นามนั้นสำคัญไฉน?

นามนั้นสำคัญไฉน?

โดย : หมอกมุงเมือง

Loading

บรรณาภิรมย์ โดย หมอกมุงเมือง คอลัมน์ที่อ่านเอาขอมอบความรื่นรมย์ให้กับผู้อ่านด้วยภาพปกสวยๆ และเนื้อเรื่องในแบบต่างๆ ของนักเขียนชั้นครูที่เคยผ่านมือ ผ่านตาและผ่านใจ เพื่อให้ทุกคนได้ร่วมรำลึกถึงผลงานของนักเขียนแต่ละท่านให้พอหายคิดถึงแม้เวลาจะผ่านไปแล้วเนิ่นนาน ภาพและตัวอักษรจะปรากฏให้เห็นอีกครั้งในยุคของการอ่านออนไลน์

****************************

สนับสนุนอ่านเอาด้วยการสั่งซื้อหนังสือ “ในสวนอักษร” คลิกที่นี่ 

สันต์ เทวรักษ์ นักประพันธ์รุ่นครู ผู้มีสไตล์การเขียนเฉพาะตัวและฝากผลงานเอาไว้เป็นจำนวนมาก เช่น เศรษฐีอนาถา แก้วสารพัดนึก หรือ สู่โลกพระอังคาร-จากโลกมหัศจรรย์ นวนิยายแนวไซ-ไฟยุคต้นๆ ของเมืองไทย ที่ผมเคยรีวิวไปแล้ว รวมถึงนวนิยายแนวหัสคดี หรือคอเมดีเรื่องนี้

สำหรับประวัติคร่าวๆ ของท่านจากบทความ ‘สันต์ เทวรักษ์ นักเขียนผู้มือไม่เคยตก’ ของ อาจิณ จันทรัมพร กล่าวว่าท่านมีนามจริงคือ บุญยืน โกมลบุตร เกิดเมื่อวันที่ 31 เมษายน 2450 และถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 19 มกราคม 2521 เป็นบุตรของพระยาภักดีศรีสุนทรราช (ดิศ โกมลบุตร)และคุณหญิงภักดีศรีสุนทรราช (เยื้อน โกมลบุตร)

เมื่อจบการศึกษาจากโรงเรียนเทพศิรินทร์แล้วจึงย้ายไปเรียนต่อที่โรงเรียนอัสสัมชัญ ภายหลังได้เข้ารับราชการในตำแหน่งล่ามภาษาฝรั่งเศส ก่อนจะลาออกจากราชการเมื่ออายุได้ 39 ปี ท่านเริ่มสนใจงานเขียนและทำหนังสือพิมพ์มาก่อน โดยเริ่มงานที่ สุริยารายวัน ของ ไทยใหม่ จนมาถึง ประชาชาติ ซึ่ง กุหลาบ สายประดิษฐ์ หรือ ‘ศรีบูรพา’ เป็นบรรณาธิการ ซึ่ง ณ ที่นี่เอง สันต์ เทวรักษ์ ได้เริ่มต้นเขียน บันไดแห่งความรัก อันเป็นนวนิยายเรื่องยาวที่ยังคงจรัสแสงอยู่จนบัดนี้

ในบั้นปลายของชีวิต ท่านยังคงทำงานเกี่ยวด้วยตัวหนังสือ หากแต่ส่วนใหญ่จะเป็นงานแปล เช่น ‘เล่าเรื่องกรุงสยาม’ ‘ประวัติศาสตร์สยาม’ ‘ก็องสตังซ์ฟอลคอน’ ฯลฯ โดยใช้นามจริง สันต์ ท. โกมลบุตร นอกจากนี้ ท่านยังมีนามปากกาสำหรับเขียนแนวอื่นๆ อีกคือ พ.พิทยา, ‘นายภาษา’, ‘กฤษณา เทวรักษ์’, ‘สงวน ลิขสิทธิ์’,  ฉ.เลาะ เทวรักษ์, ทักษ์ เวสรัตน์, บ.โกมลบุตร, นายดอกรัก, วรา วรวิทย์ และ แดน สนธยา เป็นต้น

จากทรรศนะของ ยศ วัชรเสถียร ผู้จัดพิมพ์เรื่องนี้ กล่าวไว้ตอนหนึ่งว่า ท่านคุ้นเคยกับ สันต์ เทวรักษ์ มาตั้งแต่ผลงาน เดี่ยวนกขมิ้น ที่ตีพิมพ์ใน ไทยใหม่วันอาทิตย์ ตามมาด้วย กาหลงรัง ซึ่งเป็นเรื่องสั้นขนาดยาว สู่ รักธรรมนูญ บันไดแห่งความรัก แหวนประดับก้อย จนกระทั่งเมื่อท่านได้ผละจากอาชีพตำแหน่งล่ามภาษาฝรั่งเศสของกระทรวงมหาดไทยมายึดอาชีพนักเขียนเต็มตัว

ซึ่งผลงานอย่าง นามนั้นสำคัญไฉน? นี้ จะสามารถบรรเทาความร้อนรุ่มในอารมณ์ของผู้อ่าน ซึ่งท่านจะได้อ่านอย่างอมยิ้ม ตลอดเวลา ที่ได้อ่านเรื่องนี้

นามนั้นสำคัญไฉน? เป็นเรื่องราวของสองสหายหนุ่ม คนหนึ่งคือท่านผู้พิพากษาศาลจังหวัดชลบุรี ชลิต ภาวสุทธิ์ ซึ่งมีโอกาสรู้จักกับสหายรุ่นน้อง ประจักษ์ วรวุฒิเนติศาสตร์ ในงานเลี้ยงงานหนึ่ง และบังเอิญ ที่เขาเกิดสมมติชื่อตัวเองขึ้นใหม่ว่า ชื่อชาลี ทำให้ประจักษ์ก็เข้าใจมาตลอดว่าสหายรุ่นพี่ผู้นี้มีนามว่า ชาลี ภาวสุทธิ์

ประจักษ์เป็นลูกชายของหลวงวรวุฒิเนติศาสตร์ อดีตผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดสุพรรณบุรี แต่เขากำพร้าทั้งบิดามารดามาตั้งแต่เด็ก จึงต้องมาอยู่ในความอุปการะของคุณหญิงราชสุภาวดีสีหราชงำเมือง หรือคุณหญิงละเอียด ภรรยามหาอำมาตย์ตรีพระยาราชสุภาวดีสีหราชงำเมือง และเป็นน้องสาวของนางวรวุฒิเนติศาสตร์ ท่านจึงมีศักดิ์เป็นน้าสาวของประจักษ์

คุณหญิงมีธิดาสาวคนเดียวในวัยยี่สิบเศษ ชื่อว่าแม่จันทร์ หรือ จันทร์จิรา ราชสุภาวดี และเมื่อชลิต ในนาม ‘ชาลี ภาวสุทธิ์’ แวะมาหาสหายที่บ้านของเขา จึงได้มีโอกาสพบกับจันทร์จิรา และเกิดความประทับใจ ชลิตพบด้วยความประหลาดใจว่าจันทร์จิราเองก็ฝังใจว่าสุภาพบุรุษในฝันของเธอผู้ที่เธอจะแต่งงานด้วย ต้องมีชื่อว่า ‘ชาลี’ เท่านั้น! ซึ่งตรงกับชื่อของเขาพอดี ราวกับเทพอุ้มสม และยิ่งทำให้ความสัมพันธ์ของสองหนุ่มสาวเป็นไปอย่างราบรื่นมากยิ่งขึ้น แม้แต่คุณหญิงราชสุภาวดีก็ยังไม่อาจขัดขวางได้

“บุคคลที่ดิฉันจะฝากผีฝากไข้และมอบชีวิตจิตใจให้นั้นจะต้องใช้ชื่อว่าชาลีค่ะ” จันทร์จิราเผยออกอย่างตรงไปตรงมา “อย่าถามเหตุผลเลยค่ะว่าเพราะเหตุไร ดิฉันฝังใจศรัทธาของดิฉันอย่างนี้ตลอดมา จนกระทั่งดิฉันได้พบกับบุคคลที่ดิฉันใฝ่ฝันแล้ว เพื่อที่จะมอบชีวิตจิตใจให้แก่เพื่อนของพี่จักษ์คนนั้น”

แต่ความจริงของชาลี หรือชลิต นั่นต่างหาก ที่ทำให้เขากลืนไม่เข้าคายไม่ออก และไม่กล้าบอกความจริงกับเธอ ชลิตเองเป็นลูกกำพร้าที่ถูกนำมาเลี้ยง ดูและมีหลานสาววัยแรกรุ่นที่เกิดจากผู้มีอุปการะต่อเขา นามว่า กุน หรือ ศกุนตลา พีระประภา ซึ่งเป็นสาวน้อยวัยสิบแปดปี

ชลิตหาครูมาช่วยสอนศกุนตลา เป็นสาวใหญ่ที่มีนามว่า นางสาวปริก ผ่องสุวรรณ ซึ่งมีท่าทีชื่นชอบนายอำนวย ปลัดหนุ่มใหญ่แห่งอ่างศิลา ที่แวะเวียนมาหาชลิตอยู่บ่อยครั้ง

ด้วยความที่ชลิตได้อุปโลกน์ชื่อชาลีขึ้น เวลาที่เขาไปอยู่พระนคร ชายหนุ่มจึงบอกกับศกุนตลาว่ามีน้องชายอีกคนหนึ่ง ชื่อชาลี ภาวสุทธิ์ ซึ่งเป็นชื่อที่ศกุนตลาเองก็ชอบมากเช่นกัน และไม่คาดฝันว่า ในวันหนึ่งเมื่อชลิตเดินทางไปธุระที่พระนคร จะมีชายหนุ่มที่ชื่อชาลีปรากฏกายขึ้น

ความจริงแล้วหนุ่มปริศนาคนนั้นก็คือ ประจักษ์ สหายของชลิตนั่นเอง เขาต้องการจะแวะมาหาเพื่อนรุ่นพี่ และเมื่อถูกทักทายจากคนรับใช้คนหนึ่งในบ้าน ทำให้ตัดสินใจลองสวมรอยตัวเองเป็นชื่อชาลี น้องชายของชลิตเสียเลย เพื่อจะได้มีโอกาสทำความรู้จักกับหลานสาวแสนสวยของชลิต ที่ชื่อศกุนตลา ที่ประจักษ์นึกชอบตั้งแต่แรกเห็น

และดูเหมือนว่า ศกุนตลาเอง เมื่อรู้ว่าเขาเป็นน้องชายอาชลิตของเธอ เจ้าหล่อนก็จะให้ความสนิทสนมพูดคุยเป็นอย่างดี จนประจักษ์ เกิดความรักปักใจขึ้นมาเสียแล้ว ส่วนศกุนตลานั้นก็มิได้ปฏิเสธ เพราะหล่อนเองก็มีชายในฝันที่ชื่อชาลีเช่นกัน

เขาอยากจะบอกหล่อนใจจะขาดว่าชื่อประจักษ์ แต่แล้ว…

“กุนยังไม่ได้บอกเลยว่า เหตุไร กุนจึงได้ติดอกติใจชาลีเสียเป็นนักหนา มันเป็นความฝันของหญิงสาวโง่ๆ คนหนึ่งหรอกค่ะ ที่จะรักผู้ชายสักคนหนึ่งที่มีชื่อว่าชาลี กุนมีความซาบซึ้งตรึงใจในตัวบุคคลที่มีชื่อว่าชาลีมากค่ะ รู้สึกว่าเขาจะเป็นคนที่อ่อนโยนและเป็นที่ไว้วางใจได้ กุนเวทนาเจ้าสาวทั้งหลายเหลือเกินค่ะ ที่เจ้าบ่าวของเธอไม่ได้มีชื่อว่าชาลี”

“ชาลีเหรอ” เขาทำเสียงคราง “อาจมีชื่ออื่นที่เธอชอบมากกว่าก็ได้นะ เช่น เอ้อ… ประจักษ์ เป็นต้น?”

“ประจักษ์หรือคะ?” ฝ่ายหญิงย่นจมูกคล้ายได้กลิ่นอันไม่เจริญนาสิกฉะนั้น

“อุ๊ย ไม่เป็นสับปะรด กุนไม่ชอบสักนิดเดียว โอ้ว่า อนิจจาความรัก เพิ่งประจักษ์ดังสายน้ำไหล… ฟังดูซิคะ ชาลีขา มีคำว่าประจักษ์ เข้าไปเกี่ยวข้องด้วยเท่านั้นแหละ ความรักเลยไม่ได้ความไปเสียแล้ว”

เหตุการณ์ยิ่งสับสนอลหม่านมากขึ้น เมื่อ หลังจากนั้นจันทร์จิราก็แวะมาหา ‘ชาลี’ ชายคนรักของหล่อนที่ชลบุรี และพบกับศกุนตลา สองสาวต่างเข้าใจว่าคนรักตนเป็นคนเดียวกัน คือ ชาลี ภาวสุทธิ์ จนเกือบมีเรื่องทะเลาะเบาะแว้งกัน ถ้าหากว่าประจักษ์และชลิตไม่กลับมาเสียก่อน ความลับในการปลอมแปลงชื่อเป็นชาลีของทั้งสองหนุ่มจึงเปิดเผยขึ้น

ด้วยความรัก ทั้งชลิตและประจักษ์คิดว่าตัวเองจะยอมเปลี่ยนชื่อเป็นชาลีให้ถูกใจสาวๆทั้งสอง แต่ในที่สุด เมื่อเจ้าหล่อนเข้าใจว่า ‘นามนั้นสำคัญไฉน?’ เรื่องราวทั้งหมดจึงลงเอยได้ในที่สุด

คุณหญิงราชสุภาวดี มาร่วมแสดงความยินดี และพบกับนางปริกโดยบังเอิญ นางปริกถึงกับตกตะลึง เมื่อจำได้ว่าคุณหญิงราชสุภาวดี หรือชื่อเดิมคือคุณละเอียด ก็คือน้องสาวของคุณละวาด ซึ่งเป็นแม่ของประจักษ์

ในอดีต เธอคือพี่เลี้ยงเด็กที่เลี้ยงลูกชายของคุณละวาด ระหว่างการเข็นรถพาเด็กทารกไปเที่ยว เกิดเสียงหวอสงครามดังขึ้น จนทำให้เธอพลัดหลงกับทารกน้อยผู้นั้น โดยมีเพียงหลักฐานกระเป๋าใส่ของเพียงชิ้นเดียวตกอยู่ จากนั้นด้วยความหวาดกลัว ทำให้นางปริกเกิดสติแตกจนต้องไปรักษาตัวทางจิตอยู่สักพักจนอาการเริ่มดีขึ้น และหายไปจากบ้านของคุณหญิงตราบจนถึงปัจจุบัน โดยไม่มีผู้ใดพานพบ

ความจริงข้อนี้ ยิ่งทำให้ชลิตตระหนกยิ่งกว่า เพราะเขาคือเด็กทารกที่ถูกอุปการะพร้อมกระเป๋าที่ติดตัวมาใบนั้น

แท้จริงชลิตคือลูกชายคนโตของคุณละวาด หรือมีศักดิ์เป็นพี่ชายของประจักษ์ซึ่งเดิมมีชื่อว่า ประจวบ นั่นเอง

และแล้วในที่สุด เมื่อความจริงทุกอย่างเปิดเผย นอกจากจะได้พบครอบครัวที่แท้จริงแล้ว เขายังได้พบกับความรักจากสาวสวยจันทร์จิราอีกด้วย เหตุการณ์อลวนอลเวงของตัวละครที่เกิดขึ้น ก็ได้คลี่คลายลงอย่างมีความสุข

สำหรับเนื้อเรื่องของนิยายหัสคดี นามนั้นสำคัญไฉน เรื่องนี้ ผู้เขียนได้กล่าวไว้ตอนท้ายของเรื่องว่าได้ อิงเค้าโครงมา จากบทละครพูดในภาษาฝรั่งเศส เรื่อง Il importe d’etre constant (The Importance of Being Earnest) ของ ออสการ์ ไวลด์ ครับ

เรื่อง : นามนั้นสำคัญไฉน?

ผู้ขียน : สันต์ เทวรักษ์

สำนักพิมพ์ : แพร่พิทยา

ปีที่พิมพ์ : 2512

เล่มเดียวจบ

ปล. สำหรับ ภาพประกอบของผู้ประพันธ์ ผมนำมาจากบทความของ คุณประกาศ วัชราภรณ์ ในนิตยสาร สกุลไทย ฉบับที่ 2032 ประจำวันอังคารที่ 28 กันยายน 2536 ครับ

Don`t copy text!