รอบตะเกียงลาน

รอบตะเกียงลาน

โดย : หมอกมุงเมือง

Loading

บรรณาภิรมย์ โดย หมอกมุงเมือง คอลัมน์ที่อ่านเอาขอมอบความรื่นรมย์ให้กับผู้อ่านด้วยภาพปกสวยๆ และเนื้อเรื่องในแบบต่างๆ ของนักเขียนชั้นครูที่เคยผ่านมือ ผ่านตาและผ่านใจ เพื่อให้ทุกคนได้ร่วมรำลึกถึงผลงานของนักเขียนแต่ละท่านให้พอหายคิดถึงแม้เวลาจะผ่านไปแล้วเนิ่นนาน ภาพและตัวอักษรจะปรากฏให้เห็นอีกครั้งในยุคของการอ่านออนไลน์

****************************

สนับสนุนอ่านเอาด้วยการสั่งซื้อหนังสือ “ในสวนอักษร” คลิกที่นี่

รอบตะเกียงลาน เป็นรวมเรื่องสั้นที่หาอ่านได้ยากที่สุดของ คุณศุภร บุนนาค ซึ่งผู้เขียนได้ “ขอพระราชทานถวายลิขสิทธิ์หนังสือชุด รอบตะเกียงลาน นี้ไว้ใต้เบื้องยุคลบาท พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ”

สำหรับเล่มที่ผมมีนั้น เป็นฉบับรวมเล่มปี พ.ศ. 2512 อันเป็นฉบับพิมพ์พระราชทานแก่ประชาชนในต่างจังหวัดที่เสด็จพระราชดำเนิน

ผู้เขียนได้กล่าวไว้ในคำนำ ถึงที่มาแห่งชื่อ รอบตะเกียงลาน นี้ คือความรำลึกถึงสมัยทองแห่งชีวิตของผู้เขียนสมัยหนึ่ง เด็กผู้หญิงหน้าตาขี้ริ้วคนหนึ่ง มีชีวิตที่อบอุ่นผาสุก พร้อมพี่ พร้อมน้อง อยู่ภายใต้ร่มเงาของบ้านโบราณ ครั้นค่ำลงก็พากันนอนพังพาบล้อมวงรอบตะเกียงลาน ฟังมันทำเสียงหรี่ หรี่ หรี่ พร้อมกับฟังนิยายอันแสนมหัศจรรย์จากผู้เฒ่า ผู้เป็นเจ้าหนี้บุญคุณในชีวิตของเด็กหญิง ละพี่น้องทุกคน

เวลาเช่นนี้คือสมัยทองแห่งชีวิต

บัดนี้ วันอันแสนสุขนั้นจะไม่มีวันกลับมาได้อีกแล้ว คงเหลือไว้แต่ความทรงจำประหนึ่งละอองทองที่ติดมืออยู่ เพื่อเป็นที่ระลึกแห่งวันเวลาเหล่านั้น จึงได้ตั้งชื่อชุดนิยายชุดนี้ว่า ‘รอบตะเกียงลาน’ เพราะความคิด ความรู้ที่บรรยายไว้ในหนังสือนี้ ส่วนหนึ่งและส่วนใหญ่ ย่อมเกิดจาก เค้าโครงที่ได้ในอดีตอันแสนสุขนั่นเอง

ท่านผู้อ่านที่ชื่นชอบผลงานของ คุณศุภร บุนนาค คงจะรู้จักกันดี กับผลงานนวนิยายอิงประวัติศาสตร์เรื่องเยี่ยมอย่าง ฟ้าใหม่ หรือ บุญเพรงพระหากสรรค์ หรือนวนิยายรักอมตะระหว่างสองแผ่นดินของเจ้าใจเพชรและแจ่มใส ใน แม้ความตายมาพราก สำหรับผมเองแล้วประทับใจสำนวนภาษาของคุณศุภรเป็นอย่างมาก นอกจากนวนิยายเรื่องเด่นๆ และที่เคยรีวิวไปแล้ว อย่าง แผ่นดินยังกว้าง รถเมล์สายพระพุทธบาท ผลงาน เรื่องสั้นของท่านเองก็มีความน่าสนใจ มีเอกลักษณ์อันโดดเด่นเฉพาะตัว ผมเคยอ่านเรื่องสั้นในชุด ลมเย็น คนซื้อฝัน หรือ ‘ที่รัก’ รวมถึง สวรรค์ขุมไหน โดยเฉพาะ ชุด ‘คุณย่าเกษรกับหลานสาวหัวสมัยใหม่ คุณเดือนเต็มดวง’ ก็จัดเป็นชุดเรื่องสั้นที่อ่านได้เพลิดเพลิน มากแง่คิด ความรู้ และยังแทรกความเป็นไทยๆ ลงไปผ่านบทสนทนาที่น่ารักน่าเอ็นดูและน่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง

รอบตะเกียงลาน ปกแรก

สำหรับ รอบตะเกียงลาน นี้ก็เช่นกัน ประกอบด้วยเรื่องสั้นหลากหลายเรื่องหลากหลายแนว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่แยกเป็นเอกเทศ อย่าง ข้าวแดงแกงจืด ที่กล่าวถึงเด็กวัดสองคนที่หลวงปู่เก็บมาเลี้ยงด้วยความเวทนา เจ้าสุขที่ไม่เคยมีความสุข หากมีแต่ความทะเยอทะยานที่จะไปให้พ้นจากวัดแห่งนี้โดยไม่สนใจว่าจะด้วยวิถีทางแบบไหน และเจ้าชมที่ทำงานทุ่มเทให้กับหลวงปู่ที่ตนรัก ด้วยความกตัญญู จนท่านสิ้นบุญและต่างคนต่างไปมีชีวิตของตนเอง จนได้มาพบกันอีกครั้งหนึ่ง

“มึงเอ๋ย ถ้ามึงอยากใหญ่โต ทำไมมึงไม่ตั้งหน้าทำงานเหมือนชาวบ้านเขาทำ มึงเข้าที่นั่นออกที่นี่ไม่มียืดเพราะไอ้ความอิจฉาตัวเดียว ความอิจฉาพาความอกตัญญูมาให้ ไม่มีใครที่มึงรับว่าเคยทำดีกับมึง หลวงปู่ มึงก็ว่าจิกหัวใช้เกินข้าวสุกก้นบาตร ก็เมื่อมึงเห็นคนทั้งโลกเลวหมดยังงั้นแล้ว ใครเขาจะเห็นมึงดีเล่า”

และแล้วคุณสุขหรือสุรนาถที่ทะเยอทะยานจนเกินตัวก็ถูกตำรวจจับ คุณชมที่ยังนึกถึงข้าวแดงก้นหม้อเดียวกันก็แวะมาเยี่ยม แต่คุณสุขเองก็ยังหาสำนึกไม่ ด้วยเห็นแก่ข้าวร้อนๆ และแกงจืดหม้อใหญ่ๆ ที่คนเคยนำมาต้อนรับขับสู้เสียมากกว่า

เรื่อง การประชุม เอ.บี.ซี.ดี. ได้สะท้อนภาพ การตามหาความเป็นไทย จากฝรั่งที่มาประชุมวิชาการที่เมืองไทย และเป็นหน้าที่ของท่านราชบัณฑิตเมธยางค์กับคุณสุรางค์เสริง สองสามีภรรยา ที่พยายามเอาอกเอาใจ พาไปชมการแสดงทาง ‘วัฒนธรรม’ ที่หรูหรา แต่สองฝรั่งก็ยังไม่พอใจ หาเรื่องติโน่นตินี่จนแทบอ่อนใจ

ท้ายสุดก็ต้องมาพ่ายให้กับคุณยายชาวบ้านแก่ๆ ที่สอนความเป็นไทย ให้รู้จักอย่างแท้จริง

บอกนายแกซีคะ คนไทยเขายังงี้ละค่ะ ทำบุญแล้วไม่เก็บบุญไว้คนเดียว แผ่ไปให้สัตว์โลกทั่วกันทั้งหมด เกิดมามีกรรมเป็นเพื่อนทุกข์กันทุกคนละค่ะ ไม่มีกรรมก็ไม่มาเกิด จริงไหมคะ ฝรั่งเขาทำยังไงกันมั่งละคะ บอกแกเถอะค่ะ คนไทยเขามีอะไรก็ต้องเอื้อกันหัวบ้านท้ายบ้าน พระท่านว่ายังงั้น กระทั่งส่วนบุญก็ไม่ให้หวง จะได้อิ่มเอิบหัวใจทั่วๆ กัน แผ่นดินของเราถึงได้เย็นกว่าบ้านอื่นเมืองอื่นเขาไงล่ะคะ”

เรื่อง เงินถุงแดง เป็นการเปรียบเทียบผ่านพฤติกรรมเด็กยุคใหม่ หลานๆ ทั้งวัยรุ่น วัยเด็กของคุณย่าเกษร ที่กำลังเห่อวัตถุ เจ้าจ้อนหลานชายคนเล็กอยากจะได้รถธันเดอร์เบิร์ดที่กำลังนิยมในหมู่วัยรุ่นมีฐานะ ตาโป่งหลานคนรอง อยากจะขอเงินไปเรียนเมืองนอก ตามอย่างเพื่อนรวยๆ ส่วนคุณเดือนเต็มดวง หลานสาวสุดที่รัก อยากจะได้เครื่องเล่นทีวีเครื่องใหม่

คุณย่าที่แสนชาญฉลาด จึงอุปมาอุปไมย ถึงการเก็บออมที่จำเป็นเอาไว้ใช้ เมื่อยามต้องการใช้จริงๆ กับเรื่อง ‘เงินถุงแดง’ ของรัชกาลที่สามในอดีต จนมาใช้ไถ่ถอนบ้านเมืองในยุคต่อมา

การปะทะทางความคิดของสาวน้อยยุคใหม่กับคุณย่ายุคเก่าที่ความคิดอ่านเท่าทันหลานสาวตัวดี ทำให้อ่านได้อย่างเพลิดเพลินมากทีเดียวครับ

“ฮิๆๆๆ” หลานสาวทำเสียงระริก คุณย่าไม่คาดคั้น ชี้หน้าหลานสาวพลางว่า

“เห็นไหมแกมันไม่เด็ดจริงเหมือนย่า แกถามอะไรย่าตอบได้ตลอด ถึงทีแกบ้าง ได้แต่ฮิๆ เหมือนม้า นี่แหละคนสมัยนี้ จะว่าถึงว่าเจริญขึ้นกันแล้ว เจริญจริง เจริญปาก เจริญหู เจริญตา แต่ว่าไม่เจริญใจกันเสียเลยละ”

“ไม่จริงค่ะคุณย่า ใจก็เจริญด้วย อย่างคุณย่านี่เป็นคนแก่พิเศษนะคะเป็นเพื่อนกับเต็มก็ได้ กับพี่ใหญ่ก็ได้แต่คนแก่อื่นๆ ไม่ใช่อย่างนั้น ส่วนมากงมเงอะอยู่กับเข็มนาฬิกาเมื่อวานนี้ ไม่นึกมั่งหรือคะว่าเข็มนาฬิกาน่ะมันต้องเดิน”

“จริงของแม่เต็ม แต่ว่ามันเดินอยู่บนหน้าปัดอันเก่าน่ะเองนะ อย่าลืม”

“เถอะค่ะ ถึงจะเรือนเดิม เสียตรงที่เดิม แต่วิธีแก้เขาดีขึ้น มันก็ต้องดีกว่าเก่าซีคะ”

“ถ้ารู้จักแต่วิธีจะแก้ แต่เมื่อมันเสียแล้ว ละก็ไม่ได้แปลว่าเจริญขึ้น ถ้าเจริญขึ้นจริง มันต้องรู้วิธีกันไม่ให้มันเสียหรือให้เสียน้อยครั้งที่สุด นาฬิกาฉันใดคนก็ฉันนั้น ที่แกว่าสมัยของแกเจริญๆ ก้าวหน้าๆ น่ะก้าวหน้าตรงไหน เจริญตรงไหน ถามแกๆ ก็คงว่า ตรงมีตึกหลายๆ ชั้น มีรถยนต์แทนรถม้า ที่ย่ายังไม่มีหรือยังขาดอยู่นั้นคือความก้าวหน้าในจิตใจให้สมส่วนกับตึกราม รถยนต์เหล่านี้ต่างหาก”

“คุณย่าเอาอะไรมาวัดล่ะคะว่าเราเสื่อมทางจิตใจ”

 “ที่แกหัวเราะฮิๆ เหมือนม้า ไม่ตอบย่าเมื่อตะกี้น่ะแหละ!”

นอกจากประเด็นค่านิยม การใช้จ่ายอย่างประหยัดแล้ว ยังมีเรื่องอื่นๆ ที่คุณย่าเกษรกับ นางสาวเดือนเต็มดวงหลานรักได้ถกเถียงแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน อีกหลายเรื่อง อย่าง ‘เรื่องของแม่เต็ม – ถนัดดังไม้ร้อยอ้อม – ศีลสั่งนอก’ ที่กล่าวถึงประเด็นในทางพุทธศาสนา กับวัตรปฏิบัติของพระสงฆ์ไทยในยุคปัจจุบัน ที่คุณย่าได้ให้คำอธิบายกับสาวน้อยเจ้าปัญหาได้อย่างเฉียบคม มีเหตุผล จนต้องจำนนด้วยเหตุผลไป หรืออย่างเรื่อง อีสปกำสรวล ก็เป็นการนำประเด็นครูดี ครูไม่ดี ในปัจจุบัน มาพูดคุยแลกเปลี่ยนทัศนคติกัน ผ่านการยกตัวอย่างด้วยนิทานอีสป

ใน รอบตะเกียงลาน ชุดนี้ ยังอุดมไปด้วยเรื่องราวของเรื่องสั้นอันหลากหลายรส ไม่ต่างกับการล้อมวงรอบตะเกียงลาน หนุนหมอนนอนฟังคุณย่าคุณยายบอกเล่าเรื่องราวผ่านประสบการณ์ชีวิตอย่างเป็นกันเอง ไม่ว่าจะเป็น อันวิถีชีวิตเดินผิดง่าย กับ โนเบิลบอด ที่เจ้าแว่น เพื่อนชายหัวก้าวหน้าของคุณโป่ง นำปรัชญาของ คาร์ล มาร์กซ์ หรือ นักคิดนักเขียนของฝรั่งมา ‘ถก’ กับคุณย่า อย่างน่าสนใจ และคุณย่าเกษรของเราก็สามารถรับมือกับเจ้าแว่นนักปรัชญาเจ้าปัญหาได้อย่างสวยงาม

เรื่อง มาลาเบี่ยงของแม่เต็ม เมื่อคุณเดือนเต็มดวงเดินทางไปเที่ยวอนุสรณ์ดอนเจดีย์ และได้พูดคุยกับคุณย่าเกษร ก่อนที่ท่านจะเล่าเรื่องราวการกอบกู้อิสรภาพของสมเด็จพระนเรศวรกับพระเอกาทศรถ ผ่านเหตุการณ์เฉลิมฉลองอนุสรณ์ดอนเจดีย์ไว้อย่างน่าสนใจ

เรื่อง จิตแพทย์ข้างเชี่ยนหมาก ก็เป็นเรื่องน่ารักอีกเรื่องหนึ่ง กล่าวถึงจิตแพทย์หนุ่มหล่อกับคุณยายที่อาศัยอยู่ในรั้วบ้านเดียวกัน แต่คนละหลัง เพราะคุณหมอใช้ชีวิตอย่างหนุ่มสมัยใหม่ แต่คุณยายเองยังใช้ชีวิตอยู่ในโลกใบเก่าๆ แต่แล้วเมื่อมีคนไข้รายเด็ดมาหาคุณหมอ แล้วก่อเรื่องราวอันน่าปวดหัว จนทำให้คุณหมอคนเก่งถึงกับนอนไม่หลับจนต้องแวะมาหาคุณยาย

และจากนั้นเอง โลกใบเก่าของคุณยายหัวโบราณในสายตาคุณหมอหนุ่มก็เชื่อมกับโลกสมัยใหม่ของเขาเองได้อย่างลงตัว

“เป็นอะไรไปล่ะ”

“นอนไม่หลับครับ”

“อ้าว หมองูตายเพราะงู กินกาแฟมากนักหรือ หรือมันร้อน หรือท้องไม่ดี กินยาหอมๆ บ้างไหม ของยายมี เออ คุณหมอ เห็นเป็นมดเป็นหมออยู่กะตัวเอง ยายก็ไม่ค่อยกล้าแนะนำบอกอะไร ประสากับยาขี้เลื่อยของคนแก่”

หลังจากพูดคุยซักถาม และให้คำแนะนำในสไตล์ ‘คนแก่’ อย่างคุณยายแล้ว กลายเป็นว่า คุณยาย ที่ไม่ได้ร่ำเรียนมาเลยทางการรักษา สามารถ “ปลอบ”คุณหมอ หลานหนุ่มที่กลุ้มใจ จนหลับสบายแฮไป ด้วยคติคำสอนแบบไทยๆ ที่ไม่ต้องอธิบายด้วยทฤษฎีทางจิตเวชใดๆ

 

“ดูตัวอย่างยายเถอะ ไม่เคยนอนไม่หลับเลยมาหลายสิบปีแล้ว หรือร่างกายมันไม่ต้องการนอนเพื่อซ่อมแซมเสริมอะไรต่อไปแล้ว เป็นเรื่องของคนไม้ใกล้ฝั่ง ยายไม่เคยไปหาหมอโรคประสาทสักที เพราะใจยายสงบสบาย ไม่โกรธ ไม่เกลียด ไม่หมั่นไส้ใคร ความน่าสังเวชไม่ถูกลูกตาของใคร ยายก็ปลงว่าเป็นเพราะกรรมของคนคนนั้น

เอ้า! นอนนิ่งไปทีเดียว นี่ยาหอมนี่ไงล่ะ กินเสียซี เอ้า พุทโธ่! หลับฟี้ไปตั้งแต่เมื่อไรก็ไม่บอก ปล่อยให้ยายพูดอยู่คนเดียว โธ่เอ๊ยกรนดังสนั่น”

คุณยายปลงอนิจจังกับเสียง ครอกฟี้ ครอกฟี้ ของคุณหมอ เสียงนี้ดังลอดออกมาจากริมฝีปากได้รูปโค้งเยี่ยงธนูของกามเทพ

 

เรื่อง ไอ้ตี๋กับศิลปิน ก็สะท้อนภาพชีวิตของนายเวปจิตร นักวาดรูปที่ยังไม่ดังสักที เพราะวาดแต่รูปแนวสัญลักษณ์อันลึกซึ้งที่คนอื่นเข้าไม่ถึง แต่บังเอิญในวันหนึ่งเมื่อเขาเดินทางไปย่านชุมชนแออัดแล้วเกิดเห็นภาพแม่กำลังอาบน้ำให้เด็กทารกน้อยที่ยิ้มจนตาหยี เลยเกิดแรงบันดาลใจวาดภาพเสมือนจริงขึ้นมาจากสิ่งที่เห็นและประทับใจ

แล้ว ภาพ ‘ไอ้ตี๋’ ก็ชนะการประกวด ทำให้เขากลายเป็นศิลปินมีชื่อขึ้นมาชั่วข้ามคืน ซ้ำยังมีมหาเศรษฐีคนหนึ่งก็ได้ซื้อภาพไอ้ตี๋ไปในราคาสูงลิ่ว แต่น่าประหลาด ที่เขาก็ไม่สามารถวาดภาพสมจริงในแบบ ‘ไอ้ตี๋’ ได้อีกเลย โดยไม่รู้เหตุผลของตัวเอง

จนวันหนึ่ง มหาเศรษฐีผู้ซื้อรูปได้ติดต่อให้เขาไปงานเลี้ยงฉลอง ภรรยาเขาได้คลอดลูกชายออกมา หลังซื้อภาพไอ้ตี๋ไปไม่นาน และท่านก็คิดว่าเด็กชายผู้มีบุญคนนี้หน้าตาเหมือนเด็ก ‘ไอ้ตี๋’ ในภาพเหลือเกิน เวปจิตร เลยจำต้องไปยังคฤหาสน์เศรษฐีแห่งนั้น รับซองแดงรางวัลจากเสี่ยและเจ๊เจ้าของ พร้อมกับได้เห็นรูปไอ้ตี๋วางโชว์ตั้งโชว์อยู่เบื้องหน้า

เวปจิตรรู้สึกอุ่นขึ้นมาที่ขอบตา เมื่อเห็นคุณเจ๊อุ้มเจ้าตี๋ในชีวิตจริงไว้ในวงแขน นอกไปจากเสื้อผ้าแพรพรรณมากไปด้วยลูกไม้รุงรังแล้ว เจ้าตี๋คนที่ส่งเสียงหัวเราะแก๊กๆ อยู่ในวงแขนคุณเจ๊ ก็คือเจ้าตี๋ในรูปนั่นแหละ และแววตาของหญิงผู้เป็นมารดาทั้งสองก็ช่างละม้ายคล้ายคลึงอะไรกันเช่นนั้น มันเปี่ยมไปด้วยความสุข ความภูมิใจ ความรู้สึกของจักรพรรดินีเจ้าพิภพ

และนั่นเอง ที่ทำให้เวปจิตร รู้เหตุผลที่เขาไม่อาจเขียนภาพแบบ ‘ไอ้ตี๋’ ขึ้นมาได้อีกแล้ว

“ความจริงนั้นคือว่า ไม่ใช่แนวคิดหรือแบบอย่างศิลปะอันใดทั้งสิ้นที่ทำให้เขาเขียนรูปนี้ออกมาได้ สิ่งนั้นคือ ความจริงใจที่เขามีต่อภาพนั้น ซึ่งเขาจะไม่มีวันผลิตงานเช่นนี้ออกมาได้อีกเลย มิว่าในแนวใด หากว่าเขาไร้เสียซึ่งความจริงใจ ในแบบเดียวกัน!”

นอกจากนี้แล้ว ยังมีเรื่องราวในสไตล์บุคลาธิษฐาน ที่บอกเล่าชีวิตของ ‘นกเค้าแมว’ สองตัวผัวเมีย ซึ่งอาศัยอยู่ในพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ เมื่อยามราตรีมาถึงและภัณฑารักษ์ผู้ดูแลพิพิธภัณฑ์กลับบ้านไปแล้ว เจ้านกทั้งสองจึงได้มีโอกาสสนทนาวิสาสะกับองค์เทวรูป พระวิษณุ พระศิวะ และองค์พระอุมา ในเรื่องราวต่างๆ อย่างน่าสนใจ ใน ไวรัสพิภพ เค้าแมวทัศนา และ เวทแห่งสังเวช เป็นต้น

จะพักกลุ้มกลัดไปไยเจ้านกน้อย ความเปลี่ยนแปลงเป็นวิสัยโลกธาตุ ข้ายังไม่เคยพบว่าสิ่งใดทรงสภาพอยู่คงที่ ตัวข้าเองก็เปลี่ยนจากสภาพผู้กุมไว้ซึ่งจักรวาลมาสู่สภาพเฝ้าดูด้วยความหมดหวัง

ชุดเรื่องสั้นของ คุณศุภร บุนนาค อาจจะไม่ใช่เรื่องสั้นในสไตล์หักมุม หรือพล็อตเรื่องตื่นเต้นหวือหวา ตรงกันข้าม สไตล์การเขียนที่เนิบนาบ เน้นการบรรยายและพรรณนาอย่างละเอียด ถึงความรู้สึกนึกคิด รวมถึงการแทรกข้อมูลผ่าน ประโยคสนทนาของตัวละคร ไม่ว่าจะเป็นการโต้ตอบกัน บอกเล่าแก่ผู้อ่านเหมือนนอนหนุนหมอนฟังผู้ใหญ่เล่า ‘นิทาน’ แทรกคติข้อคิด ให้ฟัง ซึ่งอาจจะต้องใช้เวลาในการเก็บความและทำความเข้าใจพอสมควร แต่ถ้าหากได้อ่านจนจบ ก็จะได้ทั้งความรื่นรมย์ และความรู้แบบไทยๆ ที่น่าสนใจ ผ่านทัศนคติ ของผู้เขียนที่สะท้อนไว้ในเรื่องราวแต่ละเรื่องไม่น้อยเลยทีเดียว

เรื่อง : รอบตะเกียงลาน

ผู้ขียน : ศุภร บุนนาค

สำนักพิมพ์ : โรงพิมพ์พระจันทร์

ปีที่พิมพ์ : 2512

เล่มเดียวจบ

สำหรับปกหนังสือ ‘รอบตะเกียงลาน’ นั้น ผมเองมีเพียงแค่ฉบับพิมพ์ของโรงพิมพ์พระจันทร์ ส่วนอีกภาพปกหนึ่งเป็นฉบับพิมพ์จำหน่ายครั้งแรกและครั้งเดียว ซึ่งต้องขอขอบคุณ จาก คุณหมอภาคภูมิ จุลภูมิพินิจ เจ้าของไฟล์ภาพไว้ ณ ที่นี้ด้วยครับ และสำหรับรูปของคุณศุภร นำมาจากหนังสืออนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ นางศุภร บุนนาค เมื่อวันที่ 15 มีนาคม พ.ศ.2518 ครับ

 

Don`t copy text!