ศิวาลัย

ศิวาลัย

โดย : หมอกมุงเมือง

Loading

บรรณาภิรมย์ โดย หมอกมุงเมือง คอลัมน์ที่อ่านเอาขอมอบความรื่นรมย์ให้กับผู้อ่านด้วยภาพปกสวยๆ และเนื้อเรื่องในแบบต่างๆ ของนักเขียนชั้นครูที่เคยผ่านมือ ผ่านตาและผ่านใจ เพื่อให้ทุกคนได้ร่วมรำลึกถึงผลงานของนักเขียนแต่ละท่านให้พอหายคิดถึงแม้เวลาจะผ่านไปแล้วเนิ่นนาน ภาพและตัวอักษรจะปรากฏให้เห็นอีกครั้งในยุคของการอ่านออนไลน์

****************************

ผมหยิบ ‘ศิวาลัย’ นวนิยายสุดรักอีกเรื่องหนึ่งของ ป้าอี๊ด หรือทมยันตี นักเขียนนวนิยายและศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ที่มีผลงานมากมายนับร้อยเรื่อง ขึ้นมาอ่านอีกครั้ง ภายหลังจากอ่าน ธรรมนิยาย จอมจักรพรรดิอโศก จบลงแล้ว ศิวาลัย เคยตีพิมพ์ลงในนิตยสาร สกุลไทยในช่วงปี 2543-2544 ก่อนจะนำมารวมเล่มครั้งแรกในเดือนมีนาคม 2544 แม้ว่าเนื้อหาในนิยายเรื่องนี้จะแตกต่างไปคนละแนวจาก จอมจักรพรรดิอโศก แต่เป็นการนำตัวละครในประวัติศาสตร์ราชวงศ์โมริยะ มาสร้างเป็นพล็อตนวนิยายแนวภพชาติที่น่าสนใจเรื่องหนึ่งเลยทีเดียว

เรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับความรัก ความผูกพันและความเจ็บแค้นเกลียดชังระหว่างรุทร กับวามริน ในภพปัจจุบัน ที่ย้อนกลับไปถึงปมเงื่อนที่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในยุคแห่งราชวงศ์โมริยะของ พระเจ้าอโศกมหาราชแห่งนครปาตลีบุตร!

วามริน หญิงสาวผู้สวยงามสง่า และบุคลิกเย็นชา เธอคือนางแบบชื่อดัง ซึ่งเป็นที่ต้องการตัวของทุกคน ตั้งแต่เด็กมาแล้วที่วามรินมีความรู้สึกว่าเธอแตกต่างไปจากพ่อแม่และพี่สาวคืออินทุกานต์ เมื่อถูกล้อเลียนอยู่บ่อยครั้งว่าเป็นเด็กแขกลูกแขกที่พ่อแม่เก็บเอามาเลี้ยง แม้กระทั่งเมื่อเติบโตขึ้น เธอจึงรู้ความจริงว่าหลังจากคุณอารดาแม่ของเธอมีพี่อินทุกานต์แล้ว ได้เกิดสูญเสียลูกสาวคนเล็กไปด้วยอุบัติเหตุ ตราบจนกระทั่งเมื่อได้ติดตามคุณชัชพล สามี ซึ่งทำงานเป็นนักการทูต ไปยังประเทศอินเดีย ณ เมือง ฤษีเกศ นั่นเอง ที่เธอได้พบกับเด็กน้อยเร่ร่อนคนหนึ่ง เกิดความคุ้นเคยผูกพันอย่างประหลาด จนนำมาอุปการะไว้ และตั้งชื่อให้ว่า วามริน

วามรินและอินทุกานต์ ต่างรักใคร่กลมเกลียวกันไม่ต่างกับเป็นพี่น้องร่วมสายเลือด อินทุกานต์จะมีความกลัวเกี่ยวกับไฟ และชอบฝันบ่อยครั้งว่าตัวเองถูกเผาไหม้ตายทั้งเป็นอยู่ในกองเพลิง ในขณะที่วามรินเองก็ฝันอยู่บ่อยครั้ง

คราวนั้นเธอจะอยู่ท่ามกลางวิหารใหญ่ งดงามยิ่ง ท่ามกลางเสียงกระหึ่มของมนตรา การ “กลับไป” หลายครั้งหลายครา ทำให้… ชินปาก เบื้องหน้า… เทวรูปหรืออะไรสักอย่าง บนแท่นเป็นเงาๆ ในควันกำยาน เธอเห็นชัด

จันทร์เสียวอร่ามเรือง… ปลายแหลมแตะไว้ด้วยดาริกาพร่างพราย

มีคนห้อมล้อม จัดเครื่องแต่งกายให้ และแล้วเสียงนุ่มลึก กังวานดัง

“โสมาวดี… โสมาวดี…”

และเธอก็ได้เห็นบุรุษในชุดอาภรณ์สีขาว มีมีดสั้นเหน็บบั้นเอวเอาไว้ และเกิดความรู้สึกทั้งปีติและเกลียดชังขึ้นมาอย่างประหลาด เช่นเดียวกับการเกิดรอยปานคล้ายรูปรอยบาดแผลจากคมมีดที่มีติดตัวมาตั้งแต่เกิด แต่เธอก็ไม่รู้ถึงสาเหตุแห่งความรู้สึกนั้น จนกระทั่งได้พบกับรุทร!

นี่เองคือบุรุษที่พลันได้พบหน้า ก่อความรู้สึกทั้งปรีติและเกลียดชังขึ้นพร้อมกันอย่างน่าพิศวง

 

รุทรคือชายหนุ่มผู้ที่เกิดมาพร้อมกับเหมือนมีสองชีวิตในร่างเดียว เมื่อวัยเยาว์เขาได้มีโอกาสฝันไปถึงเทวรูปองค์ใหญ่ที่สถิตยังเทวสถานอันมีนามศิวาลัย และบอกว่าเขาคือโอษฐ์แห่งมหาเทพในอดีตชาติ เขาคือพราหมณ์ผู้เป็นนักบวช

รุทระ “รู้ตัว” เสมอ ตนมีสองร่าง

ร่างหนึ่งทรงอำนาจ ครอบครองแทบทั้งหมด ความสำนึกในตัวตนของตนน้อยลงทุกที ชีวิตของเขาน้อยกว่าอีกส่วน

เขาเห็น ทั้งที่ๆ ดวงตาหลับสนิท เด็กชายวัยไม่เกินห้าขวบกลิ้งลงบันไดสูง ชัน หมอกควันสีขาวบางเบาเป็นดวงกลมห่อหุ้มร่างที่นอนเงียบ แล้วค่อยๆ ลอยห่าง จากนั้นแสงยะยับ พราวพร่างละม้ายแสงเพชรต้องแสงสว่างเบียดแทรก

“เราและเจ้า”

จากนั้นมารุทระไม่เคยรู้สึกว่าตนเป็นเด็ก เจ้าตัวจึงชอบปลีกตัวอยู่คนเดียวเงียบๆ จนเติบใหญ่ ร่างนั้น ทรงสรรพวิชามหาศาล เขา “รู้” โดยไม่ต้องเรียน…

“เราเคยเป็นผู้สนองโอษฐ์แห่งพระผู้เป็นเจ้า”

และเขายังรับรู้ว่ามีภารกิจสำคัญที่จะต้องกระทำในชาติภพนี้ให้ลุล่วงร่วมกับหญิงสาวที่ชื่อ วามริน หรือเจ้าหญิงโสมาวดีในอดีตชาติ ณ สถานที่อันมีชื่อว่าศิวาลัย!

ทุกอย่างถูกดึงเข้ามาอยู่ในวังวนแห่งชาติภพ เมื่อชาดิศและทีมงาน ติดต่อให้วามรินไปถ่ายแบบที่ทัชมาฮาล และหล่อนตอบตกลง ในขณะเดียวกัน ทางทีมงานก็ติดต่อรุทรให้เป็นผู้ประสานงานในการเดินทางครั้งนี้ด้วย เพราะเขาคุ้นเคยกับทางรัฐบาลอินเดีย นั่นเองที่ทำให้สองหนุ่มสาวได้เดินทางร่วมกันไปสู่ดินแดนอดีตกาลนั้น พร้อมกับชาดิศที่แอบหลงรักวามรินอยู่เช่นกัน

จากนั้น เมื่อทั้งคู่ รวมถึงชาดิศ ได้เดินทางมาจนถึง เมืองฤษีเกศ อันเป็นต้นแห่งธารหิมาลัย และต้นทางแห่งการขึ้นสู่ศิวาลัย อันเป็นเทวาลัยเก่าแก่บนภูเขาหิมาลัย เชื่อกันว่าเป็นที่สถิตแห่งพระศิวะ และนำพาให้เธอและเขาได้พบกับนันทะมหาฤษี ก่อนจะได้รำลึกถึงอดีตชาติที่เคยผูกโยงร้อยรัดกันมานับพันปีแห่งนั้น

 

ในยุคสมัยแห่งพระเจ้าอโศกมหาราช ผู้ได้รับสมัญญาว่าจัณฑาโศก หรืออโศกผู้ดุร้าย ทรงกรีฑาทัพจากแคว้นอวันตี เข้าบดขยี้นครปาตลีบุตร สังหารพระประยูรญาติถึงร้อยเอ็ดพระองค์จนหมดสิ้น รวมทั้งเจ้าชายสุสิมะผู้ครองปาตลีบุตรและเป็นพระเชษฐาร่วมสายพระโลหิต

เจ้าชายติสสะทรงมีพระธิดาสองพระองค์ เจ้าหญิงอินทรรานีองค์พี่ที่อภิเษกไปกับเจ้าชายธนานันทะ โอรสของเจ้าชายสุสิมะ และอยู่ในความดูแลของพระสวามีไปแล้ว กับเจ้าหญิงโสมาวดี พระธิดาองค์เล็กที่ทรงเป็นห่วงยิ่ง

“พ่อห่วงเจ้ามากกว่า… ตัดไม้อย่าไว้หน่อ ฆ่าพ่ออย่าไว้ลูก… มีทางเดียวที่พ่อจะกระทำให้เจ้าได้”

“หนีน่ะหรือเพคะ?”

“สำหรับพระองค์ใหญ่ ไม่มีแผ่นดินใดกล้ารับเจ้า ไม่มีแห่งใดลับพอให้เจ้าเร้น หากต้องพระประสงค์ แต่พ่อรู้… ลึกสุดในพระหทัยสมเด็จลุงอโศก ทรงเคารพเทพเจ้า ทรงยุติธรรม สิ่งที่จะไม่ทรงยอมแตะเป็นอันขาดคือ สมบัติแห่งเทพเจ้า เจ้าควร “ต้อง” เป็นสมบัติแห่งเทพ”

“คือ…”

“พ่อจะส่งเจ้าไปศิวาลัย”

และนั่นเอง ที่ทำให้เจ้าหญิงผู้ทรงศักดิ์ต้องลดองค์ลงไปเป็นเพียงนางทาสีภายในเทวสถานแห่งนั้น โดยความช่วยเหลือของ “รุทร” หัวหน้านักบวชหรือคนทั้งคู่ต่างเคยมีจิตปฏิพัทธ์ผูกพันต่อกันในวัยเยาว์ หากเมื่อเจริญพระชันษา ด้วยหน้าที่ เจ้าชายรุทรจึงจำต้องสละฐานันดรแห่งกษัตริย์ เพื่อมาทำหน้าที่ของโอษฐ์แห่งเทวะ โดยการถวายตัวเป็นนักบวชแห่งศิวาลัย หากด้วยสายใยแห่งความผูกพันอันลึกซึ้งนั้น ทำให้รุทรตัดสินพระทัยยื่นมือเข้าช่วยเหลือ “น้องน้อย”

“พี่จะต้องไปไกล ไกลมากเลย”

“นานไหม กว่าจะกลับ”

“ไม่… ไม่กลับมาอีก”

“อย่าเด็จนะ ถ้าเด็จ จะร้องไห้”

นั่นคือคำขู่ที่เคยใช้ได้ผลเสมอ

“อย่าร้องไห้ ไม่ว่าพี่จะไปอยู่ที่ไหน ไกลเท่าไหร่ ต่อให้… ตาย พี่จะคิดถึงเธอ… คนเดียว”

“จริงนะ” คำถามยังไม่ค่อยเข้าใจอยู่ดี

“จริง! ทุกชาติ ทุกภพ”

นั่นคือคำสัญญา และนั่นคือเหตุที่ทำให้วามรินในชาติภพนี้ได้พบกับรุทร พร้อมกับความรู้สึกอันเศร้าสร้อยและปีติยินดีที่ผสมผสานกันอย่างประหลาด หากความรู้สึกชิงชัง เคียดแค้นนั้นเล่า มันเกิดจากสาเหตุอันใด?

เจ้าชายอโศก มีโอกาสสนทนาธรรมกับเจ้าชายติสสะ พระอนุชา ที่ทรงเอ็นดูรักใคร่ที่สุด และเมื่อนั้นเอง ที่ทรงเกิดดวงตาเห็นธรรม ทรงสำนึกในความผิดบาปของพระองค์ที่กระทำกรรมอันหนักหนาสาหัสนี้ พิธีเผาศพพระประยูรญาติ นับร้อยจึงบังเกิดขึ้น และหนึ่งในจำนวนผู้ที่เสียชีวิตก็คือ เจ้าชายธนานันทะ พระสวามีของเจ้าหญิงอินทรรานี

หากด้วยธรรมเนียมปฏิบัติ เมื่อภัสดาสิ้นชีพลง ผู้เป็นภริยาจึงต้องเข้าพิธีสตีเพื่อติดตามไปยังปรภพ และทำให้เจ้าหญิงอินทรรานีต้องถูกเผาทั้งเป็น โดยมีรุทรเป็นพราหมณ์ผู้ประกอบพิธีอันเหี้ยมโหดนี้ตามหน้าที่ที่เขาได้รับ อินทรรานีก็คืออินทุกานต์ในภพปัจจุบันที่ต้องตายอย่างทุกข์ทรมานในกองเพลิง และเกิดความกลัวไฟ ติดตามมาถึงภพชาติปัจจุบันนั่นเอง

ภาพของ “พี่อิน” หรือ เจ้าหญิงอินทรรานีในอดีตชาติที่ต้องตายอย่างทุกข์ทรมาน ได้ตรึงประทับในความทรงจำ จนเกิดความเคียดแค้นพยาบาทต่อเขา ที่กระทำการอย่างเหี้ยมโหดต่อพี่สาวของเธอ

เช่นเดียวกับชาดิศ ที่เคยเป็นนายทหารร่วมรบร่วมสังหารกับพระเจ้าอโศกมาก่อน กรรมในภพนั้นย้อนสนองมาจนถึงปัจจุบันภพ เมื่อเขาพบภายหลังว่าเป็นมะเร็งในสมอง ต้องทนทุกข์กับความเจ็บปวดจากโรคร้ายเช่นกัน

เรื่อง : ศิวาลัย

ผู้ขียน : ทมยันตี

สำนักพิมพ์ : ณ บ้านวรรณกรรม

ปีที่พิมพ์ : 2547 (พิมพ์ครั้งที่ 3)

สองเล่มจบ

เมื่อสิ้นสุดสงครามลง ทั้งเจ้าลุงอโศกและเจ้าชายติสสะพระบิดา จึงดำริให้คืนอิสสริยยศ แก่เธอและรุทรอีกครั้ง และให้ทั้งคู่ได้เข้าพิธีอภิเษกร่วมกัน หากบัดนี้เจ้าหญิงโสมาวดีกลับเต็มไปด้วยความเคียดแค้นพยาบาทต่อรุทร และในจังหวะของการอภิเษกนั้นเอง เธอได้ชักมีดจากเขาออกมา และแทงเข้าที่ลำตัวของตน จนสิ้นพระชนม์!

ทุกอย่างเกิดขึ้น ณ ศิวาลัย และมันได้รอคอยให้เธอกับเขาได้กลับคืนมาที่นี่อีกครั้ง เพื่อการอโหสิกรรมและปลดปล่อย!

เรื่องราวใน ศิวาลัย ดำเนินมาถึงการตัดสินใจครั้งสำคัญของหญิงสาว ณ สถานที่อันศักดิ์สิทธิ์แห่งนั้น และการรอคอยของคนสองคนที่ผ่านห้วงแห่งกาลเวลาอันยาวนานนับพันปี

อโหสิ!

วามรินรู้ว่าตนคงนั่งเคียงใกล้บุรุษที่จะผูกพันในทุกชาติภพ มือใหญ่อบอุ่นแล้ว ขณะที่ยังกุมมือเธอมั่น

ความผูกพันทางจิตวิญญาณ มิต้องการวาจา มิต้องการคำมั่น สัญญา

วาจา อาจแปรผัน

มโน… แห่งสัจจาธิษฐานมั่นคง

 

โลก… ล้วน ซับซ้อน มายา

ยากที่จะหา คำตอบได้

ใครเคยเรียน รู้โลก กระจ่างใจ

เดินบนโลก ฝังกลบไป วนเวียนกัน

สำหรับชื่อของเจ้าติสสะในเรื่องนี้ ผมคิดว่าน่าจะเป็นเจ้าชายวีตโศก พระอนุชาร่วมมารดา ของพระเจ้าอโศก ที่ท้ายสุดก็เสด็จออกผนวชในบวรพุทธศาสนา ดังในเรื่อง ‘จอมจักรพรรดิอโศก’ ที่ได้เขียนบอกเล่าไว้ก่อนหน้านั่นเองครับ

Don`t copy text!