กาษา นาคา

กาษา นาคา

โดย : หมอกมุงเมือง

Loading

บรรณาภิรมย์ โดย หมอกมุงเมือง คอลัมน์ที่อ่านเอาขอมอบความรื่นรมย์ให้กับผู้อ่านด้วยภาพปกสวยๆ และเนื้อเรื่องในแบบต่างๆ ของนักเขียนชั้นครูที่เคยผ่านมือ ผ่านตาและผ่านใจ เพื่อให้ทุกคนได้ร่วมรำลึกถึงผลงานของนักเขียนแต่ละท่านให้พอหายคิดถึงแม้เวลาจะผ่านไปแล้วเนิ่นนาน ภาพและตัวอักษรจะปรากฏให้เห็นอีกครั้งในยุคของการอ่านออนไลน์

****************************

 

มีนวนิยายไทย ที่เขียนถึงเรื่องราวเกี่ยวกับพญาครุฑและพญานาคอยู่หลายเรื่องด้วยกัน เท่าที่ผมนึกออก นอกจาก มณีสวาท ของ จินตวีร์ วิวัธน์ แล้ว กาษา นาคา ของ คุณกนกวลี พจนปกรณ์ ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่นำเรื่องราวของตัวละครในตำนานเหล่านี้มาเขียนในรูปแบบของนวนิยายที่ผสมผสานทั้งความเชื่อ ความลึกลับ และความรักความผูกพันระหว่างภพชาติที่น่าสนใจไม่น้อยทีเดียว

กาษา นาคา เคยลงตีพิมพ์เป็นตอนๆ ในนิตยสาร สกุลไทย เมื่อปี พ.ศ. 2547-2548 ก่อนจะนำมารวมเล่ม และยิ่งประสบความสำเร็จมากขึ้นไปอีก เมื่อนำมาถ่ายทอดในรูปแบบละครโทรทัศน์ในเวลานั้น เรื่องราวความรักความผูกพัน ผ่านตัวละครสามตัวหลักคือ พงศ์พญา วาดจันทร์ และ วินตา ที่โลดแล่นอยู่ในจินตนาการของผู้เขียน ผ่านมาสู่ผู้อ่าน สร้างทั้งความรื่นรมย์ ความประทับใจ และทำให้ยิ่งตระหนักถึงกฎแห่งกรรม อันเป็นสัจธรรมแห่งชีวิตอีกด้วย

ฉากแรกของ กาษา นาคา เริ่มต้นขึ้นในวันเพ็ญเดือนสิบเอ็ดริมฝั่งโขง เมื่อคณะของพงศ์พญาและวินตา เพื่อนสาวคนสนิทเดินทางมาชมบั้งไฟพญานาค ท่ามกลางฝูงชนที่แห่แหนมาชมร่วมกันเต็มไปหมด

ทันใดนั้นเขาเห็นแสงสีเขียว เรืองวับขึ้นในเงามืด มันเป็นจุดเล็กเท่าลูกแก้วกลมๆของเด็กเล่น แต่ทว่าเจิดจ้าจนเขาต้องรีบหลับตาลงอย่างรวดเร็ว

ชั่วเสี้ยววินาที เมื่อพงศ์พญา ลืมตาขึ้นอีกครั้ง แสงสีเขียวนั้นก็หายไปแล้ว

พงศ์พญา เป็นดีไซเนอร์เฟอร์นิเจอร์ชื่อดังที่เรียนจบมาจากเมืองนอก เขาเป็นบุตรชายคนเดียวของนายแพทย์ปรากรม ผู้เป็นจิตแพทย์ และคุณบุญนารี ตอนที่ตั้งครรภ์เธอได้ฝันว่าลงไปยังถ้ำพญานาค และต่อมาช่วงที่พงศ์พญาอายุสามเดือน เขาก็ไม่สบายอย่างหนัก และคุณบุญนารีก็ฝันอีกครั้งว่ามีคนมาขอเอาพงศ์พญากลับคืนไปจนเขาต้องไปทำพิธีเพื่อขอเลี้ยงดูพงศ์พญา เด็กน้อยจึงรอดชีวิตมาจนถึงปัจจุบันโดยมีพระภิกษุรูปหนึ่งบอกว่าเขาจะบวชสามครั้ง โดยที่ครั้งสุดท้ายจะเป็นการบวชไม่สึกตลอดชีวิต

พงศ์พญาเติบโตมาพร้อมกับการฝันบ่อยครั้ง ถึงพญานาคในขณะเดียวกัน เขาก็กลายเป็นคนที่กลัวต่อเล็บสีแดง ซึ่งเป็นสิ่งที่ปรากรมเองก็หาสาเหตุไม่พบเช่นกัน

หลังจากชมบั้งไฟพญานาคแล้ว เขากับวินตาก็มีโอกาสไปเที่ยวสวนศิลป์ริมโขงของคุณพิสิทธิ์ จิตรกรผู้หนึ่ง ก่อนจะพบว่าจิตรกรผู้นั้นเสียชีวิตไปแล้ว เหลือเพียงลูกสาวคนเดียวเป็นผู้ดูแลสวนศิลป์แห่งนั้น เธอมีชื่อว่าวาดจันทร์ รวมถึงภาพประหลาด ‘โอบมหานที’ ซึ่งเป็นพญาปักษีโบยบินอยู่เหนือมหาสมุทร ภาพที่บิดาของเธอวาดขึ้นมาเองโดยไม่คาดฝัน แต่วาดจันทร์กลับรู้สึกเป็นภาพที่หล่อนหวั่นกลัวและไม่ชอบมันเลยสักนิดเดียว ตรงกันข้ามกับวินตา ที่เกิดถูกใจภาพวาดนี้อย่างประหลาด

กาษา นาคา ปกพิมพ์ครั้งที่ 2 ปี 2551

วาดจันทร์ซึ่งกลับรู้สึกไม่ถูกชะตากับวินตาแต่แรกเห็นจึงตัดสินใจมอบภาพวาดนี้ที่หล่อนเองก็ไม่ต้องการเก็บไว้ให้กับวินตาไปเสียเลย ภาพวาดโอบมหานทีนั้นเหมือนมีความพิเศษมหัศจรรย์เมื่อได้มาอยู่กับเธอ วินตาฝันว่าตัวหล่อนไม่ต่างกับเป็นพญานก สามารถถอดจิตผ่านเข้าสู่ร่างของนกเคลื่อนที่ไปยังที่ต่างๆ ตามใจปรารถนา พ่อของหล่อนเองก็เล่าให้ฟังถึงที่มาแห่งชื่อวินตาว่า

“ความหมายของชื่อลูกยิ่งใหญ่มากนะ วินตาคือชื่อของแม่พญาครุฑเวนไตย และพญาเวนไตยนี่ใครๆ ก็รู้ว่ามีฤทธิ์มากแค่ไหน พ่อเป็นคนชอบนก และตอนลูกเกิดมา พ่อก็เห็นพลังอำนาจอยู่ในดวงตาคู่นั้น ทำให้พ่อคิดว่า ลูกของพ่อคือนางพญาของนก คำว่าวินตามันแวบเข้ามาในใจทันทีเลย ตอนหลังพ่อถึงมารู้ว่า วินตาคือนางพญาครุฑ”

ส่วนพงศ์พญานั้นประทับใจวาดจันทร์ตั้งแต่แรกเห็น ทั้งคู่กลับเหมือนมีแรงดึงดูดพิเศษเข้าหากัน จนบังเกิดเป็นความรักความผูกพันภายในเวลาอันรวดเร็ว ทั้งเธอและเขาต่างมีอะไรที่คล้ายกัน ความกลัวต่อเล็บสีแดงและนก เหมือนกับว่าเธอและเขาเคยเป็นนาคในอดีตชาติมาแล้ว พงศ์พญาก็เคยนำเรื่องนี้ไปปรึกษากับผู้เป็นบิดา

“คนเรามีชีวิตมีเวลาอยู่ช่วงหนึ่งเท่านั้น นับตั้งแต่เกิดจนตาย ถ้าจะคิดว่าสั้น มันก็สั้นนิดเดียว พ่อว่าเราอย่าหาคำตอบเลยที่ผ่านมาเราเป็นอะไร หรือเคยเป็นอะไร ทำวันนี้ให้ดีที่สุด มีความสุขอยู่กับปัจจุบันเถอะลูก ความเชื่อหรือไม่เชื่อ ยิ่งค้นหาชีวิตก็ยิ่งยุ่ง พงศ์ถามตัวเองว่าชีวิตของพงศ์ดีมั้ย ลูกพอใจกับมันมั้ย”

ในขณะเดียวกัน วาดจันทร์เองกลับเกิดความรู้สึกเกลียดชังคุณบุญนารี มารดาของพงศ์พญา ขึ้นมาทันที เมื่อมีโอกาสได้พบหน้าเธอ เป็นความรู้สึกเกลียดโดยไม่มีเหตุผล แม้ว่าเธอจะพยายามหักห้ามความคิดนั้นไว้อย่างเต็มทีแล้วก็ตาม คุณบุญนารี ได้ทราบจากพระภิกษุผู้ทรงศีลว่าในอดีตทั้งวาดจันทร์และพงศ์พญาคือนาคคู่ผัวตัวเมียที่อยู่ร่วมกันมาก่อน แต่นาคตัวผู้ใฝ่ธรรมมะ ศรัทธาในพระพุทธองค์จนอาศัยคุณบุญนารีเป็นตัวกลางที่จะมาถือกำเนิดในอีกภพหนึ่ง ฝ่ายหญิงจึงโกรธแค้น เพราะคิดว่าเธอเป็นผู้พรากความรักของตนไป

ส่วนความรักของวาดจันทร์ที่เกิดขึ้นนั้น แม้จะหวานล้ำด้วยความรัก แต่ในอีกฟากของความรู้สึกก็เต็มไปด้วยความวิตกกังวล หวั่นกลัว ด้วยสังหรณ์ประหลาดว่าเธออาจจะต้องสูญเสียเขาไป จนเธอต้องปรึกษากับพี่ภพ ที่เป็นรุ่นพี่ที่สนิทกัน

“รักกับหลงมันใกล้กันนะ รักน่ะดี แต่ถ้าถึงขั้นหลงไม่ดีแน่ เมื่อรัก ก็ต้องมั่นใจในรัก ถ้ามันเป็นอย่างที่จันทร์เป็นอยู่ คือห่วงหวงวิตกกังวลจนหวาดระแวง พี่ว่าอันตรายนา ยิ่งถ้าสมมติว่ามันเป็นความรู้สึกของเราฝ่ายเดียวที่คิดถึงเขาในทุกลมหายใจเข้าลมหายใจออก ปัญหามันจะตามมานะ”

ในที่สุด วาดจันทร์กับพงศ์พญาก็ตัดสินใจที่จะแต่งงานกัน วินตาเองรับรู้ข่าวนี้ด้วยความปวดร้าวใจ หล่อนเองหลงรักพงศ์พญา และต้องการขัดขวางความรักของคนทั้งคู่ เมื่อถอดจิตเข้าไปอยู่ในร่างของนกที่ดุร้าย หล่อนโบยบินเข้าทำร้ายวาดจันทร์ด้วยความริษยาและเกลียดชัง แต่โชคดีที่คนใช้ช่วยเหลือวาดจันทร์ไว้ได้ทัน

วาดจันทร์ต้องการนำภาพโอบมหานทีกลับคืนมาทำลายลงไป แต่วินตาไม่ยอมขายคืนให้ แม้ว่าคุณบุญนารีพยายามติดต่อเจรจาแทน เธอต้องการให้ความพยาบาทอาฆาตแค้นในอดีตชาติจบสิ้นลง และในที่สุด เมื่อวันแต่งงานมาถึง วินตาก็เดินทางมายังงานนั้นท่ามกลางความตกตะลึงของทุกคน

แต่แล้ว หญิงสาวก็เป็นฝ่ายนำภาพวาดโอบมหานทีนั้นกลับมาคืน เป็นของขวัญวันแต่งงานให้กับพงศ์พญาและวาดจันทร์ วินตาได้คิด เมื่อพบกับป้าของเธอที่ปฏิบัติธรรม สอนให้อโหสิกรรมต่อสิ่งที่เกิดขึ้นทั้งหมด

พงศ์พญาและวาดจันทร์แต่งงานกันในที่สุด แต่แล้ว… ความวิตกกังวล ความหวั่นกลัวว่า พงศ์พญาจะจากเธอไป เพื่อบวชภายใต้ร่มเงาพระพุทธศาสนา ทำให้หญิงสาวเกิดล้มเจ็บลง แม้ว่าเขาจะให้สัญญากับเธอว่าจะไม่บวช ตราบเท่าที่วาดจันทร์ไม่ยอมอนุโมทนาบุญให้ก็ตาม

แต่แล้วอาการของหญิงสาวกลับยิ่งทรุดลงไปเรื่อยๆ ทุกขณะ พระภิกษุที่นับถือบอกว่าดวงชะตาชีวิตของเธอใกล้จะดับลง จนพงศ์พญาตัดสินใจว่าเขาจะบวช เพื่อสร้างกุศลให้กับวาดจันทร์ แต่เขาต้องรอ เพื่อให้เธอยอมอนุโมทนาบุญนั้น

วาดจันทร์มองเห็นภาพตัวเองในอดีตชาติ ที่ต้องพลัดพรากจากผู้เป็นสามี และเมื่อเขากำลังจะจากไปเพื่อบวช หล่อนไม่อาจสลัดความคิดนั้นออกไปได้ และในห้วงเวลาสุดท้ายนั้นเอง ที่หญิงสาวได้พบกับกล่องที่มารดาเขียนมอบของบางอย่างเอาไว้ให้เธอ พร้อมจดหมาย

…ผ้าผืนนี้มีผู้เอามาให้แม่ แม่ยังจำได้ เธอบอกแม่ว่า ไหมผืนนี้เป็นผ้ากาษาของจันทร์ วันหนึ่งลูกจะต้องได้ใช้ เมื่อคนที่ลูกรักที่สุดจะบวช แม่รับไว้อย่างงงงัน มิทันซักถามคำใดเธอก็จากไปเสียก่อน

แม่ไม่ได้มอบผ้ากาษาให้แก่ลูกทันที พ่อว่าให้เก็บไว้ก่อน หลังจากนั้น เมื่อได้พบหลวงพ่อปุ่น ท่านแนนะให้แม่เขียนจดหมายนี้ขึ้น ท่านว่า เมื่อถึงเวลาอันเหมาะสม จันทร์ก็จะได้รับผ้าและจดหมายนี้เอง…

ผ้ากาษา ไว้ให้นาคห่มก่อนบวช!

และแล้ว วาดจันทร์ก็ยกผ้ากาษานั้นขึ้น เปล่งคำว่าสูในเวลาสุดท้าย เมื่อภาพของบิดามารดาปรากฏขึ้นในความนึกคิด หล่อนได้ปลดเปลื้องกรรมเวรที่ผูกร้อยมาแล้วลงไป พร้อมกับรอยยิ้มสุดท้ายในชีวิต

หญิงสาวได้กลับคืนสู่โลกบาดาลดังเดิมแล้ว

เรื่อง : กาษา นาคา

ผู้เขียน : กนกวลี พจนปกรณ์

สำนักพิมพ์ : เพื่อนดี

ปีที่พิมพ์ : 2548

เล่มเดียวจบ

ฉากสุดท้ายของ กาษา นาคา เริ่มต้นอีกครั้ง ณ เดือนสิบเอ็ด ริมฝั่งแม่น้ำโขง เมื่อ พระภิกษุพงศ์พญาได้เดินทางมาที่นี่อีกครั้ง และเมื่อท่านเปล่งวาจา เพื่อชี้หนทางสว่างให้กับ ‘นาควาดจันทร์’ เพื่อให้หลุดพ้นจากวังวนของการเวียนว่ายตายเกิด และเมื่อนั้นเอง ดวงจันทร์ก็เร้นหลบหายไปในหมู่เมฆ ทุกอย่างนิ่งงันไปหมดสิ้น

คุ้งน้ำเบื้องหน้า บังเกิดความเคลื่อนไหว พรายฟองสีขาวเดือดปุด ผิวน้ำกระเพื่อมพือ ส่งเสียงแตกซ่านซ่าอื้ออึง

พระพงศ์พญาทอดตามองออกไป นาคน้ำตนหนึ่งผานโผดขึ้นมาโลดแล่น นางตีน้ำตีฟอง กระเซ็นสาย… ดวงตาสีเขียวมรกตวาวับอยู่ในเงามืด ตาต่อตาสบกันอยู่ครู่ใหญ่ พระกับนาคา… ครู่ต่อมา ร่างกลมใหญ่ยาวมีเกล็ดเลื่อมระยับ จึงค่อยๆ จมลับหายลงไปกับสายน้ำ

…ผิวพื้นแห่งท้องวารีเรียบสงบ สายลมเดือนสิบเอ็ดพัดแผ่วเบาบาง

Don`t copy text!