มหาสมุทรสุดลึกล้นฯ

มหาสมุทรสุดลึกล้นฯ

โดย : หมอกมุงเมือง

Loading

บรรณาภิรมย์ โดย หมอกมุงเมือง คอลัมน์ที่อ่านเอาขอมอบความรื่นรมย์ให้กับผู้อ่านด้วยภาพปกสวยๆ และเนื้อเรื่องในแบบต่างๆ ของนักเขียนชั้นครูที่เคยผ่านมือ ผ่านตาและผ่านใจ เพื่อให้ทุกคนได้ร่วมรำลึกถึงผลงานของนักเขียนแต่ละท่านให้พอหายคิดถึงแม้เวลาจะผ่านไปแล้วเนิ่นนาน ภาพและตัวอักษรจะปรากฏให้เห็นอีกครั้งในยุคของการอ่านออนไลน์

****************************

สนับสนุนอ่านเอาด้วยการสั่งซื้อหนังสือ “ในสวนอักษร” คลิกที่นี่

จากเรื่องราวใน ‘บ้านเกิด’ ที่สีฟ้าเขียนขึ้นเมื่อห้าสิบกว่าปีก่อน ในเวลาต่อมา ท่านจึงได้จรดปากกาเขียนเรื่องราวอันเป็นเสมือนภาคต่อ ของ บ้านเกิด ในชื่อ ‘มหาสมุทรสุดลึกล้นฯ’ ขึ้น พร้อมกับตัวละครต่างๆ ที่สร้างขึ้น ก็ได้พัฒนาการไปตามวันวัยแห่งเวลาด้วยเช่นกัน

บัดนี้คุณย่ายี่เข่งและลุงแสงต่างเสียชีวิตไปหมดแล้ว สิทธาและบานชื่นได้กลายเป็นคุณปู่สิทธาในวัยแปดสิบห้าปี กับย่าบานชื่นวัยเจ็ดสิบปลาย ซึ่งยึดอาชีพเป็นเกษตรกร ทำนาอยู่ที่บัวชุมเช่นเดิม ปู่สิทธาได้เห็นการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นต่างๆ มากมาย รวมถึงเหตุการณ์ทางการเมือง การชุมนุมนักศึกษา ที่ทำให้เขาต้องสูญเสียสมานเสมอลูกชายคนเล็กไป เมื่อสถาพร ลูกชายคนโต ได้พาอีกฝ่ายไปร่วมในการชุมนุมนักศึกษาและเกิดเหตุการณ์นองเลือดขึ้น และนั่นก็เป็นชนวนให้พ่อกับลูกชายคนโต ต้องมีเรื่องบาดหมางใจกันในเวลาต่อมา

สถาพรแต่งงานกับปานทิพ และมีปาโมกข์กับปลายมาส หรือจิ๋ว ซึ่ง ‘ย่านรี’ หรือ สิรินรี ที่ได้แต่งงานครั้งที่สองไปกับหมอประสิทธิ์ ต่อมาหมอเสียชีวิตลง ทำให้หล่อนขอปลายมาสมาอุปการะ จนเด็กสาวเติบโตขึ้นมา เป็นสาวน้อยที่สดใส และกำลังจะสอบเข้ามหาวิทยาลัย ส่วนปิย่า หรือสนธยา ซึ่งแต่งงานกับปลัดชำนะ ก็ไปใช้ชีวิตในบั้นปลายหลังเกษียณที่จังหวัดเชียงราย

ปู่สิทธาสนิทกับปู่มิตร ซึ่งลูกชายและลูกสะใภ้ทำธุรกิจซื้อขายหุ้นจนร่ำรวย และรบเร้าให้ มิตร ขายที่ดินมาลงทุน ซึ่งสิทธารับซื้อเอาไว้ และนายมิตรก็ย้ายมาอยู่คอนโดฯ ในกรุงเทพฯ พร้อมลูกชายและหลานชายที่เพิ่งเกิดมีชื่อว่าดวงดี แต่แล้วเมื่อเกิดภาวะ ฟองสบู่แตกในเวลานั้น ทำให้สองสามีภรรยากลายเป็นคนล้มละลาย ติดหนี้สินจนต้องอพยพไปหางานทำในประเทศลาว นายมิตรจึงกลับมาพึ่งพาสิทธาที่สนิทสนมกัน พร้อมกับหลานชายตัวน้อยที่ภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็นดวง

สิทธาให้ที่ดินที่มิตรเคยมาขายไว้ ให้ทำกินเหมือนเดิม และอุปการะดวงจนเรียนจบปริญญาตรีนิติศาสตร์และเข้าทำงานในธนาคารที่บัวชุมนั่นเอง ดวงเป็นเด็กหนุ่มที่มีความกตัญญู และนับถือสิทธา เขาเป็นคนหนุ่มรุ่นใหม่ ที่มีความมุ่งมั่น จะพัฒนาบ้านเมือง โดยเฉพาะการทำหน้าที่ผู้แทนราษฎรซึ่งเป็นความหวังที่สิทธาเคยคาดหวังเอาไว้บ้านเมืองไทยตลอดเวลาที่ผ่านมา

ทั้งดวงและปลายมาสมีโอกาสได้พบกันมาตั้งแต่เด็ก และเมื่อต่างเติบโตขึ้น เขาก็พบว่า สามารถพูดคุยเรื่องราวต่างๆ กับหล่อนได้อย่างถูกอัธยาศัย

ในขณะที่ราคาที่ดินแถบนั้นเริ่มถีบตัวสูงขึ้นเรื่อยๆ และมีคนมาติดต่อเพื่อพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในเขตบัวชุม สืบวงศ์ หลานลุงแสง ลูกนายสายที่เคยแอบชอบพอบานชื่นมาก่อน ก็เป็นนักจัดสรรที่ดินจนร่ำรวย ในขณะที่ปรามาสสิทธาว่าเป็นผู้เฒ่าหัวโบราณ ยึดติดกับธรรมเนียม ความเชื่อเก่าๆ แม้แต่ย่านรีเมื่อมาเยี่ยมพี่ชายตัวเองยังอดบ่นไม่ได้

 

“พี่ธานี่ยิ่งแก่ยิ่งทิฐิจัด ยิ่งขวางโลก ตอนนั่งมาในรถ ยายจิ๋วโทร.มือถือหน่อยก็ค่อนหลาน” ปลายมาสหัวเราะ

“คุณปู่นี่อนุรักษ์นิยมน่าดูชมนะคะ ย่าชื่น รู้สึกจะแอนตี้พวกเทคโนทุกอย่าง”

“ไม่ถึงกับอย่างนั้นหรอก พวกเทคโนอะไรต่างๆ ทำไมเขาจะไม่เห็นประโยชน์ ไม่ใช่พวกหูป่าตาเถื่อนอยู่ในดงนี่จ๊ะ อย่างโทรศัพท์มือถือ สำหรับในงานธุรกิจ ในงานราชการบางอย่าง เขาก็เห็นว่ามีประโยชน์มาก แต่ถ้าพูดกันเพียงเพราะเห่อ พูดอย่างไร้สาระ เขาก็ค่อนเอาน่ะซี”

 

เห็นจะมีแต่ดวงเท่านั้นที่พูดคุยกับคุณปู่สิทธาได้อย่างเข้ากัน ด้วยความคิดความเห็นที่คล้ายๆ กัน แม้แต่พ่อของ ดวงเอง ภายหลัง เมื่อกลับมาอยู่เมืองไทย ก็ยังอดค่อนขอดไม่ได้

 

“แกอย่างดึงดันไปนักเลย ดวงเอ๋ย คนเราไม่ได้อยู่ได้ด้วยอุดมคติฟุ้งซ่านไปจนตลอดชีวิตหรอก ดูอย่างพวกที่เคยเต้นแร้งเต้นกาใฝ่หาอุดมคติอุดมการณ์เมื่อสามสิบปีก่อนเป็นไร ไปๆ มาๆ พออายุมากเข้า ถึงได้รู้ว่า ไอ้อุดมคติ อุดมการณ์มือเปล่าๆ นั้น มันเป็นแค่ ความฟุ้งซ่านเท่านั้นเอง…”

 

เรื่องราวของ มหาสมุทรสุดลึกล้นฯ บอกผ่านเรื่องราวชีวิตของ คนแต่ละรุ่นที่อยู่ร่วมกันในชุมชนบัวชุมแห่งนั้น เมื่อสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ การเมือง เคลื่อนผ่านเข้ามาสู่ชุมชน ทั้งการเลือกตั้งในระดับท้องถิ่น การเลือกผู้แทนราษฎร โดยที่สถาพร ลูกชายของสิทธา ที่มีอุดมการณ์และความคิดแตกต่างกันกับพ่อ จับมือกับสืบวงศ์ ซึ่งบัดนี้ก็เป็นนักธุรกิจท้องถิ่นที่มีทรัพย์สินและต้องการเข้าไปเล่นการเมือง ในขณะที่ดวงเองก็มีปณิธานในการทำงานการเมืองเช่นกัน เขาดึงเข้าไปอยู่ในวังวนแห่งนั้น

เรื่อง : มหาสมุทรสุดลึกล้นฯ

ผู้ขียน : สีฟ้า

สำนักพิมพ์ : เพื่อนดี

ปีที่พิมพ์ : 2552

เล่มเดียวจบ

“นี่ไง ที่ว่ากระจายอำนาจจากส่วนกลาง ว่าที่จริงตามทฤษฎี ตามหลักการมันก็ดีอยู่หรอกนะ ถ้าเป็นไปอย่างสุจริต เลือกได้คนดี แต่ไปๆ มาๆ ฉันกลัวว่าจะไม่ใช่การกระจายอำนาจเพื่อชาวบ้านในท้องถิ่นจริงๆ แต่ฏันว่า ไปๆ มาๆ จะกลายเป็นหัวคะแนนให้พรรคการเมืองบางพรรคไปเท่านั้นเอง นายก อบต. เป็นหัวคะแนน อบต. เป็นเหมือนบริษัทนิติบุคคลตามกฎหมาย มีสิทธิแม้แต่จะขายทรัพย์สินแผ่นดินให้กับใครก็ได้ในรูปของการพัฒนา…”

“ไอ้การพัฒนานี่ฟังแต่ชื่อมันดูดี ดูเป็นการสร้างสรรค์ดีอยู่หรอก แต่ก็ไอ้พัฒนานี่แหละ ทำให้คนบางคน บางพวกรวยล้นกันมาไม่รู้เท่าไหร่ต่อเท่าไหร่แล้ว อย่างพัฒนาที่ดิน แต่ก่อนใครรู้บ้างว่า เขาจะพัฒนากันที่ไหน อย่างไร เว้นแต่พวกเจ้ากระทรวง ทบวง กรมทั้งหลาย กับญาติพี่น้อง พรรคพวกของตัว ก่อนประชาชนตาดำๆ จะรู้เรื่อง ท่านพวกนี้ก็รวยกันทั้งโคตรไปแล้ว”

 

ดวง จึงเป็นความหวังที่เรืองรองของสิทธา แม้แต่ตอนที่เขาตัดสินใจไปเรียนต่อปริญญาเอกที่เมืองนอก เมื่อได้ทุนเล่าเรียน

“ฉันนึกอะไรบางอย่างขึ้นมาได้ถึงเรื่องทุน ฉันเคยได้ยินคุณพ่อของฉันเคยพูดกับผู้ใหญ่บางคนว่า แผ่นดินท่านให้ทุนไปเรียน เรียนจบแล้วบางคนก็แทนคุณรับใช้แผ่นดิน แต่บางคนกลับเนรคุณแผ่นดินเสียนี่…”

“อาจเป็นเพราะความทะเยอทะยาน อาจเป็นเพราะอามิสอย่างใดอย่างหนึ่ง แต่ในปัจจุบันนี้ ฉันอยากพูดตรงๆ ว่าเป็นเพราะเงินนั่นเองเป็นส่วนใหญ่ ตั้งแต่ธุรกิจการเงินก้าวเข้ามาครอบคลุมสังคมระดับสูง แม้แต่สังคมปัญญาชน ทำให้เงินกลายเป็นสิ่งสำคัญที่สุดในชีวิตมนุษย์เสียแล้ว ไม่ใช่เพียงปัจจัยหนึ่งในการดำรงชีวิต แต่สำคัญเท่ากับชีวิตเลยทีเดียว ซึ่งเมื่อสำคัญเท่ากับชีวิต มันก็ซื้อชีวิตหรือวิญญาณความเป็นคนได้เท่านั้นเอง!”

 

และต่อมาดวงก็ได้รับทุนไปเรียนต่อจนจบปริญญาเอกที่เมืองนอก เมื่อชายหนุ่มเดินทางกลับมาเมืองไทยอีกครั้ง ความสัมพันธ์ระหว่างเขากับปลายมาสก็ยิ่งทวีความแน่นแฟ้น ผูกพันกันมากขึ้น เขาตัดสินใจสมัครเป็นผู้แทนราษฎรตามคำชวนของสถาพร ลูกชายปู่สิทธาที่เขาเคารพ คราวนี้สิทธาเห็นด้วย เพราะรับรู้ถึงอุดมการณ์ของคนหนุ่มไฟแรง ที่มีความตั้งใจในการพัฒนาชาติบ้านเมือง ในขณะที่สถาพรก็ให้ความหวังกับสิทธาว่าเขาต้องการเปลี่ยนแปลงการทำงานของรัฐบาลชุดเดิม โดยหวังว่าพรรคการเมืองที่มีชื่อว่าพรรคสยามราษฎร์นี้จะร่วมกับฝ่ายค้าน เพื่อจัดตั้งรัฐบาลใหม่ขึ้นมาแทน ในช่วงการการเลือกตั้งครั้งใหม่ที่กำลังจะมาถึง

สถาพรขอให้สิทธาขายที่ดินเพื่อนำมาเป็นเงินทุนรอนในการจัดตั้งพรรค และสานอุดมการณ์ของเขาให้สำเร็จ แต่สิทธาตัดสินใจยกเงินที่เก็บสะสมรวมกับทั้งของย่านรี ย่าสนธยา มอบให้ไปแทน เพราะไม่ต้องการขายที่ดินที่ทำกินมาโดยตลอด

แม้จะล่วงเข้าวัยแปดสิบห้าปี แต่สิทธาก็ยังพยายามออกช่วยบุตรชายหาเสียงอย่างเต็มที่ สานความฝันที่จะเห็นการเมืองไทย ดำเนินไปสู่ประชาธิปไตยอย่างแท้จริง

 

“ท่านว่าสมัยก่อนเป็นทาสของคน ยังดีกว่าสมัยนี้เป็นทาสของเงิน เพราะคนที่เป็น “นาย” ยังมีจิตใจ แต่คนเป็นทาสเงินไม่มีวันหลุดจากความเป็นทาส ทาสของคนในสมัยก่อนยังมีศักดิ์ศรี เพราะพ่อแม่ขายด้วยความยากจน เขากตัญญูต่อพ่อแม่จึงยอมให้ขายแต่สมัยนี้ขายตัวเพราะความโลภ จงหมดศักดิ์ศรีไม่เหลืออยู่เลย

แล้ว… ทาสสมัยก่อน ขายตัวก็เดือดร้อนเฉพาะแค่ตัวเขา แต่ข้าราชการที่เป็นทาสเงินสมัยนี้ ทั้งๆ ที่รู้ว่าบ้านเมืองเดือดร้อนก็ยังยอมขาย ยอมเป็นทาสเงิน หรือพูดให้ตรงก็ว่าเป็นทาสของเจ้าของเงิน”

 

ในที่สุด พรรคสยามราษฎร์โดยสถาพรเป็นหัวหน้าพรรคก็ประสบความสำเร็จ สำหรับบัวชุมนั้น ทั้งสืบวงศ์และดวงที่ลงสมัครแข่งกับนักการเมืองพรรคเดิม ก็ประสบชัยชนะ ได้เป็นผู้แทนของบัวชุมทั้งคู่ จำนวน ส.ส. ของสยามราษฎร์ อาจจะไม่มากที่สุด เพราะเหมือนเป็นพรรคขนาดกลาง แต่เมื่อรวมกับ จำนวน ส.ส. ของพรรคฝ่ายค้านแล้ว เสียงทั้งหมดก็น่าจะพอจัดตั้งรัฐบาล ได้แบบพอดี

แต่แล้ว…

 

“นี่กำลังคุยกันถึงพรรคสยามราษฎร์ว่าจะเอายังไงดี ไปๆ มาๆ พรรครัฐบาลเก่าเขากลับได้ ส.ส. มากกว่าพรรคฝ่ายค้านเก่า ทีนี้ พรรคสยามราษฎร์ ก็เลยเนื้อหอมน่ะสิ แค่จับมือกับพรรคเล็กอีกสองพรรค เข้าร่วมกับพรรคใหญ่ฝ่ายไหนก็ได้เป็นรัฐบาล ถ้ารวมกับพรรครัฐบาลเก่าล่ะก็… เสียงหนาปึกเลยทีเดียว มากกว่าพรรคฝ่ายค้านเกือบร้อยเสียง”

 

เมื่อสถานการณ์เปลี่ยน อุดมการณ์แต่แรกก็เปลี่ยน ด้วยเหตุผลที่พยายามนำมาอ้างให้ชอบธรรม แม้ว่าจะมีเพียงดวงคนเดียวที่ไม่เห็นด้วยก็ตาม

 

“อะไรคือความไม่ถูกต้อง และอะไรคือความถูกต้อง เมื่อประชาชนส่วนใหญ่เขาเลือกแล้ว พรรคได้ ส.ส. มากก็ต้องได้เป็นรัฐบาลอย่างถูกต้อง เมื่อเป็นรัฐบาลแล้วก็ต้องยอมรับเขา ส่วนพรรคต่างๆ เขาจะรวมหรือไม่รวมกับใครก็เป็นสิทธิของเขา หรืออยู่ที่หัวหน้าพรรค จริงไหม?”

และแล้ว สถาพร หัวหน้าพรรคสยามราษฎร์ ก็ตัดสินใจ เข้าร่วมก่อตั้งรัฐบาล กับพรรครัฐบาลเก่า แม้ว่าก่อนเลือกตั้งจะประกาศนโยบายที่จะรวมกับพรรคฝ่ายค้านก็ตาม!

และแล้ว ในวันที่พรรคสยามราษฎร์ประกาศต่อสื่อมวลชนเพื่อร่วมจัดตั้งรัฐบาลนั่นเอง ดวงก็ตัดสินใจประกาศลาออก!

 

“ผมนายดวง ขอกราบเรียนท่านหัวหน้าพรรคและทุกคนในที่นี้ว่าผมไม่เห็นด้วยกับการตัดสินใจของพรรคในครั้งนี้ และได้คัดค้านในที่ประชุมพรรคแล้ว แต่ไม่สำเร็จ จึงขอกราบเรียนว่า ผมขอลาออกจากพรรค และเมื่อการเป็นผู้แทนราษฎรต้องสังกัดพรรค ผมจึงขอลาออกจากตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรด้วย ตั้งแต่บัดนี้”

ท่ามกลางความตกตะลึงของทุกคน ดวงพูดต่อไปว่า

“เหตุผลที่ผมลาออก ทุกคนคงรู้ดีอยู่แก่ใจ เว้นแต่จะทำเป็นไม่รู้ แต่ผมจะไม่พูดมาก ขอยกโคลงสั้นๆ แค่บาทเดียว แทนคำอธิบาย คือ เสียสัตย์จงเสียสู้ เพื่อได้เงินมา!”

 

ชายหนุ่มเดินทางกลับไปยังบัวชุม กลับไปหาปู่สิทธา ที่บัดนี้ล้มเจ็บลงด้วยความผิดหวัง และกลับไปหาปลายมาส ผู้หญิงคนเดียวที่เข้าใจหัวใจของเขามากที่สุด

แม้ว่าเขาจะไม่ได้ทำงานการเมืองในระดับชาติอีกแล้ว แต่ดวงก็ยังหวังว่าอย่างน้อยก็จะทำประโยชน์ในการเมืองท้องถิ่น ให้กับบัวชุมอันเป็นบ้านเกิดของตัวเองต่อไป…

มหาสมุทรสุดลึกล้นฯ เป็นนวนิยายการเมืองที่เข้มข้นอีกเรื่องหนึ่ง มีความสมจริงและสอดแทรกแนวคิดการเมือง จนมีผู้อ่านหลายท่านถึงกับติดต่อไปยังผู้เขียน จนท่านได้ กล่าวรวมไว้ในฉบับรวมเล่ม โดยยกประโยคของ หม่อมราชวงศ์ นิมิตมงคล นวรัตน์ (พ.ศ.2481) ที่กล่าวไว้ เมื่อท่านถูกถูกสอบสวน ถึง นวนิยายการเมือง “เมืองเนรมิต” ความว่า

“การเขียนนวนิยายนั้น มีทั้งความจริงและจินตนาการผสมผสานกัน ผู้อ่านแยกแยะได้เองว่าอันไหน ความจริง ไหนคือจินตนาการ”

ความน่าสนใจของเรืองชุดนี้ (บ้านเกิด-มหาสมุทรสุดลึกล้นฯ) นอกเหนือจากเป็นนวนิยายที่สะท้อนชีวิตของคนไทยและภาพการเมืองไทยมาจนถึงปัจจุบัน ก็คือ สไตล์การเขียนที่ ตัวผู้เขียนเองได้เติบโต ผ่านวันเวลา ไปพร้อมกับตัวละครในเรื่อง ตั้งแต่ สิทธา ใน “บ้านเกิด” ที่อายุ สามสิบเศษ จนกระทั่ง อายุ แปดสิบห้าปี ใน “มหาสมุทรสุดลึกล้นฯ” และผู้เขียนก็ใช้เวลาในการเขียนสองเรื่องนี้ ห่างกันถึงห้าสิบปีเศษเช่นเดียวกัน

เท่าที่ผมเคยเห็นจากงานเขียนนวนิยายของไทย นอกจากเรื่องนี้แล้ว ก็ยัง มีของนักเขียน ม.มธุการ และ ‘อรนุช’ ที่เคยใช้สไตล์การเขียนแบนดังกล่าวด้วย

สำหรับ คุณ ม.มธุการี ท่านได้สร้างตัวละคร หมอมัตสริน นางเอกของเรื่องในวัยสี่สิบเศษ ให้โลดแล่นในนวนิยาย ภาพลวงตา เมื่อครั้งเขียนลงเป็นตอนในนิตยสาร สกุลไทย ช่วงปี พ.ศ. 2532-2533 ก่อนที่จะเล่าเรื่องราวถัดจากนั้นในอีกสิบห้าปีต่อมา เมื่อหมอมัตสรินอายุห้าสิบปีเศษตามช่วงเวลาที่ผ่านไป ในนิยาย คู่สร้าง ที่ลงเป็นตอนในนิตยสาร หญิงไทย เมื่อปี 2546 ซึ่งผมคงจะนำมาเล่าถึงนิยายเรื่องนี้ในโอกาสต่อไปครับ

Don`t copy text!