หม่อมเจ้าสุริยกานต์

หม่อมเจ้าสุริยกานต์

โดย : หมอกมุงเมือง

Loading

บรรณาภิรมย์ โดย หมอกมุงเมือง คอลัมน์ที่อ่านเอาขอมอบความรื่นรมย์ให้กับผู้อ่านด้วยภาพปกสวยๆ และเนื้อเรื่องในแบบต่างๆ ของนักเขียนชั้นครูที่เคยผ่านมือ ผ่านตาและผ่านใจ เพื่อให้ทุกคนได้ร่วมรำลึกถึงผลงานของนักเขียนแต่ละท่านให้พอหายคิดถึงแม้เวลาจะผ่านไปแล้วเนิ่นนาน ภาพและตัวอักษรจะปรากฏให้เห็นอีกครั้งในยุคของการอ่านออนไลน์

****************************

สนับสนุนอ่านเอาด้วยการสั่งซื้อหนังสือ “ในสวนอักษร” คลิกที่นี่

เชื่อว่าหลายๆ ท่าน โดยเฉพาะผู้อ่านที่ชื่นชอบงานเขียนในแนวโรแมนติกพาฝัน จะต้องรู้จักคุ้นเคยกับ นามปากกา วลัย นวาระ เจ้าของฉายา ‘บาร์บารา คาร์ตแลนด์ ของเมืองไทยเป็นอย่างดี สำหรับในวันนี้ บรรณาภิรมย์ จะขอนำเสนอผลงานเรื่องเอกในจำนวนผลงานหลายร้อยเรื่องของท่าน ในซีรีส์ เทพกานต์ เรื่องแรก… หม่อมเจ้าสุริยกานต์ ครับ

หม่อมเจ้าสุริยกานต์ เป็นผลงานนวนิยายในยุคแรกๆ ของ ศรีเฉลิม สุขประยูร เจ้าของนามปากกา วลัย นวาระ จามรี พรรณชมพู นลิน บุษกร และอื่นๆ อีกหลายนามปากกา ท่านเกิดที่กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2475 ชื่อ ศรีเฉลิม เพราะเกิดตรงกับวันพระราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว บิดามารดาของท่านคือ หลวงและนางสัมฤทธิ์วิศวกรรม ท่านเข้ารับการศึกษาครั้งแรกที่โรงเรียนผดุงดรุณี ถ. ประมวญ จนจบมัธยมปีที่สี่ เนื่องจากเป็นคนชอบอ่านหนังสือและอ่านมาตั้งแต่เยาว์วัย ทำให้นึกอยากเขียนเล่นบ้าง จนกระทั่งมีโอกาสเข้าเรียนที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ใน ปี พ.ศ. 2493-2496  ยิ่งเพิ่มพูนความรู้ ความสนใจในการอ่านมากยิ่งขึ้น และเริ่มแปลเรื่องของ เดบบี้ เรย์โนลด์ส และ รอเบิร์ต แวกเนอร์ ดาวรุ่งในยุคนั้น ส่งไปนิตยสาร ประมวลภาพยนตร์ ซึ่งต่อมา เปลี่ยนเป็น ตุ๊กตาทอง โดยใช้นามปากกา วชิรา วัชรวัลลภ สำหรับผมเองก็เคยติดตามงานแปลของท่านในนามปากกานี้ แต่เป็นเรื่องแปลชุด แดนสนธยา ที่ให้ความสนุกสนานและตื่นเต้นไม่น้อยเลยทีเดียว

วลัย นวาระ

นามปากกา วลัย นวาระ ใช้ครั้งแรก ในการส่งเรื่องสั้นสามสี่เรื่องไปลง ผดุงศิลป์รายสัปดาห์ เรื่องยาวเรื่องแรก คือนิยายขนาดยี่สิบสี่ตอนจบ คือ ‘รักแรก’ และตามมาด้วย ‘ยอดรัก’ เป็นเรื่องที่สอง ถัดมาก็คือ ‘หม่อมเจ้าสุริยกานต์’ ที่ลงใน ดรุณีรายสัปดาห์ และประสบความสำเร็จเป็นอย่างสูง ต่อมานวนิยายเรื่องนี้ก็ยังต่อยอดตามมาอีกสามเรื่องคือ คุณชายธมกานต์ พธูเทพกานต์ และ เพชรเทพกานต์

จากข้อมูลของสำนักข่าวอิสรา เมื่อปี พ.ศ. 2560 โดย ‘พราวกระซิบ’ ได้เขียนไว้ว่า ‘เพลิงมธุรส’ คือผลงานนวนิยายเรื่องที่ 400 ของนักเขียนรางวัลนราธิป ปี 2555 ‘ศรีเฉลิม สุขประยูร’ วัย 85 ปี ภายใต้นามปากกา ‘ชมนาด ชวัลนุช’ ซึ่งใช้ชื่อนี้ในการเขียนงานอีโรติก และกำลังจะได้รับการตีพิมพ์กับสำนักพิมพ์หรรษา และยังเป็นเจ้าของนามปากกา จามรี พรรณชมพู และ นลิน บุษกร รวมถึง ‘วลัย นวาระ’ ซึ่งเป็นนามปากกาสร้างชื่อตั้งแต่อดีตตราบมาจนถึงปัจจุบัน  นับว่า ตั้งแต่ ‘รักแรก’ อันเป็นหลักไมล์เริ่มต้น มาจนถึงปี ปัจจุบัน (พ.ศ. 2563) ผลงานของท่าน ย่อมมีไม่ต่ำกว่า 400 เรื่องเลยทีเดียว!

วลัย นวาระ ถูกยกย่องจากคนในแวดวงวรรณกรรมว่า เป็นควีนออฟควีนนวนิยายโรแมนติก หรือ “บาร์บารา คาร์ตแลนด์ ของไทย” (นักเขียนนวนิยายรักที่ได้รับความนิยมสูงสุดของโลก) ด้วยผลงานหลากหลายเรื่องที่รู้จักกันดีและนักอ่านลุ้นให้ผู้จัดนำไปผลิตเป็นละครสักครั้ง คงหนีไม่พ้น ซีรีส์ชุดเทพกานต์ ดังที่กล่าวมาแล้ว

“ดิฉันเขียนเรื่อง ‘หม่อมเจ้าสุริยกานต์’ เสนอไป คุณชิต กันภัย บอกว่าดีเลย เพราะหม่อมเจ้ากำลังจะกลับมา เนื่องจากสมัยนั้น หม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล (ท่านมุ้ย) และ หม่อมเจ้าจุลเจิม ยุคล (ท่านใหม่) กำลังหนุ่มแน่น ดิฉันก็เพิ่งรู้จักชื่อทั้งสองท่านจากคุณชิต (หัวเราะ)”

ที่น่าภูมิใจคือ หม่อมเจ้าสุริยกานต์ เกือบได้สร้างเป็นภาพยนตร์ด้วย โดย หม่อมอุบล ยุคล ณ อยุธยา พระชายาในพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอนุสรมงคลการ (พระองค์ชายเล็ก) วังละโว้ ซึ่งมีชื่อเสียงในด้านนี้ “หม่อมอุบลวางตัวให้ ‘ภิญโญ ทองเจือ’ รับบทพระเอก แต่ติดปัญหาการเซ็นสัญญา ประกอบกับช่วงนั้น ‘แหวนทองเหลือง’ ขาดทุน จึงต้องพับโครงการไปก่อน”

สำหรับเรื่องราว ในนวนิยาย หม่อมเจ้าสุริยกานต์ อันเป็นภาคแรกในจตุรภาคของชุดซีรีส์เทพกานต์นี้ บอกเล่าเรื่องราวของ หม่อมเจ้าสุริยกานต์ เทพกานต์ ในวัย 30 ชันษา ท่านชายพี่ ทรงมีอนุชาฝาแฝด หม่อมเจ้าจันทรกานต์ หรือชายน้อง ซึ่งเสกสมรสไปกับหม่อมมะลุลี และมีบุตรชายเพียงคนเดียว คือคุณชายธมกานต์ ในวัยไม่ถึงสิบขวบ ซึ่งจะมีบทบาทเป็นพระเอกในเรื่องต่อไป

ปก คุณชายธมกานต์

ภายหลังจากท่านชายจันทรกานต์ถึงชีพิตักษัยไป จึงรู้ว่าพินัยกรรมทั้งหมดท่านชายน้อง ได้ยกให้กับท่านชายพี่เป็นผู้ดูแล เพราะทรงศรัทธานับถือในความสามารถของผู้เป็นเชษฐาเป็นอันมาก สร้างความไม่พอใจให้หม่อมมะลุลี หม่อมวัยสาวรุ่นเองก็ไม่ได้รักใครคุณชายธมกานต์เท่าใดนัก เพราะยังชอบออกสมาคม และต่อมาก็ได้พบรักใหม่กับเสี่ยเม้ง หรือนายสุเมธ แม้ว่าจะไม่มีผู้ใดเห็นด้วยก็ตามที หม่อมมะลุลีมักจะบอกเล่าภาพลักษณ์ของท่านชายพี่ ในทำนองว่าพระทัยร้าย ฮุบสมบัติของน้องชาย และท่านชายเอง ก็ไม่เคยแก้ข่าวต่างๆ เหล่านั้น ด้วยบุคลิกที่นิ่งขรึม เย็นชา แม้จะปากร้ายบ้างในบางที ทำให้หลายๆ คนเข้าใจผิด รวมไปถึง ประกายบุษยา ธิดาของประกายแก้ว ซึ่งเป็นสหายสนิทกับหม่อมรัตนาวลี มารดาของท่านชายสุริยกานต์

หม่อมรัตนาวลี หรือ หม่อมราชวงศ์หญิงรัตนาวลี รวิลักษณ์ เคยหมั้นหมายท่านชายไว้กับ ลูกสาวของประกายแก้ว ซึ่งเป็นเพื่อนรักของท่าน ตอนที่ประกายแก้วแต่งงานกับ นายบุญทวี วรุณพร และเพิ่งคลอดลูกสาวคือประกายบุษยาออกมาได้สามวัน เสียแต่ว่าประกายแก้วบุญน้อย จึงเสียชีวิตหลังคลอดไม่นาน และต่อมานายบุญทวีก็แต่งงานใหม่กับสารภี และไปทำฟาร์มเลี้ยงม้าที่ต่างจังหวัด

ประกายบุษยาชอบเขียนนิยาย และเมื่อได้ฟังภาพลักษณ์ของหม่อมเจ้าสุริยกานต์โดยไม่เคยรู้จักมาก่อน ทำให้หญิงสาวเกิดจินตนาการเขียนจินตนิยายแฟนตาซีเรื่อง แผ่นดินเพลิง ขึ้นมา โดยให้ตัวเอก (ตัวร้าย) ของเรื่อง ก็คือ เจ้าอาศิรวิษ มีบุคลิกและรูปร่างหน้าตาทุกอย่างเหมือนกับหม่อมเจ้าสุริยกานต์ ชนิดที่ว่าคนอ่านแทบจะไม่ต้องเดา และไม่มีใครรู้เลยว่าเจ้าของนามปากกา ‘อัศวินี’ ผู้นี้ ก็คือสาวน้อยประกายบุษยานั่นเอง

แต่ข่าวร้ายที่สุดสำหรับเธอก็คือการล่วงรู้ว่า ประกายแก้ว มารดา เคยหมั้นหมายเธอกับท่านชายผู้มีพิษร้ายพระองค์นั้นเอาไว้ตั้งแต่เยาว์วัย และบัดนี้ เมื่อท่านชายสุริยกานต์กำลังจะมองหาผู้หญิงที่เหมาะสมสำหรับการเสกสมรส ก็รู้เรื่องนี้จากหม่อมรัตนาวลีเข้าพอดี

ในเมื่อไม่มีหญิงสาวคนใดที่จะถูกพระทัยเลยสักคน ท่านชายเลยเกิดความสนพระทัย ประกายบุษยา โดยไม่เคยเห็นหน้ามาก่อน และเดินทางไปยังฟาร์มม้าของนายบุญทวี ประกายบุษยารู้เข้าก็พยายามเลี่ยง และท่านชายเองในตอนแรกก็ไม่ประทับใจในตัวประกายบุษยาเลย เพราะหล่อนไม่ใช่หญิงสาวอ่อนหวาน ช่างประจบ และไม่ได้แต่งตัวสวยงามสมเป็นกุลสตรีแต่อย่างใด ประกายบุษยาชอบขี่ม้า ใช้ชีวิตโลดโผน และพูดจาตรงไปตรงมา อีกต่างหาก

เมื่อไม่อยากจะเป็นฝ่ายถูกดูตัว ประกายบุษยาจึงตัดสินใจหนีไปหาหม่อมประภา หม่อมย่าที่กรุงเทพฯ พร้อมกับ ชล บำเพ็ญดี ลูกชายกำนันชื้น ซึ่งเป็นเพื่อนสนิทในวัยเยาว์ของเธอ ทำให้เกิดเรื่องวุ่นวายขึ้น ท่านชายเสด็จกลับพระนคร แล้วก็พบว่ารถของชลที่พาประกายบุษยาหนีไป เกิดหักหลบรถอีกคันหนึ่งจนเสียหลักตกลงไปในคูน้ำ และทั้งสองก็ไปหลบพายุฝนในโรงแรมแห่งหนึ่ง โดยที่ชลบาดเจ็บขาหัก

หม่อมเจ้าสุริยกานต์ อดไม่ได้ จึงเสด็จเข้าไปช่วยเหลือทั้งคู่

 

แม่สาวต้นเหตุคนนั้น ก็ไม่ใช่ว่าจะสะสวยหรือดีวิเศษอย่างไร ปากจัด ดื้อรั้น อวดดี ท่านออกจะเกลียดขี้หน้าด้วยซ้ำไป

แล้วอย่างไรจึงต้องไปช่วยเหลือเจ้าหล่อน?

แต่ภาพของประกายบุษยา ที่ขวัญเสีย ปากสั่น แก้มเปียกน้ำตาเป็นคราบนั่นต่างหาก

ในวินาทีนั้นท่านทรงลืมทุกสิ่งทุกอย่าง นอกจากหาทางช่วยหล่อนให้พ้นห้วงโทมนัสนี้โดยเร็วที่สุด ดูทีรึ ผู้หญิงอื่นหมื่นแสนมายอมสยบแทบบาท ท่านยังไม่มีพระประสงค์จะเหลียวแล แต่กลับมาอนุเคราะห์ผู้หญิงคนนี้ซึ่งไม่มีคุณสมบัติใดๆ ให้สะดุดเนตรแม้แต่น้อย

ดีแต่ก่อกวน วุ่นวาย ยั่วโมโห แล้วก็ปากร้ายอย่างที่สุด!

 

พระทัยแต่แรกนั้นด้วยแรงทิฐิมานะอยากจะเอาชนะใจสาวน้อยปากกล้าอวดดีคนนี้ ตั้งพระทัยว่าจะทำให้เจ้าหล่อนหลงเสน่ห์แล้วค่อยเอ่ยปากปฏิเสธ โดยเฉพาะเมื่อทรงรู้ว่าสาวน้อยประกายบุษยาตัวดีนี่เองที่เป็นเจ้าของนามปากกาอัศวินี และเอาท่านชายไปเขียนเป็นภาพยักษ์มารในนวนิยายขายดี แผ่นดินเพลิง เรื่องนั้น!

ประกายบุษยาก็ไม่คาดคิดว่านิยาย แผ่นดินเพลิง ของตัวเอง จะกลายเป็นเรื่องขายดีขึ้นมาได้ เพราะผู้อ่านหลายคน สนุกกับการอ่านเรื่องราวของเจ้าอาศิรวิษผู้ใจร้ายใจทมิฬกันงอมแงม เห็นจะมีแต่หม่อมรัตนา และท่านชายสุริยกานต์เท่านั้น ที่ขำกับนิยายเรื่องนี้ไม่ออก

เรื่องราวยิ่งพัลวันพัลเกมากขึ้น เมื่อหม่อมมะลุลีต้องการตัวคุณชายธมกานต์มาดูแลเอง ทั้งที่ตนเองก็ไม่ได้รักใคร่มากมาย และเมื่อตัดสินใจแต่งงานกับนายสุเมธและไปฮันนีมูนที่สงขลา หม่อมจึงลักพาตัวคุณชายธมติดเรือมาด้วย เป็นจังหวะเดียวกับที่ประกายบุษยาและชลมาเห็นเหตุการณ์พอดี ประกายบุษยาเป็นห่วงคุณชายธม เพราะรู้ว่าเด็กน้อยติดท่านชายสุริยกานต์ซึ่งเป็นท่านลุงมากกว่าแม่แท้ๆ ของตัวเอง จึงจับพลัดจับผลู ติดเรือของเสี่ยสุเมธตามมาด้วย

ในขณะที่ทางพระนครก็วุ่นวายเพราะการหายตัวไปของทุกคน หม่อมเจ้าสุริยกานต์ตัดสินพระทัยตามหาทั้งชายธมและแม่สาวนักเขียนจอมจุ้นจนมาถึงสงขลา แต่เมื่อถึงตอนนั้น เสี่ยสุเมธก็เจอฤทธิ์ของชายธม อาละวาดจนแทบจะยอมแพ้ นายสุเมธจึงดีใจที่หม่อมเจ้าสุริยกานต์จะมารับตัวคุณชายธมกลับไปดูแลเอง

ภาพของท่านชาย ที่อ่อนโยนต่อคุณชายธม ด้วยความรักอย่างจริงใจ ยิ่งทำให้ประกายบุษยารู้สึกผิดที่เขียนให้ท่านชายอาศิรวิษในนิยายของตัวเองร้ายกาจทุกๆ อย่าง เธอตัดสินใจสารภาพผิดและขออภัยต่อท่านชาย แม้ว่าจะถูกท่านชายตำหนิ จะรับสังบริภาษหรือลงโทษทัณฑ์อย่างไร เธอก็ยอมหมดแล้ว

และบทเรียนสำคัญที่ประกายบุษยาได้รับจากท่านชายก็คือ…

 

“ไหนว่าจะมีเรื่องรับสั่งไงล่ะเพคะ?” หญิงสาวทูลเสียงรัวเร็ว

“ก็มีน่ะซี” ท่านชายสาวพระบาทเข้ามาใกล้จะถึงตัว

“ก็รับสั่งมาซีเพคะ”

“อยากบอกนิดเดียวว่าเธอน่ารักเหลือเกิน แล้วพี่ก็รักเธอจนเต็มหัวใจแล้ว รู้หรือเปล่า?”

“อย่านะเพคะ อุ๊ย!”

บุษยาไม่มีทางป้องกันตัวเลย ไม่มีเวลาจะถอยหนี จะคิด หรือแม้แต่จะหายใจ ความอึดอัดอกสั่น เมื่อถูกรวบเข้าไปอยู่ในอ้อมอุระนั้น เป็นอยู่เพียงวินาทีเดียว ความรู้สึกทั้งมวลก็หวั่นไหว ลอยวับขึ้นไปล่องฟ้าอยู่กับปุยเมฆ เมื่อโอษฐ์ท่านชายประทับลงมาบนริมฝีปากอย่างหนักหน่วงและดูดดื่ม ในอาการเรียกร้องและวิงวอน ควบคู่กันไป อย่างที่บุษยาสิ้นหนทางจะปฏิเสธโดยสิ้นเชิง…

เรื่อง : หม่อมเจ้าสุริยกานต์

ผู้ขียน : วลัย นวาระ

สำนักพิมพ์ : คลังวิทยา

ปีที่พิมพ์ : 2520

สองเล่มจบ 

และแล้ว ฉากสุดท้ายอันแสนหวานสีชมพูสดใสของพระนางในนวนิยายเรื่องนี้ ก็ดำเนินมาจนถึงบรรทัดสุดท้าย ด้วยความประทับใจของผู้อ่านทุกคน

สำหรับเพื่อนนักอ่านที่สนใจซีรีส์ชุดนี้ ปัจจุบันมีการนำมาจัดพิมพ์ใหม่ทั้งสี่เรื่อง โดยเรื่องถัดไปก็คือ คุณชายธมกานต์ หลานชายตัวแสบ ของ หม่อมเจ้าสุริยกานต์ แล้วต่อด้วย เพชรเทพกานต์ กับ พธูเทพกานต์ ซึ่งเป็น รุ่นลูกของ หม่อมเจ้าสุริยกานต์กับ หม่อมประกายบุษยา นั่นเอง ครับ

 

หมายเหตุ สำหรับปกที่นำเสนอ มีทั้งปก หม่อมเจ้าสุริยกานต์ และ คุณชายธมกานต์ ซึ่งน่าจะเป็นปกแรกที่จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์คลังวิทยาครับ

Don`t copy text!