นางครวญ

นางครวญ

โดย : หมอกมุงเมือง

Loading

บรรณาภิรมย์ โดย หมอกมุงเมือง คอลัมน์ที่อ่านเอาขอมอบความรื่นรมย์ให้กับผู้อ่านด้วยภาพปกสวยๆ และเนื้อเรื่องในแบบต่างๆ ของนักเขียนชั้นครูที่เคยผ่านมือ ผ่านตาและผ่านใจ เพื่อให้ทุกคนได้ร่วมรำลึกถึงผลงานของนักเขียนแต่ละท่านให้พอหายคิดถึงแม้เวลาจะผ่านไปแล้วเนิ่นนาน ภาพและตัวอักษรจะปรากฏให้เห็นอีกครั้งในยุคของการอ่านออนไลน์

 ดวงเดือน รัตนนาวิน เป็นนักเขียนนวนิยายในยุคสิ่งพิมพ์ช่วงปี พ.ศ. 2470 ที่มีสำนักพิมพ์เพลินจิตต์ ของเวช กระตุฤกษ์ ก่อตั้งขึ้น นักเขียนในยุคนั้น ได้แก่ ส.บุญเสนอ อาษา ส.เทพกุญชร ลพบุรี อ.มนัสวีร์ ป.อินทรปาลิต อ.ร.ด. เวทางค์ หรืออรวรรณ เป็นต้น

จากข้อมูลในหนังสือ เพื่อนพ้องแห่งวันวาร ของสุชาติ สวัสดิ์ศรี ให้ข้อมูลว่า ดวงเดือน รัตนนาวิน เป็นนามปากกา ของหนู ยืนยง (พ.ศ.2450-2506) มีนามปากกาอื่นที่ใช้อีกได้แก่ ส.เทพโยธิน สาโรช เทพโยธิน สุจินตนา และ สุพัตรา เป็นต้น

ท่านเป็นนักเขียน ‘นิยายสิบสตางค์’ ของคณะเพลินจิตต์ ผลงานเป็นแนวรักโศก และนอกจากนี้ยังมีงานประจำอยู่กับหนังสือพิมพ์หลายฉบับ เช่น วันดี รายวัน สหภาพ ชาวไทย รายวัน และนามปากกาที่มักใช้ควบคู่กันกันเสมอกับสุพัตรา คือ ส.เทพโยธิน

สุพัตรา หรือ ดวงเดือน รัตนนาวิน

สำหรับผลงานเรื่อง นางครวญ เรื่องนี้ จัดเป็นนิยายแนวรักโศกรันทด สมกับชื่อเรื่อง แม้ว่าจะเป็นนิยายขนาดสั้นเพียงไม่กี่หน้าก็ตาม

ชีวิตของนิรมล วิชาฉาน ต้องมีอันเปลี่ยนแปลงไปตลอดกาล เมื่อสิ้นบุญมารดาคือนางนวล เหลือเพียงบิดาคือนายแม้น ที่แม้จะเป็นเสาหลักของครอบครัว แต่เขาก็ไม่อาจหนีโลกียวิสัยได้พ้น เมื่อได้พบกับนางช้อย ที่มีกิริยามารยาทงดงาม เขาก็คิดว่าตนเองเลือกถูกที่จะให้นางช้อยมาใช้ชีวิตร่วมกับตน และเป็นแม่เลี้ยงให้กับนิรมล

แต่กว่าจะรู้ว่านั่นเป็นเพียงฉากหน้าที่นางช้อยแสดงออก ทุกอย่างก็สายเกินไปเสียแล้ว นางช้อยเกลียดชังลูกเลี้ยง แต่เสแสร้งแสดงว่ารักนิรมลต่อหน้านายแม้น และทำให้นายแม้นเกรงอกเกรงใจตน จนมอบหมายเงินทองทั้งหมดให้นางเป็นคนดูแล

นิรมล ต้องการเรียนต่อ แต่แล้วนางช้อยก็ใช้อำนาจผูกขาดของตัวเอง ปฏิเสธอย่างไม่ไยดี ส่วนบิดาที่เคยเป็นที่พึ่งพา ก็ไม่มีปากเสียงใดๆ เพียงแค่จะเอ่ยปากแย้ง ก็กลายเป็นก่อการปะทะทะเลาะเบาะแว้งอย่างรุนแรง จนทำให้เด็กสาวผู้อาภัพมองไม่เห็นหนทางออก ความเศร้าเสียใจนี้เองทำให้นิรมลตัดสินใจครั้งสำคัญในชีวิต

หล่อนจะหนีออกจากบ้าน เพื่อไปตายเอาดาบหน้า!

นิรมลทิ้งจดหมายบอกบิดาเอาไว้ แล้วไปหาห้องเช่าแถวหัวลำโพงอยู่เพียงคนเดียว ตั้งใจว่าจะทำขนมขายเลี้ยงชีวิต หรือไม่ก็ทำงานในโรงงาน และที่ห้องเช่าแห่งนั้นเอง หล่อนมีโอกาสได้รู้จักกับเพื่อนบ้านหนุ่มท่าทางสุภาพและอ่อนโยน ซึ่งมีนามว่าเชื้อ

ความเป็นสุภาพบุรุษ และด้วยมิตรภาพของเชื้อนั่นเอง ที่ทำให้นิรมลไว้วางใจ จนคบหาเป็นเพื่อนบ้านกัน วันเวลาที่ผ่านไป ทำให้เขาและเธอยิ่งสนิทสนมกันมากขึ้นทุกที และในที่สุดนิรมลก็ยอมรับไมตรีจากเขา เมื่อเชื้อบอกว่าเขารักเธอ และต่อมา เชื้อก็ขอเธอแต่งงาน…

ชีวิตแต่งงานของนิรมลกับเชื้อเป็นไปอย่างมีความสุข บัดนี้หล่อนไม่ต้องไปทำงานโรงงานอีกต่อไป ส่วนเชื้อก็เป็นคนทำงานผู้เดียวหารายได้ และมอบเงินทุกบาททุกสตางค์ให้กับเธอผู้เป็นยอดชีวิตของเขา แม้ว่าบางครั้งนิรมลจะเห็นว่าเชื้อใช้จ่ายเงินอย่างฟุ่มเฟือยบ้าง แต่ก็ไม่อดใจสงสัยว่าเขาหาเงินมาจากไหน

ทุกอย่างเป็นเพราะความรัก ที่ทำให้หล่อนไม่ติดใจสงสัยใดๆทั้งสิ้น

อันความสุขในตอนนี้ เป็นความสุขอันเลิศล้น นิรมลคิดว่าในชีวิตของหล่อนมีสุขอย่างความเป็นอยู่ในขณะนี้ หล่อนก็พอใจแล้ว ไม่จำเป็นต้องหาความสุขให้มากมายก่ายกองอย่างไรต่อไปอีก

แต่ว่าความเป็นไปของคนเรานั้น ดูเหมือนจะหาความแน่นอนได้ยาก เพราะฉะนั้น เหตุการณ์ในชีวิตของคนเราจึงเปลี่ยนแปลงไปได้ ไม่ค่อยจะยุติคงที่เหมือนกับความตั้งใจไว้แต่แรก…

เรื่อง : นางครวญ

ผู้เขียน : ดวงเดือน รัตนนาวิน

สำนักพิมพ์ : เขษมบรรณกิจ

ปีที่พิมพ์ : 2492

เล่มเดียวจบ

แต่แล้วในวันหนึ่ง เชื้อก็ไม่กลับมาบ้าน เขาหายไปทั้งคืน จนหล่อนเกิดความเป็นห่วง นิรมลตัดสินใจออกไปตามหาเขาที่ทำงานในเช้าวันรุ่งขึ้น หากเมื่อหล่อนไปถึงก็ยิ่งประหลาดใจ เมื่อเจ้านายของเขาบอกว่า เชื้อได้กลับจากที่ทำงานตั้งแต่เมื่อวานตอนเย็นแล้ว

เขาหายไปไหน?

ตราบจนเมื่อได้ย้อนกลับมาที่บ้านอีกครั้ง จึงได้พบเด็กน้อยคนหนึ่งมายืนรออยู่ พร้อมจดหมายจากเชื้อที่เขียนมาถึง นิรมลรีบแกะจดหมายเปิดอ่านด้วยความสงสัย ก่อนจะได้พบกับความจริงของสามีที่หล่อนเพิ่งรับรู้เป็นครั้งแรกในชีวิต…

เชื้อถูกบิดานำตัวกลับไปยังบ้านของตัวเอง!

“น้องที่รัก

พี่อยากจะเล่าความให้น้องที่รักของพี่ฟังว่า พี่คือลูกของนายบริรักษ์วัจนะ ผู้จัดการบริษัทรถยนต์ที่ทำอยู่ พี่หนีออกจากบ้านเพราะว่าพี่ถูกบังคับให้แต่งงานกับหญิงที่ไม่ได้รัก จนหลบมาเช่าห้องอยู่ แล้วก็ได้พบกับน้อง แต่ว่าพี่ก็ต้องรักคุณพ่อและต้องกลัวคุณพ่อ แล้วก็ต้องยอมกลับไปบ้านกับท่าน เพราะความจำใจอย่างที่สุด แต่พี่สัญญาว่าจะต้องกลับมาหาน้องให้จงได้…

เชื้อ”

นางครวญ หลังปก

นิรมลเฝ้ารอคอยจนเวลาผ่านไป ก็หาได้มีวี่แววของเชื้ออีกไม่ ความเข้าใจของหล่อนเริ่มปะติดปะต่อทุกอย่างเป็นรูปร่าง และความเป็นจริง จนนำไปสู่การพิสูจน์ความจริง

หล่อนเดินทางไปพบนายบริรักษ์วัจนะ ที่คฤหาสน์ของเขา เพื่อรับรู้ว่าบัดนี้เชื้อได้แต่งงานกับเจ้าสาวแสนสวยของเขาไปเรียบร้อยแล้ว นิรมลอ้อนวอนทั้งน้ำตา เพื่อขอพบหน้าสามีของตนเองอีกครั้ง แต่ก็ช้าเกินไป ในเวลานี้เชื้อและเจ้าสาวคนใหม่ของเขากำลังเดินทางไปดื่มน้ำผึ้งพระจันทร์ที่หัวหินกันอย่างสุขสดชื่น

ความสงสารทำให้นายบริรักษ์วัจนะมอบเงินให้กับเธอก้อนหนึ่ง และนิรมลเอ่ยปฏิเสธอย่างไม่ไยดี หล่อนจากคฤหาสน์หลังนั้นมาทั้งน้ำตา และความเจ็บปวดเต็มหัวใจ

นิรมลคืนห้องเช่าทุกอย่างอันเป็นอดีตของตนเองกับสามี เหลือเพียงกระเป๋าเดินทางเพียงใบเดียว ก่อนจะบ่ายโฉมหน้าไปยังวัดสระประทุมอันเป็นจุดหมายปลายทางสุดท้ายของชีวิตเธอ

ภายในร่มเงาชุดขาวของแม่ชีนิรมล อันเป็นหนทางสุดท้ายในชีวิต!

++++++++++++++++++++++++

นางครวญ จึงเป็นนวนิยายรักโศกขนาดสั้น ที่เขียนขึ้นในพลอตที่แพร่หลายกันทั่วไปในยุคนั้น เนื้อเรื่องที่สะท้อนภาพชีวิตสังคมชาวกรุง และเรื่องราวชีวิตขมขื่น รันทด ที่เรียกน้ำตาผู้อ่าน ด้วยสำนวนภาษาของนักเขียนรุ่นครูในอดีต อย่างดวงเดือน รัตนนาวิน หรือสุพัตรา นั่นเอง

 

Don`t copy text!