มาลี-วิลลา

มาลี-วิลลา

โดย : หมอกมุงเมือง

Loading

บรรณาภิรมย์ โดย หมอกมุงเมือง คอลัมน์ที่อ่านเอาขอมอบความรื่นรมย์ให้กับผู้อ่านด้วยภาพปกสวยๆ และเนื้อเรื่องในแบบต่างๆ ของนักเขียนชั้นครูที่เคยผ่านมือ ผ่านตาและผ่านใจ เพื่อให้ทุกคนได้ร่วมรำลึกถึงผลงานของนักเขียนแต่ละท่านให้พอหายคิดถึงแม้เวลาจะผ่านไปแล้วเนิ่นนาน ภาพและตัวอักษรจะปรากฏให้เห็นอีกครั้งในยุคของการอ่านออนไลน์

เห็นชื่อนวนิยาย ‘มาลี-วิลลา’ เรื่องนี้ในครั้งแรก ก็สะดุดตาผู้อ่านในทันทีและชวนให้สงสัยว่าจะเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับอะไร และโดยเฉพาะเมื่อเห็นนามปากกา ฤดี จรรยงค์ หรือ อ.มนัสวีร์ ซึ่งความจริงแล้ว ก็คืออีกหนึ่งนามปากกาของราชันย์เรื่องสั้น มนัส จรรยงค์ เจ้าของผลงาน อย่างเรื่องสั้น จับตาย อันลือลั่น รวมถึง ‘ดอกแคแดง’ ที่ผมเขียนถึงไปในบรรณาภิรมย์ครั้งที่แล้วนั่นเอง จากคำนำของสำนักพิมพ์ ได้บอกเล่าเรื่องราวที่มาของนิยายเรื่องนี้ไว้อย่างน่าสนใจ ว่า

“การใช้สำนวนเรียบๆ แต่ให้ความละเอียดในด้านความรู้สึกต่อทุกระยะของบทบาทตัวละครในเรื่อง เป็นวิธีเขียนที่นักอ่านจำนวนมากท่านให้ความนิยมแก่ผู้ประพันธ์… มาลี-วิลลา ได้สำเร็จลงด้วยความพิสดารของเรื่อง ซึ่งเป็นแนวที่รวบรวมด้วยความรักรสแปลกๆ ในต่างฐานะของคู่รักเรื่องนี้ เมื่อได้นำเสนอลงในนิตยสารเพลินจิตต์ ก็ปรากฏว่ามีผู้อ่านติดตามกันอย่างเกรียวกราว จนต้องทำให้นิตยสารเพลินจิตต์ต้องพิมพ์เพิ่มปริมาณขึ้นในระยะนั้น แต่ครั้นเมื่อเรื่องได้อวสานลง ก็กลับมีนักอ่านร่ำร้อง ที่ติดในจในเรื่องราวของมาลี-วิลลานี้ขึ้น

มาลี-วิลลาได้เคยทำความนิยมไว้แก่ผู้อ่านแล้วเพียงใด เนื้อหาในหนังสือเล่มนี้คงจะยืนยันแก่ท่านได้ ฉะนั้น ขอให้ท่านกรุณาพลิกอ่านเพื่อความอภิรมย์ด้วยตัวของท่านเองต่อไปเถิด…

หากสำหรับ มาลี-วิลลา เรื่องนี้ นับว่าเป็นนวนิยายรักพาฝันแสนสนุก ซึ่งเป็นสไตล์การเขียนในยุคต้นๆ ของ มนัส จรรยงค์ บอกเล่าชีวิตของสองสาวพี่น้องอัจฉราและนันทนา ที่กำพร้าบิดามารดาและอาศัยอยู่ในบ้านหลังกะทัดรัดขนาด ‘เท่าแมวดิ้นตาย’ โดยผู้เป็นบิดาแทบไม่ได้ทิ้งสมบัติพัสถานอะไรไว้ให้เลย นอกจากหญิงคนใช้วัยชราที่ชื่อนางพา เพียงผู้เดียวเท่านั้น

ชีวิตที่แสนจืดชืดในแต่ละวันเปลี่ยนไปทันที เมื่ออัจฉราได้รับจดหมายจากมาลินี เพื่อนเก่าสมัยมัธยมของอัจฉรา ชักชวนให้เธอไปร่วมงานเลี้ยงรื่นเริงของคนชั้นสูงที่มาลีวิลลา อันเป็นบ้านพักของมาลินีที่ตัวเมืองชะอำ โดยให้มีคนรับใช้คอยติดตามไปได้หนึ่งคน

ชีวิตวัยมัธยมในโรงเรียนหรูหราที่อัจฉราเคยใช้ชีวิตอยู่ในเวลานั้น บัดนี้ เหลือเพียงแค่ความฝัน หลังจากบิดามารดาเสียชีวิตลง และหล่อนก็ต้องออกจากโรงเรียนมาอยู่ในบ้านหลังเล็กๆแห่งนี้ โดยที่มาลินีเองก็ไม่เคยล่วงรู้มาก่อน แต่ด้วยความรู้สึกที่อยากเปิดหูเปิดตา และไปร่วมในงานเลี้ยงอันหรูหรา ทำให้อัจฉราตัดสินใจที่จะออกเดินทางไป

แต่ด้วยเงื่อนไขที่อนุญาตให้มีคนรับใช้เดินทางไปด้วยนี้เอง ทำให้นันทนาสามารถเดินทางร่วมไปกับพี่สาวได้ และอัจฉราเองก็ไม่อยากจะทิ้งน้องสาวเอาไว้ที่บ้านเพียงลำพัง แผนการสำคัญจึงเริ่มต้นขึ้น เมื่อนันทนา สาวน้อยแสนสวย ต้องปลอมตัวเป็นนางพา หญิงรับใช้คนสนิทของ อัจฉรา และร่วมเดินทางไปมาลีวิลลา ในฐานะของผู้ติดตามไปแทน!

 

ระหว่างการเดินทางไปยังชะอำด้วยรถไฟสายใต้นั้นเอง เมื่ออัจฉราในฐานะแขกผู้มีเกียรติได้เดินทางด้วยรถไฟชั้นหนึ่ง และนันทนา ในฐานะนางพา หญิงรับใช้ เดินทางโดยรถไฟชั้นสามขบวนเดียวกัน ทำให้นันทนามีโอกาสได้พบกับเทวินทร์ สุภาพบุรุษหนุ่มร่างสูงใหญ่ที่เข้ามาช่วยเหลือเธอไว้ โดยที่เขาเองก็เข้าใจว่าหญิงสาวเป็นเพียง ‘นางพา’ คนรับใช้ที่จะเดินทางไปมาลีวิลลา พร้อมกับอัจฉรา เจ้านายของเธอ ในเวลานั้นเขาก็รู้สึกประทับใจในตัวหญิงสาวที่พูดจาเฉลียวฉลาด มีไหวพริบ และยังนิสัยใจคอที่น่ารักอีกด้วย

ณ มาลีวิลลา อันเป็นที่ชุมนุมของบรรดาเหล่าชายหนุ่มหญิงสาว กลุ่มชนชั้นสูงที่มาร่วมงานสังสรรค์ของมาลินี ในขณะที่นันทนาต้องไปพักอยู่ร่วมกับกลุ่มคนรับใช้ ผู้ติดตามนายของแต่ละคน โดยมีนายจำปาเป็นหัวหน้าคนรับใช้ของที่นี่ และมีท่าทีประทับใจนันทนาในคราบของ นางพาเป็นอย่างมาก เขามองว่าเธอแตกต่างจากบรรดาคนรับใช้คนอื่นๆ ทั่วไป แต่นันทนาก็ให้ความสนิทสนมเพียงแค่เพื่อนเท่านั้น ท่ามกลางความริษยาของคนรับใช้ผู้ติดตามอย่างนางจินดา ที่ไม่ต่างกับวิยะดา เจ้านายสาวของหล่อน ที่ริษยาอัจฉรา เมื่อเห็นว่ามีนายโรจนวงศ์ และราเชนทร์ มาชื่นชอบสนิทสนม

ภายในงานเลี้ยงสังสรรค์ที่มาลีวิลลาแห่งนี้เอง ที่ทำให้นันทนาได้พบกับเทวินทร์อีกครั้ง เขาเป็นชายหนุ่มที่สูงศักดิ์ และเป็นอดีตคนรักของมาลินี ก่อนที่มาลินีจะสลัดรักเขาไปคบหากับนัดดา และเลิกรากันไป หากมาลินีเอง ภายหลังก็เกิดความเสียดายเทวินทร์ ต้องการกลับมาคืนดีกับเขาอีกครั้ง แต่ชายหนุ่มกลับมองเห็นคุณค่าของหญิงรับใช้อย่างนางพา ที่เขาให้ความสนิทสนม มากยิ่งกว่าบรรดาสตรีชนชั้นสูงเหล่านั้นโดยสิ้นเชิง และทำให้นันทนายิ่งรู้สึกประทับใจในตัวของเขามากขึ้น

อัจฉราเองเพลิดเพลินกับกิจกรรมต่างๆ ภายในมาลีวิลลา แม้กระทั่งการเล่นไพ่การพนัน จนทำให้หล่อนตกเป็นหนี้พนันจำนวนมากโดยไม่รู้ตัว ในเวลาต่อมา นายสมสนิทหนุ่มใหญ่มหาเศรษฐี ก็ยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือให้หล่อนหยิบยืมเงิน ทำให้อัจฉราในภายหลังเริ่มรู้สึกสำนึกผิด และรู้ว่าตนเองกำลังตกเป็นหนี้บุญคุณของอีกฝ่าย หล่อนพยายามเลิกจากการเล่นพนัน และหาเงินมาชดใช้คืนแก่นายสมสนิท โดยที่นันทนาเองก็เพิ่งมารู้ปัญหานี้ในภายหลัง

ในท่ามกลางความรักที่เริ่มผลิบานของสองหนุ่มสาวต่างฐานะและชนชั้น เหตุการณ์ไม่คาดฝันก็เกิดขึ้น เมื่อวิยะดาเกิดเอะอะโวยวายว่าเครื่องเพชรของหล่อนถูกขโมยไป และในเวลานั้นเอง ที่คนใช้ชั้นต่ำอย่าง ‘นางพา’ ไม่อยู่ในช่วงเวลาที่ทุกคนกินข้าวกันพอดี

นันทนากลายเป็นผู้ต้องสงสัยในเหตุการณ์นี้ทันที และด้วยท่าทีกล้าหาญ กล้าพูด ยิ่งทำให้ วิยะดาสงสัยในตัวอีกฝ่าย อัจฉราพยายามแก้ไขเหตุการณ์ให้คลี่คลายลง แต่ดูเหมือนว่าระหว่างการสอบปากคำโดยคุณพระธรรมวินิจฉัย บิดาของมาลินี ผู้เป็นเจ้าของมาลีวิลลาแห่งนี้ กลับยิ่งทำให้ความลับที่หล่อนและน้องสาวร่วมกันปกปิดเอาไว้ จะยิ่งเปิดเผยออกมามากขึ้น

มาลี วิลลา 2496 (ภาพจากเว็บร้านลุงกิตติ_b)

เรื่อง : มาลี-วิลลา

ผู้เขียน : ฤดี จรรยงค์

สำนักพิมพ์ : โอเดียนสโตร์ และ แพร่พิทยา

ปีที่พิมพ์ : 2496

เล่มเดียวจบ

แต่แล้ว เทวินทร์ก็ปรากฏตัว และยืนยันในความบริสุทธิ์ของนันทนาในคราบนางพา ว่าช่วงเวลาดังกล่าว เขาและเธออยู่ด้วยกัน!

ประโยคสนทนาของคุณพระธรรมวินิจฉัย เจ้าของมาลีวิลลา และคำตอบโต้ของเทวินทร์ พระเอกของเรื่อง แสดงให้เห็นถึงทัศนคติเรื่องการแบ่งแยกชนชั้นที่แตกต่างกันได้อย่างชัดเจน

“เทวินทร์ คุณหมายความว่ากระไร ในการที่คุณได้ไปเดินเล่นกับเด็กหญิงคนนี้ถึงสองชั่วโมงกว่า คุณเสียสติไปแล้วหรือ ถึงได้พูดออกมาอย่างนั้น ผมไม่เชื่อเลยว่าคนอย่างคุณจะกล้าหาญ และลดตัวพาเด็กคนใช้ไปเที่ยวเล่น”

 “มันจำเป็นที่จะต้องกล้าพูดขอรับ ในเมื่อเราเห็นแก่ความยุติธรรม ผมไปเที่ยวกับเธอจริง ผมก็จำต้องรับรองว่าผมไปเดินเที่ยวเล่นกับเด็กคนนี้…”

“แปลว่า คุณก็ได้มาหลงรักผู้หญิงคนใช้ในบ้านนี้ คุณไม่รักตัวไม่รักเกียรติของคุณบ้างเลยทีเดียวหรือ”

“ผมก็ยังไม่ทราบว่า ผมจะปราศจากเกียรติที่ตรงไหน ผู้หญิงคนนี้ได้สัญญาไว้กับผมแล้วว่าเขาจะต้องแต่งงานกับผม เราจะต้องมามัวนึกถึงเกียรติยศ เกียรติคุณ ด้วยเรื่องอะไร เขาจะต้องเป็นเมียของผมในอนาคต ด้วยความเห็นชอบและตกลงใจด้วยกันทั้งสองฝ่าย…”

 และเหตุการณ์นี้เอง ที่ทำให้อัจฉราทนไม่ได้ ที่น้องสาวต้องถูกเหยียดหยามดูถูก จนตัดสินใจเปิดเผยความลับทั้งหมดออกมา แม้ว่าจะทำให้ทุกคนตกใจ แต่ในที่สุดมาลินีและบิดาของหล่อนก็เข้าใจ ยอมรับ ในตัวของนันทนา เห็นจะมีแต่เพียงวิยะดาเท่านั้นที่ไม่พอใจ เมื่อเห็นว่าทุกคนไม่มีใครหันมาสนใจปัญหาเครื่องเพชรของหล่อนเลยแม้แต่น้อย

หญิงสาวย้อนกลับมายังห้องพักอย่างหัวเสีย ก่อนที่จินดา คนใช้คู่หูจะวิ่งโร่มาหาหล่อน พร้อมกับชุดราตรีที่เพิ่งสวมใส่ไปเมื่อคืน หล่อนบอกกับเจ้านายอย่างประจบว่าพบสร้อยเพชรอยู่ในกระเป๋าเสื้อราตรีของวิยะดาพอดี!

ด้วยความอับอายและอัปยศที่ตนเอ ไปกล่าวหาผู้อื่น วิยะดาและจินดาหญิงรับใช้รีบเดินทางออกจากมาลีวิลลาในทันที และยอมสารภาพความจริงเรื่องสร้อยเพชรที่เพิ่งพบให้กับมาลินี ทำให้เรื่องราวทุกอย่างคลี่คลายลงในที่สุด

อัจฉรากับโรจนวงศ์ เลขาหนุ่มของนายราเชนทร์ ก็ได้ปรับความเข้าใจกัน ในขณะที่ความรักของเทวินทร์และนันทนา ก็ดำเนินต่อไปอย่างมีความสุข

และมาลีวิลลา อันเป็นสถานที่เกิดเหตุการณ์ต่างๆ ในนิยายเรื่องนี้ ก็จบลงในที่สุด

 

ปัจฉิมลิขิต : สำหรับปกนวนิยายเรื่องนี้ ผมได้นำภาพมาจากเว็บไซต์ร้านลุงกิตติ เนื่องจากว่า หนังสือที่มีอยู่ไม่มีปกหุ้ม และโชคดีที่มีโอกาสได้เห็นรูปปกนิยายเรื่องนี้จากร้านหนังสือเก่าลุงกิตติพอดี จึงขอนำมาลงประกอบไว้เพื่อความสมบูรณ์ ของเนื้อหาการเขียนครั้งนี้ด้วยครับ

 

Don`t copy text!