ขมิ้นกับปูน

ขมิ้นกับปูน

โดย : หมอกมุงเมือง

Loading

บรรณาภิรมย์ โดย หมอกมุงเมือง คอลัมน์ที่อ่านเอาขอมอบความรื่นรมย์ให้กับผู้อ่านด้วยภาพปกสวยๆ และเนื้อเรื่องในแบบต่างๆ ของนักเขียนชั้นครูที่เคยผ่านมือ ผ่านตาและผ่านใจ เพื่อให้ทุกคนได้ร่วมรำลึกถึงผลงานของนักเขียนแต่ละท่านให้พอหายคิดถึงแม้เวลาจะผ่านไปแล้วเนิ่นนาน ภาพและตัวอักษรจะปรากฏให้เห็นอีกครั้งในยุคของการอ่านออนไลน์

 

ขมิ้นกับปูน นับเป็นอีกหนึ่งผลงานอมตะจากปลายปากกา จุลลดา ภักดีภูมินทร์ หรือ อาจารย์หม่อมหลวงศรีฟ้า ลดาวัลย์ นักประพันธ์เลื่องชื่อที่หลายคนรู้จักกันเป็นอย่างดีนั่นเอง สำหรับนามปากกานี้ เริ่มต้นด้วยผลงานนิยายพีเรียด ลางรัก เป็นลำดับแรก ก่อนที่จะมีผลงานชิ้นเอกเรื่องต่างๆ ตามมา ทั้ง บ้านโลกย์ วันหนึ่ง ริษยา รวมถึง ขมิ้นกับปูน ในภายหลัง ท่านมักจะใช้นามปากกา จุลลดา ภักดีภูมินทร์ สำหรับงานเขียนแนวสารคดี เกร็ดชีวิตในรั้วในวัง อย่าง เลาะวัง เวียงวัง รวมถึงใช้เขียนนิยายในแนวลึกลับระทึกขวัญ อย่าง บ่วง หลอน หรือ เรือนแรม เป็นต้น

ครอบครัวของพระยาอภิบาลบำรุง

นิยายเรื่องนี้พิมพ์รวมเล่มครั้งแรกในช่วงปี พ.ศ. 2511 จากนั้นจึงมีการนำมาสร้างเป็นละครหลายต่อหลายครั้ง อีกทั้งนักแสดงหลายท่านในเรื่องต่างก็ประสบความสำเร็จในบทบาทของตัวละครที่เข้มข้น ได้รับรางวัลทางการแสดงมากมาย โดยเฉพาะเวอร์ชันช่อง 7 ใน ปี พ.ศ. 2533 ที่เรียกว่าโด่งดังเป็นพลุแตก เมื่อ คุณรุจน์ รณภพ รับบทพระยาอภิบาลบำรุง เชือดเฉือนบทบาทกับ คุณชไมพร จตุรภุช คุณปัทมา ปานทอง และ คุณเสาวลักษณ์ ศรีอรัญ ที่รับบทสามพี่น้อง ปัทมา ปวีณา และ ปารมี โดยมี คุณศตวรรษ ดุลยวิจิตร รับบททันพันธุ์ พระเอกของเรื่อง ในขณะที่ ด.ญ.ศิริลักษณ์ ผ่องโชค ในเวลานั้น ก็มารับบทเด็กหญิงปัทมาในตอนเด็ก ก่อนที่ ในอีก 10 ปีต่อมาเมื่อขมิ้นกับปูน เวอร์ชัน พ.ศ. 2544 ของช่องสาม คุณศิริลักษณ์ ผ่องโชค ก็ยังได้ย้อนกลับมารับบท ปัทมา อีกครั้ง (สำหรับภาพประกอบในเรื่อง ผมได้จากแฟนเพจ ภาพจากหนังสือเรื่องย่อละครไทย ซึ่งต้องขอขอบพระคุณมา ณ ที่นี้ด้วยครับ)

และสำหรับตัวหนังสือนิยายเอง ก็ได้รับการต้อนรับจากนักอ่าน มีการรวมเล่มตีพิมพ์ในเวลาต่อมาอีกเป็นจำนวนมาก แสดงให้เห็นถึงความนิยมในนิยายเรื่องนี้ได้เป็นอย่างดี

สามพี่น้อง จากเรื่องขมิ้นกับปูน

เรื่องราวใน ขมิ้นกับปูน จัดเป็นนิยายแนวพีเรียดย้อนยุคในช่วงเหตุการณ์สงครามโลก ที่ฉากในเรื่องเกิดขึ้นในประเทศไทย เมื่อ ปี พ.ศ. 2488 และเป็นการพบกันของตัวละครเอกในวัยเยาว์พร้อมกันถึงห้าคนเลยทีเดียว เมื่อ เรือลำน้อยของ ‘น้านา’ หรือธนา และหลานชายในวัยไล่เลี่ยกันกับเขา คือเด็กชายแทนพงศ์ และเด็กชายทันพันธุ์ มาล่มอยู่ที่ใกล้ท่าเรือของบ้าน พระยาอภิบาลบำรุงซึ่งมีเด็กหญิงตัวน้อยๆ สองคนกำลังเล่นอยู่ และจำเป็นต้องอาศัยท่าน้ำของบ้านดังกล่าวเพื่อกู้เรือ

ปวีณา เด็กหญิงผู้พี่ ซึ่งได้รับการบ่มเพาะจากคุณปู่ คือ พระยาอภิบาลฯ ให้เกลียดชัง ‘ครอบครัวบ้านพระวิจิตรศิลปการ’ ได้ปะทะคารมและเกือบจะมีเรื่องกับกลุ่มเด็กชายลูกหลานพระวิจิตรฯ ขณะที่เด็กหญิงป่าน หรือปารมี ที่หัวอ่อนกว่า ได้แต่พยายามห้ามปรามเอาไว้ เรื่องราวคงบานปลายไปกว่านี้ ถ้าหากว่าคุณจำปาและคุณปีบ ลูกสาวของพระยาอภิบาลฯ จะไม่มาห้ามทัพ เอาไว้เสียก่อน

ขมิ้นกับปูน เริ่มคลี่รายละเอียดของเหตุการณ์ดังกล่าวออกมาให้ผู้อ่านได้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างสองครอบครัวที่มีแนวคิด ทัศนคติ และการใช้ชีวิตที่แตกต่างกัน ระหว่าง ‘คนยุคเก่า’ ที่อนุรักษ์นิยมสุดโต่งอย่าง พระยาอภิบาลฯ และบุตรชายคนโตคือพระนิติรักษ์ ซึ่งเป็นพ่อของเด็กหญิงทั้งสาม ปัทมา ปวีณา และปารมี รวมถึงน้องสาวอีกสามคนของพระนิติรักษ์ที่ยังเป็นสาวโสดทั้งหมดคือคุณปริก คุณจำปา และคุณปีบ ซึ่งถูกครอบเอาไว้ด้วยทัศนคติของพระยาอภิบาลฯ จนไม่อาจแหวกวงล้อมนี้ออกไปได้เลย แม้แต่คุณปีบเองเคยมีความรักกับคุณทำนอง ลูกชายคนรองของพระวิจิตร ที่เป็นศัตรูกัน สุดท้ายก็ต้องแยกจากกัน โดยที่ทำนองต้องไปใช้ชีวิตที่ต่างประเทศและต่อมาก็แต่งงานกับผู้หญิงอีกคนหนึ่งไปแทน

“พวกแกทุกคนต้องจำเอาไว้ ไอ้ตระกูลนี้มันเป็นศัตรูกับเราตลอดชาติ มันทำลายเกียรติยศของเรามาตั้งแต่ครั้งปู่เลยทีเดียว ไอ้พวกสอพลอ ไม่มีอุดมคติประจำตระกูล!”

ในขณะที่ ‘ก๊กของพระวิจิตร’ ที่ยอมไหลตามน้ำ ค้าขายสมาคมกับญี่ปุ่นจนร่ำรวยเงินทอง แม้จะไม่มีเกียรติยศสูงจนเป็นถึงพระยาก็ตาม แต่ฐานะความเป็นอยู่ก็ร่ำรวยสุขสบายในท่ามวิกฤตของสงคราม ที่แม้แต่พระนิติรักษ์ ยังต้องออกจากราชการ ทำให้สถานการณ์การเงินภายในบ้านยิ่งแย่ลงไปทุกขณะ

คู่พระนาง

พระวิจิตรมีลูกชายคือทำนุ ทำนอง และธนา ทำนุเป็นลูกชายคนโตได้แต่งงานกับพิศมร และมีลูกคือแทนพงศ์ และทันพันธุ์ ส่วนธนาเป็นลูกชายคนเล็กของพระวิจิตรที่มีอายุมากกว่า เด็กชายสองคนเล็กน้อย แต่ก็ถูกเรียกโดยศักดิ์ว่าน้านา เช่นเดียวกั ทานตะวัน หลานสาวของพิศมร ที่เธอรับมาอุปการะร่วมครอบครัวด้วย ทำให้สนิทสนมกันไปโดยปริยาย

ทานตะวันเป็นเพื่อนร่วมโรงเรียนเดียวกับปัทมา และทั้งคู่ต่างก็เริ่มเติบโตเป็นสาวน้อยแสนสวย เช่นเดียวกับธนา เมื่อเขาเริ่มรู้สึกชอบพอกับปัทมา ทั้งคู่แอบคบหากันโดยมีทานตะวันคอยช่วยเหลือเป็นแม่สื่อให้ แต่ในที่สุดความลับก็ไม่มีในโลก เมื่อปวีณา น้องสาวขี้อิจฉาริษยา ได้มารู้ความลับนี้เข้า และนำไปบอกกับพระยาอภิบาลฯ เพื่อเอาใจคุณปู่ จนปัทมาถูกจับไปกล้อนผม บวชชี!

หากสิ่งที่เกิดขึ้นก็หาได้กั้นพลังความรักอันรุนแรงเพื่อเอาชนะของปัทมาและธนาได้ไม่ ในที่สุดปัทมาก็ตัดสินใจหนีไปอยู่กับธนา ที่บ้านของพระวิจิตรฯ ท่ามกลางความเจ็บแค้นและอัปยศ จนแทบกระอักเลือดของพระยาอภิบาลบำรุง

ปวีณาเติบโตเป็นสาวน้อยหากมีแต่ความแข็งกระด้าง และความถือดีว่าเป็นหลานรักของคุณปู่ หญิงสาวเข้าเรียนมหาวิทยาลัย และเผชิญหน้ากับอาจารย์แทนพงศ์ ทำให้รู้ว่าธนากับปัทมามาใช้ชีวิตอยู่ด้วยกันที่บ้านหลังหนึ่ง ด้วยแผนการบางอย่างปวีณา จึงแวะเวียนไปหาพี่สาวอยู่บ่อยครั้ง จนเริ่มระแคะระคายถึงปัญหาชีวิตคู่ของคนทั้งสอง

ชีวิตการแต่งงานของปัทมกับธนากลับกลายเป็นชีวิตที่ลุ่มๆ ดอนๆ เมื่อนิสัยของปัทมาเป็นคนรักมาก จนกลายเป็นความหวาดระแวง หึงหวง และปวีณาก็ช่วยทำให้รอยร้าวระหว่างชีวิตคู่ของพี่สาวแยกห่างจากกันมากขึ้น เมื่อหล่อนเห็นธนาสนิทสนมกับทานตะวัน ลูกพี่ลูกน้องของเขา และนำมาใส่ไฟกับปัทมา จนกลายเป็นเรื่องทะเลาะกันรุนแรง

ปวีณานำเรื่องนี้ไปบอกพระนิติรักษ์ จนในที่สุดก็พาปัทมากลับไปบ้านคุณปู่ของเธออีกครั้ง และคราวนี้ ปัทมาจึงรู้ว่าทุกอย่างเป็นแผนการของน้องสาวที่ต้องการเห็นความล้มเหลวในชีวิตรักของเธอ หญิงสาวที่ถูกพรากรักยิ่งเมื่อรู้ภายหลังว่าธนาไปต่างประเทศและทานตะวันอดีตเพื่อนรักของเธอก็ไปเรียนต่ออยู่ที่นั่นด้วย ยิ่งสร้างความหวาดระแวงและน้อยใจให้กับปัทมาจนถึงกับผูกคอตาย แต่ก็ยังโชคดีที่มีผู้ช่วยชีวิตเอาไว้ได้ทัน

ทุกอย่างล้วนมาจากปวีณา ที่แอบสะใจเมื่อเห็นความทุกข์ความบ้าคลั่งของพี่สาวตัวเอง!

 

ทันพันธุ์ จิตรการ เรียนจบสถาปัตยกรรมศาสตร์มาจากต่างประเทศ เขาเติบโตเป็นเด็กหนุ่มหัวสมัยใหม่ ไฟแรง มากอุดมการณ์ และมีนิสัยแตกต่างจากพี่น้องในตระกูลโดยสิ้นเชิง ยิ่งเมื่อได้เจอกับปารมี เขารู้สึกประทับใจเธอตั้งแต่แรกเห็น เมื่อรู้ว่าครอบครัวของเขากับครอบครัวพระยาอภิบาลฯ ไม่ถูกกันตั้งแต่ในอดีต จนสะบั้นความรักของพี่น้องในตระกูลของเขาไปถึงสองรุ่น คือทำนอง และธนา ทำให้ทันพันธุ์ยิ่งอยากจะทำความรู้จักกับพระยาอภิบาลฯ มากยิ่งขึ้น ความกล้า บ้าบิ่น และจริงใจในความคิด ทำให้เขาพาตัวเองเข้าไปที่บ้านของอีกฝ่าย ในงานทำบุญเลี้ยงพระของบ้านพระยาอภิบาลบำรุง โดยที่ท่านเองก็ไม่รู้ว่าเด็กหนุ่มหน้าตาคมคาย อัธยาศัยดี ท่าทางน่าเอ็นดูผู้นี้เป็นใคร

และเมื่อการพบกันครั้งแรกเกิดขึ้นโดยปราศจากม่านแห่งอคติ กลับทำให้พระยาอภิบาลฯ เกิดความประทับใจ ถูกชะตาในตัวทันพันธุ์มากขึ้น แม้จะรู้ภายหลังว่าเขาคือตระกูลของพระวิจิตร ที่ตนเองเกลียดชังที่สุด แต่สำหรับทันพันธุ์แล้ว กลับกลายเป็นข้อยกเว้นอย่างน่าประหลาดใจของทุกคน…

เมื่อพระยาอภิบาลฯ ได้พูดคุยกับทันพันธุ์ก็ชอบใจเขาเพราะลักษณะของทันพันธุ์นั้นเป็นคนดื้ออย่างตัวท่านเอง เขาเข้าถึงความรู้สึกของพระยาอภิบาลฯ ด้วยวาจาง่ายๆ ตรงไปตรงมา กล้าพูด กล้าล้วงความในใจของท่านออกมาตีแผ่ โดยที่ไม่มีใครกล้าพูด แม้แต่พระนิติลักษณ์ ลูกชายของท่านเอง!

 แม้แต่การกล้าพูดคุยโต้แย้งทัศนคติของตัวเองกับท่านอย่างไม่เกรงกลัว เหมือนกับบรรดาลูกๆ หลานๆ ในบ้านที่ต่างกลัวท่านจนลนลาน ข้อนี้เอง ยิ่งทำให้พระยาอภิบาล คล้ายมองเห็น ‘เงา’ ของตัวท่านในวัยฉกรรจ์ ปรากฏขึ้นในร่างของเด็กหนุ่มคนนี้!

ก็ดูเถอะ ไอ้หนุ่มคนนี้มันกล้าพูดโผงผางออกมาว่า ถ้าเห็นคนอัปรีย์จัญไร แล้วได้แต่นั่งด่าอยู่ในบ้านก็ไม่เกิดประโยชน์อะไร อย่างน้อยออกมาทำอะไรขวางๆ ไว้บ้างก็ยังดี ท่านเกลียดชังโลกภายนอกเลยปิดประตูขังตัวเองเสียอย่างนี้ ผมว่าไม่ถูก ที่จริงท่านควรจะออกไปสมาคมกับเขา เรียนรู้เขา แล้วก็ชี้หน้าด่าคนบางคนที่ท่านว่าอัปรีย์จัญไรเมื่อมีโอกาสจะดีกว่า แม้จะไม่ถึงกับแก้สันดานเขาได้ ก็ยังจี้ให้สะดุ้งบ้าง… เออช่างถูกใจพระยาอภิบาลบำรุงนัก!

และด้วยความมุ่งมั่นนี้เอง ที่ทำให้ทันพันธุ์ไม่ยอมท้อถอย ถึงขนาดไปกราบทูลขอให้ท่านหญิงพิไลลักขณา ผู้ใหญ่ที่ตนนับถือ และเป็นที่นับถือเกรงใจของพระยาอภิบาลฯ เป็นผู้ไปสู่ขอ ปารมี ฉากการเผชิญหน้ากันอย่าง ‘เสือเฒ่า’ พบ ‘สิงห์หนุ่ม’ ในเรื่องนี้ บรรยายไว้อย่างได้อรรถรสยิ่งนัก

“แล้วจะเชื่อได้อย่างไรว่ามันจะไม่เป็นอย่างผัวนังปัทมา?”

ทันพันธุ์ตอบทันทีว่า

“ผมไม่กล้าอวดอ้างตัวเองว่าผมเป็นคนดีวิเศษกว่าน้านา แต่คนเรานั้นแม่แต่ฝาแฝด นิสัยใจคอก็ยังไม่เหมือนกัน ผมไม่ใช่ฝาแฝดกับน้านา ไม่จำเป็นไม่ใช่หรือครับที่ผมจะต้องมีพฤติการณ์อย่างน้านา? แม้แต่การเข้ามาติดต่อก็ผิดอยู่แล้วผมไม่ต้องการหาทางติดต่อกับคุณปารมี โดยลักลอบหรือโดยที่ใต้เท้าไม่เห็นด้วย”

พระยาอภิบาลฯ จ้องหน้าบุรุษที่นั่งสำรวมอยู่เบื้องหน้าท่าน ทันพันธุ์มองสบดวงตากับพระยาอภิบาลฯ ตรงๆ ดวงตาทั้งสองคู่นั้นมีแววคล้ายคลึงกัน ดื้อรั้น และแสดงความตั้งใจแน่วแน่ไม่มีความลดถอย!

ขณะที่ท่านหญิงที่อยู่ในเหตุการณ์นี้เอง ก็ได้แต่ทรงรำพึงในพระทัยอย่างพิศวง

เออ… พระยาอภิบาลฯ ผู้นี้ได้ชื่อว่ามีทิฐิดื้อรั้นเป็นที่สุด พ่อหนุ่มคนนี้ท่าทางออกจะคล้ายๆ กับพระยาอภิบาลฯ สมัยหนุ่ม แล้วนี่พระยาอภิบาลฯ จะต่อสู้กับ ‘เงา’ ของตนเองด้วยวิธีใดกันหนอ?

และวิธีนั้นก็คือ การยื่นเงื่อนไขให้กับทันพันธุ์ โดยที่ท่านเองก็ไม่คาดคิดว่าชายหนุ่มผู้นี้จะหาญกล้า ตอบรับเงื่อนไขนั้นอย่างเต็มใจ และเต็มไปด้วยเหตุผลแสดงความมั่นใจในตัวตนของเขาอย่างชัดเจน

“ถ้าฉันให้คุณเปลี่ยนมาใช้นามสกุล ธรรมคุณ ของฉัน คุณจะยอมไหม?”

ท่านหญิงเกือบสะดุ้ง แต่ “พ่อหนุ่ม” ของท่านตอบว่า

“ผมทราบว่าใต้เท้าภูมิใจในนามสกุลของใต้เท้ามาก และต้องการจะมีลูกหลานสืบสกุลธรรมคุณของใต้เท้า การที่ใต้เท้าจะกรุณาให้ผมใช้นามสกุลธรรมคุณ ผมถือเป็นเกียรติอย่างหนึ่ง เพราะถ้าใต้เท้าไม่แน่ใจว่าผมดีพอ ใต้เท้าก็คงไม่กล้าเสี่ยงให้ผมใช้นามสกุลอันมีเกียรตินี้เป็นแน่!”

ทันพันธุ์เอาชนะใจพระยาอภิบาลฯ ได้สำเร็จ แม้ว่าท่านเองจะยังมีอคติต่อตระกูลพระวิจิตรก็ตาม แต่ในที่สุดท่านก็ยอมรับความแตกต่างของเลือดเนื้อเชื้อไข ที่ย่อมจะมีอุปนิสัยสันดานผิดแผกแตกต่างกัน ด้วยเหตุผลของทันพันธุ์นั่นเอง แม้ว่าปวีณาจะพยายามค้านสุดชีวิต หญิงสาวผู้เคยมั่นใจว่าเป็นหลานรักของคุณปู่ และถูกชื่นชมในสายเลือดของธรรมคุณ แต่ลึกๆ แล้วตัวเธอเองก็โหยหาความรักเช่นเดียวกัน

โดยเฉพาะทันพันธุ์ บุรุษหนุ่มผู้กล้าหาญคนนั้น เขาทำให้หล่อนเกิดความรู้สึกประทับใจขึ้นมาโดยไม่รู้ตัว แต่แล้วเขากลับหันไปเลือกปารมี!

 

หากสำหรับปัทมา พี่สาวของปารมีแล้ว หญิงสาวผู้น่าสงสารคนนั้นกลับต้องเผชิญชะตากรรมที่น่าสงสารยิ่งกว่า เมื่อเธอได้รับข่าวการแต่งงานของธนากับทานตะวันที่กำลังจะเริ่มต้นขึ้น และอีกฝ่ายก็ส่งหนังสือหย่ามาให้เธอที่เมืองไทย นั่นเอง ทำให้ฟางเส้นสุดท้ายในชีวิตของปัทมา ขาดสะบั้นลง หญิงสาวกลายเป็นคนวิกลจริตไปโดยสมบูรณ์ และสร้างความสะเทือนใจให้กับทุกคนในครอบครัว

ธนาและทานตะวันเองก็รับรู้ข่าวนี้จากทันพันธุ์ และด้วยมโนธรรมนี้เองที่ทำให้ธนาตัดสินใจล้มเลิกงานวิวาห์ครั้งใหม่ของตน และเดินทางกลับมาเพื่อดูแลปัทมา แม้ว่าเขาจะต้องเผชิญหน้ากับพระยาอภิบาลฯ อีกครั้งก็ตาม

เรื่อง : ขมิ้นกับปูน

ผู้เขียน : จุลลดา ภักดีภูมินทร์

สำนักพิมพ์ : รวมสาส์น

ปีที่พิมพ์ : 2511

สองเล่มจบ

เรื่องราวใน ขมิ้นกับปูน นอกเหนือจากจะเป็นนวนิยายชีวิตที่เข้มข้น ด้วยบทบาทของตัวละครแต่ละตัวที่โลดแล่นด้วยแรงขับของความแค้นในอดีต ผ่านฉากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในเมืองไทยสมัยยุคสงครามโลก และเหตุการณ์บ้านเมืองต่างๆ ที่ผู้เขียนสอดแทรกเรื่องราวเข้ามาได้อย่างสมจริง ที่ทำให้เรื่องราวในนิยายมีมิติและสีสัน จนนำพาผู้อ่านให้ติดตามและช่วยลุ้นไปกับความรักของคู่ปารมีกับทันพันธุ์อย่างประทับใจ มาจนถึงบทคลายปมสุดท้ายของเรื่องราวได้ในที่สุด

รวมถึงบทบาทที่เด่นที่สุดของเรื่อง คือพระยาอภิบาลฯ ที่นอกเหนือจากการสร้างคาแรกเตอร์ของบุรุษสูงวัย เจ้าอารมณ์ เข้มงวดและเที่ยงตรงในความรู้สึกแล้ว การสร้างบทบาทของทันพันธุ์ที่เป็นเสมือน ‘เงา’ ของพระยาอภิบาลฯ ให้มาประชันกัน กลับทำให้คนอ่านมองเห็นอีกมุมหนึ่งอันน่ารักและน่าชื่นชมในตัวตนของอีกฝ่ายไปด้วยเช่นกัน

จึงไม่น่าแปลกใจเลย ที่ ขมิ้นกับปูน จะเป็นนวนิยายอีกเรื่องหนึ่ง ที่เป็นที่นิยมของผู้อ่านและผู้ชมมาหลายยุคหลายสมัย ตราบจนถึงปัจจุบัน

Don`t copy text!