ธรณีประลัย

ธรณีประลัย

โดย : หมอกมุงเมือง

Loading

บรรณาภิรมย์ โดย หมอกมุงเมือง คอลัมน์ที่อ่านเอาขอมอบความรื่นรมย์ให้กับผู้อ่านด้วยภาพปกสวยๆ และเนื้อเรื่องในแบบต่างๆ ของนักเขียนชั้นครูที่เคยผ่านมือ ผ่านตาและผ่านใจ เพื่อให้ทุกคนได้ร่วมรำลึกถึงผลงานของนักเขียนแต่ละท่านให้พอหายคิดถึงแม้เวลาจะผ่านไปแล้วเนิ่นนาน ภาพและตัวอักษรจะปรากฏให้เห็นอีกครั้งในยุคของการอ่านออนไลน์

 

อิศรา อมันตกุล เป็นทั้งนักเขียนนวนิยายและนักหนังสือพิมพ์นามอุโฆษ จากข้อมูลในหนังสือ ประวัตินักเขียนไทย ระบุไว้ว่า ท่านเกิดเมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2464 ถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2512 เรียนจบชั้นมัธยมจากโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียน เมื่อ พ.ศ. 2481 และสอบได้เป็นอันดับที่ 1 ของประเทศ

อิสรา อมันตกุล

อิศรา อมันตกุล เริ่มงานหนังสือพิมพ์ครั้งแรก ที่สำนักพิมพ์ประชามิตร-สุภาพบุรุษ พร้อมกับงานหนังสือพิมพ์ เขาก็เริ่มงานเขียนไปด้วย โดยเรื่องสั้นเรื่องแรกชื่อ “อิสรภาพของชีวิต” ลงพิมพ์ในหนังสือพิมพ์รายวัน ประชามิตร และเมื่อหนังสือพิมพ์สุวรรณภูมิเปิดดำเนินการ อิศราได้ย้ายมาประจำในกองบรรณาธิการเป็นชุดแรก และเริ่มเขียนนวนิยาย “นักบุญ-คนบาป” ได้รับผลสำเร็จอย่างดี จนได้รับการกล่าวถึงอย่างกว้างขวาง

ผลงานเขียนของ อิศรา อมันตกุล แทบทุกเรื่องล้วนมีคุณค่าแก่การอ่านทั้งสิ้น ลักษณะเด่นที่ปรากฏในงานเขียนคือ การเรียกร้องสิทธิเสรีภาพ ความเสมอภาคและการคัดค้านสงคราม งานเขียนส่วนหนึ่งของเขาจึงเปรียบเสมือนภาพสะท้อนของสังคม ส่วนหนึ่งที่ อิศรา อมันตกุล ต้องการจะบอกกับผู้อ่านสมัยนั้นคือ พลังของประชาชนนั้นมีอำนาจมหาศาล แม้จะถูกลิดรอนเสรีภาพอย่างไรก็ตาม ความคิดเช่นนี้ นับว่าเป็นความคิดที่ท้าทายอำนาจรัฐบาลสมัยนั้นมาก แต่อิศราก็กล้าที่จะเขียนและถ่ายทอดออกสู่ผู้อ่าน

 สำหรับนามปากกาอื่นของท่าน ได้แก่ อโศก นายอิศระ มะงุมมะงาหรา เจดีย์กลางแดด ทรงกรดกลางหาว และ แฟรงค์ ฟรีแมน เป็นต้น

***********************

สำหรับเรื่อง ธรณีประลัย นี้เป็นนวนิยายที่เคยลงเป็นตอนๆ ในนิตยสาร สยามสมัย ก่อนจะนำมารวมเล่มในเวลาต่อมา ชื่อเรื่อง ธรณีประลัย ทำให้คิดไปว่า น่าจะเป็นนิยายแนวบู๊แอ็กชันระห่ำ ซึ่งก็ไม่ได้ผิดไปจากความเข้าใจนัก หากเมื่อผสมผสานด้วยฝีมือการเขียนของ อิศรา อมันตกุล ทำให้นวนิยายเรื่องนี้มีทั้งกลิ่นอายท้องทุ่งชนบท สะท้อนความยากไร้ของผู้คนในสังคมชาวนาชาวไร่ที่ถูกกดขี่ข่มเหง รวมถึงทัศนคติความคิดเห็นที่แตกต่างกันระหว่างชนชั้น โดยมีพลอตเรื่องเกี่ยวกับ ความรักของหนุ่มสาว และฉากบู๊แอ็กชัน มาเป็นองค์ประกอบ

เรื่องราวของ ธรณีประลัย เปิดฉากขึ้นใน ‘บ่อน’ ใจกลางกรุง อันเป็นรมณียสถานนาม ‘เริงราตรี’ ของ นายโกกิลา ทองอุ่น ซึ่ง แดน อะเคื้อ พระเอกของเรื่อง ทำงานอยู่ที่นี่

ในบทบาทของนักต้มตุ๋น ลูกน้องของนายโกกิลา ที่คอยหลอก ‘ฟัน’ เหยื่อหน้าโง่ ที่หลงมัวเมาในการพนันจนหมดตัวในที่สุด ตราบจนมาถึงเหยื่อรายล่าสุด ซึ่งเป็นสุภาพสตรีสวยโสภา ภรรยาน้อยของเศรษฐีผู้หนึ่งจนหล่อนหมดตัว และท้ายที่สุดหญิงสาวผู้นั้นก็ตัดสินใจฆ่าตัวตายในห้องน้ำของเริงราตรี!

สิ่งที่เกิดขึ้นยิ่งทำให้แดนรู้สึกเบื่อหน่ายกับอาชีพของตนเอง เขาตัดสินใจลาออก และเดินทางกลับมายังบ้านเกิดที่เคยจากมาเมื่อเยาว์วัย ภายหลังจาก นายเด่น อะเคื้อ ผู้เป็นบิดา ได้เสียชีวิตลง ที่นั่นผืนนาอันกว้างใหญ่ในดินแดนรกร้าง ที่ยังมีชุมชนชาวบ้านอาศัยอยู่บ้าง หากบัดนี้ ยิ่งลดจำนวนลงทุกที เนื่องจากความแห้งแล้งกันดารของผืนธรณี ที่แห้งผากปราศจากน้ำหล่อเลี้ยง จนแทบจะกลายเป็นทะเลทราย

และทำให้เขานึกถึงคำสั่งเสียของบิดาเป็นครั้งสุดท้ายไม่ได้ เมื่อท่านส่งให้เขามาเรียนการเกษตร เพื่อสร้างผืนธรณีผืนนี้ให้อุดมมั่งคั่งและช่วยเหลือเพื่อนบ้านที่ร่วมอาชีพเดียวกัน แต่หลังจากบิดาเสียชีวิตลง ชีวิตของเขาก็เปลี่ยนไป และก้าวเข้าสู่โลกด้านมืดของอบายมุข สุรา นารี รวมถึงการพนัน!

เมื่อกลับมาอีกครั้ง แดนพบว่าที่นี่ยังมี ลุงผาน ดำไพร ชาวนาที่คอยดูแลฟาร์มของเขา หากทุกอย่างก็กำลังจะล่มสลายลงในไม่ช้า ที่นั่นเขาได้พบชะแล่ม ลูกสาวกำนันอุ่น ที่คุ้นเคยมาตั้งแต่เด็ก และรับรู้ถึงความรู้สึกพิเศษของสาวน้อยที่มีต่อเขา ชะแล่มพาแดนให้ได้มาเห็นสภาพอันยากไร้ของที่นา และชาวนาที่พยายามต่อสู้กับฟ้าดิน และกำลังรอวันตายบนผืนนาของพวกเขาอย่างน่าอนาถ

“ทรัพย์ในดิน สินในน้ำ” เขาพบตัวเองพึมพำออกมาอย่างคนละเมอ “ฉิบหายวายปราณกันถึงเพียงนี้เชียวหรือ ฉันเกือบไม่เชื่อตาตัวเอง”

“ฉันบอกพี่แดนแล้ว” ชะแล่มเอ่ยเสียงเหี่ยว

“แต่เราจะโทษอะไรเล่า ถ้าไม่โทษว่าวาสนาของเรามีเพียงแค่นี้”

“คนที่เอะอะก็โทษวาสนา โทษฟ้าดินคือคนขี้ขลาดนะแล่ม” เขาเตือน “ถ้าเรามัวหวังพึ่งเทวดาว่าท่านจะเหาะลงมาช่วย ถ้าเรามัวบนบานศาลกล่าวจ้าวผีจ้าวพ่อ ก็เท่ากับเรางอมืองอตีนให้ความหายนะมันเข้ามาขย้ำคอเอาตรงๆ”

นอกจากชะแล่มแล้ว ยังมีทิม ครูประชาบาลที่หลงรักชะแล่ม จนพาลไม่ชอบหน้าเขาตั้งแต่แรก และไอ้ฉ้วน เด็กหนุ่มหน้าซื่อ ที่คอยช่วยเหลือสนับสนุนอุดมการณ์ของเขา เช่นเดียวกับลุงผาน และชาวบ้านคนอื่นๆ เมื่อแดนพยายามที่จะหาทางขุดลำประโดงจากคลองหนองตะเคียนที่อยู่ห่างออกไป เป็นการผันน้ำเข้าที่นาของแต่ละคน พลิกฟื้นแผ่นดินกลับคืนขึ้นมาอีกครั้ง ด้วยความหวังอันเรืองรอง แม้ว่าจะมีอุปสรรคต่างๆ ผ่านเข้ามาเป็นบททดสอบ ทั้งเงิน ทั้งอาหาร ทั้งคน!

และบททดสอบแรกก็คือหญิงสาวโสภา อันมีนามว่า ฤดี จรรยา!

ฤดีเป็นทายาทโรงแรมราไวที่ภูเก็ต หล่อนมาตามหาเขาจนพบ และแจ้งว่า แดนได้รับมรดกส่วนหนึ่งจากลุงดวง พี่ชายพ่อที่หายสาบสูญไป และบัดนี้ท่านได้เสียชีวิตลงไปแล้ว ในอดีตลุงดวงเคยรักกับมารดาเขามาก่อน แต่ภายหลังหล่อนตัดสินใจแต่งงานกับเด่นผู้เป็นน้องชายของดวง ทำให้ดวงอกหัก และหายตัวไปจากหมู่บ้านแห่งนั้น

ภายหลังเขาได้ไปสร้างเนื้อสร้างตัวที่เมืองภูเก็ต และร่วมหุ้นกับสหายที่เป็นบิดาของฤดี สร้างโรงแรมราไว จนเจริญก้าวหน้าขึ้นเป็นโรงแรมหรูหราขนาดใหญ่ หากทั้งดวงและบิดาของฤดี ต่างก็เสียชีวิตลง ดวงอยากให้แดน หลานชายเพียงคนเดียวรับสืบทอดมรดกชิ้นนี้ จึงฝากให้ฤดี ช่วยตามหาตัวเขาให้พบ

เรื่อง : ธรณีประลัย

ผู้เขียน : อิศรา อมันตกุล

สำนักพิมพ์ : รวมสาส์น

ปีที่พิมพ์ : 2496

เล่มเดียวจบ

บนเส้นทางเลือกนั้นเอง ที่แดนพบว่าเขาและฤดีได้เกิดความรักต่อกัน แม้ว่าหล่อนเองจะไม่เข้าใจอุดมการณ์ของเขาเลยก็ตาม แต่เมื่อเกิดปัญหาขึ้น แดนก็ได้ลงมาช่วยเหลือเธอ เพื่อบริหารจัดการโรงแรมจนเรียบร้อย และจัดการกับบรรดากลุ่มนักเลงท้องถิ่น อย่างนายไวฑูรย์ ณ พัทยา และ นายพานิช มหาศาล ผู้เป็นเศรษฐี ที่จ้องจะยึดโรงแรมนี้เป็นสมบัติของตน จนส่งสมุนเข้ามาก่อกวนในกาสิโนของโรงแรมแห่งนี้ แต่ก็ถูกแดนสอนมวยด้วยประสบการณ์ในกาสิโนเริงราตรีของนายโกกิลามาก่อน จนพ่ายแพ้ไปในที่สุด

ฤดีเดินทางไปหาแดนที่หมู่บ้านแห่งนั้น แม้ว่าจะเผชิญหน้ากับชะแล่มที่หึงหวงฤดีแต่แรกเห็น และกลัวว่าหล่อนจะมาพาตัวแดนกลับไปยังภูเก็ต แต่ในเวลาเดียวกัน ฤดีก็ได้มีโอกาสเห็นสภาพความเป็นอยู่ของชาวบ้านในอีกด้านหนึ่ง ที่แตกต่างจากชีวิตของตนโดยสิ้นเชิง ในเวลานั้นเองหญิงสาวจึงมีโอกาสได้พูดคุยปรับความเข้าใจ ถึงสาเหตุที่เขาลาออกจากงานอันแสนสุขสบายและมั่งคั่งจากกาสิโนของนายโกกิลาที่สุขสบายด้วยเงินทอง และหันมาอยู่กลางผืนดินอันแห้งแล้งเหมือนไร้ความหวังแห่งนี้

“ผมระเห็จออกจากแหล่งต้มและฆ่ามนุษย์ทั้งเป็นของนายโกกิลา มาย่ำอยู่บนผืนนานี้ และวันหนึ่ง… ผมเดินงุ่นง่านอยู่คนเดียวในเวลาค่อนข้างดึกเช่นนี้ ผมสะดุดกับแง่ของกะบิดินที่แตกเป็นริ้วๆ ล้มลง คมแข็งๆ ของมันบาดเนื้อตรงข้อศอกผม จนเลือดสดๆ ไหลหยดลงไป ผมก้มลงดูเลือดนั้นค่อยๆ ซึมซาบเข้าไปในดินแห้งๆ นั้น เหมือนกับว่ามันมีปากเหี่ยวๆ เกรียมๆ ที่รอจะดูดอยู่แล้ว ด้วยความหิวโหย ขณะนั้นผมเกิดความรู้สึกประหลาด อยากจะเอาอะไรคมๆ มาทิ่มแทงตามเนื้อตัวต่อไป ให้เลือดไหลตกลงสู่กระบิดินนั้น และทันใดนั้น ก็ฉุกคิดขึ้นมาได้… ดินผืนนี้ คือแม่ของเรา แม่บังเกิดเกล้าที่กำลังจะตายเพราะความอดหยาก เราเป็นลูกของท่านแท้ๆ ทำไมเราจึงนั่งเซ่อเบิ่งตาดูแม่ค่อยๆ ตายไปต่อหน้า ด้วยความรู้สึกเฉยชาอยู่ได้ เรามีกำลังเรี่ยวแรง มีความคิดและมีอุตสาหะที่จะหยาดเป็นหยดเลือดลงไปหล่อเลี้ยงชีวิตแม่คนนี้ไว้… ทำไมหนอเรากลับไม่ทำ!”

(สะกดตามต้นฉบับ)

**************************

ในขณะที่ไวฑูรย์และเสี่ยพานิช ก็ติดตามแดนกับฤดีมาที่นี่ ทั้งคู่มองเห็นโอกาสของที่ดินเหล่านี้ ที่จะพัฒนาขึ้นเพื่อประโยชน์ของตัวเอง ภายหลังจากที่บรรดาชาวนาผันน้ำสร้างลำประโดง ได้สำเร็จ จึงวางแผนการชั่วร้าย เสนอให้ชาวบ้านที่ไม่รู้หนังสือยืมระหัดวิดน้ำมาใช้ โดยยุยงผ่าน ครูทิมที่หลงรักชะแล่มอยู่แล้ว ให้เกิดความเกลียดชังต่อแดน และหันมาร่วมมือหลอกชาวบ้าน ให้มาลงชื่อพิมพ์ลายมือขอยืมระหัดวิดน้ำเหล่านั้น

แต่ความลับย่อมไม่เป็นความลับ เมื่อชะแล่ม แดน และคนอื่นๆ เริ่มล่วงรู้ความจริง พวกเขาต่างพยายามจะต่อสู้ เพื่อรักษาผืนแผ่นดินแม่ของตนเอง เอาไว้ สืบต่อตราบชั่วลูกชั่วหลาน แม้ว่าธรณีแห่งนี้จะเป็นธรณีประลัยไปแล้วก็ตาม!

***********************

เรื่องราวใน ธรณีประลัย เป็นนวนิยายสะท้อนภาพคนยากจนในชนบท ที่มีเนื้อหาเข้มข้น ผสมผสานด้วยรสชาติความรัก ความเสียสละ และอุดมการณ์อันกล้าหาญ ของพระเอกนางเอกที่ อาจจะไม่ใช่ตัวละครสีขาวสะอาดมาตั้งแต่แรก แต่ด้วยจิตสำนึก ภาพที่ได้เห็นได้รับรู้เหล่านี้ คือสิ่งที่ อิศรา อมันตกุล ได้สะท้อนผ่านเรื่องราว ได้อย่างน่าสนใจ รวมถึง ฝีมือในการประพันธ์ ด้วยสำนวนภาษา อันงดงาม ตัวอย่างเช่น…

ราตรีเคลื่อนตัวเข้ามา ใช้มือชุบสีหมึกของมันขะยุ้มที่นาผืนนั้นไว้กลางอุ้ง เป็นคืนที่ไม่มีเรืองจันทร์ มีแต่ดาวกระจายเกลื่อนอย่างแกนๆ อยู่บนฟ้า ลมที่กราดเข้ามาจากทิศตะวันตก ร้อนผ่าวบาดผิวหนังเหมือนคมมีดไถถู กลุ่มนักหมากรุกที่โขกกันโปกเปกแก้กลุ้มใต้ต้นหูกวาง กลางลานบ้าน หิ้วตะเกียงยกวงเข้ากลุ่มคอกะแช่ที่ปลายนา ตั้งแต่ยังไม่ทันสองทุ่ม เงียบอย่างแทะความรู้สึกไปทั่วสารทิศ มีแต่ลองไนและเรไรกริ่งเสียงเหงาๆ หว่านอยู่รอบเหมือนใครต่อใครมาครางพึมครวญควานขุกเข็ญ…

หากก็เป็นที่น่าเสียดาย ที่ผลงานส่วนใหญ่ของท่านได้รับการตีพิมพ์ออกมาเพียงครั้งเดียว ทำให้นักอ่านรุ่นหลัง มีโอกาสเสาะหาเพื่ออ่านงานเขียนของท่านได้น้อยมากๆ เลยครับ

 

Don`t copy text!