สายบ่หยุดเสน่ห์หาย

สายบ่หยุดเสน่ห์หาย

โดย : หมอกมุงเมือง

Loading

บรรณาภิรมย์ โดย หมอกมุงเมือง คอลัมน์ที่อ่านเอาขอมอบความรื่นรมย์ให้กับผู้อ่านด้วยภาพปกสวยๆ และเนื้อเรื่องในแบบต่างๆ ของนักเขียนชั้นครูที่เคยผ่านมือ ผ่านตาและผ่านใจ เพื่อให้ทุกคนได้ร่วมรำลึกถึงผลงานของนักเขียนแต่ละท่านให้พอหายคิดถึงแม้เวลาจะผ่านไปแล้วเนิ่นนาน ภาพและตัวอักษรจะปรากฏให้เห็นอีกครั้งในยุคของการอ่านออนไลน์

****************************

สนับสนุนอ่านเอาด้วยการสั่งซื้อหนังสือ “ในสวนอักษร” คลิกที่นี่ 

 สายหยุดหยุดกลิ่นฟุ้ง               ยามสาย
สายบ่หยุดเสน่ห์หาย                ห่างเศร้า
กี่คืนกี่วันวาย                        วางเทวษ ราแม่
ถวิลทุกขวบค่ำเช้า                  หยุดได้ฉันใด

 เห็นชื่อเรื่อง สายบ่หยุดเสน่ห์หาย ทำให้ผมนึกไปถึงบทโคลงอมตะ ที่สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส ได้ทรงนิพนธ์ไว้ใน ลิลิตตะเลงพ่าย ที่หวานซึ้งไพเราะด้วยสำนวนโวหารแห่งกระบวนโคลง ในการเปรียบเทียบอารมณ์แห่งความรักได้อย่างประทับใจ

สำหรับ สายบ่หยุดเสน่ห์หาย เรื่องนี้ก็เช่นเดียวกัน เพียงแต่เรื่องราวในนวนิยาย สะท้อนชีวิตรักในยุคปัจจุบัน (ในช่วงปี พ.ศ. 2512) ตามห้วงเวลาที่ผู้เขียนได้เริ่มประพันธ์งานเขียนเรื่องนี้ขึ้น

สุวรรณี สุคนธา

จากนิตยสาร ถนนหนังสือ ปีที่ 2 ฉบับที่ 1 กรกฏาคม 2527 บันทึกไว้ว่า คุณสุวรรณี สุคนธ์เที่ยง ได้เริ่มงานเขียนเมื่อปี พ.ศ. 2508 โดยผลงานเรื่องสั้น ‘จดหมายถึงปุก’ ตีพิมพ์ในนิตยสาร สตรีสาร ใช้เพียงแค่นามปากกา ‘สุวรรณี’ ส่วนนามปากกา ‘สุวรรณี สุคนธา’ นั้น ต่อมา คุณประมูล อุณหธูป หรือเจ้าของนามปากกา อุษณา เพลิงธรรม นักเขียนนามอุโฆษ ฉายาผู้ตัดไม้ทั้งป่าเพื่อทำเก้าอี้ตัวเดียว และเป็นบรรณาธิการ สยามรัฐรายสัปดาห์วิจารณ์ ในขณะนั้น เป็นผู้ตั้งนามปากกานี้ให้กับท่าน

จากโปรยปกของสำนักพิมพ์ฟรีฟอร์มที่นำเรื่องนี้มาพิมพ์ใหม่ เมื่อปี พ.ศ. 2558 ได้เขียนไว้ว่า

“สายบ่หยุดเสน่ห์หาย เป็นนวนิยายเรื่องแรกในชีวิตของสุวรรณี สุคนธา นักเขียนศิลปินหน้าพระลาน ผู้เป็นตำนานหน้าหนึ่งของวงการวรรณกรรมไทย เธอบันทึกภาพกรุงเทพฯ ย่านบางซ่อน สมัยยังเป็นทุ่งนาและสวนดอกไม้เขียวชอุ่มเมื่อสี่สิบปีก่อนไว้อย่างงดงาม ตลอดจนเกาะเสม็ดในยุคที่น้ำทะเลยังใสสะอาดและหาดทรายยังขาวบริสุทธิ์ผุดผ่อง”

ผมเคยประทับใจกับสำนวนภาษาของ คุณสุวรรณี สุคนธา ที่มีความละเอียดอ่อน นุ่มนวลเป็นเอกลักษณ์ มาตั้งแต่ ‘สวนสัตว์’ ที่เคยอ่านสมัยเรียนมัธยมและเป็นหนังสือนอกเวลาในวิชาภาษาไทย สำหรับเรื่องนี้ก็เปิดฉากมาด้วยฉากและชีวิตของจ้อยกับหมึก เด็กน้อยสองคนพี่น้อง ที่นายชิด นางจวง พ่อและแม่ ต่างเป็นชนชั้นแรงงาน ต้องอพยพร่อนเร่ จนมาปักหลักอยู่ในพื้นที่รกร้างย่านคลองประปา ในเขตตำบลบางซ่อน ณ เวลานั้น

ทำให้ได้เห็นภาพชีวิตในยุคสมัยนั้น ไม่ต่างกับจิตรกรเอกผู้ระบายภาพและแปรเฉดสีอันเพริศแพร้วให้ผู้อ่านได้สัมผัสเป็นรสแห่งตัวอักษร

“ระยะนั้นเป็นฤดูแล้ง ต้นคูนข้างบ้านออกดอกห้อยระย้าเหลืองอร่ามเหมือนพวงทอง คืนนั้นเรานอนกันกลางแจ้ง บนเสื่อที่ปูด้วยใบไม้สด ที่พ่อตัดมาให้ กางมุ้งเข้ากับหลักที่ตอกลงบนดิน มองทะลุมุ้งไปเห็นดาวพราวพราย ลมพัดเย็นสุขสบายเสียจนอยากจะอยู่นอกบ้านอย่างนี้ตลอดไป

รุ่งขึ้นเรากินข้าวกันบนหญ้านุ่มเรียบเขียวริมคลอง ตกกลางวันแดดร้อนเปรี้ยง แม่ต้องพาลูกๆ อพยพไปอาศัยร่มไผ่สีสุกกอใหญ่ ข้างต้นคูนและต้นข่อยกับมะขามเทศขึ้นรวมเป็นกลุ่ม พอน้องหลับปุ๋ยคานม แม่ก็วางน้องบังคับให้จ้อยนั่งเฝ้าดูแลอย่าให้มดกัด แม่ออกไปช่วยพ่อปลูกบ้าน”

มันคือช่วงชีวิตที่แสนสุขและบริสุทธิ์สะอาดของเด็กๆ โดยไม่คาดคิดว่าจะต้องเผชิญกับมรสุมชีวิตที่หนักหน่วงถาโถมเข้ามา เริ่มต้นเมื่อพ่อเสียชีวิตระหว่างการทำงานให้กับบริษัทก่อสร้าง

ฉันท์ เป็นชายหนุ่มวัยยี่สิบต้นๆ ที่เพิ่งเรียนจบสถาปัตย์มาจากเมืองนอก และต้องมารับช่วงกิจการต่อจากบิดาที่เสียชีวิตไม่นาน เขามองเห็นภาพเด็กน้อยกำพร้าสองคนในวัยไม่กี่ขวบ เมื่อนายชิดซึ่งเป็นคนงานของเขาเกิดพลัดหล่นจากรถขนดินลงมาแล้วเสียชีวิตคาที่ มันยิ่งทำให้เขาเกิดความสงสาร และสิ่งนั้นเองที่โยงให้เขาและ โฉมฉันท์ น้องสาวได้เข้ามาช่วยดูแล เอื้อเฟื้อแก่ เด็กชายจ้อย และเด็กหญิงหมึกตัวน้อยจนเกิดความผูกพัน

โดยฉันท์ได้ติดต่อคุณป้าของเขาเพื่อให้ซื้อที่ไว้สำหรับให้ครอบครัวของจ้อย ได้ปลูกต้นไม้ ดอกไม้สำหรับประทังชีพ

โฉมฉันท์มีเพื่อนสนิทหลายคนรวมถึงพจน์ ทุกคนชอบมาที่นี่ ด้วยสภาพที่เป็นธรรมชาติชานเมืองและสนิทกับเด็กๆ ทั้งสอง แต่ต่อมาโฉมฉันท์เรียนจบและจะไปเรียนต่อด้านวาดรูปที่ต่างประเทศ ในขณะที่ฉันท์เองก็มีวิบูลย์ลักษณ์มาติดพันอยู่ วิบูลย์ลักษณ์ไม่ค่อยพอใจนักที่เห็นฉันท์คอยแวะเวียนมาเยี่ยมเยียน ให้ความเอาใจใส่สองพี่น้องมากเกินไป โดยเฉพาะเด็กหญิงหมึก ที่ประทับใจจนติดเขาแจ

ฉันท์ยังไม่ได้ตกลงปลงใจกับวิบูลย์ลักษณ์เมื่อน้องสาวจะไปเรียน เขาจึงอยากจะตามไปดูแลและหาประสบการณ์ชีวิตเพิ่มเติมด้วย และเขาก็ฝากฝังป้าให้ช่วยดูแลสองพี่น้องกำพร้า ที่เขาเกิดความรักความเอ็นดูอย่างประหลาดทั้งคู่นั้นไว้ โดยไม่ล่วงรู้เลยว่าจากนั้นจะเกิดชะตากรรมอะไรกับเด็กทั้งสองบ้าง

เมื่อฉันท์จากเมืองไทยไปแล้ว คุณป้าที่มีความโลภและเห็นแก่เงินก็เริ่มออกลาย หล่อนมองเห็นผลประโยชน์ของที่ดินที่ตนเองซื้อมา แม้จะรับปากหลานชายไว้ก็ตาม จึงติดต่อผู้เช่ารายอื่นมาเช่าที่ทำแปลงดอกไม้ แล้วไล่เด็กน้อยผู้น่าสงสารทั้งสองไป ในช่วงเวลาเดียวกับที่นางจวง มารดาของเด็กทั้งคู่ ถูกผู้ร้ายชิงทรัพย์แล้วแทงด้วยมีดจนเสียชีวิต

ทั้งจ้อยและหมึกสาบสูญไปจากที่แห่งนั้น โดยที่ฉันท์และโฉมฉันท์หารู้เรื่องนี้ไม่ ส่วนคุณป้าผู้เห็นแก่ตัวนั้นในท้ายที่สุดก็ล้มเจ็บลงด้วยโรคมะเร็งจนต้องตัดขาทิ้ง ในช่วงเวลานั้นเองที่เธอรู้สึกผิดบาปที่เคยออกปากไล่เด็กทั้งสองไป แม้จะรู้อยู่เต็มอกว่าจ้อยและหมึกเป็นเด็กกำพร้า

เวลาผ่านไป พจน์เรียนจบเป็นอาจารย์สอนทางด้านจิตรกรรมและมีลูกศิษย์มากมาย รจนะเป็นลูกศิษย์คนหนึ่ง หล่อนติดต่อเด็กสาววัยแรกรุ่นชื่อกรทองให้มารับงานเป็นนางแบบเปลือย เพื่อให้นักศึกษาได้วาดรูป ทองกรหรือ หมึก เติบโตขึ้นมาในสภาพเด็กกำพร้า แต่ต้องหาทางเลี้ยงตัวเองและส่งเสียจ้อยพี่ชายเพื่อให้เรียนต่อด้านเกษตรศาสตร์ โดยยอมแม้แต่จะเปลือยกาย เป็นนางแบบ เพื่อแลกกับเงิน รวมถึงการหารายได้โดยการไปร้องเพลงตามไนต์คลับ

ฉันท์กลับมาจากต่างประเทศพร้อมกับโฉมฉันท์ เขามีโอกาสพบกับหมึกอีกครั้งที่ไนต์คลับแห่งหนึ่ง โดยมิคาดฝัน

บุรุษที่เข้ามาใหม่ในร้าน นั่งลงตรงกันข้ามกับหล่อน ทองกรก้มหน้าลงและเงยหน้าขึ้นอย่างฉับพลันเหมือนมีกระแสดึงดูด พร้อมกับที่บุรุษนั้นมองหาคนเดินโต๊ะ ทั้งสองสบตากันอยู่ครู่หนึ่ง กระแสอะไรหนอที่ปราดเข้ามาสู่หัวใจเจ้าหล่อน จนชาไปทั้งตัว

ผู้นั้นสูงใหญ่ ผิวขาวเผือดซีดๆ ไรหนวดเขียวบนริมฝีปากกับที่คาง และนัยน์ตามีประกายอ่อนโยนนั้นทำให้หล่อนรู้สึกใจหายวับ

วินาทีนั้น หล่อนก็จำได้… ใช่แล้ว คุณฉันท์

แต่ฉันท์กลับจดจำเด็กหญิงหมึกคนนั้นไม่ได้ เขาเพียงแต่รู้สึกประหลาดใจกับท่าทีของนักร้องสาวแสนสวยที่ดูเหมือนคลับคล้ายคลับคลาใครคนหนึ่งในอดีต ตราบจนกระทั่งมีโอกาสได้ไปงานแสดงภาพวาด และสะดุดกับภาพเปลือยของผู้หญิงคนนั้น

เมื่อเขาติดต่อจะซื้อภาพ จึงรู้ว่าผู้วาดก็คืออาจารย์พจน์ ผู้ที่เคยเป็นคนรักเก่าของโฉมฉันท์นั่นเอง

พจน์ต่อว่าเรื่องที่เขาไล่เด็กพี่น้องที่น่าสงสารทั้งสองคนนั้นไป ภายหลังตัวเองไปเรียนต่อ จึงทำให้ ฉันท์รับรู้ความจริงว่าหมึกและจ้อยหาได้หนีจากไปเองไม่ แต่เพราะการกระทำด้วยความโลภของป้าเขานั่นเอง และเขาก็รู้แล้วว่า สาวน้อยนักร้องในคลับแห่งนั้น ก็คือเด็กหญิงหมึกที่เขาผูกพันมาแต่วัยเยาว์

ชีวิตของทองกรเหมือนอยู่เพียงลำพังผู้เดียวในโลก เมื่อจ้อยซึ่งเรียนจบมหาวิทยาลัยและมีงานการทำ มีคนรักที่มีฐานะและรับรู้ว่าเขามีน้องสาวซึ่งถ่ายแบบนู้ด ทำให้ครอบครัวของหล่อนรังเกียจ ทองกรก็เสียใจ หล่อนหายตัวจากไป

และในเวลานั้นจ้อยจำต้องแยกตัวจากน้องสาว เพื่อเลือกมาใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับผู้หญิงที่ตนเองรัก และมีลูกชายตัวน้อยด้วยกันหนึ่งคน แต่ชีวิตของจ้อยก็หาได้มีความสุขไม่ เขาและภรรยามีเรื่องทะเลาะกันประจำด้วยปัญหาเดิมๆ จ้อยเองก็รู้สึกผิดที่ทิ้งน้องสาวไปและพยายามตามหาเธอแต่ก็ไม่พบ เมื่อมีโอกาสพาลูกกลับมายังที่ดินริมคลองประปาแห่งเดิม สถานที่อันเคยอยู่ในวัยเยาว์อีกครั้ง ณ กระท่อมหลังเก่าชายคลอง แม้ว่าสภาพบ้านเรือนจะเริ่มเปลี่ยนแปลงไปบ้าง แต่อดีตที่เขาและน้อง รวมถึงพ่อแม่ที่เคยอยู่พร้อมหน้ากัน ทำให้ชายหนุ่มตัดสินใจ ที่จะออกมาใช้ชีวิตที่นี่อีกครั้ง เขามีโอกาสพบกับฉันท์ที่กลับมาจากต่างประเทศ ตอนแรกฉันท์เองก็ยังจำเด็กชายจ้อย ผู้เติบโตเป็นหนุ่มแล้วไม่ได้

ฉันท์พยายามตามหาตัวทองกร จนภายหลังรู้ว่าเธอหนีมาอยู่กับครูโกสุม ซึ่งเป็นครูประถมในสมัยวัยเยาว์ และมาใช้ชีวิตอยู่ที่นี่ ณ เกาะเสม็ด แห่งนั้น เขาดั้นด้นจนมาพบเธอ

ฉันท์มองดูภาพที่เห็นอยู่เบื้องหน้าอย่างอัศจรรย์ใจ นี่หรือหมึก ไม่ใช่นางพรายทะเลผุดขึ้นมาหลอกเขาเล่นดอกนะ ผมของหล่อนเปียกลู่ เห็นรูปศีรษะและหน้าผากกลมมน สันแก้มขึ้นสูงราวกับหญิงเลือดผสม นัยน์ตาของหล่อนมีแววอัศจรรย์เท่าๆ กับเขา ฉันท์ยิ้มให้ และนางพรายคนนั้นก็ยิ้มตอบ ผมของหล่อนส่วนที่ไม่พ้นจากน้ำแผ่กระจายไปในน้ำราวกับสาหร่าย

“คุณมาหาใครคะ”

“มาหาใคร มาหา…” เขานึกสรรพนามของหล่อนไม่ออก เมื่อแต่ก่อนเขาเคยเรียกเธอว่าอย่างไร

“มาหา… คนที่หายไป”

ทั้งสองมีโอกาสได้ใกล้ชิดกัน ทองกรรู้ตัวว่าเธอหลงรักฉันท์ มันเริ่มมาจากความอบอุ่น ความประทับใจ ที่ผ่านกาลเวลามาหลายปี จนถึงวันนี้ ในขณะที่ฉันท์เองก็รู้สึกไม่ต่างกับเด็กสาวผู้นี้

บนเส้นทางชีวิต ผ่านช่วงเวลา ที่ได้พิสูจน์ความรักความผูกพันของหนุ่มใหญ่อย่างเขากับเด็กสาวทองกร ผ่านอุปสรรคต่างๆ มากมาย ณ ริมหาดเพ ที่ฉันท์กับทองกรได้ล่วงรู้หัวใจของกันและกัน ไม่ว่าจะผ่านช่วงเวลาไหน รุ่งเช้าตราบจนสาย ที่เสน่หานั้นมิเหือดจางหายไปจากหัวใจทั้งสองดวง

สำนวนภาษาของ คุณสุวรรณี สุคนธา นั้นได้พรรณนาและใส่รายละเอียดต่างๆ ลงไปได้อย่างละเมียดละไม ไม่ว่าจะเป็นฉากชีวิตที่สะท้อนผ่านช่วงเวลาในขณะนั้น มีผู้วิเคราะห์ไว้ว่า การใช้คำและสำนวนโวหารของท่านนิยมใช้ภาษาพูดมากกว่าภาษาเขียน ให้ความรู้สึกสนิทสนม มีการใช้ประโยคที่สั้นกะทัดรัด นอกจากนี้ยังมีความโดดเด่นในการพรรณาความให้รายละเอียดเกี่ยวกับบุคลิกลักษณะ พฤติกรรม อารมณ์ความรู้สึกนึกคิดของตัวละคร ตลอดจนบรรยากาศและฉากให้ชัดเจน แจ่มแจ้ง โดยเฉพาะจุดเด่นที่สุด อยู่ที่การพรรณนารสสัมผัส ทั้งแสงสีเสียงกลิ่นรสและสภาพผันแปรของอารมณ์

พ่อสอนวิธีหาปูนิ่มในท้องนาเพื่อทำเหยื่อเกี่ยวเบ็ด วันอาทิตย์จ้อยตกปลาทั้งวัน

“ปลาหมอชอบกินปูนิ่ม” พ่อสอน

“ปลาดุกชอบกินไส้เดือน” ตอนนี้เราออกจากบ้านมาไกลจนถึงหนองน้ำใหญ่ มีผักตบขึ้นแน่น พ่อต้องบุกน้ำลงไปฟันให้เป็นช่องเพื่อจะได้มีที่หย่อนเบ็ด

ที่นี่ปลาชุม เสียแต่ไกลบ้านมาก เดินลัดเลาะริมคลองเป็นนานกว่าจะถึง มันอยู่ไกลออกไปเป็นทุ่งนากว้างหลายร้อยไร่ เป็นของรัฐบาลซื้อไว้เพื่อจะทำคุก

หรือแม้แต่การบรรยาย ในทัศนคติเกี่ยวกับความรักของตัวละครแต่ละตัว

อย่างหนึ่งนั้น ความรักมิใช่สิ่งที่พึงแสวงหา มันจะเกิดก็ต่อเมื่อมันเกิด ถ้าหล่อนไม่รู้จักรักใคร หล่อนก็มิได้เสียใจแต่อย่างใด หรือถ้าในทางกลับกันก็เช่นเดียวกัน

ความรัก ความรัก คนเรานี้อยู่ใต้อิทธิพลขอธรรมชาติอย่างดิ้นไม่หลุด ธรรมชาติกลัวมนุษย์จะสูญพันธุ์จึงบันดาลให้เกิดความรัก เพื่อมิให้การสืบพันธ์เป็นสิ่งตรงจุดเกินไป ความรักจึงถูกยกเอามาบังหน้า เพื่อให้กามารมณ์เป็นของสวยงาม…

 

เรื่อง : สายบ่หยุดเสน่ห์หาย

ผู้ขียน : สุวรรณี

สำนักพิมพ์ : รวมสาส์น

ปีที่พิมพ์ : 2512

สองเล่มจบ

สายบ่หยุดเสน่หาย จึงนับเป็นนวนิยายอีกเรื่องหนึ่งของผู้เขียนที่อ่านแล้วให้ความรู้สึกทั้งรื่นรมย์และอิ่มเอมในอารมณ์ ตราบจนถึงบรรทัดสุดท้าย

 

ป.ล. สำหรับภาพประกอบนั้น ภาพวาด คุณสุวรรณี สุคนธา เป็นฝีมือการวาดด้วยเทคนิคสีน้ำมันบนผ้าใบ เมื่อ ปี พ.ศ. 2508 ของ อาจารย์จักรพันธุ์ โปษยกฤต  และนำลงในหน้าปกนิตยสาร ถนนหนังสือ ปีที่ 2 ฉบับที่ 1 กรกฏาคม 2527 ส่วนภาพถ่ายผู้เขียน นำมาจากคอลัมน์ในนิตยสารฉบับเดียวกันครับ

Don`t copy text!