หลายหยด ท่านได้กำชับกับยายจาดเอาไว้ว่า

 

“น้ำมนต์ขวดนี้ ฉันปลุกเสกเรียบร้อยแล้ว เพื่อถอนเสน่ห์ออกจากร่างทิดมี แต่วิธีใช้ ไม่ใช่รดหรือราดบนร่างใครเหมือนน้ำมนต์อื่นๆ แต่โยมจะต้องอมน้ำมนต์นี้ไว้ครู่หนึ่งแล้วบ้วนออก หลังจากอมน้ำมนต์แล้ว ห้ามไม่ให้ด่าใคร ไม่ว่าใคร ไม่ให้บ่นเรื่องอะไรทั้งสิ้น อย่าโกรธและไปแสดงอาการกระทบกระทั่งกับใครเลย ต้องพูดจาอ่อนหวานน่าฟัง ยิ้มแย้มตลอดเวลา รุ่งขึ้นก็อมน้ำมนต์และประพฤติเหมือนอย่างวันต้นให้ครบเจ็ดวัน พยายามยิ้มให้ทิดมีเห็นฟันอยู่เสมอ ถ้าทำได้ จะเกิดผลถอนเสน่ห์ออกจากร่างทิดมีได้แน่นอน”

 

เรื่อง : แม่พริ้งผู้ใจบุญ

ผู้ขียน : ทวี วรคุณ

สำนักพิมพ์ : ประจักษ์การพิมพ์

ปีที่พิมพ์ : 2516

เล่มเดียวจบ

 

และท่านผู้อ่านก็คงจะเดาออกว่า เรื่องราวปมปัญหานี้จะได้จบลงอย่างไรใช่ไหมครับ?

เรื่องราวของแม่พริ้งยังมีหลากหลายตอน ทุกตอนอ่านง่าย เพลิดเพลิน การบรรยายของผู้เขียนทำให้เห็นภาพชนบทไทยในยุคสิบยี่สิบปีก่อน และลักษณะนิสัยของชาวบ้านที่มีทั้งรัก โลภ โกรธ หลง ซึ่งแม้จะไม่ใช่เรื่องราวที่มีพล็อตเรื่องโลดโผนเร้าใจก็ตาม

เรื่องราวเหล่านี้ ดำเนินเรื่องผ่านตัวละครแม่พริ้ง ตั้งแต่บทต้น ไปจนถึงบทสุดท้าย ที่เป็นฉากการมรณภาพของหลวงตา และจากนั้นไม่นาน แม่พริ้งที่อยู่ในช่วงวัยชรา ก็จากไปอย่างสงบเช่นกัน เป็นการจากไปท่ามกลางความอาลัยรักของทุกๆ คน

 

ดวงประทีปซึ่งหมดน้ำมันหล่อเลี้ยง ก็ย่อมดับลงเองในที่สุด…

 

หมายเหตุ นวนิยายเรื่อง แม่พริ้งผู้ใจบุญ นี้ นอกจากจะจัดพิมพ์จำหน่ายทั่วไปแล้ว ยังมีผู้นิยมนำมาพิมพ์แจกจ่ายในงานบุญงานกุศลทางพุทธศาสนาต่างๆ หรือพิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงานศพอยู่หลายครั้ง แสดงถึงความนิยมเป็นอย่างดี

เพื่อนนักอ่านที่สนใจนวนิยายอิงหลักธรรมเรื่องนี้ ในปัจจุบัน ผมเห็นยังมีจำหน่ายโดยสำนักพิมพ์สร้างสรรค์บุ๊คส์ หรือในรูปหนังสือเสียงก็มีด้วยเช่นกันครับ และสำหรับรูปของ คุณทวี วรคุณ จากหนังสืออนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ นายทวี วรคุณ พ.ศ. 2539 จากเว็บไซต์ร้านหนังสือคุณแม่

 

Don`t copy text!