108 ผู้หญิง

108 ผู้หญิง

โดย : หมอกมุงเมือง

Loading

บรรณาภิรมย์ โดย หมอกมุงเมือง คอลัมน์ที่อ่านเอาขอมอบความรื่นรมย์ให้กับผู้อ่านด้วยภาพปกสวยๆ และเนื้อเรื่องในแบบต่างๆ ของนักเขียนชั้นครูที่เคยผ่านมือ ผ่านตาและผ่านใจ เพื่อให้ทุกคนได้ร่วมรำลึกถึงผลงานของนักเขียนแต่ละท่านให้พอหายคิดถึงแม้เวลาจะผ่านไปแล้วเนิ่นนาน ภาพและตัวอักษรจะปรากฏให้เห็นอีกครั้งในยุคของการอ่านออนไลน์

 

สารภาพโดยตรงว่า เมื่อเห็นนามปากกานี้เป็นครั้งแรก ผมไม่ทราบมาก่อนเลยว่า ผู้เขียนผลงานเรื่องนี้ก็คือ นักหนังสือพิมพ์นามอุโฆษ สนิท เอกชัย แต่ด้วยความสนใจชื่อเรื่อง และเมื่อได้เริ่มต้นอ่านก็พบว่าเป็นสไตล์เรื่องสั้นชนิดหักมุมจบในตอน ลักษณะของ 108 ผู้หญิง น่าจะคล้ายกับนิยายชุด เล่ห์โลกีย์ ของ ศรีรัตน์ สถาปนวัฒน์ ที่ดำเนินเรื่องผ่านตัวละคร คนขับรถแท็กซี่ที่ต้องเผชิญกับเรื่องราวต่างๆ ที่ผ่านเข้ามา โดยบอกเล่าเรื่องราวเหล่านี้ได้อย่างมีรสชาติเข้มข้น ชวนอ่านยิ่ง

เมื่อมีโอกาสได้อ่านคำนำ จึงทราบว่าผลงานเรื่องนี้เป็นการนำประสบการณ์ชีวิตที่จัดเจน ทั้งชีวิตกลางคืนกลางวัน ทั้งในอดีตและปัจจุบันที่ผ่านพบมาด้วยตนเองโดยอาศัยชีวิตจริงประมวลเข้ากับความฝันเป็นพื้นฐาน ทุกเรื่องเป็นเรื่องเบาๆ โดยตอนท้ายเรื่องจะมีไคลแม็กซ์ในลักษณะ ‘มุมกลับ’

และเมื่อได้อ่าน 108 ผู้หญิง เล่มนี้จนจบลง ผมก็พบว่า เรื่องราวของตัวละครต่างๆ ที่ผ่านเข้ามาให้เราได้รู้จักนั้น เต็มเปี่ยมไปด้วยสีสัน รสชาติ หลากหลาย แถมปิดท้ายด้วยเรื่องราวที่บางเรื่องอาจจะไม่คาดฝัน บางเรื่องอาจจะสะเทือนใจ หรือสร้างความประทับใจแตกต่างกัน แต่โดยรวมแล้ว คือความสนุกที่ผู้อ่านจะได้รับจากการเสพย์ ‘108 ผู้หญิง’ นี้อย่างแน่นอน

สนิท เอกชัย

เนื้อเรื่องจะแบ่งเป็นตอนต่างๆ ตามชื่อและพฤติการณ์ของหญิงสาวแต่ละคน พร้อมคำอธิบายสั้นๆ ของเรื่อง เพื่อสร้างความตื่นเต้นแก่ผู้อ่านให้ต้องพลิกเข้าสู่แต่ละหน้า ของหนังสือเล่มนี้ครับ บทบันทึกการอ่านครั้งนี้จะขอยกตัวอย่างเรื่องราวเหล่านี้มาพอเป็น ‘น้ำจิ้ม’ สักสี่ห้าเรื่องแล้วกันนะครับ

ขอประเดิมเรื่องแรก ด้วย…

 

เรื่อง อาจารย์สุภีร์ หนอนหนังสือ

เปิดตัวด้วยภาพของอาจารย์สาวผู้เคร่งขรึม เป็นหนอนหนังสือตัวยง แต่…

สะโพกของเธอแม้จะดิ้นมีชีวิต แต่มันก็ตรงกันข้ามกับแว่นตากรอบกระหนาปึกที่วางอยู่บนดั้งจมูก อกของเธอแม้จะผงาดด้วยการประคองบราเซีย แต่มันก็ตรงกันข้ามกับความปึ่งชาที่ปั้นอยู่บนใบหน้า น่องของเธอแม้จะลู่เรียว เปรียวไปด้วยปลีเนื้อละมุน แต่มันก็กลับตาลปัตรกับอิริยาบถอันเยียบเย็น และไว้ตัวจนแทบจิกนความพอดีและความเป็นผู้ดี

นั่นคือ อาจารย์สุภีร์ผู้เคร่งระเบียบ และกลายเป็นที่ยำเกรงของลูกศิษย์ลูกหา แม้กระทั่งชายหนุ่มทั้งหลาย ที่เข้ามาจีบเธอ จนต่างก็ล่าถอยกันไปทั้งสิ้น ทุกคนล้วนคิดว่า หนอนหนังสืออย่างเธอคงจะสนใจแต่ตำรับตำรามากกว่าเรื่องราวทางโลก ถ้าหากว่า…

เช้าตรู่วันหนึ่ง สุภีร์ก็ถูกปลุกด้วยเสียงเคาะประตูหนักๆ ก่อนที่ตำรวจจะบุกเข้ามาตรวจค้นเอกสารในห้องของเธอ

“เอกสารอะไรจะมาอยู่ในห้องของฉัน?”

“นี่ไงครับ หมายค้น ผู้บังคับบัญชาบอกว่าเป็นเอกสารทางการเมือง”

และทั้งผู้หมวดผู้หมู่ ต่างค้นตามหิ้งหนังสือในห้องของเธอ หากก็ไม่พบอะไรทั้งสิ้นนอกจากตำราวิชาการ หรือนิยายคลาสสิคทั้งหลาย และสุดท้าย

“เพื่อความบริสุทธิ์ของคุณ ผมขออนุญาตเปิดพื้นเตียงค้นอีกสักนิดเถอะครับ”

“อย่านะอย่า… มันไม่มีอะไรหรอกเชื่อฉันเถอะ” คราวนี้ เสียงของเธอเต็มไปด้วยความลุกลี้ลุกลน ก่อนจะแอบไปยืนร้องไห้ ด้วยความหวาดกลัวที่ริมหน้าต่าง เมื่อรู้ว่าห้ามเท่าใดก็ไม่เป็นผล

ในที่สุด ผู้หมวดก็เปิดกระดานพื้นเตียงออกมา และแล้ว ตำรวจก็เจอหนังสือปึกหนึ่ง ซ่อนอยู่ใต้เตียงของครูสุภีร์ผู้เคร่งหนังสือ จริงๆ แต่ทว่ามันไม่ใช่เอกสารทางการเมืองตามข้อกล่าวหาอะไรนั่นเลยแม้แต่น้อย แต่กลายเป็นหนังสือ ‘อย่างว่า’ ไปแทน!

 

เรื่อง ตุ้ย… คนกินยาก กินเย็น

เรื่องนี้ กล่าวถึง ‘เขา’ ผู้พยายามเอาใจสาวตุ้ย คนรัก ด้วยการพาไปกินอาหารหรูเริ่ดตามภัตตาคารต่างๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็นซุปผักโขม สตัฟฟ์ พอร์คช้อฟ ที่ไทยรูม ชริมค็อกเทล และแองเจล ออน ฮอาร์สแบค ที่เอราวัณ แม้แต่ โกเบบีฟ อาหารญี่ปุ่นสุดหรู ก็ดูเหมือนว่าตุ้ยจะไม่ชอบทานเลยสักอย่าง จนชายหนุ่มอ่อนอกอ่อนใจ ไม่รู้จะเอาใจสาวคนรักอย่างไรดี

เย็นวันรุ่งขึ้น เขาถือวิสาสะ ก้าวสวบๆ เข้าไปในบ้านของเธอโดยไม่กดกริ่ง เธอนั่งอยู่ที่โต๊ะอาหาร หน้าครัว กำลังกินข้าวอยู่พอดี เธอหลีกเขาไม่พ้น

“กินข้าวด้วยกันไหมคะ ตุ้ยกำลังกินกับข้าวของชอบ”

เขามองไปที่โต๊ะอาหาร ไม่มีจานใส่กับข้าว มีแต่จานข้าวสวยตั้งอยู่ตรงหน้า ในจานข้าวนั้น มีไข่พะโล้ใบเดียว!

 

เรื่อง เรื่องของเมียขี้อาย

เรื่องราวเกิดขึ้นที่โรงพักแห่งหนึ่ง สาวน้อยวัยสิบแปดขึ้นมาร้องทุกข์กับผู้หมวด และปรึกษาว่าจะหย่ากับสามีตัวเอง เพราะอีกฝ่ายมีปัญหา ชอบถ้ำมองเพื่อนบ้านเวลาอาบน้ำ

“อยู่ใกล้กับบ้านไหนไม่ได้ เหมือนกับคนจิตทราม เขาเป็นต้องเจาะฝาห้องน้ำแอบดูคนข้างบ้านอาบน้ำทุกที โชคดีที่เขาไม่เอาเรื่อง”

ในที่สุด ผู้หมวดก็เลยให้คำแนะนำให้หล่อนย้ายบ้านไปอยู่บ้านเดี่ยวๆ ไม่ติดบ้านใคร เผื่อจะได้ไม่เกิดปัญหาขึ้นมาอีก แต่แล้วในอีกหนึ่งเดือนถัดมา สาวน้อยคนเดิมก็กลับมาที่โรงพักและร้องฟูมฟายเหมือนเดิม

“คุณย้ายบ้านหรือเปล่า?”

“ย้ายเรียบร้อยแล้ว ผู้หมวด”

“แล้วเขายังละลาบละล้วงไปเจาะห้องน้ำบ้านอื่นดูอีกหรือ”

“เขาหมดโอกาสจะแสดงนิสัยชั่วๆ อย่างเดิมแล้วค่ะ เพราะคำแนะนำของผู้หมวด” เธอสะอื้น

“แล้วทำไมยังอยากจะหย่ากับเขาอีกล่ะ” คราวนี้หมวดชักโมโห

“หนูบอกแล้ว ว่ายังไงๆ ก็แก้นิสัยเลวๆ ของเขาไม่หาย เขาหมดโอกาสจะไปเจาะห้องน้ำบ้านคนอื่นดู เขาก็เลยหันมาเจาะห้องน้ำแอบดูหนูซะเอง!”

 

เรื่อง บุหงาคนรักสะอาด

เขาพบกับเธอครั้งแรกที่ร้านอาหาร และประทับใจในนิสัยรักความสะอาดของเธอเป็นอย่างมาก บุหงาสาวสวยจะต้องล้างมือทุกครั้งก่อนหลังทานข้าว ซ้ำยังหยิบผ้าเช็ดหน้าสีขาวออกมาซับหลังล้างอย่างละเมียดละไม

“ผู้หญิงยังงี้แหละคือผู้หญิงที่เราค้นหามานักแล้ว” เขานึกกับตัวเองอย่างพึงใจ “ละเอียดถี่ถ้วน สะอาดเต็มไปด้วยคุณสมบัติของลูกผู้หญิง”

และในที่สุดเขาก็สามารถสานสัมพันธ์กับเธอได้สำเร็จ ยิ่งรู้จักบุหงามากขึ้น ก็ยิ่งประทับใจ เธอรักความสะอาด เกลียดฝุ่นละออง และดูแลตัวเองเป็นอย่างดี ตราบจนกระทั่งวันหนึ่ง เขาก็ชวนเธอไปเที่ยวบางแสนด้วยกัน แต่แล้ว เมื่อกลับมาจากบางแสนนั้นเอง เขาก็ตัดสินใจเลิกกับบุหงา จนเพื่อนๆทุกคนสงสัย

มันเกิดอะไรขึ้นที่บางแสน?

“ตอนผ่านเมืองชล อั๊วแวะซื้อไก่ย่างไปสองตัว พอไปถึงบังกะโล อั๊วก็เตรียมไปผลัดเสื้อ เพื่อลงเล่นน้ำ”

“เล่าให้รวบรัดอีกหน่อย”

“อั๊วเปลี่ยนเสื้อเสร็จ นึกว่าเธอก็เสร็จแล้ว เลยเปิดประตูห้องเธอเข้าไป แล้วเจอเธอแทะไก่ มือเป็นมัน”

“ก็ไม่เห็นจะแปลกอะไร”

“มันไม่ยางงั้น น่ะสิ พอเธอเห็นอั๊วเข้า เธอตกใจ เพราะอยู่ในชุดชั้นใน”

“ยุ่งละซิ”

เพื่อนคนถาม อุทาน เพราะนึกกลัวว่าจะเกิดอะไรขึ้นต่อจากนั้น ทว่า…

“เธอรีบเอามือมันๆเปื้อนๆ ไก่ เช็ดพรืดลงที่อันเดอร์แวร์ตัวน้อยของเธอ อั๊วอยากจะถอยออกมา แต่สายตาเลี่ยงไม่ทัน ให้อั๊วตกนรก มันขาดเป็นรูพรุน บางตอนมีรอยปะ และเจ้าบราเซียร์ของเธอตัวนั้น มันกระดำกระด่างจนจำสีเดิมไม่ได้!”

 

เรื่อง เอื้องคำกล้วยไม้ในหมอก

เพียงแวบแรกเดียวที่เขาได้เห็นเธอ สายตาที่โชกโชนชีวิตช่ำชองเพศตรงข้ามก็มักบอกตัวเองว่า ‘ผู้หญิงคนนี้สวยชะมัด’

เขา คือกัปตันหรือหัวหน้าพาร์ตเนอร์ประจำบาร์แห่งหนึ่ง ส่วนเธอ… เอื้องคำ สาวน้อยจากป่าซาง เพิ่งมาทำงานที่นี่เป็นแห่งแรก

เขาพยายามใช้เสน่ห์ทุกวิถีทาง งัดมันออกมาโปรยหว่านเพื่อ ได้ทำความรู้จักและรู้ให้ลึกเกี่ยวกับเธอ กับผู้หญิงคนอื่นเขาไม่เคยพลาด แต่ดูเหมือนว่าเอื้องคำ กล้วยไม้เมืองเหนือผู้แสนซื่อ จะพยายามบ่ายเบี่ยง ราวกับเธอไม่เคยมีใจให้กับเขาเลยสักนิดเดียว จนในที่สุด เขาก็ยอมแพ้

ถ้าหากว่า… ในเย็นวันนั้น เขาจะไม่บังเอิญแวะไปหาเพื่อน แถวสุขศาลา นางเลิ้ง ระหว่างจอดรถฝั่งตรงข้าม เพื่อข้ามถนนมานั่นเอง เขาก็เห็นเธอ แม่ดอกเอื้องแสนพิสุทธิ์ กำลังเดินออกมาจากสุขศาลา ของ ดร.เพียร

“มาทำไม ที่นี่ เอื้องคำ?”

เธอยิ้มอย่างเปิดเผย ไม่มีร่องรอยของความสะเทิ้น

“เดี๋ยวนี้หนูสบายใจแล้วค่ะ หมอบอกว่าหนูหายเรียบร้อยแล้ว คืนนี้เชิญสิคะ รับรองว่าปลอดภัย ไม่เหมือนตอนนั้น”

เรื่อง : 108 ผู้หญิง

ผู้ขียน : D.D.T. 100%

สำนักพิมพ์ : โอเดียนสโตร์

ปีที่พิมพ์ : 2505

เล่มเดียวจบ

สำหรับประวัติ ของนามปากกา D.D.T. 100% หรือ สนิท เอกชัย (ข้อมูลบางแห่ง บอกว่า คุณเสริมศรี เอกชัย ก็ใช้ร่วมกันด้วย) นั้น ผมขอเรียบเรียงจากเว็บไซต์สมาคมนักข่าว นักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ดังนี้ครับ

เมื่อเอ่ยถึงสนิท ก็ต้องพ่วงเสริมศรีด้วย เพราะทั้งสองเป็นคู่หูดูโอ แนบชิดทางกายและใจ ใช้นามสกุลเอกชัยเหมือนกัน สนิทก้าวเข้าสู่งานหนังสือพิมพ์ตั้งแต่สมัยเรียนอยู่ธรรมศาสตร์ และหนังสือที่เคยทำงานอย่างจริงจังมีหนังสือพิมพ์ เอกราช ยุค อิศรา อมันตกุล ต่อมาได้เป็นบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ สัจจา เป็นหัวหน้าข่าว หนังสือพิมพ์ นครสาร เป็นหัวหน้าข่าวและผู้ช่วยบรรณาธิการ เดลิเมล์ เป็นหัวหน้ากองบรรณาธิการ เดลินิวส์ และเป็นหัวหน้ากองบรรณาธิการ เดลิไทม์

และยังเป็นตัวตั้งตัวตีในการก่อตั้งสมาคมนักข่าวแห่งประเทศ และสมาคมนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยอีกด้วย

เขาเกลียดการคอร์รัปชัน เกลียดคนเบ่ง นักหนังสือพิมพ์ที่ร่วมทำงานด้วยต้องอยู่ใต้กฎเหล็ก คือห้ามเล่นม้า และห้ามกินเหล้าในเวลาทำงาน โดยให้เหตุผลว่าการเล่นม้าเป็นการพนันที่ทำลายคน และคนกินเหล้าไม่สามารถจะให้ความเชื่อถือได้ในการทำหน้าที่นักหนังสือพิมพ์

สนิท-เสริมศรี ให้ความเคารพและนับถือนักหนังสือพิมพ์อย่าง สุภา ศิริมานนท์ อิศรา อมันตกุล กุหลาบ สายประดิษฐ์ เฉลิม วุฒิโฆษิต

ขณะที่เสริมศรีเริ่มเข้าคลุกวงการน้ำหมึกจากการตรวจปรู๊ฟหนังสือพิมพ์ นครสาร ซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์การเมือง เขาทำหน้าที่พิสูจน์อักษรได้แค่ 2 เดือน ก็เกิดมีสถานการณ์ต้องหักเหให้ขยับขึ้นเป็นนักข่าว โดยมีข่าวที่สันติบาล หัวหน้าข่าวคือ สังข์ พัธโนทัย ถามแกมสั่งว่าไปได้หรือไม่ เขาตอบรับทันที เมื่อกลับมาถึงโรงพิมพ์ได้อาศัยผ่านงานด้านการตรวจปรู๊ฟ รู้หลักว่าเขียนข่าวกันอย่างไร หัวหน้าข่าวแก้ตรงไหน แก้สำนวนอย่างไร ประสบการณ์ดังกล่าวทำให้เขาเขียนข่าวได้เนียนมาก เมื่อส่งข่าวให้หัวหน้าข่าว หัวหน้าข่าวถามด้วยความข้องใจทำไมเขียนข่าวได้

จากนั้น จึงถูกสั่งให้ทำข่าวย่านสันติบาล สอบสวนกลาง ต่อมาย้ายไปเป็นนักข่าวกระทรวงมหาดไทย และอีกหลายกระทรวง ชีวิตวนเวียนอยู่ที่กระทรวงมหาดไทย และโรงพิมพ์ ดำเนินไปอย่างราบเรียบ แต่การทำงานเริ่มเริ่มมีสีสันขึ้นเมื่อเกิดเหตุปฏิวัติ ปี 2501 จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้จับนักหนังสือพิมพ์หลายคนเข้าห้องขังข้อหาเป็นคอมมิวนิสต์ รวมถึงสนิทก็โดนด้วย

เดลิเมล์ ที่สนิททำงานอยู่ถูกปิด ขณะที่สนิทเคยมีปัญหากับ พล.ต.อ. เผ่า ศรียานนท์ ผู้ทรงอิทธิพลในทางการเมืองในขณะนั้น เนื่องจาก เดลิเมล์ ไม่ยอมก้มหัวให้ผู้มีอิทธิพลเข้ามาครอบงำหนังสือพิมพ์ด้วยเงินตรา

สนิทนอนดูมุ้งสายบัวอยู่ประมาณ 1 ปี จอมพลสฤษดิ์ ที่ชอบพอกับเขาคงละอายใจ จึงสั่ง ประเสริฐ รุจิระวงศ์ รองอธิบดีกรมตำรวจในสมัยนั้นให้ปล่อยตัว และตอบแทนความไม่สบายใจที่กระทำต่อสนิท โดยเสนอให้ไปทำงานที่การท่าเรือ กองสลาก เดือนละ 5,000 บาท แต่ผู้มีจิตวิญญาณนักหนังสือพิมพ์ปัดทิ้งข้อเสนอดังกล่าว ก็เคว้งคว้างเตะฝุ่นอยู่นาน แล้วก็มีมืออันอบอุ่นของมิตรผู้ยิ่งใหญ่ เฉลิม วุฒิโฆสิต บรรณาธิการหนังสือพิมพ์ ชาวไทย ได้ให้สนิทไปทำงานเขียน โดยเขียนคอลัมน์ จอเงิน จอแก้ว ใช้นามปากกา ดนัย เอกสิทธิ์ มาจาก สนิท เอกชัย วิพากษ์วิจารณ์รายการทีวี และวิจารณ์หนังอย่างถึงพริกถึงขิง คอลัมน์ดังเป็นพลุแตก แต่ช่วงหลังๆได้เอยปากข้อร้องโยนให้เสริมศรีร่ายเวทมนตร์ต่อ อาทิตย์หนึ่งเขียน 5 วัน ได้ค่าเหนื่อยเดือนละ 800 บาท

เขียนอยู่หลายปีดีดัก จน แสง เหตระกูล มาชวนหลายครั้งไปออกหนังสือพิมพ์ ถือเป็นจุดกำเนิด

หนังสือพิมพ์ เดลินิวส์ ในปี 2507 เริ่มแรกใช้ชื่อหัวหนังสือพิมพ์ แนวหน้า ก่อนเปลี่ยนเป็นหนังสือพิมพ์ เดลินิวส

เมื่อสนิทตอบตกลง ก็ดึงเสริมศรีไปเป็นผู้จัดการโฆษณา และใช้นามปากกา ‘สนทะเล’ เขียนคอลัมน์แม่ครัว คอลัมน์นักเลงรถ วันไหนบทนำไม่มีก็เขียนบทนำ วันไหนสนิทไม่อยู่ หรือขี้เกียจตอบจดหมายก็ตอบ ใช้นามปากกา ดี.ดี.ที. 100%

เสริมศรี ก็ใช้นามปากกา ดี.ดี.ที. 99% เขียนแทนสนิท ตัวแทนตัวตายแบบกลมกลืน

อยู่หนังสือพิมพ์ เดลินิวส์ 1 ทศวรรษ งานเลี้ยงย่อมมีวันเลิกรา สนิทแม้รักแสงมากขนาดไหน เพราะคลุกคลีตีโมงมาด้วยกัน แต่ต้องมาแตกหักกรณีเงินสวัสดิการกองบรรณาธิการ

ออกไปลงทุนตั้งหนังสือพิมพ์ เดลิไทม์

ช่วงหลังๆ สนิท เริ่มป่วยกระเสาะกระแสะ เสริมศรีต้องเข้ามานั่งแทนบริหารแทน ทำได้ 5 ปี ขาดทุนป่นปี้ ต้องเทขายหุ้นหมดหน้าตัก แล้วสนิทก็วางมือในวงการตลอดกาล ด้วยวัย 70 ปี เมื่อปี พ.ศ. 2536

หมายเหตุ : สำหรับผลงาน 108 ผู้หญิง นี้ มีการรวมเล่มชุดที่สองตามมา ในปี พ.ศ. 2507 และน่าเสียดาย ที่ไม่ได้มีการรวมเล่มทั้งสองชุดนี้อีกเลยครับ

 

Don`t copy text!