บานไม่รู้โรย

บานไม่รู้โรย

โดย : หมอกมุงเมือง

Loading

บรรณาภิรมย์ โดย หมอกมุงเมือง คอลัมน์ที่อ่านเอาขอมอบความรื่นรมย์ให้กับผู้อ่านด้วยภาพปกสวยๆ และเนื้อเรื่องในแบบต่างๆ ของนักเขียนชั้นครูที่เคยผ่านมือ ผ่านตาและผ่านใจ เพื่อให้ทุกคนได้ร่วมรำลึกถึงผลงานของนักเขียนแต่ละท่านให้พอหายคิดถึงแม้เวลาจะผ่านไปแล้วเนิ่นนาน ภาพและตัวอักษรจะปรากฏให้เห็นอีกครั้งในยุคของการอ่านออนไลน์

****************************

สนับสนุนอ่านเอาด้วยการสั่งซื้อหนังสือ “ในสวนอักษร” คลิกที่นี่

หลายคนล้วนเคยมีภาพความทรงจำที่สวยงามและแสนบริสุทธิ์ในวัยเยาว์ และภาพความทรงจำเหล่านั้นก็เป็นความประทับใจของ ปินดา โพสยะ ที่ได้นำมาถ่ายทอดด้วยสำนวนภาษาที่บริสุทธิ์ สะอาด เป็นเรื่องราวชีวิตของเด็กน้อย ฟ้ากับด้วง และครอบครัวอันอบอุ่นของเขา ในนวนิยายอารมณ์ดีขนาดสั้นๆ และงดงาม เรื่องนี้… บานไม่รู้โรย

ประภาส ชลศรานนท์ ศิลปินแห่งชาติ ประจำปี พ.ศ. 2561 สาขาศิลปะการแสดง ประเภทดนตรีสากลและนาฏศิลป์สากล (ผู้สร้างสรรค์งานบันเทิงและดนตรีไทยสากล) นักคิด นักเขียน นักแต่งเพลง ท่านได้กล่าวถึงผู้เขียนเรื่องนี้เอาไว้ว่า

ปินดาเป็นคนเอ็นดูชีวิต เขาเป็นคนอย่างนั้นจริงๆ เพราะเหตุนี้ทำให้เขามีเพื่อนมาก เขาชอบคบคนเพื่อจะได้เอ็นดูชีวิตต่างๆ แบบออกไป ที่ผมว่าปินดาเอ็นดูชีวิตนั้น ก็เพราะไม่ว่าจะมองความล้มเหลว ความสมหวัง ปมเด่นปมด้อย มารยาทหรือสันดานของใครก็ตาม เขาจะมาเล่ากับผมอย่างเอ็นดู แม้โกรธก็โกรธอย่างเอ็นดู และผมก็เชื่อว่าหนังสือที่เขาเขียนนั้นก็เอามาจากชีวิตที่เขาเห็น ชีวิตที่เขาเอ็นดู…

และจากคำนำของ ‘ปินดา โพสยะ’ เองก็ได้บอกเล่าไว้ว่า บานไม่รู้โรย นี้ นำมาจากเรื่องราวชีวิตจริงของผู้เขียนผสมกับเรื่องราวที่เกิดขึ้นกับชีวิตจริงของผู้อื่น ซึ่งมีคุณค่ากับความทรงจำและความประทับใจของผู้เขียนและครอบครัวเป็นอย่างมาก

บานไม่รู้โรย บอกเล่าเรื่องราวชีวิตในวัยเยาว์ของ ครอบครัว ‘พ่อกับแม่’ เนื่องจากพ่อที่เป็นข้าราชการจำเป็นต้องโยกย้ายไปยังที่ต่างๆ และครั้งนี้ พ่อก็ได้นำพาลูกๆ ซึ่งประกอบด้วยฟ้าและด้วงน้องชาย เดินทางจากกำแพงเพชรไปอยู่ยังศรีสะเกษ ที่นั่นเอง ชีวิตของฟ้ากับด้วงต้องเจอกับประสบการณ์ชีวิตในด้านต่างๆ มากมาย ซึ่งผู้เขียนได้บอกเล่าเรื่องราวในแต่ละเหตุการณ์ต่างๆ เป็นตอนสั้นๆ ที่อ่านจบในแต่ละตอน

ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของพี่เลี้ยงเด็กคนใหม่อย่างนุชที่คิดถึงบ้าน จนชอบหนีกลับบ้านเป็นประจำ แต่ทว่านุชก็ไม่เคยหนีกลับไปถูกซะที เนื่องจากหลงอยู่ตรงถนนสี่แยกหน้าบ้าน จนพ่อสามารถตามนุชกลับมาได้ถูกทุกครั้ง หรือเรื่องราวของเจ้าทอง นกขุนทองตัวแสบ ที่เกือบทำให้ครอบครัวของป้าละมุนกับสามีต้องทะเลาะกัน ด้วยความหึงหวงเพราะเข้าใจผิด เนื่องจากมันดันท่องชื่อ “ประชามาบ๊อยบ่อย” จนติดปากอยู่เสมอๆ ทั้งที่ คุณประชาซึ่งไม่ได้รู้อิโหน่อิเหน่อะไรเลย แค่แวะมาทำธุระที่บ้านของป้าละมุนและชอบไปเล่นกับเจ้าขุนทองเท่านั้นเอง

บานไม่รู้โรย ยังสะท้อนภาพชีวิตเด็กๆ ยุคก่อน ในเมืองเล็กๆ แห่งนั้นได้อย่างเห็นภาพ ไม่ว่าจะเป็นภาพงานวัดที่มีลิเกมาเล่น ปินดาระบายภาพของเรื่องราวเหตุการณ์ได้อย่างแจ่มชัด ทำให้หวนนึกไปถึงภาพชีวิตที่ผมเคยเจอมาในตอนเด็กๆ อย่าง

 มีขนมหน้าตาแปลกๆให้ได้ซื้อกัน อย่างขนมสายไหมที่เป็นสายสีสวยๆ พันกันอยู่รอบแกนไม้เล็กๆ ที่พอเอาลิ้นไปแตะมันก็จะฝ่อแฟบตัวลง ให้ได้รสหวานเจี๊ยบอย่างที่เด็กๆ ชอบ เราชอบไปยืนดูเขาขาย ถึงจะไม่ได้ซื้อกิน แต่ก็สนุกกับการได้ดู เพราะมันจะมีเครื่องที่ดังตึงๆ อยู่ตลอดเวลา ผลิตเส้นใยนี่ออกมา กะละมังสังกะสีที่ติดกับเครื่องมันจะหมุนไปรอบๆ ไม่ใช่ซี่… กะละมังน่ะไม่หมุนหรอก ตัวเครื่องที่อยู่ตรงกลางต่างหากที่หมุน พอเอาไม้ไปหนุนๆ ให้สายไหมพันไปมาสักเดี๋ยว ก็หยิบขึ้นมาส่งให้เด็กๆ ที่ยืนชะเง้อมองอยู่ได้แล้ว ก็รับเหรียญสลึงไปหนึ่งเหรียญ

หรืออย่าง ‘น้ำแข็งกด’ ที่เดี๋ยวนี้ ผมเองก็ไม่แน่ใจว่า ยังมีขายอยู่บ้างหรือไม่ แต่เมื่อก่อนตอนเด็กๆ ก็เคยทานด้วยความประทับใจ นับเป็นไอศกรีมหวานเย็นแบบไทยๆ ที่เดี๋ยวนี้ก็ไม่เคยเห็นอีกเลย

“เอาน้ำแข็งฝอยละเอียดยิบมาอัดใส่ลงในถ้วยพลาสติกให้มันได้รูปอย่างนั้น เอาไม้แบบที่เสียบลูกชิ้นเสียบเอาไว้เป็นแกนถือได้ แล้วพอจะขาย ก็เอาถ้วยพลาสติกออกแล้วถามจะเอาสีอะไร เอาน้ำหวานราดลงไปในน้ำแข็งนั้นให้น้ำหวานมันซึมอยู่ในน้ำแข็ง แล้วเราก็จะดูดจากมันดังซี้ดซ้าด ทั้งหวานทั้งเย็นอร่อยไป”

ชีวิตเด็กน้อยในวัยเยาว์คือความทรงจำอันแสนบริสุทธิ์ พ่อซึ่งในอดีตเคยเป็นครู และในสมัยแรกๆ นั้นพ่อยังต้องสอนหนังสือหลายห้องพร้อมกันยังโรงเรียนห่างไกลในชนบท

“เวลาพ่อไปสอนหนังสือ พ่อจะขี่ม้าแกลบตัวเตี้ยๆ ไป มันเป็นม้าของญาติพ่อที่พ่อไปอาศัยอยู่ พ่อจึงเป็นครูที่โก้มาก ขี่ม้าไปสอนหนังสือ และสวมหมวกกะโล่”

ในขณะที่แม่เองก็เป็นพยาบาล และย้ายติดตามพ่อไปพร้อมกันทั้งพ่อแม่ลูกตลอด มีเพียงแค่บางครั้งเท่านั้นที่แม่ต้องไปอบรมที่กรุงเทพฯ และพาลูกๆ ไปเที่ยว ทำให้ด้วงกับฟ้าได้เห็นโลกอีกด้านหนึ่งที่แตกต่างไปจากที่เดิมที่เคยอยู่

และชีวิตของเด็กน้อยที่เติบโตมาท่ามกลางความอบอุ่น ก็ถึงคราวที่จะต้องเข้าโรงเรียน ทั้งฟ้าและด้วงถูกส่งไปเข้าเรียนยังโรงเรียนประจำ และรู้จักกับเพื่อนใหม่ๆ คุณครูแต่ละคน ที่คอยดูแล เอาใจใส่แตกต่างกันไป ทั้งครูมาลัย ครูติ๋ว และเรื่องราวต่างๆ ที่เกิดขึ้นภายในโรงเรียนประจำแห่งนั้น

ในจำนวนสิบห้าบทของ บานไม่รู้โรย ดำเนินผ่านเรื่องราวเรียบง่าย ประทับใจ เหมือนทอดมองสายน้ำที่ไหลรินผ่านเส้นทางเกาะแก่งน้อยใหญ่ อันเป็นประสบการณ์ชีวิตของเด็กทั้งสอง ซึ่งมีทั้งเสียงหัวเราะและน้ำตา อย่างที่ผู้เขียนได้กล่าวไว้ในตอนท้ายเรื่องว่า

กลิ่นอายและบรรยากาศต่างๆ ได้แทรกอยู่ในตัวเราทั้งสองโดยไม่รู้ตัว แม้บางครั้งจะเลือนๆ ไปบ้าง แต่ก็เคยฉายวาบขึ้นมาเวลานึกถึง เมื่อได้โตขึ้นภายหลัง อย่างกลิ่นโรงไม้ใต้ถุนบ้านที่ด้วงจำได้มาจนถึงบัดนี้ ไม่มีที่ใดมีกลิ่นอย่างนี้อีกแล้ว

รถไฟบ่ายหน้าไปสู่จุดหมายปลายทาง เสาไฟที่ผ่านไปแล้วผ่านไปเลยไม่กลับมาให้ได้เห็นอีก เหมือนกับชีวิตเก่าๆ นั่นเลยทีเดียว เพียงแต่มันได้ประทับไว้ในความทรงจำไม่มีวันโรยรา

เหมือนดอกไม้ที่บานอยู่ ไม่รู้วันโรยตลอดไป!

เรื่อง : บานไม่รู้โรย

ผู้เขียน : ปินดา โพสยะ

สำนักพิมพ์ : อารมณ์ดี

ปีที่พิมพ์ : 2536 (พิมพ์ครั้งที่ 4)

เล่มเดียวจบ

 

นอกจาก บานไม่รู้โรย แล้ว ปินดา โพสยะ หรือที่หลายท่านรู้จักกันดีว่าเป็นนามปากกาของ คุณวัชระ แวววุฒินันท์ ซึ่งมีผลงานเขียนเรื่องอื่นๆ อีกมากมาย โดยเฉพาะรวมเรื่องสั้นชุด ‘ว้าวุ่น’ ซึ่งเป็นการนำเรื่องราวชีวิต หลากรสชาติ ของผองเพื่อนๆ สถาปัตย์จุฬาฯ ไม่ว่าจะเป็น “ประภาส ชลศรานนท์ – นิติพงษ์ ห่อนาค – วัชระ ปานเอี่ยม – ศรัณยู วงษ์กระจ่าง” และท่านอื่นๆ มาเขียนเป็นเรื่องราวสนุกๆ อ่านเพลิน และเป็นการเปิดตัวนามปากกา ปินดา โพสยะ ขึ้นเป็นครั้งแรก นอกจากนี้ ก็ยังมีงานเขียนอื่นๆ อีกมากมาย เช่น กว่าจะถึง (ท่า)พระจันทร์ กาลครั้งหนึ่งนานมา หรือ กับแกล้มเอาไหน เป็นต้น

 

สำหรับประวัติคร่าวๆของผู้เขียน ผมขอนำมาประกอบ จากวิกิ ครับ

นามปากกา “ปินดา โพสยะ” หรือในชื่อจริงว่า วัชระ แวววุฒินันท์ ท่านเกิดเมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2503 เข้าศึกษาในคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แผนกสถาปัตย์เมื่อ พ.ศ. 2521 หลังจากนั้นได้ทำงานที่บริษัท เจ เอส แอล จำกัด ในตำแหน่งครีเอทีฟ ดูแลการผลิตรายการโทรทัศน์ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2524 และเป็นโปรดิวเซอร์ในปีต่อมา มีผลงานที่เป็นที่ติดตาตรึงใจผู้คนทั้งในและต่างประเทศมาแล้วจากพิธีเปิด-ปิด การแข่งขันกีฬาเอเชียนเกมส์ ครั้งที่ 13 ที่กรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2541 และงานควบคุมการผลิตงานแปรอักษร กีฬาซีเกมส์ ครั้งที่ 20 ที่ประเทศบรูไน ปัจจุบันดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ บริษัท เจ เอส แอล โกลบอล มีเดีย จำกัด

Don`t copy text!