สามภูมิ

สามภูมิ

โดย : หมอกมุงเมือง

Loading

บรรณาภิรมย์ โดย หมอกมุงเมือง คอลัมน์ที่อ่านเอาขอมอบความรื่นรมย์ให้กับผู้อ่านด้วยภาพปกสวยๆ และเนื้อเรื่องในแบบต่างๆ ของนักเขียนชั้ครูที่เคยผ่านมือ ผ่านตาและผ่านใจ เพื่อให้ทุกคนได้ร่วมรำลึกถึงผลงานของนักเขียนแต่ละท่านให้พอหายคิดถึงแม้เวลาจะผ่านไปแล้วเนิ่นนาน ภาพและตัวอักษรจะปรากฏให้เห็นอีกครั้งในยุคของการอ่านออนไลน์

****************************

พันตำรวจตรีประชา พูนวิวัฒน์ นายตำรวจนักเขียน เจ้าของนามปากกา แว่นดำ ศกุนตชาติ รวมถึงชื่อจริงของท่านที่นำมาใช้เป็นนามปากกา และสร้างชื่อเสียงผลงาน จนเป็นที่กล่าวขานร่ำลือกันอย่างมากในยุคหนึ่ง ถึงขนาดที่ท่านได้รับฉายาว่า นักประพันธ์บรรทัดละแปดบาท (ในเวลานั้น) เลยทีเดียว

พ.ต.ต.ประชา พูนวิวัฒน์

สำหรับประวัตินั้น พันตำรวจตรีประชา เดิมท่านมีชื่อว่า ประชาธิปัตย์ ก่อนจะเปลี่ยนมาเป็น ประชา ในภายหลัง ท่านเกิดเมื่อวันที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2469 ที่กรุงเทพมหานคร หลังจากเรียนจบมัธยมที่โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย ก็ได้เข้าโรงเรียนเตรียมทหาร โรงเรียนนายร้อยตำรวจสามพราน รุ่นที่ 2 และ ได้ไปศึกษาต่อยังโรงเรียนกรมตำรวจนครบาล อิตาลี แขนงวิชาการรบแบบกองโจร ตามลำดับ

จากนั้นจึงเข้ารับราชการตำรวจตั้งแต่จบการศึกษา ขณะรับราชการเคยปฏิบัติงานดีเด่น จนได้รับแหวนอัศวินชมเชย จากอธิบดีกรมตำรวจ ในปี พ.ศ. 2500 ซึ่งแสดงถึงประวัติการทำงานและประสบการณ์ในหน้าที่นายตำรวจ มาอย่างโชกโชน

ในส่วน ผลงานเขียนของท่านนั้น มีจำนวนมากมาย พ.ต.ต. ประชา ได้เริ่มเขียนหนังสือ เมื่อประมาณ พ.ศ. 2504 เริ่มต้นด้วยเรื่องสั้น ‘นักเลง’ ในนามปากกาศกุนตชาติ และเริ่มเขียนนวนิยายขนาดยาวจากประสบการณ์การลี้ภัยที่เคยเผชิญมา นำลงใน นิตยสาร เดลิเมล์วันจันทร์ ในชื่อ ‘ก็ผมไม่มีทางเลือกนี่ครับ’ ซึ่งประสบผลสำเร็จเป็นอย่างสูง และจากนั้นก็มีนิยายเรื่องอื่นๆตามมาอีกจำนวนมาก ที่บรรดานักอ่านส่วนใหญ่จะคุ้นชื่อกันดี น่าจะเป็นนวนิยายอิงประวัติศาสตร์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ในชื่อ ‘มหาราชโสด’ นอกจากนี้ผลงานเรื่องอื่นๆ ของท่านก็ล้วนแต่มีสไตล์การเขียนและสไตล์ในการตั้งชื่อเรื่อง ได้อย่างโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว เช่น ผมไม่อยากเป็นพันโท ทนอีกนิดเถอะน่า เข็ดจริงๆ ให้ดิ้นตาย หัวใจมีตีน ยาหยีสะอื้น สะดือปีกเพชร กระจั๊วหัวงู อุ๊ยสยิว เป็นต้น นอกจากนี้ ยังมีผลงานการแสดงภาพยนตร์เพลง ในปี พ.ศ. 2515 เรื่อง ระเริงชล อีกด้วย

สามนักเขียนในวัยหนุ่ม

ประวัติชีวิตของ พันตำรวจตรีประชา พูนวิวัฒน์ นั้น ล้วนมีเรื่องราวอันโลดโผน เต็มเปี่ยมไปด้วยสีสันแห่งชีวิต ทั้งการเมือง การรบ การต่อสู้ การลี้ภัย ซึ่งจากประสบการณ์ชีวิตอันเคี่ยวกรำและเข้มข้นเหล่านี้นั่นเอง ทำให้งานเขียนของท่านมากไปด้วยข้อมูลอันสมจริงและความสนุกสนานเริงรมย์ด้วยสไตล์การเขียนและสำนวนภาษาเฉพาะตัว ไม่ว่าจะเป็นพลอตเรื่องแนวอิงประวัติศาสตร์ แนวบู๊ การเมือง นักสืบ หรือแม้แต่ในแนวกามารมณ์ก็ตาม ซึ่งในจำนวนเรื่องทั้งหมดที่เขียน และท่านพอใจมากที่สุดก็คือนวนิยายเรื่อง ‘ผมไม่อยากเป็นพันโท’

เรื่อง : สามภูมิ

ผู้ขียน : พ.ต.ต. ประชา พูนวิวัฒน์

สำนักพิมพ์ : บันดาลสาส์น

ปีที่พิมพ์ : 2520

เล่มเดียวจบ

สำหรับ สามภูมิ เป็นนวนิยายขนาดสั้น จำนวน 18 บท ประกอบด้วย ภาค ‘สามภูมิ’ และ ‘กายทิพย์’ ที่เป็นเรื่องต่อเนื่องกัน นิยายแนวลึกลับเรื่องนี้ได้นำ หลักพระอภิธรรมในพุทธศาสนา ความเชื่อเรื่องบาปบุญคุณโทษและทัศนคติของชาวพุทธ มาสอดแทรก ผ่านเหตุการณ์ของเรื่องได้อย่างน่าสนใจ โดยเริ่มต้นจากคำบอกเล่าของตัวละคร ‘ผม’ หรือ จ่าสิงห์โต ที่กำลังออกปราบปรามผู้ร้ายร่วมกับผู้หมวดหนุ่มยุทธนา แห่งท้องที่อำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี

เมื่อไอ้เสือย้อย โจรร้ายได้ออกปล้นฆ่าคนในท้องที่ รวมถึงยิงจ่าทองสุข สหายของเขาเสียชีวิต ทั้งคู่จึงออกตามล่าตัวอย่างไม่ลดละ และบัดนี้ไอ้เสือย้อยก็มาจนมุมอยู่ในยุ้งข้าวกลางป่าละเมาะแห่งหนึ่ง มันถูกยิงบาดเจ็บ โดยที่ตำรวจทั้งคู่ไม่รู้ว่าเสือย้อยได้พาเมียรักของมันมาหลบซ่อนด้วยกัน ดังนั้น เมื่อหมวดยุทธนาและจ่าสิงห์โตได้บุกเข้าไปยิงกระหน่ำ กระสุนจึงพลาดไปโดนเมียเสือย้อย และยิ่งทำให้มันโกรธหนัก จนบุกตะลุยออกมาหาทั้งคู่อย่างบ้าดีเดือด

แม้จะถูกสกัดด้วยบาเร็ตต้าของหมวดยุทธนาไปแล้ว แต่ก่อนเสียชีวิตมันก็ยังยิงลูกซองนัดสุดท้ายออกมา และกระสุนนัดนั้นนั่นเอง ก็พุ่งเข้าสู่กะโหลกของจ่าสิงห์โตอย่างแม่นยำเหมือนจับวาง จนล้มคว่ำลง เสียชีวิตทันที!

ในช่วงเวลานั้นเอง ที่จ่าหนุ่มซึ่งไม่รู้ตัว ได้สำรวมจิตใจเพื่อสร้างสมาธิจิต ความรู้สึกขณะนั้น เหมือนตนเองตกอยู่ในห้วงภวังค์ แล้วเกิดอาการปลอดโปร่งสิ้นทรมานเป็นปลิดทิ้ง

ต่อจากนั้นตัวเองก็หลุดออกจากสิ่งหุ้มห่อ และร่างกายแข็งแรงกว่าเดิมมากมาย เมื่อก้มลงมองก็เห็นผิวพรรณเป็นประกายแวววาวคล้ายอัญมณี ล้ำค่า กำลังก้าวขาลงจากเตียง ซึ่งมนุษย์คนหนึ่งนอนนิ่งไม่ไหวติง

และนั่นก็คือตัวของเขาเอง ที่นอนปราศจากชีวิตอยู่ในโรงพยาบาล!

ก่อนที่แพทย์และพยาบาลจะตัดสินใจถอดเครื่องช่วยหายใจทั้งหมดออกจากร่าง และก่อนที่แม่จะพาร่างของเขากลับมาเพื่อประกอบพิธีศพที่วัด สิงห์โตก็กลับฟื้นคืนชีวิตขึ้นมาได้อย่างน่าอัศจรรย์ ตามคำบอกเล่าของพระครูแสวง ไม่มีใครรู้ว่าในระหว่างกายทิพย์ของเขาล่องลอยอยู่ภายนอกร่าง สิงห์โตมีโอกาสได้พบกับยมทูต และเดินทางติดตามดวงวิญญาณของสหายทองสุขรวมถึงบรรดาคนอื่นๆ ที่เสียชีวิตไปแล้วลงไปยังดินแดนนรกภุมิ และได้เห็นการลงโทษของผู้ทำผิดบาปในนรก ก่อนที่เขาจะได้มีโอกาสกลับขึ้นมายังมนุษย์ภูมิอีกครั้ง

เมื่อฟื้นคืนชีวิตขึ้นมาใหม่ พ่อกับแม่ ก็ต้องการให้เขาบวชเพื่อเป็นการสะเดาะเคราะห์ไปในตัว สิงห์โตเอง อยากจะบวชกับหลวงตาแสวง ผู้ที่เขาพบในสภาพกายทิพย์ และรับรู้ถึงพลังบารมี ความเมตตาของพระนักปฏิบัติอย่างแท้จริง ทว่าท่านก็ออกธุดงค์ไปเสียก่อนแล้ว แต่พระที่เขาได้พบไม่ว่าจะเป็นวัดที่บ้าน หรือแม้แต่ท่านเจ้าคุณ พระผู้ใหญ่ที่แม่ของเขานำไปฝากฝังเพื่อให้เป็นอุปปัชฌาย์ที่วัดในกรุงเทพฯ ก็ทำให้สิงห์โตมองเห็นว่าพระบางรูปเหล่านี้ล้วนติดยึดอยู่ในลาภ ยศ สรรเสริญ และใช้กลอุบาย ในการสร้างความศรัทธากับเหล่าคนที่มาขอพึ่งบุญ จนเขาเองเกิดความเสื่อมศรัทธา เมื่อได้มองทะลุเปลือกนอกเหล่านั้นเข้าไปเห็น

หลังจากรดน้ำมนต์แล้ว หน้าตาของทุกคนก็ดูแจ่มใสกว่าเดิม แต่สิ่งที่ได้ผลทันตาเห็นก็คือธนบัตรไทยเป็นจำนวนมาก ย้ายจากกระเป๋าของอุบาสกอุบาสิกา ไปอยู่ในย่ามใบใหญ่ของท่านเจ้าคุณ

มิน่าล่ะ ผมคิด กุฎิของท่านจึงหรูหราและสุขสบายเหมือนคฤหาสน์ของเศรษฐีทีเดียว ซึ่งองค์พระสมณะโคดมเจ้า มิได้สั่งสอนให้สาวกของท่านปฏิบัติตนเยี่ยงนี้เลย

และท้ายที่สุดด้วยความห้าวและตรงไปตรงมา ของ จ่าสิงห์โต ทำ ให้ มีเรื่องกับ ‘ท่านเจ้าคุณ’ เมื่อเขาตัดสินใจถามท่านตรงๆ ออกไป

 “ตอนที่ขอบวชท่านกล่าวคำนี้หรือเปล่า นิพานัสสะ สัจฉิกิริยะ เอตัง กาสาวังเหตวา”

“ก็ต้องกล่าวด้วยกันทุกคนนั่นแหละ ท่องจำได้หมดแล้วเรอะนี่”

“ครับ ท่านแปลความหมายได้มั้ย”

“แปลว่า เราขอรับผ้ากาสาวพัสตร์เพื่อจะทำให้แจ้งซึ่งพระนิพพาน”

ผมชี้นิ้วกราดไปทั่วห้อง

“แล้วทำไมท่านจึงบวชเพื่อสะสมทรัพย์สมบัติเหล่านี้ล่ะ”

สีหน้าเจ้าคุณใหญ่ชักจะไม่ค่อยดี

“ภิกษุใดหากไม่ปฏิบัติตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าแล้วไซร้ ก็ไม่สมควรบวชให้เสียผ้าเหลือง”

เจ้าคุณเต้นผาง

“ไปให้พ้นกุฎิกูเดี๋ยวนี้นะ”

ในที่สุดสิงห์โตก็ได้กลับมาที่บ้านเมืองสุพรรณอีกครั้ง และน่าประหลาดที่คราวนี้ เขาได้มีโอกาสพบกับหลวงตาแสวง ที่กลับจากธุดงค์ผ่านการสื่อสารทางจิต จนกระทั่งได้บวชในที่สุด

การบวชในครั้งนี้ และออกธุดงค์ปฏิบัติกรรมฐานนั่นเอง ที่ทำให้จ่าหนุ่มวัยห้าว ได้มีโอกาส ถอดกายทิพย์ออก แล้วเดินทางท่องไปทั้งสามภูมิ ไม่ว่าจะเป็นนรก สวรรค์ และชั้นพรหม รวมถึงได้พบกับคู่ครองในอดีตชาติของตนที่ถือกำเนิดขึ้นในสรวงสวรรค์ นั้นอีกด้วย

และด้วยประสบการณ์การปฏิบัติธรรมเหล่านั้นเอง ทำให้พระสิงห์โตได้จดบันทึกเรื่องราวของตนเองกับสิ่งมหัศจรรย์ต่างๆ ที่ได้พบลงในสมุดบันทึกของตน อันมีชื่อว่าสามภูมิ

เมื่อเหล่ากินรีพากันจากไปหมดแล้ว ผมก็ทรงสมาธิเข้าวิปัสสนาญาณเต็มที่คือ ตั้งอารมณ์ว่าธรรมใดที่พระพุทธเจ้าทรงเห็นแล้วก็ต้องการที่จะเห็นธรรมนั้น สำหรับเรื่องสถานที่อยู่บนสวรรค์วิมานชั้นไหน ผมไม่ปรารถนาทั้งสิ้นเพียงแต่ขอให้เห็นประจักษ์แก่ตา เพื่อจะได้จดบันทึกไว้ให้อนุชนรุ่นหลังศึกษากันเท่านั้น

คิดเพียงแค่นี้ ทิพยจักขุญาณก็แลเห็นพระพรหมเสด็จลงมาจากสวรรค์… พระวรกายของท่านเปล่งรังสีสว่าง และพระพักตร์ก็งดงามกว่าเทวดาทั้งหลายทั้งปวงที่เคยเห็นมา…

พระภิกษุ สิงห์โตได้เดินทางท่องไปยังสถานที่ต่างๆ และท้ายที่สุด เมื่อท่านได้เขียนบันทึก สามภูมิเสร็จสิ้นลง ก็ได้ห่อใส่ผ้าสังฆาฏิแล้วนำไปไว้ในซอกหินในถ้ำ ตามคำสั่งของพระครูแสวง พระอาจารย์ของท่านที่เดินทางล่วงไปก่อนหน้านั้นแล้ว

และภายหลังจากนั้น ‘กระผม’ ซึ่งเป็นผู้ที่ได้รับสมุดบันทึกเล่มนั้น มาจากชาวบ้านในภาคเหนือของประเทศ ได้ค้นพบหนังสือสามภูมิ ก่อนจะส่งต่อมาถึงมือของกระผม และนำมาเผยแพร่ต่อ รวมถึงได้พบร่างของพระภิกษุสิงห์โต ซึ่งท่านได้มรณภาพไปแล้ว ในสภาพของการนั่งขัดสมาธิเพชร โดยร่างกายก็มิได้เน่าเปื่อยแม้แต่น้อย

ประโยคสุดท้ายของเรื่อง สามภูมิ จบลง เมื่อสมุดบันทึกที่ได้รับการถ่ายทอด จาก ‘กระผม’ เรียบร้อยแล้ว และนำไปวางไว้เหนือหิ้งพระ ก็ได้อันตรธานหายไปอย่างไร้ร่องรอย ในที่สุด ฤๅว่า มันได้ทำหน้าที่ของมันเสร็จสิ้นโดยสมบูรณ์แล้วตามเจตนารมณ์ ของพระสิงห์โต ผู้บันทึกสมุด ‘สามภูมิ’ เล่มนั้น!

Don`t copy text!