โลกของก๋ง

โลกของก๋ง

โดย : หมอกมุงเมือง

Loading

บรรณาภิรมย์ โดย หมอกมุงเมือง คอลัมน์ที่อ่านเอาขอมอบความรื่นรมย์ให้กับผู้อ่านด้วยภาพปกสวยๆ และเนื้อเรื่องในแบบต่างๆ ของนักเขียนชั้นครูที่เคยผ่านมือ ผ่านตาและผ่านใจ เพื่อให้ทุกคนได้ร่วมรำลึกถึงผลงานของนักเขียนแต่ละท่านให้พอหายคิดถึงแม้เวลาจะผ่านไปแล้วเนิ่นนาน ภาพและตัวอักษรจะปรากฏให้เห็นอีกครั้งในยุคของการอ่านออนไลน์

 

เฉลิมศักดิ์ รงคผลิน หรือ หยก บูรพา เป็นนักเขียนนิยาย เรื่องสั้น ที่สะท้อนภาพชีวิตของคนจีนที่อาศัยในเมืองไทย รวมถึงภาพชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนในชุมชนเหล่านั้นได้เป็นอย่างดี ไม่ว่าจะเป็นนวนิยายชุด กตัญญูพิศวาส หรือเรื่องเอกที่ทุกคนคุ้นเคยกันอย่างนิยาย อยู่กับก๋ง ที่นำไปสร้างเป็นภาพยนตร์และละครโทรทัศน์มาแล้ว

สำหรับหลายคนที่คิดถึง ‘ก๋ง’ กับ ‘หยก’ สองตัวละครเอกในเรื่อง นอกเหนือจากชุด อยู่กับก๋ง แล้ว ยังมีผลงานรวมเรื่องสั้นอันเป็นที่รักของ หยก บูรพา ที่ใช้ตัวละครหลักสองตัวละครนี้รวมอยู่ด้วย โดยสำนักพิมพ์เสริมวิทย์บรรณาคาร ได้นำมารวมเล่มไว้ถึงสองชุดคือ ก๋งกับหยก และ โลกของก๋ง เล่มนี้นั่นเอง ผมไม่แน่ใจว่ารวมเรื่องสั้นชุดดังกล่าวได้มีจัดพิมพ์ขึ้นเป็นครั้งต่อมาหรือไม่ แต่สำหรับเพื่อนนักอ่านที่เคยประทับใจ อยู่กับก๋ง มาแล้ว การอ่านรวมเรื่องสั้นทั้งสองชุดนี้ จะช่วยเสริมความรู้สึกเต็มอิ่ม ให้กับเรื่องราวเหล่านี้ได้อย่างแน่นอน

หยก บูรพา

ในชุด โลกของก๋ง นี้ หยก บูรพา ได้รวบรวมจากเรื่องสั้นที่เคยตีพิมพ์ในหน้านิตยสารต่างๆที่หลากหลายต่างวาระ มารวมกัน จำนวนทั้งสิ้น 21 เรื่อง ซึ่งแต่ละเรื่องมีเนื้อหารายละเอียดที่แยกจากกันเป็นเอกเทศ แม้ว่าจะมี ‘ฉัน’ กับ ‘ก๋ง’ เป็นเหมือนศูนย์กลางของเรื่องราวทั้งหมดก็ตาม ซึ่งผมจะขอนำมาเล่าไว้ เพียงบางเรื่องพอสังเขป ครับ

เรื่อง รั้ว เป็นเรื่องสั้นสะท้อนชีวิต ที่อ่านแล้วสะเทือนใจเรื่องหนึ่งเลยทีเดียวครับ บอกเล่าเรื่องราวของเทียน เด็กชายที่เกิดมายากจน และยังกำพร้าแม่ จากนั้นไม่นานพ่อก็มีภรรยาใหม่ และทำให้เทียนกลายเป็น ‘ลูกชัง’ ไปในเวลาไม่นาน

ปัญหาเกิดขึ้นเมื่อครูใหญ่ที่เพิ่งย้ายมาที่โรงเรียนนี้ และมีนโยบายที่จะสร้างรั้วโรงเรียนร่วมกัน

“ที่แนวขอบสนามนั่น” ครูใหญ่เปลี่ยนเสียงดังขึ้น

“ครูต้องการทำรั้วไม้กั้นตลอดเพื่อให้เห็นเป็นเขตโรงเรียน บ้านยังมีรั้ว โรงเรียนก็ตัองมีรั้ว”

ครูใหญ่จึงแจ้งให้นักเรียนทุกคนไปบอกผู้ปกครอง เพื่อซื้อไม้แปมาคนละท่อน เพื่อนำมาสร้างรั้วกั้นเขตหน้าโรงเรียน บางที ด้วยท่าทางเอาจริงเอาจังเข้มงวด จนเด็กๆ ต่างเกรงกลัวนั่นด้วยกระมัง ที่ทำให้เทียนหายตัวไปจากโรงเรียนโดยปราศจากสาเหตุ ทั้งที่ความจริงแล้ว เมื่อถึงเวลา สร้างรั้วร่วมกัน ครูใหญ่เองก็เป็นฝ่ายช่วยออกค่าไม้ ค่าแรง หรือส่วนขาดเหลือทุกอย่างให้ โดยไม่ได้ต้องการให้เป็นภาระของผู้ปกครองเด็กๆ นอกจากเพื่อสร้างความสามัคคีร่วมกันเท่านั้นเอง

 

และเด็กชายหยกก็ได้พบกับเทียนอีกครั้ง ในสภาพซึมเศร้า และเหตุผลที่ชวนอึ้งและสะเทือนใจ

“แม่เลี้ยงไม่ให้ไปโรงเรียนหรือ?”

“เปล่า… ไม่มีไม้ไปให้ครูใหญ่น่ะ”

ตอบแล้วเทียนก็ได้แต่หันหลังเดินจากไป ขณะที่ฉันเดินไปสู่โรงเรียน แลเห็นรั้วไม้ยาวเหยียดเป็นแนวบอกเขตโรงเรียน เห็นรั้วแล้วฉันอดนึกสะท้อนใจไม่ได้

…รั้วนี้เองที่ครูใหญ่ต้องการให้มีขึ้นเป็นแนวบอกเขตโรงเรียน แต่ใครเลยจะรู้ว่า มันได้กั้นเทียนไว้ไม่ให้เข้าไปข้างในด้วย

สำหรับเรื่อง คนที่ไม่มีใครต้องการ ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ที่สะท้อนภาพ ‘คนชายขอบ’ ที่ถูกรังเกียจเดียดฉันท์ อย่างนายตัง ผู้ที่เกิดมาอาภัพนอกจากความยากจนแล้ว ยังต้องกลายมาเป็นโรคที่สังคมรังเกียจอย่างโรคเรื้อน จนต้องถูกอัปเปหิจากห้องแถวบ้านเกิดไปอยู่กระท่อมริมดงนอกหมู่บ้าน และการเป็นโรคร้ายนี้ยังสร้างผลกระทบให้กับผู้เป็นแม่และพ่อ ที่หาทางออกให้ชีวิตต่างกัน แต่นายตังก็ยังมองเห็นแสงสว่างปลายทาง ที่จะนำพาเขาไปสู่โอกาสของชีวิตที่ดีขึ้นกว่าเดิม แทนที่จะยอมปล่อยให้ตัวเองให้ตกเป็นทาสคำพูดของผู้คนรอบข้างเหล่านั้น เป็นอีกเรื่องสั้นเรื่องหนึ่งที่สร้างกำลังใจให้กับคนอ่านได้เป็นอย่างดี

 

เรื่อง สวนเงินของย่าพลอย เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่อ่านแล้วให้แง่คิดเป็นอย่างดี ย่าพลอยเป็นหญิงชรา ที่ใช้พื้นที่เล็กๆ ในบ้านทำสวน ปลูกผักและแบ่งขายให้กับชาวบ้านในแถบนั้นในราคากันเอง แม้ว่าแม่ค้าในตลาดจะมาขอเหมาซื้อเพื่อไปขายในราคาสูงกว่า แต่ย่าพลอยก็ปฏิเสธ

สวนของย่าพลอย จึงเต็มเปี่ยมไปด้วยมิตรจิตมิตรใจของผู้คนในแถบนั้น รวมถึงก๋ง ที่เกิดอุบัติเหตุ จนต้องหาใบพลับพลึงมาผิงไฟประคบแผล

ก๋งให้เงินหยกเพื่อไปขอซื้อใบพลับพลึงที่ป้าพลอยปลูกไว้พอดี แต่ป้าพลอยก็ไม่รับเงินเหรียญนั้น และหยกก็นำใบพลับพลึงกลับมาให้ก๋ง พร้อมกับแง่คิดจากก๋ง

“ยายพลอยคนนี้เป็นคนฉลาด”

ฉันยังฉงน เพราะเห็นแกเป็นคนแก่ธรรมดาๆ คนหนึ่ง

“ฉลาดซี แกทำสวนอยู่ในบ้าน ได้ความเพลินใจไปวันหนึ่งๆ แล้วยังได้เงินจากคนไปซื้ออีกด้วย เท่ากับว่าแกทำสวนเงินไงล่ะ ผักหญ้าที่แกปลูก มันงอกออกมาให้เก็บขายเป็นเงินเป็นทอง เป็นรายได้แม้คราวละนิดละหน่อย ก็ยังเรียกว่ารายได้จริงไหมล่ะ”

“แต่บางทีแกก็ไม่ได้เงินนะ อย่างพลับพลึงที่แกให้เรามาเปล่าๆ นี่ไง”

“คิดดูเสียใหม่…” ก๋งพูดยิ้มๆ “คราวนี้แกไม่ได้เงิน แต่แกก็ได้น้ำใจจากเราไงล่ะ มันเป็นรายได้ในอนาคต”

เรื่อง คนพันธุ์ เป็นอีกเรื่องที่อ่านไปด้วยรอยยิ้ม เมื่อ หยก บูรพา เล่าถึงปัญหาการคุมกำเนิดในยุคก่อน โดยเฉพาะความเชื่อที่ว่า ถ้าหากผู้ชาย ‘ไปตอน’ แล้วจะเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ หรืออ้วนเป็นหมูตอน ในทางตรงกันข้ามถ้าผู้หญิงไป ‘กลับมดลูก’ ก็จะทำให้ผอมแห้งแรงน้อย เจ็บป่วยออดๆ แอดๆ ซ้ำฟังชื่อดูแล้วก็น่าหวาดเสียวไม่หยอก ทั้งที่ความจริงก็คือการไปทำหมัน คุมกำเนิดนั่นเอง

และเรื่องราวทั้งหมดก็เริ่มต้นขึ้น ในครอบครัวของเถ้าแก่จุ๊ยกับยายปริก ที่มีลูกเกือบสิบคน แต่ลูกๆ เหล่านั้นก็ไม่มีใครเหมือนอาโซ้ยตี๋ หรือคุณสันติ ลูกชายคนเล็ก ที่เกิดมาในช่วงยุคทองของพ่อแม่ จนมีโอกาสร่ำเรียนสูงกว่าพี่ๆ น้องๆ และเข้าทำงานรับราชการอย่างมีหน้ามีตาของพ่อแม่

ตราบจนกระทั่ง อาโซ้ยตี๋จะมีเมีย และเลือกที่จะแต่งงานกับแก้วตา สาวชาวไทยที่ทำงานร้านเสริมสวยในตลาดนั่นเอง แม้จะขัดลูกชายไม่ได้ แต่ความต้องการของเถ้าแก่ ก็อยากจะให้โซ้ยตี๋มีลูกชายเป็นหน้าตาให้วงศ์ตระกูล แต่จนแล้วจนรอด แก้วตาก็มีแต่ลูกสาว จนผ่านไปถึงสี่คน!

นางปริกจึงตัดสินใจไปบนหลวงปู่ที่เข้าทรง และต้องเสียค่าเครื่องเซ่น เครื่องไหว้ต่างๆมากมาย แต่ก็ทำให้นางและเถ้าแก่เต็มไปด้วยความหวัง เมื่อเจ้ารับปากว่าลูกสะใภ้จะมีลูกชายให้แน่นอน

 

แต่เมื่อกลับมาถึงบ้าน ก็พบว่าอาโซ้ยตี๋นอนเหมือนคนป่วยอยู่ที่บ้านเสียแล้ว

“ป่วยนิดหน่อยครับแม่ นี่ผมก็เพิ่งกลับจากโรงพยาบาลที่กรุงเทพฯ เมื่อบ่ายนี้เอง”

“อ๊ะ ไปรักษาหาหมอที่กรุงเทพฯ โน่น แล้วจะมาว่าป่วยนิดหน่อยได้ยังไง… ไหนบอกแม่ทีว่าเป็นอะไรไป”

คุณปลัดยังไม่ทันอ้าปาก คุณนายแก้วตา ก็ชิงตอบก่อนเสียว่า

“ไปทำหมันมาน่ะค่ะ”

ขวดน้ำมนต์ที่อุตส่าห์เอามาจากหลวงพ่อ ถึงกับหล่นเพล้ง นางโวยวายแหลก แม้ว่าปลัดสันติ หรืออาโซ้ยตี๋ จะบอกว่ามีลูกถึงสี่คน จนแก้วตาท้องอีกไม่ไหวแล้วก็ตาม

 

“พี่ๆ ผมเขาก็มีลูกชายกันตั้งคนละโขลงนี่แม่ ก็หลานชายแม่ทั้งนั้นแหละ”

“กูต้องการลูกชายมึง” ยายปริกตวาด

“มีมึงคนเดียวเท่านั้นเป็นเจ้าใหญ่นายโต กุหวังได้ลูกชายจากมึงไว้ทำพันธุ์ให้วงศ์ตระกูล มึงก็ผ่าไปตอนเสียแล้ว เวรกรรมของกู หวังพึ่งมึงแค่นี้ก็ไม่ได้ ฮือๆๆ”

และแล้ว เรื่อง คนพันธุ์ ก็เอวังด้วยประการฉะนี้

 

นอกจากนี้ เรื่องราวชีวิตอันหลากหลายแตกต่างกันที่บรรจุอยู่ใน โลกของก๋ง ยังนำพาผู้อ่านให้เรียนรู้วัฒนธรรมประเพณี ชีวิตความเป็นอยู่ของคนไทยและคนจีนที่อยู่ร่วมกัน ทั้งความสุข ความทุกข์ ความขัดแย้ง รวมถึงข้อคิดจากแต่ละเรื่องที่น่าสนใจไม่น้อยเลย อย่างเช่น

 

“คนยากจนไปมาหาสู่กันเพื่อปรับทุกข์ แต่คนมั่งมีไปมาหาสู่กันเพื่อแลกเปลี่ยนความสุข” 

หรือแม้แต่ตอนที่หยกกับก๋งคุยกัน เรื่องท้องฟ้าที่กำลังจะมีพายุมา

“ธรรมชาติก็เป็นอย่างนี้แหละ มีทั้งยามสวยงามและยามดุร้าย… แต่จะทำอย่างไรได้ ในเมื่อคนเราต่างต้องอยู่ในอำนาจของธรรมชาติ… หนีไม่พ้นหรอก”

“แล้วจะทำอย่างไร”

“สู้ หรือเลี่ยงหลบเสีย ในทางที่เราจะปลอดภัยที่สุด”

(จากเรื่อง อำนาจธรรมชาติ)

 

รสชาติของชีวิตที่รื่นเริงย่อมให้ความประทับใจได้ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ารสชาติของชีวิตที่ระทมขมขื่น สิ่งหนึ่งที่ดลความทุกข์หรือความสุข ให้กับชีวิตของคนเราได้มากมายอย่างไม่น่าเชื่อก็คือ ‘ความรัก’ และ ‘ผลลัพธ์ของความรัก’

ความรัก เป็นน้ำผึ้ง ที่เจือความหวานให้แก่ชีวิต เป็นดอกไม้ที่อวดกลิ่นหอมกรุ่น อบร่ำชีวิตของผู้ที่ตกอยู่ในอ้อมรัดรึงนั้น

หากผลลัพธ์ของความรักนั้นลงเอยที่ความสำเร็จสมจิตปรารถนา น้ำผึ้งนั้น ย่อมหวานหวีไม่รู้จาง และดอกไม้งามย่อมคลี่บานและระรวยกลิ่นจรุงยิ่งขึ้น

แต่สำหรับผู้ที่ผิดหวังในความรัก น้ำผึ้งย่อมแปรรสและดอกไม้งามย่อมเปลี่ยนสี คลายกลิ่นฉม สรรพสิ่งในโลกล้วนแต่ไม่ต้องตาถูกใจไปเสียทั้งนั้น และบางรายพ่ายแพ้ต่อความผิดหวังเสียจนต้องตัดสินใจหนีความหมองไหม้ ด้วยการปลิดชีพ

ร้ายกาจฉะนี้ อานุภาพแห่งความรัก!

(จากเรื่อง ราคาของความรัก)

เรื่อง : โลกของก๋ง

ผู้เขียน : หยก บูรพา

สำนักพิมพ์ : เสริมวิทย์บรรณาคาร

ปีที่พิมพ์ : 2523

เล่มเดียวจบ

สำหรับประวัติคร่าวๆ ของท่าน ผมขอคัดลอกจากตอนท้ายของหนังสือ โลกของก๋ง เล่มนี้ มาประกอบไว้เพื่อความสมบูรณ์ของบทความด้วยครับ

หยก บูรพา เป็นนามปากกาอีกนามหนึ่งของ เฉลิมศักดิ์ รงคผลิน เกิดที่อำเภอหนองแค จังหวัดสระบุรี เริ่มการศึกษาชั้นประถมหนึ่งที่โรงเรียนประชาบาล ‘นาเริ่งราษฏร์บำรุง’ ในอำเภอบ้านเกิด จากนั้นมาต่อชั้นมัธยมที่โรงเรียนปทุมคงคา กรุงเทพฯ เมื่อปี พ.ศ. 2499 ระหว่างที่เรียนอยู่ชั้น มศ.4 แผนกวิทยาศาสตร์ ได้สมัครสอบชั้นมัธยมปีที่ 8 แผนกอักษรศาสตร์ได้ และได้สอบคัดเลือกเข้าศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้ในปีเดียวกัน คือ ปีการศึกษา 2506

ระหว่างเป็นนักศึกษาคณะนิติศาสตร์ ได้เข้าร่วมกิจกรรมนอกหลักสูตรหลายแขนง และได้เริ่มงานเขียนหนังสือพร้อมๆ กับงานจัดทำหนังสือตั้งแต่ครั้งเป็นนักศึกษา โดยมากเป็นบทร้อยกรอง สารคดี บทความ และบทวิจารณ์ ตีพิมพ์ในหนังสือต่างๆ ทั้งภายในและภายนอกมหาวิทยาลัย

เข้าสู่วงการหนังสืออย่างจริงจัง โดยเป็นผู้ช่วยบรรณาธิการนิตยสาร ฟ้าเมืองไทย รายสัปดาห์ ซึ่ง อาจินต์ ปัญจพรรค์ เป็นบรรณาธิการ หลังจากสำเร็จการศึกษาปริญญาตรีแล้ว พร้อมกันนี้ก็ได้เริ่มเขียนหนังสือจนยืดถือเป็นอาชีพหลักสืบมา มีผลงานทั้งเรื่องสั้น นวนิยาย คอลัมน์ ใช้หลายนามปากกา ตามความเหมาะสม กับแนวของงานเขียน

 

นามปากกา หยก บูรพา ใช้เป็นครั้งแรก เมื่อ พ.ศ. 2519 โดยเขียนเรื่อง อยู่กับก๋ง ลงพิมพ์ในนิตยสาร ฟ้าเมืองทอง รายเดือน และเรื่องนี้ได้รับรางวัลดีเด่นประเภทนวนิยาย จากงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ประจำปี พ.ศ. 2520 ต่อมาได้เขียนเรื่อง กตัญญูพิศวาส ลงพิมพ์ในนิตยสาร ฟ้าเมืองไทย รายสัปดาห์ ก็ได้รับรางวัลชมเชย (ไม่มีเรื่องใดได้รับรางวัลดีเด่นในการประกวดครั้งนี้) ประเภทนวนิยาย จากงานเดียวกัน ประจำปี พ.ศ. 2522 และต่อมา นวนิยายเรื่องนี้ก็ได้รับการคัดเลือกให้ใช้เป็นหนังสืออ่านนอกเวลาในวิชาภาษาไทย ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษา โดยกรมวิชาการ กระทรวงศึกษาธิการ

โลกของก๋ง จึงเป็นรวมเรื่องสั้นอีกชุดหนึ่ง สำหรับผู้ที่เคยประทับใจกับ อยู่กับก๋ง มาแล้ว ไม่ควรพลาดด้วยประการทั้งปวงครับ

Don`t copy text!