ขวัญหล้า

ขวัญหล้า

โดย : หมอกมุงเมือง

Loading

บรรณาภิรมย์ โดย หมอกมุงเมือง คอลัมน์ที่อ่านเอาขอมอบความรื่นรมย์ให้กับผู้อ่านด้วยภาพปกสวยๆ และเนื้อเรื่องในแบบต่างๆ ของนักเขียนชั้นครูที่เคยผ่านมือ ผ่านตาและผ่านใจ เพื่อให้ทุกคนได้ร่วมรำลึกถึงผลงานของนักเขียนแต่ละท่านให้พอหายคิดถึงแม้เวลาจะผ่านไปแล้วเนิ่นนาน ภาพและตัวอักษรจะปรากฏให้เห็นอีกครั้งในยุคของการอ่านออนไลน์

****************************

สนับสนุนอ่านเอาด้วยการสั่งซื้อหนังสือ “ในสวนอักษร” คลิกที่นี่

บุษยมาส เป็นนักเขียนนวนิยายรักโรแมนติค ผู้ที่ ป้าอี๊ด ทมยันตี เคยให้ฉายาไว้ว่า ‘ราชินีภูธร’ เนื่องด้วยผลงานของท่านเป็นที่นิยม ชื่นชอบของนักอ่านทั่วประเทศ นับตั้งแต่ หมอกสวาท นวนิยายเรื่องแรกในชีวิตของท่าน เมื่อประมาณปี พ.ศ. 2503 ตราบจนมาถึง กรวดแกมแก้ว นวนิยายเรื่องสุดท้ายในชีวิต เมื่อประมาณปี พ.ศ. 2560 ตลอดระยะเวลาเกือบหกทศวรรษที่ผลงานแนวพาฝันของท่านจำนวนมากมาย นำมาสร้างเป็นภาพยนตร์ ละครโทรทัศน์ ด้วยสำนวนภาษาอันเป็นเอกลักษณ์ ล้วนเป็นที่ติดตาตรึงใจต่อนักอ่านมาโดยตลอด

ในจำนวนผลงานมากมายเหล่านี้ ส่วนใหญ่จะเป็นแนวสุขนาฎกรรมหรือ happy ending ผมเคยรีวิว ชะรอยกรรม ซึ่งเป็นหนึ่งในสองนวนิยายที่จบในแบบสะเทือนอารมณ์หรือโศกนาฏกรรมมาแล้ว และนอกจากนี้ยังพบว่า ผลงานของท่านอีกส่วนหนึ่งจะผสมผสานแนวลึกลับ แฟนตาซี ที่ฉีกจากแนวพาฝันเพียงอย่างเดียวออกไปอย่างเรื่อง เหมือนหนึ่งในฝัน ที่เป็นแนวภพชาติ โดยใช้ฉากประเทศอินโดนีเซียและตำนานรักของตัวละครในอดีต หรือ นิมิตนิทรา ซึ่งเป็นผลงานในช่วงท้ายๆ ของท่าน รวมถึง ขวัญหล้า ที่แม้จะไม่ใช่แนวภพชาติหรือย้อนยุค แต่ก็แฝงเงื่อนปม ความลับ ความรัก ที่น่าสนใจอยู่ไม่น้อยเลยทีเดียว

นางพวง ชอบเกิด หญิงอัปลักษณ์ แม่ค้าในตลาดวโรรส เวียงเชียงใหม่ กำลังตัดสินใจจะขายหลานสาวคนสวย ‘ปานแก้ว นภา’ ให้กับนางทองเย็น แม่เล้าชาวกรุงที่มากว้านซื้อตัวเด็กสาวๆ ไปบำเรออารมณ์เสี่ยชาวกรุง ในความจริงแล้ว ปานแก้วเองก็หาใช่หลานในไส้ของนางไม่ แต่เป็นเด็กกำพร้าที่เกิดจาก ‘ภาส นภา’ เด็กหนุ่มที่เธอเคยอุปการะส่งเสียให้เขาไปเรียนกรุงเทพฯ และแอบหลงรักเขามาก่อน แต่ภาสก็ให้เพียงแค่ความนับถือศรัทธาเหมือนเธอเป็นพี่สาวของเขา ภาสได้พา ‘เหมือนวาด’ สาวชาวกรุงหญิงที่เขารักมาอาศัยอยู่ที่เชียงใหม่ จนมีลูกสาวเป็นพยานรักของคนทั้งคู่

แต่ต่อมา เหมือนวาดก็หายสาบสูญไปอย่างลึกลับ ส่วนภาสที่หล่อนแอบรักก็ตรอมใจตายและฝากฝังปานแก้วลูกน้อยของเขาไว้ให้หล่อนเลี้ยงดู โดยไม่รู้สักนิดว่า นางพวงเกลียดชังเลือดเนื้อเชื้อไขที่เกิดขึ้นจากเขาและหญิงสาวที่หล่อนริษยามากสักเพียงใด!

นางพวงเกลียดชังเด็กคนนี้ยิ่งนัก แม้ว่ามารดาสูงวัยของนางคอยห้ามปรามและเตือนสติอยู่เสมอ หากเมื่อมีโอกาส หล่อนจึงตัดสินใจขายปานแก้ว ให้กับแม่เล้าอย่างทองเย็นไปเสียให้หายแค้น!

ปานแก้วไปทำงานอยู่ที่ไร่ฝางคำของพ่อเลี้ยงฝางคำ ซึ่งมีลูกชายวัยหนุ่มชื่อ อินทร อิทธิเดช เขาหลงรักเด็กสาวแสนสวยผู้นี้ แม้ว่าปานแก้วจะนับถือเขาเพียงพี่ชายก็ตามที ข้างไร่ฝางคำ คือบริเวณไร่ลึกลับที่ชื่อไร่รวงทิพย์ ที่นั่น ปานแก้วมีโอกาสพบชายชราคนหนึ่งถูกขังเอาไว้ แล้วถูกทรมานราวกับเป็นทาส แม้จะไม่รู้จักกัน แต่ด้วยความสงสาร ปานแก้วคอยส่งน้ำส่งข้าวประทังชีวิตชายชรา และเมื่อเขารู้ว่าเธอถูกป้าใจร้ายขายไปอยู่กรุงเทพฯ ชายชราได้ขอร้องเธออย่างประหลาดข้อหนึ่ง

คำขอนั้น คือให้ปานแก้วนำกำไลของเขาติดตัวไปด้วย และช่วยติดต่อตามหาบุรุษที่เห็นกำไลวงนี้ และเรียกชื่อของเธอว่า ‘ขวัญหล้า’!

ปานแก้วยอมลงมากับนางทองเย็นด้วยความกตัญญูต่อนางพวง แต่ก็พยายามหาทางคิดหนีออกจากที่นั่นตลอดเวลา โชคดีที่นายทรงวิทย์ ลูกชายทองเย็น เกิดหลงรักเธอขึ้นมา ทำให้ช่วยประวิงเวลาที่นางทองเย็นจะนำเธอไปมอบให้ ‘ท่าน’ เพื่อแลกเงินไปได้ช่วงเวลาหนึ่ง นางทองเย็นเห็นท่าทีของปานแก้วที่อ่อนน้อมโดยไม่แสดงท่าทีขัดขืนต่อต้าน ก็เลยวางใจให้ออกไปซื้อเสื้อผ้า ข้าวของ และที่นั่นเอง ทำให้เธอมีโอกาสรู้จักกับ สูรย์ อินทร์สรวง เขาเป็นบุรุษคนแรกที่เรียกชื่อเธอว่า ‘ขวัญหล้า’ ทันทีเมื่อเห็นกำไลวงนั้นบนแขนของเธอ

สูรย์เป็นเพื่อนกับนายโน หรือ มโน วโรดม และมีน้องสาวแสนสวยชื่อปิยะนาถ ทั้งคู่เป็นลูกของ คุณประพนธ์ และ คุณน้อย วโรดม ความสวยของปิยะนาถทำให้สูรย์เองประทับใจ แต่เขาก็รู้ตัวดีว่าไม่อาจจะเป็นคนรักของเธอได้ เพราะเขามี ‘ฟองฟ้า’ หญิงสาวที่พยายามแสดงตัวเป็นเจ้าของของเขาอยู่ตลอดเวลา

สูรย์ไม่ได้รักฟองฟ้าเลย แต่เป็นเพราะนายเลียง บิดาฟองฟ้า ได้ช่วยชีวิตของเขาเอาไว้ และก่อนสิ้นใจ นายเลียงได้ขอร้องให้เขาอุปการะฟองฟ้า จนทำให้หญิงสาวคิดว่าตัวเองคือคู่หมั้นของสูรย์มาโดยตลอด และความจริงแล้ว เขาคือเจ้าพงษ์สุริเยนทร์ ณ เวียงพรหม ที่เจ้าแสนฟ้า บิดาของเขาถูกจับตัวไปจากการทรยศของเจ้าอา หรือเจ้าแสนเมือง เขาต้องปลอมตัวเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น สูรย์ และตามหากำไล อันมีชื่อว่าขวัญหล้านี้ให้พบ โดยเชื่อว่า มันจะเป็นสื่อเพื่อนำพาเขาไปสู่เจ้าแสนฟ้า ซึ่งไม่อาจล่วงรู้ได้ว่าถูกจับตัวไปที่ไหน

ขวัญหล้าเป็นเสมือนเครื่องหมั้นหมายของชาวเวียงพรหม หญิงสาวผู้ได้รับขวัญหล้ามาสวมไว้ ก็คือคู่หมายของชายคนนั้น ซึ่งสูรย์เองก็พยายามจะปัดความคิดที่ได้เห็นกำไลขวัญหล้าบนข้อมือของปานแก้วออกไป จุดหมายเพียงประการเดียวคือตามหาพ่อของตนให้พบ

เจ้าแสนเมืองก็ตามล่าตัวสูรย์หรือเจ้าหล้าอยู่เช่นกัน การขึ้นปกครองเวียงพรหมนั้น ต้องอาศัยคทาทองคำ อันเป็นเครื่องหมายแสดงเกียรติยศและการรับมอบอำนาจ เขาจับตัวเจ้าแสนฟ้า พี่ชายไป เพื่อบังคับให้อีกฝ่ายบอกที่ซ่อนคทาทองคำ แต่ก็ไม่เป็นผล จนนายล้อม สมุนเอก ได้พบกับสูรย์ เขาจึงรู้ว่าเจ้าพงษ์สุริเยนทร์หรือสูรย์ ไม่ได้หนีหายไปไหนเลย

เขาตัดสินใจช่วยเหลือปานแก้วออกมาจากเงื้อมมือของนางทองเย็นได้สำเร็จ และปานแก้วก็พาเขาไปยังที่ซ่อนตัวของชายนิรนามที่ไร่รวงทิพย์นั้นเอง ทำให้สูรย์ได้พบกับเจ้าแสนฟ้าอีกครั้ง สองพ่อลูกเดินทางกลับไปยังผาหลวง อันเป็นที่ตั้งของเวียงพรหม แม้ว่าจะมีฟองฟ้าและทิพย์ ญาติผู้พี่ของฟองฟ้า ตามมาด้วยกัน

ฟองฟ้าไม่ชอบหน้าปานแก้ว ยิ่งเมื่อเจ้าแสนฟ้าให้ความเอ็นดู และเรียกชื่อหล่อนใหม่ว่า ขวัญหล้า แต่ความริษยาของหญิงสาวยังไม่เท่ากับปิยะนาถที่เดินทางมาพร้อมกับครอบครัวของหล่อน การแสดงซึ่งความรัก ความเสน่หาของเจ้าหล้าต่อปิยะนาถยิ่งกระพือไฟริษยาให้มากขึ้น ก่อนหน้านี้ สิ่งใดที่เป็นความรักของเจ้าหล้าแล้ว ฟองฟ้าจะทำลายมันจนหมดสิ้น เพื่อไม่เหลือให้เผื่อแผ่ไปยังคนอื่น และคราวนี้ เป้าหมายของหล่อนก็คือ ปิยะนาถ

คุณน้อยเห็นหน้าขวัญหล้าหรือปานแก้วก็ยิ่งสะดุดใจ เธอพยายามสอบถาม โดยเฉพาะเมื่ออ่านข่าวการเสียชีวิตของนางพวง ป้าของปานแก้ว และบอกกับเด็กสาว ยิ่งเห็นอาการพิรุธ ทำให้รู้ว่า ปานแก้วต้องรู้จักกับนางพวงเป็นแน่นอน

ปานแก้วเองก็สงสัยในหญิงสูงวัย มารดาของปิยะนาถอยู่ไม่น้อย ยิ่งคุณน้อยถามถึงพ่อแม่ของเธอที่เสียชีวิตไปแล้ว พร้อมกับน้ำตาไหลริน สุดท้ายปานแก้วจึงรู้ความจริงว่า คุณน้อย ก็คือ คุณเหมือนวาด มารดาที่หายสาบสูญไปตั้งแต่เด็กนั่นเอง แท้จริงแล้ว แม่ไม่ได้ทอดทิ้งเธอ แม่รักกับพ่อมาก่อน แต่ถูกผู้ใหญ่จับแต่งงานกับพ่อของมโนจนมีลูกด้วยกันสองคน ภายหลังเธอรู้ว่าภาสเจ็บหนัก จึงหนีตามมาอยู่ด้วยกัน และมีลูกสาวคือปานแก้วนั่นเอง แต่แล้วครอบครัวของเธอก็ตามมาพรากตัวไปอีกครั้ง พร้อมกับคำขู่ให้คุณน้อยเลือกระหว่างชีวิตของสองพ่อลูก ทำให้เธอต้องตัดสินใจจากทารกน้อยปานแก้วมาทั้งน้ำตา โดยไม่มีโอกาสได้ติดต่อกันอีกเลย

ปิยะนาถไว้ใจฟองฟ้า เมื่อหล่อนชวนขี่ม้ามาเที่ยวน้ำตกในผาหลวง และระหว่างที่เผลอ ฟองฟ้าก็แกล้งยิงปืนให้ม้าตกใจ จนกระโจนตกเหวพร้อมกับร่างของปิยะนาถ แม้ว่าทิพย์กับมโนจะตามมาแต่ก็ไม่ทัน เมื่อฟองฟ้าแกล้งทำอุบายว่าคนของเจ้าแสนเมืองบุกเข้ามายิงปืนทำร้าย และมีเธอคนเดียวที่หนีรอดชีวิตมาได้

การสูญเสียปิยะนาถไป กลับทำให้ความสนใจของเจ้าหล้าเบนไปยังปานแก้วแทน ยิ่งทำให้ฟองฟ้าเคียดแค้นใจมากขึ้น ปานแก้วสงสารเจ้าหล้าหรือคุณสูรย์ของเธอ และเขาเองก็เริ่มเห็นความน่ารักน่าเอ็นดูของปานแก้วที่มีศักดิ์เป็นน้องสาวของปิยะนาถ ความผูกพันก่อนหน้า เริ่มแปรเปลี่ยนเป็นความรักโดยไม่รู้ตัว และเพิ่มความอิจฉาแก่ฟองแก้ว ที่พลาดรักของตนครั้งแล้วครั้งเล่า

เจ้าแสนเมืองบุกผาหลวงเมื่อรู้ว่ากำไลขวัญหล้าซ่อนลายแทงอันบอกที่มาของคทาทองคำ อันศักดิ์สิทธิ์ เจ้าหล้าถูกยิงจนบาดเจ็บ แต่ก็ขับไล่คนของเจ้าแสนเมืองออกไปได้ ภายหลังทางการของไทย ระดมกำลังออกจับเจ้าแสนเมือง เนื่องจากสืบรู้ว่าอีกฝ่ายซ่องสุมกำลังเพื่อแบ่งแยกดินแดนออกเป็นรัฐอิสระ ทำให้เจ้าแสนเมืองถูกยิงตายพร้อมเจ้าล้อม สมุนคนสนิท

ฟองฟ้าหลอกพาปานแก้วหรือขวัญหล้าไปยังหุบเหวเดิมที่เคยกำจัดปิยะนาถเสี้ยนหนามหัวใจไปครั้งหนึ่งแล้ว แต่คราวนี้หล่อนทำไม่สำเร็จ เมื่อเจ้าหล้ามาช่วยปานแก้วเอาไว้ได้ทัน ความผิดหวังในความรัก และความจริงที่เปิดเผยเกี่ยวกับการสังหารปิยะนาถ ทำให้ฟองฟ้าหนีและพลัดตกหน้าผาตรงจุดเดียวกับปิยะนาถเสียชีวิต หล่อนหล่นร่วงลงไปกระแทกหินด้านล่าง ประสบชะตากรรมสยองแบบเดียวกันกับที่เคยก่อไว้กับปิยะนาถไม่มีผิด

เมื่อเหตุการณ์ต่างๆ คลี่คลายลงแล้ว เจ้าหล้าและปานแก้วก็มีโอกาสได้ครองคู่กัน สมดังความปรารถนาของเจ้าแสนฟ้าผู้เป็นบิดา และบัดนี้ขวัญหล้า… กำไลวงนั้นก็ได้เชื่อมต่อความรักระหว่างสองหนุ่มสาวให้มั่นคงยิ่งขึ้นกว่าเดิม…

ตอนอ่านนวนิยายเรื่องนี้จบลง ผมนึกไปถึงนวนิยายเรื่อง ศิลามณี ที่ใช้เครื่องประดับในการหมั้นหมายระหว่างกันของตัวละครเอก แต่ในส่วนรายละเอียดของพล็อตนวนิยาย ขวัญหล้า เองก็จะมีรสชาติที่แตกต่างกัน รวมถึงสำนวนภาษาของผู้เขียนที่มีสไตล์แตกต่างกันคนละแบบ

เรื่อง : ขวัญหล้า

ผู้ขียน : บุษยมาส

สำนักพิมพ์ : โชคชัยเทเวศร์

ปีที่พิมพ์ : 2532

สองเล่มจบ

ขวัญหล้า น่าจะเป็นผลงานนิยายในช่วงแรกๆ ของบุษยมาส เช่นกันครับ แต่ปกที่ผมนำมาจัดแสดงจะเป็นฉบับพิมพ์ปี 2532 ซึ่งไม่แน่ใจว่ามีฉบับพิมพ์ก่อนหน้านี้ด้วยหรือไม่

 

Don`t copy text!