เรื่องลึกลับ

เรื่องลึกลับ

โดย : หมอกมุงเมือง

Loading

บรรณาภิรมย์ โดย หมอกมุงเมือง คอลัมน์ที่อ่านเอาขอมอบความรื่นรมย์ให้กับผู้อ่านด้วยภาพปกสวยๆ และเนื้อเรื่องในแบบต่างๆ ของนักเขียนชั้นครูที่เคยผ่านมือ ผ่านตาและผ่านใจ เพื่อให้ทุกคนได้ร่วมรำลึกถึงผลงานของนักเขียนแต่ละท่านให้พอหายคิดถึงแม้เวลาจะผ่านไปแล้วเนิ่นนาน ภาพและตัวอักษรจะปรากฏให้เห็นอีกครั้งในยุคของการอ่านออนไลน์

****************************

สำหรับบทรีวิวเรื่องนี้ ได้เขียนขึ้นเพื่อรำลึกถึงเนื่องในโอกาส หนึ่งร้อยปีชาตกาล ของ ว.ณ ประมวญมารค (20 พฤศจิกายน 2463-16 กุมภาพันธ์ 2520) ครับ

ว.ณ ประมวญมารค หรือ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวิภาวดีรังสิต ท่านทรงเริ่มงานเขียนหนังสือเมื่อพระชนมายุเพียง 14 ชันษา ด้วยการเขียนเรื่อง ‘เรื่องของวิลเลียมเด็กจอมแก่น’ ลงในหนังสือพิมพ์ ประมวญสารรายสัปดาห์ เรื่องต่อมาได้แก่ ‘ปริศนา’ เขียนขณะเกิดสงครามโลกครั้งที่สอง จากนั้นก็เขียหนังสือเรื่อยมา จากหนังสือประวัตินักเขียนไทย เล่มหนึ่ง ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า แรงบันดาลใจที่ทำให้เขียนหนังสือนั้น ส่วนหนึ่งอาจจะเนื่องมาจากการได้อยู่ใกล้ชิดกับพระบิดา ซึ่งเป็นนักเขียนคนสำคัญของเมืองไทย คือ น.ม.ส. เช่นเมื่อครั้งสำเร็จการศึกษาได้เป็นเลขานุการของ น.ม.ส. ทำหน้าที่เขียนตามคำบอกลงในหนังสือพิมพ์ หน้า 5 ของหนังสือพิมพ์ ประมวญวัน และ ประมวญสารรายสัปดาห์ และคอยตรวจบรู๊ฟให้ด้วย

เป็นที่น่าเสียดาย ที่ในระหว่างการบำเพ็ญพระกรณียกกิจในครั้งหนึ่ง ขณะทีทรงเป็นผู้แทนพระองค์ไปทรงเยี่ยม ทหาร ตำรวจชายแดนที่อำเภอเวียงสระ จังหวัดสุราษฏร์ธานี เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์2520 เครื่องบินพระที่นั่งถูกลอบยิงจากผู้ก่อการร้ายจนสิ้นพระชนม์ในครั้งนั้น นับว่าเป็นการสูญเสียอันยิ่งใหญ่ รวมถึงในวงการวรรณกรรมด้วยเช่นกัน

สำหรับนักอ่านหลายคน คงจะคุ้นเคยกับชื่อของนวนิยายคลาสสิคชุด ปริศนา รัตนาวดี เจ้าสาวของอานนท์ หรือ วรรณกรรมน่ารักๆ อย่าง นิกกับพิม ซึ่งเคยเป็นหนังสืออ่านนอกเวลาในระดับมัธยมศึกษา อันเป็นบทประพันธ์เอกของ ว.ณ ประมวญมารค เป็นอย่างดี นอกจากผลงานในรูปแบบนวนิยายเหล่านี้แล้ว ยังมีผลงานแปล และผลงาน ‘บทละคร’ เรื่องลึกลับ เรื่องนี้ที่น่าสนใจอยู่ไม่น้อยรวมอยู่อีกด้วย

เรื่องลึกลับ เป็นบทละครวิทยุที่แปลงมาจากเรื่องชุด ‘ศุกระวาร-มาณะศรี’ ของ ‘แดนเดือน’ หรือหม่อมเจ้าพรพิมลพรรณ รัชนี ผู้เป็นชายาในพระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ ซึ่งเป็นนักเขียน นามปากกา น.ม.ส. นอกจากนี้แล้วโอรส-ธิดาต่างก็ล้วนเป็นนักเขียนเช่นกัน นอกเหนือจาก ว.ณ ประมวญมารค แล้ว หม่อมเจ้าภีศเดช รัชนี พระโอรสของ น.ม.ส. เองก็ยังเป็นนักเขียนในนามปากกา ภ.ณ ประมวญมารค

สำหรับเรื่องชุด ศุกระวาร-มาณะศรี ในรูปแบบละครนั้น ผู้รับบทศุกระวารและมาณะศรีในครั้งนั้น คือ ม.ร.ว. ฉันทากร วรวรรณ และ ม.ร.ว. สายสิงห์ สวัสดิวัตน์ นอกจากนี้แล้ว ในจำนวนเรื่องทั้งหมด 15 เรื่อง ยังมี ‘เรื่องสืบสรรพการ’ ซึ่งแปลงมาจาก พระนิพนธ์ของ น.ม.ส. ร่วมอยู่ด้วย ซึ่งเรื่องราวในแนวนักสืบเชลยศักดิ์เช่นนี้ ได้รับอิทธิพลสำคัญจากนวนิยายชุดของ อกาธา คริสตี  นักเขียนนวนิยายแนวสืบสวนสอบสวน ที่นักอ่านไทยรู้จักกันดี ไม่ว่าจะเป็น เฮอร์คูล ปัวโรต์ หรือ มิสเจน มาร์เปิ้ล โดยเฉพาะชุด Partner in Crime ซึ่งมีสองสามีภรรยา ทอมมี กับ ทัปเพนซ์ เบอเรสฟอร์ด ที่รับบทเป็นจารบุรุษและจารสตรีในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1

ทอมมี กับ ทัปเพนซ์ เบอเรสฟอร์ด ปรากฏตัวครั้งแรกใน The Secret Adversary (ภาษาไทยแปลในชื่อ ศัตรูลับ) ในปี ค.ศ. 1922 และจากนั้น บทบาทของสองนักสืบคู่หู ก็ดำเนินต่อมาในรูปของนวนิยายอีกสี่เล่ม ก็คือ
เรื่องสั้น Partner in Crime (1927) นวนิยาย N or M (1941) By the Pricking of My Thumb (1968) และ Postern of Fate (1973)

การสร้างตัวละครศุกระวารและมาณะศรี ขึ้นมาเป็นคู่หูนักสืบแบบไทยๆ ในเวลานั้น จึงเป็นหมุดหมายสำคัญที่น่าสนใจสำหรับวรรณกรรมในแนวรหัสคดีอยู่ไม่น้อยเลยทีเดียว

เรื่องราวของ ศุกระวาร-มาณะศรี ปูเรื่องในบทแรก ด้วยเหตุการณ์ที่ทำให้สองหนุ่มสาว มารู้จักกันก่อน เมื่อคุณหญิงสอางค์อัศวาชีพ เป็นเพื่อนรักกับมารดาของมาณะศรี และไหว้วานให้เธอมาช่วยดูแลบ้านในช่วงที่ท่านเดินทางสำรวจสวนยางพาราที่กันตัง มาณะศรีจึงมีโอกาสรู้จักกับศุกระวาร ลูกชายคนเดียวของท่านโดยบังเอิญ เพราะต่างก็เข้าใจผิดว่าอีกฝ่ายเป็นขโมยเข้ามาปล้นบ้าน!

ต่อมาทั้งคู่ก็ได้คบหาจนแต่งงานกัน และนั่นเองคุณจุดเริ่มต้นของชีวิตนักสืบคู่หู เมื่อท่านเจ้ากรม เจ้านายของศุกระวารแวะมาปรึกษา ว่าจะขยายงานเกี่ยวกับงานนักสืบขึ้น โดยศุกระวารเป็นหัวหน้าและมาณะศรีเป็นผู้ช่วย หน่วยงานลับนี้ จึงใช้ชื่อบังหน้าว่าบริษัทนักสืบเจริญเวียง โดยนอกจากรับสืบเรื่องราวทั่วไปแล้ว วัตถุประสงค์หลักก็คือการสืบซ่องทุจริตของเจ้าของบริษัทเดิมแห่งนี้นั่นเอง

จากนั้น ฉายานามใหม่ของสองนักสืบที่ใช้ก็คือ นายภุมวาร รถาธึก และ นางสาวสีสด ปัญญาเลิศ เลขาคนสวย โดยมีเจ้าตุ้น คนรับใช้ของทั้งสองเป็นนักการประจำสำนักงานนักสืบ เจริญเวียง

คดีหลายคดีที่ปรากฏในหนังสือเล่มนี้ มีทั้งเรื่องพิสดาร เรื่องเล่า และเรื่องสืบสวนหลากรสชาติ ไม่ว่าจะเป็นคดีแรก ที่เป็นคดีคนหาย

นายสนอง เศรษฐีหนุ่มที่มาติดต่อให้ช่วยตามหาสาวน้อยนาม ‘มนัสา’ ช่างตัดผมในร้านจิตราภรณ์ ที่นายสนองแอบชอบพออยู่ แต่เขายังไม่เคยบอกรักเธอเลยสักครั้ง มนัสาเคยพูดถึงบริษัทนักสืบเจริญเวียงมาก่อนหน้า พอเกิดเรื่อง นายสนองก็เลยนึกถึงและมาติดต่อให้ช่วยเหลือ ซึ่งมาณะศรีรับปากในทันที ในขณะที่ศุกระวารยังมืดแปดด้าน เขาไปค้นหาตามโรงพยาบาลต่างๆทั่วพระนคร แต่สุดท้ายมาณะศรีก็สารภาพว่าเป็นแผนของเธอกับมนัสาเพื่อนรักนั่นเอง ที่จะหาลูกค้ารายแรกให้บริษัทและต้องการช่วยมนัสาให้สมหวังในรัก เพราะนายสนองปากหนัก ไม่ยอมสารภาพรักขอแต่งงานเธอสักที เลยจัดฉากให้หายตัวไป และสุดท้ายแผนการของมาณะศรีก็ประสบผลสำเร็จ นอกจากสืบคดีแรกได้แล้ว ยังช่วยให้สองหนุ่มสาวได้สมหวังอีกด้วย

คดีต่อมา เป็นเรื่องการสืบสวนมรกตหัวแหวนที่หายไปของคุณหญิงภมร ที่มาเล่นไพ่ยังบ้านคุณหลวง และสมาชิกคนอื่นๆ เธอเกิดทำแหวนหักและมรกตหลุดหายไป ซึ่งคราวนี้ ด้วยวิธีการสืบสวนสอบสวนและการสังเกตสมาชิกวงไพ่ รวมถึงคนรับใช้ในบ้านคุณหลวง ทำให้ทั้งศุกระวารและมาณะศรีสามารถจับตัวคนร้ายสำเร็จ

คดีเรื่องสืบสรรพการ ซึ่งมาจากพระนิพนธ์ของ น.ม.ส. แต่แปลงเรื่อง ใน ศุกระวารและมาณะศรี มามีบทบาทในการสืบคดี เมื่อพระยามงคลกาลแห่งบ้านโปร่งอากาศมาติดต่อสองนักสืบที่แอบลอบเข้ามาในบ้าน และลักเอาเงินสดกับเครื่องเพชรไปอย่างอุกอาจ ในขณะที่สมาชิกในบ้าน กำลังกินข้าวเย็นกันอยู่ ศุกระวารสอบถามได้ความว่าบ้านของพระยามงคลกาลนอกจาก ‘บรรยา’ บุตรชายแล้ว ยังมีกัปตันเสนหรือพันตรีเสนา ซึ่งเป็นบุตรขุนศรี สหายดั้งเดิมที่ไปรับราชการอยู่ทางอีสาน และมาพบกันเมื่อหลายวันก่อน ซึ่งท่านได้ชวนให้มาอาศัยอยู่ด้วย แม้ว่าศุกระวารจะสงสัยชายผู้นี้ แต่ท่านเจ้าคุณก็แก้ต่างให้ เพราะในช่วงเกิดเหตุตอนที่ทั้งหมดวิ่งตามรอยผู้ร้ายออกไป กัปตันเสนเป็นคนแรกที่สะดุดล้มเพราะผู้ร้ายวางเชือกขึงดักเอาไว้

จากการสืบสวนร่องรอยของเสาที่คนร้ายขึงเชือกดัก รอยสีที่ถลอกระหว่างคนร้ายปีนหนีลงมาทางหน้าต่าง และสอบถามเจ้าถึก คนรับใช้ท่านเจ้าคุณเพื่อประมวลเรื่องราวทั้งหมด ในที่สุดทั้งสองคู่หูนักสืบก็ค้นพบความจริง

มาณะศรี : กัปตันเสนก้อเป็นขโมย

          ศุกระวาร : ก้องั้นน่ะซี เจ้าคุณท่านโกรธฉันใหญ่ที่ไปว่าลูกของเพื่อนท่าน เถียงเสียงแข็งว่าเป็นไปไม่ได้ หารู้ไม่ว่า กัปตันเสนคนนั้นเป็นกัปตันเสนตัวปลอม ฉันโทรเลขไปถึงเพื่อนที่อยู่เมืองเดียวกับที่กัปตันเสนตัวจริงอยู่ ถามว่ากัปตันเสนอยู่ที่ไหน ก็ได้รับคำตอบว่าอยู่ที่โน่น ไม่ได้ไปไหน

          มาณะศรี : แล้วเจ้ากัปตันเสนตัวปลอมนั่นล่ะคะ เป็นใคร

          ศุกระวาร : ก็เป็นเจ้าผู้ร้ายธรรมดาคนหนึ่งที่ชำนาญการไขตู้ เมื่อก่อนเป็นคนใช้กัปตันเสนตัวจริง ส่วนเจ้าคนใช้กัปตันเสนตัวปลอม ที่ทำลาไปเยี่ยมญาติที่กรุงเก่า แต่อันที่จริงคืนนั้น คอยอยู่ใต้หน้าต่าง เป็นขโมยอีกคนที่เป็นเพื่อนกัน เมื่อฉันขึ้นไปสำรวจห้องนอนเจ้าคุณ ตรวจดูตามฝา เห็นรอยปีนเข้าทางในเรือน เผอิญฝาเจ้ากรรมทาสีใหม่ยังไม่แห้งสนิท ฉันไปค้นห้องกัปตันเสน พบว่ากางเกงแพรจนของกัปตันเสนในห้องแกมีรอยสีเปื้อนดังที่คิดไว้

เมื่อลงไปดูรอยเท้าข้างล่าวตรงกับหน้าต่างห้องนอน วัดเทียบกับรอยเท้าของคนที่เดินมาสะดุดเชือกก็ตรงกัน

และในที่สุด คดีเรื่องสืบสรรพการ ก็เอวังด้วยประการฉะนี้

นอกเหนือจากเรื่องดังกล่าวแล้ว ยังมีกรณีสืบสวนอีกหลากหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นกรณี ครูสาวนันทาเสียชีวิตปริศนาริมแม่น้ำเจ้าพระยา แม้ว่าใครๆ จะเข้าใจว่าหล่อนฆ่าตัวตายเองเพราะผิดหวังในความรัก แต่ครูใหญ่ของนันทาไม่เชื่อ จึงเป็นหน้าที่ขอสองคู่หูต้องไปสืบหาตัวฆาตกรว่าเป็นใครกันแน่ และพบกับความจริงที่คาดไม่ถึง

คดีรถยนต์สีแสดที่มีเกิดการฆาตกรรมชายคนหนึ่งในบ้าน โดยมีผู้ต้องสงสัยสองคน คนหนึ่งเป็นชายข้างบ้าน อีกคนคือบุรุษที่ขับรถสีแสดที่เป็นปริศนา แต่ด้วยการสืบจากคำให้การนั่นเอง ที่ทำให้ศุกระวารและมาณะศรีสามารถหาตัวผู้ร้ายที่แท้จริงได้ ด้วยประโยค ‘รถยนต์สีแสด’ นั่นเอง

คดีเหตุใหญ่ในโรงเต้นรำ เมื่อ ศุกระวาร มาณะศรี ไปร่วมงานเต้นรำแฟนซีสวมหน้ากากนั่นเอง แทนที่จะสนุกสนานกับงานรื่นเริง กลับมีเหตุการณ์ฆาตกรรมเกิดขึ้น มาณะศรีได้ยินผู้ตายพูดชื่อฆาตกรที่ฆ่าเธอเป็นคำสุดท้าย และพยานทุกคนก็รับรู้ว่าฆาตกรคือบุรุษในชุดแฟนซีคนนั้น แต่แล้วเหตุการณ์ก็พลิกล็อก เมื่อนักสืบสาวได้ค้นพบข้อมูลบางอย่างที่บ่งชี้ว่าสิ่งที่เธอได้ยินจากปากคนตายอาจจะไม่ใช่ความจริงทั้งหมด!

เรื่อง : เรื่องลึกลับ

ผู้ขียน : ว.ณ ประมวญมารค

สำนักพิมพ์ : รวมสาส์น

ปีที่พิมพ์ : 2517

เล่มเดียวจบ

เรื่องราวของศุกระวาร-มาณะศรี ยังมีอีกหลายเรื่อง ที่แม้จะเขียนในรูปของบทละคร แต่นักอ่านก็สามารถก็อ่านได้อย่างเพลิดเพลิน ได้อรรถรสซึ่งจบในแต่ละตอน ให้ความสนุกสนานในการอ่าน อีกรูปแบบหนึ่ง ที่น่าสนใจไม่น้อยเลยทีเดียวครับ

 

Don`t copy text!