กุหลาบแดง

กุหลาบแดง

โดย : หมอกมุงเมือง

Loading

บรรณาภิรมย์ โดย หมอกมุงเมือง คอลัมน์ที่อ่านเอาขอมอบความรื่นรมย์ให้กับผู้อ่านด้วยภาพปกสวยๆ และเนื้อเรื่องในแบบต่างๆ ของนักเขียนชั้นครูที่เคยผ่านมือ ผ่านตาและผ่านใจ เพื่อให้ทุกคนได้ร่วมรำลึกถึงผลงานของนักเขียนแต่ละท่านให้พอหายคิดถึงแม้เวลาจะผ่านไปแล้วเนิ่นนาน ภาพและตัวอักษรจะปรากฏให้เห็นอีกครั้งในยุคของการอ่านออนไลน์

  

หลายคนจะคุ้นเคยกับผลงานอันโดดเด่นของ ก.สุรางคนางค์ อย่างเรื่องบ้านทรายทอง พจมาน สว่างวงศ์ หรือ รักประกาศิต ดอกฟ้า โดมผู้จองหอง หรือ เขมรินทร์ อินทิรา แต่ความจริงแล้ว ศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณศิลป์ท่านนี้ ยังมีผลงานอีกเป็นจำนวนมากที่มีความหลากหลายน่าสนใจ และโดดเด่นในเนื้อหาไม่แพ้กัน อย่างเรื่องชุดตาติ่ง ที่ผมชื่นชอบมาก ซึ่งประกอบด้วย ความคิดคำนึง จุดหมายปลายทาง รอยจารึก และรุ่งอรุณ หรือผลงานที่สะท้อนภาพ “หญิงคนชั่ว”ในยุคสมัยนั้น อย่าง เรื่อง หญิงคนชั่ว เป็นต้น

สำหรับ กุหลาบแดง จัดเป็นผลงานนิยายสะท้อนภาพชีวิตรักนักประพันธ์ ที่น่าจะนำมาจากชีวิตส่วนหนึ่งของท่านกับคู่ชีวิต ซึ่งต้องฟันฝ่าผ่านประสบการณ์ร้อนหนาว ทั้งรอยยิ้ม คราบน้ำตา และอุปสรรคอันเข้มข้น จนนำไปสู่ปลายทางแห่งความรักที่งดงามในท้ายที่สุดของเรื่อง

อุปถัมภ์ กองแก้ว นักเขียนรุ่นครูอีกท่านหนึ่ง ได้เขียนไว้เกี่ยวกับนิยายเรื่องนี้ เมื่อปี พ.ศ.2542 ไว้อย่างน่าสนใจว่า

กุหลาบแดง เป็นชื่อนิยายเล่มหนึ่ง ของ ก.สุรางคนางค์ มิใช่เล่มแรก แต่ก็กล่าวไว้ว่าเป็นประวัติชีวิตข่วงหนึ่งของท่าน…

กุหลาบแดง ได้ชื่อว่าเป็นสัญลักษณ์ของความรัก ก.สุรางคนางค์ ได้เล่าถึงลีลาแห่งความรักของหญิงและชายคู่หนึ่ง ซึ่งมีปัจจัยหลายประการชนิดไม่ซ้ำแบบใคร ไม่ว่าจะเป็นการเริ่มต้น ความเป็นไป หัวใจที่หล่อหลอมเข้าเป็นดวงเดียวกัน จนกระทั่งเกิดพลัง สามารถฟันฝ่าอุปสรรคนานัปการออกมาสู่เสรีในโลกกว้างได้สำเร็จ

ในยุคสมัยที่เป็นรอยต่อระหว่างเก่ากับใหม่ (ถอยหลังจาก พ.ศ. 2542 ไปอีกประมาณ 60 ปี) การต้องเลือกระหว่างความรัก กับเกียรติยศชื่อเสียง ความร่ำรวย-ยากจน อะไรเหล่านี้ ก็ยังเป็นวัฒนธรรมทางความคิดของผู้คนอยู่

ผู้หญิงคนหนึ่งยืนอยู่บนสะพานระหว่างความคิดนั้น แล้วเธอก็ตัดสินใจก้าวไปสู่ฝั่งที่ไม่เคยรู้จักมาก่อน มีเพียงความใฝ่ฝันและมือของชายคนรักที่ยื่นมารอรับอยู่ นับว่าห้าวหาญและภาคภูมิในศักดิ์ศรีของความอิสรชนอย่างยิ่ง ทั้งคุ่ต่างมีมือและมันสมองเป็นทุนสำรองในการต่อสู้ไปสู่จุดหมาย ซึ่งมิใช่เรื่องง่าย แต่ก็ต้องฝ่าฟันไปให้จงได้

ในวันที่คู่สามีภรรยาเหลือเงินในกระเป๋าเพียงแค่ แปดสตางค์ กลายเป็นวันที่มีความหมายยิ่งยง เธอทำอย่างไรกับเงินจำนวนนั้น บริหารสมองให้ลงรอยเดียวกับค่าเงินจำนวนนั้นอย่างไร

คำตอบมีในกุหลาบแดง!

+++++++++++++++++++++++++++

เรื่องราวในกุหลาบแดง เปิดฉากขึ้นยังบ้านกุหลาบแดง ในเขตซอยจรัสสาย อำเภอพระโขนง ณ เวลานั้น บ้านกุหลาบแดง ที่ชาวบ้านแถบนั้นต่างชื่นชมแกมประทับใจว่า ผู้เจ้าของบ้านสรรหากุหลาบมาปลูกไว้อย่างสวยงาม จนกระทั่งมีงานทำบุญเลี้ยงพระเจ้าของบ้าน ที่อายุครบสี่สิบแปดปีในวันนี้

เจ้าของบ้านหลังนั้นคือสุภาพสตรีสาวใหญ่นามสายวรุณ วาริชนันทน์ เธอมีลูกสาวและลูกชายในวัยแรกรุ่นนาม วรุณรัตน์ และมิตวรุณ และลูกๆทั้งสองของเธอ ต่างก็นำของขวัญวันเกิดจาก สันต์ พิษณุรักษ์ นักเขียนอาวุโสท่านหนึ่งมามอบให้ในวันคล้ายวันเกิดครั้งนี้ด้วย

มันคือแจกันที่ปักด้วยช่อกุหลาบแดง และภาพนั้นเองที่เหมือนจะพาความทรงจำของสายวรุณให้ย้อนกลับไปเมื่อสามสิบปีที่แล้ว ในเวลานั้นเมื่อเธอมีอายุเพียง 17 ปี พร้อมกับอดีตที่ผ่านพ้น…

+++++++++++++++++++++

ชีวิตของ นางสาวสายวรุณ ราชบริรักษ์ เต็มไปด้วยความอบอุ่นสุขสบายมาตั้งแต่เกิด เธอเป็นลูกสาวคนเดียวของคุณพระบริรักษ์ภูมิพงศ์ และมีน้องชายอีกคนหนึ่งคืออั๋น หรือสุนทรา

การได้ขลุกอยู่กับหนังสือวรรณกรรม และการบอกเล่าของคุณยายในวัยเยาว์ ได้ปลูกฝังให้สายวรุณรักการอ่าน จนนำไปสู่ความใฝ่ฝันในการเป็นนักเขียน โดยเฉพาะนักเขียนนวนิยายนามปากกา  น.วาริชนันทน์ ที่ได้จุดประกายความฝันเด็กสาวให้เจิดจรัสด้วยแรงบันดาลใจ โดยที่เธอยังไม่รู้จักผู้เขียนเลยด้วยซ้ำ

เด็กสาวเริ่มต้นเขียนและส่งเรื่องสั้นเรื่องแรก “ปวีณาตกลงใจ” ไปประกวดยังนิตยสาร พระนครวันจันทร์ ที่ น.วาริชนันทน์ทำงานอยู่ที่นั่น จนได้รับรางวัล และเป็นเป็นจุดเริ่มต้นของมิตรภาพความสัมพันธ์ของ เด็กสาวมัธยมผู้มีความฝันในตัวอักษร และนักเขียนหนุ่มใหญ่ นาม นฤมิตร วาริชนันทน์ ให้เริ่มต้นขึ้นอย่างสวยงาม

แต่ความรักในครั้งนี้ ก็มีอุปสรรคสำคัญ คือบิดาของเธอนั่นเอง ท่านมองไม่เห็นอนาคตของนักเขียนหนุ่มใหญ่ ชีวิตที่ยากจนและใช้ชีวิตเหมือนคนเสเพล ดังสมญา นักเขียนใส้แห้ง จนทำให้ท่านพยายามขัดขวางความรักของสองหนุ่มสาว โดยบังคับให้สายวรุณไปอาศัยอยู่กับญาติที่องครักษ์ อำเภอที่ห่างไกลพระนครในเวลานั้น แต่ทว่าระยะทางและความห่างไกล ก็หาได้ทำให้ความผูกพันของคนทั้งคู่ห่างหายต่อกันลงไม่

ต่อมาสายวรุณกลับมาทำงานเป็นครูโรงเรียนเอกชนแห่งหนึ่ง และเริ่มงานเขียนหนังสือในนิตยสารไปด้วย ยิ่งทำให้ทั้งคู่ได้ผูกพันแน่นแฟ้นกันยิ่งขึ้น จนเรื่องราวรู้ไปถึง คุณพระบริรักษ์ ทำให้ท่านโกรธเกรี้ยวและผิดหวังในลูกสาวคนนี้ที่ทำให้เสื่อมเสียชื่อเสียงวงศ์ตระกูล เวลานั้นเองสายวรุณก็เดินทางมาถึงจุดของการตัดสินใจครั้งสำคัญ

หญิงสาวเลือกใช้หัวใจของตัวเองตัดสิน โดยยอมออกจากบ้านอันอบอุ่นที่เคยอยู่มาตลอดชีวิต เลือกมาใช้ชีวิตคู่สามีภรรยา กับ นฤมิตร และอาชีพการงานที่ไม่มั่นคงของเขาเพื่อพิสูจน์ความรัก และแล้วบททดสอบแรกของสองหนุ่มสาวก็เริ่มต้นขึ้น ปัญหาต่างๆรุมเร้าเข้ามา ทั้งเรื่องการตกงานของนฤมิตร ตราบจนกระทั้งต้องย้ายออกจากบ้านเช่า ที่เคยอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข แม้ว่าสายวรุณจะแสนเสียดายสักเพียงใด ภาพบ้านที่อบอุ่น ด้วยความรัก รวมถึงดอกกุหลาบแดง อันเป็นเสมือนเครื่องหมายของความรักระหว่างเธอและนฤมิตร ยามเริ่มรู้จักกันเป็นครั้งแรก

ต่อมาสายวรุณเริ่มตั้งครรภ์ และนฤมิตก็ต้องออกจากงาน ด้วยข้อหาที่ถูกใส่ร้ายว่าทุจริต สองสามีภรรยา ที่ใช้ชีวิตอย่างลำบาก เงินแทบจะไม่มีกินข้าว บางวัน เหลือเงินติดตัวอยู่เพียงแปดสตางค์เท่านั้น หากมีเพียงสองมือที่กระชับกันไว้อย่างมั่นคง ด้วยสายใยแห่งความรักเพื่อฟันฝ่าอุปสรรคทั้งมวล

สายวรุณ กลับมาสู่ถนนแห่งความฝันอีกครั้ง ด้วยกำลังใจจากสามี และเริ่มลงมือเขียนนวนิยาย ที่สะท้อนชีวิตหญิงโสเภณี ในชื่อ “หญิงโสเภณี” แม้ว่าจะถูกต่อต้านจากบรรณาธิการ และผู้อ่านที่เห็นชื่อครั้งแรก ก็เกิดอคติ แต่แล้ว เมื่อผลงานที่เธอสร้างขึ้น ได้รับการอ่านและบอกต่อกัน จนทำให้หญิงโสเภณี ของ สายวรุณ เป็นนวนิยายที่ขายดี และได้รับเสียงชื่นชม จากนักอ่านทั่วสารทิศ ทำให้ชะตาชีวิตที่ดิ่งลง กลับฟื้นขึ้นมาได้อีกครั้ง…

ทั้งคู่เริ่มต้นความฝัน สร้างบ้านที่เคยวาดหวังเอาไว้ บ้านที่เกิดขึ้นด้วยน้ำพักน้ำแรงของตัวเอง ด้วยสองมือ และสติปัญญา โดยมีความรักเป็นพลังสำคัญ

บ้านกุหลาบแดง…

แต่แล้วมรสุมชีวิตครั้งสำคัญ จะโถมกลับมาหาเธอ ในระลอกต่อมา เมื่อดวงประทีปอันเป็นกำลังใจของชีวิตอย่าง นฤมิต ต้องจากไปอย่างไม่มีวันกลับ!

++++++++++++++++++

ย้อนเวลาและความทรงจำกลับคืนมาในปัจจุบัน ในงานเลี้ยงอายุครบ 48 ปี ของแม่ม่ายสาวสายวรุณ วาริชนันทน์ และลูกๆทั้งสองของเธอ

“แม่ขา แม่ร้องไห้ทำไมคะ”

สายวรุณ รับผ้าเช็ดหน้าแตะน้ำตาที่ไหลซึมออกมาทันที ก่อนจะตอบว่า

“แม่ร้องไห้ เมื่อคิดถึงว่า แจกันแก้วเจียระไนสีขาวใบนี้ เป็นใบที่คุณพ่อของแดงและโด่ง ซื้อให้แม่เป็นของขวัญวันเกิดนานมาแล้วจ้ะ แล้วก็ใช้กุหลาบแดงอย่างเดียวกันนี้เหมือนกัน”

มันคือแจกันที่เธอเก็บไว้ตลอดเวลา ผ่านเวลาทั้งสุขและทุกข์ และลูกๆก็รู้ใจเธอ ที่จะหาดอกกุหลาบมาใส่แจกันใบนี้เป็นของขวัญ

 

เรื่อง : กุหลาบแดง

ผู้เขียน : ก.สุรางคนางค์

สำนักพิมพ์ : โอเดียนสโตร์/แพร่พิทยา

ปีที่พิมพ์ : 2498

เล่มเดียวจบ

เมื่อลูกทั้งสองออกไปจากห้องหมดแล้ว สายวรุณ วาริชนันทน์อดีตนักเขียนสตรีคนหนึ่งของเมืองไทย ได้ค่อยๆ บรรจงยกแจกันเจียระไนบรรจุด้วยกุหลาบแดงขึ้นดม ก่อนจะนำไปวางไว้ตรงโต๊ะแต่งตัวหน้ารูปถ่ายใส่กรอบเงิน ตั้งบนโต๊ะของนฤมิต เผลอยิ้มกับภาพนั้นเศร้าๆ พึมพำเบาๆ ว่า

“จงอวยพรให้เมียของเธอ มิต ถ้าไม่มีมิตแล้ว อย่าให้เมียและลุกต่ำลงไปจนถึงขั้น “แปดสตางค์” นั้นอีกเลย”

ภาพนั้นยังมีรอยยิ้มอยู่เช่นเดิม และไม่ตอบ

มีเสียงหัวเราะของลูกอยู่ข้างนอก สายวรุณเดินตัวตรงออกไปข้างนอก เหลือแต่สิ่งที่เธอยกไปวางไว้ หน้ารูปถ่ายของนฤมิต วาริชนันทน์

สิ่งนั้นคือกุหลาบแดง อันเป็นอนุสรณ์ของทุกข์และความรัก!

++++++++++++++++++++++++

หมายเหตุ สำหรับ นวนิยายเรื่องกุหลาบแดง มีการนำมาพิมพ์ใหม่ โดยสำนักพิมพ์ โอเดียนสโตร์ และสำนักพิมพ์ ณ บ้านวรรณกรรม ในภายหลังครับ

Don`t copy text!