ผู้พิชิตมัจจุราช

ผู้พิชิตมัจจุราช

โดย : หมอกมุงเมือง

Loading

บรรณาภิรมย์ โดย หมอกมุงเมือง คอลัมน์ที่อ่านเอาขอมอบความรื่นรมย์ให้กับผู้อ่านด้วยภาพปกสวยๆ และเนื้อเรื่องในแบบต่างๆ ของนักเขียนชั้นครูที่เคยผ่านมือ ผ่านตาและผ่านใจ เพื่อให้ทุกคนได้ร่วมรำลึกถึงผลงานของนักเขียนแต่ละท่านให้พอหายคิดถึงแม้เวลาจะผ่านไปแล้วเนิ่นนาน ภาพและตัวอักษรจะปรากฏให้เห็นอีกครั้งในยุคของการอ่านออนไลน์

****************************

 

สนับสนุนอ่านเอาด้วยการสั่งซื้อหนังสือ “ในสวนอักษร” คลิกที่นี่

ผมเคยได้ยินชื่อหนังสือ ผู้พิชิตมัจจุราช มานานตั้งแต่ยังเด็ก ตอนนั้นสับสนกับชื่อละครเรื่อง ‘พิภพมัจจุราช’ ที่เคยดูทางโทรทัศน์ แต่ภายหลังเมื่อได้มีโอกาสได้อ่านรายละเอียดจึงพบว่า นวนิยายเรื่องนี้เป็นหนังสือที่ผสมผสานแนวคิดความเชื่อเกี่ยวกับความตายแบบไทยๆ ผสมกับหลักการวิทยาศาสตร์ทางจิต ที่ผู้เขียนเรียกว่าศาสตร์ของ ‘วิญญาณปริวรรตศาสตร์’ เข้ามาอธิบายปรากฎการณ์เหนือธรรมชาติของตัวละคร และยังสร้างคาแรกเตอร์ตัวละคร บอกเล่าเรื่องราวที่ให้รู้สึกว่าบุคคลในหนังสือมีตัวตนจริงๆ ทั้งตัวคนเขียนคือคุณเทียน เหลียวรักวงศ์ คุณโชติ แพร่พันธ์ ฯลฯ ทำให้นิยายเรื่องนี้ เมื่อตีพิมพ์ลงในนิตยสาร ศรีสัปดาห์ เป็นที่กล่าวขวัญถึงในด้านความสมจริงและมีผู้อ่านติดตามกันอย่างเกรียวกราว ตราบจนเนื้อเรื่องต่อเนื่องมาถึงภาคสองคือ วิญญาณพเนจร ซึ่งจะได้เขียนเล่าสู่กันฟัง เป็นลำดับถัดไปครับ

ภาพวาดคุณเทียน เหลียวรักวงศ์ กับ ลุงสอน ชมบัว

เรื่องราวของ ผู้พิชิตมัจจุราช เริ่มต้นด้วยบท ‘สาส์นจากปรโลก’ กล่าวถึงคุณเทียน เหลียวรักวงศ์ ใน ปี พ.ศ. 2503 ผู้เป็นเจ้าของเรื่อง ได้รับจดหมายจากชาคริต อมรบุตร สหายของเขาที่ถึงแก่กรรมไปแล้ว เมื่อ พ.ศ. 2487 ในช่วงเหตุการณ์สงครามโลกครั้งที่สอง!

หากแต่ชาคริตได้ถือกำเนิดขึ้นในร่างใหม่ในนามลุงสอน ชมบัว ชายชราที่เคยมาอาศัยที่บ้านของคุณเทียนในระยะเวลาหนึ่ง

จดหมายในนามของ ‘ลุงสอน ชมบัว’ ฉบับนั้นบอกเล่าถึงเหตุการณ์อันเป็นประสบการณ์สุดมหัศจรรย์ที่เกิดขึ้นกับชีวิตของเขา ผ่าน ‘ร่าง’ ของผู้คนต่างๆ ที่ชาคริตได้เข้าไปอาศัยร่างอยู่ โดยพาผู้อ่านย้อนเวลากลับไป ณ จุดเริ่มต้นของเรื่องราวทั้งหมด ตั้งแต่เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2487 เมื่อชาคริต อมรบุตร ข้าราชการชั้นโทแห่งกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เป็นทั้งผู้เชี่ยวชาญทางจิตศาสตร์และนักสะกดจิตในเวลานั้นกำลังนั่งปฏิบัติสมาธิกรรมฐานอยู่ที่ระเบียงอุโบสถวัดเลียบ ในห้วงเวลานั้นเองที่เครื่องบินได้ทิ้งระเบิดลงที่นั่นพอดี

ชาคริตเสียชีวิตคาที่พร้อมกับมีคนอื่นๆ ในบริเวณนั้น ต่างได้รับบาดเจ็บสาหัส หากเจตสิกของเขากลับรับรู้มองเห็นเหตุการณ์ทุกอย่างที่เกิดขึ้น แม้กระทั่งเห็นภาพท่านอินทร์ พระภิกษุที่วัด ซึ่งช่วยกันนำศพของเขาออกมา ร่างของเขา ถูกวางเรียงกับศพอื่นๆ ที่เสียชีวิต รวมถึง ร่างของเจ้าบุญ เด็กวัดที่เป็นใบ้และสติไม่สมประกอบรวมอยู่ด้วย

ชาคริตมองเห็นว่าเจ้าบุญยังไม่ตาย หากจวนจะสิ้นลมเต็มที เขาเกิดความเมตตา จึงขยับเข้าไปชิดตัวร่างนั้น แต่แล้วกลายเป็นว่าชาคริตสามารถเคลื่อนเข้าไปอยู่ภายในร่างกายของเจ้าบุญแทน และมองเห็นร่างของเจ้าบุญเป็นเงาสีขาว กำลังเคลื่อนห่างออกไป เขาฟื้นมาในร่างเจ้าบุญและรับรู้ถึงความเจ็บปวดทุกข์ทรมานของมัน ก่อนวิญญาณหลุดออกจากร่าง แต่ด้วยการกำหนดจิตเป็นสมาธิที่กระทำเป็นประจำ ทำให้ชาคริตสามารถผ่านช่วงเวลาแห่งความทรมานนั้นไปได้

ทั้งท่านอินทร์ หมอปรีชา และลุงชุ่ม ต่างช่วยประคับประคองอาการโคม่าของเจ้าบุญ จนกระทั่งหายเป็นปรกติ

บัดนี้ ชาคริตได้เปลี่ยนมาอยู่ในร่างกายของเจ้าบุญอย่างสมบูรณ์โดยไม่มีผู้ใดล่วงรู้ ทุกคนเพียงแต่ประหลาดใจ ที่เจ้าบุญบ้ากลับกลายเป็นคนสติดีที่ฟังรู้เรื่อง แม้จะพูดไม่ได้ แต่สามารถสื่อสารผ่านการเขียนหนังสือออกมาได้อย่างน่ามหัศจรรย์ เห็นจะมีเพียงท่านอินทร์เท่านั้นที่สงสัย ว่าภายในร่างของเจ้าบุญนั้นมีใครอีกคนหนึ่งอาศัยอยู่!

 

ในงานศพของชาคริต ทุกคนรวมถึงเจ้าบุญได้มีโอกาสไปร่วมในงานศพ เพ็ญจันทร์ ภรรยาของชาคริตพบว่า เธอคุ้นเคยกับชายวิปลาสผู้นี้มาก่อน ทั้งที่ไม่เคยเห็นหน้ากันเลย ชาคริตถอดจิต จากร่างเจ้าบุญเพื่อมาพบกับเธอในห้วงภวังค์ของความฝัน และอธิบายเรื่องราวให้เธอได้รับรู้ว่าเขายังอยู่ แม้จะอยู่ภายในร่างคนอื่นก็ตาม

“ถ้าน้องรักพี่แล้ว จงเชื่อพี่เถิดว่าพี่นี้มิได้ตายเยี่ยงมนุษย์ทั้งหลาย พี่สูญเสียแต่สังขารของพี่ไปเท่านั้น ส่วนวิญญาณอันเป็นตัวตนของพี่แท้ๆ ยังคงอยู่ในโลกนี้ ด้วยอิทธิฤทธิ์ พี่จะเข้าสิงร่างของผู้ใดก็ได้ ถ้าเจ้าของร่างนั้นได้สละร่างของเขาไปด้วยความตาย”

แม้เพ็ญจันทร์จะรักชาคริตอยู่ แต่อุปสรรคที่สำคัญก็คือนางเพี้ยน มารดาของเธอเอง เพราะบัดนี้ สหายของชาคริตที่ชื่อร้อยตำรวจเอกสุจริต พยายามจะเข้ามายื่นข้อเสนอดูแลเพ็ญจันทร์แทนสามีที่เสียชีวิต เขาแอบชอบหล่อนมานาน และพยายามเข้าหาทางนางเพี้ยน จนหญิงชราตายใจ และเห็นดีเห็นงามไปด้วย โดยไม่รู้ว่าเนื้อแท้ของสุจริตหาได้สุจริตดังชื่อนั้นไม่

 

เพ็ญจันทร์ติดต่อขอให้เจ้าบุญที่ชาคริตอาศัยร่างอยู่มาทำงานที่บ้านเธอ และกลายเป็นที่เกลียดชังของสุจริต ส่วนนางเพี้ยนเองเห็นภาพของชาคริตลูกเขยตนปรากฏซ้อนภาพเจ้าบุญ จนตัวเองตกใจและหกล้มขาหัก หล่อนหาข้ออ้างที่ต้องไปรักษาตัวในเมืองและพักที่บ้านของสุจริต โดยพยายามหาโอกาสให้เพ็ญจันทร์ได้ใกล้ชิดกับอีกฝ่ายหนึ่ง แต่หญิงสาวก็ไม่เล่นด้วย จนทำให้มีปากเสียงกับผู้เป็นมารดา

สุจริตพยายามปลุกปล้ำเพ็ญจันทร์ แต่ไม่สำเร็จ หญิงสาวไหวตัวทัน และกลับมาอาศัยอยู่ที่บ้านของตน แม้ว่านางเพี้ยนจะเกลี้ยกล่อมอย่างไรก็ไม่สนใจ

 

พระภิกษุอินทร์ เป็นมะเร็งกระเพาะ ท่านรู้ว่าตนจะอยู่ได้อีกไม่นาน แต่ในขณะเดียวกัน ท่านสามารถติดต่อกับชาคริตในร่างของเจ้าบุญได้แล้ว ทั้งสองคนจึงตกลงจะทดสอบวิชา วิญญาณปริวรรตศาสตร์ ไปด้วยกัน

วิทยาศาสตร์และไสยศาสตร์มีความเชื่ออย่างเดียวกันอย่างหนึ่งโดยทางตรงและทางอ้อม ว่าจิตของมนุษย์นั้นมหัศจรรย์และทรงอานุภาพยิ่งนัก ถ้าผู้ใดสามารถเรียกเอาอานุภาพแห่งจิตของตนเองขึ้นมาใช้ได้ ผู้นั้นจะกลายเป็นผู้วิเศษไปทันที คือมีฤทธาภินิหารเหมือนเทวดา ทั้งไสยศาสตร์และวิทยศาสตร์จึงได้คิดค้นคว้าหาทางที่เจ้าเข้าให้ถึงจิตนี้

…เมื่อมนุษย์สามารถฝึกใจของตนเองให้ตั้งอยู่ในสมาธิอันแน่วแน่ได้ ก็จะสามารถเข้าถึงฌานอันเป็นภาวจิตที่แบ่งออกได้เป็นสิบๆ ขั้น ซึ่งแต่ละขั้นก็คือกำหนดหรือขนาดแห่งอานุภาพของจิตนั่นเอง ส่วนการจะเข้าถึงฌานขั้นใดและเมื่อใดนั้น ก็ขึ้นอยู่กับความพากเพียรและการบำเพ็ญตนของผู้นั้น  

 ศาสตร์ใหม่นี้ ผมคิดตั้งชื่อขึ้นตามที่พอจะคิดได้ว่า วิญญาณปริวรรตศาสตร์ มนุษย์จะสามารถเปลี่ยนสังขารกันได้ ชายหนุ่มที่ยากจนจนเบื่อโลกและไม่อยากจะมีชีวิตอยู่ต่อไป ก็อาจบอกขายสังขารตนแก่ชายชราที่มั่งมี ชายชราที่ใกล้จะถึงแก่ความตาย ก็จะกลับเป็นหนุ่มและมีชีวิตยืนยาวต่อไปในร่างที่ซื้อมาได้… มนุษย์จะพิชิตมัจจุราช คือชนะความตายได้ และจะมีชีวิตอยู่ในโลกได้เป็นร้อยๆ ปี

 

การทดลองนี้สำเร็จดังปรารถนา เมื่อชาคริตละจากกายหยาบของเจ้าบุญบ้ามาอยู่ในร่างพระภิกษุอินทร์แทน แต่ทว่าดวงวิญญาณของท่านเองกลับไม่สามารถสลับมาอยู่ในร่างของเจ้าบุญได้ ทำให้ท่านถึงกาลมรณภาพ

ชาคริตในร่างพระภิกษุอินทร์ ที่กำลังอาพาธด้วยโรคร้าย ต้องใช้สมาธิจิตในการข่มกลั้นความเจ็บปวดของสังขารอย่างทรหด ในขณะเดียวกันก็ไม่สามารถบอกผู้ใดได้เลย เพราะสัญญากับท่านอินทร์เอาไว้ มีเพียงพระวิบูลย์ที่คอยช่วยเหลือด้วยความเป็นห่วงกังวล

ขณะเดียวกัน นางเพี้ยน ก็ตระหนักในธาตุแท้ของร้อยตำรวจเอกสุจริต เมื่อเขารู้ว่านางไม่สามารถบังคับจันทร์เพ็ญให้มาแต่งงานกับเขาได้ สุจริตจึงขับไล่ไสส่งนางเพี้ยนที่ยังเจ็บป่วยอยู่ให้ออกจากบ้าน และทำให้หญิงชราต้องกลับมาอาศัยอยู่กับจันทร์เพ็ญบุตรสาว ด้วยความสำนึกผิด

ต่อมา ร้อยตำรวจเอกสุจริตก็ได้ถูกคนร้ายลอบยิงจนเสียชีวิต

อาการของ พระภิกษุอินทร์ กำเริบหนักขึ้นทุกที ชาคริตในร่างของภิกษุอินทร์ อยากให้ เพ็ญจันทร์คนรักของเขาได้เป็นฝั่งเป็นฝากับคนที่ดีที่เข้ามาติดพันเธอ ไม่ว่าจะเป็นพันตำรวจตรีเกรียงไกรที่คอยเป็นห่วงใยเธออย่างแท้จริง หรือหมอปรีชาที่แอบหลงรักเธอมานาน แต่เพ็ญจันทร์ก็ปฏิเสธ แม้ว่าภายหลังนางเพี้ยนมารดาของเธอจะเสียชีวิตลงแล้วก็ตาม

แม้จะไม่รู้ว่า ในร่างของพระภิกษุผู้นี้คือสามีของตน แต่เพ็ญจันทร์ก็รู้สึกมีความสุข สบายใจ ทุกครั้งที่ได้แวะมาสนทนากับท่าน และเป็นห่วงอาการของโรคร้ายที่กำเริบขึ้นทุกขณะ หญิงสาวเข้าใจว่า พระภิกษุอินทร์สามารถเชื่อมต่อกับวิญญาณชาคริตที่หลุดออกจากร่างเจ้าบุญไปแล้วได้ เธอตั้งใจว่าจะบวชชี เพื่ออุทิศส่วนกุศล และด้วยความรักความซื่อสัตย์ที่มีต่อชาคริต สามีเพียงคนเดียวในชีวิตของเธอ ณ สำนักปฏิบัติธรรมที่เพชรบุรี

และในที่สุดก็ถึงวาระที่ท่านอินทร์มรณภาพ

เมื่อนั้น วิญญาณของเขาก็หลุดออกจากร่างของภิกษุอินทร์ผู้นี้ไป หากไม่มีร่างกายอื่นจะเข้าอิงอาศัย นอกจากกลายเป็นวิญญาณพเนจรร่อนเร่อยู่ภายในโลก ชาคริตรู้ดีว่าเขายังไม่อาจไปสู่สุคติภพด้วยเหตุผลบางประการที่ยังหาคำตอบไม่ได้

เรื่อง : ผู้พิชิตมัจจุราช

ผู้ขียน : เทียน เหลียวรักวงศ์

สำนักพิมพ์ : คลังวิทยา

ปีที่พิมพ์ : 2505

เล่มเดียวจบ

เรื่องราวของ ผู้พิชิตมัจจุราช ดำเนินมาถึงบทอวสานที่เหตุการณ์นี้ แต่ทิ้งท้ายเอาไว้ว่า เรื่องราวของชาคริตจะดำเนินต่อไปใน ‘วิญญาณพเนจร’ อันเป็นภาคสมบูรณ์ สำหรับโปรยปกด้านหลังได้กล่าวว่า ผู้พิชิตมัจจุราชภาคสอง นี้ นำลงใน ศรีสัปดาห์ ฉบับ 574 ประจำวันพุธที่ 22 สิงหาคม 2505 ก่อนจะนำมารวมเล่มในชื่อเรื่อง วิญญาณพเนจร ในเวลาต่อมาครับ

สำหรับนวนิยายเรื่องนี้ ฉบับพิมพ์ ปี พ.ศ. 2506 มีภาพประกอบภายในเรื่องที่วาดไว้ด้วยลายเส้นอันวิจิตรของนักวาดภาพปกนิยาย ฉายาศิลปินพู่กันทอง พนม สุวรรณะบุณย์ ซึ่งผมขอยกมาประกอบไว้บางภาพเพื่อความสมบูรณ์ของเนื้อเรื่องด้วยครับ สำหรับฉบับพิมพ์ครั้งต่อๆ มาของสำนักพิมพ์รวมสาส์น ผมไม่แน่ใจว่ามีหรือไม่ และพิมพ์ทั้งสองภาคเลยหรือไม่ ส่วนภาพของ อาจารย์พนม สุวรรณะบุณย์ นั้น ผมนำมาจาก หนังสือ นักเขียนไทยในอดีต ของคุณคริส สารคาม ครับ

อนึ่ง นิยายเรื่อง ผู้พิชิตมัจจุราช ได้นำมาสร้างเป็นภาพยนตร์ครั้งแรกในปี พ.ศ. 2506 ผลงานกำกับโดย คุณ ส.อาสนจินดา สร้างโดยบริษัทวัชรภาพยนตร์ ถ่ายภาพโดยคุณฉลอง ภักดีวิจิตร และลำดับภาพโดยคุณฉลวย ศรีรัตนา โดยมีคุณอดุลย์ ดุลยรัตน์ รับบทชาคริต และคุณวิไลวรรณ วัฒนพานิชย์ รับบทเพ็ญจันทร์ ตัวละครเอกของเรื่อง ซึ่งภาพยนตร์เรื่องนี้ก็ได้รับรางวัลตุ๊กตาทองครั้งที่ 6 จากผลงานการถ่ายภาพยอดเยี่ยม ลำดับภาพยอดเยี่ยม และ เพลงประกอบยอดเยี่ยม อีกด้วย

ส่วนในเวอร์ชันละครโทรทัศน์ สร้างในปี พ.ศ. 2532 ทางช่อง 3 นำแสดงโดยคุณนิรุตน์ ศิริจรรยา และคุณกาญจนา จินดาวัฒน์ และล่าสุดคือปี พ.ศ. 2544 ช่อง ITV นำแสดงโดยคุณบิลลี่ โอแกน ครับ ซึ่งขอขอบคุณภาพโปสเตอร์และข้อมูลประกอบจากเว็บไซต์ ไทยบันเทิง ไว้ ณ ที่นี้ด้วยครับ

Don`t copy text!