นครแลลับอยุธยาแห่งความหลัง และ อดีตที่ผ่าน

นครแลลับอยุธยาแห่งความหลัง และ อดีตที่ผ่าน

โดย : หมอกมุงเมือง

Loading

บรรณาภิรมย์ โดย หมอกมุงเมือง คอลัมน์ที่อ่านเอาขอมอบความรื่นรมย์ให้กับผู้อ่านด้วยภาพปกสวยๆ และเนื้อเรื่องในแบบต่างๆ ของนักเขียนชั้นครูที่เคยผ่านมือ ผ่านตาและผ่านใจ เพื่อให้ทุกคนได้ร่วมรำลึกถึงผลงานของนักเขียนแต่ละท่านให้พอหายคิดถึงแม้เวลาจะผ่านไปแล้วเนิ่นนาน ภาพและตัวอักษรจะปรากฏให้เห็นอีกครั้งในยุคของการอ่านออนไลน์

ท.เลียงพิบูลย์ เป็นนามปากกาของทองหยก เลียงพิบูลย์ ซึ่งนักอ่านหลายท่านจะคุ้นเคยกันดีกับผลงานเรื่องสั้นในชุด กฎแห่งกรรม ที่มีการนำมารวมเล่มหลายครั้ง รวมถึงนำมาสร้างเป็นละครโทรทัศน์ในอดีต สำหรับหนังสือเล่มนี้ ประกอบด้วยเรื่องสั้นขนาดยาวจำนวนสองเรื่องคือ นครแลลับอยุธยาแห่งความหลัง และ อดีตที่ผ่าน

สำหรับ นครแลลับอยุธยาแห่งความหลัง นี้ เป็นหนังสือที่ค่อนข้างหายากและพิมพ์เพียงไม่กี่ครั้ง แต่เพื่อนนักอ่านสามารถติดตามได้จากคลิปยูทูบที่มีผู้นำมาอ่านเป็นหนังสือเสียงไว้ให้ฟังได้อย่างน่าสนใจเลยทีเดียวครับ

 

ทองหยก เลียงพิบูลย์

 

เรื่องราวใน นครแลลับอยุธยาแห่งความหลัง จะแตกต่างจากเรื่องชุด กฎแห่งกรรม ที่เป็นเรื่องราวสั้นๆ จบในตอน หากสำหรับในชุดนี้ จะผสมผสานเรื่องราวทั้งในยุคปัจจุบันของผุ้เขียน และพาย้อนเล่าไปถึงเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์สมัยกรุงศรีอยุธยาก่อนจะเปลี่ยนผ่านไปสู่ยุคกรุงธนบุรี และยังมีเรื่องราวความผูกพันของตัวละครในอดีตเหล่านั้นจนนำไปสู่บทสรุปของนครแลลับอันเป็นที่มาของเรื่องในท้ายที่สุด

ผู้เขียนเล่าเรื่องผ่านสรรพนามบุรุษที่หนึ่งคือข้าพเจ้า และเล่าว่าสมัยวัยเด็กของท่าน ได้มีโอกาสรู้จักกับป้าเจียน หญิงสูงอายุผู้มีน้ำใจงาม มีจิตเมตตาต่อเด็กๆ แถวนั้น ทำให้มีโอกาสได้ฟัง ‘นิทาน’ ของป้าเจียนที่ชอบเล่าเรื่องในชีวิตวัยเยาว์ของป้าให้ฟังบ่อยครั้ง

“ที่บ้านป้านั้น มีคลองเก่าแก่สมัยกรุงเก่า เขาเรียกกันว่าคลองลับแล แต่ภายหลังเรียกว่าคลองตาพลับ เป็นชื่อปู่ของป้า…”

บริเวณนั้นเต็มไปด้วยกระเบื้องจานชามลายครามของเก่าแตกหักเกลื่อนกลาดมากมายมีบางคนบอกว่า เคยเป็นเมืองโบราณ เป็นที่อาถรรพณ์ วันดีคืนดีบางคนมองเห็นเหมือนมีใครจุดดอกไม้ไฟพะเนียงพุ่งขึ้นเป็นฝอยสว่างสูงเกินกว่ายอดไม้ และทุกคืนวันพระสิบห้าค่ำ ก็จะได้ยินเสียงมโหรีพิณพาทย์ เป็นเสียงเยือกเย็นจับใจมากับสายลม

+++++++++++++++++++++++++

ปู่ของป้าเจียนเองก็มีโอกาสช่วยเหลือทิดมหาวงศ์ ชายหนุ่มผู้หนึ่งที่เดินทางพลัดหลงมาถึงบริเวณแห่งนี้ รวมถึงให้ที่พักพิงแก่ชายหนุ่ม

ภายหลังทิดมหาวงศ์เล่าให้ปู่ฟังว่าตนเองได้ฝันถึงเจ้าหญิงกับนครลับแลแห่งหนึ่ง ตราบจนได้ผ่านเข้าไปในเมืองลึกลับที่อยู่บริเวณเขตคลองแห่งนั้น เขาได้พบกับชาวเมืองที่เป็นหญิงทั้งหมด และสตรีโสภาผู้เป็นเจ้าหญิงแห่งเมืองนั้น เธอได้เรียกชื่อของเขาว่า ‘สุรเทพ’ ที่เวลานี้ได้กลับชาติมาเกิดใหม่ และได้ชักชวนให้เขาเดินทางมาอยู่ร่วมกันยังเมืองมหัศจรรย์ดินแดนลับแลแห่งนี้อีกครั้ง

เมื่อตื่นขึ้นมา มหาวงศ์หรือสุรเทพในอดีตชาติได้บอกเล่าเรื่องราวมหัศจรรย์นี้กับปู่ของป้าเจียนก่อนจะเสียชีวิตลงในเวลาต่อมา ปู่ของป้าเจียนเองเข้าใจว่าบัดนี้มหาวงศ์คงจะได้เดินทางกลับไปครองรักคู่กับเจ้าหญิงพระองค์นั้นแล้ว ณ ดินแดนแห่งเมืองลับแล หรือเมืองแลลับที่เรียกขานกันมา

เรื่องราวบอกเล่าอันสุดแสนมหัศจรรย์จากป้าเจียนคงจะจบสิ้นลงเพียงเท่านั้น ถ้าหาก ผู้เขียนไม่ได้พบกับสมุดข่อยสามเล่มโดยบังเอิญ จนนำไปสู่การอ่านถอดข้อความในสมุดข่อยโบราณ เกิดเป็นเรื่องราวของนครแลลับอยุธยาแห่งความหลังนี้ ในเวลาต่อมานั่นเอง

++++++++++++++++++++++++

จากนั้น ท.เลียงพิบูลย์ ก็นำพาผู้อ่านให้ร่วมเดินทางย้อนกลับไปในสมัยแผ่นดินพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ศึกชิงราชบัลลังก์ ความวุ่นวายต่างๆ ในราชสำนัก และดำเนินเรื่องราวต่อเนื่องกันไปจนถึงยุคสมัยสมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์ อันนำไปสู่เหตุการณ์ครั้งสำคัญในประวัติศาสตร์ชาติไทย

ในเวลานั้นเอง ภายในราชสำนักแห่งอยุธยาก็มีเสด็จในกรมพระองค์หนึ่ง ซึ่งมีพระธิดา นามว่าเจ้าหญิงพิณทิพย์มณฑาทอง ผู้เลอโฉมและทรงถนัดในการดนตรีทั้งปวง เสด็จในกรมทรงเป็นห่วงพระธิดาซึ่งเป็นดังดวงหทัย เมื่อรับรู้ถึงมหันตภัยจากกองทัพข้าศึกที่กำลังจะมาถึง

เมื่อนั้นจึงตรัสสั่งให้สุรเทพ นายทหารหนุ่มที่ทรงชุบเลี้ยงไว้อย่างดีตั้งแต่วัยเยาว์ มอบหมายภารกิจให้ช่วยนำพาเจ้าหญิงและข้าบริพารที่ซื่อสัตย์ออกเดินทางไปเสาะแสวงหาที่อยู่อาศัยใหม่ และสร้างเป็นเมืองลี้ลับขึ้นมาเพื่อปกป้องการรุกรานของข้าศึก พร้อมกับขนทรัพย์สินเงินทองของพระองค์ให้ติดตัวไปพร้อมกัน

และจากนั้นการเดินทางครั้งสำคัญ ก็เริ่มต้นขึ้น ก่อนที่กองทัพพม่าจะบุกเข้าทำลายกรุงศรีอยุธยาจนราบเป็นหน้ากลอง!

+++++++++++++++++++++

“เราได้มีหนังสือกำกับและของอาถรรพณ์ และพิธีได้มอบหมายให้ลูกเราแล้ว เราจะสร้างเมืองที่มีผู้คนอยู่ในศีลในธรรม และไม่บริโภคเนื้อสัตว์ ไม่เบียดเบียนกัน เมื่อคืนนี้เราได้พิจารณาดูดวงดาวบนท้องฟ้าแล้ว ขอให้พวกท่านจงคุมเรือลงไปทางใต้ แม้จะมีอุปสรรคก็ผ่านพ้นไปไม่ร้ายแรง และจะไปพบสถานที่จะสร้างนครลี้ลับได้…

เมื่อพวกท่านได้สถานที่อยู่เหมาะสมเพื่อสร้างบ้านสร้างเมืองแล้ว ก็ให้ทหารผู้รู้ทางดีมารับ เราจะเดินทางไปด้วย เพื่อหาความสงบในบั้นปลาย แม้ภายนอกจะวุ่นวายฆ่าฟันกันยับเยินเพียงใด ก็แล้วแต่กรรมของเขา เราไปอยู่ในที่ลี้ลับห่างไกล ด้วยความสงบเหมือนเราอยู่อีกโลกหนึ่ง”

ทั้งหมดฝ่าฟันผ่านกองทัพพม่าที่รายล้อมกรุงศรีอยุธยา และฆ่าฟันชาวบ้านชาวเมืองอย่างน่าอนาถ แต่ด้วยความเก่งกล้าสามารถของ หัวหมู่สุรเทพ นั่นเอง ก็สามารถช่วยเหลือนำพาทุกคนจนมาถึงแผ่นดินอันเป็นชัยภูมิเหมาะสม และจากนั้นจึงทำพิธีกำบังไพร เพื่อให้เมืองที่สร้างขึ้นได้เร้นรอดสายตาของบุคคลภายนอก โดยไม่อาจล่วงผ่านเข้าไปได้

+++++++++++++++++++++++++

ในเวลาเดียวกันนั้นเอง ความรัก ความผูกพันของขุนพลหนุ่มผู้สัตย์ซื่อ กับเจ้าหญิงพิณทิพย์มณฑาทอง หรือเจ้าหญิงจันทร์เจ้าผู้เลอโฉมก็เริ่มต้นขึ้นด้วยเช่นกัน หากด้วยความรู้สึกเจียมตัวและความจงรักภักดีต่อองค์หญิงผู้สูงศักดิ์ สุรเทพจำต้องหักใจ เขาออกเดินทางจากเมืองลึกลับแห่งนี้ เพื่อภารกิจการไปอัญเชิญองค์เสด็จในกรมให้เดินทางมายังเมืองแห่งนี้ด้วยกัน

ระหว่างการเดินทางนั่นเองที่เสด็จในกรมเกิดล้มเจ็บลงและสิ้นพระชนม์ไปเสียก่อน พร้อมสุดสิ้นความหวังที่จะกลับไปสู่นครแลลับ สุรเทพได้แต่รำพึงด้วยความรักอันแสนเศร้าว่า

แม้เราจะอยู่ในแผ่นดินไทยด้วยกัน แต่เราก็แยกกันอยู่คนละภพ ในชาตินี้เราต่างมีกรรมหมดโอกาสที่จะได้พบกัน ขอชาติต่อไปจงเป็นของเราทั้งสองจงอยู่เป็นสุขเถิดองค์หญิงจันทร์เจ้า ขอให้ชีวิตรักของเราเป็นอมตะตลอดไป สุรเทพจะส่งจิตอยู่กับองค์หญิงกว่าจะสิ้นอวสาน…

สุรเทพตัดสินใจที่จะใช้ชีวิตในเพศภิกษุไปจนตลอดชีวิต และเส้นทางระหว่างตนกับเจ้าหญิงผู้โสภาก็จากกันไป โดยที่อีกฝ่ายได้แต่เฝ้ารอคอยด้วยความหวังในเมืองลับแลแห่งนั้น กาลเวลาผ่านไป ตำนานความเชื่อเกี่ยวกับเมืองแห่งนั้นก็ลบเลือนไปตามกาลเวลา หากบางครา ชาวบ้านในแถบคลองแห่งนั้นก็จะได้ยินเสียงพิณพาทย์ลอยมากับสายลม โดยไม่อาจล่วงรู้ว่า เจ้าของเสียงเพลงอันไพเราะนั้นคือผู้ใด

เรื่อง : นครแลลับอยุธยาแห่งความหลัง และ อดีตที่ผ่าน

ผู้เขียน : ท.เลียงพิบูลย์

สำนักพิมพ์ : รุ่งเรืองธรรม

ปีที่พิมพ์ : 2519 (ครั้งที่สอง)

เล่มเดียวจบ

เรื่องราวความรักความผูกพันข้ามภพชาติ ที่เล่าผ่าน ท.เลียงพิบูลย์ อาจจะไม่ได้หวานซึ้งด้วยสำนวนโรแมนติกในนิยายพาฝัน แต่แทรกไปด้วยคติความเชื่อเรื่องบุญกรรม ด้วยสำนวนภาษาอันคมคาย ยกตัวอย่างเช่น

ลมพายุใหญ่จะพัดรุนแรงโผงผางตึงตังเพียงต้นไม้หักโค่น บ้านเรือนถูกพัดพังทลายลงเพราะทานแรงลมไม่ได้ แล้วลมพายุร้ายรุนแรงเพียงใดแล้วก็ผ่านไป มิได้มีอะไรเหลืออยู่ ฟ้าที่มืดมัวก็แจ่มใสดินฟ้าอากาศเข้าสู่ปกติเดิม แต่ลมออกจากปากมนุษย์ แม้จะไม่โผงผางพัดรุนแรงก็ดี ลมปากนั้นมีพิษร้ายแรงยิ่งนัก แม้จะเป็นเพียงเสียงกระซิบอย่างแผ่วเบา สามารถทำลายทุกอย่างภายใต้ดวงอาทิตย์ให้พินาศฉิบหายลงได้…

นอกจากนี้ผู้เขียนยังสอดแทรกประวัติศาสตร์สมัยกรุงศรีอยุธยา ก่อนจะถึงกาลเสียกรุงลง การบรรยายผ่านความคิดของตัวละครในเรื่อง โดยเฉพาะสุรเทพ ตัวละครเอกที่เต็มเปี่ยมด้วยอุดมการณ์ ทั้งหน้าที่และหัวใจ ที่มีไว้เพื่อแผ่นดินของตน ด้วยสำนวนภาษาอันเป็นเอกลักษณ์

พวกเราพี่น้องเกิดมาร่วมแผ่นดินไทย และเมื่อถึงกำหนดเวลาทุกคนไม่เจ็บตายก็แก่ตายเป็นธรรมดาตามธรรมชาติ จะต้องตายด้วยกันทั้งสิ้น แต่เมื่อมีข้าศึกเข้ามาย่ำยีพวกพี่น้องได้รับความทุกข์ยากแสนเข็ญเช่นนี้ เราควรหรือจะให้มันหมิ่นศักดิ์ศรีของคนไทย การที่หาโอกาสตายเพื่อรักษาแผ่นดินไทย เพื่อความกตัญญูต่อเจ้านายนั้นหาได้ยาก ฉะนั้นเมื่อมีโอกาสตายในการต่อสู้เพื่อชาติ เพื่อแผ่นดินไทย เพื่อเจ้านายผู้มีพระคุณยิ่ง เราก็ขอร่วมตายด้วยกัน

นครแลลับอยุธยาแห่งความหลัง จึงเป็นนวนิยายอีกเรื่องหนึ่งที่ผมอ่านด้วยความประทับใจ และเหมาะ สำหรับผู้อ่านที่ชื่นชอบเรื่องราว อย่างที่ท่านเคยเขียนในชุด กฎแห่งกรรม ที่น่าจะชื่นชอบเช่นกันครับ

 

Don`t copy text!