ศัตรูของเจ้าหล่อน

ศัตรูของเจ้าหล่อน

โดย : หมอกมุงเมือง

Loading

บรรณาภิรมย์ โดย หมอกมุงเมือง คอลัมน์ที่อ่านเอาขอมอบความรื่นรมย์ให้กับผู้อ่านด้วยภาพปกสวยๆ และเนื้อเรื่องในแบบต่างๆ ของนักเขียนชั้นครูที่เคยผ่านมือ ผ่านตาและผ่านใจ เพื่อให้ทุกคนได้ร่วมรำลึกถึงผลงานของนักเขียนแต่ละท่านให้พอหายคิดถึงแม้เวลาจะผ่านไปแล้วเนิ่นนาน ภาพและตัวอักษรจะปรากฏให้เห็นอีกครั้งในยุคของการอ่านออนไลน์

ในโอกาสนี้ขอนำเสนอนวนิยายคลาสสิกเรื่องแรกในชีวิตของ ‘ดอกไม้สด’ เจ้าของผลงานนวนิยายอมตะที่นักอ่านหลายท่านรู้จักกันดีอย่าง หนึ่งในร้อย สามชาย หรือ ชัยชนะของหลวงนฤบาล นั่นเอง สำหรับ ศัตรูของเจ้าหล่อน เรื่องนี้ ท่านได้ประพันธ์ขึ้นในขณะที่มีอายุเพียง 24 ปีเท่านั้น ความสำคัญของนวนิยายเรื่องนี้ ก็คือการเปิดประตูบานแรกของวงวรรณกรรมนวนิยายไทย โดยนักเขียนสตรีรุ่นบุกเบิกคนแรก ก่อนจะเป็นต้นธารให้กับงานเขียนนวนิยายในยุคต่อๆ มา ตราบจนถึงปัจจุบัน

ศาสตราจารย์วิภา กงกะนันทน์ ได้กล่าวถึงกำเนิดนวนิยายไทยในยุคแรกว่า ช่วงเวลาในระหว่าง พ.ศ. 2471-2472 เริ่มต้นด้วย กุหลาบ สายประดิษฐ์ หรือศรีบูรพา ได้ประสบความสำเร็จในการตีพิมพ์เผยแพร่นิยายที่เขาแต่งขึ้นเป็นครั้งแรก ชื่อว่า “ลูกผู้ชาย” ในเดือนตุลาคม 2471 และในปีถัดมา นักอ่านไทยก็มีโอกาสได้อ่านนวนิยายของนักเขียนสตรี ผู้ใช้นามปากกาว่าดอกไม้สด เรื่อง “ศัตรูของเจ้าหล่อน” ในขณะที่ หม่อมเจ้าอากาศดำเกิง รพีพัฒน์ ก็ได้เสนอนวนิยาย “ละครแห่งชีวิต” ซึ่งพิมพ์ครั้งแรกเป็นเล่มสมบูรณ์เช่นเดียวกับ “ลูกผู้ชาย” ของศรีบูรพา

ด้วยเหตุนี้ ในช่วงปี พ.ศ.2471-2472 จึงเป็นปีที่มีความสำคัญในทางประวัติวรรณคดีไทย เพราะนักเขียนนวนิยายที่ยิ่งใหญ่ของไทยสามท่าน ประสบความสำเร็จในการเสนอบทประพันธ์ในรูปแบบนวนิยายแก่นักอ่าน และเป็นแรงบันดาลใจให้นักประพันธ์อื่นๆ ในสมัยต่อมา จนเรียกได้ว่า ศรีบูรพา ดอกไม้สด และหม่อมเจ้าอากาศดำเกิง คือนักเขียนนวนิยายผู้สร้างธรรมเนียมการแต่งนวนิยายแบบต่างๆ ให้แก่วงการประพันธ์ไทย นับเป็นยุคใหม่ของบันเทิงคดีร้อยแก้ว…

+++++++++++++++++++++

สำหรับประวัติคร่าวๆ ของผู้เขียนนั้น ผมนำมาจากหนังสือประวัตินักเขียนไทย เล่ม 1  ของหอสมุดแห่งชาติ ดังนี้ครับ

ดอกไม้สด เป็นนามปากกาของ หม่อมหลวงบุปผา นิมมานเหมินท์ นามสกุลเดิม กุญชร ท่านเกิดเมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2448 เป็นธิดาของเจ้าพระยาเทเวศรวงศ์วิวัฒน์ และหม่อมมาลัย

ในส่วนของการประพันธ์นั้น ท่านหัดแต่งหนังสือครั้งแรกด้วยการเขียนบทละครชื่อเรื่อง ‘ดีฝ่อ’ และส่งไปให้หนังสือพิมพ์ ไทยเขษม ภายหลังได้ลองหันมาเขียนนวนิยาย เริ่มด้วยเรื่อง ศัตรูของเจ้าหล่อน ลงพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ ไทยเขษม ฉบับวันที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2472 และได้แต่งเรื่องอื่นๆ ต่อมาอีกหลายเรื่อง โดยเรื่องที่เริ่มมีชื่อเสียงระยะแรกๆ คือ ‘ความผิดครั้งแรก’ ลงพิมพ์ในนิตยสาร นารีนาถ ‘สามชาย’ พิมพ์เป็นเล่มโดยโรงพิมพ์ไทยเขษม

ดอกไม้สด ถึงแก่กรรมด้วยโรคหัวใจวาย เมื่อวันที่ 17 มกราคม พ.ศ. 2506

สำหรับผมเอง มีโอกาสได้รู้จักและเริ่มต้นอ่านงานเขียนของดอกไม้สดเป็นครั้งแรกในสมัยเรียนมัธยมต้น จากผลงานเรื่องสั้นชื่อ ‘นิดๆ หน่อยๆ’ ที่อยู่ในแบบเรียนภาษาไทยชื่อ ทักษะสัมพันธ์ (เรื่องสั้นเรื่องนี้ รวมอยู่ในหนังสือของดอกไม้สดในชื่อชุด ‘พู่กลิ่น’) และได้มาเริ่มอ่านจริงๆ จังๆ อีกครั้งตอนเขียนนิยาย ‘ล่องกัลปาลัย’ ของตนเอง ที่ต้องการหาข้อมูลเกี่ยวกับวิถีชีวิตคนไทยในยุคกึ่งพุทธกาล ซึ่งนวนิยายของดอกไม้สดได้สะท้อนภาพชีวิตเหล่านั้น โดยเฉพาะคนกรุงเทพฯ ยุคเปลี่ยนแปลงการปกครองได้ค่อนข้างชัดเจน สำหรับงานของท่านในจำนวนหนังสือทั้งหมด 14 เล่ม (ประกอบด้วย ศัตรูของเจ้าหล่อน นิจ กรรมเก่า ความผิดครั้งแรก ชัยชนะของหลวงนฤบาล สามชาย หนึ่งในร้อย นี่แหละโลก อุบัติเหตุ นันทวัน พู่กลิ่น บุษบาบรรณ ผู้ดี และ วรรณกรรมชิ้นสุดท้าย) ผมชอบเรื่อง ความผิดครั้งแรก และ ชัยชนะของหลวงนฤบาล มากที่สุดเลยครับ

สำหรับ ศัตรูของเจ้าหล่อน เขียนขึ้นและตีพิมพ์ใน ไทยเขษมรายเดือน ประมาณ ปี พ.ศ. 2472 นับได้กว่าเก้าสิบกว่าปีมาแล้ว เนื้อเรื่องเป็นแนวรักโรแมนติกหรือที่เรียกว่าแนวพาฝันของหนุ่มสาวคู่หนึ่ง ที่บิดามารดาของแต่ละฝ่ายหมั้นหมายกันไว้ตั้งแต่เยาว์วัย

พระเอกของเรื่องคือ ประสงค์ วิบูลศักดิ์ บุตรชายคนเดียวของ มหาเสวกโทพระยาประชาบำรุงกิจ ซึ่งเรียนจบวิชาการป่าไม้จากฝรั่งเศสและครอบครัวทำสัมปทานป่าไม้อยู่ที่สวรรคโลก ประสงค์ได้รับจดหมายจากเจ้าคุณไมตรีพิทักษ์ แจ้งว่ามยุรีบุตรีของท่านซึ่งเพิ่งเรียนจบกลับมาและเป็นคู่หมั้นของเขา ไม่ต้องการจะถูกจับคลุมถุงชนให้แต่งงานจากชายที่หล่อนไม่คุ้นเคย จึงขออภัยที่จะยกเลิกสัญญาหมั้นระหว่างผู้ใหญ่ทั้งสองฝ่าย ทั้งที่ความเป็นจริงแล้วประสงค์และมยุรีเคยพบกันมาตั้งแต่เยาว์วัย สมัยเมื่อพระยาไมตรีฯ ต้องเดินทางไปรับราชการเป็นราชทูตที่สหปาลีรัฐอเมริกา และมารดาของประสงค์รับเลี้ยงดูมยุรีในวัย 5 ขวบไว้ที่เมืองไทยทั้งคู่จึงเป็นเพื่อนเล่นกันมาก่อน สำหรับชายหนุ่มแล้วยังมีความทรงจำเกี่ยวกับเด็กหญิงตัวน้อยที่สร้างความประทับใจแก่เขาไม่เคยเลือน แต่สำหรับมยุรี หลังจากที่หล่อนเติบโตขึ้นและไปเรียนต่อที่อเมริกา ก็กลับลืมพี่ชายเพื่อนเล่นคนนี้ไปจนหมดสิ้น

และจากจดหมายนั้นเอง ทำให้ประสงค์ต้องการทดสอบหัวใจของมยุรีว่ายังมีเขาอยู่ในใจอีกหรือไม่ ชายหนุ่มจึงตัดสินใจปลอมตัวเป็นนายประสมเดินทางเข้าพระนคร เพื่อสมัครเป็นเลขาของเจ้าคุณไมตรีฯ โดยที่อีกฝ่ายเองก็จดจำชายหนุ่มไม่ได้ แต่เจ้าคุณฯ ก็รู้สึกถูกชะตากับชายหนุ่มที่มีความอ่อนน้อมถ่อมตน และมีความเฉลียวฉลาดผู้นี้ จนรู้สึกเอ็นดูไม่ต่างกับเป็นลูกของท่าน

เรื่อง : ศัตรูของเจ้าหล่อน

ผู้เขียน : ดอกไม้สด

สำนักพิมพ์ : หอวิทยาการ

ปีที่พิมพ์ : 2494

เล่มเดียวจบ

ณ ที่บ้านของเจ้าคุณไมตรีนั้นเอง ชายหนุ่มหญิงสาวได้มีโอกาสเผชิญหน้ากันเป็นครั้งแรก มยุรี เป็นสาวเปรี้ยวในยุคนั้นค่าที่หล่อนเพิ่งจบมาจากเมืองนอกหมาดๆ โดยมีละออ นายแพทย์หนุ่มใหญ่ คอยตามรับส่งด้วยความหวังที่จะครอบครองหัวใจหล่อนอยู่

มยุรี รู้สึกว่าประสมเป็นศัตรูตั้งแต่แรกเห็น เขาหยิ่งจองหอง และไม่ได้มีท่าทีแยแส แม้แต่จะชายตามองหล่อนเลยสักนิดเดียว ทั้งที่ผู้ชายอื่นทั่วพระนครต่างสนใจอยากจะทำความรู้จักกับหล่อนกันทั้งสิ้น ดูเหมือนว่าความสวยของมยุรีไม่อาจเอาชนะชายหนุ่มหน้าคมสันผู้นี้ได้ และนั่นเองที่ทำให้หล่อนรู้สึกอยากเอาชนะ ดอกไม้สดได้แสดงความคิดคำนึงของมยุรีผ่านสำนวนภาษาของท่านในตอนนี้ไว้ว่า

ท่านผู้อ่านที่รักของข้าพเจ้า ถ้าท่านเป็นเพศชายควรถามภรรยา หรือน้อง หรือพี่ที่เป็นหญิงดูว่า เรื่องที่ข้าพเจ้าจะบอกต่อไปนี้เป็นจริงหรือไม่ ถ้าท่านเป็นหญิงโปรดถามตัวเองดู ข้าพเจ้าว่าหญิงสาวเกือบทุกคน และหญิงที่รู้ตัวว่ามีความสวยทุกคน หากว่ามีชายคนหนึ่งมาบังอาจดูถูกหล่อนด้วยตา ด้วยวาจา ด้วยท่า อย่างใดอย่างหนึ่ง กล่าวคือแสดงอาการไม่แยแส และเหยียดหล่อน ผู้นั้นอยาก อยากที่สุด ที่จะทำให้เป็นถูกใจเขา อยากให้เขานิยมในความงาม ความหรู ความน่ารักหรืออะไรก็ตาม อยากให้เขากล่าวชม ถ้ายิ่งหลงรักหล่อนด้วยก็ยิ่งดี และหล่อนจะได้ปัดความรักของเขา ด้วยคำพูดและกิริยาว่า หล่อนเห็นเขาดีกว่าแมวที่ผอมโซนิดหน่อยเท่านั้น เพียงเป็นการแก้แค้น ทดแทนความดูถูกของเขา

ในขณะที่เจ้าคุณไมตรีเอง ซึ่งไม่ล่วงรู้ กลับเข้าใจว่าสองหนุ่มสาวน่าจะเป็นมิตรต่อกันได้

“มยุรีชอบดูหนังมาก ชอบมาแต่เล็กๆ ทีเดียว” เจ้าคุณหันมาทางนายประสม ท่านแถมว่า “ฉันคิดว่ามยุรีกับแกคงจะชอบกันนะ”

“ชายที่รู้จักอ่อนน้อม ย่อมเป็นที่ชอบของคนทั่วไป”

มยุรีไม่ได้แถมว่า    

“แต่คนที่เย่อหยิ่ง ย่อมเป็นที่รังเกียจ”

แต่ประสมเข้าใจความหมายของหล่อน เขาพูดคล้ายเจ้าคุณ

“หญิงที่มีมารยาท ละมุนละม่อมย่อมเป็นที่ชอบของคนทั่วไป” มยุรีเดาประโยคที่ซ่อนอยู่ได้เหมือนกัน แต่เจ้าคุณไมตรีฯ คาดว่าทั้งสองกำลังยอกันอยู่ ท่านอมยิ้มสั่งให้มยุรีไปบอกคนใช้ให้ยกข้าว…

++++++++++++++++++++++++

เหตุการณ์ดำเนินต่อมา เมื่อประสมได้พิสูจน์ตนเองหลายครั้งในการช่วยเหลือหญิงสาวเอาไว้ในเวลาวิกฤติ โดยเฉพาะในเหตุการณ์สำคัญครั้งสุดท้าย ที่นายละออวางกลอุบายหลอกโปะยาสลบคลอโรฟอร์ม เพื่อบังคับขืนใจมยุรีให้ตกเป็นของตนเอง แต่ประสมได้เข้ามาช่วยหล่อนเอาไว้ได้ทัน ก่อนจะเผยความจริงว่าเขานี่แหละคือ นายประสงค์ วิบูลศักดิ์ ชายหนุ่มผู้เป็นคู่หมั้นที่แท้จริง คนที่หล่อนเคยปฏิเสธและคิดว่าเป็นศัตรูมาโดยตลอด

เมื่อถึงตอนนั้นมยุรีก็รู้แล้วว่า หัวใจได้มอบไว้ให้กับชายที่หล่อนรัก คนที่เคยคิดว่าเป็นศัตรูของเจ้าหล่อนนั่นเอง!

สำหรับภาพปกหนังสือที่นำมาจัดแสดงไว้ เป็นฉบับพิมพ์ครั้งที่สอง พ.ศ. 2494 ของสำนักพิมพ์หอวิทยาการ และฉบับพิมพ์ พ.ศ. 2512 ของสำนักพิมพ์แพร่พิทยาครับ นอกจากนั้น ผลงานของดอกไม้สดยังมีพิมพ์จำหน่ายกับหลายสำนักพิมพ์ เช่น คลังวิทยา บรรณาคาร ศิลปาบรรณาคาร เป็นต้น แสดงถึงความนิยมในผลงานของท่านที่คงความเป็นอมตะมาจนถึงปัจจุบัน

Don`t copy text!