โศรดาพลัดถิ่น

โศรดาพลัดถิ่น

โดย : หมอกมุงเมือง

Loading

บรรณาภิรมย์ โดย หมอกมุงเมือง คอลัมน์ที่อ่านเอาขอมอบความรื่นรมย์ให้กับผู้อ่านด้วยภาพปกสวยๆ และเนื้อเรื่องในแบบต่างๆ ของนักเขียนชั้นครูที่เคยผ่านมือ ผ่านตาและผ่านใจ เพื่อให้ทุกคนได้ร่วมรำลึกถึงผลงานของนักเขียนแต่ละท่านให้พอหายคิดถึงแม้เวลาจะผ่านไปแล้วเนิ่นนาน ภาพและตัวอักษรจะปรากฏให้เห็นอีกครั้งในยุคของการอ่านออนไลน์

 

ชอุ่ม ปัญจพรรค์ เป็นนักเขียนนวนิยายรุ่นครูอีกท่านหนึ่ง ที่มีผลงานเป็นจำนวนมาก นวนิยายของท่านหลายเรื่องนำไปสร้างเป็นละคร ภาพยนตร์ ที่โด่งดัง ตราบจนถึงปัจจุบัน เช่น ทัดดาวบุษยา บ้านนอกเข้ากรุง สร้อยฟ้าขายตัว เป็นต้น ผมพบว่า ท่านน่าจะเป็นนักเขียนรุ่นแรกๆ ที่มีผลงานชื่อนวนิยาย ขึ้นต้น ว่า ‘เมีย’ เป็นจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็น เมียมืด เมียขายฝาก เมียสั่ง พ.ก.ง. เมียบำเรอ เมียจำเป็น เมียนอกกฎหมาย เป็นต้น

จากข้อมูลในหนังสือทำเนียบนักประพันธ์ ของ ป.วัชราภรณ์ ได้กล่าวว่า คุณจำนง รังสิกุล เป็นผู้สนับสนุนให้ผลงานเรื่องสั้นอันเป็นงานประพันธ์ชิ้นแรก ชื่อ ‘ฉันกับกามเทพ’ ได้ลงพิมพ์ในนิตยสาร สตรีสาร และหลังจากนั้น ท่านก็มีผลงานต่อเนื่องมาโดยตลอด สำหรับผลงานที่ท่านชอบมากที่สุด คือ นวนิยาย ‘ทรายหลงศร’ สำหรับมูลเหตุจูงใจในการเขียนนวนิยายนั้น ท่านได้ให้เหตุผลไว้อย่างน่าสนใจว่า

  1. 1. ชอบอ่านเรื่องเบาสมอง รักกระจุ๋มกระจิ๋ม นี่หมายถึงเมื่อเป็นเด็กนักเรียน พอโตเลยวัยเดียงสามากแล้ว แสวงหาอ่านเรื่องไม่ค่อยถูกใจและไม่ทันใจ จึงลงมือแต่งเสียเองตามความประสงค์ของความคิดคำนึง ตั้งใจว่าเขียนไว้อ่านส่วนตัวเมื่อก่อนจะแต่งเรื่องเอง ถ้าชอบเรื่องไหน หากตอนใดไม่ถูกใจก็แก้ไข แล้วแต่งให้จบอย่างสุขหวานชื่น
  2. 2. เมื่อได้มองดูโลกมนุษย์ โดยเฉพาะหลังสงคราม คนที่เหลืออยู่เท่ากับมนุษย์เดนตาย ชีวิตเต็มไปด้วยความทุกข์ยาก จึงคิดจะสร้างโลกใหม่ให้น่าอยู่ น่าพิสมัยแทนที่จะเขียนเรื่องราว ของความยากแค้นลำเค็ญ เธอต้องการให้คนอ่านมองดูแห่งความสดสวยมากกว่าสกปรกโสมม…

+++++++++++++++++++++

และสำหรับข้อมูลจากหนังสือ ชาวอักษรศาสตร์ ได้เขียนเกี่ยวกับประวัติของท่านไว้อย่างน่าสนใจว่า

ชอุ่ม ปัญจพรรค์ เกิดที่ตำบลโคกคาม อำเภอบางปลาม้า จังหวัดสุพรรณบุรี มีนิสัยชอบอ่านหนังสืออ่านเล่นตั้งแต่ 8 ขวบ ทั้งนี้เห็นจะเป็นเพราะท่านเจ้าคุณพิศาลสาระเกษตร และคุณหญิงเสงี่ยม เพาะการอ่านให้ พออายุแปดขวบเศษ มารดาเสีย บิดาถูกย้ายไปกินตำแหน่งนายอำเภอที่นครปฐม จึงย้ายมาเรียนที่โรงเรียนเบญจมราชาลัย และสมัครสอบเข้าเรียน ร.ร.เตรียมอุดมศึกษารุ่นแรก ได้เป็นนักเรียนเลขประจำตัว ๑ ของ ร.ร.เตรียมอุดมฯ เข้าเรียนต่อในคณะอักษรศาสตร์ พ.ศ. 2484-5

แนวการเขียน ได้มาจากอ่านเรื่องของ คุณเลียว ศรีเสวก ในนามปากกา อรวรรณ เรืองฤทธิ์ เรืองยศ ฯลฯ และเรื่องของ คุณสมร ชลานุเคราะห์ ผู้เขียนในนามปากกา น้อย ชลานุเคราะห์ (ของอรวรรณ พระเอกแกร่งกล้า น้อยชลานุเคราะห์ หวานจ๋อย) ทั้งสองนักประพันธ์นี้เขียนเรื่องจบด้วยความสุขเสมอ

++++++++++++++++++++++

สำหรับ โศรดาพลัดถิ่น ผมเคยจำสลับกับเรื่อง โศรดาชังรัก ซึ่งเป็นนวนิยายของลลิตา นักเขียนสตรีรุ่นครูอีกท่านหนึ่ง จนภายหลัง เมื่อมีโอกาสได้อ่านเรื่องนี้ และเห็นชื่อจึงรู้ว่าเป็นคนละเรื่อง คนละผู้เขียนกัน โศรดาพลัดถิ่น เป็นนิยายเก่า ที่เขียนขึ้นตั้งแต่ช่วงปี พ.ศ. 2499 พลอตเรื่อง คือแนวรักโศก ผสมผสานด้วยปมเข้าใจผิด สลับพ่อแง่แม่งอน ในขนบของนิยายรักพาฝันของยุคนั้นอย่างแท้จริง แม้ว่าสำนวนภาษาอาจจะไม่ทันยุคสมัยของปัจจุบันไปบ้าง แต่ก็ทำให้เห็น ถึงการใช้สำนวนภาษา ของคนในยุคสมัยนั้นๆ ได้เป็นอย่างดี

โศรดา หรือคุณหนูแดง เป็นลูกสาวของคุณเชิญ มหาเศรษฐีแห่งบางกอก แต่หญิงสาวก็กำพร้ามารดาตั้งแต่เยาว์วัย เหตุการณ์ทุกอย่างคงจะดำเนินไปอย่างมีความสุขตามประสาพ่อลูก และมีนายสุข คนรับใช้ชราผู้ซื่อสัตย์คอยดูแล แต่แล้วเมื่อนายเชิญได้แต่งงานใหม่กับคุณนายสวิง ผู้ปากหวานก้นเปรี้ยว ก็ทำให้ครอบครัวที่เคยอบอุ่นกลายเป็นร้อนระอุ ไม่ต่างกับอยู่ในกองเพลิง

โศรดามีชายหนุ่มคนรักที่คบหากันมานาน ที่ชื่อคุณเล็ก หรือรงค์ นกุล ตั้งแต่เธอเพิ่งอายุสิบเจ็ดสิบแปด แต่ต่อมารงค์ก็ย้ายไปทำงานที่โรงงานยาสูบที่หลวงแก่งซึ่งเป็นอำเภอเล็กๆ ในจังหวัดทางภาคเหนือ และทั้งคู่ก็ยังจดหมายติดต่อกันอยู่เสมอ รงค์สัญญาว่าเขาจะทำงานหาเงินเก็บ เพื่อมาขอเธอแต่งงานให้ได้ และทำให้โศรดาไม่เคยปักใจให้กับชายหนุ่มผู้ใดอีกเลย แม้ว่าจะไม่มีโอกาสได้พบหน้าชายหนุ่มคนรักมากว่า 5 ปี แล้วก็ตาม

+++++++++++++++++++++

ทุกอย่างมาถึงจุดสิ้นสุด เมื่อเธอรับรู้ว่ามารดาเลี้ยงพยายามยุยงให้บิดารับหมั้นนายทศ เศรษฐีหนุ่มที่มาติดพันโศรดาอยู่ และนายเชิญเองก็เห็นดีเห็นงามไปด้วย เหตุนี้เองที่ทำให้โศรดาตัดสินใจโทรเลขไปบอกรงค์ ก่อนจะแอบหนีออกจากบ้าน ขึ้นรถไฟไปยังแก่งหลวง โดยมีลุงสุข คอยติดตามมาด้วย

และที่สถานีรถไฟนั่นเอง ที่เธอได้พบกับรงค์

นั่นรงค์! ร่างสูงใหญ่ยืนอยู่อย่างทะนง ท่ามกลางชาวพื้นเมือง เขาสวมเสื้อผ้าฝ้ายเนื้อหยาบสีน้ำเงินจนแทบจะจำไม่ได้ ถ้าไม่เป็นเพราะใบหน้าเข้มงวดเหมือนเจ้าชายแขก และแว่นตากรอบทันสมัยของเขา

“รงค์ขา น้องอยู่นี่”

หญิงสาวเรียกเสียงสั่น ชายหนุ่มยื่นมือมาจับหญิงสาวให้ลงจากรถ หญิงสาวฉวยแขนเขามากอดไว้และยกมือมาแนบแก้ม อย่างรักใคร่และคิดถึง แต่แล้วก็ต้องตัวแข็ง เมื่อชายหนุ่มปลดมือเธอออกจากเขาอย่างกะทันหัน

ดูเหมือนว่ารงค์ ในวันนี้ จะแตกต่างจากชายหนุ่มผู้อ่อนหวานอ่อนโยนต่อโศรดา ราวกับคนละคน!

+++++++++++++++++++++++

แต่ในเวลานั้น หญิงสาวไม่มีโอกาสได้คิดเฉลียวใจ อารามดีใจ ที่เห็นเขามารับที่สถานีรถไฟ และการเดินทางในระยะเวลาอันยาวนาน ทำให้เธออ่อนเพลียแทบจะหมดเรี่ยวแรง แม้ว่า รงค์จะขอให้เธอไปจดทะเบียนกับเขาที่อำเภอ ก่อนจะเข้าสู่ปางไม้ โดยการขี่ม้าเข้าไปยังไร่ที่เขาทำงานอยู่ก็ตาม

โศรดาก็ไม่ได้ปฏิเสธ เพราะเธอรู้ว่าเธอรักเขาสุดหัวใจ คือความรักที่มีอยู่อย่างเชื่อมั่น เพียงชายคนเดียวเท่านั้น

แต่แล้วเมื่อมาถึงยังไร่ของรงค์ เธอจึงพบความจริงว่าชายหนุ่มที่ไปรับเธอยังสถานีรถไฟ ไม่ใช่ รงค์ นกุล แต่เป็นพี่ชายฝาแฝดของเขา ที่ชื่อ รังค์ นกุล!

+++++++++++++++++++++

ส่วนรงค์นั้น บัดนี้เขาติดการพนันและฝิ่นจนถอนตัวไม่ขึ้น ซ้ำยังมีภรรยาชื่อองุ่นที่เป็นลูกชาวเขาบนดอยถัดจากไร่ขึ้นไปนั่นเอง!!

รังค์ แฝดผู้พี่ ถูกลุงกับป้าขอมาเลี้ยงตั้งแต่เด็ก และเขาก็เติบโตทำงานเป็นเจ้าของไร่แห่งนี้ โดยไม่สนใจอิสตรี เพราะเขาเคยมีคู่หมั้น และถูกหล่อนทรยศหักหลังมาแล้วอย่างเจ็บปวด จนกระทั่งเขาได้รับโทรเลขจากโศรดา

แม้ว่าไม่อาจจะบังคับให้หล่อนกลับไปแต่งงานกับชายอื่นที่กรุงเทพฯ ได้ เพราะน้องชายของเขากลายเป็นคนสำมะเลเทเมาไปเสียแล้ว แต่เมื่อได้พบเห็นหน้าหญิงสาวเป็นครั้งแรก รังค์ก็รู้ว่าเขาตกหลุมรักโศรดาผู้พลัดถิ่นคนนี้เข้าเสียแล้ว

เขาสวมรอยเป็นรงค์โดยไม่ตั้งใจ และเพื่อรักษาเกียรติยศของเธอ ไม่ให้น้องชายของตน เข้ามาวุ่นวายกับชีวิตโศรดา เขาจึงตัดสินใจพาเธอไปจดทะเบียนสมรส แม้ว่าจะเป็นเพียงทางนิตินัยก็ตาม โศรดาเองก็ไม่ทันสังเกตว่า ชื่อของเขาและรงค์นั้นคล้ายกันจนแทบจะเป็นชื่อเดียวกัน

เรื่อง : โศรดาพลัดถิ่น

ผู้เขียน : ชอุ่ม ปัญจพรรค์

สำนักพิมพ์ : เขษมบรรณกิจ

ปีที่พิมพ์ : 2500

เล่มเดียวจบ

และเหตุการณ์ภายหลังจากนั้นก็คือฉากพ่อแง่แม่งอนระหว่างพระเอกกับนางเอก ที่ต่างก็ปฏิเสธหัวใจของตัวเองอย่างสุดฤทธิ์ ยิ่งเมื่อมีผู้มาพูดเป่าหูให้เข้าใจผิด รวมถึงตัวรงค์เองที่เบื่อหน่ายองุ่น และลงมายังปางพักของพี่ชาย จนพบกับโศรดาอีกครั้ง เขาพยายามรื้อฟื้นความรัก ความหลัง กับสาวน้อยที่เคยหลงรักเขาอย่างสุดรักสุดบูชา

แต่ในเวลานี้โศรดาเติบโตทางความคิดมากขึ้น และรู้ว่ารงค์กับรังค์คือความแตกต่างกันอย่างชัดเจน หล่อนพยายามช่วยเหลือให้เขากับองุ่นได้ปรับความเข้าใจกันโดยเฉพาะเมื่อภรรยาชาวเขาของเขากำลังตั้งครรภ์

และแน่นอนว่าเรื่องราวใน โศรดาพลัดถิ่น ก็คือนิยายรักพาฝันกระจุ๋มกระจิ๋มของคู่พระนาง ที่ท้ายสุดแล้วก็ย่อมลงเอยด้วยความเข้าใจกันได้ในที่สุด สำหรับนวนิยายเรื่องนี้น่าจะเป็นผลงานในเรื่องแรกๆ ของ คุณชอุ่ม ปัญจพรรค์ ก่อนที่ท่านจะมีผลงานเรื่องอื่นๆ ตามมาอีกจำนวนมาก

 

Don`t copy text!