พญาเงือกคำ

พญาเงือกคำ

โดย : หมอกมุงเมือง

Loading

บรรณาภิรมย์ โดย หมอกมุงเมือง คอลัมน์ที่อ่านเอาขอมอบความรื่นรมย์ให้กับผู้อ่านด้วยภาพปกสวยๆ และเนื้อเรื่องในแบบต่างๆ ของนักเขียนชั้นครูที่เคยผ่านมือ ผ่านตาและผ่านใจ เพื่อให้ทุกคนได้ร่วมรำลึกถึงผลงานของนักเขียนแต่ละท่านให้พอหายคิดถึงแม้เวลาจะผ่านไปแล้วเนิ่นนาน ภาพและตัวอักษรจะปรากฏให้เห็นอีกครั้งในยุคของการอ่านออนไลน์

****************************

 

สนับสนุนอ่านเอาด้วยการสั่งซื้อหนังสือ “ในสวนอักษร” คลิกที่นี่

สิทธา เชตวัน เป็นอีกนามปากกาหนึ่งของ เพชร สถาบัน นักเขียนนวนิยายแนวบู๊ แอ็กชัน ระดับพระกาฬคนหนึ่งในบรรณพิภพ ผลงานในนามปากกานี้ ได้แก่ สิงห์รถบรรทุก นักบุญทรงกลด สมิงจ้าวท่า เป็นต้น ภายหลัง ท่านเปลี่ยนมาเขียนในแนวอิงธรรมะสอดแทรกความเชื่อทางพุทธศาสนา ผสมผสานความสนุกสนานในขนบของนวนิยาย คำว่า ‘สิทธา เชตวัน’ อันเป็นนามปากกาของท่านนั้นได้รับแรงบันดาลใจจากการอ่านเรื่อง สิทธารถะ จึงได้นำเอาคำว่า ‘สิทธา’ มาเป็นคำนำหน้า และต่อด้วย ‘เชตวัน’ หมายถึงป่าเชตวัน

นักอ่านหลายท่านจะรู้จักผลงาน ภูตแม่น้ำโขง ซึ่งเคยลงเป็นตอนๆ ในนิตยสาร ขวัญเรือน แต่สำหรับผมแล้ว ชื่นชอบงานเรื่อง พญาเงือกคำ ซึ่งเคยลงเป็นตอนๆ ในนิตยสาร โลกลี้ลับ ในยุคนั้น ก่อนจะนำมารวมเล่ม และได้รับความเมตตาจากพี่น้อง มณฑา ศิริปุณย์ มอบเป็นที่ระลึก ซึ่งต้องขอขอบพระคุณในไมตรีจิตนั้น มา ณ ที่นี้ด้วยครับ

 

เรื่อง พญาเงือกคำ กล่าวถึงตำนานของมนุษย์น้ำซึ่งอาศัยอยู่ในแก่งหลี่ผี ประเทศลาว ภายในอาณาบริเวณอันกว้างใหญ่ เต็มไปด้วยเกาะแก่งหินใต้น้ำลึกมหาโหด เหมือนกับดักแห่งความตาย (หลี่ = กับดักจับปลา หลี่ผี จึงหมายถึง ที่ดักปลาของภูตผีปีศาจ) ยังมีอุโมงค์ทางเดินใต้น้ำที่เรียกว่าสะดือแม่น้ำ เชื่อกันว่าลึกลงไปเบื้องล่างคือถ้ำแก้วพิศดาร และด้านข้างก็คือ ถ้ำเงือก อันเป็นที่อาศัยของมนุษย์เงือก

มนุษย์เงือกสูงไม่ต่ำกว่าแปดฟุต รูปร่างหน้าตาคมคาย มีขนยาวรุงรังปกคลุมร่างกายและผิวเปียกเป็นเมือกลื่น ตีนแบนยาวคล้ายกบ มีหัวหน้าปกครองคือคงคา และภรรยาคือดอกไม้น้ำ ในคืนวันเกิดเหตุนั้นเอง เมื่อเรือสำราญ ‘น่านเจ้า’ ของเจ้าแสนหมื่นอินทราช มหาเศรษฐี และสร้อยมุกดา ภรรยา เดินทางล่องเรือจากเวียงจันทน์ มาจนถึงยังบริเวณดังกล่าวโดยไม่รู้ตัว กุมภีล์ พญาแข้ ซึ่งอาศัยใกล้กัน ได้ออกอาละวาดและจมเรือสำราญ สร้อยมุกดา ซึ่งมีบุตรทารกเพศชายวัยสามเดือนถูกสังหารอย่างโหดเหี้ยม และเจ้าแสนหมื่นก็วิปลาสไปด้วยความเศร้าโศก ส่วนเด็กทารกน้อยนามเจ้าโพธินิล ซึ่งเกิดมามีปานรูปใบโพธิสีดำบนลิ้น ถูกพญากุมภีล์คาบตัวไปยังถ้ำใต้บาดาล

คงคาเห็นเหตุการณ์ทั้งหมด ด้วยความสงสาร จึงตัดสินใจลงไปช่วยเหลือแย่งชิงทารกน้อยมาได้อย่างหวุดหวิด และจากนั้น ก็นำไปให้ดอกไม้น้ำเลี้ยงไว้เสมือนหนึ่งลูกของตัวเอง ทารกผู้นั้นจึงมีนามใหม่ว่า ‘เงือกคำ’

เงือกคำเติบโตขึ้นเป็นเด็กชายผู้กล้าหาญ แม้จะถูกรังเกียจจากชาวเงือกบางคน ที่เห็นว่า ตนไม่ใช่เผ่าพันธุ์เงือกก็ตาม แต่เงือกคำก็มีความสามารถในการสื่อสารกับสัตว์ป่าทุกชนิด ยกเว้นภาษามนุษย์ที่ตนเองไม่เคยเรียนรู้มาก่อน เงือกคำมีโอกาสรู้จักกับฤๅษีสีทันดร ผู้มีตบะฌานแก่กล้า มีสมุนเป็นช้างพลายอจลา และลิงอ้วนผอมสองตัวที่ซุกซนและมักก่อเรื่องเป็นประจำ

เหตุการณ์ครั้งสำคัญในชีวิตมาถึงอีกครั้ง เมื่อขบวนท่องป่าของดอกเตอร์วงศ์ และมีดวงแข สาวสวย ออกเดินทางมาพักแรม และเจ้าวานรยักษ์อ้วนผอม ได้ลักพาตัวดวงแขมาด้วยความคึกคะนองเอามาขังไว้ในถ้ำ ดวงแขหนีออกมาได้ แต่ต้องเผชิญหน้ากับเสือร้ายตัวหนึ่ง เงือกคำช่วยเหลือหญิงสาวและสังหารเสือตัวนั้นได้สำเร็จ แต่ก็เกิดเหตุพลัดหลุดเข้าไปในถ้ำพญางูยักษ์โดยไม่ตั้งใจ

มันคืองูยักษ์สองผัวเมียอายุนับร้อยปีที่เฝ้าทรัพย์สมบัติของเจ้าแผ่นดินแห่งกรุงศรีสัตนาคนหุตในอดีตเอาไว้ จนเขาได้ล่วงรู้ความลับในอดีตชาติของตนเอง เมื่อเงือกคำหยิบดาบฟ้าฮ้อง อันเป็นศัสตราวุธ ของ เจ้าฟ้าไชยลิ้นดำ อดีตกษัตริย์ของลาวเมื่อสี่ร้อยปีก่อนและเป็นเจ้าของขุมทรัพย์ออกมา แล้วเกิดปรากฏการณ์มหัศจรรย์ฟ้าถล่มเกิดขึ้น พญางูจึงล่วงรู้ว่าเงือกคำก็คือเจ้าฟ้าไชย กลับชาติมาเกิดเพื่อกอบกู้บ้านเมืองนั่นเอง

 

เหตุการณ์วุ่นวายในกลุ่มชาวเงือกเองก็กำลังถึงจุดวิกฤต เมื่อคงคาเริ่มชราภาพลง และสมุนกลุ่มหนึ่งก่อการทรยศ สังหารคงคาลงอย่างโหดเหี้ยมเพื่อชิงอำนาจ เงือกคำกลับมาช่วยแต่ช้าเกินไป ดอกไม้น้ำบอกเล่าความจริงทั้งหมดให้ชายหนุ่มได้รับทราบว่าตนคือมนุษย์ หาใช่ชาวเงือกอย่างที่เคยเข้าใจผิดมาตลอดไม่ เงือกคำใช้ศาสตราวุธที่ได้มากำจัดผู้ก่อการกบฏจนราบคาบ แล้วแต่งตั้งสมุนคนสนิทให้ปกครองกลุ่มชาวเงือกแทนตน ก่อนจะออกเดินทางเพื่อตามหาชาติกำเนิดของตน โดยไปพบกับหลวงตาอู๋ สหายของฤๅษีสีทันดร ซึ่งท่านได้เมตตาให้เงือกคำเป็นศิษย์และสอนการพูดภาษามนุษย์ให้

ในเวลาเดียวกัน กลุ่มนักล่าขุมทรัพย์ของพระยาคำเกิดโง่นทอง อดีตผู้นำในคณะรัฐบาลลาว กับพลเอกหลวงยุทธเสนาภักดี พันโทยอด ขุนผาภูมิ นายทหารนอกราชการไทย และ พันเอก มาเชล อดีตพลร่มฝรั่งเศสในอินโดจีน กำลังร่วมกันวางแผนออกเดินทางมายังดินแดนแห่งนี้ เมื่อได้รับลายแทงโบราณ กล่าวถึงขุมทรัพย์มหาศาลที่ถูกฝังเอาไว้ใต้ถ้ำลึกลับกลางหลี่ผี คณะดังกล่าวมีครูบาทม หมอผีที่ชำนาญทางไสยเวทย์ นำทางไปด้วยและต้องเผชิญหน้ากับกลุ่มชาวข่าล่าหัวคนโดยมีเจ้าข่าเม็งเป็นหัวหน้า มันสามารถสังหารคนในกลุ่มนักล่าขุมทรัพย์ไปได้หลายคน ก่อนจะหนีจากไป

 

นอกจากนี้ เจ้าข่าเม็งยังแอบเห็นเงือกคำมีดาบฟ้าฮ้อง ด้วยความโลภ มันจึงขโมยดาบออกมา แต่ก็ถูกกลุ่มลิงป่าช่วงชิงไป พวกลิงเล่นดาบเหล่านั้นด้วยความคึกคะนองและพลัดหลุดมือหล่นลงมา ในกลุ่มของพันโทยอดพอดี พันโทยอด ขุนผาภูมิเกิดนิมิตฝันว่ามีวิญญาณรักษาดาบนี้มาพบ และขอให้เก็บรักษาดาบไว้ให้กับผู้มีบารมี เพราะตนคืออดีตหนึ่งในขุนศึกทั้งสี่ของเจ้าฟ้าไชย ผู้มีนามว่าพญามือเหล็ก แต่ให้ระวังสหายทั้งสามที่วางแผนแย่งชิงมาด้วยความโลภ แต่เมื่อเขาตื่นขึ้นมาก็ไม่พบอะไร ทำให้คิดว่าทุกอย่างเป็นเพียงแค่ความฝัน

แต่แล้ว ระหว่างการเดินทางตามหาขุมทรัพย์นั้นเอง ก็เกิดพายุพัดพาน้ำป่า เข้ากระหน่ำกลุ่มนักสำรวจ จนทำให้หีบใส่ดาบพลัดหายไป

ผู้กองโตงขะแมร์ หัวหน้ากองพลของเขมรแดง พบกลุ่มนักสำรวจป่าของดอกเตอร์วงศ์ จึงจับตัวไปเป็นเชลย และชอบพอความสวยงามของดวงแข แม้ว่าหล่อนจะอ้างว่าแต่งงานแล้วก็ตาม แต่แล้วเงือกคำก็มาช่วยเหลือทั้งคณะให้หนีรอดออกมาได้ ทำให้ดอกเตอร์วงศ์ประทับใจในตัวชายหนุ่มที่เหมือนทาร์ซานผู้นี้เป็นอย่างมาก

กลุ่มวานรยักษ์ลิงอ้วนและลิงผอม เดินทางมาหาเงือกคำ ตามคำสั่งของฤๅษีพ่อปู่สีทันดร ว่า ขณะนี้ ทีมสำรวจของนายพันโทยอด กำลังจะเดินทางไปถึงถ้ำขุมทรัพย์แล้ว ให้เขารีบกลับไปเพื่อจัดการกับคนเหล่านั้นโดยด่วน

กลุ่มของพันโทยอด มาถึงบริเวณผาร้องไห้ และแกะลายแทงโบราณตามพิกัดได้สำเร็จ พวกเขาเดินทางผ่านถ้ำลึกลับลงไปจนพบกับขุมทรัพย์มหาศาลของพระไชยลิ้นดำทุกประการ ทุกคนต่างกอบโกยทรัพย์สมบัติมาเป็นของตัวเองด้วยความความโลภ ก่อนจะเผชิญหน้ากับกองทัพของงูที่เฝ้าสมบัติเหล่านั้น พันเอกมาเชลถูกพญางูสังหารเป็นรายแรก แต่แล้วเงือกคำก็ปรากฏกายขึ้น ห้ามกองทัพพญางูให้ยุติลง

ทุกคนพยายามกอบโกยทรัพย์สมบัติก่อนจะออกมาจากถ้ำ แต่แล้วก็เกิดแผ่นดินไหวรุนแรงจนทำให้ถ้ำพังทลายลงมา เงือกคำออกมาพร้อมกับพญางูทั้งสอง ในขณะที่คนทั้งหมดถูกก้อนหินในถ้ำทับตายกันหมดด้วยกิเลสที่หนาทึบของพวกเขาเอง จนไม่อาจหนีออกมาได้ทันเวลา

และแล้วเรื่องราวอันแสนมหัศจรรย์ของพญาเงือกคำในภาคหนึ่ง ก็ดำเนินมาสิ้นสุดเพียงเท่านี้

เรื่อง : พญาเงือกคำ

ผู้เขียน : สิทธา เชตวัน

สำนักพิมพ์ : โลกทิพย์

ปีที่พิมพ์ : 2534

สามเล่มจบ

ภายหลังจากนั้นอีกสามปีต่อมา พญาเงือกคำ ภาคสอง จึงได้ออกวางจำหน่าย ซึ่งผู้เขียนได้บอกเล่าที่มาและรายละเอียดซึ่งมีนักอ่านหลายท่านสอบถามเข้ามา เช่นเนื้อหาที่สัตว์เดรัจฉานสามารถติดต่อพูดคุยกับพระเอก แม้จะเป็นเรื่องเหลือเชื่อก็ตาม แต่เจตนาของคนเขียนก็เพื่อต้องการแสดงออกซึ่งคติธรรม ตลอดจนปัญหาชีวิตมนุษย์และสัตว์ทั้งหลายที่เต็มไปด้วยกิเลสตัณหาอุปาทานต่างๆ นั่นเอง

เรื่องราวต่อเนื่องจากในภาคแรก เมื่อพญาเงือกคำออกตามหาดาบฟ้าฮ้อง จนพบว่าตกอยู่ในมือของข่าเม็ง และสามารถช่วงชิงกลับคืนมาได้สำเร็จ จากนั้นการเดินทางเพื่อออกติดตามหา บิดาที่แท้จริงหรือเจ้าแสนหมื่นอินทราช โดยทราบจากฌานสมาบัติของหลวงตาอู๋ ทำให้เงือกคำต้องออกเดินทางเข้าสู่เมืองกรุง พร้อมคณะของดวงแข และดอกเตอร์วงศ์ผู้เป็นพี่ชาย ตราบจนกระทั่งได้พบกับ จ้าแสนหมื่นซึ่งมีรูปร่างหน้าตาเหมือนกับตัวเอง และเงือกคำก็ได้พิสูจน์ความเป็นทายาทที่แท้จริงของเจ้าแสนหมื่นอินทราชได้สำเร็จ เรื่องราวของพญาเงือกคำ ก็จบลงโดยสมบูรณ์

สำหรับประวัติและรูปของผู้เขียน ผมขอนำส่วนหนึ่งจากบทความ ‘นักเขียนทรงพรต สิทธา เชตะวัน วางปากกาถือศีล 227’ ของ คุณสัจจภูมิ ละออ ที่ลงในนิตยสารมติชน ฉบับตุลาคม 2536 มาประกอบสั้นๆไว้ด้วยครับ

สิทธา เชตวัน มีนามจริงว่า พิพัฒน์ ภราดรเสรี (ชื่อเดิม คือ พิมพา อทาโส) เกิดเมื่อวันที่ 22 เมษายน 2475 ที่หมู่บ้านนาใหญ่ อ.สุวรรณภูมิ จ.ร้อยเอ็ด ภายหลังเรียนจบได้เข้าเป็นนักข่าว ประจำกองบรรณาธิการ พิมพ์ไทย ปี พ.ศ. 2494 อยู่ในสายอาชญากรรม และลาออกจาก พิมพ์ไทย เมื่อปี พ.ศ. 2500 ภายหลังจึงเริ่มเขียนนิยาย และประสบความสำเร็จอย่างสูง ในนามปากกา เพชร สถาบัน ผลงานนิยายมีทั้งหมดกว่า 400 เรื่อง และในจำนวนนี้ นำไปสร้างเป็นภาพยนตร์ รวม 85 เรื่อง นักเขียนรุ่นเดียวกับท่าน เช่น คุณพนมเทียน เศก ดุสิต ส.เนาวราช

 

และภายหลังเมื่อลูกสาวคนเล็กสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีจากออสเตรเลีย ท่านจึงได้ตัดสินใจบวชสู่ร่มกาสาวพัสตร์ที่วัดป่าอุดมวารี ตำบลทรายขาว อำเภอพาน จังหวัดเชียงราย เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2536 เมื่ออายุได้ 61 ปี ได้ฉายา ‘โชติวโร’ ก้าวสู่เส้นทางธรรมปฏิบัติธรรมตามแนวทางของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเพื่อศึกษาและปฏิบัติธรรมธรรมกับพระผู้ปฏิบัติชอบใสนักต่างๆ เกือบทั่วราชอาณาจักร

พระอาจารย์พิพัฒน์ โชติวโร มรณะภาพเมื่อวันที่ 6 เมษายน 2549 ที่โรงพยาบาลสงฆ์ กรุงเทพฯ

 

จากบทสัมภาษณ์ เมื่อถามถึงผลงานในระยะแรก

“เรื่องแรกนี่ดูเหมือนจะเป็นเรื่อง ธรณีเดือด ลงใน ผดุงสิทธิ์ รายสัปดาห์ จากนั้นก็เขียนมาเรื่อย ผมเสเพล กินเหล้าเก่ง สูบบุหรี่เก่ง จนเป็นโรคตับอักเสบ เบาหวาน เข้าโรงพยาบาล 3-4 ครั้ง สัญชาตญาณบอกว่าถ้าไม่เลิกเหล้าเลิกบุหรี่ ตายแน่ ก็ต้องหันมาทางธรรมะ”

เมื่อหันหน้าเข้าหาธรรม เรื่องที่เขียนก็ไม่แปลกที่เกี่ยวกับธรรมะทั้งสิ้นและเป็นที่ติดอกติดใจของนักอ่าน เหตุที่เขาต้องทำงานหนักอยู่ที่บ้านซอยวัดเปาโรหิตย์เพื่อให้ทันต่อความต้องการเสพของนักอ่าน

“ผมใช้เครื่องพิมพ์ดีดสามเครื่อง พอมันเครียด พอมันเหนื่อย เราก็เปลี่ยนไปพิมพ์อีกเครื่องหนึ่ง ซึ่งเป็นนิยายอีกเรื่องหนึ่ง เมื่อเปลี่ยนเรื่อง มันก็เปลี่ยนอารมณ์ เท่ากับเป็นการพักผ่อนไปในตัว”

งานเขียนของเขาไม่เคยเจือยาพิษให้ผู้อ่าน มีคติให้คนฉุกคิดเรื่องบุญกรรม และบ่งชัดถึงสภาพความเป็นจริงของสังคมเสมอ

 

สำหรับผลงานในนามปากกา สิทธา เชตวัน ได้แก่ บึงลับแล, ปีศาจราหู, เพชรตาเสือ, พลังแฝงเร้นมหัศจรรย์, ภูตแม่น้ำโขง, ตามรอยหลวงปู่ทวด วัดช้างให้, หลวงปู่คำคะนึง จุลมณี บุกเมืองพญานาคและท่องนรก, โลกทิพย์, ของดีในพระไตรปิฎก, หลวงปู่เยอรมัน, พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต ยอดอริยะแห่งยุค, ชาติปางก่อนของพระอาจารย์จันทา ถาวโร รวมถึง พญาเงือกคำ เรื่องนี้ครับ

Don`t copy text!